Saturday, 4 May 2024
BRICS

‘รัสเซีย’ ยุกลุ่มเศรษฐกิจ ‘BRICS’ เทดอลลาร์ ยกระดับสกุลเงินของแต่ละประเทศ ใช้จ่ายนำเข้า-ส่งออก รวมถึงระบบชำระเงินแบบบูรณาการระหว่างกัน

รัฐบาลรัสเซียเร่งเร้า BRICS กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งมีศักยภาพสูงที่จะเติบโตขึ้นมาทัดเทียมกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ยกระดับการใช้สกุลเงินของแต่ะละประเทศ สำหรับปฏิบัติการนำเข้าและส่งออก รวมถึงระบบชำระเงินแบบบูรณาการ

ภายหลังจากรัสเซีย เปิดฉากบุกยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มอสโกถูกตะวันตกกำหนดมาตรการคว่ำบาตรหนักหน่วงที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยตัดขาดพวกเขาออกจากระบบการเงินโลก รวมถึงอายัดทองคำและทุนสำรองระหว่างประเทศของพวกเขาเกือบครึ่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ที่ราวๆ 606,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นเดือนเมษายน

ขณะเดียวกัน วีซ่าและมาสเตอร์การ์ด บัตรชำระเงินระหว่างประเทศได้ระงับให้บริการในรัสเซียในช่วงต้นเดือนมีนาคม ส่วนธนาคารรายใหญ่ของรัสเซียก็ถูกตัดขาดจากระบบ SWIFT เครือข่ายการเงินระดับโลกที่ช่วยให้การโอนเงินข้ามพรมแดนเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว

อันทอน ซิลูอานอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของรัสเซียบอกกับที่ประชุมระดับรัฐมตรีของกลุ่ม BRICS เมื่อวันศุกร์ (8 เม.ย.) ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเลวร้ายลงอย่างมาก สืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ นอกจากนี้ มาตรการลงโทษเหล่านั้นยังทำลายรากฐานระบบการคลังและการเงินโลกที่มีอยู่ในปัจจุบัน บนพื้นฐานของดอลลาร์สหรัฐ

"เหล่านี้มันผลักให้เราจำเป็นต้องดำเนินการในขอบเขตต่างๆ ดังต่อไปนี้ ใช้สกุลเงินประเทศสำหรับปฏิบัติการนำเข้าและส่งออก บูรณาการระบบชำระเงินและบัตรต่างๆ ระบบการโอนเงินระหว่างประเทศของตัวเองและจัดตั้งสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อของ BRICS ที่เป็นอิสระ"

กลุ่ม 'BRICS' เห็นชอบคำแนะนำของ 'จีน' เล็งวางแผนอ้าแขนรับสมาชิกเพิ่มเติม

ชาติต่างๆ ใน BRICS (กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว) สนับสนุนคำชี้แนะของจีน ว่าทางกลุ่มควรขยายขอบเขตอ้าแขนรับสมาชิกเพิ่มเติม แต่ยังไม่ได้เอ่ยชื่อว่าที่ประเทศที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม

ในถ้อยแถลงร่วมของบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม BRICS อันประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ซึ่งมีขึ้นตามหลังการประชุมออนไลน์ในวันพฤหัสบดี (19 พ.ค.) สนับสนุนการขยายขอบเขตสมาชิกเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ แต่บอกว่ามันต้องมีหลักชี้นำ มาตรฐานและขั้นตอนที่ชัดเจน

แม้ไม่มีการพาดพิงชื่อประเทศผู้สมัคร แต่ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นปี ประธานาธิบดีอัลแบร์โต เฟอร์นานเดซ แห่งอาร์เจนติน่า ระบุว่าต้องการเห็นประเทศของเขาเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ส่วนบรรดานักวิเคราะห์มองว่าอินโดนีเซียก็อาจเป็นอีกหนึ่งว่าที่ผู้สมัครเช่นกัน

บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มขึ้นในปี 2009 ก่อนที่ แอฟริกาใต้ จะเข้าร่วมในปี 2010

การประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศทั้ง 5 ชาติ ในนั้นรวมถึง เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มอสโกเปิดฉากรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์

หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน เน้นย้ำจุดยืนของปักกิ่ง ที่เรียกร้องขอให้เจรจาสันติภาพและวิพากษ์วิจารณ์บรรดาประเทศตะวันตกต่อการมอบอาวุธแก่ยูเครนและกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานรัสเซีย

"การส่งมอบอาวุธไม่อาจนำมาซึ่งสันติภาพสู่ยูเครน และแรงกดดันจากมาตรการคว่ำบาตรไม่อาจคลี่คลายภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในด้านความมั่นคงของยุโรป" หวังกล่าว

เขาบอกด้วยว่าจีนคัดค้านการใช้เศรษฐกิจและความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศเป็นอาวุธ บีบบังคับให้ชาติอื่นๆ ต้องเลือกข้าง

