Tuesday, 21 May 2024
CollLife

26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงอภิเษกสมรส กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

วันนี้เมื่อ 105 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอภิเษกสมรส กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี 

พระราชพิธีอภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ถือเป็นการอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม ซึ่งได้นำแบบอย่างธรรมเนียมการสมรสของชาวตะวันตกมาปรับใช้ มีพิธีการจดทะเบียนสมรสเป็นคู่แรกของสยาม และมีการพระราชทานของชำร่วยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม ซึ่งเป็นแม่แบบพิธีแต่งงานของไทยที่สืบต่อกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ย้อนไปเมื่อวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี หรือหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ถือเป็น ‘พระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม’

หลังจากการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วย การเศกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๑ ความตอนหนึ่งว่า “ให้เจ้านายในพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปจะทำการเศกสมรสกับผู้ใด ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วจึงจะทำการพิธีนั้นได้”

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนฯ ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอภิเษกสมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ความตอนหนึ่งว่า

“บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ปฏิพัทธ์รักใคร่กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ธิดาแห่งเสด็จน้า และข้าพระพุทธเจ้าอยากจะใคร่ทำการสมรสกับเจ้าหญิงนั้น แต่เดิมข้าพระพุทธเจ้าได้ชอบพอกับหญิงรำไพพรรณี ฉันเด็กและผู้ใหญ่ และสมเด็จแม่ก็โปรดให้หญิงรำไพพรรณี มารับใช้ข้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ ข้าพระพุทธเจ้าได้ กราบทูลสมเด็จแม่ว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะมีหนังสือกราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเพื่อทราบพระราชปฏิบัติ ท่านก็ทรงเห็นด้วยกับข้าพระพุทธเจ้า ส่วนเสด็จน้านั้น ท่านรับสั่งว่าท่านไม่ทรงเกี่ยวข้องด้วย เพราะท่านได้ถวายหญิงรําไพไว้ขาดแด่สมเด็จแม่ตั้งแต่ยังเล็กๆ แล้ว…” (อ้างใน ราชเลขาธิการ 2531: 15)

ในพระราชพิธีอภิเษกสมรส สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ทรงลงพระนามในสมุด ‘ทะเบียนแต่งงาน’ แล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยเป็น ‘ผู้สู่ขอตกแต่ง’ และ ‘ผู้ทรงเป็นประธานและพยานในการแต่งงาน’ และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ลงพระนามเป็นพยาน รวม 12 พระองค์

นับว่าเป็น ‘ครั้งแรกที่มีการจดทะเบียนสมรสในพระราชวงศ์’ สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยเริ่มมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการครองเรือนให้เป็นแบบตะวันตก และยังเป็นแม่แบบของพิธีแต่งงานของไทยยุคใหม่ที่มีการจดทะเบียนสมรส

ในเวลาค่ำ พระราชทานเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่มาร่วมงาน และได้ทรงพระราชทานของชำร่วย เป็นแหวนทองคำลงยาประดับเพชร ถือเป็น ‘ของชำร่วยวันแต่งงานครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม’

3 กันยายน วันเกิด ‘โดราเอมอน’ แมวการ์ตูนสีฟ้าจากโลกอนาคต

โดราเอมอน เป็นหุ่นยนต์แมวจากโลกอนาคต ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 22 เกิดวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2655 (ค.ศ. 2112) ลักษณะตัวอ้วนกลมสีฟ้า (เมื่อแรกเกิดมามีสีเหลือง) ไม่มีใบหู เนื่องจากถูกหนูแทะ 

