Friday, 11 April 2025
ดอลลาร์สหรัฐ

‘ปูติน’ เผย BRICS จ่อลดอำนาจเงินตะวันตก เตรียมตั้งทุนสำรองระหว่างประเทศขึ้นใหม่

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เปิดเผยว่ากลุ่ม BRICS ซึ่งประกอบไปด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้ กำลังดำเนินการจัดตั้งทุนสำรองระหว่างประเทศใหม่บนพื้นฐานระบบตะกร้าเงินของประเทศสมาชิก เพื่อลดการพึ่งพิงระบบการเงินตะวันตก

รายงานจากอาร์ทีนิวส์ เผยว่า ประธานาธิบดีรัสเซีย สมาชิกของ BRICS กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนากลไกทางเลือกที่มีความน่าเชื่อถือสำหรับการชำระเงินระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน โดยคำพูดของปูติน สอดคล้องกับคำแถลงของกลุ่ม BRICS ก่อนหน้านี้ ที่บอกว่าพวกเขากำลังดำเนินการจัดตั้งเครือข่ายการชำระเงินร่วม เพื่อลดการพึ่งพิงระบบการเงินของตะวันตก ขณะเดียวกัน บรรดาประเทศสมาชิก BRICS กำลังเพิ่มการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขายระหว่างกันอย่างเข้มข้นขึ้นด้วย

ด้าน Global Times ก็ได้รายงานด้วยว่า บรรดาผู้ค้าทั้งหลายในกลุ่ม BRICS ต่างมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะใช้เงินสกุลท้องถิ่นในกลุ่มประเทศของตนเอง โดยเฉพาะเงินหยวน เป็นอีกหนึ่งสกุลหลักในการเจรจาทำธุรกรรมทางการค้าข้ามพรมแดนระหว่างกัน โดยเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามมองหาทางเลือกอื่นนอกจากสกุลเงินดอลลาร์ ที่จะนำมาใช้เป็นตัวกลางชำระหนี้ระหว่างประเทศภายในกลุ่ม BRICS

บรรดาผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า แม้อิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะยังคงครอบงำเวทีการค้าโลก แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในกลุ่มประเทศสมาชิก BRICS บวกกับความร่วมมือเพิ่มเติมด้านต่างๆ ในอนาคต ได้เพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ที่จะชำระหนี้ด้วยเงินสกุลเงินท้องถิ่นของแต่ละประเทศมากขึ้น

ส่องระดับรายได้ 11 ชาติอาเซียน ประเทศไทยอยู่กลุ่มไหน?

สิงคโปร์มี GNI (Gross National Income) หรือ รายได้ประชาชาติ โดยมีรายได้ประชากรต่อหัวสูงที่สุด และมีรายได้สูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้!!

ทั้งนี้ ธนาคารโลก ได้จัดหมวดหมู่เศรษฐกิจโลกออกเป็นสี่กลุ่มรายได้ ได้แก่ ต่ำ, กลางล่าง, กลางบน และสูง ซึ่งอัปเดตทุกปีในวันที่ 1 กรกฎาคม โดยอิงตาม GNI ต่อหัวของปีก่อน คิดเป็นดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการจัดประเภทรายได้ของธนาคารโลกมีจุดมุ่งหมายเพื่อสะท้อนระดับการพัฒนาของประเทศ โดยอาศัย GNI ต่อหัวเป็นตัวบ่งชี้ความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ

จากผลการจัดประเภทรอบนี้ สิงคโปร์ และ บรูไน เป็นสองประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีรายได้สูงที่สุด ในขณะที่มาเลเซีย, ไทย และอินโดนีเซียอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เหลืออยู่จะถูกจัดในกลุ่มรายได้ปานกลางตอนล่าง

'ผู้ว่าแบงก์ชาติไทย' จับมือ 'แบงก์ชาติจีน' เซ็น MOU ลดพึ่งดอลลาร์ฯ ส่งเสริมทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินท้องถิ่น