ขณะเดียวกันเขายังเรียกร้องให้พยายามลดผลกระทบที่ลุกลามของสงคราม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและอุปทานอาหาร "โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้การสนับสนุนบรรดาประเทศกำลังพัฒนาที่อ่อนแอ เอาตัวรอดจากช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้"

นอกจากนี้แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนยังเรียกร้องให้สมาชิกกลุ่ม BRICS ประเทศอื่นๆ "มีความเป็นอิสระ" และ "ยุติธรรม" ในประเด็นยูเครน

ก่อนหน้านี้สมาชิก 3 ชาติของกลุ่ม BRICS ได้แก่ จีน อินเดีย และแอฟริกาใต้ งดออกเสียงจากการลงมติของสหประชาชาติในญัตติประณามรัสเซียต่อกรณีรุกรานยูเครน

รัฐมนตรีต่างประเทศทั้ง 3 ชาติออกถ้อยแถลงร่วม สนับสนุนให้รัสเซียเจรจากับยูเครน และ "พูดคุยหารือความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในยูเครนและที่อื่นๆ"

หวัง เรียกร้องทางกลุ่มต่อต้านการสร้าง "ระบบคู่ขนาน" เพื่อแบ่งแยกโลก ทั้งนี้เขาไม่ได้พาดพิงถึงประเทศใด แต่เข้าใจดีว่าน่าจะหมายถึงสหรัฐฯ พร้อมกันนั้นเขาบอกว่ากลุ่ม BRICS ควรต่อต้านมาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวทุกรูปแบบ เช่นเดียวกับการใช้เขตอำนาจรัฐนอกดินแดน

เปิด 6 ชาติอาเซียนผนึก 'จีน-รัสเซีย' ต่อกร 'มหาอำนาจโลกเก่า' ที่จ้องเอาเปรียบ

จากสถานการณ์มหาอำนาจโลก อย่างสหรัฐกลุ่มประเทศตะวันตก กำลังเผชิญหน้ากับรัสเซียและจีน รวมทั้งพันธมิตรตะวันออก ซึ่งมีอาเซียนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งด้วย โดยมีความเคลื่อนไหวที่ถูกจับตามองว่าจะเข้ากับฝ่ายไหนนั้น

ล่าสุดวานนี้ (11 มิ.ย. 65) เพจ World Update ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความโดยระบุที่มา AP, VOAthai, Global Time, The Time, ลึกชัดกับผิงผิง (สื่อจีน) และ ข่าวสารอาเซียน ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีข้อความบางส่วนที่สำคัญดังนี้

“กัมพูชา ลาว ติมอร์-เลสเต มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมา เร่งขยายความร่วมมือฝ่ายระเบียบโลกใหม่ การแข่งขันหาพันธมิตรที่แน่นแฟ้นระหว่าง “ฝ่ายระเบียบโลกเก่าขั้วเดียวผูกขาด” ที่นำโดยสหรัฐ อังกฤษ ที่ครองอำนาจโลกมานานกว่า 7 ทศวรรษ กับ “ฝ่ายระเบียบโลกใหม่หลายขั้วที่เป็นธรรม” รัสเซีย-จีน 

โดยการแข่งขันชิงอำนาจโลกนี้น่าจะดำเนินไปอีกอย่างน้อย 3 ปี ฝ่ายใดกุมพลังงาน อาหาร อาวุธร้ายแรงไว้ได้ และเน้นใช้พระคุณ ก็จะชนะฝ่ายกุมเงินตรา แต่ใช้พระเดชในที่สุด

สำหรับภูมิภาคอาเซียนนั้น หากใครครองย่านนี้ได้ ก็ย่อมมีผลแพ้ชนะที่สำคัญ โดยฝ่ายระเบียบโลกเก่า พยายามดึงอาเซียนไปเป็นคู่ขัดแย้งกับจีนในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (NATO-2) โดยฐานยิงขีปนาวุธย้ายจากอาเซียนไปญี่ปุ่น เพื่อช่วยไต้หวัน แต่ในทางกลับกัน Asian - NATO ไม่มีความคืบหน้าใดๆ 

ล่าสุดทางฝ่ายจัดระเบียบโลกใหม่รุกคืบช้าๆ แต่ทว่ามั่นคง เริ่มจาก...

>> #กัมพูชา 
จีนเดินหน้าช่วยต่อเติมฐานทัพเรือเรียม เมืองสีหนุวิลล์ในอ่าวไทย มูลค่าราว 4,640 หยวน (24,000 ล้านบาท) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับศักยภาพของกองทัพเรือกัมพูชา ในทางลับ จีนให้กัมพูชายืมเรือดำน้ำมาใช้ และเพิ่งส่งอาวุธหนักปืนใหญ่ จรวดหลายลำกล้อง รถหุ้มเกราะ ยานลำเลียงพล ฯลฯ จำนวนมากมาให้ประจำการ

