Monday, 19 May 2025
เอกนัฏพร้อมพันธุ์

‘เอกนัฏ’ ขอบคุณทุกการสนับสนุน ส่งให้!! ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ได้อันดับ 1 พรรคที่ได้เงินอุดหนุนมากที่สุด ยัน!! มุ่งมั่นทำงานเพื่อปชช.

(26 ม.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวขอบคุณพ่อแม่พี่น้องและสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติทุกคน ที่ได้ร่วมสนับสนุน ร่วมให้กำลังใจ และร่วมยืนหยัดเคียงข้างกับพรรครวมไทยสร้างชาติ จนทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง มาเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวนเงินกว่า 17,934,107.84 ล้านบาท(สิบเจ็ดล้านเก้าแสนสามหมื่นสี่พันหนึ่งร้อยเจ็ดบาทแปดสิบสี่สตางค์) ทั้งพรรคยังมีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด

นายเอกนัฏ ระบุต่อว่า ตนเองขอขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งมาให้ในทุกช่องทาง ซึ่งตนเองได้อ่านทุกข้อความ และขอยืนยันว่าจะมุ่งมั่นเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาประเทศชาติและเพื่อประโยชน์ของพ่อแม่พี่น้องคนไทยทุกคน โดยในกระทรวงอุตสาหกรรม ตนเองมีทีมการเมืองที่หนักแน่นเข้มแข็ง และมีข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องขอขอบคุณข้าราชการทุกคนที่ช่วยกันขับเคลื่อนงานตามนโยบาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ อย่างมุ่งมั่น

ทั้งการ ‘รื้อ’...อุตสาหกรรมเถื่อนที่ทำผิดกฎหมาย ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ผลิตของด้อยคุณภาพ ทำธุรกิจอย่างไร้ความรับผิดชอบและทำร้ายชีวิตคนไทยและเศรษฐกิจประเทศไทย

‘ลด’...มลภาวะ ผ่านการออกมาตรการลดการเผาอ้อย, การติดตั้งอุปกรณ์ CEMS เพื่อมอนิเตอร์และลดการปล่อยมลพิษสู่อากาศ

‘ปลด’...ล็อคข้อจำกัดทางกฎหมาย ขั้นตอนที่เป็นภาระกับผู้ประกอบการ เริ่มต้นด้วยการยกเลิกการขออนุญาตโรงงาน(รง.4) สำหรับการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ตามต่อด้วยการออกร่างพระราชบัญญัติโซลาร์ และร่างพระราชบัญญัติโรงงาน

‘สร้าง’...อุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ เพิ่มมูลค่า จัดระบบให้สะดวก สะอาด โปร่งใส ด้วยกติกาที่มีมาตรฐาน และการร่างพระราชบัญญัติจัดการกากอุตสาหกรรมใหม่ ตั้งกองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืน ช่วยธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ไทยให้ปรับตัวสู่ความยั่งยืนได้

"ตนเองต้องขอขอบคุณพ่อแม่พี่น้องและสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ทุกคนที่ช่วยกันขับเคลื่อนงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ จนทำให้คะแนนนิยมพรรคเพิ่มขึ้น และล่าสุดได้เป็นพรรคที่ได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองมากที่สุดเป็นอันดับ 1" นาย เอกนัฏ ระบุทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ ขอบคุณไร่อ้อย-โรงน้ำตาล รับอ้อยสดเข้าหีบ ทุบสถิติ! อ้อยเผาต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ลดเผาป่ากว่า 1.7 ล้านไร่

ทุบสถิติ! อ้อยเผาต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ดันอ้อยสดแตะ 90% ‘เอกนัฏ’ ขอบคุณชาวไร่อ้อย-โรงน้ำตาล คืน ‘อากาศสะอาด ลดฝุ่น PM2.5’ ให้คนไทย

(28 ม.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศให้รับเฉพาะอ้อยสดเข้าหีบ โดยชะลอ ระงับ ยับยั้ง และยุติการเผาไร่อ้อย พร้อมทั้งยุติการรับอ้อยเผาเข้าหีบ ตามแนวทางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ฝุ่นละออง PM2.5) ของนายกรัฐมนตรีและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 โดยจากสถิติการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายฤดูการผลิต 2567/2568 ของโรงงานน้ำตาล 58 แห่งทั่วประเทศ ณ วันที่ 26 มกราคม 2568 พบว่า ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศให้ความร่วมมือตัดและรับอ้อยเผาเข้าหีบต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ลดลงใกล้แตะ 10% ดันอ้อยสดพุ่ง 90% ของปริมาณการรับอ้อยเข้าหีบทั้งหมด โดยปริมาณการตัดและรับอ้อยสดเข้าหีบสะสมของโรงงานน้ำตาลตั้งแต่วันที่เริ่มเปิดหีบอ้อยเพิ่มสูงขึ้นถึง 83% จากฤดูกาลผลิตที่แล้วที่ 67% ลดการเผาอ้อยลงได้กว่า 17 ล้านตัน

นายเอกนัฏกล่าวว่า เทียบเท่าลดการเผาป่าลงได้กว่า 1.7 ล้านไร่ หรือลดการปลดปล่อย PM2.5 ลงได้กว่า 4,250 ตัน เมื่อเทียบกับฤดูการผลิต 2566/2567 ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนไล่เรียงลงมาถึงภาคกลางมีค่าคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น ฝุ่นพิษ PM2.5 ลดลง ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการออกมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกบ้านเพิ่มมากขึ้น

