Monday, 19 May 2025
เอกนัฏพร้อมพันธุ์

‘เอกนัฏ’ หนุน!! เปลี่ยนใบอ้อยเป็นเงิน สร้างรายได้เกษตรกร วอน!! หยุดเผา ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 สร้างมูลค่าเพิ่ม อย่างยั่งยืน

(11 ม.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ตนได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ปฏิรูปอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่มีความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 โดยได้เสนอของบประมาณจากรัฐบาลกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% ซึ่งจะมีการจ่ายเงินสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสด และเพิ่มราคารับซื้อใบและยอดอ้อย เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบด้านพลังงานป้อนโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลหรือโรงงานที่ใช้พลังงานชีวมวล ซึ่งมาตรการดังกล่าว

จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างยั่งยืน เนื่องจากจะทำให้ชาวไร่อ้อยเห็นคุณค่าและช่องทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มของใบและยอดอ้อย ทำให้ลดการเผาใบและยอดอ้อยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ด้านนายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ภายหลังจากที่ สอน. ได้ทำจดหมายขอความร่วมมือไปยังโรงงานน้ำตาลทั้ง 58 แห่ง ให้รับเฉพาะอ้อยสดเข้าหีบ โดยชะลอ ระงับ ยับยั้ง และยุติการเผาไร่อ้อย พร้อมทั้งยุติการรับอ้อยเผาไฟเข้าหีบ ระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2568 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 12 มกราคม 2568 เวลา 23.59 น. เพื่อเป็นของขวัญวันเด็กสำหรับเยาวชนไทยทั้งประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล สะท้อนได้จากสถานการณ์อ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ ณ วันที่ 8 มกราคม 2568 ที่มีตัวเลขอ้อยถูกเผาอยู่ในระดับคงที่กว่า 4 ล้านตัน คิดเป็น 20.18% ของปริมาณอ้อยที่รับเข้าหีบทั้งหมดกว่า 19 ล้านตัน 

“สอน. จึงขอความร่วมมือมายังเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ช่วยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีผลิตส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาล รวมทั้งไม่เผาใบอ้อยหลังเก็บเกี่ยว ขณะเดียวกันขอความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาลให้งดรับซื้ออ้อยเผา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดการเกิดฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนใกล้เคียง รวมทั้งผลักดันมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และสร้างอากาศสะอาดและบริสุทธิ์ ไร้มลภาวะฝุ่น PM 2.5 ปฏิรูปอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ให้เป็นอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่มีความยั่งยืน ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล และแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างถาวรตามนโยบาย รัฐมนตรีฯ” นายใบน้อยฯ กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ‘ สั่งปิดโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าไทยอุดรฯ หลังพบฝ่าฝืนกฎหมายความปลอดภัยหลายข้อ

(15 ม.ค.68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ 'ทีมตรวจการสุดซอย' นำโดยพนักงานเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี บูรณาการร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานน้ำตาลของบริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด และโรงไฟฟ้าของบริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.คำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด มีการรับอ้อยเผาเข้าหีบสะสมสูงสุดจากโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 58 โรงงาน คิดเป็น 43.11% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด หรือกว่า 4.1 แสนตัน เทียบเท่าการเผาป่ากว่า 4.1 หมื่นไร่ โดยจังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนการรับอ้อยเผาเข้าหีบสูงสุดของประเทศ อีกทั้งยังพบว่า บริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำส่งให้กับโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี โดยบริษัทฯ ฝ่าฝืนกฎหมายความปลอดภัย มีการประกอบกิจการในสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงถึงชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานและประชาชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับโรงงาน 

นอกจากนี้ บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด ยังมีการประกอบกิจการที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนแก่พนักงานหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับโรงงานในหลายประเด็น เช่น มีการจัดเก็บหรือการดำเนินการเกี่ยวกับสารเคมี วัตถุอันตราย และกากอุตสาหกรรมที่ใช้และเกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ตู้ควบคุมไฟฟ้าอยู่ในสภาพชำรุดอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ อีกทั้ง มีการติดตั้งระบบดับเพลิงที่ไม่พร้อมใช้งานในหลายจุด อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีจึงมีคำสั่งด่วนที่สุดให้บริษัทฯ ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายทั้งหมด จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขโรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเข้มงวด

