Sunday, 27 April 2025
CoolLife

8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 ท่านพุทธทาสภิกขุ มรณภาพ ผู้ที่ยูเนสโก ยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก

ครบรอบ 30 ปี ท่านพุทธทาสภิกขุ (2449-2536) มรณภาพอย่างสงบที่สวนโมกขพลาราม วัดธารน้ำไหล อ. ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือรู้จักในนาม ท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ 20 ปี ที่วัดบ้านเกิด จากนั้นได้เข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานคร จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ท่านได้ตัดสินใจมาปฏิบัติธรรมที่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านพร้อมปวารณาตนเองเป็น พุทธทาส เนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด

ท่านพุทธทาสภิกขุได้บวชเรียนตามประเพณี เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 ที่โรงอุโบสถวัดอุบล หรือวัดนอก ก่อนจะย้ายมาประจำอยู่ที่วัดพุมเรียง มีพระอุปัชฌาย์คือ พระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมาโล) รองเจ้าคณะเมืองในสมัยนั้น และมีพระปลัดทุ่ม อินทโชโต เจ้าอาวาสวัดอุบล และ พระครูศักดิ์ ธมฺรกฺขิตฺโต เจ้าอาวาสวัดวินัย หรือวัดหัวคู เป็นพระคู่สวด ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับฉายาว่า อินทปญฺโญ ซึ่งแปลว่าผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่

ผลงานเด่นของทาสพุทธทาสคืองานหนังสือ อาทิ หนังสือพุทธธรรม ตามรอยพระอรหันต์ และคู่มือมนุษย์ และยังมีผลงานอื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อชนรุ่นหลังในการศึกษาศาสนาพุทธเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ท่านยังเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่บุกเบิกการใช้โสตทัศนูปกรณ์สมัยใหม่สำหรับการเผยแพร่ธรรมะ

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 สิริรวมอายุ 87 ปี 67 พรรษา

หลังจากท่าพุทธทาสภิกขุมรณภาพไปแล้ว ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2548 องค์การยูเนสโก ประกาศยกย่องให้ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านส่งเสริมขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีของมวลมนุษย์

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์

11 กรกฎาคม ครบรอบ 135 ปี วันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 27 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ทรงมีหลายพระนาม คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชรญ์ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททองกับพระราชเทวีสิริกัลยาณี พระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2175

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เล่าว่าเมื่อแรกเสด็จพระบรมราชสมภพนั้น พระญาติเห็นพระโอรสมีสี่กร พระราชบิดาจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ราชกุมาร" ส่วนในคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด เล่าว่าเมื่อเพลิงไหม้พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระโอรสเสด็จไปช่วยดับเพลิง ผู้คนเห็นเป็นสี่กร จึงพากันขนานพระนามว่า พระนารายณ์ 

พระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์นั้นเกี่ยวกับเรื่องปาฏิหาริย์อยู่มาก แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพราหมณ์ เมื่อเทียบกับกษัตริย์องค์ก่อน ๆ ด้วยเหตุนี้เองพระราชประวัติของพระองค์จึงกล่าวถึงปาฏิหาริย์มหัศจรรย์ตามลำดับ คือ

เมื่อพระนารายณ์มีพระชนม์ได้ 5 พรรษา ขณะเล่นน้ำ พระองค์ทรงถูกอสนีบาต พวกพี่เลี้ยง นางนม สลบหมดสิ้น แต่พระองค์ไม่เป็นไรแม้แต่น้อย

เมื่อพระนารายณ์มีพระชนม์ได้ 9 พรรษา พระองค์ทรงถูกอสนีบาตที่พระราชวังบางปะอิน แต่พระองค์ก็ปลอดภัยดี

สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับการศึกษาจากพระโหราธิบดี ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงในพระราชวัง และพระอาจารย์พรหม พระพิมลธรรม รวมทั้งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์และพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ระดับสูงในพระนคร

สมเด็จพระนารายณ์มีส่วนสำคัญในการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา โดยพระองค์ได้ร่วมมือกับสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาในการชิงราชสมบัติจากสมเด็จเจ้าฟ้าไชย ซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระองค์ หลังจากที่พระองค์ช่วยสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติได้แล้วนั้น สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาทรงแต่งตั้งให้พระองค์ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชและให้เสด็จไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล หลังจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติได้ 2 เดือนเศษ พระองค์ทรงชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อเวลาสองนาฬิกา วันพฤหัสบดี แรม 2 ค่ำ เดือน 12 จุลศักราช 1018 ปีวอก (ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2199) มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา ขณะมีพระชนมายุ 25 พรรษา