นายเอกนัฏกล่าวเพิ่มเติมว่า หากชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศทั้ง 58 โรงงานให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการรักษามาตรฐานลดการตัดและรับอ้อยเผาลงอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจะเป็นเป็นส่วนหนึ่งในการไม่ซ้ำเติมให้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศสูงขึ้น และมีส่วนช่วยให้ประชาชนได้รับอากาศบริสุทธิ์ ใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมกลางแจ้งตามปกติ

“กระทรวงอุตสาหกรรมขอขอบคุณไปยังผู้บริหารโรงงานน้ำตาลและเกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 90% ที่ให้ความร่วมมือไม่รับซื้ออ้อยเผาและไม่เผาอ้อย ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนไทยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์ ขอบคุณ และขอความร่วมมือในการรักษามาตรฐานลดการรับอ้อยเผาลงอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูหีบอ้อยนี้ เพื่อช่วยกันคืน ‘อากาศสะอาด ลดฝุ่น PM2.5’ ให้กับสังคมไทย และเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เป็นอุตสาหกรรมรักษ์โลกที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดรับกับกติกาสากล สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล” นายเอกนัฏฯ กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ ส่งทีมสุดซอยตรวจ บ.วินโพรเสส หลังเกิดเพลิงไหม้ ย้ำความปลอดภัยประชาชนต้องมาก่อน

(28 ม.ค. 68) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากรายงานข่าววานนี้ เวลา 21.30 น. วันที่ 27 มกราคม เกิดไฟไหม้ใน บริษัท วินโพรเสส จำกัด ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เกิดความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ ที่อาจจะได้รับผลกระทบ จึงสั่งการเร่งด่วนให้ทีมตรวจการสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม  นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายวีระ นันทเศรษฐ์ อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ ณ บริษัท วินโพรเสส จำกัดจ.ระยอง 

จากการรายงานในเบื้องต้นแจ้งว่า ขณะรถของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนในพื้นที่ได้ขับผ่าน บริษัท วินโพรเสส จำกัด จ.ระยอง พบเห็นว่าภายในโกดังเกิดไฟได้ลุกไหม้ บริเวณโกดัง 5 จึงประสานรถดับเพลิงจาก อบต.บางบุตร เข้ามาเร่งฉีดน้ำเพื่อไม่ให้ไฟลุกลามพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งใช้เวลา 30 นาทีจึงสามารถควบคุมเพลิงได้ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ทำการเข้าตรวจสอบและพบว่าพื้นที่ส่วนที่ไฟกำลังไหม้เป็นกองขยะพลาสติก ถุงมือยาง และยังพบ แกลอนพลาสติกขนาด 20 ลิตร จำนวน 2 แกลอนอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบ ทั้งนี้ในส่วนของสาเหตุการเกิดเพลงไหม้นั้น ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ทำการเก็บพิสูจน์หลักฐานก่อน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าอาจจะเป็นการเผาเพื่อสร้างสถานการณ์ หรืออาจจะเป็นการลักลอบเข้าพื้นที่เพื่อโจรกรรมชิ้นส่วนเหล็กนำไปขาย เนื่องจากพบชิ้นส่วนเศษเหล็กในบริเวณดังกล่าวด้วย โดยเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบกับร้านรับซื้อของเก่าในพื้นที่ต่อไปและในเบื้องต้นอุตสาหกรรมจังหวัดระยองได้ทำการแจ้งลงบันทึกประจำวันไว้แล้ว เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวกำลังทำการเร่งขนย้ายตะกรันอลูมิเนียมหรืออลูมิเนียมดรอส ทั้ง 7,000 ตัน ออกจากพื้นที่เพื่อนำไปบำบัดกำจัดอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการที่บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

ซึ่งจากการที่ทีมตรวจสุดซอยลงพื้นที่ในวันนี้ ได้มีการนำรถตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมลงไปในพื้นที่ด้วย โดยเบื้องต้นคุณภาพอากาศบริเวณดังกล่าวยังอยู่ในค่าปกติ ไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมี ซึ่งทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะนำรถดังกล่าวจอดไว้ในพื้นที่เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศจนกว่าประชาชนจะวางใจว่าสามารถใช้ชีวิตได้ปกติไม่มีเคมีอันตรายปนเปื้อนในอากาศ ทั้งนี้พื้นที่ที่เกิดเพลิงไหม้นั้นอยู่ห่างจากจุดที่ทำการขนย้าย ตะกรันอลูมิเนียมหรืออลูมิเนียมดรอสเพียงเล็กน้อย แต่พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้ผลกระทบอะไร ซึ่งยอดขนย้ายตะกรันอลูมิเนียม ร่วมกับทีพีไอ โพรลีน ตั้งแต่เริ่มขน 8 ม.ค. 68 จนถึงปัจจุบัน ขนย้ายไปแล้ว 1,592.61 ตัน

“ท่านรัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ได้เน้นย้ำกับทีมงานว่าให้ช่วยกันตรวจสอบและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่
อย่างเต็มที่โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชนต้องคำนึงถึงเป็นเรื่องแรก และให้มีการตรวจสอบความปลอดภัยด้านต่างๆ การตรวจสอบคุณภาพอากาศหลังเกิดเหตุ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ใช้ชีวิตได้อย่างไม่ต้องกังวลเรื่องสารพิษ ส่วนการขนย้ายตะกรันอลูมิเนียมนั้น ยังสามารถดำเนินการต่อได้ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ” เลขาฯพงศ์พล กล่าว

