Sunday, 27 April 2025
CoolLife

15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตัดสินให้ ‘ปราสาทพระวิหาร’ เป็นของกัมพูชา

วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลโลก หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ พิพากษาชี้ขาด คดีปราสาทเขาพระวิหาร ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศกัมพูชา 

ปราสาทหินแห่งนี้เป็นศิลปะขอม สร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะ ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ราวปี 1545-1593 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ของขอม ภาษาเขมรเรียกว่า ‘เปรี๊ยะ วิเฮียร์’ (Phrea vihear) ตัวปราสาทสูง 657 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่บนทิวเขาพมนดงรักซึ่งกั้นระหว่างประเทศกัมพูชากับไทย ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศเหนือ ด้านหน้าและทางขึ้นอยู่ในเขตประเทศไทย แต่ตัวปราสาทส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกัมพูชา 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ค้นพบปราสาทแห่งนี้เมื่อปี 2442 แล้วทรงจารึกพระนามของพระองค์และปีที่ค้นพบไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดีว่า ‘118 สรรพสิทธิ์’ เนื่องจากเขาพระวิหารตั้งอยู่ตรงรอยต่อของไทยกับกัมพูชา ซึ่งผลัดกันยึดครองดินแดนแถบนี้

จนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยได้ส่งทหารเข้ายึดครองพื้นที่บริเวณเขาพระวิหาร เจ้านโรดม สีหนุ จึงยื่นฟ้องต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2502 การไต่สวนพิจารณาคดีเป็นไปอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ปี มีการนัดพิจารณาสืบพยานทั้งหมด 73 ครั้ง จนในที่สุด ศาลโลกก็ตัดสินให้กัมพูชาเป็นฝ่ายชนะคดีด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียง ยังผลให้ประเทศไทยต้องยินยอมทำตามข้อเรียกร้องทั้ง 2 ข้อของกัมพูชา นับเป็นการเสียดินแดนครั้งล่าสุดของประเทศไทยในยุครัตนโกสินทร์ เสียพื้นที่ไปทั้งหมดประมาณ 150 ไร่ 

หลังจากแพ้คดี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยินยอมให้นักศึกษาเดินขบวนประท้วงคำตัดสิน และปิดทางขึ้นปราสาทซึ่งอยู่ในเขตประเทศไทย เป็นการตอบโต้กัมพูชา เหลือเพียงทางขึ้นเป็นช่องเขาแคบ ๆ สูงชันและอันตราย ในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของกัมพูชา เขาพระวิหารก็ถูกสั่งปิด-เปิดให้เข้าชมอยู่หลายครั้งตามสถานการณ์ภายในประเทศ ก่อนจะเกิดความร่วมมือกันอีกครั้งระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวจนถึงปัจจุบันนี้ เขาพระวิหารนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของ จ. ศรีสะเกษ
 

16 มิถุนายน พ.ศ. 2513 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ บ้านปอน อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน ทรงเยี่ยมทหาร - ตำรวจ ในเขตต่อสู้ผู้ก่อการร้าย

วันนี้ เมื่อ 53 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ บ้านปอน อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ทรงเยี่ยมให้กำลังใจทหาร-ตำรวจ ที่ปฏิบัติการต่อสู้ผู้ก่อการร้าย

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์ไปยัง บ้านปอน อำเภอทุ่งช้าง และบ้านน้ำยาว อำเภอปัว จังหวัดน่าน เพื่อทรงเยี่ยมทหาร ตำรวจ และราษฎรที่ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าว อยู่ในเขตปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อการร้าย

นอกจากนั้น ยังได้เสด็จ ทอดพระเนตรรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบที่ผู้ก่อการร้ายลอบยิงจนชำรุดในพื้นที่เขตทางหลวง และทอดพระเนตรความเสียหายของเส้นทางที่ถูกผู้ก่อการร้ายคุกคาม บนถนนหมายเลข 1080 สายน่าน - ปัว - ทุ่งช้าง - ปอน - ห้วยโก๋น