หลังจากประทับในกรุงศรีอยุธยาได้ 10 ปี พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2209 และเสด็จไปประทับที่ลพบุรีทุกๆ ปี ครั้งละเป็นเวลานานหลายเดือน

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง ทรงสร้างความรุ่งเรือง และความยิ่งใหญ่ให้แก่กรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก โดยทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองพม่าอีกหลายเมืองได้แก่ เมืองจิตตะกอง สิเรียม ย่างกุ้ง แปร ตองอู หงสาวดี และมีกำลังสำคัญที่ทำให้สมเด็จพระนารายณ์นั้นสามารถยึดหัวเมืองของพม่าได้คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์รุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีการติดต่อทั้งด้านการค้าและการทูตกับประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน อังกฤษ และฮอลันดา มีชาวต่างชาติเข้ามาในพระราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้รวมถึงเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ชาวกรีกที่รับราชการตำแหน่งสูงถึงที่ สมุหนายก ขณะเดียวกันยังโปรดเกล้าฯ ให้แต่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึง 4 ครั้งด้วยกัน ผู้ที่เขียนเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา และสยามมากที่สุดในสมัยนี้ก็คือ มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์

ในช่วงปลายรัชกาล ก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์จะสวรรคตนั้น เกิดเหตุการณ์วุ่นวายมากมายขึ้นในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2231 ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ พระเพทราชา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการ ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ประทับอยู่ที่ลพบุรี และทรงประชวรหนัก พระเพทราชาได้กำจัดพระปีย์ พระโอรสบุญธรรมในสมเด็จพระนารายณ์ ฯ แล้วจับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ประหารชีวิต และได้ส่งกำลังไปควบคุมทหารฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ที่ป้อมบางกอก คือ ป้อมวิชัยดิษฐ์ในปัจจุบัน

พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี รวมครองราชสมบัติเป็นเวลา 32 ปี มีพระชนมายุ 56 พรรษา

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ประสูติ เมื่อ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ (พระนามเดิม หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร) เป็นธิดาพระองค์ใหญ่ของหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร กับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร พระองค์เป็นทั้งพระภาติยะและอดีตพระสุณิสาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องจากอภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์มีพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ ถือเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระวรชายา มีพระธิดาพระองค์เดียวคือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

ภายหลังการหย่าในปี พ.ศ. 2534 พระองค์ยังมีสถานะเป็นเจ้านายและได้รับการเฉลิมพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติและทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ

‘ซัดดัม ซุสเซน’ นำ อิรัก บุกยึด คูเวต จุดเริ่มต้นสงครามอ่าวเปอร์เซีย

วันนี้เมื่อ 33 ปีก่อน ประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ส่งกองทัพอิรักกว่าแสนนายบุกเข้ายึดคูเวต โดยอ้างว่าคูเวตเป็นส่วนหนึ่งของอิรัก เป็นชนวนให้เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย

สงครามอ่าวเปอร์เซีย (Gulf War) เปิดฉากขึ้น เมื่อประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน (Suddam Hussein) แห่งอิรักออกคำสั่งให้กองกำลังทหารประมาณ 122,000 นาย พร้อมด้วยรถถังประมาณ 900 คัน บุกยึด ประเทศคูเวต (Kuwait) อย่างเงียบเชียบ เนื่องจากอิรักต้องการแหล่งน้ำมันของคูเวตและอ้างว่าคูเวตเป็นส่วนหนึ่งของอิรัก ซึ่งทั้งสองประเทศมีความขัดแย้งเรื่องพรมแดนมานาน

จากนั้นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ประณามการรุกรานและประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแก่อิรัก พร้อมทั้งเรียกร้องให้อิรักถอนกำลังออกจากคูเวตภายในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2534 
.
เมื่อครบกำหนดเส้นตาย จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช (George H. W. Bush) ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ อเมริกา นำกองกำลังผสม 34 ชาติของสหประชาชาติ เปิดฉากโจมตีอิรักและคูเวตทางอากาศเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2534