‘เอกนัฏ’ คิกออฟ 'แจ้งอุต' แจ้งปัญหาอุตสาหกรรมง่ายๆ ผ่านไลน์ ดึงปชช. ร่วมปราบ โรงงานเถื่อน – สินค้าไร้มาตรฐาน - ฝุ่นพิษ

กระทรวงอุตสาหกรรม คิกออฟ 'แจ้งอุต' แพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนปัญหาอุตสาหกรรมผ่าน ทางไลน์ โดยเทคโนโลยี 'ทราฟฟี่ ฟองดูว์' ซึ่งผู้ร้องสามารถติดตามสถานการณ์แก้ปัญหาจนแล้วเสร็จ ทราบผลรวดเร็วทันใจ สร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมไทย

(31 ม.ค.68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีความเอาจริงเอาจังกับการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปฏิรูปอุตสาหกรรมทั้งการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการให้การประกอบกิจการเป็นเรื่องง่าย (Ease of Doing Business) และเพิ่มความคล่องตัวสำหรับประชาชนทั่วไปในการติดต่อกับกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มอบหมายให้ “คณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม” นำโดย นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมหาแนวทางขับเคลื่อนร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหา 'ทราฟฟี่ฟองดูว์' (Traffy Fondue) จัดทำช่องทางร้องเรียนออนไลน์ของกระทรวงอุตสาหกรรม ในชื่อ 'แจ้งอุต' ที่จะเป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นการเพิ่มช่องทางแจ้งเรื่องและตามติดสถานะของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรมแบบทันใจยกระดับการมีส่วนร่วมภาคประชาชนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้สะอาด โปร่งใส และเพิ่มประสิทธิภาพให้ภาครัฐโดยการใช้เทคโนโลยีที่อำนวยให้ข้าราชการทำงานง่ายขึ้น อย่างเทคโนโลยีประมวลผลอัจฉริยะ (AI) ที่ช่วยเจ้าหน้าที่ประเมินสถานการณ์ แนะนำแนวทางการแก้ปัญหาอัตโนมัติ เพื่อลดระยะเวลาทำงาน

“ช่วงที่ผ่านมา เราเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายกับการจัดระเบียบอุตสาหกรรมไทย กับโรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎกติกา ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 สินค้าไม่ได้มาตรฐานมากมายยังแทรกซึมในตลาด ลำพังกำลังพลของข้าราชการอุตสาหกรรม เราทำได้ไม่เพียงพอเป็นแน่ ผมจึงอยากให้ 'แจ้งอุต' ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยรับฟังเสียงจากประชาชนที่เดือดร้อน เพื่อแก้ปัญหา ในขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับประชาชน ในการต่อสู้เพื่อพังวงจรอุตสาหกรรมสีเทา โรงงานเถื่อน เอาผิดผู้ประกอบการไร้ความรับผิดชอบ ลักลอบฝังขยะอันตราย ปิดตายสินค้าข้ามชาติราคาถูกที่ไร้มาตรฐาน ช่วยกันพลิกฟื้นอุตสาหกรรมไทยให้สะอาด โปร่งใส ไม่ให้มีอะไรซุกใต้พรมอีกต่อไป แจ้งอุตมา เราสุดซอยให้แน่ครับ” นายเอกนัฏกล่าว

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การทำงานของแพลตฟอร์ม 'แจ้งอุต' นั้น สามารถเข้าใช้งานโดยผ่านระบบของทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) และเลือกไปยัง แจ้งอุต รวมทั้งการสแกนผ่าน QR Code และ Link ซึ่งสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนในเรื่องต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 6 ด้าน คือ 1. โรงงาน (ปัญหาเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงานกลิ่นเหม็น/เสียงดัง/ฝุ่นละออง/ถนนและระบบสาธารณูปโภคภายในนิคมอุตสาหกรรม) 2. อ้อย (ปัญหาเผาอ้อย/รถบรรทุกอ้อยน้ำหนักเกิน) 3. เหมือง (ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ) 4. มาตรฐานสินค้า 5. บริการอุตสาหกรรม (ร้องเรียนการให้บริการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) และ 6. ด้านอื่นๆ นอกจากนี้ยังสามารถร้องเรียนการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 

ในระยะแรก กระทรวงอุตสาหกรรมจะรับแจ้งจัดการเรื่องการร้องเรียนของทุกหน่วยงานในสังกัด จำนวน 8 แห่ง ส่วนระยะต่อไปจะพัฒนาการติดตามสถานะการขอรับบริการ เช่น การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสถานะการสมัครเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี สถานะการขอสินเชื่อของผู้ประกอบการ เป็นต้น ทั้งนี้ ระบบใน Traffy Fondue ได้พัฒนาการแสดงผลภาพรวม (dashboard) และฐานข้อมูลการใช้บริการ เช่น สถิติการร้องเรียน พื้นที่ที่ถูกร้องเรียน ประวัติการส่งเรื่องร้องเรียน และจำนวนที่ได้รับการแก้ไข เพื่อให้ผู้รับผิดชอบสามารถนำไปวางแผนการจัดการปัญหาในพื้นที่นั้น ๆ และในอนาคต กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนที่จะเชื่อมโยงแจ้งอุตกับระบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ของกรม เช่น I-Dee Pro และระบบอื่น ๆ ต่อไป เพื่อให้ข้อมูลและการจัดการต่าง ๆ เชื่อมโยงถึงกัน 

