Saturday, 5 April 2025
BRICS

มีมารยาทหน่อย คุณบริงเคน!! ‘อลงกรณ์’ ฟาดใส่!! ประเทศไทย ไม่ใช่ลูกไล่ของ ‘อเมริกา’ ชี้!! ไร้มารยาท ไม่ให้เกียรติ ประเทศไทย

(26 ต.ค. 67) นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรัฐมนตรี และ สส.หลายสมัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อลงกรณ์ พลบุตร ระบุว่า...

มีมารยาทหน่อย คุณบริงเคน !!!

ประเทศไทย ไม่ใช่เมืองขึ้นหรือลูกไล่ของอเมริกา!!!

ติดตามข่าวที่นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนของนายกรัฐมนตรี ไปประชุมผู้นำกลุ่มบริกส์กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (BRICS Plus Summit) ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ ‘BRICS and the Global South: Building a Better World Together’ ณ เมืองคาซานของรัสเซียที่เป็นเจ้าภาพ ในวันที่ 24 ต.ค.2567

ในการประชุมบริกส์ (BRICS) ยังมีข่าวการให้ สัมภาษณ์ของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เปิดเผยว่า ระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียน ระหว่างวันที่ 9-11 ต.ค.2567 ที่ประเทศลาว ได้มีการหารือทวิภาคีระหว่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับนายแอนโทนี เจ.บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ โดยสหรัฐได้สอบถามการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ของไทย

สะดุดใจขัดใจตรงข่าวนายบริงเคน!!!

ในฐานะที่ผมเคยเป็นรัฐมนตรีที่กำกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเคยร่วมประชุมพหุภาคีในเวทีเอเปค(APEC)และอาเซียน(ASEAN)และการเจรจาทวิภาคีกับหลายประเทศหลายครั้งรวมทั้งการเจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐ(USTR)ที่กรุงวอชิงตันดีซี พอเข้าใจมารยาททางการทูตและธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศจึงรู้สึกขัดใจต่อท่าทีนายแอนโทนี เจ.บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐที่ตั้งคำถามกับนายกรัฐมนตรีของไทยเกี่ยวกับการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ของไทย

ผมคิดว่าเป็นคำถามที่ไม่ควรถามถือเป็นการผิดมารยาทไม่ให้เกียรติประเทศไทย

นายบริงเคน รู้อยู่แล้วถึงเหตุผลที่ประเทศไทยสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์เพราะกระทรวงการต่างประเทศของไทยเคยออกข่าวชี้แจงมาแล้วหลายครั้งตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาแต่ทำไมยังมาตั้งคำถามในระหว่างการหารือทวิภาคีอีกและเป็นคำถามแบบมีนัยยะที่ไม่สมควร

(หากผมเป็นคู่เจรจาคงได้สวนกลับทันทีแบบผู้ดีให้จำไปจนวันตาย ผู้แทนอียูเคยเจอมาแล้ว)

การตัดสินใจของประเทศไทยเรื่องบริกส์เป็นเอกสิทธิ์ของเรา ประเทศใดจะพอใจหรือไม่พอใจก็สุดแล้วแต่ แต่จะมาแสดงออกถึงความไม่พอใจด้วยการตั้งคำถามแฝงความกดดันแบบนี้ถือว่าผิดธรรมเนียมปฏิบัติทางการทูต ไม่ให้เกียรติกัน

ประเทศไทยกับสหรัฐเป็นมิตรกันมากว่า100ปีต้องเคารพและให้เกียรติกันและกันอย่างเสมอภาคเท่าเทียม

เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเอกราชและเกียรติภูมิ ไม่ใช่เมืองขึ้นหรือลูกไล่ของอเมริกา

หวังว่านายบริงเคนหรือรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐคนต่อไปอย่าผิดมารยาทแบบนี้กับประเทศไทยอีกโดยเด็ดขาด

ผู้นำอิเหนาเปิดแผนดันอินโดนีเซียเป็นชาติสมาชิก เผยอยากเข้าร่วม BRICS ตั้งแต่ 10 ปีก่อน

(19 พ.ย.67) สำนักข่าว sputnik รายงานว่า ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ปราโบโว ซูเบียนโต กล่าวต่อสื่อรัสเซียว่า เขามีแผนอยากให้ประเทศเข้าร่วมสมาชิกกลุ่ม BRICS ตั้งแต่ปี 2014 หรือเมื่อ 10 ปีก่อน ในสมัยที่เขาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียสมัยแรก

"จริง ๆ แล้ว ผมเคยประกาศในช่วงตอนหาเสียงปี 2014 ว่าหากผมได้เป็นประธานาธิบดี ผมจะพาอินโดนีเซียเข้าร่วมกลุ่ม BRICS” ซูเบียนโตกล่าวต่อสื่อรัสเซียในระหว่างการประชุม G20 ที่ประเทศบราซิล

ซูเบียนโตย้ำถึงความตั้งใจของอินโดนีเซียที่จะเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS และเสริมว่าเรื่องนี้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ซูเบียนโตได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขาเผยว่าเขาได้แต่งตั้งคณะทำงานชุดหนึ่ง พร้อมส่งรัฐมนตรีต่างประเทศบินไปยังเมืองคาซาน เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอด BRICS ในฐานะรัฐผู้สังเกตการณ์ ... ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ว่าเราต้องการเข้าร่วมกับ บราซิล อินเดีย และประเทศ BRICS อื่น ๆ เราคิดว่านี่จะเป็นองค์ประกอบใหม่ที่สำคัญในเศรษฐกิจโลก” ประธานาธิบดีกล่าว 

ผลการเข้าร่วมประชุมที่คาซาน ส่งผลให้อินโดนีเซียได้กลายเป็นรัฐพันธมิตรกลุ่ม BRICSในระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งที่ 16 ของกลุ่ม BRICS ที่เมืองคาซานของรัสเซีย

ในฐานะชาติหุ้นส่วนจะช่วยให้อินโดนีเซีย สามารถเข้าร่วมการประชุมในวาระต่าง ๆ ของ  BRICS และการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มชาติ BRICS ได้มากขึ้น อาทิ การค้าและความมั่นคงแห่งชาติ และฟอรัมรัฐสภา ซึ่งในฐานะชาติหุ้นส่วนถือว่าเป็นก้าวแรกสู่การเข้าเป็นชาติสมาชิก BRICS ได้อย่างเต็มตัว

BRICS เป็นสมาคมระหว่างรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 รัสเซียรับตำแหน่งประธานหมุนเวียนของกลุ่มเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2024 ปีเริ่มต้นด้วยการเข้าร่วมของสมาชิกใหม่เข้าเป็นสมาชิกของสมาคม นอกจากรัสเซีย บราซิล อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้แล้ว ปัจจุบัน BRICS ยังมีชาติหุ้นส่วนคือ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ตามเว็บไซต์ของตำแหน่งประธาน BRICS ของรัสเซียในปี 2024 มีรายงานว่าซาอุดีอาระเบียไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการในการเข้าร่วม แต่ได้เข้าร่วมการประชุม BRICS ที่เมืองคาซานที่ผ่านมา

รัสเซียยินดี 'อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย' ร่วมเป็นชาติพันธมิตรกลุ่ม BRICS

(19 พ.ย.67) สำนักข่าว sputnik รายงานว่า นายอเล็กซานเดอร์ ปันกิน รองรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า แสดงความยินดีต่อ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ที่กลายเป็นชาติพันธมิตรรายใหม่ของกลุ่ม BRICS แล้ว

นายปันกิน กล่าวว่า การประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ที่เมืองคาซานแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาของกลุ่มประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่จะสร้างระเบียบโลกที่ยุติธรรม ปฏิรูปสถาบันระดับโลก และสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียม อีกทั้งมีการบรรลุข้อตกลงชุดหนึ่งที่มั่นคงเกี่ยวกับการค้า การลงทุน ปัญญาประดิษฐ์ พลังงานและสภาพอากาศ และโลจิสติกส์

พวกเรามีเพื่อนร่วมงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) เพิ่มขึ้น ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ได้กลายเป็นหุ้นส่วนอย่างเป็นทางการของกลุ่มเราแล้ว

ทั้งนี้ กลุ่ม BRICS เป็นสมาคมระหว่างรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 รัสเซียรับตำแหน่งประธานกลุ่มแบบหมุนเวียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2024 ที่ผ่านมา โดยปีนี้มีสมาชิกใหม่ที่เข้าร่วมเป็นชาติพันธมิตรกับกลุ่มมากขึ้นหลายประเทศ

