Tuesday, 21 May 2024
CollLife

12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 พิธีปล่อยรถโดยสารรุ่นแรก ของ รฟท. ที่สร้างโดยกองโรงงานมักกะสัน

วันนี้ เมื่อ 55 ปีก่อน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ทำพิธีปล่อยรถโดยสารรุ่นแรกที่สร้างโดยกองโรงงานมักกะสัน

วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ทำพิธีปล่อยรถโดยสารรุ่นแรก ที่สร้างโดยกองโรงงานมักกะสัน ฝ่ายการช่างกล ตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของการรถไฟฯ พ.ศ. 2510 - 2514 ออกจากโรงงานมักกะสัน จำนวน 14 คัน ได้แก่ รถโบกี้นั่งชั้นที่ 3 (บชส.) 10 คัน และรถโบกี้สัมภาระมีเครื่องห้ามล้อ (บพห. ข้างโถง) 4 คัน 

โดยมี พลเอกครวญ สุทธานินทร์ ประธานคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธี โครงการ 5 ปีดังกล่าวข้างต้น ได้กำหนดสร้างรถโดยสาร 180 คัน และรถสินค้า 597 คัน ด้วยงบประมาณที่ตั้งไว้รวมทั้งสิ้น 223.55 ล้านบาท ในการสร้างรถโดยสารนี้ จำนวนหนึ่งเป็นการสร้างตัวรถขึ้นใหม่ทั้งคัน และอีกจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นการประหยัดโดยใช้โครงประธาน และแคร่โบกี้เดิมของรถโบกี้โดยสารที่ตัดบัญชีแล้ว นำมาสร้างตัวรถบนโครงประธานเหล่านี้ เรียกว่าประเภทรถ Rebuilt

26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระพันปีหลวง เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตร ม.รามคำแหงรุ่นแรก

วันนี้ เมื่อ 48 ปีก่อน ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ และ ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ’ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก 

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ดำเนินการขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พร้อมพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชด้วย ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 เป็นวันเสด็จพระราชดำเนินในพิธี โดยใช้สถานที่จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก คือ บริเวณหน้าสำนักหอสมุดกลาง

หลังจากพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปทางด้านหลังสำนักหอสมุดกลาง เสด็จขึ้นหอสมุดกลางทางประตูด้านหลัง เสด็จเข้าห้องรับรอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทูลเกล้าฯ ถวายครุยปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และรองอธิการบดีทูลเกล้าฯ ถวายครุยปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ทางสังคมวิทยา แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฉลองพระองค์ครุย แล้วทรงลงปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยในสมุดเยี่ยมของมหาวิทยาลัย เมื่อถึงหมายกำหนดการพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเสด็จพระราชดำเนินเข้าเวทีที่ประทับ ทรงบูชาพระรัตนตรัย แล้วเสด็จประทับพระราชอาสน์ ที่หน้าสำนักหอสมุดกลาง

นายกสภามหาวิทยาลัย ได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสกราบบังคมทูลสดุดี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อธิการบดีเชิญปริญญาบัตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและรองอธิการบดีเชิญปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางสังคมวิทยาขึ้นทูลเกล้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

จากนั้น เป็นการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรตามลำดับ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2517 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานปริญญาบัตรแล้ว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต ความตอนหนึ่งว่า...

“มหาวิทยาลัยรามคำแหงนี้เป็นมหาวิทยาลัยในแบบที่ให้โอกาสแก่ ผู้ปรารถนาวิชาความรู้ ให้เข้ามาศึกษาค้นคว้าวิทยาการต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง และอย่างอิสระจึงอำนวยประโยชน์ได้มาก ในด้านสนับสนุนส่งเสริมบุคคลทั่วไป และโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานแล้ว ให้ได้ฟื้นฟูเพิ่มพูนความสามารถของตนทางด้านวิชาการ เพื่อนำไปปรับปรุง การงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยกฐานะหน้าที่ให้สูงขึ้น มหาวิทยาลัยมีความมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งเสริม ผู้ที่เข้ามาศึกษาดังนี้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วทุกคนควรจะได้มองเห็น และควรที่จะได้น้อมนำมาเป็นคติในการดำเนินชีวิต และการงานต่อไป โดยทำความตั้งใจและความเพียรให้มั่นคง ในอันที่จะฝึกฝนและปรับปรุงตนเอง ในการทำงานให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ และสำคัญที่สุดควรจะได้พยายาม หาทางนำความคิดวิทยาการซึ่งอุตส่าห์ฝึกฝนศึกษามาได้ด้วยยากนั้นมาใช้ ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อความ เจริญมั่นคงของชาติบ้านเมืองของเรา”

27 พฤศจิกายน ของทุกปี  ถือเป็น ‘วันสาธารณสุขแห่งชาติ’  สืบเนื่อง ร.6 ทรงก่อตั้ง ‘กรมสาธารณสุข’

วันนี้เมื่อ 105 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งกรมสาธารณสุขขึ้นแทนกรมประชาภิบาล จึงถือเอาวันนี้เป็น ‘วันสาธารณสุขแห่งชาติ’

