Tuesday, 21 May 2024
CollLife

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบพิธีพระบรมราชาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชย์

วันนี้เมื่อ 199 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุลาไลย หรือ ‘เจ้าจอมมารดาเรียม’ ต่อมาได้รับการเฉลิมพระอิสริยศักดิ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีสุลาลัย เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 ณ พระราชวังเดิม ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ในขณะที่พระองค์ประสูตินั้น สมเด็จพระราชชนกดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระองค์จึงมีสกุลยศชั้นหม่อมเจ้าพระนามว่า ‘หม่อมเจ้าชายทับ’

จนกระทั่ง สมเด็จพระบรมชนกนาถได้รับอุปราชาภิเษกขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในปี พ.ศ. 2349 พระองค์จึงมีพระอิสริยยศเป็น ‘พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าชายทับ’

เมื่อสมเด็จพระราชชนกได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 2 ใน พ.ศ. 2352 พระองค์จึงได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าชั้นเอก ออกพระนามว่า ‘พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับ’

จนนปี พ.ศ. 2356 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรม เป็น ‘พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์’

แต่แล้วในปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต โดยที่ยังมิได้ตรัสมอบหมายการสืบราชสันตติวงศ์ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการได้ประชุมปรึกษากันและมีสมานฉันท์เป็น ‘อเนกมหาชนนิกร สโมสรสมมุติ’ ให้เชิญเสด็จ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลำดับที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สืบต่อมา

โดย พระสุพรรณบัฎที่เฉลิมพระปรมาภิไธย ซึ่งทูลเกล้าฯ ถวายในวันทรงรับพระบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.  2367 ก็ยังคงใช้พระปรมาภิไธยเช่นเดียวกับรัชกาลที่ 1 และที่ 2 โดยราษฎรทั่วไปไม่ออกพระนามพระมหากษัตริย์ แต่เรียกว่า ‘พระพุทธเจ้าอยู่หัว’

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงทำพิธีจารึกพระสุพรรณบัฎถวายพระปรมภิไธยใหม่ว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปรมาทิวรเสฎฐ มหาเจษฎาบดินทร์ สยามมินทรวโรดม บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’

ต่อมา พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ถวายพระนามใหม่เป็น ‘พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทร มหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระปรมภิไธยอย่างย่อคือ ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ อักษรพระปรมาภิไธยย่อ คือ ‘จปร.’ หมายถึง ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทร์ มหาเจษฎาบดินทร์ บรมราชาธิราช’

เมื่อ พ.ศ. 2538 มีพระราชาคณะจาก 15 วัด ได้มีลิขิตเสนอให้ถวายพระราชสมัญญาแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า ‘ธรรมิกมหาราช’ ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ออกพระนามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น 3 แบบ คือ ‘พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ , ‘พระมหาเจษฎาราชเจ้า’ และ ‘พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า’

อันมีความหมายว่า ‘พระมหาราชเจ้าผู้มีพระทัยตั้งมั่นในการบำเพ็ญพระราชกิจ’

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันออก เมื่อวันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 สิริรวมพระชนมพรรษา 63 พรรษา 2 วันเวลาที่ครองราชย์ 26 ปี 8 เดือน 12 วัน

ทรงมีพระราชโอรส 22 พระองค์ พระราชธิดา 29 พระองค์ รวม 51 พระองค์ จากเจ้าจอมมารดา 35 ท่านในจำนวนนี้ประสูติก่อนบรมราชาภิเษก 38 พระองค์ และเมื่อบรมราชาภิเษกแล้ว 13 พระองค์ มิได้ทรงสถาปนาเจ้าจอมท่านใดเป็นพระมเหสี พระราชโอรสพระราชธิดา จึงดำรงพระอิสริยฐานันดรศักดิ์เป็น ‘พระองค์เจ้า’ มีสายราชสกุลที่สืบเนื่องมา 13 มหาสาขา ได้แก่ ศิริวงศ์ โกเมน คเนจร งอนรถ ลดาวัลย์ ชุมสาย ปิยากร อุไรพงศ์ อรณพ ลำยอง สุบรรณ สิงหรา ชมพูนุท

พระราชดำรัสสุดท้ายเมื่อก่อนเสด็จสวรรคต ที่ทำให้คนไทยในยุคสืบต่อมาสมควรต้องระลึกถึงไตร่ตรองเสมอเกี่ยวกับบ้านเมือง แม้เวลาจะล่วงแล้ว 153 ปีก็คือ 

“การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้วจะมีอยู่แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้การงานสิ่งใดของเขาที่คิดไว้ ควรจะเรียนเอาไว้ก็เอาอย่างเขาแต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”