โดราเอมอน เดิมเป็นหุ่นยนต์พี่เลี้ยงซึ่งคนที่ซื้อโดราเอมอนมาคือเซวาชิ เหลนชายของโนบิตะ วันหนึ่งเซวาชิเกิดอยากรู้สาเหตุที่ฐานะทางบ้านยากจน จึงได้กลับไปในอดีตด้วยไทม์แมชชีน จึงได้รู้ว่าโนบิตะ (ผู้เป็นปู่ทวด) เป็นตัวต้นเหตุ เซวาชิจึงได้ตัดสินใจให้โดราเอมอนย้อนเวลาไปคอยช่วยเหลือดูแลเวลาโนบิตะโดนแกล้งโดยใช้ของวิเศษที่หยิบจากกระเป๋าสี่มิติ

โดราเอมอนมีอวัยวะที่วิเศษสุด ๆ อาทิ มือกลมสีขาวไม่มีนิ้ว แต่ที่มือมีความสามารถในการดูด จึงหยิบจับสิ่งของได้ มีกระดิ่งห้อยคอสีเหลือง มีหนวด 6 เส้น หน้าท้องมีกระเป๋าวิเศษ และมีสวิตช์สำหรับปิด-เปิดที่หาง ถ้าดึงหางปุ๊บ โดราเอมอน ก็จะหยุดการทำงานทันที

โดราเอมอน มีความผูกพันกับเลข 129.3 แทบทุกอย่าง ทั้งน้ำหนัก 129.3 กิโลกรัม ส่วนสูงขณะยืน 129.3 เซนติเมตร ขณะนั่ง 100 เซนติเมตร กระโดดได้สูง 129.3 เซนติเมตร วิ่งได้เร็ว 129.3 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนของโปรด คือ โดรายากิ ตัวละครโดราเอมอนนั้น ได้รับแรงบันดาลใจเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2512 เนื่องจากนักวาดการ์ตูนทั้ง 2 ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ ได้ลงโฆษณาการ์ตูนเรื่องใหม่ของเขาทั้งสองไว้ว่าจะมีตัวเอกที่ออกมาจากลิ้นชัก ในนิตยสารการ์ตูนฉบับต้อนรับปีใหม่ แต่ในความจริงแล้วทั้งสองยังไม่มีไอเดียเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องนี้แม้แต่น้อยเลย เมื่อใกล้ถึงเวลาส่งต้นฉบับก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับทั้งสองเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้แรงบันดาลใจของการ์ตูนชื่อดัง 'โดราเอมอน' เกิดจากฮิโรชิ ฟุจิโมโตะ หนึ่งในนักวาดการ์ตูน ได้เผอิญเห็นแมวจรจัดที่มักแอบเข้ามาเล่นที่บ้านของตนเองเป็นประจำ เขามักจะชอบจับแมวตัวนี้มาหาหมัด จนเวลาล่วงเลยมาถึง 4.00 น. ก็ยังไม่มีไอเดียเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องใหม่ ทำให้ฮิโรชิโมโหตัวเองเป็นอย่างมาก และคิดเลยเถิดไปว่าโลกนี้น่าจะมีไทม์แมชชีน เพื่อย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีต หลังจากนั้นฮิโรชิได้เผลอหลับไปด้วยความอ่อนล้า เมื่อเขาสะดุ้งตื่นขึ้นมา ทำให้เขาตกใจว่าตนเองเผลอหลับไป จึงรีบวิ่งลงจากบันไดบ้านไปสะดุดกับตุ๊กตาล้มลุกญี่ปุ่นของลูกสาวที่ตกอยู่บนพื้น

เหตุนี้เองทำให้ฮิโรชิเกิดไอเดียขึ้นโดยนำหน้าแมวจรจัดมาผสมกับตุ๊กตาญี่ปุ่น สร้างออกมาเป็นตัวละครหุ่นยนต์แมวจากอนาคตคอยช่วยเหลือเด็กชายที่แสนจะไม่ได้เรื่อง และตั้งชื่อว่า โดราเอมอน เป็นคำผสมระหว่าง 'โดราเนโกะ' กับ 'เอมอน' ในภาษาญี่ปุ่น โดราเนโกะนั้นแปลว่าแมวหลงทาง ส่วนคำว่า 'เอมอน' เป็นคำเรียกต่อท้ายชื่อของเด็กชายในสมัยก่อนของประเทศญี่ปุ่น ชื่อโดราเอม่อน มีทั้งหมด 5 ชื่อ ด้วยกัน ชื่อที่ 1 โดราเอม่อน ชื่อที่ 2 โดเรม่อน ชื่อที่ 3 โดราจัง ชื่อที่ 4 โดราม่อน ชื่อที่ 5 โดราเอม่อนแมวจอมยุ่ง มีน้องสาว ชื่อว่า โดเรมี่

