เอกนัฏ ตอบชัดเจน!! ไม่ยอมให้ใครมา ทำมาหากิน บนความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน
เอกนัฏ ตอบชัดเจน!!
ไม่ยอมให้ใครมา ทำมาหากิน บนความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน

เอกนัฏ ตอบชัดเจน!!
ไม่ยอมให้ใครมา ทำมาหากิน บนความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน
(15 ธ.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยถึงกรณีให้ความช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้ เนื่องจากมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันว่า
"จากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ทั้ง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง สส.ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ลงพื้นที่เร่งให้ความช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ร้อน จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือน้ำท่วม โรงครัวอาหารและลำเลียงข้าวของเพื่อส่งต่อช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัย ผมขอให้กำลังใจพี่น้องผู้ประสบภัยและผู้ปฏิบัติงานทุกท่าน" นายเอกนัฏ กล่าว
(15 ธ.ค. 67) สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง ประเมินผลงานกระทรวงสังคมและเศรษฐกิจ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,156ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10 – 14 ธันวาคม พ.ศ.2567ที่ผ่านมา
เมื่อถามถึงรัฐมนตรีประจำกระทรวงด้านสังคมที่ประชาชนพึงพอใจ 3 อันดับแรก พบว่า กระทรวงมหาดไทยโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้คะแนนสูงสุดอันดับหนึ่ง เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน ได้ 7.52 คะแนน โดยมีผลงานด้านการจัดระเบียบสังคม ทลายแหล่งมั่วสุมตามสถานบันเทิง การแก้ไขปัญหายาเสพติด การเยียวยาปัญหาน้ำท่วม ภัยพิบัติ การพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยว เศรษฐกิจพอเพียง พึ่งพาตนเอง เศรษฐกิจสินค้าโอทอป (OTOP) และการพัฒนาท้องถิ่น สาธารณูปโภค น้ำ ไฟฟ้า ถนนหนทาง ที่ดินทำกิน สิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียว ชีวิตความเป็นอยู่ทั่วไปของประชาชน การพัฒนาชุมชนและเมือง เป็นต้น
รองลงมาอันดับที่ 2 คือ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ 7.41คะแนน โดยมีผลงานด้าน สิทธิประโยชน์ประกันสังคม การสนับสนุนให้ประชาชนมีงานทำ เพิ่มโอกาสการจ้างงานสำหรับประชาชน มีรายได้ มีความปลอดภัยในการทำงาน สวัสดิการสำหรับแรงงาน การดูแลผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน การฝึกอบรมในด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับแรงงาน เป็นต้น
อันดับที่ 3 ได้แก่ นาย วราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ 7.22 คะแนน โดยมีผลงานด้านการดูแลผู้สูงอายุในหลายด้านเช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การส่งเสริมสุขภาพ การพัฒนาดูแลผู้สูงอายุศูนย์พักฟื้นและกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ การให้ความรู้เพิ่มทักษะการเข้าถึงสิทธิและบริการต่าง ๆ การปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน การส่งเสริมรับรองสิทธิเด็ก การเยียวยาดูแลผู้ยากไร้ผู้ประสบภัยในชุมชนที่ขาดแคลน การพัฒนาที่อยู่อาศัย การแก้ปัญหาชุมชนแออัด เป็นต้น
เมื่อสอบถามถึงกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่ประชาชนพึงพอใจ3 อันดับแรก ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1 เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน ได้ 7.35 คะแนน โดยมีผลงานการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาการนิคมอุตสาหกรรม ทำคนไทยมีอาชีพในนิคมพื้นที่ต่าง ๆ อุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ พลังงานทดแทนเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมสีเขียว การแก้ปัญหากากสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ พัฒนาอาชีพคนไทยในนิคมอุตสาหกรรม การสนับสนุนธุรกิจ SME และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมส่งออกสินค้าไทย เป็นต้น