รัชกาลที่ 5 ทรงฯ สถาปนา ‘กรมไปรษณีย์’ จุดเริ่มต้นของการสื่อสารของไทย

วันนี้เมื่อ 140 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา ‘กรมไปรษณีย์’ ก่อนที่จะถือเอาวันนี้ เป็น ‘วันสื่อสารแห่งชาติ’

จุดเริ่มต้นของการสื่อสารในสมัยก่อนนั้น เกิดจากการสร้างเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการค้า โดยมีการติดต่อข่าวสารกันอย่างง่าย ทั้งผ่านทางพ่อค้า ใช้ม้าเร็ว จนถึงการจัดตั้งคนเร็วไว้ตามเมืองสำคัญ ก็ถือเป็นพัฒนาการทางการส่งข่าวสารอย่างง่ายอีกช่องทางหนึ่งและเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นยุคแรกของ การไปรษณีย์ไทย ด้วยการจัดตั้งกรมไปรษณีย์ในประเทศไทย และการผลิต ‘แสตมป์ชุดโสฬส’ แสตมป์ชุดแรกของประเทศ รวมไปถึงจัดพิมพ์ไปรษณียบัตรครั้งแรก เพื่อรองรับกิจการไปรษณีย์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

ปี พ.ศ. 2423 เจ้าหมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็กเวรสิทธิ์ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายคำแนะนำให้เปิดบริการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้ทรงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดส่งหนังสือพิมพ์รายวัน ‘ข่าวราชการ’ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์

เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงวางโครงการและเตรียมการไว้พร้อมที่จะเปิดบริการไปรษณีย์แล้ว ได้ประกาศเปิดรับฝากส่งจดหมายหรือหนังสือ เป็นการทดลองในเขตพระนครและธนบุรีขึ้น เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 มีที่ทำการตั้งอยู่ ณ ตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนปากคลองโอ่งอ่าง ด้านทิศเหนือ (ปัจจุบันถูกรื้อเพื่อใช้ที่สร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานพระพุทธยอดฟ้า) ที่ทำการแห่งแรกนี้ใช้เป็นที่ทำการไปรษณีย์สำหรับจังหวัดพระนคร ด้วยเรียกกันว่า ‘ไปรษณียาคาร’

ต่อมาในปี พ.ศ. 2441 เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการกราบบังคมทูลเสนอความเห็นว่าราชการของกรมไปรษณีย์และราชการของกรมโทรเลข ซึ่งตั้งขึ้นก่อนกรมไปรษณีย์แล้วนั้นเป็นงานในด้านสื่อสารด้วยกันควรรวมเป็นหน่วยราชการเดียวกันเสียเพื่อความสะดวกแก่การดำเนินงาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นเป็นการสมควรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้รวมหน่วยงานทั้งสองเข้าด้วยกันเรียกว่า ‘กรมไปรษณีย์โทรเลข’

ต่อมาได้ย้ายไปใช้อาคารและที่ดินริมถนนเจริญกรุงเป็นที่ทำการและเรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘ที่ทำการไปรษณีย์กลาง’ การไปรษณีย์เป็นบริการสาธารณะ จำเป็นต้องมีระเบียบข้อบังคับเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการและเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินบริการทราบและถือปฏิบัติ เมื่อเปิดการไปรษณีย์โทรเลขได้ประมาณ 2 ปีแล้ว รัฐบาลจึงได้ตรากฎหมายขึ้นในปี พ.ศ. 2428 เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติการไปรษณีย์ไทย จุลศักราช 1248’

และเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงมีแก่กิจการไปรษณีย์ไทย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2526 กำหนดให้ วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปีเป็น ‘วันสื่อสารแห่งชาติ’ และจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติ ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 โดยจัดร่วมกับงานครบรอบ 100 ปี การสถาปนากรมไปรษณีย์โทรเลข และการเฉลิมฉลองปีการสื่อสารโลกของสหประชาชาติ

5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนนายร้อย

วันนี้ในอดีต 5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานกำเนิด ‘โรงเรียนทหารสราญรมย์’ ต่อมาคือ โรงเรียนนายร้อย จปร.

โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กำเนิดขึ้นพร้อม ๆ กับ(กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์) โดยเริ่มจากการจัดตั้งทหารมหาดเล็กเด็กที่เรียกว่า ‘ทหารมหาดเล็กไล่กา’ จำนวน 12 คน ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้ขยายกำลังขึ้นโดยฝึกข้าหลวงเดิมให้เป็นทหารมหาดเล็กสมทบกับพวกมหาดเล็กไล่การวม 24 คน จึงเรียกทหารในชุดนี้ว่า ‘ทหาร 2 โหล’ และต่อมาได้เพิ่มจำนวนทหารมหาดเล็กเป็น 72 คน แต่งตั้งเป็นกองทหารมหาดเล็กสำหรับรักษาพระองค์อย่างใกล้ชิด

พ.ศ. 2414 โปรดเกล้าฯ ให้ขยายกองทหารมหาดเล็กออกเป็นกองร้อย เรียกว่า ‘กอมปานี’ (Company) ถึง 6 กองร้อย จัดตั้งเป็น ‘กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์’

พ.ศ. 2415 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสถานที่สอนวิชาการและระเบียบการขึ้นในกรมทหารมหาดเล็ก รวมทั้งให้มีการสอนวิชาภาษาอังกฤษและภาษาไทยด้วย เรียกสถานศึกษาว่า ‘คะเด็ตทหารมหาดเล็ก’ ส่วนนักเรียนเรียกว่า ‘คะเด็ต’ (Cadet)

พ.ศ. 2423 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมทหารหน้าขึ้น (ซึ่งต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นกรมยุทธนาธิการ) จึงกำเนิด ‘คะเด็ตทหารหน้า’ ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ได้เร่งปรับปรุงกิจการทหารโดยลำดับ เมื่อเจริญกว้างขวางและเป็นแบบแผนขึ้นบ้างแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จัดตั้งโรงเรียนสอนวิชาทหารสำหรับทหารบกทั่วไปขึ้น โดยให้ใช้พื้นที่บริเวณหลังพระราชวังสราญรมย์เป็นสถานที่ตั้ง (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมแผนที่ทหาร) โดยรวมคะเด็ตทหารมหาดเล็ก คะเด็ตทหารหน้า นักเรียนแผนที่ และส่วนที่เป็นทหารสก๊อตเข้าด้วยกัน ใช้ชื่อรวมว่า ‘คะเด็ตสกูล’ สำหรับนักเรียนเรียกว่า ‘คะเด็ต’ มีนายพันเอกนิคาล วอลเกอร์ (Nical Walger) เป็นผู้บังคับการคนแรก

5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาทรงกระทำพิธีเปิดโรงเรียนคะเด็ตสกูล

14 มกราคม พ.ศ. 2431 ได้ตราข้อบังคับขนานนามโรงเรียนคะเด็ตสกูลเสียใหม่ว่า ‘โรงเรียนทหารสราญรมย์’

6 ตุลาคม พ.ศ. 2440 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองโรงเรียนนายสิบมาสมทบด้วย เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น ‘โรงเรียนสอนวิชาทหารบก’

25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น ‘โรงเรียนทหารบก’ เปิดโอกาสให้รับบุคคลสามัญที่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยได้ต่อมามีผู้สนใจเข้ารับการศึกษาเพิ่มมากขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายนักเรียนนายสิบไปสังกัดกองพลทหารบกตามเดิม และ เมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2446 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น ‘โรงเรียนนายร้อยทหารบก’ เปิดการสอนใน 2 แผนก คือ โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม และโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม

5 ปีถัดมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าสถานที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกคับแคบไปแล้วไม่เพียงพอแก่การที่จะผลิตนักเรียนเพิ่มขึ้นทันกับความต้องการของสถานการณ์ในเวลานั้น ซึ่งขาดแคลนนายทหาร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินติดถนนราชดำเนินนอก เป็นเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่เศษ ดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม (ส่วนโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมยังคงอยู่ ณ โรงเรียนทหารสราญรมย์เดิม) เสร็จแล้วพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดโรงเรียนเมื่อ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2452

โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม และโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมได้ดำเนินการมาด้วยดี ต่อมาเศรษฐกิจของชาติตกต่ำ กระทรวงกลาโหมจึงให้รวมโรงเรียนนายร้อยทั้งสองนี้เข้าด้วยกันเรียกชื่อว่า ‘โรงเรียนนายร้อยทหารบก’ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมยุทธศึกษาทหารบก

26 มีนาคม พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยทหารบกที่จบการศึกษาชั้นสูงสุดเป็นครั้งแรก และจากนั้นเป็นต้นมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยที่จบการศึกษาขั้นสูงสุดทุกปี

พ.ศ. 2477 ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนเทคนิคทหารบกขึ้นในกรมยุทธศึกษาทหารบก เพื่อผลิตนายทหารบางเหล่าที่เป็นเหล่าสายเทคนิค

2 ธันวาคม พ.ศ. 2485 - 14 มกราคม พ.ศ. 2487 ได้มีการผลิตนักเรียนนายร้อยหญิงขึ้น 1 รุ่นจำนวน 28 คนและมีรุ่นเดียว