ภายหลังได้ตรวจเยี่ยมบริเวณฐานปฏิบัติการ มีพระราชปฏิสันถารกับทหารและเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงทุกคนแล้ว จากนั้นเสด็จฯ ยังเขื่อนภูมิพล เพื่อประทับแรม ณ เขื่อนภูมิพล

CR. คนสร้างทาง 99 สู่100 ปี กรมทางหลวง 

17 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก ร่วมปลูกจิตสำนึกให้คนทั่วโลกใส่ใจธรรมชาติมากขึ้น

องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 17 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา เพื่อรณรงค์และปลูกจิตสำนึกให้คนทั่วโลกตระหนักและหันกลับมาใส่ใจธรรมชาติมากขึ้น 

‘วันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก World Day to Combat Desertification and Drought’ ตรงกับวันที่ 17 มิถุนายนของทุกปี เพื่อให้คนทั่วโลกได้ตระหนักถึงภาวะวิกฤตของโลกที่กำลังเผชิญในปัจจุบัน โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ความเป็นมาของวันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก เนื่องจากพบว่า ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทั่วโลกถูกทำลาย และกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งเห็นได้จากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น หรือสภาพอากาศแปรปรวน โดยส่วนใหญ่เกิดจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การเผาไหม้เชื้อเพลิงต่าง ๆ ในภาคคมนาคมขนส่ง การอุตสาหกรรมและการผลิตไฟฟ้า รวมถึงพฤติกรรมในการดำรงชีวิตประจำวันที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานอย่างสิ้นเปลือง 

ทั้งนี้ ปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศวิทยาและส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์โดยตรง ดังนั้น เพื่อให้มนุษย์ได้ร่วมใจกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น องค์การสหประชาชาติจึงประกาศให้วันที่ 17 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก โดยเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา เพื่อรณรงค์และปลูกจิตสำนึกให้ประชากรโลกตระหนักและหันกลับมาใส่ใจธรรมชาติมากขึ้น

รายงานล่าสุดของคณะกรรมการขององค์การสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ออกคำเตือนว่า วิกฤตสภาพอากาศโลกได้เข้าสู่ระดับสีแดง โดยภายในปี 2573 อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยจะสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาฯ และผลกระทบที่คาดว่าจะตามมาคือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง และปัญหาภัยแล้ง

ปัญหาภัยแล้งไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม เพราะภัยแล้งไม่ใช่แค่ปัญหาความแห้งแล้ง แต่คือภัยพิบัติที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาอีกมากมาย อาจเพิ่มความรุนแรงมากและขยายวงกว้างไปทั่วโลก
 

ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ

วันนี้เมื่อ 24 ปีก่อน ‘ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ’ (mai) เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นแหล่งระดมทุนของธุรกิจที่มีศักยภาพขนาดกลางและเล็ก ซึ่งมีทุนชำระแล้วหลัง IPO ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ขึ้น โดยเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2542 เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจที่มีศักยภาพ ในการเติบโตสามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนได้ โดยเน้นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตดี ในอนาคต (Business for the Future) หรือธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 

สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการอื่นๆ หากมีคุณสมบัติ ครบตามเกณฑ์รับหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) มีความยินดีรับเป็นบริษัทจดทะเบียนเพื่อให้ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) มีบริษัทจดทะเบียนในหลากหลายอุตสาหกรรมให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนได้ ตามความเหมาะสม ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) สามารถรองรับธุรกิจได้ทุกขนาด ทุนจดทะเบียนชำระแล้วขั้นต่ำภายหลังกระจายหุ้น 50 ล้านบาทขึ้นไป และไม่มีการจำกัดทุนจดทะเบียนชำระแล้วขั้นสูง ซึ่งแตกต่างจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่รองรับได้เฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีทุนชำระแล้วขั้นต่ำ 300 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น

