Saturday, 5 April 2025
BRICS

จับตา!! ‘ซาอุฯ’ เข้าร่วมกลุ่ม BRICS อย่างเป็นทางการ ความทะเยอทะยานสู่ผู้ชนะแห่งประเทศโลกใต้

(3 ม.ค.67) สถานีโทรทัศน์แห่งรัฐของซาอุดีอาระเบีย รายงานในวันอังคาร (2 ม.ค.) ว่าซาอุฯ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS อย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของซาอุดีอาระเบีย เปิดเผยก่อนเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ว่าประเทศของพวกเขาจะศึกษารายละเอียดต่างๆ ก่อนเข้าร่วมกลุ่มตามที่ตั้งใจไว้ในวันที่ 1 มกราคม และจะดำเนินการตัดสินใจอย่างเหมาะสม

มกุฎราชกุมารฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย บอกว่ากลุ่มบริกส์ เป็นประโยชน์และเป็นช่องทางที่สำคัญในการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 

เดิมกลุ่ม BRICS ประกอบไปด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ แต่ได้เพิ่มสมาชิกอีกเท่าตัว โดยที่ ซาอุดีอาระเบีย พร้อมด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ อิหร่าน และเอธิโอเปีย จะเข้าร่วมในฐานะสมาชิกใหม่ นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นไป

การเข้าร่วมของซาอุดีอาระเบีย มีขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และการขยายอิทธิพลของจีนภายในซาอุดีอาระเบีย

แม้มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับสหรัฐฯ แต่ซาอุดีอาระเบียกำลังเดินตามเส้นทางของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ สืบเนื่องจากความกังวลว่า วอชิงตันมีความมุ่งมั่นต่อความมั่นคงในอ่าวอาหรับน้อยกว่าในอดีตที่ผ่านมา

จีน ซึ่งเป็นลูกค้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของซาอุดีอาระเบีย ส่งเสียงเรียกร้องให้ขยายขอบเขตของ BRICS ให้กลายมาเป็นตัวถ่วงดุลตะวันตก

การรับสมาชิกเพิ่มเติมของ BRICS ถือเป็นการขยายความความทะเยอทะยานของทางกลุ่ม ที่ประกาศว่าจะกลายมาเป็นผู้ชนะแห่งประเทศโลกใต้ แม้อาร์เจนตินาส่งสัญญาณเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่าพวกเขาจะไม่ตอบรับคำเชิญเข้าร่วมกลุ่ม 

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! BRICS โอกาสทองของไทย ช่วย ‘แลนด์บริดจ์ไทย’ เนื้อหอม เชื่อม BRI

ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'BRICS กับโอกาสทองของไทย' เมื่อวันที่ 21 ม.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

เหตุการณ์น่าสนใจช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาคือการที่กลุ่ม BRICS รับประเทศสมาชิกใหม่หลายประเทศ รวมทั้ง ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมมิเรตส์ และอิหร่าน ซึ่งเป็นการขยายขนาดและอิทธิพลของกลุ่มครั้งใหญ่ที่สุด นับจากก่อตั้งขึ้นมากว่า 20 ปี

กลุ่ม BRICS ไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ แต่เป็นการนำตัวอักษรนำหน้าชื่อประเทศสมาชิกก่อตั้งมาเรียงกัน จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่ม คิดเป็นกว่า 50% ของ GDP รวมของกลุ่ม สมาชิกมีความแตกต่างและไม่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ร่วมกันดังเช่นกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญที่ประเทศสมาชิกมีร่วมกัน คือแนวคิดต่อต้านระเบียบโลก (World Order) และการครอบงำของสหรัฐอเมริกาและตะวันตก

กลุ่ม BRICS ไม่มีกฏบัตรและหลักเกณฑ์การรับสมาชิกใหม่ แต่ได้เป็นเวทีให้สมาชิกใช้แสดงความไม่เห็นด้วยและโจมตีนโยบายและการทำงานของสถาบันต่างที่อยู่ภายใต้ระเบียบโลก กลุ่ม BRICS ตั้ง Mini World Bank และ Mini IMF ขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกให้ประเทศสมาชิกใช้ประโยชน์ นอกเหนือจากสถาบันการเงินในระบบ Bretton Woods

ประเทศสมาชิกหลายประเทศ โดยเฉพาะรัสเซีย และจีน ถูกสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Sanctions) และหลายครั้งถูกสหรัฐฯ ใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธร้ายมาลงโทษประเทศเหล่านี้เมื่อเกิดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อาทิเช่น เมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ผ่านมา รัสเซียถูกอายัดทุนสำรองที่เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ และถูกตัดขาดออกจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ดังนั้นกลุ่ม BRICS จึงพยายามผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currencies) ทดแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย

แนวคิดเหล่านี้ของกลุ่ม BRICS ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะประเทศไทยสมัยนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยผลักดัน Asian Bond Market Initiative (ABMI) เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว จนเป็นที่รู้จักและเห็นผลเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว ธนาคารกลางในเอเชียลงขันกันตั้งกองทุน Asian Bond Fund เพื่อลงทุนในพันธบัตรที่ออกในสกุลเงินของประเทศสมาชิก ตลาดตราสารหนี้ของประเทศในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันถือเป็นเสาหลักของระบบการเงินของประเทศ