สำหรับโดราเอมอนเคยได้รับเลือกจากนิตยสารไทม์เอเชีย ให้เป็นหนึ่งในวีรบุรุษของทวีปเอเชีย และในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2551 มาซาฮิโกะ คามูระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น ได้แต่งตั้งให้โดราเอมอนเป็นทูตสันถวไมตรีอย่างเป็นทางการ เพื่อช่วยในการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมของประเทศ โดยนับเป็น 'ทูตแอนิเมชัน' ตัวแรกของประเทศญี่ปุ่น และเจ้าแมวหุ่นยนต์สีฟ้า ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 อย่างเป็นทางการอีกด้วย

4 กันยายน พ.ศ. 2351 วันพระราชสมภพ สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4

วันนี้เมื่อ 215 ปีก่อน เป็น วันพระราชสมภพของ สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4

เจ้าฟ้าจุฑามณี พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเป็นพระอนุชาร่วมอุทรกับ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร. 4 เมื่อ ร.4 เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าจุฑามณีขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงมีความรู้ในด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี ทรงโปรดวิทยากรสมัยใหม่แบบตะวันตกหลายด้าน ทรงพระปรีชาหลายด้าน ทรงสร้างปืนใหญ่ไว้เป็นจำนวนมากเพื่อใช้ป้องกันบ้านเมือง ทรงสร้างเรือกลไฟเป็นลำแรก เป็นผู้บังคับบัญชากรมทหารปืนใหญ่ และผู้บังคับบัญชาทหารเรือไทยเป็นพระองค์แรก

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และเป็นพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระนามเดิมว่า 'เจ้าฟ้าจุฑามณี' หรือ 'เจ้าฟ้าน้อย' เสด็จพระราชสมภพ ณ พระราชวังเดิม เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 หลังจากที่สมเด็จพระราชบิดาได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเจ้าฟ้าน้อย จึงได้ตามเสด็จพระบรมชนกนาถและพระราชชนนี มาประทับในพระบรมมหาราชวัง และได้รับการเฉลิมพระนามเป็น 'สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฑามณี' หรือ 'เจ้าฟ้าอสุนีบาต'

เมื่อเจ้าฟ้าน้อย ซึ่งในขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เจริญพระชนมายุได้ 16 พรรษา ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2367 ได้เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิม และประทับที่นี่จนถึงปี พ.ศ. 2394

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านต่าง ๆ อาทิ การทหาร การช่าง วิทยาศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม การกีฬา การละคร การดนตรี และด้านวรรณกรรมอีกทั้งทรงรอบรู้ทางด้านการต่างประเทศอีกด้วย ทรงศึกษาภาษาอังกฤษจากมิชชันนารีอเมริกันจนแตกฉาน และทรงมีพระสหาย เป็นชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมากด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงสามารถช่วยราชการด้านการต่างประเทศได้เป็นอย่างดีโดยทรงเป็นที่ปรึกษาในการทำสนธิสัญญาต่าง ๆ

หลังจากที่ได้รับพระราชทานบวรราชาภิเษกเป็น 'พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว' เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 ทรงมีศักดิ์สูงเสมอพระมหากษัตริย์เป็น 'พระเจ้าประเทศสยามองค์ที่ 2' ได้ทรงย้ายมาประทับ ณ พระบวรราชวัง (ปัจจุบันคือบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ) จนสิ้นพระชนม์ลงใน วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 ขณะที่ทรงมีพระชนมายุได้ 58 พรรษา