อันดับที่ 2 ได้แก่ กระทรวงการคลัง โดย นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ 7.24 คะแนน โดยมีผลงานโดดเด่นได้แก่ การแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริการของธนาคารออมสิน การส่งเสริมการลงทุน การกระจายรายได้ การยกเลิกการขึ้นภาษี การจัดการเงินทุนและสินทรัพย์ของรัฐ การบริการของธนาคารกรุงไทยกระตุ้นเศรษฐกิจกระจายรายได้ให้ประชาชนผ่านแอปพลิเคชันการเงินต่าง ๆ และการใช้เทคโนโลยีการเงินของกระทรวงการคลัง เป็นต้น
อันดับที่ 3 ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ได้ 7.01 คะแนน โดยมีผลงานด้านการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีค้าขายออนไลน์ การซื้อสินค้า การบริการเทคโนโลยีดิจิทัล อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การบริการของรัฐบาลดิจิทัล การสนับสนุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Ai ในภาคธุรกิจ การแก้ปัญหามิจฉาชีพออนไลน์ แก๊งคอลเซนเตอร์ และความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น
เมื่อวานนี้ (15 ธ.ค. 67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ หรือ ‘ลอรี่’ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึง สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง ‘ประเมินผลงานกระทรวงสังคมและเศรษฐกิจ’ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,156 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10–14 ธ.ค. ว่า
กระทรวงด้านเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่ประชาชนพึงพอใจ อันดับ 1 ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ได้คะแนนสูงสุด คะแนนเต็ม 10 คะแนน ได้ 7.35 คะแนน
โดยมีผลงานการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาการนิคมอุตสาหกรรม ทำคนไทยมีอาชีพในนิคมพื้นที่ต่างๆ อุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสีเขียว การแก้ปัญหากากพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การสนับสนุนธุรกิจ SME และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อเซฟสินค้าไทย
“ผลคะแนนได้สะท้อนความทุ่มเทการทำงานของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่พร้อมเดินหน้าปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย ถึงอย่างไรโพลล์ก็แค่กลุ่มตัวอย่าง ‘หลักพัน’ ขณะที่เราต้องทำให้คนทั้งประเทศ ‘หลักล้าน’ แปลว่างานพวกเรายังมีอีกเยอะ เดินหน้าปฏิรูปอุตสาหกรรมไปด้วยกันต่อครับ” เลขาฯ ลอรี่ กล่าวทิ้งท้าย
(17 ธ.ค. 67) ‘พลังงาน’ เดินเกมรุกจับมือ ‘อุตสาหกรรม’ เร่งปลดล็อกการอนุมัติด้านไฟฟ้าให้เร็วขึ้น หนุนใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในอุตสาหกรรม S-Curve พร้อมผลักดันการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน มุ่งลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และเพิ่มศักยภาพธุรกิจไทยอย่างเป็นรูปธรรม
เปิดมิติใหม่ของการบูรณาการงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งปลดล็อกลดขั้นตอนขออนุญาตด้านไฟฟ้ายกระดับสู่ One Stop Service ชูแนวทางผลักดันเชื้อเพลิงชีวภาพไปสู่อุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่ารองรับการยกเลิกอุดหนุน และร่วมผลักดันกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน คิดไกลดูแลเทคโนโลยีพลังงานตั้งแต่ผลิตถึงการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ที่หมดอายุ นำระบบ Big Data ยกระดับการอนุรักษ์พลังงาน พร้อมประสานพลังพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมรองรับพลังงานไฮโดรเจนและการลงทุนจากต่างประเทศ
เมื่อวันที่ (16 ธันวาคม 2567) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งนำโดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมผู้บริหารระดับสูงทั้ง 2 กระทรวง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายสำคัญระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ได้แก่