ไม่นานมานี้ จีนได้จัดงานครบรอบ 10 ปีของโครงการเส้นทางสายไหม (Belt and Road Initiative : BRI) โดยใน 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเองไม่มีโครงการอยู่ใน BRI เลย แต่การที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปกรุงปักกิ่ง เพื่อเข้าร่วมงานด้วยตนเอง บ่งชี้ความสำคัญและวิสัยทัศน์ของไทยที่จะเข้าร่วมเส้นทางสายไหมของจีนนี้ โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเชื่อมมหาสมุทรอินเดียและอ่าวไทย จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญของ BRI 
ยิ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับการขยายสมาชิกสภาพของกลุ่ม BRICS ที่ครอบคลุมถึงซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบที่สำคัญที่สุดของจีนด้วยแล้ว โครงการแลนด์บริดจ์จะยิ่งทวีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น และเชื่อแน่ว่าหากเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญประเทศหนึ่งของโลกแน่นอน

ความพยายามของกลุ่ม BRICS ที่จะจัดระเบียบโลกด้านเศรษฐกิจใหม่ เป็นความพยายามที่น่าชมเชย แต่จะสำเร็จหรือไม่คงจะเป็นเรื่องไม่ง่าย และไม่แน่ประเทศไทยอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความสำเร็จนี้ก็ได้

‘รบ.สหรัฐฯ’ ยกคำนักวิชาการไทย ไม่เห็นด้วยหากไทยเข้าร่วม ‘BRICS’ เชื่อ!! เกิดจากการถูกชี้นำผิดๆ ใต้ความกระหายโชว์ผลงานของรัฐบาล

‘ไทย’ กำลังเดินหน้าสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก ‘BRICS’ กลุ่มชาติกำลังพัฒนา ที่ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย จีน อินเดีย และแอฟริกาใต้ ตามรายงานของวอยซ์ออฟอเมริกา (วีโอเอ) เครือข่ายเว็บไซต์และสถานีวิทยุด้านข่าวสารที่มีรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเจ้าของ พร้อมอ้างว่าพวกผู้เชี่ยวชาญต่างแสดงความเคลือบแคลงใจว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นความเคลื่อนไหวที่ถูกต้องหรือไม่

สมาชิกกลุ่ม BRICS ต้องการสร้างทางเลือกอื่นขึ้นมาแทนดอลลาร์สหรัฐ และระบบการเงินโลกที่เกี่ยวข้องกับทางเลือกดังกล่าว หลังจากที่ผ่านมา พวกเขาเคยริเริ่มโครงการด้านการเงินต่าง ๆ อย่างเช่นธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) ที่ถูกมองว่าเป็นคู่แข่งของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีของไทยเห็นชอบร่างใบสมัครในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม นับตั้งแต่นั้นความพยายามเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ก็เดินหน้าอย่างรวดเร็ว และล่าสุด นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ได้ยื่นหนังสืออย่างป็นทางการกับ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ประธาน BRICS ในปัจจุบัน ในการแสดงความประสงค์เข้าร่วมเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของกลุ่ม BRICS

ในถ้อยแถลง นายมาริษ บอกว่ามันเป็นประโยชน์ของไทยในการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS "ไทยมองว่า BRICS มีบทบาทสำคัญในระบบพหุภาคีและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่าง ๆ ในซีกโลกใต้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศของเรา"

"เพื่อผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS จะช่วยเสริมบทบาทของไทยในเวทีโลก และกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศกับบรรดาชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการค้า การลงทุน ความมั่นคงทางอาหารและทางพลังงาน" ถ้อยแถลงระบุ

บรรดาสมาชิกกลุ่ม BRICS มีสัดส่วนเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วน 28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทั้งหมดของโลก 100 ล้านล้านดอลลาร์ ทางกลุ่มบอกว่าต้องการให้บรรดาเศรษฐกิจเกิดใหม่มีตัวแทนที่ใหญ่โตขึ้นในระดับโลก โดยอ้างว่าพวกชาติตะวันตกในอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก ครอบงำองค์กรการเงินโลกอย่างเช่น เวิลด์แบงก์ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศมาช้านาน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พันธมิตรกลุ่ม BRICS ถูกมองในฐานะฝ่ายต่อต้านตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ ในนั้นรวมถึงกรณีที่จีนและรัสเซียกำลังหาทางลดพึ่งพิงดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามลงระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งและมอสโก ต่อประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ต่าง ๆ ในนั้นรวมถึงปราบปรามผู้ประท้วงในฮ่องกงของจีน และประเด็นอธิปไตยของไต้หวัน รวมถึงสงครามของรัสเซียในยูเครน