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งกรมสาธารณสุขขึ้นในกระทรวงมหาดไทย แทนกรมประชาภิบาล โดยให้รวมกองบัญชาการ กองสุขศึกษา กองสาธารณสุข กองยาเสพติดให้โทษ กองโอสถศาลารัฐบาล กองบุราภิบาล เข้าด้วยกัน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น กรมสาธารณสุข เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทรเป็นอธิบดีกรมสาธารณสุข องค์แรก นับเป็นวาระแรกที่มีการใช้คำว่า 'สาธารณสุข' จึงถือว่า วันที่ 27 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น 'วันสถาปนาการสาธารณสุข'

เดิมทีในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยยังคงมีกิจการ ทางด้านการแพทย์ แบ่งออกเป็นหลายฝ่าย เช่น กองบัญชาการ กองสุขศึกษา กองสาธารณสุข กองยาเสพติดให้โทษ กองโอสถศาลารัฐบาล กองบุราภิบาล ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกระทรวงมหาดไทยมีความประสงค์ที่จะปรับปรุง กิจการของกรมพยาบาล ให้กว้างขวาง โดยการขอพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนจากกรมประชาภิบาล มาเป็นกรมสาธารณสุข ซึ่งพระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้สามารถจัดตั้งได้ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นชัยนาทนเรนทร อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย เป็นอธิบดีกรมสาธารณสุข อยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2485 จึงได้มีการสถาปนากรมสาธารณสุขขึ้น เป็นกระทรวงสาธารณสุข โดยถือเอาวันที่ 10 มีนาคม เป็นวันสถาปนา 'กระทรวงสาธารณสุข'

3 ธันวาคม ของทุกปี สหประชาชาติกำหนดให้เป็น ‘วันคนพิการสากล’

3 ธันวาคม ของทุกปี สหประชาชาติกำหนดให้เป็น วันคนพิการสากล เพื่อส่งเสริมความเข้าใจต่อคนพิการและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนพิการ

องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี เป็น 'วันคนพิการสากล' เพื่อรำลึกถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2525 ที่สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติรับรองแผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยเรื่องคนพิการ (World Programme of Action concerning Disabled Persons) พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ เฉลิมฉลองวันคนพิการสากลทุกปี เพื่อขับเคลื่อนปฏิบัติการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการอย่างต่อเนื่องทั่วโลก เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยอยู่บนฐานของสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม และได้มาตรฐานในระดับสากล อนึ่ง ตั้งแต่ปี 2530 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดหัวข้อวันคนพิการในแต่ละปีด้วย เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ ศักดิ์ศรีและความยุติธรรมเพื่อคนทั้งมวล ทุกเรื่องคนพิการต้องมีคนพิการ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการสำรวจทางสถิติขององค์การสหประชาชาติ พบว่า กลุ่มประเทศแถบเอเชียและแปซิฟิกนี้มีจำนวนประชากรที่เป็นบุคคลพิการมากที่สุดในโลก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากปัญหาของความยากจน นอกเหนือจากนั้นก็เป็นเพราะสาเหตุของความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ อุบัติเหตุและผลของสงคราม 

พร้อมกันนี้ทางคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ก็ได้มีแนวนโยบายที่จะเร่งผลักดันและส่งเสริมคนพิการให้อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละชาติ ตั้งคณะกรรมการประสานงานให้ความร่วมมือช่วยเหลือคนพิการและองค์การต่าง ๆ ที่จะร่วมมือสร้างชีวิตคนพิการให้ดีขึ้น ทั้งในระดับชาติและระดับสากล ตลอดจนเร่งพัฒนาส่งเสริมให้คนพิการทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้รับการฟื้นฟู บำบัดรักษา การศึกษา การฝึกฝีมือและอาชีพ หรือแม้กระทั่งมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ทั้งทางการกีฬา วัฒนธรรมประเพณีและสิ่งแวดล้อม

นอกจากงานในด้านสังคมแล้ว ในด้านอาชีพก็เช่นกัน จึงได้สนับสนุนคนพิการในด้านต่าง ๆ เช่น งานหัตถกรรม เป็นต้น ขายลอตเตอรี่ พนักงานรับโทรศัพท์ งานช่างต่าง ๆ เช่น ช่างไม้ ช่างกระจก เป็นต้น ทำให้คนพิการได้มีโอกาสประกอบอาชีพต่าง ๆ ได้มากขึ้น

ส่วนงานที่เกี่ยวกับการศึกษานั้น นานาชาติก็มิได้ละเลย โดยให้โอกาสในการศึกษาของคนพิการด้านต่าง ๆ เช่น การให้ทุนเกี่ยวกับการศึกษาแก่คนพิการ และการผลิตอุปกรณ์ทางการศึกษาแก่คนพิการต่าง ๆ เช่น การผลิตเครื่องเรียงสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์และสแกนเนอร์ของคนตาบอด การผลิตลูกคิดสเลตและสไตลัสสำหรับคนตาบอด ทำให้คนตาบอดศึกษาหาความรู้ได้สะดวกขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังมีการจัดแปลหนังสือเรียนของคนปกติมาพิมพ์เป็นหนังสือเรียน เป็นตัวอักษรเบรลล์แก่คนตาบอดอีกด้วย