กองกำลังพันธมิตรร่วมมือโจมตีอิรักอย่างต่อเนื่องด้วยยุทธการ ‘พายุทะเลทราย’ (Desert Storm) จากนั้นกองกำลังพันธมิตรได้เปิดฉากการโจมตีภาคพื้นดินต่ออิรักจนได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2534 สงครามครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต โดยทหารและประชาชนผู้บริสุทธิ์ฝ่ายอิรักเสียชีวิตประมาณ 200,000 ศพ และบาดเจ็บอีกนับไม่ถ้วน ส่วนฝ่ายสหประชาชาติเสียชีวิตประมาณ 378 ศพ และบาดเจ็บอีกประมาณ 1,000 คน

3 สิงหาคม พ.ศ. 2035  ‘คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส’ ออกเดินเรือเที่ยวแรก เริ่มต้นการค้นหาอินเดียและจีน

คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ออกเดินทางโดยมีลูกเรือ 90 คนกับเรือ 3 ลำได้แก่ ‘ซานตา มาเรีย’ (Santa Maria), ‘พินตา’ (Pinta) และ ‘ซาตา คลารา’ (Santa Clara) โดยได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์สเปน คือ พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ ที่ 2 (Ferdinand II of Aragon) และ พระนางอิสซาเบลลา ที่ 1 (Isabella of Castile)

โดยเริ่มต้น จากท่าเรือเมืองเปลูซ (Palos) ประเทศสเปน แล่นเรือไปทางทิศตะวันตกข้ามมหาสมุทรแอตแลนติค ไปถึง เกาะบาฮามาส (The Bahamas) หมู่เกาะในมหาสมุทรแอตแลนติก ทางตะวันออกของอเมริกา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2035 โดยที่โคลัมบัสคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของทวีปเอเชีย จากนั้นเขาเดินเรือต่อไปจนถึงคิวบา ฮิสปานิโอลา เปอร์โตริโก จาเมกา ตรินิแดด เวเนซุเอลา และคอคอดปานามา

โคลัมบัสเชื่อมาตลอดจนเสียชีวิตว่า เกาะบาฮามาสที่เขาค้นพบนั้นคือทวีปเอเชีย แต่แท้จริงแล้วเป็นหมู่เกาะทางตะวันออกของทวีปอเมริกา ภายหลังจึงมีการกำหนดให้วันที่ 12 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่โคลัมบัสมาถึงอเมริกาเป็น ‘วันโคลัมบัส’ มีการเฉลิมฉลองกันในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาใต้ ในอดีตเคยเชื่อกันว่าโคลัมบัสเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ค้นพบอเมริกา แต่จริง ๆ แล้ว เลฟ เอริคสัน (Leaf Erikson) ชาวไวกิ้งเคยเดินทางมาพบทวีปอเมริกาก่อนหน้านี้ และเคยมีนิคมชาวไวกิ้ง ตั้งอยู่ทางตะวันออกของแคนาดาในศตวรรษที่ 11

17 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ  ร่วมรำลึกถึงพะยูนน้อย ‘มาเรียม’ 

17 สิงหาคม ‘วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ’ ย้อนเรื่องราวของ ‘น้องมาเรียม’ พะยูนน้อยขวัญใจแห่งท้องทะเล ได้เสียชีวิตลงในปี 2552 โดยมีสาเหตุมาจาก ‘การติดเชื้อจากขยะพลาสติกที่อุดตันในทางเดินอาหาร’

17 สิงหาคม ของทุกปีเป็น ‘วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ’ และเป็นวันที่เราต้องสูญเสีย ‘น้องมาเรียม’ พะยูนน้อยขวัญใจคนไทยทั้งประเทศ จากการอุดตันของลำไส้เล็กจาก ‘ขยะพลาสติก’ การจากไปของเจ้าพะยูนน้อยในครั้งนั้น ได้ให้บทเรียนสำคัญให้กับเราเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และมีแผนในการอนุรักษ์คุ้มครองพะยูนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

‘น้องมาเรียม’ เป็นลูกพะยูนน้อย เพศเมีย ที่พลัดหลงกับแม่และเข้ามาเกยตื้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2562 บริเวณอ่าวทึง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ อายุประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี น้องมาเรียมผอมกว่าพะยูนในวัยเดียวกันเพราะขาดอาหาร และนมแม่ แต่สภาพร่างกายสมบูรณ์ ไม่พบบาดแผล ว่ายน้ำได้ปกติ น้องมาเรียมมักจะดูดครีบข้างเวลาหิวนม และยังมีรอยแผลเป็นสีชมพูที่บริเวณแก้มข้างซ้าย ที่ได้มาจากการเกยตื้นเป็นประจำ

