Tuesday, 21 May 2024
CollLife

‘โรงแรมรอยัลพลาซ่า’ ถล่ม อุทาหรณ์ต่อเติมอาคารไร้มาตรฐาน

วันนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์โรงแรมรอยัลพลาซ่า อ.เมือง จ.นครราชสีมา ถล่ม เกิดขึ้นเมื่อเวลา 10.12 น. ของวันที่ 13 ส.ค. 2536 คร่าชีวิตผู้คนถึง 137 ราย

สำหรับโรงแรมรอยัลพลาซ่า ในอดีตตั้งอยู่ระหว่างถนนจอมสุรางค์และถนนโพธิ์กลาง สามารถเข้า-ออกได้ 2 ทาง ในขณะเกิดเหตุนั้น ภายในโรงแรมมีการเปิดอบรมสัมมนาอยู่ มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 400 คน ประกอบไปด้วยกลุ่มข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ 47 คน ที่เหลือเป็นกลุ่มบุคคลทั่วไปที่พักอยู่ในโรงแรมและพนักงานโรงแรม จนเมื่อเวลา 10.12 น. อาคารโรงแรม 6 ชั้น ที่ต่อเติมใหม่ได้พังถล่มลงมา

เจ้าหน้าที่กู้ภัยจากหลายหน่วยงาน ได้ร่วมค้นหาผู้รอดชีวิตภายใต้ซากตึกโรงแรมรอยัลพลาซ่าที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก เจ้าหน้าที่ต้องคลานเข้าไปใต้ซากอาคารที่อาจถล่มซ้ำลงมาได้ทุกเมื่อ ต้องระดมความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง

เหตุการณ์ในครั้งนั้น มีผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตมากถึง 137 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 300 คน โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นข้าราชการครูสังกัดกรมสามัญศึกษาที่กำลังนั่งประชุมสัมมนาอยู่ภายในห้องประชุม จำนวน 47 คน ที่เหลือเป็นพนักงานโรงแรม แขกที่เข้าพักทั้งชาวไทยและต่างชาติ

15 สิงหาคม พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนน ‘พระราชดำเนิน’

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2442 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนพระราชดำเนิน ถนนหลวงสายใหม่ หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก

‘ถนนราชดำเนิน’ เป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2442 เพื่อทรงใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต เพื่อความสง่างามของบ้านเมืองและเพื่อให้ประชาชนได้เดินเที่ยวพักผ่อน จึงมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนราชดำเนินให้กว้างที่สุด แต่ทรงให้สองฟากถนนเป็นที่ตั้งของวังและสถานที่ราชการใหญ่ ๆ มิให้สร้างตึกแถวหรือร้านเล็ก ๆ ซึ่งจะทำให้กลายเป็นย่านการค้า 

โดยในชั้นแรกนั้นทรงมีพระราชดำริว่า “เมื่อสร้างถนนที่ตำบลบ้านพานถมจะต้องรื้อป้อมหักกำลังดัสกร น่าจะรักษาชื่อป้อมไว้ใช้เป็นชื่อถนน แต่จะเรียกว่าถนนหักกำลังดัสกร ก็ดูแปลไม่ได้ความกันกับถนน แต่พักเอาไว้ตรองทีหนึ่ง ควรจะต้องตั้งชื่อให้ทันก่อนตัดถนน”

สาเหตุของการตัดถนนเนื่องจากมีพระราชดำริว่า ท้องที่ตำบลบ้านพานถมถึงท้องที่ตำบลป้อมหักกำลังดัสกรเป็นที่เรือกสวนเปลี่ยวอยู่ระหว่างถนนพฤฒิบาศ (ปัจจุบันคือถนนนครสวรรค์) กับถนนสามเสน ยังไม่เป็นที่สมบูรณ์ทันเสมอท้องที่ตำบลอื่น เพราะยังไม่มีถนนหลวงที่จะทำให้ประชาชนทำการค้าขายสะดวกขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนขึ้นโดยตัดตั้งแต่ปลายถนนพระสุเมรุ ข้ามคลองรอบกรุงที่ตำบลบ้านพานถม ตรงไปยังป้อมหักกำลังดัสกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมบรรจบกับถนนเบญจมาศ (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของถนนราชดำเนินนอก) พระราชทานนามว่า ‘ถนนราชดำเนิน’ เช่นเดียวกับถนนควีนส์วอล์ก (Queen’s walk) ในกรีนปาร์ก (Green Park) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ 

และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการและอธิบดีกรมสุขาภิบาล เป็นพนักงานจัดสร้างถนนราชดำเนิน ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายถนนราชดำเนินไปตัดทางในตำบลบ้านหล่อ เพื่อให้ถนนตรงได้แนวตลอดถนนเบญจมาศด้วย และโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนเทวียุรยาตร (ปัจจุบันคือถนนประชาธิปไตย) ผ่านตำบลบ้านพานถมขึ้นแทน ถนนราชดำเนินนอกเริ่มตั้งแต่ถนนพฤฒิบาศ ผ่านตำบลบ้านหล่อไปออกตำบลป้อมหักกำลังดัสกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไปบรรจบกับถนนเบญจมาศ ถือเป็นถนนสายแรกที่ใช้วิธีการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินเพื่อตัดถนน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดถนนราชดำเนินนอก สะพานมัฆวานรังสรรค์ และถนนเบญจมาศ เนื่องในอภิลักขิตสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2444 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่สะพานเสี้ยว ตรงไปข้างคลองบางลำพูต่อกับถนนราชดำเนินนอก จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกถนนราชดำเนินช่วงแรกว่าถนนราชดำเนินนอก ต่อมามีการก่อสร้างถนนราชดำเนินในมาจดถนนหน้าพระลาน โดยสร้างขยายแนวถนนจักรวรรดิวังหน้าเดิม เริ่มจากแยกจุดบรรจบระหว่างถนนหน้าพระลานและถนนสนามไชย เลียบท้องสนามหลวงฝั่งตะวันออก และไปบรรจบถนนราชดำเนินกลางที่สะพานผ่านพิภพลีลา แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2446

ญี่ปุ่น ประกาศยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ

วันนี้เมื่อ 78 ปีก่อน ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ส่งผลให้ ‘สงครามโลกครั้งที่ 2’ (World War II) ในแปซิฟิก-เอเชีย ยุติลงอย่างเป็นทางการ

14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) ในแปซิฟิก-เอเชีย ยุติลงอย่างเป็นทางการ (หากนับตามเวลาในญี่ปุ่นจะเป็นวันที่ 15) โดย พระจักรพรรดิ ฮิโรฮิโต (Emperor Hirohito) แห่งญี่ปุ่นทรงประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรผ่านทางวิทยุกระจายเสียงทั่วญี่ปุ่น (นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นกว่าพันปีที่คนญี่ปุ่นได้ยินเสียงจักรพรรดิของตน) ภายหลังจากที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูสองลูกเมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคมที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ส่งผลให้ฝ่ายญี่ปุ่นบาดเจ็บและเสียชีวิตนับล้านคน บ้านเมืองเสียหายยับเยิน

พระจักรพรรดิ ฮิโรฮิโต ทรงเรียกร้องให้คณะรัฐบาลญี่ปุ่นยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อรักษาชาติพันธุ์ญี่ปุ่น ให้ยอมรับ ‘ข้อตกลงพอตสดัม’ (Potsdam Declairation) และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ มาโมรุ ชิเกะมึทซึ (Mamoru Shigemitsu) กับ นายพล โยชิจิโร คุเมซุ (Yoshijiro Umezu) ลงนามในสัญญาสงบศึก (Japanese Instrument of Surrender) กับ นายพล แมคอาเธอร์ (Douglas MacArthur) ท่ามกลางสักขีพยานจากประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรอื่น ๆ บนดาดฟ้าเรือประจัญบาน มิสซูรี (USS Missouri) เหนืออ่าวโตเกียวในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 ซึ่งได้มีการเผยแพร่ภาพไปทั่วโลกด้วย

16 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันสันติภาพไทย รำลึกถึงคุณูปการของขบวนการเสรีไทย

