Tuesday, 6 May 2025
CoolLife

วันที่ 30 มีนาคม ตรงกับ ‘วันแพทย์แห่งชาติ’ เพื่อเป็นเกียรติแก่แพทย์ บุคลากรการแพทย์ ที่ช่วยเหลือและรักษาชีวิตทุกคน

ในวันที่ 30 มีนาคม ของทุกปี นับว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ซึ่งตรงกับ ‘วันแพทย์แห่งชาติ’  โดยวันดังกล่าวนั้นมีขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1933 โดย ดร. Charles B. Almond และ Eudora Brown Almond ภรรยาของเขา ตั้งใจที่จะก่อตั้งวันดังกล่าวขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติแก่แพทย์และบุคลากรในแวดวงทางการแพทย์ทุกคน

ต่อมาในปี 1990 วันดังกล่าวก็ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะเริ่มแพร่หลายไปในหลายๆ ประเทศทั่วโลก
 

วันเกิด ‘กุหลาบ สายประดิษฐ์’ หรือ ‘ศรีบูรพา’ เจ้าของผลงานอมตะ ‘ข้างหลังภาพ’

“กุหลาบ สายประดิษฐ์” หรือ “ศรีบูรพา” (31 มีนาคม พ.ศ. 2448 - 16 มิถุนายน พ.ศ. 2517) นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของไทย ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ เขามีส่วนสำคัญยิ่งที่ได้ยกสถานะและบทบาทของหนังสือพิมพ์ไทยขึ้นมา ในฐานะนักเขียนเขาเป็นผู้หนึ่งที่ได้นำนวนิยายเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ผลงานของเขาอย่าง “สงครามชีวิต”, “ข้างหลังภาพ”, “แลไปข้างหน้า” ยังคงความเป็นอมตะมาจนถึงทุกวันนี้ 

เขายังเป็นนักต่อสู้กับระบอบเผด็จการและความอยุติธรรมในสังคมอย่างไม่ย่อท้อ แม้จะถูกข่มขู่และถูกจับกุมหลายต่อหลายครั้งก็ตาม

ชนิด สายประดิษฐ์ ภรรยาของ กุหลาบ เคยเล่าเรื่องความสัมพันธ์ที่น่าสนใจว่าระหว่าง กุหลาบ กับ จอมพล ป. พิบูลสงครามที่รู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน เมื่อครั้งที่ กุหลาบเขียนบทความเรื่อง เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475 ทั้งหมด 16 ตอน ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตอบโต้ทางวิทยุกระจายเสียง และจอมพล ป. ก็ได้เขียนจดหมายมาถึงกุหลาบอย่างเป็นกันเอง ซึ่งกุหลาบได้เขียนตอบกลับไปในคำนำ “เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475” ว่า      

“แม้จะมีความผูกพันฉันไมตรี นับถือกันดีอยู่ แต่ตราบเท่าที่อยู่ในหน้าที่แล้ว เมื่อมีเหตุการณ์สลักสำคัญที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ข้าพเจ้าก็จำเป็นต้องกระทำต่อไป ก็มีทางเหลืออยู่แต่ทางหนึ่งคือ ข้าพเจ้าจะสละตำแหน่งและวางมือจากวงการหนังสือพิมพ์เสีย”

ชนิด เล่าว่า จากนั้น จอมพล ป. จึงได้เขียนจดหมายตอบในทำนองว่า ขอให้ทำต่อไปเถิด…ขอให้เป็นประธานก่อตั้งสมาคมหนังสือพิมพ์ฯ ไปเถอะ จะไม่คิดร้ายเลย

อย่างไรก็ดี กุหลาบได้ถูกจับกุมเป็นครั้งแรกในปี 2485 เนื่องจากวิจารณ์รัฐบาลจอมพล ป. ที่ยอมให้ญี่ปุ่นยึดครองไทย ด้วยข้อหาเป็นกบฏภายในประเทศ ทำให้เขาถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 3 เดือน ก่อนได้รับอิสรภาพ เนื่องจากคดีไม่มีมูล

หลังจากนั้นในปี 2495 กุหลาบต้องถูกจับกุมอีกครั้ง ระหว่างการแจกของให้กับประชาชนที่ประสบภัยแล้งในอีสาน ซึ่งทางสมาคมหนังสือพิมพ์ได้ขอให้กุหลาบไปเป็นประธานแจ้งของในงาน
 

1 เมษายน ‘วันโกหก’ วันที่สามารถแต่งเรื่องหลอกขึ้นมาได้ โดยฝ่ายที่ถูกแกล้งห้าม ‘โกรธ’