14 เมษายน พ.ศ. 2485 - พ.ศ. 2487 ได้มีการผลิตนักเรียนนายร้อยสำรองขึ้น 3 รุ่น และได้เปิดหลักสูตรอีกครั้งหนึ่งตั้งแต่ 30 เมษายน พ.ศ. 2499 อีก 6 รุ่น รวม 9 รุ่น

ในห้วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ประเทศไทยได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรไมตรีกับฝ่ายญี่ปุ่น เมื่อ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ในปี พ.ศ. 2486 ฝ่ายพันธมิตรได้ทำการโจมตีทางอากาศต่อที่หมายในกรุงเทพมหานครอย่างหนัก ทางราชการจึงคิดแผนการย้ายเมืองหลวงไปอยู่ ณ สถานที่แห่งใหม่ในเขต จ.เพชรบูรณ์ ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2487 นักเรียนนายร้อยทุกหลักสูตรและทุกคน จึงได้ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟสามเสน ไปลงที่สถานีรถไฟตะพานหิน จ.พิจิตร จากนั้นเดินเท้าต่อไปอีก 112 ก.ม. เข้าสู่หมู่บ้านป่าแดง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เปิดทำการสอนนักเรียนนายร้อยอยู่ไม่นาน พอต้นปี พ.ศ. 2488 ได้เคลื่อนย้ายมาอยู่ใน จ.พระนครศรีอยุธยา จนกระทั่งสงครามสงบในเดือน กันยายน พ.ศ. 2488 โรงเรียนนายร้อยจึงได้กลับมาอยู่ ณ สถานที่ตั้งเดิม

พ.ศ. 2489 กระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรของโรงเรียนนายร้อย เป็นหลักสูตรการศึกษา 5 ปีตามแบบอย่างโรงเรียนนายร้อยทหารบกของสหรัฐอเมริกา

1 มกราคม พ.ศ. 2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนนายร้อยแทนชื่อเดิมว่า ‘โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า’

ต่อมาโรงเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้า ณ ถนนราชดำเนินนอกอยู่ในสภาพแออัด ด้วยมีจำนวนนักเรียนนายร้อยเพิ่มขึ้น สถานที่ฝึกศึกษา เล่นกีฬา และสถานที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดสภาพสิ่งแวดล้อมสำหรับการเป็นโรงเรียนนายร้อยหลักของประเทศ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริให้โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า มีสถานที่ตั้งแห่งใหม่ ณ บริเวณเขาชะโงก อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก โรงเรียนนายร้อยแห่งนี้ได้กระทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2524 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพลเอกหญิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ขณะดำรงพระยศพันเอก) ได้เสด็จฯ มากระทำพิธี

5 สิงหาคม พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก ถือเป็นการเปิดโรงเรียนนายร้อยแห่งใหม่อย่างเป็นทางการ และได้ดำเนินการสอนมาจนถึงปัจจุบัน

6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณู ‘เมืองฮิโรชิมา’ คร่าชีวิตชาวญี่ปุ่นทันที 80,000 คน

วันนี้เมื่อ 78 ปีที่แล้ว นับเป็นอีกหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่ชาวญี่ปุ่นและชาวโลกยากจะลืมเลือน เมื่อสหรัฐอเมริกา ทิ้งระเบิดปรมาณู เหนือเมืองฮิโรชิมา ส่งผลให้มีคนตายทันที 80,000 คน

วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เป็นอีกหนึ่งวันที่คนญี่ปุ่นไม่มีวันลืม เมื่อระเบิดปรมาณู ‘ลิตเติลบอย (Little Boy)’ ถูกทิ้งเหนือเมืองฮิโรชิมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันทีประมาณ 80,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับกัมมันตภาพรังสีอีก 60,000 คน

‘ลิตเติลบอย (Little Boy)’ เป็นชื่อระเบิดปรมาณู ที่ถูกนำไปทิ้งเหนือเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น โดยเครื่องบิน B-29 Superfortress (เครื่องบินลำนี้มีชื่อ Enola Gay) และระเบิดลูกนี้ ยังนับเป็นระเบิดปรมาณูลูกแรกที่ใช้ในการสงครามอีกด้วย

อาวุธนี้พัฒนาขึ้น ในระหว่างจัดตั้ง ‘โครงการแมนฮัตตัน’ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย ‘จูเลียส โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์’ ผู้ที่ได้ฉายาว่า ‘บิดาแห่งระเบิดปรมาณู’