>> #เมียนมา
จีนให้ยืมเรือดำน้ำมาใช้ในการปกป้องทะเลอันดามัน ชายฝั่งเมืองเจ้าก์ผิ่ว เป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือดะญะวดีของกองทัพเรือ โดยเป็นต้นทางท่อก๊าซและน้ำมันของจีน ที่วางพาดผ่านพื้นที่เมียนมาขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ข้ามชายแดนที่รัฐฉาน ส่งก๊าซและน้ำมันเข้าไปในจีนทางมณฑลยูนนาน และเป็นปลายทางของระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า ที่รัฐบาลจีนใช้เป็นเส้นทางออกสู่ทะเลทางมหาสมุทรอินเดียที่สั้นที่สุด

โดยบริษัทของรัฐบาลจีนกำลังมีการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกอยู่ในเมืองเจ้าก์ผิ่ว เมียนมาในขณะนี้ รวมทั้งจีนได้สนับสนุนเครื่องบินรบ ขีปนาวุธ ยานเกราะ รถลำเลียงพล อากาศยานโดรน ปืนสงครามอิเล็กทรอนิกส์สอยโดรน ฯลฯ 

นอกจากนี้ยังทำรางรถไฟเจาะทะลุภูเขาจากยูนาน เพื่อเชื่อมการเดินทางกับพม่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว คล้ายเชื่อมกับลาวทางตอนเหนือ

>> #ลาว 
ได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากกองทัพรัสเซีย เบลารุส เช่น สนามบินทหาร เครื่องบินรบ ขีปนาวุธ รถถัง โดยขนย้ายเข้ามาจากท่าเรือผ่านประเทศเวียดนาม 

ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา พล.ต.กราเยฟ ดิมิทรี วราดิมีโรวิช หัวหน้าสำนักงานผู้แทนกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ประจำลาว ได้เดินสายเยี่ยมหน่วยทหารในพื้นที่ หลวงพระบาง และแขวงไซยะบูลี ภาคเหนือของลาว พร้อมช่วยเสริมเขี้ยวเล็บ ตรวจสอบ ประเมินสภาพอาวุธยุทโธปกรณ์ ยานพาหนะที่มี ให้การช่วยเหลือปรับปรุงให้ทันสมัย 

>> #เวียดนาม 
สำหรับเวียดนามนั้น ได้สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ที่นำโดยรัสเซีย - จีน - อินเดีย แล้ว มีประชากรรวมกันกว่า 40% ของโลก ทำให้มีตลาดผู้บริโภค และฐานการผลิตขนาดใหญ่ ซึ่งมีศักยภาพทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก 

โดยในปี 2021 มีมูลค่าการค้าร่วมกันราว 16.6 ล้านล้านบาท มีอัตราเพิ่มขึ้น 39.2% ต่อปี และมีระบบ “ศุลกากรอัจฉริยะ” เชื่อมต่อระหว่างกัน

‘ปูติน’ เผย BRICS จ่อลดอำนาจเงินตะวันตก เตรียมตั้งทุนสำรองระหว่างประเทศขึ้นใหม่

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เปิดเผยว่ากลุ่ม BRICS ซึ่งประกอบไปด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้ กำลังดำเนินการจัดตั้งทุนสำรองระหว่างประเทศใหม่บนพื้นฐานระบบตะกร้าเงินของประเทศสมาชิก เพื่อลดการพึ่งพิงระบบการเงินตะวันตก

รายงานจากอาร์ทีนิวส์ เผยว่า ประธานาธิบดีรัสเซีย สมาชิกของ BRICS กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนากลไกทางเลือกที่มีความน่าเชื่อถือสำหรับการชำระเงินระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน โดยคำพูดของปูติน สอดคล้องกับคำแถลงของกลุ่ม BRICS ก่อนหน้านี้ ที่บอกว่าพวกเขากำลังดำเนินการจัดตั้งเครือข่ายการชำระเงินร่วม เพื่อลดการพึ่งพิงระบบการเงินของตะวันตก ขณะเดียวกัน บรรดาประเทศสมาชิก BRICS กำลังเพิ่มการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขายระหว่างกันอย่างเข้มข้นขึ้นด้วย

ด้าน Global Times ก็ได้รายงานด้วยว่า บรรดาผู้ค้าทั้งหลายในกลุ่ม BRICS ต่างมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะใช้เงินสกุลท้องถิ่นในกลุ่มประเทศของตนเอง โดยเฉพาะเงินหยวน เป็นอีกหนึ่งสกุลหลักในการเจรจาทำธุรกรรมทางการค้าข้ามพรมแดนระหว่างกัน โดยเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามมองหาทางเลือกอื่นนอกจากสกุลเงินดอลลาร์ ที่จะนำมาใช้เป็นตัวกลางชำระหนี้ระหว่างประเทศภายในกลุ่ม BRICS

บรรดาผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า แม้อิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะยังคงครอบงำเวทีการค้าโลก แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในกลุ่มประเทศสมาชิก BRICS บวกกับความร่วมมือเพิ่มเติมด้านต่างๆ ในอนาคต ได้เพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ที่จะชำระหนี้ด้วยเงินสกุลเงินท้องถิ่นของแต่ละประเทศมากขึ้น