2 กันยายน พ.ศ. 2488 ‘ญี่ปุ่น’ ลงนามยอมจำนน บนเรือรบมิสซูรี สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ

มาโมรุ ชิเงมิตซึ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น (ในขณะนั้น) ในนามของพระจักรพรรดิลงนามในเอกสารยอมจำนน เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 ถือเป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ

ในวันที่ 2 กันยายน 1945 (พ.ศ. 2488) มาโมรุ ชิเงมิตซึ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น (ในขณะนั้น) ในนามของพระจักรพรรดิลงนามในเอกสารยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อกลุ่มสัมพันธมิตรเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดลงของ สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ

การลงนามมีขึ้นบนเรือรบมิสซูรีของกองทัพสหรัฐฯ ที่ลอยลำอยู่เหนืออ่าวโตเกียว โดยพิธีลงนามใช้เวลาเพียง 20 นาที เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องลงนามทั้งสิ้น 12 รายชื่อ

แม้ฝ่ายทหารจะต่อต้านการยอมจำนนจนถึงวินาทีสุดท้าย แต่ด้วยความเสียหายของญี่ปุ่นหลังโดนโจมตีด้วยระเบิดปรมาณูติดๆ กันสองลูกในฮิโรชิมา และนางาซากิ ประกอบกับโซเวียต ยังประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในช่วงเวลาเดียวกัน จึงทำให้กลุ่มการเมืองภายในญี่ปุ่นต้องการยุติสงครามในครั้งนั้น 

ก่อนหน้านั้น รัฐบาลญี่ปุ่นออกแถลงการณ์เห็นด้วยที่จะยอมรับเงื่อนไขการยอมจำนนตามคำประกาศแห่งปอตสดัม (Potsdam Declaration) ในวันที่ 10 สิงหาคม ตามมาด้วยการประกาศยอมแพ้สงครามของพระจักรพรรดิผ่านวิทยุกระจายเสียงในวันที่ 15 สิงหาคม ก่อนที่ญี่ปุ่นจะลงนามในเอกสารยอมจำนนอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กันยายนปีเดียวกัน

15 กันยายน ของทุกปี วัน ‘ศิลป์ พีระศรี’ บิดาแห่งวงการศิลปะร่วมสมัยไทย

15 กันยายน ของทุกปี เป็นวัน ‘ศิลป์ พีระศรี’ บิดาแห่งวงการศิลปะร่วมสมัยไทย ผู้บุกเบิกวงการศิลปกรรมของไทยให้ก้าวหน้าสู่สากล และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เดิมชื่อ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) เป็นชาวอิตาลีสัญชาติไทย เกิดเมื่อวันที่ 15 ก.ย.2435 ในเขตซานโจวานนี (San Giovanni) เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เป็นบุตรของ อาตูโด เฟโรชี และซานตินา เฟโร มีบุตร 2 คน ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2505 รวมอายุได้ 69 ปี 7 เดือน 29 วัน

เป็นบุคคลที่มีใจรักในศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ท่านก็สามารถส่งเสียตัวเองจนเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับที่ 1 และสามารถสอบเข้าเป็นศาสตราจารย์ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นประติมากรจากเมืองฟลอเรนซ์ที่เข้ามารับราชการในประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2466 เข้ารับราชการในตำแหน่งช่างปั้น กรมศิลปากร กระทรวงวัง

ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ถือเป็นปูชนียบุคคลคนหนึ่งของไทยที่ได้สร้างคุณูปการในทางศิลปะและมีผลงานที่เป็นที่กล่าวขานจนเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและอาจารย์สอนวิชาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์คนแรก มีความรักใคร่ ห่วงใยและปรารถนาดีต่อลูกศิษย์อยู่ตลอดจนเป็นที่รักและนับถือทั้งในหมู่ศิษย์และอาจารย์ด้วยกัน

ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี เป็นผู้วางรากฐานที่เข้มแข็งให้แก่วงการศิลปะไทยสมัยใหม่จากการที่ได้พร่ำสอนและผลักดันลูกศิษย์ให้ได้มีความรู้ความสามารถในวิชาศิลปะทั้งงานจิตรกรรมและงานช่าง มีจุดประสงค์ให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจในศิลปะและสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้ด้วยความสามารถของบุคลากรของตนเอง การก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงเปรียบเสมือนการหว่านเมล็ดพันธุ์ให้แก่คนไทยเพื่อที่จะออกไปสร้างศิลปะเพื่อแผ่นดินของตน

แม้จะริเริ่มรากฐานของความรู้ด้านศิลปะตะวันตกในประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ได้ศึกษาศิลปะไทยอย่างลึกซึ้ง เนื่องจากต้องการให้คนไทยรักษาความงามของศิลปะไทยเอาไว้ จึงได้เกิดการสร้างลูกศิษย์ที่มีความรู้ทั้งงานศิลปะตะวันตกและศิลปะไทยออกไปเป็นกำลังสำคัญให้แก่วงการศิลปะไทยเป็นจำนวนมาก และเกิดรูปแบบงานศิลปะไทยสมัยใหม่ในที่สุด

จึงได้รับการยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลของมหาวิทยาลัยศิลปากรและของประเทศไทย โดยเฉพาะในงานประติมากรรมที่ได้มีผลงานที่โดดเด่นมากมายที่สร้างไว้แก่ประเทศไทย ได้แก่ พระพุทธรูปประธานที่พุทธมณฑล, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และรวมไปถึง พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่วงเวียนใหญ่, พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และพระบรมราชานุสาวรีย์ของกษัตริย์ไทยอีกหลายพระองค์ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ศาสตราจารย์ศิลป จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย และเป็น ผู้วางรากฐานมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยในวันที่ 15 กันยายน ของทุกปีจะถือเป็นวันศิลป พีระศรี ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรจะจัดงานรำลึกขึ้นทุกปีเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีที่มีต่อมหาวิทยาลัยและประเทศไทยนานัปการ

16 กันยายน พ.ศ. 2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ

วันนี้ เมื่อ 101 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ ตามที่นายพลเรือเอก กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ได้ขอพระราชทาน

ย้อนไป เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2465 หรือ 101 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ ตามที่นายพลเรือเอก กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ได้ขอพระราชทาน และกองทัพเรือสร้างฐานทัพเรือที่สัตหีบ ตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ

ฐานทัพเรือสัตหีบ เริ่มก่อกำเนิดขึ้นมาด้วยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2457 ขณะที่เสด็จประพาสทางชลมารคเลียบฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี พระองค์ได้เสด็จฯ มาประทับในอ่าวสัตหีบ เพื่อทอดพระเนตรการซ้อมรบของกองทัพเรือด้วย

ในการเสด็จคราวนั้นพระองค์ได้ทอดพระเนตรหมู่บ้านสัตหีบ เห็นว่า เป็นชัยภูมิอันเหมาะที่จะตั้งเป็นฐานทัพเรือ จึงได้มีพระบรมราชโองการด้วยพระโอษฐ์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2457 แก่พระยาราชเสนาผู้แทนสมุหเทศาภิบาล มณฑลจันทบุรี และพระยาประชาไศรยสรเดช ผู้ว่าราชการเมืองชลบุรี

ขณะทรงประทับอยู่ในเรือพระที่นั่งว่า มีพระราชประสงค์ที่ดินฝั่งตำบลสัตหีบ และที่ใกล้เคียงตลอดทั้งเกาะใหญ่น้อยบรรดาที่มีอยู่ริมฝั่งน้ำ อย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับใบเหยียบย่ำ หรือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินบนฝั่ง หรือเกาะที่สงวนไว้แล้วนั้นเป็นอันขาด