“ผมขอย้ำว่า การประกอบการโรงงานต้องมีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เหนือสิ่งอื่นใด การสร้างกำไรจากการทำธุรกิจอุตสาหกรรมต้องไม่เบียดเบียนสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและการทำธุรกิจของภาคส่วนอื่นด้วย” นายเอกนัฏฯ กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ เยือน ซาอุดีอาระเบีย ร่วมเสวนาโต๊ะกลม รับการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมแร่สู่พลังงานสะอาด

เมื่อวันที่ (14 ม.ค.68) กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย - นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมการเสวนาโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีในงาน Future Minerals Forum 2025 (FMF 2025) เพื่อร่วมกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมแร่พลังงานสะอาด พร้อมด้วยรัฐมนตรีและผู้แทนรัฐบาลจากประเทศต่าง ๆ กว่า 86 ประเทศ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการเสวนาโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีในงาน Future Minerals Forum 2025 (FMF 2025) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย ในระหว่างวันที่ 14-16 มกราคม 2568 ว่า การจัดประชุมโต๊ะกลม FMF 2025 ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือถึงทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมแร่และโลหะเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด โดยการขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำและการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดมีความจำเป็นต้องใช้แร่เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน รถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ โดยผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าความต้องการใช้แร่ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก (Critical minerals) มีแนวโน้มเพิ่มสูงอย่างน้อย 2 เท่าในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ในขณะที่ประเทศไทยมีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค (Regional Hub) และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเช่นกัน ไทยจึงมีบทบาทในฐานะผู้ใช้ผลิตภัณฑ์จากแร่ ในการจัดหาแร่ที่ผลิตอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงการสร้างกลไกรองรับการหมุนเวียนวัสดุกลับมาใช้ใหม่ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยสิ่งที่ประเทศไทยสนับสนุนและยืนยันมาตลอดคือการนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์ โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชนในพื้นที่และการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน

ด้าน ดร.อดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีเรื่องแร่แห่งอนาคต หรือ Future Minerals Forum 2025 ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยมีซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าภาพ โดยมีรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจากกว่า 86 ประเทศทั่วโลก อาทิ บราซิล แอฟริกาใต้ คองโก อินเดีย อียิปต์ อิตาลี ไนจีเรีย กาตาร์ ปากีสถาน คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน มาเลเซีย ไทย โมร็อกโก อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร เข้าร่วม ทั้งนี้ การประชุมมีการหารือในประเด็นหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนาแนวทางการทำเหมืองแร่อย่างยั่งยืนของภูมิภาค 2) การสร้างเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) เพื่อรองรับการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ด้านแร่ และ 3) การสร้างกรอบการพัฒนาด้านแร่กลุ่ม Critical minerals และพัฒนาโซ่มูลค่าในพหุภูมิภาค เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางดำเนินความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดเกิดขึ้นได้ตามเป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทำให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่ซึ่งนับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวมีความราบรื่น และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

‘อัครเดช’ หนุน!! ‘เอกนัฏ’ เข้มให้โรงงานผลิตน้ำตาล รับซื้อเฉพาะ ‘อ้อยสด’ ชี้!! ต้องควบคุมฝุ่น PM 2.5 สร้างอากาศให้บริสุทธิ์ เพื่อสุขภาพที่ดี ของปชช.