วอยซ์ออฟอเมริกา อ้างคำสัมภาษณ์ของนายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักวิชาการ สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า BRICS เริ่มกลายเป็นความพยายามทางการเมืองต่อต้านตะวันตกมากจนเกินไป "แรกเริ่มของ BRICS เริ่มต้นในฐานะรูปแบบหนึ่ง เป็นกลุ่มภูมิเศรษฐศาสตร์ แต่ตอนนี้ผมคิดว่าทางกลุ่มกลายมาเป็นกลุ่มก้อนหมู่คณะทางภูมิรัฐศาสตร์มากกว่าเดิม รูปแบบของ BRICS กำลังเปลี่ยนไป กลายมาเป็นแนวร่วมภูมิรัฐศาสตร์ต่อต้านตะวันตก"

นายมาริษ ยืนยันว่าแต่ละประเทศล้วนแต่ตัดสินใจเป็นผลประโยชน์ของชาติตนเอง และไทยต้องการทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกราย แม้มีความเห็นต่างกันก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ทาง นายฐิตินันท์ เชื่อว่าความพยายามเข้าร่วมกลุ่มของไทยนั้นเกิดจากการถูกชี้นำผิด ๆ และหลงไปตามวาระของรัฐสมาชิกสำคัญอย่างจีนและรัสเซีย "รัฐบาลตะเกียกตะกายที่จะสร้างผลงาน ตามมุมมองของผม BRICS คือเส้นทางที่ถูกชี้นำผิด ๆ ที่จะโชว์ผลงาน มันกลับนำพาไทยตกอยู่ในวาระของประเทศอื่น ๆ ไทยต้องการวางตัวเป็นกลางมากกว่าที่เป็นอยู่"

จีนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทย และเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่ม BRICS และผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเชื่อว่า ปักกิ่ง คือปัจจัยหลักสำหรับเหตุผลว่าทำไมไทยถึงอยากเข้าร่วมกลุ่ม BRICS

ทั้งนี้ จีนคือคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย ด้วยมูลค่ากว่า 135,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อปีที่แล้ว และนักท่องเที่ยวชาวจีนยังมีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวของไทยด้วย

เอียน ชอง นักรัฐศาสตร์จากสิงคโปร์ บอกกับวอยซ์ออฟอเมริกาว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจคือสิ่งล่อใจสำคัญที่ทำให้ไทยตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่ม BRICS

'อาจารย์อุ๋ย ปชป.' ยินดี!! ไทยสมัครเป็นสมาชิก BRICS สะท้อนการรับมือระเบียบโลกใหม่จากหลายขั้วได้อย่างเหมาะสม

(19 มิ.ย. 67) จากกรณีที่ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงที่จะเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา นั้น นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส.กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ผมเห็นด้วยและขอแสดงความยินดีกับการที่ไทยแสดงความจำนงเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ซึ่งจนถึงปัจจุบันประกอบด้วย บราซิล, อินเดีย, จีน, แอฟริกาใต้, อิหร่าน, อียิปต์, เอธิโอเปีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วมีขนาดเศรษฐกิจถึงร้อยละ 28.3 ของโลก และมีจำนวนประชากร ร้อยละ 45.5 ของประชากรโลก โดยรัฐสมาชิกจะยึดถือหลักการความเสมอภาค มีผลประโยชน์ร่วมกัน และไม่แทรกแซงกิจการภายใน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการที่บัญญัติไว้ในกฎบัตร ASEAN 

โดยการเป็นสมาชิกนี้จะทำให้ไทยได้ประโยชน์ในหลายด้าน อาทิเช่น ยกระดับบทบาทของไทยในเวทีโลก เพิ่มบทบาทของไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเพิ่มโอกาสของไทยในการมีส่วนร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่ที่มีความยุติธรรมมากขึ้น เพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า ทุนสำรอง การสื่อสารข้อมูล คุ้มครองการลงทุน ส่งเสริมการลงทุน ทลายกำแพงการค้า (Trade Barrier) และค้าขายด้วยสกุลเงินอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐ 

นอกจากนี้เรายังเพิ่งแสดงความจำนงขอเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วกว่า 30 ประเทศ ในยุโรปและอเมริกา และเราก็ยังคงเป็นสมาชิก APEC อยู่ด้วยซึ่งมีทั้งสหรัฐอเมริกา, จีน และรัสเซีย เป็นสมาชิกเช่นกัน ดังนั้น ใครจะมาบอกว่าเราเลือกข้าง คงไม่ใช่ แต่เป็นการแสวงหาโอกาสเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ 

ด้วยสภาวการณ์ของโลกปัจจุบันที่มีความแปรปรวนและยืดหยุ่นสูง ประกอบกับเงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศไทย การรักษาสมดุลระหว่างขั้วอำนาจโลกอย่างเหมาะสมและมียุทธศาสตร์เท่านั้น ที่จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาก้าวหน้าอย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก ผมขอให้กำลังใจรัฐบาลในเรื่องนี้และขอให้รัฐบาลใช้โอกาสอันมีค่านี้ สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศไทยและคนไทยครับ ด้วยความปรารถนาดี"