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการจัดฝึกอบรมการใช้งาน 'แจ้งอุต' เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา ให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกว่า 500 คน ทั้งที่ห้องประชุมและทางออนไลน์ เพื่อนำแนวทางและเทคนิคของการจัดการเรื่องร้องเรียนมาฝึกปฏิบัติให้สามารถนำระบบ 'แจ้งอุต' ไปปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและพร้อมให้บริการประชาชน ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีเรื่องร้องเรียนเฉลี่ยปีละ 500-550 เรื่อง โดยเรื่องร้องเรียนมากที่สุด 11 อันดับ ได้แก่ 1. กลิ่นเหม็นและไอสารเคมี (ร้อยละ 29) 2. ฝุ่นละอองและเขม่าควัน (ร้อยละ 21) 3. เสียงดังและแรงสั่นสะเทือน (ร้อยละ 15) 4. น้ำเสีย (ร้อยละ 8) 5. อื่น ๆ (ร้อยละ 6) 6. ประกอบการในเวลากลางคืน (ร้อยละ 6) 7. กากอุตสาหกรรมและวัตถุอันตราย (ร้อยละ 5) 8. ประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต (ร้อยละ 5) 9. ความปลอดภัยในการทำงานและสุขภาพ (ร้อยละ 3) 10. คัดค้านการประกอบการ (ร้อยละ 2) 11. เหมืองแร่ (ร้อยละ 0.3) นอกจากนี้ยังมีการร้องเรียนจากเหตุภาวะฉุกเฉิน เฉลี่ยจำนวน 15 เรื่องต่อเดือน อาทิ เหตุเพลิงไหม้ สารเคมีรั่วไหล การชุมนุมคัดค้าน อุบัติเหตุจากการทำงานหรือเครื่องจักรกล เหตุระเบิด เป็นต้น 

การพัฒนาแพลตฟอร์ม 'แจ้งอุต' เป็นการยกระดับการให้บริการของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ในการแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการข้อร้องเรียน นำร่อง รับแจ้งเรื่อง 6 ประเภทเรื่องสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งเรื่องผ่านคิวอาร์โค้ด หรือไลน์ไอดี 'traffyfondue' โดยเริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

‘เอกนัฏ’ เอาจริง!! เดินหน้า ‘ถอนรากถอนโคน’ สั่งหยุดกิจการ พร้อมยึดใบอนุญาต โรงงานพลาสติกเถื่อนสมุทรสาคร ที่เกิดเพลิงไหม้ ผงะ!! พบของกลางกว่า 170 ล้าน

(1 ก.พ. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ส่ง ‘ทีมสุดซอย’ ขยายผลตรวจโรงงานรีไซเคิลพลาสติกเถื่อนสมุทรสาคร ที่เกิดเหตุไฟไหม้ ผงะพบเปลือกหุ้มสายไฟหลอมเป็นเม็ดพลาสติกมูลค่ากว่า 170 ล้านบาท สั่งหยุดกิจการ พร้อมยึดใบอนุญาต ฟันข้อหาตั้ง-ประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต

จากกรณีเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บพลาสติกรีไซเคิล เมื่อวันที่ 29 ม.ค.68 พบข้อมูลทางทะเบียน ‘บริษัทมหาโชค มหาชัย เทรดดิ้ง’ จดทะเบียนบ้านที่ 111/11 ม. 6 ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร โดยมีรายงานว่าบริษัทที่ปรากฏชื่ออยู่ในโกดังที่เกิดเหตุเพลิงไหม้มีความเชื่อมโยงกับบริษัทที่อยู่ในละแวกเดียวกันทั้งหมด

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ ชุดปฏิบัติการสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม, นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ลงพื้นที่โกดังที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว เพื่อตรวจสอบสาเหตุที่เกิดเพลิงไหม้ ป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ รวมไปถึงตรวจสอบกรณีการขออนุญาตประกอบกิจการไม่ถูกต้องด้วย 

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า ได้รับรายงานจากชุดปฏิบัติการสุดซอยว่า เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับตำรวจ บก.ปทส. ได้ขอหมายค้นจากศาลจังหวัดสมุทรสาครเข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ และบริษัทใกล้เคียงที่พบว่ามีความเกี่ยวพันกันได้แก่ บริษัท เอ็ม ซี ที รอยัล วูด จำกัดและ บริษัท บีเค รีไซเคิล จำกัด ที่ตั้งอยู่ห่างกันเพียง 100 เมตร จากการตรวจค้นทั้ง 2 บริษัท และโกดังที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ พบกองพลาสติกเปลือกหุ้มสายไฟจากต่างประเทศที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการหลอมเป็นเม็ดพลาสติกรวมแล้วกว่า 6,900 ตัน ซึ่งสามารถนำไปหลอมเป็นเม็ดพลาสติกใหม่ได้มูลค่ากว่า 170 ล้านบาท 

“ทีมสุดซอยเข้าตรวจค้นพบการเปลี่ยนแปลงจากบริษัท เอ็ม ซี ที รอยัล วูด จำกัดและ บริษัท บีเค รีไซเคิล จำกัด เป็น บริษัท เถิงต๋า พลาสติก แอนด์ เมทเทิล จำกัด และ บริษัท ปวริศาแอสเสท จำกัด ภายในโรงงานพบการประกอบกิจการผิดประเภทมีการตั้งโรงงานบดย่อยหลอมพลาสติก เป็นการตั้งโรงงานและประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่ทราบที่มาของวัตถุดิบ“ นายเอกนัฏ กล่าวระบุ 