'ตุรกี-อียิปต์-ซาอุฯ' มีแผนเข้ากลุ่ม BRICS ตาม 'อิหร่าน-อาร์เจนตินา' คาดรู้ผลเร็วๆ นี้

ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี และอียิปต์ มีแผนเข้าร่วมกลุ่ม BRICS และหากพวกเขายื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิก ก็อาจมีการหารือและให้คำตอบในที่ประชุมซัมมิตปีหน้าในแอฟริกาใต้ จากการเปิดเผยเปอร์นิมา อานันท์ ประธานฟอรัมขององค์กรแห่งนี้ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนรัสเซียเมื่อวันพฤหัสบดี (14 ก.ค.)

"ประเทศต่างๆ ทั้งหมดนี้แสดงความสนใจเข้าร่วมกลุ่ม BRICS และกำลังเตรียมการสมัครเป็นสมาชิก ดิฉันเชื่อว่านี่คือก้าวย่างที่ดี เพราะว่าการขยับขยายดูเป็นเรื่องดีเสมอ แน่นอนว่ามันจะช่วยส่งเสริมอิทธิพลโลกของ BRICS" เธอให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์อิซเวสเตีย สื่อมวลชนรัสเซีย

ประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ มีประชากรรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 40% ของประชากรโลก และมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของจีดีพีโลก จุดประสงค์ต่างๆ ของทางกลุ่ม รวมไปถึงส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง การพัฒนาและความร่วมมือระหว่างประเทศ และสนับสนุนพัฒนาการของมนุษยชาติ

อานันท์ กล่าวว่า ประเด็นการขยับขยายนั้นได้ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือระหว่างการประชุมซัมมิต BRICS ในปีนี้ ซึ่งจัดขึ้นในกรุงปักกิ่ง เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน

ประธานฟอรัมของ BRICS แสดงความหวังว่าการเข้าร่วมของซาอุดีอาระเบีย ตุรกี และอียิปต์ จะไม่ใช้เวลานานนัก เนื่องจากประเทศเหล่านี้ 'มีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ไปแล้ว' แม้มีข้อสงสัยว่าทั้ง 3 ชาติจะเข้าร่วมกลุ่มในเวลาเดียวกันหรือไม่

"ฉันหวังว่าประเทศต่างๆ เหล่านี้จะเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ในเวลาอันสั้น เนื่องด้วยบรรดาผู้แทนของสมาชิกหลักทั้งหมดสนใจขยับขยาย ดังนั้นมันน่าจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด" อานันท์ กล่าว

ข่าวคราวเกี่ยวกับแผนเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ของ 3 ชาติ มีขึ้นหลังจากอิหร่านและอาร์เจนตินา เพิ่งยื่นสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มในช่วงปลายเดือนมิถุนายน โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านยกย่องกลุ่ม BRICS 'เป็นกลไกที่สร้างสรรค์อย่างมาก พร้อมด้วยมีมุมมองต่างๆ ที่กว้างขวาง'

แม้กลุ่ม BRICS ไม่ใช่พันธมิตรอย่างเป็นทางการในเหตุผลด้านการทหารและเศรษฐกิจ แต่บ่อยครั้งชาติสมาชิกแสดงจุดยืนเป็นหนึ่งเดียวกันคัดค้านฉันทมติของตะวันตก ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีใครในกลุ่ม BRICS ที่โหวตร่วมกับสหรัฐฯ และพันธมิตรลงมติประณามปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน ณ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในเดือนมีนาคม แถมนับตั้งแต่นั้น จีน และอินเดียยังได้ยกระดับความเชื่อมโยงทางการค้าของพวกเขากับรัสเซียมากยิ่งขึ้น

ระหว่างการประชุมร่วมพวกผู้นำกลุ่ม BRICS เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เผยว่าสมาชิกทั้ง 5 ชาติกำลังดำเนินการจัดตั้งทุนสำรองระหว่างประเทศใหม่บนพื้นฐานระบบตะกร้าเงินของประเทศสมาชิก ลดการพึ่งพิงระบบการเงินตะวันตก

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีรัสเซีย ยังเผยว่ารัฐสมาชิกของ BRICS อยู่ระหว่างการพัฒนากลไกทางเลือกที่มีความน่าเชื่อถือสำหรับการชำระเงินระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน

'อินเดีย-รัสเซีย' ไม่สนใจ 'ดอลลาร์' เน้นใช้ 'รูปี-รูเบิล' ค้าขายระหว่างกัน

‘รัสเซีย’ และ ‘อินเดีย’ คงไม่จำเป็นต้องพึ่งดอลลาร์อีกต่อไป หลังจากทั้ง 2 ฝ่าย กำลังหันไปใช้สกุลเงินของแต่ละชาติในค้าขายระหว่างกัน 

เปอร์นิมา อานันท์ (Purnima Anand) ประธานฟอรัมนานาชาติของกลุ่ม BRICS ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวอาร์ทีนิวส์ เมื่อวันที่ 25 ส.ค.65 ระบุว่า...