'โดนัลด์ ทรัมป์' ประกาศเก็บภาษี 100% หากประเทศใดเลิกใช้ดอลลาร์ในการค้าขาย

(9 ก.ย. 67) สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า แถลงการณ์ของทรัมป์เกิดขึ้นหลังจากที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐและที่ปรึกษาเศรษฐกิจของเขาหารือกันเป็นเวลานานหลายเดือนเกี่ยวกับแนวทางในการลงโทษพันธมิตรหรือศัตรูที่แสวงหาวิธีดำเนินการทางการค้าทวิภาคีด้วยสกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์ ทรัมป์กล่าวว่าดอลลาร์ถูกโจมตีอย่างหนักมาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว

“ถ้าคุณเลิกใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ คุณก็ไม่ได้ทำธุรกิจกับสหรัฐฯ เพราะเราจะเรียกเก็บภาษีสินค้าของคุณ 100 เปอร์เซ็นต์” โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวในการชุมนุมที่วิสคอนซิน พร้อมให้คำมั่นว่าจะทำให้ประเทศต่าง ๆ จ่ายเงินชดเชยกรณีเลิกใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่ จีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย และแอฟริกาใต้ หารือเกี่ยวกับการเลิกใช้ดอลลาร์ในการประชุมสุดยอดเมื่อปีที่แล้ว

อิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในการค้าและการเงินระหว่างประเทศเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสที่เรียกว่า de-dollarisation หมายถึงกระบวนการที่ประเทศต่าง ๆ ตั้งเป้าหมายที่จะลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในฐานะสกุลเงินหลักของโลก

ความพยายามในการยกเลิกการใช้ดอลลาร์ผ่านความคิดริเริ่ม เช่น กลุ่ม BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) กำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ ทำให้การบรรลุฉันทามติเกี่ยวกับสกุลเงินร่วมและนโยบายการเงินทำได้ยาก

แม้ว่าการครอบงำของดอลลาร์จะลดลงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงคิดเป็น 59% ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอย่างเป็นทางการในไตรมาสแรกของปี 2024 เงินยูโรเป็นอันดับสองที่เกือบ 20% ตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ การค้าโลกประมาณครึ่งหนึ่งมีสกุลเงินดอลลาร์ ตามข้อมูลของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ

ระยะหลังอินเดียกำลังผลักดันความพยายามที่จะเพิ่มการชำระเงินทางการค้าด้วยเงินรูปีและลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์มากขึ้น ซึ่งเป็นความทะเยอทะยานที่หลบเลี่ยงประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อปีที่แล้วว่า โรงกลั่นในอินเดียได้เริ่มชำระเงินค่าน้ำมันรัสเซียส่วนใหญ่ที่ซื้อผ่านผู้ค้าในดูไบด้วยสกุลเงินเดอร์แฮม สกุลเงินที่ใช้ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แทนที่จะเป็นสกุลเงินดอลลาร์

อินเดีย เริ่มทำการค้าเงินรูปีกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเนปาลและภูฏาน กลไกการค้าเงินรูปีได้รับการริเริ่มขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าสกุลเงินประจำชาติกับรัสเซีย ในขณะที่ศรีลังกาได้รวมเงินรูปีไว้ในรายชื่อสกุลเงินต่างประเทศที่กำหนดไว้

‘เมียนมา’ เตรียมเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม ‘BRICS’ เพื่อยกระดับ!! บทบาทของตน ในเวทีระดับโลก

(23 ต.ค. 67) ไม่นานมานี้มีสำนักข่าวหลายสำนักไม่ว่าจะมาจากฝั่งอินเดียหรือจีนรายงานตรงกันว่าเมียนมากำลังดำเนินการสมัครเข้าเป็นประเทศในกลุ่ม BRICS  ก่อนอื่นที่เราจะมารู้ว่าทำไมเมียนมาถึงสมัครเข้า BRICS เรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า BRICS คืออะไร

BRICS เป็นการรวมกลุ่มกันของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ก่อตั้งขึ้นโดยสมาชิกผู้ก่อตั้ง 4 ประเทศ คือ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน ในปี 2009 ซึ่งเริ่มแรกใช้ชื่อกลุ่มว่า BRIC โดยเป็นการนำอักษรตัวแรกของแต่ละประเทศมาเรียงต่อกัน ต่อมาได้รับแอฟริกาใต้เพิ่มเข้ามาในปี 2010 ทำให้เปลี่ยนไปเป็น BRICS และใช้มาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าต้นปี 2024 จะรับสมาชิกเพิ่มมาอีก 5 ประเทศอันได้แก่  อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และล่าสุดมี 34 ประเทศที่ยื่นคำร้องขอเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการแล้ว อันได้แก่ แอลจีเรีย อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน บังกลาเทศ เบลารุส โบลิเวีย คิวบา ชาด สาธารณรัฐคองโก อิเควทอเรียลกินี เอริเทรีย ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย คาซัคสถาน คูเวต ลาว มาเลเซีย เมียนมา โมร็อกโก นิการากัว ไนจีเรีย ปากีสถาน เซเนกัล ซูดานใต้ ศรีลังกา ปาเลสไตน์ ซีเรีย ไทย ตุรกี ยูกันดา อุซเบกิสถาน เวเนซุเอลา เวียดนาม และซิมบับเว

