Tuesday, 20 May 2025
BRICS

BRICS ประกาศรับ 'อินโดนีเซีย' เป็นชาติสมาชิกเต็มรูปแบบรายล่าสุด

(7 ม.ค.68) รัฐบาลบราซิล ในฐานะประธานกลุ่ม BRICS ของปีนี้ ได้ประกาศให้ประเทศอินโดนีเซียเป็นส่วนหนึ่งของ BRICS ในฐานะรัฐสมาชิกเต็มรูปแบบ ตามคำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศบราซิลเมื่อวันที่ 6 มกราคม

"ในฐานะที่บราซิลดำรงตำแหน่งประธานของกลุ่ม BRICS ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2025 รัฐบาลบราซิลได้ประกาศในวันนี้ว่า สาธารณรัฐอินโดนีเซียได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของ BRICS" กระทรวงระบุ

การตัดสินใจรับอินโดนีเซียเข้าร่วมกลุ่มได้รับการเห็นชอบจากสมาชิก BRICS ทุกประเทศแล้ว กระทรวงการต่างประเทศบราซิลย้ำ

ทั้งนี้ สำหรับกลุ่ม BRICS เป็นกลุ่มความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 โดยประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ส่วนแอฟริกาใต้เข้าร่วมในปี 2010 ในปี 2024 BRICS มีการขยายกลุ่มครั้งที่สอง โดยรับสมาชิกใหม่ ได้แก่ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย 

อย่างไรก็ตาม ซาอุดีอาระเบียยังไม่ได้ดำเนินการขั้นสุดท้ายในการเป็นสมาชิก แต่ได้เข้าร่วมการประชุมของกลุ่ม BRICS แล้ว

ก่อนหน้านี้ช่วงปลายปี 2024 รัสเซียในฐานะประธานกลุ่ม BRICS เมื่อปีที่แล้ว ได้ให้การรับรอง ไทย มาเลเซีย และชาติอื่น ๆ อีก 9 ประเทศร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนพันธมิตรอย่างเป็นทางการ

ความน่าสนใจของกลุ่มประเทศBRICS คือ การมีสมาชิกที่เป็นชาติมหาอำนาจอย่าง จีนและรัสเซีย รวมทั้งอีกหลายประเทศที่ทรงอิทธิพลในแต่ละทวีป เช่น แอฟริกาใต้และบราซิล

ขณะเดียวกัน เมื่อกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งนี้มีจำนวนสมาชิกมากขึ้น จะทำให้ครอบคลุมประชากรราว 3.5 พันล้านคน หรือราว 45% ของประชากรโลก

หากพิจารณาในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่ม มีมูลค่ากว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 28% ของมูลค่ารวมของเศรษฐกิจโลก ที่สำคัญ คือ ประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์ยังเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบป้อนตลาดโลกราว 44% อีกด้วย

การเมืองโลกในมือ Elon Musk : ชายผู้สร้างระเบียบใหม่ด้วยวิสัยทัศน์แห่ง ‘Tony Stark’ สร้างนวัตกรรม!! การใช้เทคโนโลยี เพื่อเปลี่ยนแปลง เกมการเมืองระดับโลก

(26 ม.ค. 68) ในยุคที่ระเบียบโลกเดิมกำลังสั่นคลอน แนวคิดใหม่ที่ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี ความเป็นผู้นำ และการปรับโครงสร้างประชากรกำลังก้าวขึ้นมาแทนที่ ในศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงนี้คือ Elon Musk ผู้ถูกขนานนามว่า "Tony Stark ในชีวิตจริง" ด้วยความสามารถในการสร้างนวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนแปลงเกมการเมืองระดับโลก

การเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก: จากเสรีนิยมสู่ประชานิยม

ยุคที่เสรีนิยมครองโลกกำลังถูกท้าทายจากแนวคิดประชานิยมและชาตินิยมที่กลับมามีบทบาทอีกครั้ง Musk ไม่ใช่แค่ผู้นำทางเทคโนโลยี แต่ยังเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการเมืองของฝ่ายขวาในโลกตะวันตก เขาได้แสดงการสนับสนุนต่อ Donald Trump และความเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายขวาในยุโรป เช่น พรรค Alternative für Deutschland (AfD) ในเยอรมนี ผ่านการใช้แพลตฟอร์ม X (ชื่อเดิม Twitter) ซึ่ง Musk เป็นเจ้าของ

