17 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก ร่วมปลูกจิตสำนึกให้คนทั่วโลกใส่ใจธรรมชาติมากขึ้น

องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 17 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา เพื่อรณรงค์และปลูกจิตสำนึกให้คนทั่วโลกตระหนักและหันกลับมาใส่ใจธรรมชาติมากขึ้น 

‘วันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก World Day to Combat Desertification and Drought’ ตรงกับวันที่ 17 มิถุนายนของทุกปี เพื่อให้คนทั่วโลกได้ตระหนักถึงภาวะวิกฤตของโลกที่กำลังเผชิญในปัจจุบัน โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ความเป็นมาของวันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก เนื่องจากพบว่า ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทั่วโลกถูกทำลาย และกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งเห็นได้จากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น หรือสภาพอากาศแปรปรวน โดยส่วนใหญ่เกิดจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การเผาไหม้เชื้อเพลิงต่าง ๆ ในภาคคมนาคมขนส่ง การอุตสาหกรรมและการผลิตไฟฟ้า รวมถึงพฤติกรรมในการดำรงชีวิตประจำวันที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานอย่างสิ้นเปลือง 

ทั้งนี้ ปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศวิทยาและส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์โดยตรง ดังนั้น เพื่อให้มนุษย์ได้ร่วมใจกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น องค์การสหประชาชาติจึงประกาศให้วันที่ 17 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก โดยเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา เพื่อรณรงค์และปลูกจิตสำนึกให้ประชากรโลกตระหนักและหันกลับมาใส่ใจธรรมชาติมากขึ้น

รายงานล่าสุดของคณะกรรมการขององค์การสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ออกคำเตือนว่า วิกฤตสภาพอากาศโลกได้เข้าสู่ระดับสีแดง โดยภายในปี 2573 อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยจะสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาฯ และผลกระทบที่คาดว่าจะตามมาคือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง และปัญหาภัยแล้ง

ปัญหาภัยแล้งไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม เพราะภัยแล้งไม่ใช่แค่ปัญหาความแห้งแล้ง แต่คือภัยพิบัติที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาอีกมากมาย อาจเพิ่มความรุนแรงมากและขยายวงกว้างไปทั่วโลก