‘ทรัมป์’ ขู่ขึ้นภาษี!! ประเทศ BRICS หากรวมหัวไม่ใช้ ‘เงินดอลลาร์’

(1 ธ.ค. 67) ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐโดนัลด์ ทรัมป์ โพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัวเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ขู่จะขึ้นภาษีศุลกากร 100% กับกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) 9 ประเทศ หากดำเนินการที่ถือเป็นการบ่อนทำลายค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

คำขู่ครั้งล่าสุดนี้มุ่งเป้าโดยตรงไปยัง 9 ประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์ที่นำโดย จีน รัสเซีย อินเดีย บราซิล แอฟริกาใต้ อิหร่าน อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และเอธิโอเปีย ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเทศกำลังสมัครเข้าเป็นสมาชิกเพิ่ม เช่น ประเทศไทย มาเลเซีย และตุรกี 

ทรัมป์กล่าวว่า ‘ไม่มีทาง’ ที่กลุ่ม BRICS จะเข้ามาแทนที่ดอลลาร์สหรัฐในการค้าโลก และประเทศใดก็ตามที่พยายามทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้ ‘ควรโบกมือลาจากสหรัฐอเมริกา’

ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศบริกส์ที่ประเทศรัสเซียเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้กล่าวหาสหรัฐว่า ใช้ดอลลาร์เป็นอาวุธ’ และเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น ‘ความผิดพลาดครั้งใหญ่’

แม้ว่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะเป็นสกุลเงินที่ใช้กันมากที่สุดในการทำธุรกิจทั่วโลก และผ่านพ้นความท้าทายต่างๆ ในอดีตมาได้ แต่ประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ต่างระบุว่าพวกเขาเบื่อหน่ายกับการที่สหรัฐมีอิทธิพลเหนือระบบการเงินโลก

จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เงินดอลลาร์สหรัฐมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 58% ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของโลก และสินค้าโภคภัณฑ์หลักๆ เช่น ‘น้ำมัน’ ยังคงซื้อขายกันโดยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของดอลลาร์สหรัฐกำลังถูกท้าทายเนื่องจากส่วนแบ่งจีดีพีของกลุ่ม BRICS ที่เพิ่มขึ้น และความตั้งใจของกลุ่มบริกส์ที่จะซื้อขายกันในสกุลเงินที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐ หรือเป็นกระบวนการที่เรียกว่าการลดการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ (De-dollarization) 

รัสเซียได้ผลักดันให้มีการจัดทำระบบการชำระเงินใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกมาแทนที่เครือข่ายการสื่อสารสำหรับประมวลผลการชำระเงินระหว่างประเทศ หรือ ‘สวิฟท์’ (SWIFT) ที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ ซึ่งจะช่วยให้รัสเซียสามารถหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกและค้าขายกับพันธมิตรได้

อย่างไรก็ดี จากงานวิจัยของสภาแอตแลนติกบ่งชี้ว่า บทบาทของดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินสำรองหลักของโลกจะไม่ถูกคุกคามในอนาคตอันใกล้นี้ โดยผลวิจัยระบุว่า ดอลลาร์นั้น ‘มีความมั่นคงในระยะใกล้และระยะกลาง’ และยังคงครอบงำสกุลเงินอื่นๆ ต่อไป

การขู่ขึ้นภาษีล่าสุดของทรัมป์เกิดขึ้นหลังจากที่เขาขู่ว่า จะขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าทุกชนิดที่นำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา 25% และขึ้นภาษีศุลกากรเพิ่มอีก 10% สำหรับสินค้าจากจีน เพื่อบังคับให้ทั้งสองประเทศดำเนินการมากขึ้นเพื่อหยุดยั้งการไหลเข้าของผู้อพยพผิดกฎหมายและยาเสพติดเข้าสู่สหรัฐ

จากนั้น ทรัมป์ได้โทรศัพท์คุยกับประธานาธิบดีเม็กซิโก ‘คลอเดีย เชนบาม’ ซึ่งกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่าเ ธอเชื่อมั่นว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงสงครามภาษีกับสหรัฐได้ ทางด้านนายกรัฐมนตรี ‘จัสติน ทรูโด’ ของแคนาดาเดินทางกลับในวันเสาร์หลังจากพบกับทรัมป์ โดยที่ไม่ได้รับคำยืนยันว่าประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่จะถอยห่างจากการขู่ขึ้นภาษีกับแคนาดา