ประเด็นการดำเนินการ One Stop Service การอนุมัติ/อนุญาตด้านไฟฟ้า เพื่อลดขั้นตอนกระบวนการและระยะเวลาการอนุมัติ/อนุญาตด้านไฟฟ้าให้ผู้ประกอบการมีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการยกเลิกขั้นตอนขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4 ลำดับที่ 88) จาก พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 แล้ว โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายว่าด้วยการยกเลิกใบอนุญาต รง.4 ดังกล่าว รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สำหรับภาคประชาชนที่กระทรวงพลังงานเตรียมส่งเสริมในปีหน้า เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น
ที่ประชุมยังมีการหารือประเด็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เชื้อเพลิงชีวภาพในอุตสาหกรรม S-Curve เพื่อเพิ่มมูลค่า เนื่องจากมาตรการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2569 ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นต้นทางของเอทานอลจะได้รับผลกระทบ กระทรวงพลังงานจึงเตรียมมาตรการเพื่อส่งเสริมการใช้ทดแทนเอทานอลในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง การสกัดสมุนไพร สุราสามทับ พลาสติกชีวภาพ หรือการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง คาดว่าจะสามารถผลักดันให้สามารถจำหน่ายเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นเพื่อชดเชยบางส่วนได้ในทันที ส่วนปริมาณที่เหลือจะหารือเพื่อลดผลกระทบต่อเกษตรกรและเป็นการเพิ่มมูลค่าให้เอทานอลมากขึ้นต่อไป
ในส่วนของไบโอดีเซล จะร่วมกันผลักดันกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน เพื่อสร้างกรอบในการกำหนดทิศทางการใช้ประโยชน์ของปาล์มน้ำมัน พร้อมไปกับการเพิ่มโอกาสนำเชื้อเพลิงชีวภาพให้สามารถผ่านเกณฑ์ความยั่งยืนของสากลเพื่อนำไปผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) รองรับความต้องการที่สูงขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือแนวทางการรับซื้อใบอ้อย/ยอดอ้อยเพื่อผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาที่ประชาชนต้องเผชิญอย่างต่อเนื่องในฤดูเก็บเกี่ยวอ้อย โดยข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) พบว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลสามารถรองรับการใช้ใบอ้อย/ยอดอ้อยในสัดส่วน 10 - 30% พร้อมร่วมพิจารณาการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมโดยไม่กระทบค่าไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ ซึ่งกระทรวงพลังงานประเมินอัตรารับซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวลจากใบอ้อย/ยอดอ้อยอยู่ในระดับ 2.67 บาท/หน่วย ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมรับข้อเสนอและคาดว่าในปีหน้าจะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้ใบอ้อยในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นหลังจากดำเนินนโยบายการรับซื้อในราคาที่จูงใจ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ลดการเผาแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งในการลดฝุ่น PM2.5 ได้อีกด้วย
รวมทั้งประเด็นหารือความร่วมมือแนวทางการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่ที่หมดอายุใช้งาน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วจากการใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านพลังงาน ซึ่งทั้งสองกระทรวงเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงขอความร่วมมือจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำกับคุณภาพและความปลอดภัยของแผงโซลาร์เซลล์ และให้ทบทวนมาตรฐานแผงโซลาร์เซลล์ โดยเพิ่มเติมแนวทางการบริหารจัดการแผงโซลาร์เซลล์ให้ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดการแผงที่หมดอายุใช้งานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการร่างกฎหมายและจัดตั้งกองทุนเพื่อบริหารจัดการสำหรับแก้ไขปัญหาและชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากแผงโซลาร์เซลล์ ทั้งนี้กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงาน กกพ. มีฐานข้อมูล ปริมาณการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ผลิตไฟฟ้าทั้งในระบบและนอกระบบที่สามารถนำไปประเมินปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จากแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุในอนาคตได้ รวมทั้งจะร่วมมือพัฒนาส่งเสริมการนำแบตเตอรี่จากยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) มาใช้งานเป็น 2nd Life Battery คือนำไปใช้งานร่วมกับแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน หรือเป็นระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) สำหรับบ้าน อาคาร โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