เจ้าหน้าที่ช่วยกันดูแลน้องมาเรียมอย่างดี เพื่อดูแลลูกพะยูนน้อย ‘มาเรียม’ ให้มีชีวิตรอดตามธรรมชาติอย่างดีที่สุด แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อช่วงบ่ายที่เจ้าหน้าที่เวรบ่ายพามาเรียมออกกินหญ้าทะเลตามปกติ และมาเรียมผละออกไปกินหญ้าทะเลด้วยตัวเอง มาเรียมเจอพะยูนโตเต็มวัยไล่คุกคาม จนหนีเตลิด จากนั้นมาเรียมก็มีภาวะเครียดจัด ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2562 มาเรียมผอมลงอย่างเห็นได้ชัดในเวลาแค่ชั่วข้ามคืน มาเรียมไม่ยอมกินอะไร จนมีอาการอ่อนเพลีย ไม่ร่าเริง ไม่ค่อยว่ายน้ำ อัตราการเต้นของหัวใจก็ช้ากว่าในช่วงร่างกายปกติ มาเรียมอาการเริ่มดีขึ้น จนกระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2562 มาเรียมเริ่มไม่ว่ายน้ำ ดำน้ำนานขึ้น ปล่อยตัวไปตามกระแสคลื่น และมีอาการซึม เจ้าหน้าที่เลยตัดสินใจย้ายมาเรียมมายังบ่อชั่วคราว

แต่สุดท้ายเจ้ามาเรียมก็สู้ต่อไปไม่ไหว และจากไปในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เวลา 0.09 น. จากการชันสูตรพบเศษพลาสติก 8 ชิ้น อุดตันลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย เกิดการสะสมของแก๊สในทางเดินอาหาร  ทำให้ลำไส้บวมมาก ปวดท้อง มีผิวหนังตายที่ลำไส้ด้านใน ร่างกายขาดน้ำ ปอดเป็นหนอง ติดเชื้อในกระแสเลือด มีรอยช้ำจากการเกยตื้น ก่อให้เกิดความเจ็บปวดจนช็อกและเสียชีวิตในที่สุด

การจากไปของเจ้าพะยูนน้อยได้ให้บทเรียนสำคัญเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้มีการจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ เน้นเป้าหมายเพิ่มประชากรพะยูน การดูแลพื้นที่อาศัยของพะยูน และกำหนดให้วันที่ 17 สิงหาคม ของทุกปีเป็น ‘วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ’ ตามมติคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 

อนึ่ง ‘พะยูน’ ได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไซเตส (CITES) พะยูนได้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ลำดับที่ 86 ของบัญชีไซเตส ซึ่งเป็นสัตว์ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้น เพื่อการศึกษาวิจัย และเพาะพันธุ์เท่านั้น ซึ่งในประเทศไทยแหล่งที่พบพะยูนมากที่สุดคือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง ซึ่งถือได้ว่าเป็นบ้านหลังใหญ่ของพะยูนในประเทศไทย

22 สิงหาคม พ.ศ. 2407  วันก่อตั้งกาชาดสากล หลัง 12 ชาติยุโรป ลงนามในอนุสัญญาเจนีวา

วันนี้เมื่อ 159 ปีก่อน เป็นวันที่สภากาชาดสากลก่อตั้งขึ้นครั้งแรกที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากประเทศในยุโรป 12 ชาติ ลงนามในอนุสัญญาเจนีวา

ย้อนกลับไปในวันนี้ เมื่อ 159 ปีที่แล้ว (22 สิงหาคม พ.ศ. 2407) อองรี ดูนังต์ (Henri Dunant) นักธุรกิจชาวสวิสเซอร์แลนด์ ได้ทำการร่างสัญญาฉบับหนึ่งขึ้นมา เพื่อร่วมลงนามกับประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปเป็นจำนวน 12 ประเทศ เพื่อเสนอให้มีการก่อตั้งองค์กรกลางเพื่อดูแลทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม ซึ่งถูกเรียกว่า อนุสัญญาเจนิวา (Geneva Conventions) ฉบับที่ 1 และเกิดเป็นการก่อตั้ง ‘กาชาดสากล’ ขึ้น

โดยสัญลักษณ์ที่หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คือจะใช้เป็นรูปกากบาทสีแดงบนพื้นที่มีสีขาว ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของธงประจำชาติสวิตเซอร์แลนด์นั่นเอง