'โบลิเวีย - คิวบา' ร่วมเป็นชาติพันธมิตร BRICS มีผล 1 มกราคม 2025 รัสเซียแย้มอีกหลายชาติจ่อร่วมวง

(13 ธ.ค.67) นายเซอร์เกย์ รียับคอฟ รองนายกรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เปิดเผยว่า บรรดาผู้นำกลุ่มชาติสมาชิก BRICS ได้อนุมัติรายชื่อประเทศที่จะเข้าร่วมเป็นชาติพันธมิตรกลุ่ม BRICS เพิ่มเติมแล้วโดย โบลิเวีย และคิวบา จะเป็นสองประเทศล่าสุดที่เข้าร่วมเป็นชาติพันธมิตร ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2025 เป็นต้นไป

"โบลิเวียและคิวบาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศที่ได้รับคำเชิญร่วมเป็นชาติพันธมิตร เรามั่นใจว่า ทุกอย่างจะเป็นไปได้ในแง่ของการเชื่อมต่อกับ BRICS ในฐานะประเทศพันธมิตร" รียับคอฟกล่าวกับหนังสือพิมพ์อิซเวสเทีย

รองรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการประสานงานกับประเทศที่ได้รับเชิญยังคงดำเนินอยู่ แต่จะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งตรงกับช่วงที่วาระการดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มของรัสเซียสิ้นสุดลง

"แน่นอนว่าไม่มีการถอนตัวออกไป และไม่สามารถทำได้ สำหรับประเทศที่ได้รับเชิญทั้งหมด นี่คือโอกาสที่ใหญ่และสำคัญ ดังนั้นจึงเหลือเวลาเพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น นอกจากนี้ยังมีอีกหลายชาติที่จะได้รับการเปิดเผยรายชื่อเพิ่มเติม" 

ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม BRICS ที่เมืองคาซานระหว่าง 22-24 ตุลาคมที่ผ่านมา บรรดาชาติสมาชิกกลุ่ม BRICS ได้เปิดเผยว่ามีรายชื่อประเทศ 13 ชาติที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรของกลุ่ม ซึ่งผู้นำของเบลารุสและโบลิเวียได้เปิดเผยเช่นกันว่าประเทศของพวกเขาเป็นหนึ่งใน 13 รายชื่อที่จะได้รับการพิจารณา

ทั้งนี้ กลุ่ม BRICS คือสมาคมระหว่างรัฐบาลที่ก่อตั้งโดยบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีนในปี 2006 และแอฟริกาใต้เข้าร่วมในปี 2010 ต่อมากลุ่มได้ขยายตัวโดยรับสมาชิกเพิ่มเติมคือ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย โดยซาอุดีอาระเบียยังไม่ได้เป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้เข้าร่วมการประชุมของ BRICS มาแล้วในหลายวาระ

เปิดกลยุทธ์เครมลิน เหตุใดตะวันตกคว่ำบาตร แต่เศรษฐกิจรัสเซียยังโต

(20 ธ.ค.67) ในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวความยาว 4 ชั่วโมง ปูตินได้กล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจของรัสเซีย โดยคาดว่าในปี 2025 อัตราการเติบโตทาง GDP อยู่ที่ราว  2-2.5% และกล่าวว่าเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของรัสเซียมาจากการมี 'อธิปไตย' ของตนเอง

ปูตินกล่าวว่า "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของรัสเซียเป็นผลมาจากการเสริมสร้างอธิปไตย ซึ่งรวมถึงการนำไปสู่เศรษฐกิจด้วย อธิปไตยมีหลายรูปแบบ รวมถึงอธิปไตยด้านการป้องกัน, อธิปไตยด้านเทคโนโลยี, ด้านวิทยาศาสตร์, การศึกษา และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะสำหรับประเทศของเรา เพราะเมื่อเราสูญเสียอธิปไตย เราจะสูญเสียอำนาจของรัฐ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด"

เส้นทางของรัสเซียสู่การมีอธิปไตยทางเศรษฐกิจของรัสเซียเริ่มต้นมานานหลายทศวรรษ แต่มาประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนจากการที่ตะวันตกเริ่มคว่ำบาตรมากขึ้นตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งนักวิเคราะห์การเงินที่มีประสบการณ์ พอล กอนชารอฟ กล่าวกับสปุตนิกว่า การคว่ำบาตร 'ที่รุนแรง' เริ่มต้นขึ้นในปี 2014