(19 ม.ค. 68) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี เขต 4 และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปดำเนินมาตรการคุมเข้มโรงงานผลิตน้ำตาล เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่า เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายอย่างเข้มงวดของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ดำเนินนโยบายให้โรงงานรับซื้อเฉพาะอ้อยสด ลดอ้อยไฟไหม้ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมก็ขอความร่วมมือไปยังโรงงานผลิตน้ำตาลทุกโรงงานและชาวไร่อ้อยทุกคนให้ช่วยกันลดปริมาณการเผาอ้อยลงให้ได้ตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด เนื่องจากการเผาอ้อยเป็นส่วนสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของการก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน จึงขอย้ำให้โรงงานช่วยประชาสัมพันธ์ชาวไร่อ้อยให้ทราบถึงผลเสียของการเผาอ้อยด้วย เพราะนอกจากจะทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 แล้ว การเผาอ้อยยังทำให้ความหวานของอ้อยลดลง น้ำหนักอ้อยก็ลดลง ที่สำคัญขายไม่ได้ราคาอีกทั้งไม่ได้เงินอุดหนุนจากภาครัฐ ที่สนับสนุนเงินค่าตัดอ้อยสดและส่งผลเสียต่อหน้าดินในการเพาะปลูกฤดูกาลผลิตถัดไปด้วย

นายอัครเดช ระบุด้วยว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรจัดส่งอ้อยสดกับโรงงาน ผ่านการให้เงินสนับสนุนกับชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดที่จะมีการประกาศตัวเลขให้ชาวไร่อ้อยได้ทราบในเร็ววันนี้ ขณะเดียวกันก็จะเร่งให้หน่วยงานรัฐดำเนินมาตรการเชิงรุกเข้าพื้นที่ให้ความรู้อย่างจริงจัง และตนเองก็เชื่อว่าสมาคมชาวไร่อ้อยจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะการลดฝุ่น PM 2.5 ก็จัดเป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาล อีกทั้งที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมก็เคยเชิญตัวแทนสมาคมชาวไร่อ้อยมาหารือกันในชั้นคณะกรรมาธิการฯ เกี่ยวกับการลดการเผาอ้อยแล้ว ซึ่งสมาคมฯ ก็เห็นด้วยกับมาตรการนี้และพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ และกระทรวงอุตสาหกรรม

“การเผาอ้อยจะส่งผลเสีย นอกจากก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน ยังทำให้อ้อยหวานน้อยลง น้ำหนักลดลง และส่งผลเสียต่อหน้าดินในการเพาะปลูกครั้งถัดไป ตนเองจึงเห็นด้วยกับนโยบายของนายเอกนัฏ พร้อมขอความร่วมมือชาวไร่อ้อยส่งอ้อยสดให้โรงงาน อย่าเผาอ้อย เพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5 เพื่อสุขภาพที่ดีของพี่น้องประชาชนและตัวเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเองด้วย” นายอัครเดช กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ เผย ‘ฉางอาน’ พร้อมลงทุนในไทยเพิ่ม รองรับยอดใช้รถยนต์ EV ทั่วโลกพุ่ง

(20 ม.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีสเอเชีย จำกัด ได้นำคณะผู้บริหารบริษัท ฉางอานฯเข้าพบ เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสที่ตนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมหารือแนวทางในการดำเนินกิจการของบริษัท ฉางอานฯ โดยมี นายณัฐพล รังสิตพลปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เข้าร่วมหารือด้วย

สำหรับการเข้าพบหารือในครั้งนี้ คณะผู้บริหารบริษัท ฉางอานฯ ให้ความสำคัญกับประเทศไทย โดยมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงสำหรับการลงทุน เนื่องจากเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และเป็นประเทศที่มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน สามารถที่จะรองรับการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ EV โมเดลใหม่ของบริษัท ฉางอานฯ เป็นอย่างดีซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสอดรับกับตลาดของผู้ซื้อทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่นิยมใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

นายเอกนัฏ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและตน รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่บริษัท ฉางอานฯ ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย ซึ่งมีความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งในด้านของโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และระบบสนับสนุนต่างๆ ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนจากทุกประเทศ รวมถึงบริษัทฉางอานฯ ด้วย เพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญของประเทศไทย

นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการออกใบอนุญาต โดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ร่วมกับสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AIEI) เพื่อหารือเรื่องนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการเพื่อการยื่นขอใบอนุญาต และเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมสามารถคัดกรองใบอนุญาต เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกกระบวนงาน

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากเรื่องร้องเรียนถึงระยะเวลาของการดำเนินการออกใบอนุญาต ด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่และระบบที่จำกัด ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทราบถึงปัญหาและพร้อมที่จะแก้ปัญหา ด้วยการพัฒนาระบบออกใบอนุญาตด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่จะช่วยลดเวลา และเพิ่มความโปร่งใสในทุกขั้นตอน เพื่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ จึงได้เชิญสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AIEI) ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และมีความร่วมมือกับ 6 มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ เข้ามาร่วมทีมในคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการออกใบอนุญาต โดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI)

โดยการประชุมในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปสู่การพัฒนาการยื่นขอและคัดกรองใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงงานและการขยายกิจการโรงงาน ใบอนุญาตวัตถุอันตราย ใบอนุญาตกากอุตสาหกรรม การศึกษาการตอบโต้ของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และผู้ประกอบการ การกำหนดจุดพิกัดโรงงานที่แม่นยำ รวมถึงแนวทางการพัฒนาระบบติดตามและตรวจสอบ (Track and trace) ของกระทรวงอุตสาหกรรมในอนาคตอีกด้วย

“การประชุมดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(Artificial Intelligence : AI) ในการออกในอนุญาต เพื่อลดระยะเวลา สร้างความโปร่งใส พร้อมสร้างความร่วมมือเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบ แก้ไขปัญหา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพของกระทรวงอุตสาหกรรมสู่ Industrial 5.0 ต่อไป” นายพงศ์พล กล่าว

‘เอกนัฏ’ ถก สภาธุรกิจไทย-จีน ร่วมพัฒนาอุตฯ เป้าหมาย เล็งผุดนิคมอุตฯคู่แฝดนำร่อง ระยอง-มณฑลอานฮุย

รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ หารือ สภาธุรกิจไทย-จีน พัฒนาอุตฯ เป้าหมาย ดันไทยขึ้นชั้นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของโลก เตรียมผุดนิคมอุตสาหกรรมคู่แฝดนำร่อง ระยอง-มณฑลอานฮุย 

เมื่อวันที่ (20 ม.ค.68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ นายเริน หงปิน ประธานสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นำคณะผู้บริหาร สภาธุรกิจไทย-จีน (TCBC) และสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CCPIT) เข้าพบเพื่อหารือแลกเปลี่ยนแนวทางด้านการค้าและการลงทุน โดยมี นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม ณ ห้องประชุมดอกรัก ชั้น 6 อาคารกรมดิษฐ์

รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าวว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนมีศักยภาพในการผลิต รวมถึงการวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำของจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จำนวน 7 บริษัท ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมสำคัญทั่วประเทศ เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานและบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย จึงมีกิจกรรมความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย อาทิ 1) การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบายและห่วงโซ่อุปทาน 2) การพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม 3) การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญ 4) กิจกรรมเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างภาคเอกชน ในสาขายานยนต์ไฟฟ้า พลังงานใหม่ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG

ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับ CCPIT ทั้งมิติด้านการค้า การลงทุน การยกระดับนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี โดยฝ่ายจีนเสนอให้ฝ่ายไทยพิจารณาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมคู่แฝดระหว่าง นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ค จังหวัดระยอง ร่วมกับมณฑลอานฮุย เพื่อเป็นนิคมอุตสาหกรรมคู่แฝดนำร่อง โดยจะได้มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกภายในนิคมฯ ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ครบวงจร (Complex) รวมทั้งเสนอให้มีการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติ และโครงการพัฒนาบุคลากรด้านอาชีวศึกษารองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยมีสถาบันไทย-เยอรมัน เป็นต้นแบบ ซึ่งให้บริษัทในนิคมอุตสาหกรรมมีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อให้ผู้จบการศึกษามีคุณสมบัติตรงตามที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการและสามารถเข้าทำงานได้ทันที ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ได้เป็นประธาน MOU โครงการความร่วมมือไทย-จีน 'Two Countries, Twin Parks' ระหว่าง กนอ. และกรมพาณิชย์ มณฑลอานฮุย สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี ผู้ว่าการ กนอ. และนายหยาง เปิ่นชิง รองอธิบดีกรมพาณิชย์ มณฑลอานฮุย เป็นผู้ลงนาม