(23 พ.ค. 67) สำนักข่าวซินหัว ได้รายงานว่าเมื่อวันที่ 21 พ.ค.67 ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีน และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือของธนาคารกลางทั้งจีนและไทยเพื่อส่งเสริมการทำธุรกรรมทวิภาคีด้วยสกุลเงินท้องถิ่น 

สอดคลัองกับธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประชาสัมพันธ์การเดินทางไปของนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมคณะผู้บริหาร ธปท. ไปยังประเทศจีน ระบุว่านายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมคณะผู้บริหาร ธปท. ได้พบปะกับ นายพาน กงเชิ่ง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China) ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 โดยมีการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินและธนาคารระหว่างสองประเทศ รวมถึงการสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น และการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างกัน

ในโอกาสนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางทั้งสองแห่งได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ว่าด้วยการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของ ธปท. ที่มุ่งสร้างระบบนิเวศทางการเงินให้เอื้อต่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาค

ทั้งนี้ ในช่วงหลายเดือนผ่านมานั้น สำนักข่าวชั้นนำทั่วโลก ได้รายงานว่ารัฐมนตรีกระทรวงคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แสดงท่าทีในการหาทางออกที่แต่ละประเทศสมาชิกจะลดการพึ่งพิงการใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพื่อทำธุรกรรมในการชำระเงินด้านการค้าระหว่างกันด้วย

ที่ผ่านมา รัฐบาลประเทศจีน พยายามผลักดันการใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อที่จะลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และผลักดันให้เงินหยวนขึ้นไปเป็นสกุลเงินหลักของโลก พร้อมกันนั้นก็ได้ส่งเสริมให้พันธมิตรและคู่ค้าของจีนใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมมากขึ้น อย่างเช่น รัสเซีย, อินเดีย และประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มบริกส์ (BRICS) สำหรับการลงนามความร่วมมือระหว่างจีนกับไทยในครั้งนี้ คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของจีนเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันนั้น

‘ทรัมป์’ ขู่ขึ้นภาษี!! ประเทศ BRICS หากรวมหัวไม่ใช้ ‘เงินดอลลาร์’

(1 ธ.ค. 67) ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐโดนัลด์ ทรัมป์ โพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัวเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ขู่จะขึ้นภาษีศุลกากร 100% กับกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) 9 ประเทศ หากดำเนินการที่ถือเป็นการบ่อนทำลายค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

คำขู่ครั้งล่าสุดนี้มุ่งเป้าโดยตรงไปยัง 9 ประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์ที่นำโดย จีน รัสเซีย อินเดีย บราซิล แอฟริกาใต้ อิหร่าน อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และเอธิโอเปีย ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเทศกำลังสมัครเข้าเป็นสมาชิกเพิ่ม เช่น ประเทศไทย มาเลเซีย และตุรกี 

ทรัมป์กล่าวว่า ‘ไม่มีทาง’ ที่กลุ่ม BRICS จะเข้ามาแทนที่ดอลลาร์สหรัฐในการค้าโลก และประเทศใดก็ตามที่พยายามทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้ ‘ควรโบกมือลาจากสหรัฐอเมริกา’

ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศบริกส์ที่ประเทศรัสเซียเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้กล่าวหาสหรัฐว่า ใช้ดอลลาร์เป็นอาวุธ’ และเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น ‘ความผิดพลาดครั้งใหญ่’

แม้ว่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะเป็นสกุลเงินที่ใช้กันมากที่สุดในการทำธุรกิจทั่วโลก และผ่านพ้นความท้าทายต่างๆ ในอดีตมาได้ แต่ประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ต่างระบุว่าพวกเขาเบื่อหน่ายกับการที่สหรัฐมีอิทธิพลเหนือระบบการเงินโลก

จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เงินดอลลาร์สหรัฐมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 58% ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของโลก และสินค้าโภคภัณฑ์หลักๆ เช่น ‘น้ำมัน’ ยังคงซื้อขายกันโดยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของดอลลาร์สหรัฐกำลังถูกท้าทายเนื่องจากส่วนแบ่งจีดีพีของกลุ่ม BRICS ที่เพิ่มขึ้น และความตั้งใจของกลุ่มบริกส์ที่จะซื้อขายกันในสกุลเงินที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐ หรือเป็นกระบวนการที่เรียกว่าการลดการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ (De-dollarization) 