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร จึงได้ออกคำสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนทันที และจะเพิกถอนใบอนุญาตของ บริษัท เอ็ม ซี ที รอยัลวูด จำกัด และ บริษัท บี.เค. รีไซเคิล จำกัด พร้อมดำเนินคดีตามกฎหมายกับทั้ง 2 บริษัท รวมทั้งเจ้าของที่ดินที่ตั้งโรงงาน ในข้อหาตั้ง และประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต  ซึ่งหากพบผู้กระทำผิดเพิ่มก็จะดำเนินคดีร่วมกันกระทำผิดเพิ่มเติมจนถึงที่สุด ทั้งนี้หากประชาชนพบปัญหาเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรม สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่าน ‘แจ้งอุต’ https://landing.traffy.in.th?key=wTmGfkav หรือไลน์ไอดี ‘traffyfondue’ เพื่อทางกระทรวงฯ จะเร่งส่งทีมสุดซอยลงจัดการปัญหาหรือส่งต่อให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

‘เอกนัฏ’ นำ 6 หน่วยงานรัฐ-เอกชนเปิดศูนย์บริการรัฐแบบเบ็ดเสร็จ ปักหมุด ‘อมตะซิตี้’ ชลบุรี เพิ่มศักยภาพออกใบอนุญาตรวดเร็ว - โปร่งใส

(4 ก.พ. 68) 6 หน่วยงานรัฐ จับมือ กลุ่มอมตะ ร่วมเปิดศูนย์ “Government All-Service Center” ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี มุ่งยกระดับการให้บริการครบวงจร กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ลดขั้นตอน อุปสรรคในการขอใบอนุญาตต่างๆ เพิ่มความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในพื้นที่ EEC พร้อมดึงนักลงทุนสู่ฐานผลิตสำคัญของประเทศ 

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 68 ) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC)  การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ. ) และกลุ่มอมตะ  ร่วมพิธีเปิดศูนย์บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จให้บริการผู้ประกอบการแบบครบวงจร (Government All-Service Center ) อย่างเป็นทางการและเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกที่จัดตั้งศูนย์ฯ นี้  โดยมีนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) 

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า   การดำเนินงานของศูนย์บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จแบบครบวงจร  (Government All-Service Center )   เป็นความร่วมมือของ  6  องค์กร ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC)  สำนักงานส่งเสริมการลงทุน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ. ) และกลุ่มอมตะ  เพื่อยกระดับการให้บริการ อำนวยความสะดวก ต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่เข้ามาติดต่อหน่วยราชการ สามารถใช้บริการผ่าน ศูนย์บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จฯ  ทั้งในด้านการขอใบอนุญาต การยื่นคำขอรับสิทธิประโยชน์ การขออนุญาตนำเข้า และส่งออก เป็นต้น  ที่จะครอบคลุมการให้บริการในพื้นที่ EEC  ซึ่งเป็นศูนย์ฯ แห่งแรกที่ จัดตั้ง ใน จ.ชลบุรี โดยจะเห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวมีสถานประกอบการด้านอุตสาหกรรมจำนวนมาก ดังนั้นศูนย์ฯ จะเป็นเครื่องมือ และกลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดการลงทุน เพื่อให้มีความพร้อมในทุกๆด้าน นับเป็นการสนับสนุนภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้นโยบาย "การปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจใหม่" ที่มีเป้าหมายให้เศรษฐกิจไทย มีความสะอาด สะดวก และโปร่งใสมากยิ่งขึ้น จึงเป็นก้าวสำคัญในการให้บริการสำหรับผู้ประกอบการและประชาชนที่เข้ามาติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ลงทุน จ.ชลบุรี 

“ ความร่วมมือภาครัฐ และเอกชนในครั้งนี้ เป็นการยกระดับบริการให้กับผู้ประกอบการที่สามารถลดระยะเวลากับหน่วยราชการในขั้นตอนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว ทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับนักลงทุนที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ ใน EEC  เพื่อการลงทุน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการผลิต ในการวางระบบการบริหารจัดการด้านการติดต่อหน่วยงานราชการให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งในอดีตอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ทำให้สูญเสียโอกาสในการลงทุนของผู้ประกอบการ” 

ด้านนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการเปิดศูนย์บริการแห่งนี้ว่า  “การจัดตั้งศูนย์บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ “ เป็นกลไกที่สำคัญ ที่จะเอื้อต่อการลงทุน  เพราะพื้นที่การลงทุนในภาคตะวันออก มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ ทั้งการนำเข้า และส่งออกสินค้า นับเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาค ดังนั้นการอำนวยความสะดวก ในด้านการขอใบอนุญาตต่าง ๆจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการให้บริการ ให้สอดรับกับภาวะการแข่งขัน และยังคงรักษาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศได้ 

“Government All-Service Center” ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน   เป็นการผนึกกำลังร่วมกัน ระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านการอนุมัติ และอนุญาต จากหน่วยราชการที่มีประสิทธิภาพ สู่การพัฒนาประเทศในยุคที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว และทันสมัยอย่างแท้จริง.”นายวิกรม กล่าว