"ในปี 2014 นับเป็นยุคของ 'การคว่ำบาตรที่รุนแรง' เริ่มต้นขึ้นกับรัสเซีย และในแต่ละปีที่ตามมา ปริมาณของการคว่ำบาตรก็เพิ่มขึ้น จนทำให้ปัจจุบันรัสเซียกลายเป็นไม่กี่ชาติบนโลกที่ถูกคว่ำบาตรมากที่สุด แต่ก็ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่สุดเช่นกัน" กอนชารอฟกล่าวในบทสัมภาษณ์กับสปุตนิก

รัสเซียสามารถเอาชนะแรงกดดันจากการคว่ำบาตรได้ด้วยการก้าวไปทีละขั้น เริ่มต้นจากการลงทุนในความพึ่งพาตนเองทางการเกษตรเพื่อ ลดการพึ่งพาการนำเข้า รวมถึง "การกระตุ้นการผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้าที่สำคัญสำหรับเครื่องจักรและเทคโนโลยี" 

มอสโกค่อย ๆ เริ่มตระหนักว่าการมีพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สามารถทำได้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรจากตะวันตก กอนชารอฟกล่าว พร้อมชี้ว่า รัสเซียให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดี กับประเทศในกลุ่ม BRICS การขยายตัวของกลุ่ม BRICS และการใช้สกุลเงินอธิปไตยที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐและยูโร ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการของรัฐบาลหลายชาติที่ต้องการออกจาก 'อิทธิพล' ของกลุ่ม G7 และระบบการชำระเงินของพวกเขา

"กลยุทธ์ของรัสเซีย โดยเฉพาะหลังจากที่ถูกตัดออกจากระบบธนาคาร SWIFT ในปี 2022 ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้อง"  กอนชารอฟ กล่าว

"รายได้จากภาษีการนำเข้าของรัสเซียในตะวันตกลดลง แต่สวนทางเพิ่มขึ้นในการนำเข้าจากประเทศแถบภูมิภาคตะวันออกหลายหมื่นล้านดอลลาร์ การส่งออกของรัสเซียเพิ่มขึ้น 31 พันล้านดอลลาร์หลังจากที่ตะวันตกดำเนินการคว่ำบาตรการค้าหลังปี 2022 ซึ่งเป็นยังเป็นผลดีต่อประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และประเทศในตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศ Mercosur (ที่ประกอบด้วย อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย อุรุกวัย และเวเนซูเอลา) ต่างได้รับประโยชน์จากการแยกตัวของรัสเซียจากตะวันตก" 

ในที่สุด รัสเซียก็สามารถหาพันธมิตรใหม่ๆ นอกกลุ่มตะวันตก โดยผูกเศรษฐกิจของตนเข้ากับประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

"สินค้าจำเป็นทุกประเภทได้ถูกแทนที่โดยการผลิตในรัสเซีย หรือจากประเทศที่ตอนนี้ถูกมองว่าเป็น 'ประเทศมิตร' เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐไม่ได้ถูกใช้ในการชำระภาระทางการค้าระหว่างประเทศอีกต่อไป ประกอบกับเงินดอลลาร์ที่มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างผันผวน ก็กำลังทำให้การชำระเงินในสกุลอื่นเป็นระบบที่นิยมมากขึ้น

กอนชารอฟกล่าวสรุปว่า "การแทนที่สินค้านำเข้า การค้าด้วยสกุลเงินท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานไปยังทิศทางกลุ่มประเทศแถบโลกใต้และโลกตะวันออก การเบนเข็มน้ำมันและก๊าซไปยังโลกใต้และโลกตะวันออก และการมีส่วนร่วมในการขยายและพัฒนากลุ่มประเทศ BRICS ในฐานะแนวหน้าทางเศรษฐกิจใหม่ ล้วนเป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จ และสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของรัสเซียและชาติพันธมิตรมากขึ้นเรื่อย ๆ"

โฆษกรัฐบาลชี้ช่วยหนุนการค้า - ลงทุน คาดปี 68 โอกาสทองดันสินค้าไทยโกอินเตอร์

(24 ธ.ค. 67) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 ธันวาคม 2567 ได้รับทราบว่าประเทศไทยได้รับการตอบรับให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ รวมถึงสมาชิกใหม่อีก 5 ประเทศ ได้แก่ อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เอธิโอเปีย ซาอุดีอาระเบีย และอิหร่าน  