รัสเซียได้ผลักดันให้มีการจัดทำระบบการชำระเงินใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกมาแทนที่เครือข่ายการสื่อสารสำหรับประมวลผลการชำระเงินระหว่างประเทศ หรือ ‘สวิฟท์’ (SWIFT) ที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ ซึ่งจะช่วยให้รัสเซียสามารถหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกและค้าขายกับพันธมิตรได้

อย่างไรก็ดี จากงานวิจัยของสภาแอตแลนติกบ่งชี้ว่า บทบาทของดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินสำรองหลักของโลกจะไม่ถูกคุกคามในอนาคตอันใกล้นี้ โดยผลวิจัยระบุว่า ดอลลาร์นั้น ‘มีความมั่นคงในระยะใกล้และระยะกลาง’ และยังคงครอบงำสกุลเงินอื่นๆ ต่อไป

การขู่ขึ้นภาษีล่าสุดของทรัมป์เกิดขึ้นหลังจากที่เขาขู่ว่า จะขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าทุกชนิดที่นำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา 25% และขึ้นภาษีศุลกากรเพิ่มอีก 10% สำหรับสินค้าจากจีน เพื่อบังคับให้ทั้งสองประเทศดำเนินการมากขึ้นเพื่อหยุดยั้งการไหลเข้าของผู้อพยพผิดกฎหมายและยาเสพติดเข้าสู่สหรัฐ

จากนั้น ทรัมป์ได้โทรศัพท์คุยกับประธานาธิบดีเม็กซิโก ‘คลอเดีย เชนบาม’ ซึ่งกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่าเ ธอเชื่อมั่นว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงสงครามภาษีกับสหรัฐได้ ทางด้านนายกรัฐมนตรี ‘จัสติน ทรูโด’ ของแคนาดาเดินทางกลับในวันเสาร์หลังจากพบกับทรัมป์ โดยที่ไม่ได้รับคำยืนยันว่าประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่จะถอยห่างจากการขู่ขึ้นภาษีกับแคนาดา

ทรัมป์ฟาดหนัก! ขู่ BRICS เจอภาษี 100% แน่ หากกล้าแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ

(31 ม.ค.68) อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำเตือนผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social ถึงกลุ่มประเทศ BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) โดยขู่ว่าจะขึ้นภาษี 100% หากกลุ่มประเทศเหล่านี้พยายามแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยสกุลเงินใหม่หรือสนับสนุนสกุลเงินอื่นในการค้าระหว่างประเทศ

ทรัมป์ระบุว่า “แนวคิดที่ว่ากลุ่ม BRICS จะหันหลังให้กับดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่เรายืนดูอยู่นั้นต้องจบลงแล้ว” พร้อมย้ำว่าสหรัฐฯ จะเรียกร้องให้ประเทศเหล่านี้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่สร้างสกุลเงินใหม่ของ BRICS หรือสนับสนุนสกุลเงินอื่นเพื่อแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ 

“หากพวกเขาไม่ปฏิบัติตาม พวกเขาจะต้องเผชิญกับภาษี 100% และควรเตรียมตัวโบกมืออำลาการค้ากับเศรษฐกิจอันยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ” ทรัมป์กล่าว พร้อมเสริมว่า “พวกเขาสามารถไปหาประเทศอื่นที่ยอมจำนนได้ แต่ไม่มีทางที่ BRICS จะเข้ามาแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ ในการค้าระหว่างประเทศหรือที่ใดก็ตาม”

คำเตือนของทรัมป์เกิดขึ้นในบริบทที่กลุ่ม BRICS ได้แสดงความสนใจในการลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯ และมีการหารือเกี่ยวกับการสร้างระบบการชำระเงินหรือสกุลเงินใหม่เพื่อลดอิทธิพลของสหรัฐฯ ในระบบการเงินโลก อย่างไรก็ตาม การขู่ว่าจะขึ้นภาษี 100% ของทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และกลุ่ม BRICS ในอนาคต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top