และด้วยการทำงานขององค์กรกาชาดนี้ ที่เข้ามามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เป็นอย่างดี ส่งผลให้ นายอังรี ดูนังต์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพครั้งแรกของโลกในปี พ.ศ. 2444 อีกด้วย

25 สิงหาคม พ.ศ. 2565  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รักษาการนายกฯ แทน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นวันแรก

วันนี้ เมื่อปีก่อน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งเก้าอี้รักษาการนายกรัฐมนตรี แทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ระหว่างรอวินิจฉัยอยู่ในตำแหน่งนายกฯ 8 ปี

จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5:4 รับคำร้อง วาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี และ สั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2565 โดยในระหว่างนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีแทนไปจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมา

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในนาม ‘ลุงป้อม’ กับภาพลักษณ์ผู้ใหญ่ใจดี ยิ้มง่าย มีใบหน้าเปื้อนยิ้มตลอดเวลา

พล.อ.ประวิตร เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2488 เพิ่งอายุครบ 78 ปีไปหมาด ๆ เป็นชาวกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด เข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ก่อนศึกษาต่อยังโรงเรียนเตรียมทหาร ในรุ่นที่ 6 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 17 พร้อมกับจบการศึกษาหลักสูตรประจำ ชุดที่ 56 โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เมื่อปี 2521

ในด้านการรับราชการทหาร พล.อ.ประวิตร ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ เมื่อปี 2532 ต่อด้วยผู้บัญชาการกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ฯ เมื่อปี 2539 และค่อย ๆ ได้รับการขยับตำแหน่งสูงขึ้น จนได้มาเป็นผู้บัญชาการทหารบกเมื่อปี 2547 ในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และถือได้ว่าเป็นนายทหารรุ่นพี่ที่สนิทสนมกับนายทหารอดีตผู้บัญชาการทหารบกสองนาย คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนได้รับฉายาว่าเป็นพี่ใหญ่แห่งพี่น้อง 3 ป.

สำหรับเส้นทางการเมืองของพล.อ.ประวิตร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี พ.ศ. 2552 จากนั้น ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานที่ปรึกษา และเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายหลังจากการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557

27 สิงหาคม พ.ศ. 2378  หมอบรัดเลย์ นายแพทย์ชาวอเมริกัน เริ่มการผ่าตัดเป็นครั้งแรกในสยาม

วันนี้เมื่อ 188 ปีก่อน หมอบรัดเลย์ เริ่มการผ่าตัดเป็นครั้งแรกในสยาม โดยผ่าตัดก้อนเนื้อที่หน้าผากของผู้ป่วยรายหนึ่งโดยไม่มียาสลบ

หมอบรัดเลย์ หรือ แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley) เป็นนายแพทย์ชาวอเมริกัน ได้เดินทางเข้ามายังสยาม เมื่อ พ.ศ. 2378 โดยเข้ามาทำงานในคณะกรรมธิการพันธกิจคริสตจักร โพ้นทะเล (American Board of Commissioners for Foreign Missions) พักอาศัยอยู่กับมิชชันนารี ชื่อ จอห์นสัน ที่วัดเกาะ และได้เปิดโอสถศาลาขึ้นที่ข้างใต้วัดเกาะ รับรักษาโรคให้แก่ชาวบ้านแถวนั้นพร้อมทั้งสอนศาสนาคริสต์ให้แก่ชาวจีนที่อยู่ในเมืองไทย

ต่อมาหมอบรัดเลย์ได้เริ่มการผ่าตัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยผ่าตัดก้อนเนื้อ (ฝีขนาดใหญ่เหนือคิ้วซ้าย) ที่หน้าผากของผู้ป่วยรายหนึ่งโดยในขณะนั้นยังไม่มียาสลบ เป็นการผ่าตัดก่อนหน้าจะมีการใช้ยาสลบอีเทอร์ครั้งแรกในประเทศไทยถึง 13 ปี (ยาสลบอีเทอร์ใช้ครั้งแรกในไทยโดยหมอเฮาส์ในปี พ.ศ. 2391) การผ่าตัดสำเร็จด้วยดีท่ามกลางการเฝ้าดูและให้กำลังใจของชาวบ้าน

และอีกหนึ่งการผ่าตัดที่ได้รับการจารึกไว้คือเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2380 เกิดเหตุระเบิดของปืนใหญ่ที่บริเวณงานวัดประยุรวงศาวาส มีคนเสียชีวิต 8 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งในเหตุการณ์นี้ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งได้รับบาดแผลฉกรรจ์หมอบรัดเลย์จึงได้คิดเห็นว่าต้องตัดแขนและขาทิ้ง เพื่อรักษาชีวิตไว้

