17 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ  ร่วมรำลึกถึงพะยูนน้อย ‘มาเรียม’ 

17 สิงหาคม ‘วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ’ ย้อนเรื่องราวของ ‘น้องมาเรียม’ พะยูนน้อยขวัญใจแห่งท้องทะเล ได้เสียชีวิตลงในปี 2552 โดยมีสาเหตุมาจาก ‘การติดเชื้อจากขยะพลาสติกที่อุดตันในทางเดินอาหาร’

17 สิงหาคม ของทุกปีเป็น ‘วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ’ และเป็นวันที่เราต้องสูญเสีย ‘น้องมาเรียม’ พะยูนน้อยขวัญใจคนไทยทั้งประเทศ จากการอุดตันของลำไส้เล็กจาก ‘ขยะพลาสติก’ การจากไปของเจ้าพะยูนน้อยในครั้งนั้น ได้ให้บทเรียนสำคัญให้กับเราเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และมีแผนในการอนุรักษ์คุ้มครองพะยูนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

‘น้องมาเรียม’ เป็นลูกพะยูนน้อย เพศเมีย ที่พลัดหลงกับแม่และเข้ามาเกยตื้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2562 บริเวณอ่าวทึง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ อายุประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี น้องมาเรียมผอมกว่าพะยูนในวัยเดียวกันเพราะขาดอาหาร และนมแม่ แต่สภาพร่างกายสมบูรณ์ ไม่พบบาดแผล ว่ายน้ำได้ปกติ น้องมาเรียมมักจะดูดครีบข้างเวลาหิวนม และยังมีรอยแผลเป็นสีชมพูที่บริเวณแก้มข้างซ้าย ที่ได้มาจากการเกยตื้นเป็นประจำ

เจ้าหน้าที่ช่วยกันดูแลน้องมาเรียมอย่างดี เพื่อดูแลลูกพะยูนน้อย ‘มาเรียม’ ให้มีชีวิตรอดตามธรรมชาติอย่างดีที่สุด แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อช่วงบ่ายที่เจ้าหน้าที่เวรบ่ายพามาเรียมออกกินหญ้าทะเลตามปกติ และมาเรียมผละออกไปกินหญ้าทะเลด้วยตัวเอง มาเรียมเจอพะยูนโตเต็มวัยไล่คุกคาม จนหนีเตลิด จากนั้นมาเรียมก็มีภาวะเครียดจัด ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2562 มาเรียมผอมลงอย่างเห็นได้ชัดในเวลาแค่ชั่วข้ามคืน มาเรียมไม่ยอมกินอะไร จนมีอาการอ่อนเพลีย ไม่ร่าเริง ไม่ค่อยว่ายน้ำ อัตราการเต้นของหัวใจก็ช้ากว่าในช่วงร่างกายปกติ มาเรียมอาการเริ่มดีขึ้น จนกระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2562 มาเรียมเริ่มไม่ว่ายน้ำ ดำน้ำนานขึ้น ปล่อยตัวไปตามกระแสคลื่น และมีอาการซึม เจ้าหน้าที่เลยตัดสินใจย้ายมาเรียมมายังบ่อชั่วคราว

แต่สุดท้ายเจ้ามาเรียมก็สู้ต่อไปไม่ไหว และจากไปในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เวลา 0.09 น. จากการชันสูตรพบเศษพลาสติก 8 ชิ้น อุดตันลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย เกิดการสะสมของแก๊สในทางเดินอาหาร  ทำให้ลำไส้บวมมาก ปวดท้อง มีผิวหนังตายที่ลำไส้ด้านใน ร่างกายขาดน้ำ ปอดเป็นหนอง ติดเชื้อในกระแสเลือด มีรอยช้ำจากการเกยตื้น ก่อให้เกิดความเจ็บปวดจนช็อกและเสียชีวิตในที่สุด

การจากไปของเจ้าพะยูนน้อยได้ให้บทเรียนสำคัญเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้มีการจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ เน้นเป้าหมายเพิ่มประชากรพะยูน การดูแลพื้นที่อาศัยของพะยูน และกำหนดให้วันที่ 17 สิงหาคม ของทุกปีเป็น ‘วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ’ ตามมติคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 

อนึ่ง ‘พะยูน’ ได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไซเตส (CITES) พะยูนได้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ลำดับที่ 86 ของบัญชีไซเตส ซึ่งเป็นสัตว์ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้น เพื่อการศึกษาวิจัย และเพาะพันธุ์เท่านั้น ซึ่งในประเทศไทยแหล่งที่พบพะยูนมากที่สุดคือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง ซึ่งถือได้ว่าเป็นบ้านหลังใหญ่ของพะยูนในประเทศไทย