นายพรรษา ใจชน ผู้จัดการฝ่ายประสานงานราชการและนิติกรรม บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารศูนย์บริการราชการ Government All-Service Center เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารจัดการศูนย์ฯ ว่า อมตะมุ่งเน้นการให้บริการและรองรับกิจกรรมต่างๆ ของผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป เพื่อสอดคล้องกับปรัชญา “All Win” ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจของกลุ่มอมตะ

“ปัจจุบันศูนย์บริการราชการ พร้อมให้บริการผ่าน 6 หน่วยงานหลัก และในอนาคต กลุ่มอมตะมีแผนขยายการให้บริการเพิ่มเติม โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรที่มีบทบาทสำคัญต่อสังคมเข้ามาให้บริการภายในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นายพรรษา กล่าว

อย่างไรก็ตาม นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมีผู้ประกอบการมากกว่า 800 ราย เข้าดำเนินธุรกิจอยู่ในพื้นที่ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการให้บริการที่มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนรองรับนักลงทุนใหม่ที่เล็งเห็นศักยภาพของอมตะ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้พื้นที่แห่งนี้เติบโตเป็นศูนย์กลางธุรกิจและอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งได้ในอนาคต

‘เอกนัฏ’ สั่งทลายโกดังสินค้า ไร้ มอก. ยึดของกลางกว่า 11 ล. หลังพบยังขายเกลื่อนออนไลน์ ทั้งที่เคยเกมแล้วแต่ไม่เข็ด

‘เอกนัฏ’ ส่ง ‘ทีมสุดซอย’ ทลายโกดังสินค้าไร้คุณภาพไม่มีมาตรฐาน มอก. พบขายเกลื่อนแพลตฟอร์มออนไลน์ ยึดของกลางกว่า 11.8 ล้านบาท ห่วง ปชช. ซื้อไปใช้เกิดอันตรายร้ายแรง วอน ปชช.ช่วยชี้เป้า 'แจ้งอุต' พร้อมลุยปราบทันที 'ฐิติภัสร์' เร่งสาวถึงต้นตอชี้ลักลอบนำเข้ามาขายถูกทุ่มตลาด เตือนแพลตฟอร์มออนไลน์-โมเดิร์นเทรด ปล่อยขายมีความผิดฐานมีส่วนร่วม โฆษณา-จำหน่ายสินค้าเถื่อน

(5 ก.พ.68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ชุดตรวจการสุดซอยกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม และนายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรบางปู (สภ.บางปู) จ.สมุทรปราการ เข้าตรวจสอบคลังสินค้าขนาดใหญ่   ของ บริษัท วินไทย เทรดดิ้ง จำกัด ตั้งอยู่ใน ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ หลังตรวจพบการโฆษณาขายสินค้าไม่มีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ผ่านช่องแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดัง จนสามารถขยายผลไปถึงคลังสินค้าดังกล่าวและตรวจยึดสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน มอก. หลายรายการ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, พาวเวอร์แบงค์, อะแดปเตอร์, ไดร์เป่าผม, หม้อหุงข้าว, หม้ออบลมร้อน, ของเล่น, หมวกกันน็อก และภาชนะพลาสติก เป็นต้น รวมมูลค่ากว่า 11.8 ล้านบาท

“สินค้าที่ตรวจยึดได้ทั้งหมดเป็นสินค้าที่ สมอ. ควบคุมต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน มอก. และต้องมีการแสดงเครื่องหมาย มอก. จึงจำหน่ายได้แต่มีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายออนไลน์ในราคาถูก จึงมีความผิดและหากประชาชนพบเห็นการขายสินค้าออนไลน์ที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. ขอให้ช่วยกันแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านแพลตฟอร์ม 'แจ้งอุต' หรือไลน์ไอดี 'traffyfondue' เลือกไปยัง 'แจ้งอุต' โดยเมื่อได้รับแจ้งกระทรวงอุตสาหกรรมจะส่งทีมสุดซอยลงดำเนินการทันที” นายเอกนัฏ ระบุ น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวเสริมว่า เชื่อว่าการลักลอบจำหน่ายสินค้าไม่มีคุณภาพ ลักลอบนำเข้าสินค้าควบคุมที่ไม่มี มอก. มาหลอกขายประชาชนในราคาถูก เช่นนี้ต้องทำเป็นขบวนการ เบื้องต้นได้ทำการยึดอายัดสินค้าที่ไม่มี มอก.ทั้งหมด ตามมาตรการปราบปรามสินค้าไม่ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันอันตรายร้ายแรงที่อาจเกิดกับประชาชนผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นไฟช็อต หรือไฟไหม้จากเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงสารปนเปื้อนในของเล่น และภาชนะพลาสติก นอกจากนี้ขบวนการนี้ยังมีพฤติกรรมทุ่มตลาดที่นำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานลักลอบจำหน่ายในราคาถูก ซึ่งเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้ประกอบการไทยที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องด้วย

น.ส.ฐิติภัสร์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับ บริษัท วินไทย เทรดดิ้ง จำกัด แห่งนี้เคยถูกตรวจสอบและยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 14 ม.ค.68 แต่ก็ถูกขยายผลจากผู้ค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ เมื่อเข้าตรวจสอบอีกครั้งของกลางที่ส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีมาตรฐานหายไปจำนวนมาก และแถบป้ายยึดอายัดของ สมอ.ถูกรื้อออก ซึ่งเป็นความผิดทางอาญาร้ายแรง จึงได้ประสานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) สมุทรปราการและตำรวจ สภ.บางปู สั่งหยุดการบรรจุและส่งสินค้า พร้อมยึดอายัดสินค้าที่ไม่มี มอก. ในคลังสินค้าไว้ทั้งหมด โดย บริษัท วินไทย เทรดดิ้ง จำกัด ได้จดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อวันที่ 21 พ.ค.64 ระบุชื่อ นายตง เริ่น สัญชาติจีน เป็นกรรมการบริษัท โดยบริษัทฯ ทำหน้าที่เป็นทั้งคลังเก็บสินค้าและ เป็นผู้จำหน่ายเองด้วย จึงมีความผิดฐานจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดฐานทำลายของกลาง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 พันบาท และความผิดฐานทำลายแถบป้ายยึดอายัด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