“เราประสบความสำเร็จในการจัดตั้งกลไกการชำระเงินร่วมใน ‘สกุลเงินรูเบิล’ และ ‘รูปี’ โดยไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้สกุลเงินดอลลาร์ในการชำระเงินกันและกัน ขณะเดียวกันในวันนี้กลไกการของชำระเงินร่วมในรูปแบบรูเบิลและหยวน ก็กำลังริเริ่มขึ้นโดยจีน” เธอกล่าวและว่า “นั่นหมายความว่าประเทศต่างๆ ในกลุ่ม BRICS เปิดกว้างแก่รัสเซีย มอบโอกาสให้ประเทศแห่งนี้ ได้ก้าวผ่านผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตร”

ประธานฟอรัมนานาชาติ BRICS บอกอีกว่า การค้าร่วมระหว่างอินเดียและรัสเซียเติบโตขึ้น 5 เท่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันมอสโก ป้อนอุปทานการผลิตน้ำมันแก่อินเดียในปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร, สิ่งทอ ยาและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในปริมาณมาก เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน

อานันท์ เน้นด้วยว่า นิวเดลีมองตนเองในฐานะ ‘เป็นกลาง’ ภายใต้สงครามมาตรการคว่ำบาตรในปัจจุบันระหว่างตะวันตกกับรัสเซีย และแม้ต้องเผชิญแรงกดดันให้คว่ำบาตรมอสโก แต่ อินเดีย ก็ยังคงสานต่อความร่วมมือในทุกขอบเขตที่จำเป็น

'ปูติน' ย้ำ!! ธนาคารทางเลือก BRICS จำเป็น  เกมต่อกร 'วอชิงตัน' ใช้ดอลลาร์เป็นอาวุธ

การจัดตั้งสถาบันการเงินทางเลือกเป็นเรื่องยากลำบาก แต่ความพยายามดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงเวลาที่วอชิงตันใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นอาวุธ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กล่าวในวันพุธ (26 ก.ค.) ระหว่างการประชุมร่วมกับ ดิลมา รูสเซฟฟ์ ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) ที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มบริกส์ (BRICS)

อดีตประธานาธิบดีหญิงของบราซิล ซึ่งเข้ารับตำแหน่งประธานอดีตธนาคารเพื่อการพัฒนาของกลุ่ม BRICS เมื่อเดือนมีนาคม เดินทางเยือนเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เพื่อพบปะกับ ปูติน ก่อนหน้าการประชุมซัมมิตรัสเซีย-แอฟริกาในสัปดาห์นี้

"ผมไม่มีข้อสงสัยในเรื่องนี้ ด้วยประสบการณ์มากมายของคุณและความรู้ในขอบเขตนี้ คุณจะทำทุกอย่างเพื่อพัฒนาสถาบันแห่งนี้ ที่ผมคิดว่ามันมีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน" ปูตินบอกกับรูสเซฟฟ์ "ในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน มันไม่ใช่งานที่ง่ายเลย เนื่องด้วยสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับการเงินโลก และการใช้ดอลลาร์เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง"

ปูติน เน้นย้ำว่ากลุ่มเศรษฐกิจ BRICS ที่ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ไม่ได้มีเป้าหมายที่ใครอย่างเฉพาะเจาะจง แต่กำลังทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์ร่วม ในนั้นรวมถึงด้านการเงิน เขาชี้ว่าสมาชิกกลุ่ม BRICS ได้ยกระดับใช้สกุลเงินท้องถิ่นชำระบัญชีทางการค้าระหว่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว

รูสเซฟฟ์ เห็นด้วยว่าบรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายควรทำแนวทางนี้ไปใช้ในวงกว้าง เธอยังบอกอีกว่าความท้าทายใหญ่หลวงที่มีต่อเหล่าชาติกำลังพัฒนาคือศักยภาพในการเพิ่มงบประมาณสำหรับโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ไล่ตั้งแต่การบริการสังคม ไปจนถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเด็นนี้ เธออ้างว่าถูกละเลิกเพิกเฉย เนื่องจากทุกคนมุ่งเน้นไปยังปัญหาหนี้สิน

สหรัฐฯ มีสัดส่วนคิดเป็น 20% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจโลก แต่มากกว่า 50% ของทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกถือครองในสกุลเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้ว สัดส่วนการถือครองสกุลเงินดอลลาร์ลดลงอย่างมากในปีที่ผ่านมา หลังมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินเล่นงานรัสเซีย ต่อความขัดแย้งในยูเครน ในนั้นรวมถึงอายัดทุนสำรองระหว่างประเทศและสกัดการเข้าถึงระบบชำระเงิน SWIFT ก่อความกังวลแก่ชาติต่าง ๆ ว่าพวกเขาอาจตกเป็นเป้าหมายของมาตรการลักษณะเดียวกันในอนาคต