กันยายน พ.ศ. 2465 พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ขณะที่ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ได้มีหนังสือไปกราบถวายบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานที่ดินตำบลสัตหีบที่ทรงสงวนไว้เพื่อจัดเป็นฐานทัพเรือ โดยทรงเน้นให้เห็นคุณและโทษ ของการจัดสัตหีบเป็นฐานทัพเรือไว้

ต่อมาทางกองทัพเรือจึงได้ก่อสร้างฐานทัพเรือ จนมาเป็นฐานทัพเรือสัตหีบ จวบจนถึงปัจจุบัน

20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’ ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจจาก ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’

วันนี้ เมื่อ 65 ปีก่อน เกิดการรัฐประหารในประเทศไทยอีกครั้ง โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ จอมพลถนอม กิตติขจร อ้างเหตุแห่งความแตกแยกของพรรคร่วมรัฐบาลและภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี (ซึ่งพร้อมใจลาออก) รัฐประหารครั้งนี้ต่อเนื่องมาจากรัฐประหารครั้งก่อน ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 โดยอาศัยเหตุจากการเดินขบวนประท้วง การประท้วงการเลือกตั้งสกปรก และการแย่งอำนาจกันเองในหมู่ทหาร

จากนั้นจอมพลสฤษดิ์ได้แต่งตั้งนายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีและจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งพลโทถนอม กิตติขจร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่สามารถบริหารราชการไปอย่างราบรื่น ในที่สุดจอมพลสฤษดิ์ ในนาม ‘คณะปฏิวัติ’ ก็ได้ทำการรัฐประหารอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 โดยอาศัยทั้งเหตุความแตกแยกของพรรคร่วมรัฐบาลและที่สำคัญคือ ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์

ภายหลังยึดอำนาจ จอมพลสฤษดิ์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อม ๆ กับการใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จหรือ ม.17 ให้อำนาจนายกฯ อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด สามารถสั่งจับกุมคุมขังหรือประหารชีวิตใครก็ได้ที่เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ส่งผลให้เกิดการปราบปรามผู้มีแนวคิดสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง

30 ตุลาคม พ.ศ. 2370 วันสถาปนา ‘คุณหญิงโม’ ขึ้นเป็น ‘ท้าวสุรนารี’ ตำนานหญิงกล้าศูนย์รวมจิตใจของชาวโคราช

วันนี้ เมื่อ 196 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘คุณหญิงโม’ ขึ้นเป็น ‘ท้าวสุรนารี’ พร้อมกับพระราชทานเครื่องยศ จากวีรกรรมอันกล้าหาญที่ต่อสู้กับทหารเจ้าอนุวงศ์ จากลาว จนแตกพ่าย

ท้าวสุรนารี มีนามเดิมว่า ‘โม’ (แปลว่า ใหญ่มาก) หรือ ท้าวมะโหโรง เป็นชาวเมืองนครราชสีมาโดยกำเนิด เกิดเมื่อปีระกา พ.ศ. 2314 มีนิวาสถานอยู่ ณ บ้านตรงกันข้ามกับวัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลางนคร) ทางทิศใต้ของเมืองนครราชสีมา เป็นธิดาของนายกิ่มและนางบุญมา 

เมื่อปี พ.ศ. 2339 โม เมื่ออายุได้ 25 ปี ได้แต่งงานกับนายทองคำขาว พนักงานกรมการเมืองนครราชสีมา ต่อมานายทองคำขาว ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น ‘พระภักดีสุริยเดช’ ตำแหน่งรองปลัดเมืองนครราชสีมา นางโม จึงได้เป็น คุณนายโม และต่อมา ‘พระภักดีสุริยเดช’ ได้เลื่อนเป็น ‘พระยาสุริยเดช’ ตำแหน่งปลัดเมืองนครราชสีมา คุณนายโมจึงได้เป็น คุณหญิงโม ชาวเมืองนครราชสีมาเรียกท่านทั้งสองเป็นสามัญว่า ‘คุณหญิงโม’ และ ‘พระยาปลัดทองคำ’