28 สิงหาคม พ.ศ. 2428 กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ สวรรคต สิ้น ‘วังหน้า’ พระมหาอุปราชองค์สุดท้าย

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ผู้ทรงเป็น ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ ได้สวรรคต ในวันนี้เมื่อ 138 ปีก่อน นับเป็น ‘วังหน้า’ องค์สุดท้าย

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน ‘พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ประสูติแต่ ‘เจ้าคุณจอมมารดาเอม’ เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 2 ค่ำ เดือน 10 ตรงกับวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2381

เมื่อแรกประสูติพระองค์มีพระอิสริยยศที่ ‘หม่อมเจ้า’ โดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามว่า ‘ยอร์ช วอชิงตัน’ ตามชื่อของ ‘จอร์จ วอชิงตัน’ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐคนแรก

คนทั่วไปออกพระนามว่ายอด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามให้ใหม่ว่า ‘พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร’ และได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เมื่อปี 2404 และได้รับพระราชทานอุปราชาภิเษกเป็น ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 5

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงเป็นเจ้านายที่มีความสามารถหลายด้าน ด้านนาฏกรรม ทรงพระปรีชา เล่นหุ่นไทย หุ่นจีน เชิดหนัง และงิ้วด้านการช่าง ทรงชำนาญเครื่องจักรกล ทรงต่อเรือกำปั่น ทรงทำแผนที่แบบสากล ทรงสนพระทัยในแร่ธาตุ ถึงกับทรงสร้างโรงถลุงแร่ไว้ในพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อ พ.ศ. 2426 ทรงได้รับประกาศนียบัตรจากฝรั่งเศส ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาช่าง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 4  ก็ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

เพราะในขณะนั้นพระราชโอรสพระองค์โต คือ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ยังทรงพระเยาว์เพียง 12 พรรษา ทำให้เสี่ยงต่อการถูกแย่งชิงราชบัลลังก์ ฝ่ายเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้เสนอให้ทรงแต่งตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่ง เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่ง เป็น ‘กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ’ เมื่อ พ.ศ. 2410 แต่ไม่ได้ตั้งให้เป็นวังหน้า

จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคต 1 วัน ได้มีการประชุมพระญาติวงศ์และขุนนาง ที่ประชุมจึงตกลงที่จะแต่งตั้ง กรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็น ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ ตามคำเสนอของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ โดยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมา ขณะนั้นมีพระชนมพรรษาเพียง 15 พรรษา

บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์จึงอัญเชิญกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงดำรงตำแหน่งวังหน้า นับเป็น ‘วังหน้า’ พระองค์ที่ 6 และพระองค์สุดท้าย ทรงเป็นวังหน้าพระองค์แรกที่พระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงแต่งตั้ง

ข้อมูลจากหลายแหล่งระบุว่า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี โดยคบค้าสนิทสนมกับ โทมัส น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ

ประกอบกับในสมัยนั้น อังกฤษคุกคามสยาม ถึงขั้นเรียกเรือรบมาปิดปากแม่น้ำ ทางวังหลวงจึงหวาดระแวง จนทำให้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ระเบิดขึ้นที่ตึกดินในวังหลวง ไฟไหม้ลุกลามไปถึงพระบรมมหาราชวัง

การนี้ ทางวังหลวงเข้าใจว่า ‘วังหน้า’ เป็นผู้วางระเบิด และไม่ส่งคนมาช่วยดับไฟ ส่วนกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ก็เสด็จหลบหนีไปอยู่ในสถานกงสุลอังกฤษไม่ยอมเสด็จออกมา

เหตุการณ์ตึงเครียดนี้กินเวลาถึงสองสัปดาห์ จนกระทั่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เดินทางกลับจากราชบุรีเข้ามาไกล่เกลี่ย

โดยฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสถือว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการเมืองภายในของสยาม และไม่ได้เข้ามาก้าวก่าย

ต่อมา กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เสด็จทิวงคตเมื่อวันศุกร์ เดือน 9 แรม 3 ค่ำ ปีระกา จุลศักราช 1247 หรือวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2428 พระชนมายุ 48 พรรษา

พระราชทานเพลิง ณ พระเมรุท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2429 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใด ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่างลง

จนถึงปีจอ พ.ศ. 2429 จึงทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเป็นสยามมกุฎราชกุมารและยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช ตั้งแต่นั้นมา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top