‘ลอรี่‘ สวน ‘เท้ง’ ศึกษาให้ดีก่อนโบ้ยรัฐบาลปล่อยประ ย้ำ ก.อุตฯ ลดอ้อยเผา - ลด PM 2.5 ได้มากสุดใน ประวัติศาสตร์

(23 ม.ค. 68) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีมีการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลจากนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน รัฐบาลปล่อยปละให้มีการเผาพื้นที่เกษตรมากกว่าปีไหนๆ อันเป็นสาเหตุให้เกิด PM2.5 ว่า 

ในฐานะที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลพืชอ้อยผ่านการกำกับดูแลโรงงานน้ำตาลนั้น นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการทุกมาตรการในอำนาจหน้าที่เพื่อลดการเผาอ้อยอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะการปิดหีบอ้อย ช่วงเทศกาลปีใหม่, หยุดรับอ้อยเผาสัปดาห์วันเด็ก, ปิดโรงงานน้ำตาล ที่ก่อให้เกิดความอันตราย ทำให้สัดส่วนของอ้อยเผาต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ อยู่ที่ 17.83% เท่านั้นจากในช่วง 5 ปีก่อนมีสัดส่วนอ้อยเผาถึง 61.1% จึงไม่ใช่อย่างที่มีการกล่าวอ้างว่าพืชทุกชนิดมีการเผาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพืชอ้อยมีสัดส่วนการเผาลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ 

สำหรับมาตรการสนับสนุนอ้อยสดจากทางคณะรัฐมนตรีนั้น ขอเรียนว่าเนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตระหนักถึงปัญหาการเผาซึ่งก่อให้เกิด PM2.5 จึงได้มีการส่งเรื่องไปถึง ครม. ก่อนฤดูกาลเปิดหีบที่จะรับซื้ออ้อยเข้าโรงงาน ในขณะนี้ยังอยู่ในกรอบระยะเวลาของการพิจารณาซึ่งไม่ได้ล่าช้าแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเที่ยบกับปี 2563-2565 ที่มีการอนุมัติในช่วงเดือนมิถุนายน ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่มีช่วงเวลาให้เกษตรกรผูปลูกอ้อยได้มีการเตรียมความพร้อม

นอกจากมาตรการสนับสนุนอ้อยสดที่ได้เสนอให้ทาง ครม. พิจารณาแล้ว ทางกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้เพิ่มเติมการสนับสนุนใบอ้อยด้วย เพื่อลดการเผาอ้อยอย่างครบวงจร 

จึงขอเรียนไปยังประชาชนเพื่อให้รับรู้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้านต่อไป เพื่อมิให้ข้อมูลที่ขาดเคลื่อนส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ที่ทุกภาคส่วนต่างร่วมมือร่วมแรงอย่างเต็มที่เพื่อแก้ปัญหาการเผาอ้อย

‘เอกนัฏ‘ ลั่น เดินหน้าทำเพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติ หลังแฉกลางสภา! มีไอ้โม่งจ้องย้าย ‘รัฐมนตรี’ ค่าตัว 200-300 ล้าน

‘เอกนัฏ’แฉกลางสภาฯไอ้โม่งจ้องย้าย‘รัฐมนตรี’ ค่าตัว 200-300 ล้าน ลั่นไม่กลัว มีหน้าที่ยึดประโยชน์ส่วนรวม แจงตอบกระทู้เปล่าเลือกปฏิบัติปิด‘โรงงานน้ำตาล’ที่อุดรธานี แจงผลสอบรับซื้ออ้อยเผา 40% เป็นนโยบายรัฐบาล ช่วยลดปัญหาฝุ่นพิษ ไร้เส้นแบ่งระหว่างพรรค

(23 ม.ค. 68) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดของนายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทยเรื่องการปิดโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี จ.อุดรธานี ถามนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรมว่า เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เนื่องจากพื้นที่ที่พบว่ามีรับซื้ออ้อยเผาสูงกว่า จ.อุดรธานี ไม่พบการสั่งปิดโรงงานเพราะรับซื้ออ้อยเผาเกิน 25%