สำหรับ ‘ลิตเติลบอย’ มีความยาว 3 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 71 เซนติเมตร และน้ำหนัก 4,000 กิโลกรัม บรรจุธาตุยูเรเนียมประมาณ 64 กิโลกรัม และจากเหตุการณ์นี้ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันทีประมาณ 80,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับกัมมันตภาพรังสีอีก 60,000 คน

7 สิงหาคม พ.ศ. 2112 พระเจ้าบุเรงนอง ตีอาณาจักรอยุธยาแตก ทำให้เกิดเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 1

วันนี้เมื่อ 454 ปีก่อน พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์ราชวงค์ตองอู ทรงตีอาณาจักรอยุธยาแตก ทำให้เกิดเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรตองอูเป็นเวลานาน 15 ปี พม่าเข้ายึดทรัพย์สินและกวาดต้อนผู้คนกลับไปพม่าเป็นจำนวนมาก 

วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2112 เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาตร์ เมื่อพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์ราชวงค์ตองอู ทรงตีอาณาจักรอยุธยาแตก ทำให้เกิดเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 โดยพระเจ้าบุเรงนองทรงนำทัพเข้ารุกรานกรุงศรีอยุธยาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2111 ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา เมืองตาก รวมทั้งหมด 7 ทัพ รวมจำนวนได้กว่า 500,000 นาย และยกทัพลงมาถึงพระนครในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน 

โดยให้พระมหาธรรมราชาเป็นกองหลังดูแลคลังเสบียง ทัพพระเจ้าบุเรงนองก็ตั้งค่ายรายล้อมพระนครอยู่ไม่ห่าง การตั้งรับภายในพระนครส่งผลให้มีการระดมยิงปืนใหญ่ของข้าศึกทำลายอาคารบ้านเรือนอยู่ตลอด ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมาก

ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเมื่อทราบว่าหัวเมืองทางเหนือเป็นของพม่าแล้ว จึงเตรียมรบอยู่ที่พระนคร นำปืนนารายณ์สังหารยิงไปยังกองทัพพระเจ้าหงสาวดีที่ตั้งอยู่บริเวณทุ่งลุมพลี ทำให้ทหาร ช้าง ม้าล้มตายจำนวนมาก พม่าจึงถอยทัพมาตั้งที่บ้านพราหมณ์ให้พ้นทางปืน 

พระเจ้าหงสาวดีจึงเรียกประชุมการศึก พระมหาอุปราชเห็นสมควรให้ยกทัพเข้าตีไทยทุกด้านเพราะมีกำลังมากกว่า แต่พระเจ้าหงสาวดีไม่เห็นด้วยเพราะกรุงศรีอยุธยามีทำเลดีมีน้ำล้อมรอบ จึงสั่งให้ตีเฉพาะด้านตะวันออกเพราะคูเมืองแคบที่สุด 

ฝ่ายพม่าพยายามจะทำสะพานข้ามคูเมืองโดยนำดินมาถมเป็นสะพาน พระมหาเทพนายกองรักษาด่านอย่างเต็มสามารถ โดยให้ทหารไทยใช้ปืนยิงทหารพม่าที่ขนดินถมเป็นสะพานเข้ามา ทำให้พม่าล้มตายจำนวนมากจึงถอยข้ามคูกลับไป

พระเจ้าบุเรงนองทรงพยายามโจมตีอยู่นานจนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2112 ก็ยังไม่ได้กรุงศรีอยุธยา อีกทั้งยังสูญเสียกำลังพลเป็นจำนวนมาก โดยในภายหลังทรงย้ายค่ายเข้าไปใกล้กำแพงเมืองจนทำให้สูญเสียพลอย่างมาก ระหว่างการสงครามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิประชวรและสวรรคตในเวลาต่อมา โดยสมเด็จพระมหินทร์ขึ้นครองราชและทรงบัญชาการรบแทน

พระเจ้าบุเรงนองจึงถามพระมหาธรรมราชาว่าจะ ทำอย่างไรให้ชนะศึกโดยเร็ว พระมหาธรรมราชาทรงแนะว่าพระยารามเป็นแม่ทัพสำคัญหากได้ตัวมาการยึดพระนครจักสำเร็จ จึงมีสาสน์มาถึงพระอัครชายาว่า "...การศึกเกิดจากพระยารามที่ยุยงให้พี่น้องต้องทะเลาะกัน ถ้าส่งตัวพระยารามมา ให้พระเจ้าหงสาวดีจะยอมเป็นไมตรี..." 

