‘ปูติน’ เผย BRICS จ่อลดอำนาจเงินตะวันตก เตรียมตั้งทุนสำรองระหว่างประเทศขึ้นใหม่

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เปิดเผยว่ากลุ่ม BRICS ซึ่งประกอบไปด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้ กำลังดำเนินการจัดตั้งทุนสำรองระหว่างประเทศใหม่บนพื้นฐานระบบตะกร้าเงินของประเทศสมาชิก เพื่อลดการพึ่งพิงระบบการเงินตะวันตก

รายงานจากอาร์ทีนิวส์ เผยว่า ประธานาธิบดีรัสเซีย สมาชิกของ BRICS กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนากลไกทางเลือกที่มีความน่าเชื่อถือสำหรับการชำระเงินระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน โดยคำพูดของปูติน สอดคล้องกับคำแถลงของกลุ่ม BRICS ก่อนหน้านี้ ที่บอกว่าพวกเขากำลังดำเนินการจัดตั้งเครือข่ายการชำระเงินร่วม เพื่อลดการพึ่งพิงระบบการเงินของตะวันตก ขณะเดียวกัน บรรดาประเทศสมาชิก BRICS กำลังเพิ่มการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขายระหว่างกันอย่างเข้มข้นขึ้นด้วย

ด้าน Global Times ก็ได้รายงานด้วยว่า บรรดาผู้ค้าทั้งหลายในกลุ่ม BRICS ต่างมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะใช้เงินสกุลท้องถิ่นในกลุ่มประเทศของตนเอง โดยเฉพาะเงินหยวน เป็นอีกหนึ่งสกุลหลักในการเจรจาทำธุรกรรมทางการค้าข้ามพรมแดนระหว่างกัน โดยเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามมองหาทางเลือกอื่นนอกจากสกุลเงินดอลลาร์ ที่จะนำมาใช้เป็นตัวกลางชำระหนี้ระหว่างประเทศภายในกลุ่ม BRICS

บรรดาผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า แม้อิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะยังคงครอบงำเวทีการค้าโลก แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในกลุ่มประเทศสมาชิก BRICS บวกกับความร่วมมือเพิ่มเติมด้านต่างๆ ในอนาคต ได้เพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ที่จะชำระหนี้ด้วยเงินสกุลเงินท้องถิ่นของแต่ละประเทศมากขึ้น

ทั้งนี้ประเด็นการชำระเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่น ได้เป็นหนึ่งในประเด็นหารือหลักในการประชุมซัมมิต BRICS ทางไกล ที่จีนเป็นเจ้าภาพ (23 มิ.ย.65) โดยความเป็นได้มากที่สุดขณะนี้ คือ ‘เงินหยวน’ กับ ‘เงินรูเบิล’ หลังมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีนกับรัสเซียเพิ่มสูงขึ้น

ด้านผู้จัดการของสหภาพนักอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการรัสเซีย-เอเชีย แห่งรัสเซีย กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ของรัสเซียจำนวนมากที่มีไว้ตอบสนองตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นั้น บัดนี้กำลังเบนเข็มส่งออกไปยังจีนและอินเดียแทน หลังจากได้รับผลพวงจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในวงกว้างที่นำโดยสหรัฐฯ เพื่อลงโทษรัสเซียต่อกรณีรุกรานยูเครน โดยผลิตภัณฑ์ส่งออกหลักๆ ของรัสเซีย คือ น้ำมันและปุ๋ย

เขาเล่าถึงเหตุผลให้ฟังว่า ตอนนี้สมาชิกส่วนใหญ่ใช้เงินหยวนในการชำระบัญชีการค้าข้ามพรมแดนแทนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือสกุลเงินอื่นๆ เนื่องจากการชำระเงินหยวนทำได้เร็วกว่าและใช้ได้จริงมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้นจากแนวโน้มที่ว่านี้ ทำให้มีบริษัทรัสเซียจำนวนมาก กำลังมองหาความเป็นไปได้ในการเปิดบัญชีที่สาขาของธนาคารจีนในกรุงมอสโกอีกด้วย


ที่มา: https://mgronline.com/around/detail/9650000059609