16 สิงหาคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันสันติภาพไทย’ เพื่อรำลึกถึงคุณูปการของขบวนการเสรีไทยที่ได้ช่วยกอบกู้ชาติให้รอดพ้นจากวิกฤตในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ได้ออกประกาศสันติภาพพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่ ถือเป็นโมฆะ หรือเรียกได้ว่าเป็นการประกาศเอกราชอธิปไตย แสดงจุดยืนแห่งความเป็นกลาง มีอิสรภาพ โดยมี นายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

สงครามโลกครั้งที่ 2 นับว่าเป็นสงครามอันแสนดุเดือด ร้ายแรง มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามครั้งนี้กว่า 18 ล้านคนทั่วโลก แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นผู้จุดชนวนสงคราม แต่ก็ถูกดึงเข้าไปร่วมอยู่ในวิกฤตการณ์สงครามครั้งนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ หากในวันนั้นไม่มีกลุ่ม ‘ขบวนการเสรีไทย’ ซึ่งนำโดย นายปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นแกนนำหลัก ที่ได้ออกมาต่อสู้ กอบกู้รักษาเอกราชอย่างไม่ท้อถอย ภายใต้อุดมการณ์รักษาเอกราชอธิปไตยของประเทศไทยไว้ให้ได้ ประเทศไทยก็คงจะไม่กลับมามีความสงบสุข และไม่ถูกยึดครองดินแดนดังเช่นในทุกวันนี้

ด้วยเหตุนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการคุณงามความดีของขบวนการเสรีไทย ชนรุ่นหลังจึงได้ถือเอาวันประกาศอิสรภาพดังกล่าวจารึกเป็น ‘วันสันติภาพไทย’ โดยจะมีการจัดงานฉลองเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในวันที่ 16 สิงหาคม ของทุกปี

18 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ น้อมรำลึกถึง ร.4 ‘พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย’

18 สิงหาคม ‘วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ’ หนึ่งในวันที่มีความสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์ไทย รำลึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อ พ.ศ. 2411 ที่บ้านหว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์

ในวันที่ 18 สิงหาคม ของทุก ๆ ปี ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในวันสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และการศึกษาของไทย เนื่องจากตรงกับวันที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เสร็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ ต.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังพระองค์ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาไว้อย่างแม่นยำ ล่วงหน้า 2 ปี ด้วยพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์ของพระองค์ จึงได้มีการถวายพระราชสมัญญานามให้ทรงเป็น ‘พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย’

และด้วยพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์นี้ คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี เป็น ‘วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ’ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าว และเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงเป็น ‘พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย’ ไปพร้อมกัน

สำหรับความเป็นมาเสร็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระราชโอรส พระราชธิดา รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ (รัชกาลที่ 5) ขณะพระชนมายุ 16 พรรษา ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ ตำบลบ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่18 สิงหาคม พ.ศ. 2411

ด้วยทรงตั้งพระปณิธานแน่วแน่ที่จะพิสูจน์ผลการคำนวณของพระองค์ หลังจากที่ทรงใช้กล้องโทรทรรศน์คำนวณการเกิดสุริยุปราคาครั้งแรกได้อย่างแม่นยำ ล่วงหน้า 2 ปี ซึ่งพระองค์คำนวณไว้ว่า สุริยุปราคาจะเกิดขึ้นในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 โดยจะเห็นหมดดวงและชัดเจนที่สุด ที่หมู่บ้านหัววาฬ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่บริเวณ เกาะจาน ขึ้นไปถึงปราณบุรี และลงไปถึงเมืองชุมพร และโปรดฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) ไปสร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ พร้อมกับเชิญคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และเซอร์แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมในการสังเกตการณ์ ซึ่งเมื่อถึงวันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 เหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่ทรงพยากรณ์ไว้ทุกประการ ไม่คลาดเคลื่อนแม้แต่วินาทีเดียว

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่ง สหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณของพระองค์ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้วยพระราชกรณียกิจและพระเกียรติคุณนานัปการ โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจด้านดาราศาสตร์

19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จสู่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อ

วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อ

ท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายพระพร ระหว่างที่รถพระที่นั่งแล่นผ่าน ฝูงชนส่งเสด็จเดินทางจากสยามประเทศเพื่อไปศึกษาต่อ ณ สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ได้มีเสียงหนึ่งตะโกนแทรกมาเข้าพระกรรณว่า "ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน" ในขณะนั้น ทรงนึกตอบในพระทัยว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร" 

นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่อยู่ในพระทัยของในหลวง ร.9 มาโดยตลอด พร้อมกับได้ทรงพระราชนิพนธ์บันทึกประจำวัน ‘เมื่อข้าพเจ้าจากสยาม สู่สวิตเซอร์แลนด์’ พระราชทานแก่หนังสือวงวรรณคดีไทย เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกซาบซึ้งพระราชหฤทัยถึงน้ำใจของประชาชน ที่พร้อมใจกันมาส่งเสด็จอย่างมืดฟ้ามัวดินในครั้งนั้น

ในช่วงนั้น บรรยากาศแห่งความเศร้าสลดครอบคลุมชาติไทย มองไปทางไหนมีแต่สีแห่งความทุกข์ คือสีดำเต็มไปหมด ความมหาวิปโยคเพิ่งเกิดขึ้นกับทวยราษฎร์ข้าแผ่นดิน เพราะเพิ่งสูญเสียพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระปิยราชบรมราชกษัตริย์ไปอย่างไม่มีวันกลับ เหลือเพียงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ‘พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่’ เพียงองค์เดียวเท่านั้นที่จะเป็นความหวังและที่พึ่งของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ประชาชนได้ทุ่มเทความรัก ความหวงแหนยิ่งถวายแด่พระองค์จนหมดสิ้น

เมื่อถึงวันที่พระองค์ทรงอำลาผืนแผ่นดินไทยไปสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อ ประชาชนทั้งหลายจึงรู้สึกเปล่าเปลี่ยว เหมือนคนไร้ที่พึ่ง ไร้พระบรมโพธิสมภารที่เคยร่มเย็น ขณะรถยนต์พระที่นั่งค่อย ๆ เคลื่อนอย่างช้า ๆ ผ่านหน้ามหาชนนับหมื่นนับแสนที่มาเฝ้าฯ ส่งเสด็จอยู่ด้วยความจงรักภักดี นาทีนั้นเอง ทุกคนรู้สึกตรงกัน เหมือนดวงใจถูกพรากหลุดลอยไป เกรงว่าพระองค์จะไม่เสด็จนิวัตประเทศไทยอีก เหลือสุดที่ประชาชนจะทนได้ จึงมีเสียงร้องทูลขอสัญญาว่า

"อย่าทิ้งประชาชน..."

"ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร"

นั่นคือพระราชสัจจะจากดวงพระราชหฤทัย ที่จะมีพระราชดำรัสกับประชาชนในขณะนั้น  

แม้เครื่องบินพระที่นั่งทะยานขึ้นสู่ฟ้ามหานครแล้ว แต่ถนนทุกสายยังเนืองแน่นด้วยประชาชนที่เฝ้ามอง ‘พระเจ้าอยู่หัว’ จนกระทั่งเครื่องบินลับหายไปจากสายตา พร้อมกับดวงใจของประชาชนที่เฝ้ารอพระองค์กลับมา...เป็นมิ่งขวัญตลอดไป

และเสียงร้องทูลขอสัญญาของประชาชนในวันนั้น ตรึงตราประทับอยู่ในพระราชหฤทัยตลอดมา เป็นสายใจผูกพัน ทำให้ทรงเป็น ‘พระเจ้าอยู่หัวของประชาชนอย่างแท้จริง’

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างประภาคาร เกาะสีชัง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างอัษฎางค์ประภาคารขึ้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2434 เพื่อใช้ส่องสัญญาณไฟนำทางให้แก่เรือต่าง ๆ ที่ออกเรือประมงตกปลา ตกหมึกในยามค่ำคืน เนื่องจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสีชังมีศิลาสัมปะยื้อกีดขวางเส้นทางเดินเรือ และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่เรือประมงที่แล่นเข้า - ออก