ในด้านประเด็นการส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจนในภาคอุตสาหกรรมนั้น ตามแผนการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน ซึ่งเชื่อมโยงกับร่างแผน PDP2024 มีการกำหนดสัดส่วนผสมไฮโดรเจนกับก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนร้อยละ 5 ภายในปี 2573 เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในภาคพลังงาน โดยขอความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกันเตรียมการให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงพิจารณาแนวทางการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และเครื่องจักร รองรับการใช้เชื้อเพลิงผสมดังกล่าว โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมตามแนวท่อก๊าซธรรมชาติ โดยทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้นี้ เพื่อประเมินความคุ้มค่าทางการเงินและเศรษฐศาสตร์สำหรับการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) อยู่ระหว่างผลักดันการใช้ Factory Energy Code ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านการดำเนินนโยบาย BCG พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลโรงงาน เครื่องจักรของอุตสาหกรรม และข้อมูลการใช้พลังงานในโรงงานควบคุมและนอกข่ายควบคุม
“ผมถือว่าเป็นโอกาสดีที่ได้กำกับดูแลทั้งกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งโดยเนื้อหาของงานทั้งในภาคนโยบายและภาคปฏิบัติมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันอย่างมาก การได้หารือร่วมกับหน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมท่าน เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นมิติใหม่ที่จะสร้างความร่วมมือให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญคือการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้งภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรมที่ส่งผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน รวมทั้งสร้างความชัดเจนในการพลิกโฉมการบริหารจัดการพลังงานสะอาดและการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรมด้วยมาตรการที่เป็นรูปธรรม ช่วยนำประเทศเข้าใกล้เป้าหมายที่ประกาศจะสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065” นายพีระพันธุ์ กล่าว
ด้านนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ กล่าวว่า “รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำงานกันอย่างใกล้ชิด โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งเป้าที่จะให้ภาคอุตสาหกรรมดัน GDP ของไทยให้เพิ่มขึ้น 1% โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ เน้นการเพิ่มมูลค่าในด้านการผลิต ด้านการเกษตร และผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อในการเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ที่สำคัญจะต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมแบบมีความรับผิดชอบ และพร้อมที่จะส่งเสริมธุรกิจใหม่อย่างการนำขยะมาสร้างมูลค่า ซึ่งก็ต้องใช้กฎหมายเข้ามาเป็นตัวช่วยผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะพยายามดำเนินการให้เสร็จให้เร็วที่สุด”
‘เอกนัฏ’ เผย โตโยต้า ยืนยันรักษาฐานการผลิตในไทย พร้อมอัดเงินลงทุนกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท อัปเกรดฐานผลิตสู่ไฮบริด พร้อมเดินหน้าถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญให้ไทย