ข้อดีของการเป็นสมาชิกใน BRICS มีหลายประการกล่าวโดยสรุปคือ

1. การเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะช่วยยกระดับบทบาทของประเทศตนในเวทีระหว่างประเทศ 

2. ทำให้ประเทศที่เป็นสมาชิกมีจุดยืนในฐานะพหุภาคีและความสมดุลระดับโลก 

3. โอกาสที่จะเข้าถึงการลงทุนและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อันยกระดับให้ประเทศมีการพัฒนามากขึ้น

4. สร้างความมั่นคงและเสถียรภาพในระดับภูมิภาค

5. ได้รับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า

เฉกเช่นเดียวกันกับไทยที่มองหาโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ รัฐบาลทหารเมียนมาก็แสวงหาลู่ทางในการที่จะลืมตาอ้าปากจากการถูกแซงชั่นจากประเทศตะวันตกและประเทศพันธมิตรของตะวันตกโดยมีหัวหอกเป็นอเมริกาด้วยเช่นกัน  จากที่เอย่าคาดการณ์แล้วหากเมียนมาเข้าเป็นสมาชิก BRICS ได้สำเร็จ เมียนมาจะบรรลุถึงการส่งออกสินค้าเกษตรของตนไปยังตลาดใหม่ๆโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศของ BRICS เอง  อีกทั้ง BRICS ยังเปิดโอกาสทางการค้าที่เสรีโดยไม่จำเป็นต้องค้าขายผ่านสกุลเงินใครเป็นสกุลเงินหลักแต่เปิดโอกาสให้ทำธุรกิจผ่านสกุลเงินของประเทศตนเองได้โดยตรงอันจะช่วยให้ลดปัญหาการได้เปรียบหรือเสียเปรียบอันเนื่องมาจากการใช้ระบบ SWIFT

อีกอย่างเมียนมาจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่จะช่วยในการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนได้มากขึ้นหลังถูกโดดเดี่ยวมาตั้งแต่รัฐประหารและประเทศในกลุ่ม BRICS ก็น่าจะเข้ามาลงทุนในเมียนมามากขึ้นด้วยเหตุที่ค่าแรงถูกและยังมีที่ดินเป็นจำนวนมากที่ที่สามารถพัฒนาได้

สุดท้ายหากเกิดสงครามขึ้นมาประเทศในกลุ่ม BRICS ก็จะได้รับการช่วยเหลือทางอาหารจากประเทศในกลุ่มสมาชิกที่มีการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลักซึ่งนอกจากไทยแล้วเมียนมาก็เป็นอีกประเทศที่มีการส่งออกสินค้าทางการเกษตรในราคาถูกและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้ดีเช่นกัน

South China Morning Post ระบุในถ้อยแถลงว่าทางรัฐบาลทหารเมียนมาแสดงความปรารถนาของเมียนมาที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มประเทศ BRICS ในฐานะผู้สังเกตการณ์ระหว่างการเยือนมอสโคว์เมื่อไม่นานมานี้ และจากท่าทีของจีนและรัสเซียที่เป็นหัวเรือใหญ่ใน BRICS เชื่อว่าสามารถนำพาเมียนมาเข้าเป็น 1 ในสมาชิกของ BRICS ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

การที่ทางรัฐบาลเมียนมาคิดแบบนี้น่าจะเป็น 1 ในแผนระยะยาวในการสร้างเสถียรภาพของประเทศและสร้างความเจริญที่ยั่งยืนในประเทศอันจะส่งผลให้ความขัดแย้งในประเทศจบลงไวขึ้นนั่นเอง และนั่นก็รวมถึงการผลักดันผู้คิดต่างให้ออกไปอยู่นอกวงและกลายเป็นคนไร้สัญชาติในที่สุด

จับตาประชุมกลุ่ม BRICS ร่วมประเทศพันธมิตร 34 ประเทศ กลุ่มมหาอำนาจใหม่ท่ามกลางความขัดแย้งสองซีกโลกในทุกมิติ

(24 ต.ค. 67) ในสัปดาห์นี้กำลังมีการประชุมใหญ่ในสองซีกโลกที่สะท้อนให้เห็นถึง 'การแบ่งขั้ว' ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้นในยุคปัจจุบัน กับการประชุม BRICS และ IMF-World Bank

ฝั่ง 'สหรัฐ' เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่ทยอยเรียกความสนใจไปแล้วตั้งแต่การออกรายงานหนี้สาธารณะทั่วโลกที่พุ่งทะลุ 100 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก มาจนถึงการออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดเดือน ต.ค. ที่เตือนเรื่องความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และการกีดกันทางการค้าซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนในฝั่ง 'รัสเซีย' จะเปิดบ้านในเมืองคาซาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ จัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ 'บริกส์' (BRICS) ที่มีสมาชิกดั้งเดิม 4+1 ประเทศคือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ และผู้นำ/ผู้แทนจาก 34 ประเทศเข้าร่วมระหว่างวันที่ 22 - 24 ต.ค. โดยมีไฮไลต์ที่การเข้าร่วมประชุมครั้งแรกของเหล่า 'สมาชิกใหม่' 5 ประเทศ และการสะท้อนนัยยะทางการเมืองครั้งสำคัญของรัสเซียภายใต้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน

อัสลี อัยดินทัสบาส ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศจากตุรกี กล่าวกับสถาบันคลังสมองบรูกกิงส์ในสหรัฐว่า ภายหลังสงครามในฉนวนกาซา (ซึ่งสหรัฐส่งอาวุธไปให้กับอิสราเอล) รัสเซียและจีนได้ใช้ประโยชน์จากความรู้สึกต่อต้านตะวันตกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาศัยความผิดหวังจากการกระทำสองมาตรฐานของตะวันตก รวมถึงความไม่พอใจจากคว่ำบาตรและบีบบังคับทางเศรษฐกิจของตะวันตก 

"เรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มประเทศตรงกลางจะแปรพักตร์จากอิทธิพลของสหรัฐไปซบจีนแทน แต่ประเทศเหล่านี้กำลังเปิดใจให้จีนและรัสเซียมากขึ้น เพื่อให้โลกมีอิสระและกระจายขั้วอำนาจมากขึ้น"

>>> จับตาสมาชิกใหม่ BRICS+

ขณะที่ซีเอ็นบีซีรายงานว่า รัสเซียพยายามใช้วาทกรรมการรวมกลุ่มของประเทศซีกโลกใต้ (Global South) ในเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา เพื่อต่อกรท้าทายระเบียบโลกใหม่กับซีกโลกเหนือที่นำโดยสหรัฐ ซึ่งจะเป็นวาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ ตัวปูตินเองได้เปรยเอาไว้เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า การขยายสมาชิกกลุ่มบริกส์เป็น 'ตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนถึงอำนาจที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มและบทบาทในกิจการระหว่างประเทศ' พร้อมส่งสัญญาณว่าเขาตั้งใจที่จะนำเสนอรูปแบบการรวมกลุ่มที่เรียกว่า 'BRICS+' (บริกส์พลัส) เพื่อท้าทายตะวันตกทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ

ปูตินจะใช้วันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดผู้นำบริกส์ 10 ประเทศ จัดการประชุมคู่ขนาน BRICS and Outreach หรือ BRICS Plus ควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่จากประเทศต่างๆ ในเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกาเกือบ 40 ประเทศเข้าร่วม และเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของกลุ่มในการขยายความสัมพันธ์กับประเทศในซีกโลกใต้

"ประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์กำลังกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และในอนาคตอันใกล้นี้ เศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์จะเป็นกลไกหลักในการเพิ่ม GDP โลก และเศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์จะเป็นอิสระจากอิทธิพลภายนอกมากขึ้น" ปูตินกล่าวในการประชุมภาคธุรกิจกลุ่มบริกส์เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว

นอกจากผู้นำของกลุ่มประเทศก่อตั้ง 5 ประเทศ ยกเว้นเพียงบราซิลที่ส่งผู้แทนมาร่วมประชุมเนื่องจากประธานาธิบดี ลูลา ดา ซิลวา ประสบอุบัติเหตุ ผู้นำของ 5 ประเทศสมาชิกใหม่ต่างมาร่วมประชุมบริกส์อย่างคึกคัก อาทิ ประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (ยูเออี) อิหร่าน อียิปต์ และเอธิโอเปีย ส่วนซาอุดีอาระเบียส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมแทน 

นอกจากนี้ยังมีผู้นำประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมด้วย อาทิ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และแม้แต่อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ส่วน 3 ประเทศที่แสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศบริกส์ไปแล้ว ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และตุรกีนั้นมีรายงานว่าประธานาธิบดีเรย์เซบ เตย์ยิป เออร์ดวน ของตุรกี รัฐมนตรีเศรษฐกิจของมาเลเซีย ราฟิซี รัมลี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ จะเข้าร่วมการประชุมด้วย

ทิโมธี แอช นักวิชาการในโครงการรัสเซียและยูเรเซียของสถาบันชัทแธมเฮ้าส์ในลอนดอน กล่าวว่าในฉากหลังนั้น ปูตินกำลังคาดหวังถึงชัยชนะด้านการประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่เหนือยูเครนและตะวันตก โดยพยายามส่งสารว่า แม้จะมีสงครามและถูกคว่ำบาตรจากตะวันตก แต่รัสเซียก็ยังคงมีพันธมิตรระหว่างประเทศจำนวนมากที่เต็มใจจะคบค้าและค้าขายด้วยกับรัสเซีย

ทั้งนี้หลังจากที่สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเปิดฉากขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในเดือนก.พ. 2565 รัสเซีย ปูติน และบรรดาแกนนำในรัฐบาลต่างก็ถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และบรรดาประเทศพันธมิตร เช่น แคนาดา ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหราชอาณาจักรต่างออกมาตรการคว่ำบาตรธุรกิจพลังงาน ธนาคาร และกลาโหมของรัสเซีย ท่ามกลางแรงกดดันให้ประเทศอื่นๆ คว่ำบาตรรัสเซียตามมาหลังจากนั้น 