ในปี พ.ศ. 2369 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ (วีระกษัตริย์ของชาวลาว) บุตรเจ้าศิริบุญสาร ผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต ล้านช้างและเวียงจันทน์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองประเทศราชของกรุงสยาม ต้องการเป็นเอกราชจากสยาม จึงประพฤติเป็นกบฏยกทัพหมายจะเข้าตีกรุงเทพมหานคร นำชาวลาวที่มาอยู่ในแผ่นดินสยามกลับมาตุภูมิ เจ้าอนุวงศ์ใช้อุบายลวงเจ้าเมืองตามรายทาง โดยปลอมท้องตราพระราชสีห์ว่า สยามขอให้เจ้าอนุวงศ์ยกทัพมาช่วยรบกับอังกฤษ (ขณะนั้นมีข่าวลือหนาหูว่า สยามจะมีศึกกับอังกฤษ) ซึ่งยกทัพเรือจะมาตีกรุงเทพ ๆ จึงไม่มีผู้ใดขัดขวาง

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์ยกทัพมาถึงเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านสยามและ มีความอุดมสมบูรณ์ ในขณะที่เจ้าพระยามหานครราชสีมา ไม่อยู่ และพระยาปลัดเมืองนครราชสีมาไปราชการเมืองขุขันธ์ กองทัพเจ้าอนุวงศ์มาถึง จึงเข้ายึดเมือง ยึดทรัพย์สินและให้เพี้ยรามพิชัย หรือพระยารามพิชัย กวาดต้อนชาวเมืองไปเป็นเชลยศึก เดินทางกลับไปเวียงจันทน์

ส่วนทัพเจ้าอนุวงศ์เดินทัพต่อไปยังสระบุรีเพื่อเข้ากรุงเทพฯ ในบรรดาเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนกลับเวียงจันทน์ มีคุณหญิงโมรวมอยู่ด้วย คุณหญิงโม เป็นหญิงที่ฉลาดหลักแหลมและออกอุบายให้ทหารเวียงจันทน์ ตายใจ โดยให้หญิงที่ถูกต้อนเป็นเชลย หน่วงเหนี่ยวทหารให้เดินทัพช้าลง และวางแผนให้พวกผู้หญิง หลอกขอมีด จอบ เสียม มาใช้ซ่อมเกวียนและทำอาหาร แท้จริงแล้วกลับนำมีด จอบ เสียมนั้นมาลอบตัดไม้เป็นอาวุธแอบซ่อนไว้

ระหว่างพักที่ทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงพิมาย ซึ่งห่างจากตัวเมืองนครราชสีมา ประมาณ 40 กิโลเมตร ในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2369 สบโอกาสเหมาะ พวกผู้หญิง ช่วยกัน หลอกล่อ มอมเหล้าทหารจนเมามายไร้สติไปทั้งกองทัพ แล้วช่วยกันทั้งหญิงและชายแย่งอาวุธฆ่าฟัน จนทหารล้มตายเป็นจำนวนมาก กองทัพแตกพ่ายไป เมื่อได้รับชัยชนะแล้ว จึงตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ ชาวเมืองที่หนีรู้ข่าวการชนะศึก จึงพากันกลับมาสมทบ และพระยาปลัดก็ยกทัพตามมาช่วยทันเวลา ส่วนเจ้าอนุวงศ์รู้ข่าวว่ากรุงเทพฯ ยกทัพขึ้นมาช่วย จึงเลิกทัพกลับไปเวียงจันทน์