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอให้ ครม. รับทราบถึงการที่ไทยได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมเป็น "ประเทศหุ้นส่วน" (BRICS Partner Country) ตามมติของการประชุมผู้นำ BRICS ครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย  

การเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนในกลุ่ม BRICS จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการเงินระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน รวมถึงเพิ่มบทบาทของไทยในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศ  

กระทรวงการต่างประเทศระบุว่าการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ยังช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบพหุภาคี (multilateral system) และเปิดโอกาสให้ไทยสามารถเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบในอนาคต  

หลังการตอบรับเข้าร่วม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยต้องเตรียมความพร้อมในการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของ BRICS เช่น การเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีในสาขาต่างๆ และการสนับสนุนเอกสารผลลัพธ์จากการประชุมผู้นำ รวมถึงการตั้งงบประมาณเพื่อรองรับการมีส่วนร่วมในการประชุมเหล่านี้  

คาดว่าในปี 2568 สินค้าไทยภายใต้แบรนด์ "Made in Thailand" จะมีโอกาสขยายตลาดในระดับโลกมากขึ้น ด้วยความร่วมมือที่แน่นแฟ้นจากกลุ่ม BRICS ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและสร้างความคึกคักให้กับการค้าระหว่างประเทศ

รัสเซียเผยอีก 20 ชาติขอเข้ากลุ่ม กัมพูชา ลาว เมียนมา ขอร่วมวงด้วย

(25 ธ.ค. 67) ยูริ อูชาคอฟ ผู้ช่วยประธานาธิบดีรัสเซีย เปิดเผยว่า นอกเหนือจากประเทศพันธมิตรที่ได้รับการคัดเลือกก่อนหน้านี้ ยังมีอีกกว่า 20 ประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมการหารืออย่างเป็นระบบกับกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่  

อูชาคอฟระบุว่า BRICS ยังคงเปิดกว้างสำหรับประเทศที่มีแนวคิดสอดคล้องกัน โดยรายชื่อประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มอีก 20 ชาติ ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน บังกลาเทศ บูร์กินาฟาโซ กัมพูชา ชาด โคลอมเบีย สาธารณรัฐคองโก อิเควทอเรียลกินี ฮอนดูรัส ลาว คูเวต โมร็อกโก เมียนมา นิการากัว ปากีสถาน ปาเลสไตน์ เซเนกัล เซาท์ซูดาน ศรีลังกา ซีเรีย เวเนซุเอลา และซิมบับเว นอกจากนี้ เอริเทรียยังแสดงความกระตือรือร้นที่จะร่วมงานกับ BRICS เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม อูชาคอฟเน้นย้ำว่า การขยายกลุ่มต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยกล่าวว่า “การขยายกลุ่มอย่างไร้การควบคุมอาจทำลายโครงสร้างที่มีอยู่ เราจึงต้องดำเนินการทีละขั้นตอนอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสอดคล้องกับแนวทางที่เราใช้มาตลอด”

ไทยในฐานะชาติพันธมิตรกลุ่ม BRICS ปีหน้า 68 'บราซิล' เป็นเจ้าภาพจัดประชุม

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยเมื่อ 26 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยได้รับหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการจากรัสเซียตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ซึ่งรัสเซียในฐานะเป็นประธานกลุ่ม BRICS ประจำปี 2567 ให้เข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS และในวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบว่า ไทยจะมีหนังสือตอบรับการเชิญดังกล่าว โดยในวันเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เพื่อตอบรับการเข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนกลุ่ม BRICS

กลุ่ม BRICS ได้กำหนดบทบาทของประเทศพันธมิตรไว้ในเอกสาร Modalities of BRICS Partner Country Category โดยในฐานะที่ไทยเป็นชาติหุ้นส่วน มีประเด็นหลักสำคัญที่ต้องมีส่วนร่วม เช่น ประเทศหุ้นส่วนจะต้องเข้าร่วมการหารือระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS กับประเทศหุ้นส่วนในระดับต่าง ๆ ได้แก่ (1) การประชุมระดับผู้นำ (2) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ และ (3) การประชุมรัฐมนตรีรายสาขาที่ได้รับเชิญอย่างแข็งขัน นอกจากนี้ ประเทศหุ้นส่วนยังสามารถให้การสนับสนุนเอกสารผลลัพธ์จากการประชุมผู้นำและรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม BRICS ได้ด้วย