ด้านนายเอกนัฏ ชี้แจงว่า ยืนยันว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติแน่นอน และตั้งแต่ตนทำหน้าที่รมว.อุตสาหกรรม ไม่ใช่นั่งเฉยๆในห้องแอร์ แต่ได้ลงพื้นที่ตรวจจับและจัดระบบใหม่ในภาคอุตสาหกรรม ปัญหากากอุตสาหกรรม สินค้าด้อยคุณภาพนำเข้าประเทศ ตนสั่งปิดและจับ ดำเนินคดีเด็ดขาด

“ส่วนกรณีที่มีการวางค่าตัวไว้ว่ามีเงิน 200-300 ล้านบาท เพื่อย้ายรัฐมนตรี ผมไม่กลัวเพราะผมมีหน้าที่ที่ต้องการรักษาประโยชน์ของส่วนรวม” นายเอกนัฏ กล่าว 

นายเอกนัฏ กล่าวว่า ทั้งนี้การช่วยเหลืออ้อยสด 120 บาท เสนอเข้าครม.เมื่อเดือนพ.ย. 67  แต่ขณะนี้ ครม. ยังไม่มีมติ อย่างไรก็ดีแนวทางที่จะดำเนินการนั้นต้องการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ ที่ให้ของเหลืออ้อย เช่น ใบ ชานอ้อย ไปผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่าย เพื่อให้เกษตรกรตัดใบส่งขายให้โรงงานหากกำหนดราคาที่เป็นธรรม โรงงานจะได้ และเกษตรกรมีรายได้เสริม โดยการวางระบบดังกล่าวจะทำให้ทันก่อนฤดูกาลหน้าที่จะเปิดหีบอ้อย

“การปิดโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี เป็นภารกิจของรัฐบาล ช่วยลดฝุ่นPM 2.5 ที่เป็นปัญหาระดับประเทศ โดยการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่มีเส้นแบ่งระหว่างพรรคการเมืองหรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงใด แต่เป็นภารกิจที่นายกฯ ให้ความสำคัญ ทั้งนี้เป็นความตั้งใจของผมที่ต้องการให้ลดการเผาอ้อย โดยล่าสุดพบอัตราการเผาอยู่ที่ 11% ที่ถือว่าต่ำที่สุดบางทีการตัดสินใจไม่ง่าย แต่ต้องช่วยกัน โดยแก้ปัญหามีต้นทุนที่ต้องจ่าย สำหรับโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี ที่ถูกปิด อุตสาหกรรมจังหวัดเข้าตรวจสอบพบว่ามีการรับซื้ออ้อยสูงสุดปริมาณ 4แสนตัน พบเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ซื้ออ้อยเผา40% ถือว่าสูงสุด ” นายเอกนัฏ ชี้แจง

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการในปีนี้ชัดเจนตั้งแต่ ต.ค. 67 ได้แจ้งในการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มีโรงงานและเกษตรกร เมื่อต.ค.67 มีการขอความร่วมมืองดการเผา เกินวันละ 25% และให้โรงงานรับซื้ออ้อยเผาเกิน 25%  ทั้งนี้มีมติ ครม.ที่ส่งมาถึงตน ขอให้กระทรวงเพิ่มมาตรการงดรับอ้อยเผาโดยสิ้นเชิง  ทั้งนี้ปัญหาการไม่รับซื้ออ้อยเผาที่จ.อุดรธานี ตนได้ช่วยแก้ปัญหาและทราบว่ามีการเคลียร์อ้อยที่ค้างการรับซื้อทั้งหมดแล้ว ส่วนที่พบว่ามีอ้อยเน่านั้นจะมีมาตรการเยียวยาต่อไป

‘เอกนัฏ‘ ลุยต่อแบบสุดซอย สั่งปิดกิจการ 3 บริษัท พร้อมฟัน 5 ข้อหาหนัก ลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์