นอกจากนี้ Musk ยังใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวเพื่อสนับสนุน "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" ซึ่งช่วยให้เสียงของฝ่ายขวาโดดเด่นขึ้นในเวทีการเมืองโลก ขณะเดียวกัน แนวคิดนี้ยังเป็นตัวเร่งที่ทำให้แนวคิดเสรีนิยมดั้งเดิมเริ่มเสื่อมถอยลง

ประชากรศาสตร์: กุญแจสำคัญในระเบียบโลกใหม่

Musk เน้นว่าการแก้ปัญหาประชากรโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เขาสนับสนุนนโยบายที่กระตุ้นอัตราการเกิด เช่น การให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ครอบครัวที่มีลูก ขณะเดียวกัน Musk ยังเคยวิพากษ์แนวคิด "Woke Culture" ที่รวมถึงประเด็น LGBTQ+ ว่าอาจส่งผลทางอ้อมต่อการลดลงของอัตราการเกิด

แนวคิดของ Musk คือการผลักดันให้รัฐบาลส่งเสริมครอบครัวและสร้างโครงสร้างประชากรที่มั่นคง เพื่อสร้างรากฐานสำหรับอนาคตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน

การรุกสู่ TikTok: ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ และโอกาสของ Elon Musk

สถานการณ์ของ TikTok ในสหรัฐอเมริกาเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสื่อสังคมยอดนิยมที่มีเจ้าของคือ ByteDance บริษัทสัญชาติจีน ได้เผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกแบนในสหรัฐฯ เนื่องจากข้อกังวลด้านความมั่นคง

ล่าสุด ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ได้กำหนดเส้นตายให้ ByteDance ต้องขายกิจการในสหรัฐฯ ภายในเดือนมกราคม 2025 หากไม่ปฏิบัติตาม TikTok จะถูกแบนจากตลาดอเมริกา ท่ามกลางสถานการณ์นี้ มีการคาดการณ์ว่า Elon Musk อาจเป็นผู้ซื้อ TikTok เพื่อหลีกเลี่ยงการแบน ข้อมูลจากรายงานยังระบุว่า จีนเองก็กำลังพิจารณาขายกิจการ TikTok ให้กับ Musk หรือบุคคลสำคัญอื่นๆ เช่น Larry Ellison เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแพลตฟอร์มในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า Musk ได้มีการเสนอซื้อ TikTok แต่นี่คือสัญญาณชัดเจนถึงบทบาทของ Musk ในการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางเทคโนโลยีและการเมือง

เทคโนโลยี: เครื่องมือเปลี่ยนเกมการเมือง

นวัตกรรมที่ Musk สร้างขึ้น เช่น ดาวเทียม Starlink หรือโครงการยานอวกาศ SpaceX ไม่ได้มีแค่บทบาทด้านเทคโนโลยี แต่ยังส่งผลต่อการเมืองโลกโดยตรง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการใช้ Starlink ในสงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่งช่วยให้การสื่อสารยังคงดำเนินต่อได้ในพื้นที่สงคราม

เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงแต่แสดงถึงศักยภาพของ Musk ในฐานะนักนวัตกรรม แต่ยังสะท้อนถึงความสามารถของเขาในการสร้างผลกระทบต่อระเบียบโลก

การวางรากฐานระเบียบใหม่

Elon Musk ไม่ใช่แค่นักนวัตกรรม แต่เขาคือผู้วางแผนระเบียบโลกใหม่ที่เน้นการรวมพลังของประชากร เทคโนโลยี และการเมือง การสนับสนุนของเขาต่อแนวคิดประชานิยมและการท้าทายเสรีนิยมทำให้ระเบียบโลกเก่ากำลังถูกเขย่า ขณะเดียวกัน เขาได้สร้างภาพลักษณ์ของผู้นำที่ไม่เพียงแค่แก้ปัญหา แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกอย่างยั่งยืน