สมเด็จพระมหินทร์ฯ ทรงอ่านสาสน์แล้ว ปรึกษากับข้าราชการต่าง ๆ จึงเห็นสมควรสงบศึกเพราะผู้คนล้มตายกันมากแล้ว สมเด็จพระมหินทร์ฯมีรับสั่งให้ส่งพระสังฆราชออกไปเจรจาและส่งตัวพระยารามให้พระเจ้าบุเรงนองเพื่อเป็นไมตรี แต่พระเจ้าบุเรงนองตระบัดสัตย์ไม่ยอมเป็นไมตรี ทำให้สมเด็จพระมหินทร์ฯทรงพิโรธโกรธแค้นในการกลับกลอกของพระเจ้าบุเรงนองอย่างมาก มีรับสั่งให้ขุนศึกทหารทั้งปวงรักษาพระนครอย่างเข้มแข็ง พระเจ้าบุเรงนองเห็นว่ายังไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ จึงส่งพระมหาธรรมราชามาเกลี้ยกล่อมให้ยอมแพ้ แต่ถูกทหารไทยเอาปืนไล่ยิงจนต้องหนีกลับไป

พระเจ้าหงสาวดีจึงคิดอุบายจะใช้พระยาจักรีที่จับตัวได้เป็นประกันเมื่อครั้งสงครามช้างเผือกเป็นไส้ศึก จึงให้พระมหาธรรมราชาทรงเกลี้ยกล่อมพระยาจักรีให้เป็นไส้ศึกในกรุงศรีอยุธยา แล้วแกล้งปล่อยตัวออกมา รุ่งเช้าพม่าทำทีเป็นตามหาแต่ไม่พบเลยจับตัวผู้คุมมาตัดหัวเสียบไว้ริมแม่น้ำเพื่อให้ไทยหลงกล

สมเด็จพระมหินทร์ฯทรงดีพระทัยที่พระยาจักรีหนีมาได้จึงทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชาการรบแทนที่พระยาราม ครั้นพระยาจักรีได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาพระนครแล้วจึงดำเนินการสับเปลี่ยนหน้าที่ของฝ่ายต่าง ๆ จนกระทั่งการป้องกันพระนครอ่อนแอลง 

พระยาจักรีได้ใส่ร้ายให้พระศรีสาวราชว่าเป็นกบฏจึงถูกสำเร็จโทษ เมื่อเห็นว่าได้เวลาอันควรพระยาจักรีจึงให้สัญญาณแก่พม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาทุกด้าน และทำให้กองทัพพม่าเข้าสู่พระนครสำเร็จโดยใช้เวลาเพียง 1 เดือน โดยในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2112 พระยาจักรีจึงให้สัญญาณแก่พม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาและเปิดประตูเมือง ทำให้ทัพพม่าเข้ายึดพระนครสำเร็จ กรุงศรีอยุธยาจึงตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรตองอู

เกิร์ลกรุ๊ปชื่อดัง ‘BLACKPINK’ เดบิวต์อย่างเป็นทางการ

หากเอ่ยชื่อ แบล็กพิงก์ (BLACKPINK) ชั่วโมงนี้ คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เพราะนี่คือเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังของประเทศเกาหลีใต้ ภายใต้สังกัด YG Entertainment ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 4 คน คือ จีซู, เจนนี่, โรเซ่ และ ลิซ่า นั่นเอง

BLACKPINK เดบิวต์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559 พร้อมกับซิงเกิลอัลบั้ม Square One โดยมีซิงเกิลเปิดตัวอย่าง ‘Whistle’ และ ‘Boombayah’ ขึ้นถึงอันดับ 1 บน Gaon Digital Chart ในเกาหลีใต้ และ Billboard World Digital Song Chart ตามลำดับ ทำให้วงคว้ารางวัล Golden Disc Awards และ Seoul Music Awards สาขาศิลปินหน้าใหม่แห่งปี 2016

หลังจากนั้นก็ได้ปล่อยผลงานเพลงฮิตออกมามากมาย อาทิ Playing with Fire, Stay, As If It's Your Last และ Ddu-Du Ddu-Du รวมถึงได้ร่วมร้องกับนักร้องต่างประเทศชื่อดังอย่าง Selena Gomez ในเพลง Ice Cream, Dua Lipa ในเพลง Kiss and Make Up และ Lady Gaga ในเพลง Sour Candy

ทั้งนี้ ชื่อวง BLACKPINK นั้นสื่อความหมายถึงธรรมชาติของสมาชิกในวงที่มีความหลากหลายทางมิติ ทั้งความงามของหน้าตา บุคลิกลักษณะ และความสามารถที่เพียบพร้อม เต็มเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์และการฝึกฝนที่จริงจัง