การศึกที่ทุ่งสัมฤทธิ์นี้ มีสตรีผู้กล้าหาญได้พลีชีพจุดไฟทำลายเกวียน ที่บรรทุกดินระเบิดจนตัวตาย คือ นางสาวบุญเหลือ ชาวบ้านทุ่งสัมฤทธิ์และชาวโคราชได้ให้ความเคารพนับถือ ไม่ยิ่งหย่อนกว่าย่าโมและเรียกนางบุญเหลือว่า ย่าเหลือ และกำหนดให้วันที่ 4 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสดุดี วีรกรรมของนางสาวบุญเหลือ และทางจังหวัดนครราชสีมา กำหนดให้วันที่ 23 มีนาคม เป็นวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี

เมื่อความทราบไปถึง ‘พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘คุณหญิงโม’ ขึ้นเป็น ‘ท้าวสุรนารี’ พร้อมกับพระราชทานเครื่องยศเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2370 ซึ่งในตอนนั้นคุณหญิงโมมีอายุ 57 ปี
เครื่องยศทองคำประดับเกียรติ ดังนี้

-ถาดทองคำใส่เชี่ยนหมาก 1 ใบ
-จอกหมากทองคำ 1 คู่
-ตลับทองคำ 3 เถา
-เต้าปูนทองคำ 1 อัน
-คณโฑทองคำ 1 ใบ
-ขันน้ำทองคำ 1 ใบ

ท้าวสุรนารี ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ พ.ศ. 2395 รวมสิริอายุ 81 ปี อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ประดิษฐานอยู่ที่หน้าประตูชุมพล ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2477 และได้บูรณะใหม่ให้งามสง่ายิ่งขึ้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2524 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ทรงวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ท่ามกลางพสกนิกร ที่เข้าเฝ้าถวายความจงรักภักดีอย่างเนืองแน่น ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานบรมราโชวาท มีความตอนหนึ่งว่า

“ท้าวสุรนารีเป็นผู้ที่เสียสละเพื่อให้ประเทศชาติได้อยู่รอดปลอดภัย ควรที่อนุชนรุ่นหลังจะได้ระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน บ้านเมืองทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ต้องหวงแหน การหวงแหน คือ ต้องสามัคคี รู้จักหน้าที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ชาวนครราชสีมา ได้แสดงพลังต้องการ ความเรียบร้อยความสงบเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ชาติกลับปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าสถานการณ์รอบตัวเราและรอบโลก จะผันผวนและ ล่อแหลมมาก แต่ถ้าทุกคนเข้มแข็ง สามัคคี กล้าหาญ และเอื้อเฟื้อต่อกันชาติก็จะมั่นคง”

5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ในหลวง ร.9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เสด็จฯ โดยรถไฟ เยี่ยมพสกนิกรชาวขอนแก่น

วันนี้ เมื่อ 68 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่ง เยี่ยมพสกนิกรจังหวัดขอนแก่นเป็นครั้งแรก

ภายหลังจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสร็จสิ้นพระราชภารกิจจาการศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และได้เสด็จนิวัตมาประทับในพระราชอาณาจักรไทยเป็นการถาวรแล้ว จึงกำหนดการ 'เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร' ในทุกภูมิภาคทั่วราชอาณาจักรขึ้น 

โดยปฐมแห่งการเสด็จฯ ได้ออกไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคแรก ระหว่างวันที่ 2-20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 

โดยในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 พระองค์ได้เสด็จฯ โดยรถไฟ เยี่ยมพสกนิกรจังหวัดขอนแก่น เป็นครั้งแรก 

ซึ่งชาวขอนแก่นได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายถนนเส้นทางสายสำคัญเพื่อเป็นอนุสรณ์ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแด่พระองค์ ในชื่อ 'ถนน 5 พฤศจิกายน'

6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วันนี้ เมื่อ 45 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ์ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระราชอิสริยยศ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ ด้วยทรงมีพระทัยศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงผนวช ณ พัทธสีมาพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เสร็จแล้วเสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร มีพระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาล ทรงได้รับพระนามฉายาว่า ‘วชิราลงฺกรโณ’ และผนวชอยู่ 15 วัน จึงทรงลาผนวช


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top