(18 ธ.ค.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผย การจัดงานมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2567 วันนี้ได้มีการเชิญน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มามอบรางวัลให้กับอุตสาหกรรมดีเด่น จำนวน 42 รางวัล ซึ่งมีทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดย่อม และรางวัลสูงสุดในฐานะอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมมีการมอบรางวัลให้กับบริษัท โตโยต้า ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายอากิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น มารับรางวัลด้วยตนเอง
ทั้งนี้ นายเอกนัฏ เปิดเผยว่า ก่อนเข้ารับรางวัล นายอากิโอะ ได้เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี และได้รับคำยืนยันว่า ทางโตโยต้าจะรักษาฐานการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย และจะนำเม็ดเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการลงทุน เพื่ออัปเกรดสายการผลิตไปสู่รถไฮบริด
ซึ่งจากเดิมที่เป็นฐานการผลิตของเครื่องยนต์สันดาปภายใน ก็จะมีการเพิ่มเติมในชิ้นส่วนไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ เกียร์ ก็จะมีการลงทุนเพิ่ม ซึ่งจะมีการจ้างงาน และส่งต่อถ่ายทอดเทคโนโลยี มีการวิจัยและพัฒนาบุคลากรให้มีการเดินหน้าต่อ
ทั้งนี้ตนเองได้ขอให้ทางบริษัทโตโยต้า เป็นทูตทางอุตสาหกรรมของกระทรวง ซึ่งจะเป็นตัวแทนของเราในการสื่อสาร เชื่อมโยงกับภาคเอกชน พร้อมกับย้ำว่า จะพยายามขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้ฟื้นกลับมา และดึงภาคเกษตรขึ้นมาด้วย
ดันให้เศรษฐกิจของประเทศโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 1% นี้ถือเป็นความตั้งใจของตนที่ไม่ใช้เงินของประเทศแม้แต่บาทเดียว และไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและสิ่งแวดล้อมด้วย
ขณะที่ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้าฯ ยินดีที่จะร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการส่งเสริมภาคการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ภายหลังการหารือ นายโตโยดะและคณะ ได้เข้าร่วมพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 (The Prime Minister’s Industry Award 2024) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมอบรางวัล ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้รับรางวัลใน 3 สาขา 1) Prime Minister's BEST industry Award 2) MIND Ambassador Award และ 3) โรงงานสาขาเกตเวย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับรางวัลประเภท อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตอีกด้วย
‘เอกนัฏ’ ยัน 36 สส. รวมไทยสร้างชาติ ยังปึ้ก ไม่ทิ้ง ‘พีระพันธุ์’ ซบพรรคโอกาสใหม่ ลั่นเลือกตั้งครั้งหน้า ยังมี รทสช. พร้อมมั่นใจกวาด สส.ได้เพิ่ม
(18 ธ.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าว 25 สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ เตรียมย้ายไปสังกัดพรรคโอกาสใหม่ ว่า
ตนเห็นข่าวนี้จากติ๊กต็อก เป็นเพียงข่าวลือ ยืนยันไม่ใช่ความจริง วันก่อนนายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง สส.ชลบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ออกมายืนยันแล้วและตนขอยืนยันด้วยว่า สส.ทุกคนยังอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ไปไหน วันนี้ยังเดินหน้าทำงานต่อ ที่ผ่านมาในการทำงานร่วมกับรัฐบาลก็ได้รับการตอบรับจากประชาชนที่ดี ทุกคนยังยึดในจุดยืนของพรรค
เมื่อถามว่ายืนยันใช่หรือไม่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะยังมีพรรครวมไทยสร้างชาติ นายเอกนัฏ กล่าวว่า มีแน่นอน มีแล้ว มีอยู่ มีต่อ สมาชิกทุกคนจะยังอยู่ถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ตนขอเอาตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นประกัน ตนอยู่ที่นี่แล้วมีความสุข ไม่ไปไหนแน่นอน วันนี้พรรคหลอมรวมเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน และยังเชื่อมั่นใจนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค ในการทำหน้าที่รัฐบาลและการทำการเมืองต่อไป
เมื่อถามว่าความสัมพันธ์ในพรรคยังเหนียวแน่นอยู่หรือไม่ นายเอกนัฏ กล่าวว่า เหนียวแน่นเหมือนเดิม อนาคตก็ด้วย แม้ตอนเลือกตั้งเราจะโดนปรามาส ไม่ได้ สส. แต่ก็ได้มา 36 ที่นั่ง แต่ก็โดนปล่อยข่าวว่าพรรคแตก มีปัญหา ซึ่งตนมองว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะปล่อยมาเป็นปีแล้ว แต่ยืนยันว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะยังอยู่เหมือนเดิม วันนี้นายพีระพันธุ์ ยังเดินหน้าสร้างกระแสให้พรรค ทำงานร่วมกับ สส. สร้างฐานการเมือง และเชื่อว่าเที่ยวต่อไปจะได้ สส.มากกว่าเดิม ย้ำว่าทุกคนมีกำลังใจ และไปในทิศทางเดียวกัน