เมื่อเดือนตุลาคม ปูตินอ้างว่าสหรัฐฯ "บั่นทอนความน่าเชื่อถือสถาบันทุนสำรองระหว่างประเทศด้วยการใช้ดอลลาร์เป็นอาวุธ แรกเริ่มคือปล่อยมลพิษทางการเงิน จากนั้นก็ขโมยเงินของรัสเซีย" และนับตั้งแต่นั้น เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังอเมริกา ยอมรับว่ามาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ อาจผลักบางประเทศละทิ้งดอลลาร์

"ประวัติศาสตร์อันยาวนานแห่งยุคสมัยการครองโลกของดอลลาร์สหรัฐกำลังมาถึงจุดจบ" อันเดรย์ คอสติน ประธานธนาคารวีทีบีแบงก์ของรัสเซีย ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนที่แล้ว

ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ตะวันตกส่วนใหญ่ มองไม่เห็นว่าจะมีสกุลเงินอื่นใดที่มีศักยภาพพอจะก้าวมาแทนที่ดอลลาร์ แต่ ปูติน แย้มเมื่อเดือนมิถุนายน ว่า BRICS กำลังดำเนินการเกี่ยวกับสกุลเงินสำรองของตนเอง บางทีอาจอยู่บนพื้นฐานของตะกร้าสินค้าโภคภัณฑ์

'สีจิ้นผิง' เดินทางถึงแอฟริกาใต้ เข้าร่วมประชุมสุดยอด BRICS ด้าน 'ไซริล รามาโฟซา' ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ต้อนรับอย่างอบอุ่น

(22 ส.ค.66) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เดินทางถึงนครโจฮันเนสเบิร์กของแอฟริกาใต้ เมื่อวันจันทร์ (21 ส.ค.) เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS Summit) ครั้งที่ 15 และเยือนแอฟริกาใต้อย่างเป็นทางการ

ไซริล รามาโฟซา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ พร้อมด้วยนาเลดี แพนดอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศของแอฟริกาใต้ และโนซาซานา คลาริซ ดลามินี-ซูมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสตรี เยาวชน และคนพิการของแอฟริกาใต้ ได้ต้อนรับสีจิ้นผิงอย่างอบอุ่น ณ ท่าอากาศยานนานาชาติโออาร์ แทมโบ แห่งโจฮันเนสเบิร์ก

ประธานาธิบดีรามาโฟซาต้อนรับสีจิ้นผิงอย่างอบอุ่นสำหรับการเยือนแอฟริกาใต้อย่างเป็นทางการ สีจิ้นผิงกล่าวว่าเขาดีใจที่ได้เดินทางเยือนแอฟริกาใต้อีกครั้ง และหวังจะได้แลกเปลี่ยนมุมมองเชิงลึกกับรามาโฟซาในด้านการกระชับความสัมพันธ์จีน-แอฟริกาใต้ และประเด็นที่สนใจร่วมกัน

‘BRICS’ รับสมาชิกใหม่ 6 ชาติ มี ‘ซาอุฯ-อิหร่าน’ ร่วมแจมด้วย หวังเปลี่ยนระเบียบโลก-ขึ้นแท่นมหาอำนาจใหม่ สู้โลกตะวันตก

(25 ส.ค. 66) บริกส์ (BRICS) กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เห็นพ้องกันในวันพฤหัสบดี (24 ส.ค.) อ้าแขนต้อนรับ ซาอุดีอาระเบีย, อิหร่าน, เอธิโอเปีย, อียิปต์, อาร์เจนตินา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้าเป็นรัฐสมาชิก ความเคลื่อนไหวที่มีเป้าหมายเร่งรัด ความพยายามผลักดันการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก ที่พวกเขามองว่าเก่าเก็บล้าสมัยไปแล้ว

ในการตัดสินใจขยายขอบเขตของกลุ่ม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี บรรดาพวกผู้นำบริกส์ยังได้เปิดประตูสำหรับการรับสมาชิกใหม่เพิ่มเติมในอนาคต ในขณะที่ยังมีอีกหลายสิบประเทศที่ส่งเสียงแสดงความสนใจเข้าร่วมกลุ่ม ที่พวกเขาหวังว่าจะสามารถทำให้เกิดการแข่งขันกันในระดับโลกอย่างเป็นธรรมกับผู้เล่นทุกราย

การขยายขอบเขตเศรษฐกิจเพิ่มเติมเข้าสู่ BRICS ซึ่งปัจจุบันชาติสมาชิกประกอบด้วย จีน ชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก บราซิล รัสเซีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ ยังเป็นการยกระดับความทะเยอทะยานอย่างเปิดเผย ของทางกลุ่มในการก้าวเป็นแชมป์เปี้ยนแห่งโลกใต้

“นี่คือการขยายจำนวนสมาชิกครั้งประวัติศาสตร์” สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนกล่าว “มันแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบรรดาประเทศกลุ่มบริกส์ สำหรับความเป็นหนึ่งเดียวกันและความร่วมไม้ร่วมมือ กับบรรดาชาติกำลังพัฒนาในวงกว้าง”