บทสรุป
Elon Musk ไม่ได้เป็นเพียง ‘Tony Stark’ ของโลกเทคโนโลยี แต่ยังเป็นสถาปนิกแห่งระเบียบโลกใหม่ การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดจากเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากแนวคิดที่เน้นการปรับโครงสร้างประชากร การเปลี่ยนสมดุลอำนาจทางการเมือง และการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง Musk กำลังเขียนอนาคตของโลกด้วยมือของเขาเอง

ทรัมป์ฟาดหนัก! ขู่ BRICS เจอภาษี 100% แน่ หากกล้าแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ

(31 ม.ค.68) อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำเตือนผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social ถึงกลุ่มประเทศ BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) โดยขู่ว่าจะขึ้นภาษี 100% หากกลุ่มประเทศเหล่านี้พยายามแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยสกุลเงินใหม่หรือสนับสนุนสกุลเงินอื่นในการค้าระหว่างประเทศ

ทรัมป์ระบุว่า “แนวคิดที่ว่ากลุ่ม BRICS จะหันหลังให้กับดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่เรายืนดูอยู่นั้นต้องจบลงแล้ว” พร้อมย้ำว่าสหรัฐฯ จะเรียกร้องให้ประเทศเหล่านี้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่สร้างสกุลเงินใหม่ของ BRICS หรือสนับสนุนสกุลเงินอื่นเพื่อแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ 

“หากพวกเขาไม่ปฏิบัติตาม พวกเขาจะต้องเผชิญกับภาษี 100% และควรเตรียมตัวโบกมืออำลาการค้ากับเศรษฐกิจอันยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ” ทรัมป์กล่าว พร้อมเสริมว่า “พวกเขาสามารถไปหาประเทศอื่นที่ยอมจำนนได้ แต่ไม่มีทางที่ BRICS จะเข้ามาแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ ในการค้าระหว่างประเทศหรือที่ใดก็ตาม”

คำเตือนของทรัมป์เกิดขึ้นในบริบทที่กลุ่ม BRICS ได้แสดงความสนใจในการลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯ และมีการหารือเกี่ยวกับการสร้างระบบการชำระเงินหรือสกุลเงินใหม่เพื่อลดอิทธิพลของสหรัฐฯ ในระบบการเงินโลก อย่างไรก็ตาม การขู่ว่าจะขึ้นภาษี 100% ของทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และกลุ่ม BRICS ในอนาคต

ขั้วอำนาจโลกเปลี่ยน ไทยต้องเลือกจุดยืนให้มั่น กับความสัมพันธ์ ‘จีน-อเมริกา’ ทิศทางการพัฒนา ‘พลังงาน-ปัญญาประดิษฐ์ AI’ เพื่อรองรับการเติบโต ในอนาคต

(2 ก.พ. 68) เมื่อขั้วอำนาจโลกเปลี่ยน ไทยต้องเลือกจุดยืนให้มั่น 

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ระบบขั้วอำนาจโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ไม่ต่างจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาที่ครั้งหนึ่งเคยทำให้แผ่นดินโลกเป็นผืนเดียวกัน ก่อนที่จะแตกออกเป็นทวีปต่างๆ ในปัจจุบัน เมื่อแผ่นดินแยกจากกัน มนุษย์ก็เริ่มสร้างเส้นแบ่งเขตแดน เกิดเป็นรัฐชาติ อารยธรรม และมหาอำนาจที่แย่งชิงอิทธิพลกันเรื่อยมา