'เอกนัฏ' เมินถูกตั้งค่าหัว สั่งขยายผลจับกุม-ขยายผล รง.กำจัดกากอุตฯเถื่อน อ.พนมสารคาม ฐานร่วมกันเคลื่อนย้ายทำลายของกลาง ลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ฟัน 5 ข้อหาหนัก พร้อมสั่งระงับกิจการรวม 3 บริษัทที่ตั้งในพื้นที่เดียวกัน 

(24 ม.ค.68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ทีมตรวจการสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม, นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา (สอจ.ฉะเชิงเทรา) และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ร่วมกันขยายผลดำเนินคดีกับ บริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ฐานลักลอบเคลื่อนย้ายและทำลายของกลางที่ถูกยึดอายัดจาก บริษัท ที แอนด์ ที เวสท์ แมเนจเม้นท์ 2017 จำกัด จ.ปราจีนบุรี ที่ถูกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปทส. และ สอจ.ปราจีนบุรี แกะรอยจากรถบรรทุกที่ออกจาก บริษัท ที แอนด์ ที เวสท์ แมเนจเม้นท์ 2017 จำกัด เมื่อวันที่ 5 ม.ค.68 ที่มีการนำของกลางที่ถูกยึดอายัดไปยัง บริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด โดยไม่ได้รับอนุญาต 

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า บริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีที่ กรมศุลกากร ตรวจพบการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ที่ บริษัท อีอีอี เทรดดิ้ง จำกัด เป็นผู้นำเข้า และเมื่อขยายผลก็พบว่า บริษัท อีอีอี เทรดดิ้ง จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่ของบริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ด้วย ซึ่งปรากฏว่า บริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด แบ่งพื้นที่ให้ บริษัท อีอีอี เทรดดิ้ง จำกัด เช่าเพื่อตั้งโรงาน โดยไม่ได้ขออนุญาตและแจ้ง สอจ.ฉะเชิงเทรา ทราบ 

“เมื่อเข้าตรวจค้น บริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ตามมาตรการสุดซอย เบื้องต้นพบการกระทำผิดใน 5 ข้อหา ตั้งแต่ 1.ครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต, 2.ตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต, 3.ประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต, 4.ฝ่าฝืนกฎกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย และประกาศกระทรวงเกี่ยวกับสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และ 5.เคลื่อนย้ายหรือทำลายของกลางที่ถูกยึดอายัดไว้ในคดี” นายเอกนัฏ ระบุ 

นายเอกนัฏ กล่าวด้วยว่า บริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด มีพฤติกรรมกระทำผิดร้ายแรงหลายข้อหา รวมทั้งฝ่าฝืนคำสั่ง มาตรา 37 ตามพระราชบัญญัติโรงงาน (พ.ร.บ.โรงงาน) ที่ สอจ.ฉะเชิงเทรา สั่งให้ระงับการประกอบกิจการไว้ก่อนหน้านี้ จึงได้ยกระดับออกคำสั่งตามมาตรา 39 และแจ้งความดำเนินคดี รวมถึงข้อหารับซื้อของโจร โดยสามารถจับกุมผู้กระทำผิดสัญชาติจีนได้ 2 ราย รายหนึ่งเป็นผู้ดูแลบริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ส่วนอีกรายเป็นในส่วนของบริษัท อีอีอี เทรดดิ้ง จำกัด 

“สอจ.ฉะเชิงเทรา ได้ออกคำสั่งตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน ระงับการประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดของบริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท อีอีอี เทรดดิ้ง จำกัด รวมไปถึง บริษัท ตงไท้ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด รวมทั้งสิ้น 21 ฉบับ“ รมว.อุตสาหกรรม กล่าว 

รายงานข่าวแจ้งว่า นายเอกนัฏ เพิ่งเปิดเผยในระหว่างการตอบกระทู้ถามสดในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 23 ม.ค.68 ว่า จากนโยบายตรวจจับ และดำเนินคดีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะการจัดการปัญหากากอุตสาหกรรม ตลอดจนการลักลอบนำเข้าและผลิตสินค้าด้อยคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ทำให้ถูกตั้งค่าหัว 300 ล้านบาท เพื่อให้เปลี่ยนตัว รมว.อุตสาหกรรม

‘ลอรี่ พงศ์พล’ เผย!! ‘รมว.เอกนัฏ’ ยืนยัน!! ไม่เคยเกรงกลัว ‘ทุนสามานย์’ ย้ำชัด!! จะทำเพื่อประชาชน ไม่ยอมก้มหัวให้ธุรกิจสีเทา ที่เอาเปรียบประเทศ

(25 ม.ค. 68) ‘ลอรี่’ พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้โพสต์ข้อความ โดยได้ระบุว่า ...