นอกจากนี้สมาชิกทุกคนต่างมีความเป็นผู้นำในแต่ละด้านได้ ทางค่ายและวงจึงตัดสินใจว่าจะไม่มีหัวหน้าวง อีกทั้งชื่อแฟนคลับอย่างเป็นทางการของ BLACKPINK คือ BLINK (บลิงก์) ที่เป็นการรวมกันของคำว่า BLACK และ PINK ซึ่งมีความหมายว่า คนที่รักและปกป้อง BLACKPINK เสมอ

ปัจจุบัน BLACKPINK เป็นหนึ่งในเกิร์ลกรุ๊ปที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับไม่เพียงแต่ในเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ยังมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลก 

‘สหรัฐฯ’ ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ถล่ม ‘นางาซากิ’ ส่งผลรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม

วันนี้เมื่อ 78 ปีก่อน สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่ 2 ที่เมือง ‘นางาซากิ’ ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง หลังถล่มเมืองฮิโรชิมา ไปแล้วก่อนหน้า ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม

จากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ต่อสู้กันมายาวนานตั้งแต่ปี 2482 จนมาถึงวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สหรัฐอเมริกาได้ทิ้ง ‘ระเบิดปรมาณู’ หรือที่เรียกในปัจจุบันว่า ‘ระเบิดนิวเคลียร์’ ลูกแรก ถล่มเมืองฮิโรชิมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 80,000 คน จากนั้นอีก 3 วันถัดมา สหรัฐฯ ได้ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์อีกลูก ที่มีชื่อว่า ‘แฟตแมน’ หรือ ‘ชายอ้วน’ ซึ่งเป็นระเบิดลูกที่สองใส่เมือง ‘นางาซากิ’ นับเป็นระเบิดนิวเคลียร์เพียง 2 ลูกเท่านั้นที่นำมาใช้ในประวัติศาสตร์การทำสงคราม

ระเบิดลูกที่สอง ทำให้มีผู้เสียชีวิตในทันที 70,000 คน บาดเจ็บอีกราว 80,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตในเวลาต่อมา นอกจากนี้ผลของกัมมันตภาพรังสี ยังทำให้ผู้ที่ได้รับรังสีกลายเป็นมะเร็งในภายหลังอีกด้วย ในส่วนนี้ไม่สามารถประเมินได้แน่นอนว่ามีจำนวนเท่าใด ยังไม่รวมถึงความผิดปกติทางพันธุกรรม อันเป็นผลจากกัมมันตภาพรังสีที่ตกค้างอีกด้วย  

ในที่สุดรัฐบาลญี่ปุ่นก็ประกาศยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้เพื่อรักษาชีวิตของประชาชนไว้ เพราะไม่แน่ว่าจะมีระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่ 3 ตามมาอีกหรือไม่ หากญี่ปุ่นไม่ประกาศยอมแพ้สงครามแต่โดยดี

‘ญี่ปุ่น’ ประกาศตกลงยอมแพ้สงครามต่อฝ่ายพันธมิตรเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 และลงนามในตราสารประกาศยอมแพ้สงครามมหาสมุทรแปซิฟิกที่นับเป็นการยุติสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488  โดยก่อนหน้านั้น นาซีเยอรมนี ได้ลงนามตราสารประกาศยอมแพ้และยุติสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรปอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2488

10 สิงหาคม ของทุกปี ‘วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน’ นักปกครองผู้อยู่ใกล้ชิดชาวบ้าน

วันที่ 10 สิงหาคม ของทุกปี คือ ‘วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน’ เป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง ร.5 ที่ทรงได้พระราชทานกำเนิดกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2435

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคนแรก) ทดลองจัดระเบียบการปกครองระดับตำบล หมู่บ้าน ขึ้นเป็นครั้งแรกที่บ้านเกาะ ณ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2435 จึงถือได้ว่า วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2435 เป็นวันที่มีการจัดตั้งสถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขึ้นเป็นครั้งแรก 

ดังนั้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านและเป็นการเน้นให้เห็น ความสำคัญของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการปฏิบัติภารกิจ ‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’ ให้แก่ประชาชน ทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ 10 สิงหาคมของทุกปี เป็น ‘วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน’

สถาบันกํานัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นสถาบันที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน อีกทั้งมีความใกล้ชิดกับประชาชน และยังเป็นกลไกที่สําคัญของรัฐ กํานันและผู้ใหญ่บ้าน มีอำนาจตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2557 โดยกําหนดให้กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน ทําหน้าที่ช่วยเหลือนายอำเภอในการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นหัวหน้าราษฎรในตําบล หมู่บ้าน มีอํานาจหน้าที่อำนวยความเป็นธรรมและดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้แก่ราษฎร สร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีให้เกิดขึ้นในตําบล หมู่บ้าน และการประสานหรืออํานวยความสะดวกแก่ราษฎรในการติดต่อหรือรับบริการจากหน่วยงานของรัฐ รับฟังปัญหาและนำความเดือดร้อน ทุกข์สุขและความต้องการที่จำเป็นของราษฎรในตำบลหมู่บ้าน แจ้งต่อหน่วยงานของรัฐ รวมทั้ง ให้การสนับสนุน ส่งเสริมการปฏิบัติงานแก่หน่วยงานของทางราชการทุกกระทรวง กรม องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคเอกชน และหน้าที่อื่น ๆ อีกมากมาย 