ทุกวันที่ 1 เมษายนเป็นวัน April Fool’s Day หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ วันโกหก ซึ่งเป็นวันที่นิยมเล่นสนุกกันในฝั่งชาวตะวันตก โดยความพิเศษของวันนี้ คือ สามารถโกหกหรือปล่อยข่าวลืออะไรก็ได้ และคนถูกหลอกหรือถูกโกหกต้องไม่โกรธกัน

โดยความเป็นมาของ ‘April Fool’s Day มีที่มาจากวันขึ้นปีใหม่ของชาวฝรั่งเศสในช่วงยุคศตวรรษที่ 16 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายนของทุกปี โดย โป๊ป เกรโกรี หรือสมเด็จพระสันตะปาปาเกรโกรีที่ 13 ได้กำหนดให้ชาวคริสต์ทั่วโลกเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่พร้อมกัน ต่อมาได้มีการกำหนดใหม่ให้วันที่ 1 มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ 

แต่ด้วยในสมัยนั้นการกระจายข่าวยังไม่ทั่วถึงมากพอ ทำให้คนในชนบทของประเทศฝรั่งเศสที่อยู่ห่างไกลจึงไม่ค่อยที่จะได้รับข่าวสารใหม่ ๆ เท่าใดนัก ทำให้พวกเขายังเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายนตามเดิม นั่นจึงเป็นเหตุให้กลุ่มคนที่ทันสมัย หรืออยู่บนพื้นที่ที่กำลังพัฒนาแล้วเย้ยหยันคนเหล่านั้นว่า ‘หน้าโง่’ อีกทั้งพยายามจะแกล้งหลอกให้คนกลุ่มนี้หลงเชื่อข่าวสารที่ไม่ได้มีมูลความจริงกันเพื่อความสนุกสนาน
 

๒ เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ก่อนจะทรงเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาทรงสำเร็จการศึกษาและได้รับปริญญามหาบัณฑิตจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2529
 

672 ปี สถาปนา ‘กรุงศรีอยุธยา’ เป็นราชธานี นับเป็นศูนย์กลางประเทศสยามยาวนานถึง 417 ปี

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นอดีตราชธานีของไทยมีหลักฐานของการเป็นเมือง ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 โดยมีร่องรอยของที่ตั้งเมือง โบราณสถาน โบราณวัตถุ และเรื่องราวเหตุการณ์ในลักษณะตำนานพงศาวดาร ไปจนถึงหลักศิลาจารึก ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานร่วมสมัยที่ใกล้เคียงเหตุการณ์มากที่สุด ซึ่งเมืองอโยธยาหรืออโยธยาศรีรามเทพนคร หรือเมืองพระราม มีที่ตั้งอยู่บริเวณด้านตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา มีบ้านเมืองที่มีความเจริญทางการเมือง การปกครอง และมีวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองแห่งหนึ่ง มีการใช้กฎหมาย ในการปกครองบ้านเมือง 3 ฉบับ คือ พระอัยการลักษณะเบ็ดเสร็จ พระอัยการลักษณะทาส พระอัยการลักษณะกู้หนี้ 

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อพ.ศ. 1893 กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางของประเทศสยามสืบต่อยาวนานถึง 417 ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครอง 33 พระองค์ จาก 5 ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์สุโขทัย ราชวงศ์ปราสาททอง ราชวงศ์บ้านพลูหลวง 

กรุงศรีอยุธยาสูญเสียเอกราชให้แก่พม่า 2 ครั้ง ครั้งแรกใน พ.ศ. 2112 สมเด็จพระนเรศวร มหาราช ทรงกู้เอกราชคืนมาได้ใน พ.ศ.2127 และเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้เอกราชได้ในปลายปีเดียวกัน แล้วทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ กวาดต้อนผู้คนจากกรุงศรีอยุธยาไปยังกรุงธนบุรีเพื่อสร้างบ้านเมืองแห่งใหม่ให้มั่นคง แต่กรุงศรีอยุธยาก็ไม่ได้กลายเป็นเมืองร้างยังมีคนที่รักถิ่นฐานบ้านเดิมอาศัยอยู่ และมีราษฎรที่หลบหนีไปอยู่ตามป่ากลับเข้ามาอาศัยอยู่รอบ ๆ เมือง รวมกันเข้าเป็นเมืองจนทางการยกเป็นเมืองจัตวาเรียกว่า "เมืองกรุงเก่า"

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬา โลกมหาราช ทรงยกเมืองกรุงเก่าขึ้นเป็นหัวเมืองจัตวาเช่นเดียวกับสมัยกรุงธนบุรี หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้จัดการปฏิรูปการปกครองทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคโดยการปกครองส่วนภูมิภาคนั้น โปรดให้จัดการปกครองแบบเทศาภิบาลขึ้นโดยให้รวมเมืองที่ใกล้เคียงกัน 3 - 4 เมือง ขึ้นเป็นมณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครอง โดยในปี พ.ศ. 2438 ทรงโปรด ให้จัดตั้งมณฑลกรุงเก่าขึ้น ประกอบด้วยหัวเมืองต่าง ๆ คือ กรุงเก่าหรืออยุธยา อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี พรหมบุรี อินทร์บุรี และสิงห์บุรี ต่อมาโปรดให้รวมเมืองอินทร์ และเมืองพรหมเข้ากับเมืองสิงห์บุรี ตั้งที่ว่าการมณฑลที่อยุธยา 