โลกเปลี่ยน: จากแผ่นดินเดียวสู่ขั้วอำนาจที่พลิกผัน

เมื่อย้อนมองประวัติศาสตร์ โลกเคยถูกแบ่งออกเป็น "แผ่นดินโลกเก่า" (ยุโรป เอเชีย แอฟริกา) และ "โลกใหม่" (อเมริกา) พร้อมกับการขยายอาณานิคมในศตวรรษที่ 15-19 โลกถูกจัดลำดับใหม่ตามความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การทหาร และการปกครอง โลกเก่าถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางอารยธรรม แต่เมื่อโลกใหม่พัฒนา อเมริกากลายเป็นขั้วอำนาจหลักในศตวรรษที่ 20 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ทว่าทุกยุคย่อมมีจุดพลิกผัน วันนี้สิ่งที่เคยเป็นโลกใหม่อย่างอเมริกา กำลังเผชิญความท้าทายที่บั่นทอนอำนาจของตน ขณะที่โลกเก่าอย่างจีนและอินเดียกำลังกลับมาโดดเด่น เอเชียกำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจและการเมืองโลก อารยธรรมที่มีรากฐานยาวนานกว่า 4,000 ปี กำลังแสดงให้เห็นถึงพลังแฝงที่อาจพลิกขั้วอำนาจโลกในศตวรรษที่ 21

ไทยอยู่ตรงไหนในจังหวะเปลี่ยนขั้วอำนาจโลก??

เมื่อมหาอำนาจเดิมเริ่มถดถอย และมหาอำนาจใหม่กำลังผงาดขึ้น ประเทศไทยในฐานะที่ตั้งอยู่ใจกลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำเป็นต้องกำหนดจุดยืนให้ชัดเจน การเป็นรัฐขนาดกลางที่มีความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์กับทั้งจีน อเมริกา และประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ไทยอยู่ในจุดที่ต้องเลือกทางเดินอย่างรอบคอบ

1. ความเป็นกลางที่แท้จริงหรือเพียงแค่คำพูด??
ไทยมักใช้ยุทธศาสตร์ "ความเป็นกลาง" ในการรักษาผลประโยชน์ของตน แต่ในโลกที่แบ่งขั้วกันอย่างชัดเจน ไทยจะสามารถรักษาสถานะนี้ได้จริงหรือไม่? หรือสุดท้ายจะถูกบีบให้เลือกข้าง??

2. โอกาสในโลกที่เอเชียกำลังนำ
หากเอเชียก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการเมืองโลก ไทยจะใช้โอกาสนี้อย่างไร? จะกลายเป็นแค่ลูกค้าทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดีย หรือจะสามารถสร้างความแข็งแกร่งของตัวเองขึ้นมา??

3. ภัยคุกคามจากขั้วอำนาจที่ถดถอย
เมื่ออเมริกาและยุโรปเห็นว่าขั้วอำนาจกำลังเปลี่ยนไป พวกเขาอาจใช้มาตรการกดดันประเทศในเอเชียให้อยู่ในกรอบที่ตนต้องการ ไทยจะรับมือกับแรงกดดันนี้อย่างไร??

การเลือกที่สำคัญ: ไทยต้องเตรียมพร้อม

เมื่อโลกเปลี่ยน ไทยจะไม่สามารถยืนอยู่ตรงกลางได้ตลอดไป การตัดสินใจในวันนี้จะกำหนดอนาคตของประเทศไปอีกหลายทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเสริมสร้างความสัมพันธ์กับขั้วอำนาจใหม่ หรือการปรับยุทธศาสตร์เพื่อรักษาสมดุล ไทยต้องมี "ยุทธศาสตร์ชาติ" ที่ไม่ใช่แค่การตามกระแส แต่ต้องเป็นการกำหนดอนาคตของตัวเองให้มั่นคงและแข็งแกร่งในโลกที่กำลังเปลี่ยนไป

พลังงานและ AI: จุดเปลี่ยนของยุทธศาสตร์ไทยในศตวรรษที่ 21

หลังจากที่เราได้วิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนขั้วอำนาจโลก และความจำเป็นที่ไทยต้องกำหนดจุดยืนในยุทธศาสตร์โลก บทต่อไปที่เราต้องเจาะลึกคือ "พลังงาน" และ "AI" ซึ่งเป็นสองปัจจัยหลักที่จะกำหนดอนาคตเศรษฐกิจไทยและโครงสร้างแรงงานในยุคถัดไป

ในเวลานี้ ประชากรส่วนใหญ่ของโลกอยู่ภายใต้กลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งกำลังขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม พวกเขาเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคหลักของโลก โดยมีจีนเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี AI และพลังงานใหม่ ดังนั้น พลังงานและเทคโนโลยีจะเป็นตัวแปรสำคัญ ที่กำหนดว่าใครจะเป็นผู้นำในโลกอนาคต