“หลังจากนี้จะทำการขยายผลไปถึงต้นตอว่า สินค้าที่ยึดอายัดเป็นของผู้นำเข้ารายใด โดย สมอ. จะดำเนินคดีอาญากับผู้นำเข้ารายนั้นอย่างถึงที่สุด ซึ่งบทลงโทษสำหรับผู้นำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนแพลตฟอร์มออนไลน์และเจ้าของโกดัง ที่ให้เช่าก็ถือว่ามีความผิดด้วยในฐานะผู้โฆษณา และ ร่วมจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน  6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” น.ส.ฐิติภัสร์ ระบุ

น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวในช่วงท้ายด้วยว่า ขอความร่วมมือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมไปถึงโมเดิร์นเทรดและคลังสินค้า ตรวจสินค้าที่เข้าสู่ระบบของตนเองอย่างเข้มงวด หากพบว่ามีการจัดจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานกระทรวงอุตสาหกรรมก็จำเป็นต้องดำเนินคดีอย่างถึงที่สุดเช่นกัน

‘เอกนัฏ’ ลุยสิงคโปร์ ศึกษาจัดการ PM 2.5 – ฝุ่นควันข้ามแดน หวังใช้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน - ดึงดูดลงทุนเพิ่ม

‘เอกนัฏ’ นำทีมเยือนสิงคโปร์ ศึกษาต้นแบบความสำเร็จด้านการจัดการ PM 2.5 และฝุ่นควันข้ามแดน เล็งนำแนวทางมาปรับใช้ในไทย ตอกย้ำความมุ่งมั่นของกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาลไทย ในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 และฝุ่นควันข้ามแดนอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและส่งเสริมการลงทุนในประเทศ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2568 ตนเองพร้อมด้วย นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ กนอ. ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ เพื่อศึกษาและหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา PM 2.5 รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการจัดการฝุ่นควันข้ามแดน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสิงคโปร์ และเข้าร่วมประชุมหารือกับนายโคห์ โพห์ คูน (Koh Poh Koon) รัฐมนตรีอาวุโสแห่งรัฐของกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมสิงคโปร์ ด้วย

นายเอกนัฏ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และฝุ่นควันข้ามแดน ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภูมิภาคอาเซียนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจ  สิงคโปร์ ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยฝุ่นควันข้ามแดนเพื่อป้องกันและลดมลพิษจากไฟป่าและไฟบนพื้นดิน โดยมีความร่วมมือในการติดตามตรวจสอบ แลกเปลี่ยนข้อมูล และเทคโนโลยีระหว่างกัน ซึ่งการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยทุกฝ่ายต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวม รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหา PM 2.5 การกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เพื่อให้ชุมชนและภาคอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหา PM 2.5 และปัญหาฝุ่นควัน ไม่เพียงช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หากประเทศไทยสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้มากขึ้น

“เราต้องการให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหา PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ จึงเป็นวาระสำคัญที่เราต้องเร่งดำเนินการแก้ไข” นายเอกนัฏ กล่าว

ด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวเสริมว่า กนอ.สามารถนำแนวทางเหล่านี้มาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในนิคมอุตสาหกรรมได้ โดยการกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดสำหรับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับโรงงานที่ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐาน ส่งเสริมให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดและเป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างจริงจัง

“กนอ.ชื่นชมและเห็นด้วยกับหลักการของสิงคโปร์ ในการจัดการปัญหาฝุ่นควัน และพร้อมนำแนวทางดังกล่าว มาปรับใช้ในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่ง กนอ.มุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามมาตรฐานและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา PM2.5 โดยเราต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน” นายสุเมธ กล่าว

สำหรับการเดินทางเยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2568 คณะได้มีการประชุมหารือกับกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม สิงคโปร์ (Ministry of Sustainability and the Environment) ณ สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (The National Environment Agency : NEA, Singapore ) โดยมีนางอุรีรัชต์ เจริญโต เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐสิงคโปร์ เข้าร่วมในการประชุมหารือในครั้งนี้ด้วย โดยการเยือนสิงคโปร์ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา PM 2.5 และฝุ่นควันข้ามแดนอย่างยั่งยืนในอนาคต

‘เอกนัฏ’ สั่งทลาย รง. ลักลอบหลอมชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ พบของกลางทั้งสายทองแดง – ปลั๊กพ่วง มูลค่าเกือบ 5 ล้านบาท

(11 ก.พ. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการทีมตรวจสุดซอยนำโดย นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร เจ้าหน้าที่สำนักงานมาตราฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เข้าตรวจสอบตามข้อร้องเรียนของประชาชน ตรวจค้นโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่หมู่ 2 ต.กาหลง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งต้องสงสัยการกระทำผิดกฎหมายและพบการลักลอบปล่อยควันดำในช่วงเวลากลางคืน พบโกดังขนาดใหญ่เป็นที่ตั้งของบริษัท หงเยวี่ย รีนิวเอเบิล รีซอร์สเซส เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการหลอมโลหะและคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตราย เช่น เศษเหล็ก เศษโลหะฯ ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ มีกรรมการ 1 รายเป็นชาวจีน คือ นายสื่อ ซวิ่นโป 