ไม่เพียงแต่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเท่านั้น ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในกรุงเฮกได้อนุมัติการออกหมายจับปูตินในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามเมื่อปี 2566 ทำให้ผู้นำรัสเซียไม่สามารถเดินทางไปประเทศที่มีธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศได้ และเคยต้องงดการไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำประเทศบริกส์ครั้งก่อนที่แอฟริกาใต้มาแล้ว และงดเข้าร่วมแม้แต่การประชุมจี20 ในปีที่แล้วที่ประเทศอินเดีย แม้จะไม่มีข้อตกลงกับ ICC ก็ตาม 

"การประชุมสุดยอดที่คาซานมีความสำคัญทั้งในเชิงสัญลักษณ์และเชิงปฏิบัติต่อระบอบการปกครองของปูติน" แองเจลา สเตส่วนนต์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษายูเรเซีย รัสเซีย และยุโรปตะวันออกแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวกับสถาบันบรูกกิงส์ "การประชุมสุดยอดครั้งนี้จะแสดงให้เห็นว่า รัสเซียไม่ได้โดดเดี่ยวเพียงลำพัง แต่ยังมีพันธมิตรที่สำคัญ เช่น อินเดีย จีน และประเทศตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญๆ"

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ตอกย้ำให้เห็นภาพนี้ด้วยการจับมือกับปูตินอย่างแน่นแฟ้นในงานและส่งสารอย่างชัดเจนถึงการรวมกลุ่มครั้งนี้ว่า ความร่วมมือในกลุ่มบริกส์เป็น "เวทีสำคัญที่สุดสำหรับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและร่วมมือกันระหว่างประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในโลกวันนี้ เป็น “พลังหลักในการส่งเสริมให้เกิดการตระหนักรู้ถึงโลกหลากขั้วอย่างเท่าเทียมและเป็นระเบียบ รวมถึงโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและอดกลั้น”

4 ชาติอาเซียน ‘ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย’ ตบเท้าเข้าร่วม BRICS ส่อเข้าทางจีน เพิ่มโอกาสสร้างอาณาจักร Global South

รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณีการประชุมของกลุ่มบริกส์ในปีนี้ ว่า 

BRICS ขยายสมาชิกอีกนับสิบประเทศ แถมมุ่งมั่นสะสมทองคำเพื่อผลักดันสกุลเงินใหม่ The Unit

ว่ากันว่า สงครามอิสราเอล-ฮามาส เป็นอีกหนึ่งแรงผลักให้สองชาติมุสลิมในอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย และมาเลเซีย  ตัดสินใจร่วมวงกับจีนในกลุ่ม #BRICS ในครั้งนี้

สำหรับ เวียดนาม ในยุคอยู่เป็น ก็พร้อมจะร่วมวงกับจีนในกลุ่ม BRICS แบบไม่ลังเล แปลงจีนให้เป็นโอกาส

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 4 ชาติอาเซียน ทั้งไทย ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เข้าเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรของ BRICS แต่ยังไม่ใช่สมาชิกเต็มตัวแต่อย่างใด

ผงาดในเวทีโลก!! ‘ไทย’ เดินหน้า!! เข้าร่วมพันธมิตร ‘BRICS’ ‘ทูตจีน’ ยินดีต้อนรับไทย ร่วมครอบครัว

(26 ต.ค. 67) ‘ไทย' กำลังมีจังหวะก้าวที่สำคัญบนเวทีโลกหลังจากแสดงความจำนงเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะเพิ่มบทบาทของไทยบนเวทีโลก 2 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.กลุ่มบริกส์ (BRICS) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของประเทศไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม บริกส์ เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567

2.องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดย ครม.เห็นชอบร่างหนังสือแสดงเจตจำนงของไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2566

สำหรับกลุ่มบริกส์ (BRICS) มีนโยบายขยายความร่วมมือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก โดยเชิญประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมกลไกของการประชุมสุดยอดกลุ่มบริกส์ ครั้งที่ 16 เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย วันที่ 22-24 ต.ค.2567 

ทั้งนี้ที่ผ่านมาไทยเร่งเดินหน้าเข้าร่วมกระบวนการเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ เพื่อยกระดับบทบาทของไทยในฐานะผู้มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

สำหรับกลุ่มบริกส์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 เป็นการรวมตัวของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ โดยมีสมาชิกเริ่มแรก คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ภายใต้ชื่อกลุ่ม BRIC ต่อมาแอฟริกาใต้เป็นสมาชิกในปี 2553 และเปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่ม BRICS 

หลังจากนั้นวันที่ 1 ม.ค.2567 มีสมาชิกเพิ่ม 5 ประเทศ รวมเป็น 10 ประเทศ คือ เอธิโอเปีย อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมมีประชากรทั้งหมด 39% ของโลก และมี GDP รวม 28.4% ของโลก

กระทรวงการต่างประเทศ สรุปข้อมูลกลุ่มบริกส์เสนอ ครม.เมื่อเดือนพ.ค.2567 เพื่อขอความเห็นชอบการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ ว่า กลุ่มบริกส์มีท่าทีคานอำนาจกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยให้ความสำคัญ 3 ประเด็น คือ 

1.การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการเศรษฐกิจโลกเพื่อให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทมากขึ้น 