ในปีแรกของการจัดตั้ง มีบริษัทเข้าจดทะเบียน จำนวน 3 บริษัท ขณะที่ปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 มีบริษัทจดทะเบียนใน mai 206 บริษัท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (market capitalization) อยู่ที่ 479,383 ล้านบาท มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 2,973 ล้านบาทต่อวัน  
 

22 มิถุนายน ของทุกปี วันป่าฝนโลก (World Rainforest Day) กระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์และร่วมปกป้องป่า

‘วันป่าฝนโลก’ (World Rainforest Day) เริ่มต้นขึ้นในปี 2017 โดย Rainforest Partnership หรือ ‘พันธมิตรป่าฝน’ ที่รวบรวมบุคคลจากหลายประเทศทั่วโลกมาร่วมกันดูแลรักษาและฟื้นฟูป่าไม้ หวังให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญของป่าฝน

‘ป่าฝน’ ป่าที่มีต้นไม้สูง,สภาพอากาศร้อน,และฝนตกเป็นจำนวนมาก ป่าฝนเขตร้อนคือป่าไม้ในแถบพื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตร เช่น ทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นป่าไม้ที่มีอุณหภูมิคงที่ตลอดทั้งปี (ราว 20 ถึง 27 องศาเซลเซียส) ได้รับน้ำฝนเฉลี่ยอย่างน้อย 200 เซนติเมตรต่อปี ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ส่งผลให้พืชพรรณต่างๆ เจริญเติบโตได้ดี 

ป่าไม้เขตร้อนยังเป็นสถานที่ซึ่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ไว้มากที่สุด โดยสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกมากกว่าร้อยละ 50 มีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าไม้เขตร้อน

เห็นเขียวชอุ่มขนาดนี้แต่ในความเป็นจริงแล้วมันมีเนื้อที่เพียง 2% เท่านั้นจากพื้นที่ทั้งหมดบนโลก แม้จะมีน้อยแต่มันก็เป็นบ้านของสัตว์ และต้นไม้นานาพันธุ์ถึง 50% ของโลก รวมถึงยังเป็นสถานที่ที่เราจะสามารถชี้วัดอุณหภูมิ และช่วยคงสภาพภูมิอากาศโดยรวมของโลกได้ด้วย

ป่าฝนนั้นมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต อย่างป่าแอมะซอนมีความสำคัญเป็นปอดของโลกสร้างออกซิเจนให้เราถึง 20% รวมถึงน้ำสะอาดเช่นกัน ป่ายังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน การปกป้องและฟื้นฟูป่าเป็นการช่วยรักษาโลกนี้ไว้ได้

แต่ปัจจุบันป่าหายไปจำนวนมาก มีป่าหายไปขนาดราวสี่สิบสนามฟุตบอลทุก 1 นาที จากกิจกรรมต่างๆของเรา ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า เผาป่า ทำพื้นที่อาศัย พื้นที่เกษตร ปศุสัตว์ สิ่งก่อสร้าง และอื่นๆ ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวิต สุขภาพของโลก และสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง 

‘วันป่าฝนโลก’ (World Rainforest day) มีขึ้นเพื่อให้เห็นความสำคัญและความสวยงามของป่าฝน รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการร่วมอนุรักษ์ ด้วยความร่วมมือของเราทุกคนจะช่วยรักษาป่าฝน และยับยั้งปัญหาโลกร้อนได้

วันก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล จุดเริ่มต้นมหกรรมกีฬาโอลิมปิก

วันนี้ เมื่อ 129 ปีก่อน กำเนิด คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) เพื่อฟื้นฟูโอลิมปิกยุคโบราณสู่กีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่

คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2437 โดยมี ปิแอร์ เดอ กูเบอร์แตง ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้นำในการประชุมระหว่างประเทศ ซึ่งจัด ณ มหาวิทยาลัยปารีส เพื่อฟื้นฟูกีฬาโอลิมปิกยุคโบราณสู่กีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ 