6 ชาติว่าที่สมาชิกใหม่จะกลายมาเป็นรัฐสมาชิกกลุ่มบริกส์อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2024 จากการเปิดเผยของ ‘ซีริล รามาโฟซา’ ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ครั้งที่เขาเปิดเผยชื่อประเทศเหล่านี้ ระหว่างการประซัมมิตผู้นำกลุ่มบริกส์เป็นเวลา 3 วัน ที่เขาเป็นเจ้าภาพในเมืองโยฮันเนสเบิร์ก

“บริกส์ได้เริ่มต้นปฐมบทใหม่ในความพยายามสร้างโลกที่ยุติธรรม โลกที่อยู่ร่วมกันและเต็มไปด้วยความรุ่งเรือง” รามาโฟซากล่าว “เรามีความเห็นเป็นเอกฉันท์ในขั้นแรกของกระบวนการขยายรับสมาชิก และขั้นอื่นๆ จะตามมาหลังจากนี้”

การเชิญประเทศต่างๆ เข้ากลุ่ม สะท้อนถึงความปรารถนาของรัฐสมาชิกกลุ่มบริกส์แต่ละชาติ ที่ต้องการดึงพันธมิตรของตนเองเข้าร่วมกลุ่ม

‘ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา’ ประธานาธิบดีบราซิล ล็อบบี้ให้นับรวมอาร์เจนตินา ประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนอียิปต์นั้นมีความใกล้ชิดทางการค้ากับรัสเซียและอินเดีย

ขณะเดียวกัน การเข้าร่วมของมหาอำนาจทางน้ำมันอย่างซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เน้นย้ำว่าพวกเขากำลังปลีกตัวออกจากวงโคจรของสหรัฐฯ และมีความทะเยอทะยานก้าวมาเป็นยักษ์ใหญ่ของโลก ด้วยสิทธิของตนเอง

รัสเซียและอิหร่าน มีเหตุผลร่วมกันในการดิ้นรนต่อสู้กับมาตรการคว่ำบาตร และการโดดเดี่ยวทางการทูตที่นำโดยสหรัฐฯ ในขณะที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่าง 2 ชาติมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตามหลังมอสโกเปิดฉากรุกรานยูเครน

“บริกส์ไม่ได้แข่งขันกับใคร” จากคำกล่าวในวันพฤหัสบดี (24 ส.ค.) ของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ซึ่งเข้าร่วมประชุมแบบทางไกล สืบเนื่องจากหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศ ตามข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงคราม “แต่ชัดเจนว่า กระบวนการนี้ของการปรากฏขึ้นมาของระเบียบโลกใหม่ ยังคงถูกต่อต้านอย่างดุเดือด”

จีนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเอธิโอเปีย และการเข้าร่วมของประเทศแห่งนี้ยังเป็นการดำเนินการตามความปรารถนาของแอฟริกาใต้ ที่ประสงค์เห็นแอฟริกามีสิทธิ์มีเสียงมากยิ่งขึ้นในกิจการต่างๆ ของโลก

ด้วย ‘อันโตนิโอ กูเตอร์เรส’ เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ เข้าร่วมในการแถลงข่าวขยายจำนวนสมาชิกกลุ่มบริกส์ด้วยในวันพฤหัสบดี (24 ส.ค.) มันสะท้อนอิทธิพลที่มากขึ้นเรื่อยๆ ของกลุ่มนี้ ในขณะที่กูเตอร์เรส ส่งเสียงเห็นด้วยกับเสียงเรียกร้องมาช้านานของกลุ่มบริกส์ ที่อยากให้มีการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก

เหล่าสมาชิกกลุ่มบริกส์ มีเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างมากในแง่ของขนาด และบ่อยครั้งรัฐบาลของพวกเขามีเป้าหมายในนโยบายต่างประเทศแตกต่างกัน เหล่านี้เป็นปัจจัยแทรกซ้อนต่อโมเดลการตัดสินใจอย่างเป็นเอกฉันท์ของทางกลุ่ม

บริกส์ มีประชากรรวมกันคิดเป็น 40% ของประชากรโลก และมีเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของจีดีพีโลก อย่างไรก็ตาม ความแตกแยกภายในเป็นอุปสรรคขัดขวางความทะเยอทะยานของบริกส์มาช้านาน ที่ต้องการกลายมาเป็นผู้เล่นหลักในเวทีโลก

ยกตัวอย่างเช่น กรณีสมาชิกของกลุ่มเน้นย้ำความปรารถนาปลีกตัวเองออกจากดอลลาร์สหรัฐ แต่มันไม่เคยเป็นรูปธรรม ในขณะที่ ‘ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่’ (New Development Bank) ความสำเร็จที่เป็นรูปเป็นร่างที่สุดของพวกเขา เวลานี้กำลังประสบปัญหาในยามที่รัสเซีย ผู้ร่วมก่อตั้งกำลังเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตร

ประธานาธิบดีบราซิล ปฏิเสธความคิดที่ว่าทางกลุ่มกำลังหาทางเป็นคู่ขัดแย้งกับสหรัฐฯ และกลุ่ม 7 ชาติเศรษฐกิจชั้นนำของโลก (จี7) แต่ระหว่างออกเดินทางจากแอฟริกาใต้ในวันพฤหัสบดี (24 ส.ค.) เขาไม่เห็นจะมีประเด็นโต้เถียงใดๆ ในการดึงอิหร่าน คู่ปรับเก่าแก่ของสหรัฐฯ เข้าเป็นรัฐสมาชิก “เราไม่อาจปฏิเสธความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ของอิหร่านและประเทศอื่นๆ ที่จะเข้าร่วมกลุ่มบริกส์ สิ่งสำคัญไม่ใช่เรื่องบุคคลที่บริหาร แต่มันอยู่ที่ความสำคัญของประเทศนั้นๆ”

BRICS มหาอำนาจน้ำมันใหม่ กดดัน 'ดอลลาร์' สูญค่า!!

‘BRICS’ ได้กลายเป็นมหาอํานาจด้านน้ำมันอย่างเป็นทางการของโลกแล้ว ทำให้ตอนนี้ ‘ดอลลาร์สหรัฐ’ ต้องสะดุ้งสะเทือน เพราะว่าตําแหน่งของความเป็น reserve currency (สกุลเงินสำรอง) กําลังสั่นคลอน

ปัจจุบันประเทศที่ผลิตน้ำมันได้มากที่สุดในโลกก็คือ สหรัฐอเมริกา ผลิตได้ 20 เปอร์เซ็นต์ของโลก ส่วนในกลุ่มประเทศ G7 ก็มีแคนาดาผลิตได้ 6 เปอร์เซ็นต์ของโลก ทำให้ 2 ประเทศนี้รวมกัน 26 เปอร์เซ็นต์

ทางด้าน BRICS สมาชิกดั้งเดิม ได้แก่ รัสเซีย จีน บราซิล โดย 3 ประเทศนี้ผลิตรวมกันได้ 27 เปอร์เซ็นต์ และตอนนี้ได้รับสมาชิกเข้ามาใหม่ นําโดยซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน แค่เฉพาะซาอุดีอาระเบีย ก็คือผลิตได้ 12 เปอร์เซ็นต์ อาหรับเอมิเรตส์ 4% อิหร่าน 4% รวมกันผลิตได้ 20 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้นถ้า BRICS ดั้งเดิมรวมกับสมาชิกใหม่ จะผลิตน้ำมันได้ถึง 47 เปอร์เซ็นต์ของโลก เกือบครึ่งหนึ่งของโลก ทำให้ BRICS มีอํานาจในการตั้งราคา กําหนดปริมาณการผลิตน้ำมันทั้งหมด

ซึ่งสิ่งนี้สะเทือน reserve currency ของดอลลาร์สหรัฐ ยังไง?

เดิมทีสหรัฐฯ เคยมีข้อตกลงกับซาอุดีอาระเบีย เมื่อปี 1971 ว่าจะต้องขายน้ำมันให้สหรัฐอเมริกา และทั่วโลก โดยใช้เงิน ‘ดอลลาร์’ เท่านั้น โดยมีเงื่อนไขแลกเปลี่ยนกันว่า สหรัฐอเมริกาจะให้ความช่วยเหลือด้านการทหาร อาวุธ แปลว่าถ้าใครอยากจะได้น้ำมันก็จะต้องมีเงินดอลลาร์ไว้ในมือ

ซึ่งความต้องการที่แท้จริงของคน คือต้องการน้ำมัน ไม่ใช่ดอลลาร์ จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่คนจําเป็นจะต้องมีดอลลาร์เป็นสกุลเงินสํารองระหว่างประเทศ เหมือนดูจากแนวโน้มในช่วงนี้แล้ว เงินดอลลาร์สหรัฐฯ กำลังหมดความสำคัญลงเรื่อย ๆ

เหตุผลที่สนับสนุนเรื่องนี้คือ ปัจจุบันซาอุดีอาระเบีย ไม่ได้อยากจะพึ่งพาดอลลาร์แล้ว โดยเลือกทิ้งบอนด์ของสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ และเริ่มทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2020 หรือ 3 ปีมาแล้ว และที่สําคัญประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย ซื้อน้ำมันจาก UAE ด้วยเงินรูปี โดยซื้อมากถึง 1 ล้านบาร์เรล ส่วนจีนซื้อน้ำมันจากรัสเซียเป็นเงินหยวนอยู่แล้ว

และรายงานจากบลูมเบิร์กได้ระบุว่ายังมีอีก 24 ประเทศทั่วโลกที่อยากจะเข้าเป็นสมาชิกของ BRICS ซึ่งหนึ่งในนั้นมี ‘ประเทศไทย’ ด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top