‘เอกนัฏ’ ส่ง ‘ทีมสุดซอย’ ตรวจเข้ม ‘รง. เหล็กซิน เคอ หยวน’ ที่เกิดเหตุไฟไหม้ เผยไม่แจ้งย้ายถังก๊าซจนเกิดเรื่อง สั่งปิดยาวปรับปรุงมาตรการความปลอดภัย ‘ฐิติภัสร์’ เผย สมอ.พบผลิตเหล็กไม่ทำตามหลักเกณฑ์สั่งแก้ไขทันที ส่อโดนยึดใบอนุญาต จ่อฟันข้อหาเพิ่มหากผลตรวจเหล็กตกเกรด
เมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ภายใน บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ตั้งอยู่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง จากการรั่วไหลของถังก๊าซ LPG ขนาด 110,000 ลิตร ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ จำนวน 5 คน เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.67 ว่า ได้ส่งชุดตรวจการสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายนนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผอ.กองตรวจการมาตรฐาน 1 เจ้าหน้าที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ
นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด มีการเคลื่อนย้ายถังก๊าซ LPG โดยไม่แจ้งขออนุญาตจากสำนักงานพลังงานจังหวัดระยอง ซึ่งในส่วนนี้สำนักงานพลังงานจังหวัดระยองได้สั่งระงับไม่ให้ใช้งานภายในบริเวณถังก๊าซที่เกิดเหตุ สั่งห้ามนำถังก๊าซที่เกิดเหตุกลับมาใช้ใหม่และต้องแก้ไขพื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุให้กลับอยู่สภาพเดิมตามที่เคยขออนุญาตไว้ โดยต้องมีวิศวกรควบคุม พร้อมปรับเงินจำนวน 5 หมื่นบาท ในส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้สั่งให้ผู้ประกอบการต้องตรวจสอบระบบไฟฟ้าภายในทั้งหมด ตรวจสอบสภาพถังก๊าซให้เป็นไปตามมาตราฐานทั้งโรงงาน ตรวจสอบสภาพอาคารภายในโรงงานทั้งหมดว่าแข็งแรงปลอดภัยหรือไม่
“อุตสาหกรรมจังหวัดระยองได้สั่งให้ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด หยุดประกอบกิจการเป็นระยะเวลา 30 วัน และต้องแก้ไขตามข้อสั่งการ รวมถึงแก้ไขสิ่งแวดล้อมภายในโรงงานทั้งหมด โดยต้องมีวิศวกรเฉพาะด้านรับรอง และแจ้งให้อุตสาหกรรมจังหวัดระยองร่วมตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยก่อนจึงจะพิจารณาอนุญาตให้ประกอบกิจการอีกครั้ง” นายเอกนัฏ กล่าว
น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวเสริมว่า ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ร่วมตรวจสอบสายการผลิตและผลิตภัณฑ์เหล็กของ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ด้วย โดยพบว่า ผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ สมอ. โดยมีการซื้อวัตถุดิบจากผู้ขายที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอยู่ในระบบทะเบียนของบริษัท ไม่กำหนดเกณฑ์ตัดสินความสามารถของผู้ขายวัตถุดิบ กำหนดเกณฑ์การตัดสินทางเคมีไม่สอดคล้องกับมาตรฐานที่ มอก. กำหนด สมอ.จึงสั่งให้แก้ไขปรับปรุงภายใน 15 วัน หากไม่แจ้งกลับมาจะถูกพักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการ
“สมอ.ยังได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เหล็กไปตรวจสอบว่าเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์หรือไม่ด้วย คาดว่าจะได้ผลในสัปดาห์หน้า และหากพบว่าไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป” น.ส.ฐิติภัสร์ ระบุ
(23 ธ.ค.67) เป็นธรรมเนียมของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลที่ต้องมีการตั้งฉายารัฐบาล คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีบางรายที่สะท้อนต่อการทำงานตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยหนึ่งในรัฐมนตรีที่ได้รับการตั้งฉายาคือ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ซึ่งมาพร้อมกับฉายา 'รวม(เพื่อ)ไทยอ้างชาติ'