4 ธันวาคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันสิ่งแวดล้อมไทย’ วันที่ ในหลวง ร.9 ดำรัสถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม

วันสิ่งแวดล้อมไทย ตรงกับวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี เพื่อระลึกถึงพระราชดำรัสของของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม 

ประวัติของวันสิ่งแวดล้อมไทย เกิดจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ทรงมีพระราชดํารัสแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีใจความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงปัญหาการจัดการน้ำว่า

“สถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และของโลกที่มีความรุนแรงขึ้น และทรงห่วงใยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนชาวไทยกําลังประสบอยู่ พร้อมทั้งตรัสเตือนพสกนิกรให้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ด้วยความสุขุมรอบคอบ โดยให้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องปฏิบัติ มิใช่เพียงเพื่อประเทศไทยเท่านั้น หากเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของโลกด้วย”

กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี พ.ศ. 2534 ให้กำหนดวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อช่วยกระตุ้นให้ประชาชนทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันมีความสำคัญต่อชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยต้องร่วมมือกันปกป้อง รักษาให้คงอยู่สมบูรณ์ในประเทศอย่างยั่งยืนตลอดไป

23 ธันวาคม พ.ศ. 2491 ‘โตโจ ฮิเดกิ’ อดีตนายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่น ถูกประหารชีวิต ในฐานะอาชญากรสงคราม

โตโจ ฮิเดกิ (Tojo Hideki) คือนักการทหารและนักบริหารที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับ เขาได้รับการแต่งตั้งให้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารราบที่ 1 ในปี 1928 (พ.ศ. 2471) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการปราบกลุ่มกบฏ “ยังเติร์ก” ในปี 1936 (พ.ศ. 2479) ก่อนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชาใหญ่กองทัพญี่ปุ่นในแมนจูเรียในปีต่อมา

ตำแหน่งหน้าที่ของ โตโจ ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนับแต่นั้นมา ในปี 1938 (พ.ศ. 2481) เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสงคราม และเขาก็ได้เป็นหัวแรงสำคัญที่ผลักดันให้ญี่ปุ่นเข้าเป็นภาคีของกลุ่มอักษะสำเร็จในปี 1940 (พ.ศ. 2483) ปีเดียวกันกับที่เข้าได้ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสงครามเต็มตัว จากนั้นอีกเพียงหนึ่งปี เขาก็ได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก ฟูมิมาโระ โคโนเอะ โดยยังยึดเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงสงครามต่อไป

โตโจ นอกจากจะเป็นข้าราชการที่ได้ชื่อเรื่องการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เขายังเป็นนักการทหารที่มีนโยบายก้าวร้าวที่สุดในบรรดาผู้นำญี่ปุ่น เขาคือผู้นำประเทศเข้าสู่สงครามกับสหรัฐฯ ด้วยการบุกโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 (พ.ศ. 2484) ซึ่งเบื้องต้นได้ทำให้ญี่ปุ่นขยายอิทธิพลไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตก

ในปี 1944 (พ.ศ. 2487) โตโจ ก้าวขึ้นมาดูแลกิจการของกองทัพทั้งหมดโดยตรงในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในสมรภูมิหมู่เกาะมาเรียนา (Mariana Islands) เขาก็ถูกปลดจากตำแหน่งในวันที่ 16 กรกฎาคม 1944 ก่อนที่เขาและรัฐมนตรีทั้งคณะจะประกาศลาออกในอีกสองวันถัดมา และถูกกันไม่ให้เข้ามามีส่วนในการใช้อำนาจบริหารประเทศอีก

หลังจากที่ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามอย่างเป็นทางการ โตโจพยายามใช้ปืนยิงตัวตายในวันที่ 11 กันยายน 1945 (พ.ศ. 2488) แต่ไม่สำเร็จ เขาได้รับการรักษาและมีชีวิตรอดมาได้

ปีถัดมา โตโจถูกดำเนินคดีในความผิดฐานก่ออาชญากรรมสงคราม โดยศาลทหารระหว่างประเทศภาคพื้นตะวันออกไกล (International Military Tribunal for the Far East) หรือศาลอาชญากรสงคราม กรุงโตเกียว ซึ่งศาลได้ตัดสินว่าเขามีความผิดให้ต้องโทษประหารชีวิต

วันที่ 23 ธันวาคม 1948 (พ.ศ. 2491) ฮิเดกิ โตโจ ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ และแม้ว่าเขาจะถูกตัดสินว่าเป็นอาชญากรสงคราม และมีผู้ประท้วงจำนวนมากที่เห็นว่าเขาคือผู้ที่นำหายนะมาให้ญี่ปุ่น แต่ชื่อของเขาก็ยังได้รับการยกย่องในฐานะนายทหารที่สละชีพเพื่อพระจักรพรรดิ ในศาลเจ้ายาสุกุนิ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top