และต่อมาในปี พ.ศ. 2469 เปลี่ยนชื่อจากมณฑลกรุงเก่าเป็นมณฑลอยุธยา ซึ่งจากการจัดตั้งมณฑลอยุธยามีผลให้อยุธยามีความสำคัญทางการบริหาร การปกครองมากขึ้นการสร้างสิ่งสาธารณูปโภคหลายอย่างมีผลต่อการพัฒนาเมืองอยุธยาในเวลาต่อมา จนเมื่อยกเลิกการปกครองระบบเทศาภิบาล ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อยุธยาจึงเปลี่ยนฐานะเป็นจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน

4 เมษายน ‘วันภาพยนตร์ไทย’  

วันภาพยนตร์แห่งชาติ หรือ วันหนังไทย ตรงกับวันที่ 4 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้พระราชทานให้วันนี้เป็นวันภาพยนตร์แห่งชาติ โดยเดิมสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ซึ่งในอดีตได้มีการจัดการประกวดประกาศผลภาพยนตร์แห่งชาติและจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อหนังไทย แต่ต่อมาได้ย้ายประกาศผลภาพยนตร์มาอยู่ในช่วงเดือนมกราคม

ภาพยนตร์ คือ ภาพนิ่งหลาย ๆ ภาพเรียงติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง ใช้หลักการที่เรียกว่าการเห็นภาพติดตา และเมื่อนำเอาภาพนิ่งเหล่านั้นมาฉายดูทีละภาพด้วยอัตราความเร็วในการฉายต่อภาพเท่า ๆ กันตามที่สายตาคนเราจะยังคงรักษาภาพไว้ที่เรติน่าเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 1 ส่วน 3 วินาที ถ้าหากภายในระยะเวลาดังกล่าวมีอีกภาพแทรกเข้ามาแทนที่ สมองของคนจะทำการเชื่อมโยงสองภาพเข้าด้วยกัน และจะทำหน้าที่ดังกล่าวต่อไปเรื่อย ๆ หากมีภาพต่อไปปรากฏในเวลาใกล้เคียงกัน ปัจจุบันความเร็วที่ใช้ในการถ่ายทำคือ 24 เฟรม ต่อ 1 วินาที

๕ เมษายน วันคล้ายวันประสูติ ‘ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี’

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494 ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นพระโสทรเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงเข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนจิตรลดา ก่อนจะเสด็จไปประทับ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีจนสำเร็จ ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เมืองเคมบริดจ์ สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ชีวเคมี (Bachelor of Science Degree in Bio-Chemistry) จากนั้น ทรงเข้ารับการศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ (Statistics and Public Health) จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อประชาชนมากมาย ที่ผ่านมา ทรงตั้งมูลนิธิ Miracle of Life เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาต่าง ๆ ทั้งด้านการศึกษา ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านการศาสนา

6 เมษายน ‘วันจักรี’ ย้อนรำลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์

ในวันที่ ๖ เมษายน ของทุกปี นับว่าเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของประเทศไทยซึ่งตรงกับ ‘วันจักรี’ โดยความเป็นมาเริ่มต้นจากในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษก ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของไทย มาจนทุกวันนี้

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูป พระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๔ พระองค์ ( ร.๑ - ๔ ) เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมีการย้ายที่หลายครั้ง เช่นพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยปราสาทเป็นต้น

ในรัชกาลที่ ๖ โปรดให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง ๔ ( ร.๑ - ๔ ) มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ ๕ พระชนกนาถ พระที่นั่งองค์นี้ รัชกาลที่ ๖ โปรดให้ซ่อมจากพุทธปรางค์ปราสาทเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ และได้พระราชทานนามดังกล่าว การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง ๕ รัชกาล สำเร็จลุล่วงในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ จึงได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ ๖ เมษายนปีนั้น และต่อมา โปรดฯ ให้เรียกวันที่ ๖ เมษายนว่า ‘วันจักรี’

วันที่ระลึกมหาจักรี หรือที่เรียกกันโดยย่อว่าวันจักรีนั้น สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชดำริว่าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีทรงหล่อพระบรมรูปลักษณะเหมือนพระองค์จริงฉลองพระองค์แบบไทย ณ โรงหล่อหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (บริเวณศาลาสหทัยสมาคมในปัจจุบัน) เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระปฐมบรมราชบุพการี แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เชิญพระบรมรูปทั้ง ๔ รัชกาลนั้น ประดิษฐานเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ สำหรับถวายบังคมสักการะในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลและพระราชพิธีพระชนมพรรษา 