บริเวณประภาคารมีเรือนให้คนรักษาประภาคารอยู่ทำหน้าที่ประจำ 1 หลังและเนื่องจากอัษฎางค์ประภาคารตั้งอยู่บริเวณส่วนปลายสุดของ ‘แหลมวัง’ ชาวบ้านบนเกาะสีชังจึงนิยมเรียกประภาคารแห่งนี้ในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ประภาคารแหลมวัง’ แต่ในปัจจุบันได้มีการสร้างประภาคารขึ้นใหม่ใกล้กับท่าเรือ เทวงษ์ (ท่าล่าง) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสีชัง อัษฎางค์ประภาคารจึงกลายเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นที่นักท่องเที่ยวนิยมอีกแห่งหนึ่ง

ต่อมาตัวประภาคารหินสัมปะยื้อ และบ้านพักของเจ้าหน้าที่ได้ชำรุดทรุดโทรมมาก และประกอบกับการคมนาคมไม่สะดวก ดังนั้น จึงได้ทำการบูรณะซ่อมแซมตัวประภาคารใหม่ และได้ย้ายบ้านพักของเจ้าหน้าที่ประภาคารไปตั้งอยู่บนเกาะขามใหญ่ (ตรงข้ามเกาะสีชัง) เมื่อ พ.ศ. 2512 มาจนถึงทุกวันนี้ สำหรับตัวเรือนตะเกียงที่ติดตั้งบนประภาคาร ได้ทำการเปลี่ยนแปลงจากระบบน้ำมันก๊าด มาใช้เป็นระบบตะเกียงก๊าซอเซทีลีน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2471 และต่อมาได้เปลี่ยนแปลงมาใช้ตะเกียงระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2534


 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกาศให้ใช้หน่วย ‘สตางค์’ เป็นครั้งแรก

วันนี้เมื่อ 155 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประกาศให้ใช้หน่วย ‘สตางค์’ เป็นครั้งแรก

ย้อนกลับไปในวันนี้เมื่อ 155 ปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับวันที่ 21 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 5 ได้มีการออกประกาศให้ใช้หน่วย ‘สตางค์’ เป็นครั้งแรก หลังจากที่ไทยใช้หน่วยของเงินเป็น ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง ซึ่งถือเป็นระบบที่ยากต่อการคำนวณและการแลกเปลี่ยนในการใช้จ่ายต่าง ๆ

โดย 100 สตางค์ มีการกำหนดค่าให้เท่ากับ 1 บาท และนั่นถือเป็นจุดกำเนิดของหน่วยสากลที่นิยมใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน


 

23 สิงหาคม พ.ศ. 2553 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ

วันนี้ เมื่อ 13 ปีที่แล้ว เป็นวันเปิดให้บริการ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ หรือ รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อย่างเป็นทางการวันแรก

รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (Airport Rail Link) หรือ รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนแบบพิเศษ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปัจจุบันต้นสถานีของ ARL คือ พญาไทและปลายสถานี คือสนามบินสุวรรณภูมิ โดยใช้ระยะเวลาการเดินทาง 25 นาที

ในวันที่ 25 ตุลาคม 2564 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘AERA1’ (เอราวัน) ภายใต้ผู้รับสัมปทานรายใหม่ คือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ของกลุ่มซี.พี. และพันธมิตร จากผู้รับสัมปทานรายเดิม คือ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

ในอนาคต ‘รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์’ จะมีการรวมรถไฟฟ้าสายนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา โดยใช้เส้น Airport Rail Link เดิมเป็นส่วนต่อขยาย โดยแนวเส้นทางส่วนที่ต่อขยายคือ สถานีพญาไท เชื่อมต่อกับสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นสถานีต้นทางของรถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ- รังสิต และ บางซื่อ-ตลิ่งชัน และจะเชื่อมต่อไปยังสถานีดอนเมือง

ทั้งนี้ หากก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งาน ระยะเวลาที่ใช้เดินทางจาก สถานีพญาไทไปสนามบินดอนเมืองจะใช้เวลาเพียง 10-15 นาทีเท่านั้น ซึ่งจะทำให้การเดินทางสู่สองสนามบินเป็นเรื่องง่ายดาย ทั้งลดระยะเวลาการเดินทางและมีความสะดวกสบายที่มากขึ้น

24 สิงหาคม พ.ศ. 2557 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย

วันนี้เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย

ประกาศราชกิจจานุเบกษา พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาดังนี้

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

จึงทรงพระราชดำริว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ที่สมควรไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2557 เป็นปีที่ 69 ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ 
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top