การที่ไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนกลุ่ม BRICS ถือเป็นก้าวสำคัญในการที่ไทยจะสามารถเข้าเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของกลุ่ม BRICS ในอนาคต โดยไทยมีเป้าหมายในการยกระดับความร่วมมือกับกลุ่ม BRICS เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างบทบาทของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาและเสริมสร้างระบบพหุภาคีที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนา

กระทรวงการต่างประเทศมีแผนที่จะหารือเพิ่มเติมกับหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ของไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS ต่อไป โดยในวันที่ 1 มกราคม 2568 บราซิลจะรับตำแหน่งประธานกลุ่ม BRICS ต่อจากรัสเซีย โดยจะใช้หัวข้อหลักในการประชุมคือ “การเสริมสร้างความร่วมมือของประเทศโลกใต้เพื่อธรรมาภิบาลที่ครอบคลุมและยั่งยืนขึ้น” (Strengthening Cooperation in the Global South for More Inclusive and Sustainable Governance) ซึ่งไทยเตรียมจะเข้าร่วมการหารือดังกล่าว

Globalism: อุดมคติแห่งโลกไร้พรมแดน หรือกับดักที่หลอมรวมความแตกต่าง?

(1 ม.ค. 68) ในยุคที่คำว่า "โลกาภิวัตน์" หรือ Globalism ถูกยกย่องว่าเป็นภาพแทนของอุดมคติร่วมสมัย—โลกที่ไร้พรมแดน การร่วมมือเพื่อเป้าหมายใหญ่ และการเคารพความหลากหลาย—ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การยึดถือ แต่เบื้องลึกของแนวคิดนี้กลับซับซ้อนกว่าที่คิด มันเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของสังคม และเปิดคำถามสำคัญถึงความหมายที่แท้จริงของ "ความหลากหลาย" และ "สันติภาพ" ที่ Globalism พยายามนำเสนอ

Globalism: อุดมคติแห่งระเบียบโลกใหม่
แนวคิด Globalism ไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ แต่มีจุดเริ่มต้นที่เชื่อมโยงกับช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ เมื่อโลกกำลังเผชิญกับความขัดแย้งทางอุดมการณ์และอำนาจที่รุนแรง แนวคิดนี้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับความพยายามของบางฝ่ายที่ต้องการสร้าง "ระเบียบโลกใหม่" ที่ทุกประเทศสามารถอยู่ร่วมกันได้บนกฎเกณฑ์เดียวกัน

แนวคิดดังกล่าวเริ่มต้นจากความหวังดี—ความต้องการแก้ไขปัญหาของโลกที่ใหญ่เกินกว่าจะจัดการได้ในระดับประเทศ เช่น ความยากจน โรคระบาด หรือความขัดแย้งระหว่างชาติ แนวคิดเรื่อง "การร่วมมือระดับโลก" จึงถูกนำเสนออย่างจริงจัง เพื่อให้ทุกประเทศทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น บางทีอาจเป็นเพราะช่วงเวลานั้น โลกจำเป็นต้องหาทางออกจากความรุนแรงในรูปแบบเดิม

แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป แนวคิด Globalism ได้เปลี่ยนแปลงและขยายตัว กลายเป็นกรอบอุดมคติที่ไม่เพียงเน้นการร่วมมือ แต่ยังรวมถึงการกำหนดมาตรฐานที่เหมือนกันในทุกประเทศ บ่อยครั้ง มาตรฐานเหล่านี้สะท้อนความต้องการของมหาอำนาจบางแห่งมากกว่าความจำเป็นของประเทศที่ถูกบังคับให้ปรับตัวตาม

Global Citizen: พลเมืองโลกในโลกไร้พรมแดน
หนึ่งในเครื่องมือสำคัญของ Globalism คือแนวคิด "Global Citizen" หรือ "พลเมืองโลก" ที่ส่งเสริมให้ผู้คนมองข้ามพรมแดนและอัตลักษณ์ของชาติ โดยอ้างว่าเพื่อความร่วมมือและลดความขัดแย้ง แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือการสร้างเยาวชนที่พร้อมเปลี่ยนวิธีคิดและละทิ้งความเป็นชาติ