AI: หัวใจของแรงงานยุคใหม่

AI และหุ่นยนต์จะไม่ใช่เพียงแค่เครื่องมือเสริมของมนุษย์อีกต่อไป แต่มันจะกลายเป็น "แรงงานหลัก" ในทุกอุตสาหกรรม ตั้งแต่แพทย์ ทหาร วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงศิลปิน แม้แต่นักดนตรีก็ต้องเรียนรู้การใช้ AI เป็นเครื่องมือเสริม เพื่อแข่งขันในโลกที่อัลกอริธึมสามารถสร้างผลงานคุณภาพสูงได้

แต่ปัญหาสำคัญที่มาพร้อมกับ AI คือ พลังงาน AI ต้องใช้พลังงานมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการประมวลผลข้อมูลของโมเดล AI หรือการใช้พลังงานในการขับเคลื่อนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ หากประเทศไทยจะพัฒนาอุตสาหกรรม AI ของตนเอง ไทยต้องตอบคำถามสำคัญว่า "เราจะหาพลังงานจากที่ไหน??"

พลังงาน : ปัจจัยที่ 5 ของมนุษยชาติ
ในอดีต ปัจจัยสี่ของมนุษย์ประกอบไปด้วย อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย และเครื่องนุ่งห่ม แต่ในศตวรรษที่ 21 พลังงานไฟฟ้าได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ AI และหุ่นยนต์กำลังกลายเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
เราจะพึ่งพา พลังงานฟอสซิล ต่อไปไม่ได้ เพราะทรัพยากรเหล่านี้กำลังลดลงและก่อให้เกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ไทยต้องคิดใหม่เกี่ยวกับโครงสร้างพลังงานของตนเอง ซึ่งตัวเลือกหลักที่กำลังได้รับความสนใจคือ พลังงานนิวเคลียร์

นิวเคลียร์ : พระอาทิตย์เทียมแห่งอนาคตไทย?

ปัจจุบันจีนได้พัฒนาเทคโนโลยี "พระอาทิตย์เทียม" (Artificial Sun) หรือเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันที่สามารถผลิตพลังงานได้มหาศาลโดยไม่ทิ้งกากกัมมันตรังสีแบบพลังงานนิวเคลียร์ฟิชชันแบบเก่า หากเทคโนโลยีนี้สำเร็จ มันจะเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานของโลก อย่างสิ้นเชิง และหากไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ เราจะสามารถสร้างพลังงานสะอาดในปริมาณที่มหาศาลเพื่อรองรับเศรษฐกิจ AI ได้อย่างมั่นคง แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่นิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องง่าย การลงทุนต้องอาศัยวิสัยทัศน์ทางการเมือง และต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการศึกษาควบคู่กันไป

พลังงานสะอาด : เสริมทัพนิวเคลียร์
นอกจากนิวเคลียร์ ไทยควรเสริมด้วย พลังงานขยะ เช่นเดียวกับที่ประเทศสวีเดนทำ การแปลงขยะเป็นพลังงาน ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยสร้างพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ซึ่งมีปริมาณขยะมหาศาลแต่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เต็มที่
หากไทยสามารถสร้างระบบ บูรณาการพลังงาน ที่มีทั้ง พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานขยะ และพลังงานลม ไทยจะสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของตนเอง

การปฏิรูปหน่วยงานรัฐ: กุญแจสู่ยุคพลังงานใหม่
ปัญหาของไทยไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่คือ "ระบบรัฐที่ล้าหลัง" ทุกวันนี้ หน่วยงานพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ยังทำงานแบบแยกส่วน ซึ่งทำให้การพัฒนาพลังงานล่าช้า ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ การออกแบบระบบรัฐใหม่ ที่สามารถ บูรณาการพลังงานและเทคโนโลยี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้นำรัฐบาลในอนาคตจะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจทั้ง AI และพลังงาน ไม่ใช่แค่การบริหารแบบเดิมๆ เพราะพลังงานคือรากฐานของเศรษฐกิจใหม่ และ AI คือแรงขับเคลื่อนของโลกอนาคต หากไม่มีพลังงานที่เพียงพอ AI ก็ไม่มีทางเติบโต และหากไม่มี AI แรงงานมนุษย์ไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ไทยต้องเลือก : จะเป็นศูนย์กลาง AI หรือเพียงผู้ตาม?
ในช่วงปี 2570 เป็นต้นไป ประเทศที่สามารถ จัดการเรื่องพลังงานได้ดี จะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก ไทยจะต้องตัดสินใจว่าจะเป็น ‘ศูนย์กลางอุตสาหกรรม AI ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ หรือจะปล่อยให้ประเทศอื่นแซงหน้าไป

1. เราจะพัฒนานิวเคลียร์หรือไม่??

2. จะใช้พลังงานสะอาดอย่างไรให้คุ้มค่า??

3. ระบบรัฐจะปรับตัวได้ทันหรือไม่??

4. แรงงานไทยพร้อมสำหรับ AI หรือไม่??

คำถามเหล่านี้ต้องการคำตอบที่ชัดเจนจากทุกภาคส่วน เพราะโลกกำลังเดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว และไทยจะไม่มีเวลารออีกต่อไป

‘หวังอี้’ พบ รมว.ต่างประเทศไทย ย้ำสัมพันธ์จีน-ไทยแน่นแฟ้น พร้อมหนุนเข้าร่วม BRICS ดันโครงการรถไฟ-วิจัย-ต้านอาชญากรรม

(30 เม.ย. 68) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน แสดงจุดยืนระหว่างพบปะกับนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ว่าจีนให้ความสำคัญระดับสูงกับความสัมพันธ์จีน-ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน และพร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ เพื่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

นอกจากนี้ จีนยังสนับสนุนไทยเข้าร่วมกลุ่มประเทศ BRICS โดยหวังอี้ระบุว่า จีนยินดีต้อนรับบทบาทของไทยในฐานะประเทศหุ้นส่วน และสนับสนุนการมีส่วนร่วมในความร่วมมือที่หลากหลาย

ด้าน รมว.มาริษของไทยเห็นว่า การพัฒนาของจีนคือโอกาสสำคัญของไทย และแสดงความตั้งใจเข้าร่วมกลุ่ม BRICS อย่างเต็มที่ เพื่อเสริมความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนา และปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศโลกใต้ พร้อมทั้งเห็นพ้องร่วมกับจีนในการผลักดันความร่วมมือ เช่น รถไฟจีน-ไทย การวิจัยแพนด้า การต่อต้านอาชญากรรมข้ามพรมแดน และการพัฒนา FTA จีน-อาเซียน รุ่น 3.0

หวังอี้ยังกล่าวถึงบทบาทของสหรัฐว่า เน้นผลประโยชน์ตนเองมากเกินไป ใช้ภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือกดดันประเทศอื่น พร้อมเตือนว่าการประนีประนอมกับพฤติกรรมล้ำเส้นจะยิ่งเปิดทางให้ 'คนพาล' กลั่นแกล้งมากขึ้น จึงเรียกร้องให้กลุ่ม BRICS ร่วมต้านการกีดกันทางการค้า และสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึด WTO เป็นศูนย์กลางอย่างเข้มแข็ง

‘คอลัมนิสต์ดัง’ ชี้ทางออกถ้าถูกสหรัฐฯแซงก์ชันกรณี ‘พอล แชมเบอร์ส’ แนะตามรอยรัสเซีย ‘พึ่งพาจีน – มุ่งสู่ BRICS - หันหามิตรนอกตะวันตก’

เมื่อวันที่ (30 เม.ย. 68) นายนิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย คอลัมนิสต์ชื่อดัง ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีการดำเนินคดีกับ ดร. พอล แชมเบอร์ส เกี่ยวกับมาตรา 112 ว่า ...

ถาม อาจารย์หมูครับ การจับ ดร.พอล แชมเบอร์ส จะถูกนำเข้าไปในสภาคองเกรสไหมครับ เราจะโดนแซงก์ชันไหมครับ ถ้าโดนแล้วจะเป็นยังไง?