2.การส่งเสริมใช้เงินสกุลท้องถิ่นทำธุรกรรมระหว่างประเทศ เพื่อลดการพึ่งสกุลเงินดอลลาร์ 

3.การสร้างกลไกระหว่างประเทศทางเลือกทั้งด้านการเงิน การให้ความช่วยเหลือ และการระดมทุนเพื่อการพัฒนา

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศรายงาน ครม.ว่าด้านการเมือง และความมั่นคงระหว่างประเทศ กลุ่มบริกส์ มักมีท่าทีไม่สอดคล้องกับท่าทีของกลุ่มประเทศตะวันตก โดยเฉพาะวิกฤติซีเรีย ปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน

สำหรับขั้นตอนการยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกเริ่มจากการที่ไทยยื่นหนังสือแสดงความประสงค์อย่างเป็นทางการต่อประธานกลุ่มบริกส์ ในระดับผู้นำหรือรัฐมนตรีต่างประเทศ จะทำให้ไทยมีสถานะประเทศที่แสดงความสนใจ และท้ายที่สุดผู้นำประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์ จะให้ความเห็นชอบโดยฉันทามติจึงจะมีสถานะเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ (Full Member)

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนของนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนเมืองคาซาน ของรัสเซีย ที่เป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำกลุ่มบริกส์กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (BRICS Plus Summit) ครั้งที่ 4 วันที่ 24 ต.ค.2567 ในหัวข้อ ‘BRICS and the Global South: Building a Better World Together’

สำหรับการประชุมครั้งนี้ได้หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความท้าทายในระดับภูมิภาค และระดับโลก รวมถึงหารือการส่งเสริมระบบพหุภาคีเพื่อการสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น โดยการประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการประชุมผู้นำบริกส์ เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2567

ทั้งนี้ ไทยได้รับเชิญร่วมประชุม BRICS Plus ตั้งแต่ปี 2560 โดยการประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสให้ฝ่ายไทยเน้นความมุ่งมั่นการยกระดับปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มบริกส์ หลังจากไทยยื่นหนังสือแสดงความประสงค์เข้าเป็นสมาชิกเมื่อเดือนมิ.ย. 2567

นอกจากนี้ ข้อมูล BRICS News บัญชี@BRICSinfo บนแพลตฟอร์ม X รายงานว่า กลุ่มบริกส์ ได้เพิ่ม 13 ประเทศเป็นพันธมิตรที่ยังไม่ใช่สมาชิกเต็มตัว ประกอบด้วย แอลจีเรีย เบลารุส โบลิเวีย คิวบา อินโดนีเซีย คาซัคสถาน มาเลเซีย ไนจีเรีย ไทย ตุรกี ยูกันดา อุซเบกิสถาน และเวียดนาม

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียน ระหว่างวันที่ 9 - 11 ต.ค.2567 ที่ประเทศลาว ได้มีการหารือทวิภาคีระหว่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับนายแอนโทนี เจ.บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ โดยสหรัฐได้สอบถามการสมัครเข้ากระบวนการเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ของไทย

ทั้งนี้ ไทยได้ชี้แจงสหรัฐถึงเหตุผลที่ต้องการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ได้มีเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์แต่เป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นการเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่หลายประเทศที่มีประชากรมาก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยไม่ถึง 2% แต่การขยายตลาดจะสนับสนุนเป้าหมายเศรษฐกิจขยายตัวได้ และสหรัฐได้รับฟัง และเข้าใจเหตุผลดังกล่าว

นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ 'เศรษฐกิจจีนในมุมมองใหม่' จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 

ทั้งนี้ ช่วงหนึ่งได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีไทยเป็นหนึ่งใน 13 ประเทศที่ได้รับสถานะหุ้นส่วนของกลุ่มบริกส์ ว่า บริกส์เป็นกลไกรวบรวมประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือที่เรียกว่ากลุ่มประเทศใต้ Global South จึงได้รับความสนใจมากขึ้น

ช่วงนี้สถานการณ์โลกซับซ้อนมากมีปัญหาหลายด้าน เช่น ปัญหาด้านความมั่นคง และปัญหาการพัฒนาประเทศต่าง ๆ จึงเชื่อว่ากลไกบริกส์ทำให้โลกน่าเชื่อถือขึ้น

สำหรับการประชุมผู้นำบริกส์ปี 2566 รับสมาชิกใหม่ 5 ประเทศ ในการประชุมปี 2567 มีมากกว่า 30 ประเทศต้องการเป็นสมาชิกบริกส์ ซึ่งการประชุมสุดยอดบริกส์วันที่ 23 ต.ค.2567 ได้เปิดประตูต้อนรับสมาชิกใหม่ โดยมีมติว่าประเทศที่สมัครควรมาเป็นประเทศหุ้นส่วนเสียก่อน ซึ่งทราบว่าไทยได้เข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนบริกส์ในชุดแรกในรอบนี้จึงขอแสดงความยินดี

“ประเทศจีนขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่ง และอยากจะขอเชิญไทยเข้าร่วมครอบครัวบริกส์” เอกอัครราชทูตจีน กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top