กลไกที่ใช้คือกิจกรรมทางการศึกษา เช่น โครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน ค่ายเยาวชนนานาชาติ หรือทุนการศึกษาระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยปลูกฝังให้เยาวชนเหล่านี้มองว่า "โลกคือบ้านของเรา" และลดความสำคัญของ "ชาติ" แนวคิดนี้สร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่มุ่งสู่ระเบียบโลกใหม่ มากกว่าการพิทักษ์อัตลักษณ์ของชาติ

เด็ก : เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลง
ในโครงสร้างที่เปรียบเหมือน สามเหลี่ยมแห่งการปกครอง ที่ชนชั้นล่างเป็นฐาน ชนชั้นกลางเป็นกลไกขับเคลื่อน และชนชั้นนำเป็นผู้กำหนดทิศทาง Globalism มองว่าเยาวชนคือชนชั้นนำในอนาคต โดยเฉพาะเด็กจากครอบครัวชนชั้นนำ เช่น ลูกหลานนายทุน เจ้าของธุรกิจ หรือผู้มีอิทธิพลทางการเมือง

ทำไมต้องเป็นพวกเขา? เพราะเยาวชนกลุ่มนี้มีโอกาสกำหนดทิศทางของประเทศในอนาคต การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของพวกเขาจึง ง่ายกว่าและส่งผลกระทบได้เร็วกว่า การเปลี่ยนแปลงความคิดของชนชั้นกลางหรือล่าง

กิจกรรมที่ใช้ในการปลูกฝัง เช่น การจัดค่ายแลกเปลี่ยน การส่งเสริมแนวคิดโลกนิยม และการลดทอนความเป็นชาติ ล้วนถูกออกแบบมาเพื่อให้เด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นพร้อมความคิดว่า "การเป็นพลเมืองโลก" สำคัญกว่าการภักดีต่อชาติ

อุดมคติที่ขัดแย้งในตัวเอง
แม้ Globalism จะอ้างว่าสันติภาพเกิดจากการร่วมมือระดับโลก แต่มันกลับสร้างปัญหาใหม่ ความพยายามในการสร้างระเบียบเดียวกันทั่วโลกไม่เคารพความหลากหลายของวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ ท้ายที่สุด Globalism กลับทำให้ประเทศที่มีอัตลักษณ์อ่อนแอสูญเสียความสามารถในการกำหนดอนาคตของตนเอง

BRICS : แนวคิด Multipolarity และสมดุลของโลก
ในขณะที่ Globalism มุ่งเน้นการรวมศูนย์อำนาจ กลุ่ม BRICS (บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, และแอฟริกาใต้) เสนอแนวคิด "Multipolarity" หรือ "โลกหลายขั้วอำนาจ" ซึ่งสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ รักษาอิสระในการกำหนดอนาคตของตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบที่มหาอำนาจควบคุม

Multipolarity ส่งเสริมความสมดุล โดยเน้นการกระจายอำนาจและเคารพความหลากหลาย เช่น การลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐในระบบการค้าโลก และสร้างพันธมิตรในด้านเศรษฐกิจและพลังงาน แนวคิดนี้ไม่ได้มุ่งสร้างระเบียบเดียว แต่สนับสนุนให้แต่ละประเทศพัฒนาในแบบของตัวเอง

บทส่งท้าย: รักษาความหลากหลายเพื่อความยั่งยืน
Globalism อาจดูเหมือนคำตอบสำหรับความท้าทายของโลกยุคใหม่ แต่ในความจริง มันสร้างโลกที่เปราะบางและขัดแย้ง แนวคิด Multipolarity ของ BRICS แสดงให้เห็นว่าโลกไม่จำเป็นต้องมีระเบียบเดียวกันเพื่อความสงบสุข แต่ควรสร้างสมดุลบนพื้นฐานของความหลากหลาย

คำถามสำคัญสำหรับอนาคตคือ เราจะรักษาความเป็นอิสระและความหลากหลายของเราได้อย่างไร ในโลกที่เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด? เพราะท้ายที่สุด สันติภาพไม่ได้มาจากระเบียบที่เหมือนกัน แต่มาจากการเคารพในความแตกต่างอย่างแท้จริง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top