ด้วยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประชาชนในท้องที่ หากเกิดข้อพิพาท กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน สามารถช่วยไกล่เกลี่ยประนีประนอมเพื่อหาข้อยุติให้กับประชาชนในตําบล หมู่บ้าน อีกทั้งในทางกลับกันยังมีหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชนในตําบล หมู่บ้านในฐานะกลไกเชื่อมโยงภาครัฐ เอกชน และประชาชน เข้าด้วยกัน เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยทำให้ภารกิจบทบาทหน้าที่ของกํานันผู้ใหญ่บ้านต้องปรับเปลี่ยนให้ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม จึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2555 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 12) ซึ่งได้มีการให้เหตุผลในการประกาศใช้ คือ โดยที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นบุคคลในพื้นที่ที่มีความใกล้ชิดกับราษฎรในการปฏิบัติงานตามกฎหมาย และแนวนโยบายของรัฐ เป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราชการบริหารส่วนภูมิภาคมีบทบาท อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2437 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน

11 สิงหาคม พ.ศ. 2488 วันคล้ายวันเกิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองไทยในปัจจุบัน

วันนี้เป็นคล้ายวันเกิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ครบรอบ 78 ปี

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ชื่อเล่น ‘ป้อม’ เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เป็นบุตรของ พล.ต. ประเสริฐ วงษ์สุวรรณ และสายสนี วงษ์สุวรรณ มีพี่น้องร่วมกัน 5 คน ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ, พงษ์พันธุ์ วงษ์สุวรรณ และพันธุ์พงษ์ วงษ์สุวรรณ

ในวัยเด็ก พล.อ.ประวิตร เข้าเรียนมัธยมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รวมถึง ปัฐวาท สุขศรีวงศ์ นักธุรกิจเจ้าของคอม-ลิงค์ (เจ้าของนาฬิกาหรู) เป็นที่มาของฉายา ‘เซนต์คาเบรียลคอนเน็กชัน’

จากนั้น พล.อ.ประวิตร ก้าวเข้าสู่รั้วเตรียมทหาร รุ่นที่ 6 (ตท.6) ก่อนจะเข้าสู่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 17 (จปร.17) กลายเป็นทหารดาวรุ่งของกองทัพบกยุคนั้น และเติบโตในเส้นทางของกองทัพอย่างต่อเนื่อง จนสามารถผงาดขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยการผงาดขึ้นสู่ตำแหน่ง ผบ.ทบ. ของ พล.อ.ประวิตร ได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นนายทหารที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์คนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบก

พล.อ.ประวิตร เข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างเป็นทางการในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ถึง 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 และเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พร้อมนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ พล.อ.ประวิตร จึงมีชื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกครั้ง โดยเป็นทั้งรองหัวหน้า คสช. รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขณะที่ปัจจุบัน พล.อ.ประวิตร ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อีกทั้งยังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคพลังประชารัฐอีกด้วย

12 สิงหาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ทรงเป็นธิดาในหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (ภายหลังคือ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร

เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเข้ารับการศึกษาชั้นอนุบาล ณ โรงเรียนราชินี ก่อนที่จะย้ายไปทรงศึกษาต่อ ณ โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ต่อมาพระบิดาต้องเสด็จไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตยังประเทศอังกฤษ จึงทรงตามเสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ในเวลาต่อมา ทรงได้เข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยการดนตรี ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จการศึกษา

ระหว่างที่ทรงประทับอยู่ประเทศฝรั่งเศส หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ (พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น) ได้มีโอกาสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น) ซึ่งทรงเสด็จประพาสกรุงปารีส จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสานพระราชสัมพันธ์

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 จึงได้มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้น ณ วังสระปทุม ก่อนที่ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยพระปรีชาสามารถอันล้นพ้น ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีว่า ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ’

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย โดยเสด็จพระราชดำเนินร่วมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไปทั่วทุกหนแห่งในแผ่นดินไทยมาโดยตลอด

ในวาระวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา 91 พรรษา ขอพระองค์ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง เป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทยสืบไป ทรงพระเจริญ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top