ซึ่งเป็นระยะเวลาสองปีก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกที่ถูกจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2439 โดย IOC เป็นองค์กรอิสระระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาสังคมแห่งมวลมนุษยชาติให้ดียิ่งขึ้นผ่านการเล่นกีฬาระดับสากล IOC เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกระดับสากล

ขณะเดียวกัน วันที่ 23 มิถุนายนของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็น ‘วันโอลิมปิก’ หรือ ‘Olympic Day’ เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันก่อตั้งของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล 

นอกจากนี้ วันโอลิมปิกยังมีเป้าหมาย ต้องการให้ผู้คนทั่วโลกได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมกีฬาในแบบฉบับของตัวเอง โดยไม่จำกัดเพศ อายุ หรือแม้กระทั่งความสามารถทางกีฬา ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ หรือ National Olympic Committee (NOC) ในแต่ละประเทศได้พยายามจัดกิจกรรมในวันนี้เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเข้าถึงกีฬามากขึ้น
 

24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ประชาธิปไตย

24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นับเป็นสำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทย เพราะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ตรงกับวันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก จุลศักราช 1294 ในรัชสมัยของสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในพระราชวงศ์จักรี คณะราษฎรอันประกอบด้วย ข้าราชการฝ่ายทหารบก ทหารเรือ พลเรือน และราษฎร นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้นำกำลังทหารและพลเรือนมาชุมนุม ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อประกาศแถลงการณ์ของคณะราษฎรและยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน และเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ

เมื่อสามารถระดมกำลังทหารมาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าได้เป็นจำนวนมากจากหลายกองพันในกรุงเทพ ตลอดจนกุมตัวพระบรมวงศานุวงศ์และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของรัฐบาลมาไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารก็ได้มีหนังสือและส่ง น.ต. หลวงศุภชลาศัย ไปยังพระราชวังไกลกังวล กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนคร ดังมีความสำคัญว่า

“คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกลับคืนสู่พระนคร ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน”

วันรุ่งขึ้น 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร มีความตอนหนึ่งว่า

“…คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนครเป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกัน ทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละมัยไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมืองและความจริงข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิดเพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวกฯ”

และในคืนวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนครโดยรถไฟพระที่นั่งที่ทางคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารส่งไปรับ และในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ให้บุคคลสำคัญของคณะราษฎรเข้าเฝ้าและพระองค์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่คณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน

ต่อมาในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทาน พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวให้เป็นกติกาการปกครองบ้านเมืองเป็นการชั่วคราวไปก่อน

คณะราษฎรนับเป็นกลุ่มบุคคลผู้มีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงในทางการเมืองและสังคมของประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 15 ปี กระทั่งสิ้นสุดบทบาทในปลาย พ.ศ. 2490 จากการรัฐประหาร ของคณะนายทหาร ภายใต้การนำของพลโท ผิน ชุณหะวัณ

ข้อมูล : สถาบันพระปกเกล้า
 

25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเปิด สถานีรถไฟกรุงเทพ

วันนี้ เมื่อ 107 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด สถานีรถไฟกรุงเทพ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ‘สถานีรถไฟหัวลำโพง’

25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด สถานีรถไฟกรุงเทพ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า สถานีรถไฟหัวลำโพง ตามชื่อคลองและฝูงวัววิ่งกันอย่างคึกคะนองอยู่กลางทุ่งจึงเรียกว่า ‘ทุ่งวัวลำพอง’ และได้เพี้ยนเสียงมาเป็น ‘หัวลำโพง’ ในภายหลัง บ้างก็สันนิษฐานว่าเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ ‘ต้นลำโพง’ ซึ่งเคยมีมากในบริเวณนี้ 