คณะสื่อมวลชนประจำทำเนียบระบุว่า เรื่องจริงหรือฝัน ทำบรรดาแม่ยก แทบไม่เชื่อสายตา ว่า 'ขิง เอกนัฏ' คีย์แมนรทสช.ต้องยอมทำเพื่อชาติ ประกาศร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย เคลียร์ประเด็นคุณสมบัติคนเคยมีคดี ก่อนนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีแบบใส ๆ ภายใต้การนำของ 'คนชินวัตร' ลั่นในใจไม่ลบ ไม่เคยลืมอดีต ก่อนยกวาทะเด็ด "ต้องทำงานโดยคิดถึงบ้านเมืองเป็นหลัก ถ้าคิดถึงบ้านเมือง ก็ทำงานร่วมกันได้" ทิ้งอดีตไว้ข้างหลัง เร่งโชว์ผลงานเดินเครื่องกวาดล้างโรงงานเถื่อน สารเคมีอันตราย ให้เข้าตาประชาชน
(24 ธ.ค.67) นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานฯ มีพันธกิจในการบริหารจัดการ กำกับดูแลธุรกิจอุตสาหกรรมให้มีการประกอบการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัย ตามกรอบกฎหมาย และข้อตกลงระหว่างประเทศ ภายใต้นโยบายที่ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบไว้ “ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่” ผ่านการขับเคลื่อนนโยบาย 3 ด้าน 'สู้ เซฟ สร้าง' 'สู้' กับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมายทำร้ายประชาชนและสร้างมลพิษ 'เซฟ' พี่น้องอุตสาหกรรมไทย สร้างความเท่าเทียม สร้างรายได้ สร้างโอกาส ในการแข่งขันทางธุรกิจ และ 'สร้าง' อุตสาหกรรมเศรษฐกิจยุคใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก
อธิบดีพรยศฯ กล่าวต่อว่า การจะ 'สู้' กับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ทำร้ายประชาชนและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมนั้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการกำกับดูแลโรงงานทั่วประเทศ 'การปฏิบัติการตรวจสุดซอย' จึงเป็นปฏิบัติการเชิงรุก ในการตรวจสอบกำกับโรงงานเชิงลึกในทุกมิติ ทั้งด้านการติดตั้งเครื่องจักร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการบริหารจัดการสารเคมี วัตถุอันตราย และกากอุตสาหกรรม ต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ หลักอาชีวอนามัย เป็นไปตามกฎหมายโรงงาน กฎหมายวัตถุอันตราย และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น พร้อมกับบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั่วประเทศ
และจากประเด็นที่ รัฐมนตรีเอกนัฏฯ ส่งชุดตรวจสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รวอ.พร้อมด้วย นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้าตรวจโรงงานในอำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี พบการละเมิดคำสั่งของกรมโรงงานอุตสาหกรรมถึง 3 ครั้ง ที่มีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการ และปิดโรงงาน โดยโรงงานมีการฝ่าฝืนประกอบกิจการโรงงาน รวมถึง เคลื่อนย้ายของกลาง ติดตั้งเครื่องจักร ติดตั้งเตาหลอมโลหะโดยไม่มีวิศวกรรับรอง และลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในบริเวณบ่อน้ำขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับโรงงานเพิ่มขึ้น และยังพบ 'เอกสารลับ' ชี้มีการเบิกจ่ายเงินนอกระบบให้กับบุคคลหลายตำแหน่ง จากหลายหน่วยงาน ทำให้เกิดเป็นข่าวในสื่อหลายสำนัก
อธิบดีพรยศฯ เพิ่มเติมว่า จากประเด็นดังกล่าว ทางกรมโรงงานฯ มิได้เพิกเฉยแต่อย่างใด การที่โรงงานจงใจฝ่าฝืนคำสั่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมหลายครั้ง ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย หากตรวจสอบพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของกรมโรงงานฯ มีส่วนเกี่ยวข้อง จะดำเนินการอย่างเฉียบขาด
“ผมมีนโยบายที่จะให้ผู้ใต้บังคับบัญชา กำกับดูแล ตรวจสอบโรงงานให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ผู้มารับบริการตามขั้นตอน ไม่มีเรียกรับสินบน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเพื่อคุ้มครองหรือดูแลผู้ประกอบกิจการโรงงาน ให้เกิดความเท่าเทียม สร้างรายได้ สร้างโอกาส ในการแข่งขันทางธุรกิจ พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ 'ไม่ปลอดภัย ไม่อนุญาต' การตั้งและประกอบกิจการโรงงานต้องสะอาด สะดวก โปร่งใส ไม่เกรงใจอิทธิพล เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างสมดุล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยอยู่ร่วมกับสังคมและชุมชนได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายรัฐมนตรีเอกนัฏฯ" นายพรยศฯ กล่าวทิ้งท้าย