300ล้าน หรือประเมินค่ามิได้? 

วันแรกที่รมว.เอกนัฏ เข้ารับตำแหน่งได้ประกาศ #เซฟอุตสาหกรรมไทย 5เดือนให้หลัง กลายเป็นปชช.ต้องประกาศช่วย #เซฟรมวอุตสาหกรรม แทนที่ เกิดอะไรขึ้น?

เพราะการทำงานปะฉะดะเอาจริง พร้อมพังโรงงานเถื่อนข้ามชาติ ทำให้ถูกกลุ่มทุนเทาลงขัน จ่าย300ล้าน เพื่อสกัดเก้าอี้ รมว.เอกนัฏ

ที่แท้แล้ว ‘เก้าอี้’ รัฐมนตรีนี้มีค่าเท่าไหร่
1) ถ้านั่งเก้าอี้ รมว. เพื่อช่วยฟอกขาวโรงต่างชาติ เคลียร์โรงงานที่ทำผิด ล็อคสเปคให้ใบอนุญาตพวกพ้อง กดเครื่องคิดเลขออกมา อาจจะ300ล้านหรือมากกว่า

2) นั่งเก้าอี้ รมว. เพื่อบังคับใช้กฎหมาย ลงโทษคนทำผิด เพื่อให้โรงงานสีขาว ธุรกิจในประเทศไปต่อได้, ปฏิเสธความช่วยเหลือที่สร้างความฉิบหายให้ประเทศ, ปิดโรงงานน้ำตาล, จับสินค้าไม่ได้มาตรฐานเอาเปรียบผู้บริโภค

ราคาเท่าไหร่.. คำตอบคือเก้าอี้นี้ = 0บาท เพราะไม่ได้ผลประโยชน์อะไร แถมมีศัตรูผู้มีอิทธิพลอีกเพียบ แต่เก้าอี้ตัวนี้ ได้สร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมในประเทศ, SME, เซฟความเป็นอยู่ปชช. อย่าง 'ประเมินค่ามิได้'

หลังถูกข่มขู่ ผมในฐานะเลขานุการรัฐมนตรี ยืนยันว่ารมว.เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ และทีมงานไม่มีเกรงกลัว จะสู้รบอย่างเต็มที่ ไม่ยอมก้มหัวให้กับธุรกิจสีเทาที่เอาเปรียบประเทศ ไม่จำนนกับการทุจริตคอร์รัปชันกลั่นแกล้งคนที่สู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้ประชาชนคนไทย

ทางกลับกันจะใช้ความต่ำตมเหล่านี้เป็นบันได ยกระดับการทำงาน ควบคุมภาคอุตสาหกรรมให้ใสสะอาด โปร่งใส รับใช้ประชาชน อย่างที่ทีมสุดซอยของ รมว.ยังเดินหน้ากวาดล้างทุนเทา โรงงานเถื่อนไม่มีหยุด ล่าสุดก็ปิดโรงงานขนขยะอิเล็กโทรนิกส์ผิดกฎหมายที่ฉะเชิงเทรา เพิ่มอีก3โรง

‘ทุนสามานย์ อำนาจมืด อิทธิพลแทรกแซง’ สิ่งเหล่านี้คือศัตรูที่เซาะกร่อนบ่อนทำลายบ้านเมือง ระบบราชการ อุตสาหกรรมไทย..ในขณะที่ชายบนเก้าอี้ยังชื่อ 'เอกนัฏ' เราพร้อม 'พัง' ให้หมดไปซะที

เก็บ300ล้านของพี่ไว้ชอปปิ้งเก้าอี้ ที่โฮมโปรเถอะครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top