ครั้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสืบราชสันติวงศ์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบรมชนกนาถ จากต่างประเทศ แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานร่วมกับพระบรมรูปทั้ง ๔ รัชกาลนั้น ต่อมาทรงพระราชดำริว่าพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทยังไม่เหมาะสมที่จะมีงานถวายบังคมสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแปลงพระพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชทั้ง ๕ รัชกาล 

โดยได้พระราชทานนามใหม่ว่า ปราสาทพระเทพบิดร โดยทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งได้ประดิษฐานพระบรมราชวงศ์จักรี ทรงมีพระเดชพระคุณต่อประเทศ เมื่อมีโอกาสก็ควรแสดงความเชิดชูและระลึกถึง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีเชิญพระบรมรูปจากพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทมาประดิษฐานที่ปราสาทพระเทพบิดร เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ อันเป็นดิถีคล้ายวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จกรีธาทัพถึงพระนคร ได้รับอัญเชิญขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบรรจุพระกรัณฑ์ทองคำลงยาราชาวดีซึ่งบรรจุพระบรมทนต์ (ฟัน) พระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย พระดวงพระบรมราชสมภพ พระดวงบรมราชาภิเษก พระดวงสวรรคต ลง ณ เบื้องสูงของพระเศียรพระบรมรูปทั้ง ๕ รัชกาลครั้นถึงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ (สมัยนั้นขึ้นปีใหม่วันที่ ๑ เมษายน)

7 เมษายน ของทุกปี ตรงกับ ‘วันอนามัยโลก’

วันที่ 7 เมษายน ของทุกปีเป็น "วันอนามัยโลก" (World Health Day) เป็นวันที่ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก ใช้เป็นโอกาสรณรงค์ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคม ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ ทั้งในเรื่องการควบคุม ป้องกัน แก้ปัญหาสุขภาพ และส่งเสริมด้านสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน “สุขภาพดีถ้วนหน้า” หรือ “Health for All” เป็นเป้าหมายสำคัญขององค์การอนามัยโลกเสมอมานับ ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491)

โดยความเป็นมาของ “วันอนามัยโลก” เกิดขึ้นเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการจัดตั้งองค์การอนามัยโลก นับเป็นองค์กรระหว่างประเทศองค์กรหนึ่ง โดยการดำเนินงานของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งได้อาศัยแนวความคิดและการดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการอนามัยที่มีมาก่อน อย่าง คณะมนตรีด้านอนามัย สำนักงานสาธารณสุขระหว่างประเทศและองค์การอนามัยแห่งสันนิบาตชาติ

135 ปี วันสถาปนา ‘กระทรวงกลาโหม’

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนากรมยุทธนาธิการขึ้นที่โรงทหารหน้า เมื่อวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2430 นับแต่นั้นจึงถือเป็นวันแห่งการเปิดศักราชใหม่ของกิจการทหารไทยยุคใหม่ โดยในวันดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศพระบรมราชโองการ ชื่อว่า ประกาศจัดการทหารเพื่อสถาปนากรมยุทธนาธิการขึ้นที่โรงทหารหน้า หรือศาลาว่าการกลาโหมในปัจจุบัน 

โดยมีพระราชประสงค์ที่จะรวมกรมทหารบกและกรมทหารเรือไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างเอกภาพและศักยภาพในการบังคับบัญชาและบริหารจัดการทหารให้มีรูปแบบเป็นสากล ทัดเทียมนานาอารยประเทศ จึงนับได้ว่าเป็นวันเริ่มต้นและเป็นก้าวแรกแห่งกิจการทหารไทยที่ทันสมัย ถือเป็นนวัตกรรมของกิจการทหารไทยตั้งแต่ประเทศไทยเคยมีมา นอกจากนี้ยังได้ถือเอาวันที่ 8 เมษายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงกลาโหม อีกด้วย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมถือเป็นสถาบันหลักในการพิทักษ์รักษาเอกราชอธิปไตยของชาติ รักษาความมั่นคง และสร้างเสริมพระเกียรติยศแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำนุบำรุงสืบสานพระศาสนาตลอดจนร่วมสร้างสรรค์พัฒนาประเทศ และดำเนินกิจกรรมโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ในการช่วยเหลือประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงกลาโหมดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และปฏิบัติงานในความรับผิดชอบบรรลุผลสำเร็จตามนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นกลไกสำคัญ ที่สนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลในการรักษาความสงบเรียบร้อยและแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top