สถานีรถไฟหัวลำโพงเริ่มก่อสร้างในปี 2453 ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 สถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นโดมสไตล์อิตาเลียนผสมกับศิลปะเรอเนซองซ์ มีความคล้ายคลึงกับสถานีรถไฟฟรังค์ฟูร์ท ที่เมืองแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อ มาริโอ ตามานโญ มีพื้นที่ประมาณ 120 ไร่ 

ด้านหน้ามี ‘อนุสาวรีย์ช้างสามเศียร’  ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าสถานีหัวลำโพงมีสวนหย่อมและน้ำพุสำหรับประชาชน โดยข้าราชการรถไฟได้รวบรวมทุนทรัพย์จัดสร้างอนุสาวรีย์น้อมเกล้าฯ อุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระพุทธเจ้าหลวง อนุสาวรีย์ที่ว่านี้เป็นรูปช้างสามเศียร มีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แกะสลักเป็นภาพนูนสูงประดิษฐานอยู่ด้านบน

ภายในประดับด้วยหินอ่อน เพดานมีการสลักลายนูนต่าง ๆ จุดเด่นอย่างหนึ่งคือ กระจกสีที่ช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังซึ่งประดับไว้อย่างผสมผสานกลมกลืนกับตัวอาคาร โดยมีนาฬิกาขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 160 เซนติเมตรซึ่งสั่งทำเป็นพิเศษ ติดตั้งอยู่อย่างกลมกลืน นับเป็นสถานีรถไฟที่เก่าแก่ที่สุด เป็นสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย รองรับรถไฟประมาณ 200 ขบวนต่อวัน จากรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ ก่อนจะรถไฟทางไกล สายเหนือ อีสาน และใต้ จะเปลี่ยนไปให้บริการที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา
 

26 มิถุนายน วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี 

พระองค์ผนวชเป็นสามเณร ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เมื่อ พ.ศ.2483 โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วย้ายไปอยู่วัดตรีญาติเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ต่อมาได้ทรงเข้าพิธีผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีพระเทพโมลี (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จน พ.ศ.2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ.2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค ต่อมา เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ.2500 และได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ปี พ.ศ.2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ ปี พ.ศ.2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีสถาปนาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เวลา 16.50 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยนิมนต์สมเด็จพระราชาคณะ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะจังหวัดทั่วราชอาณาจักร เข้าร่วมพระราชพิธี

27 มิถุนายน พ.ศ. 2475  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญ ‘ฉบับชั่วคราว’

วันนี้เมื่อ 91 ปีที่แล้ว เป็นวันประกาศใช้บังคับ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญเป็นฉบับแรก ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 โดยเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งราชอาณาจักรสยาม ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 

โดยเป็นผลพวงหลังการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร ซึ่งได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ) ซึ่งในขณะที่เกิดการปฏิวัตินั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประทับ ณ พระตำหนักวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

โดยพระราชบัญญัติธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกในประวัติศาสตร์ไทย ร่างขึ้นโดยแกนนำสำคัญภายในคณะราษฎร โดยในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ กลับพระนคร และในวันเดียวกันนั้นก็โปรดเกล้าฯ ให้คณะราษฎรเข้าเฝ้าฯ และทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาสมาชิกคณะราษฎร 

นอกจากนี้คณะราษฎรยังถวายร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามด้วย แต่พระองค์ทรงขอตรวจร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวก่อน ซึ่งพระองค์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันรุ่งขึ้น โดยทรงพระอักษรกำกับต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัตินั้นว่า 'ชั่วคราว' สืบเนื่องมาจากพระองค์ทรงเห็นว่าหลักการประชาธิปไตยของผู้ก่อการฯ ไม่พ้องกันกับพระประสงค์ของพระองค์ แต่พระองค์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยเพราะเหตุการณ์ฉุกเฉินในขณะนั้น

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 นี้ใช้เพื่อเป็นกติกาในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหลังวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งได้ประกาศใช้ถึงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475เท่านั้น และได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top