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก “แจ้งอุต” ขอให้เข้าตรวจค้นโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่หมู่ 2 ต.กาหลง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ต้องสงสัยมีการกระทำผิดกฎหมายและพบการลักลอบปล่อยควันดำในช่วงเวลากลางคืน จึงได้แจ้งทีมตรวจสุดซอยเข้าตรวจสอบพบการกระทำที่ฝ่าฝืนและละเมิดคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างร้ายแรง จึงออกคำสั่งหยุดประกอบการทั้งหมด พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาครอบครองวัตถุอันตราย ทำลายสิ่งผูกมัดประทับตราที่เครื่องจักร เคลื่อนย้ายทำลายของกลางที่เจ้าหน้าที่ยึดอายัดไว้ และละเมิดและฝ่าฝืนเจ้าพนักงาน นอกจากนี้ยังได้เข้าตรวจสอบบริษัท ยูไนเต็ท ไป่เจีย อิเล็คทรอนิคส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผลิตสวิทซ์ไฟฟ้า ปลั๊กไฟฟ้า เต้าเสียบและอุปกรณ์ไฟฟ้า มีนายเย จวินฟา และ นายเย เจ่อเซิน เป็นกรรมการ พบปลั๊กพ่วง จำนวน 83,200 ชุด สายไฟฟ้าทองแดง จำนวน 42 ม้วน เต้าเสียบและเต้ารับสำหรับที่อยู่อาศัย จำนวน 50 หน่วย มูลค่ารวมกว่า 4,787,000 บาท จึงได้สั่งยึดอายัดทั้งหมดและแจ้งข้อกล่าวหากระทำผิดตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ทำผลิตภัณฑ์ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

“หากประชาชนพบเห็นปัญหาหรือเหตุต้องสงสัยเกี่ยวกับการประกอบการอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้องหรือสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่าน "แจ้งอุต" https://landing.traffy.in.th?key=wTmGfkav หรือไลน์ไอดี “traffyfondue” เพื่อกระทรวงฯ จะเร่งส่งทีมสุดซอยลงพื้นที่จัดการกับปัญหาให้ประชาชนในทันที” เลขาฯ พงศ์พล กล่าวทิ้งท้าย

เอกนัฏ’ ชื่นชม!! ‘ชาวไร่อ้อย - โรงงานน้ำตาล’ ชี้!! ฮีโร่ช่วยลดฝุ่น PM2.5 หลังอ้อยเผาเหลือ 9% ดันแปรรูปสู่พลาสติกชีวภาพ ดึงเงินลงทุน 2 หมื่นล้าน

(12 ก.พ. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากที่ตนได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ขอความร่วมมือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด งดเผาอ้อยก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว และขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาลให้รับเฉพาะอ้อยสดเข้าหีบ โดยชะลอ ระงับ ยับยั้ง และยุติการเผาไร่อ้อย พร้อมทั้งยุติการรับอ้อยเผาเข้าหีบ ตามแนวทางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ฝุ่นละออง PM 2.5) ของรัฐบาลและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 จากสถิติการรับอ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาล 58 แห่งทั่วประเทศ พบว่า ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลให้ความร่วมมือในการตัดและรับอ้อยเผาเข้าหีบต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ที่ระดับ 9% ดันอ้อยสดพุ่งกว่า 91% ส่งผลให้ฝุ่นพิษ PM2.5 ลดลง และมีส่วนช่วยให้ประชาชนได้รับอากาศบริสุทธิ์ ใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมกลางแจ้งตามปกติ

นายเอกนัฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ตนได้พบหารือกับนายโรเจอร์ มาร์คิโอนี่ ผู้อำนวยการธุรกิจทวีปเอเชีย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท Braskem Siam บริษัท Braskem S.A. ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกในอุตสากรรมการพลาสติกชีวภาพ มีความสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทย โดยมีแผนจัดตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ ซึ่งต้องการเฉพาะวัตถุดิบเอทานอลที่ผลิตจากอ้อยที่ปลูกโดยไม่ก่อมลพิษ และปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ จะต้องผลิตจากอ้อยตัดสดไม่เผาแปลงเท่านั้น โดยมีด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท กำลังการผลิต 2 แสนตันต่อปี โดยจะต้องใช้เอทานอล 500 ล้านลิตรต่อปี ถือเป็นโอกาสทองของประเทศไทยที่จะมีอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงในประเทศ เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อยกระดับทักษะการทำงานแรงงานไทยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนและหารือแนวทางทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการปลูกและเก็บเกี่ยวอ้อยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการเผาอ้อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายภาครัฐในการลดมลพิษทางอากาศและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน

“ผมขอชื่นชมและขอขอบคุณเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ซึ่งเป็นฮีโร่ของคนไทยช่วยลดฝุ่น PM2.5 จากการร่วมมือร่วมใจผลักดันการตัดอ้อยสด ลดการเผาอ้อย ช่วยให้คนไทยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว และเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน การพัฒนาอ้อยสดไม่เผาให้เป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับพลาสติกชีวภาพจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรไทย ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน” นายเอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top