ก่อนตอบคำถาม ผมขอบอกก่อนครับว่า พ่อสอนผมกราบพื้น 5 ครั้งทุกวัน กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พ่อแม่ครูอาจารย์ และเจ้าฟ้าพระมหากษัตริย์ 

ผมเป็นบุคคลที่ถวายความเชื่อมั่นในพระบารมีแห่งพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ รวมทั้งพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

คุณจะได้ทราบว่า จิตใจและสิ่งที่อยู่ใต้ความคิดของผมว่าเป็นอย่างไร

เอาละที่นี้มาดูคำตอบ…
ผมคิดว่าเรื่อง ดร. แชมเบอร์ส ไม่น่าจะแรงขนาดเข้าสภาคองเกรส ไม่มั่นใจว่าจะไปไกลถึงขนาดนั้น 

ยกเว้น สหรัฐฯ จะบ้าพิจารณาว่า ดร.แชมเบอร์ส เป็น 1.นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน หรือ 2.มีสถานะทางด้านความมั่นคง

ถ้าพิจารณาแบบอยากหาเรื่อง ก็อาจจะมีคนเอาเข้าสภาคองเกรส สหรัฐฯ และอาจออกมาตรการแซงก์ชันไทย

ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้น
ขึ้นอยู่กับการแซงก์ชันว่าอยู่ระดับใด

ถ้าเป็น Targeted Sanctions หรือแซงก์ชันแบบจำกัดบุคคล กระทบน้อย แต่ส่งสัญญาณทางการเมืองแรง อาจจะมีการแช่แข็งทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ไทยบางรายในสหรัฐฯ จำกัดการเดินทางหรือห้ามเข้าสหรัฐฯ ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผลต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังจำกัด แต่จะกระทบภาพลักษณ์ไทยในสายตาตะวันตกมากกว่า นักลงทุนบางกลุ่มอาจชะลอการลงทุน

แย่ขึ้นมานิดก็เป็น Secondary Sanctions คือเป็นแซงก์ชันทางการค้าและการเงินระดับกลาง อันนี้นี่แหละครับ ที่อาจจะเริ่มกระทบเศรษฐกิจจริงจัง อาจมีผลต่อสถาบันการเงินของไทย ธุรกิจส่งออกที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ อาจถูกตรวจสอบเข้มงวดหรือชะลอ ความกังวลของนักลงทุนจะกระทบตลาดหุ้นไทย เงินบาทอาจอ่อนค่าชั่วคราว 

แต่ถ้าสหรัฐฯ สติแตกมากๆ ก็อาจจะออก Comprehensive Sanctions ผมหมายถึง แซงก์ชันทางเศรษฐกิจแบบกว้าง สิ่งที่จะค่อยๆ ตามมาคือ สิทธิพิเศษทางภาษี หรือ GSP ที่สหรัฐฯ ยังให้เราบางส่วนอาจจะถูกระงับ ถ้าโดนแรงแบบที่รัสเซียโดน สหรัฐฯ อาจจะบล็อกการเข้าถึงระบบการเงินสหรัฐ เช่น SWIFT หรือการโอนเงินดอลลาร์ เราส่งสินค้าไปขายที่สหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 15 อันนี้อาจจะส่งไปขายไม่ได้ กระทบต่อ FDI การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และตลาดหุ้น ที่ตามมาก็คือ พวกคอหอยลูกกระเดือกของสหรัฐฯ อย่างสหภาพยุโรป อาจจะเล่นงานไทยตามสหรัฐฯ ความสัมพันธ์กรอบการค้าเสรีอย่าง CPTPP หรือ IPEF อาจถูกทบทวน

ท่านจะพบว่า…

ตั้งแต่ ค.ศ.2014-2025 รัสเซียโดนแซงก์ชั่นแรงทั้ง  Targeted Sanctions, Secondary Sanctions และ Comprehensive Sanctions รัสเซียแก้ไขโดย…
1.พึ่งพาจีนมากขึ้น
2.ทุ่มเทกับ BRICS
3.หันไปหาพันธมิตรนอกตะวันตก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top