Monday, 19 May 2025
เอกนัฏพร้อมพันธุ์

ก.อุตสาหกรรม ติดปีก SME กว่า 200 ราย หนุนเพิ่มขีดการแข่งขันด้านดิจิทัลดันธุรกิจโตยั่งยืน

(18 พ.ย. 67) กระทรวงอุตสาหกรรม ลุยโครงการพัฒนา SME ภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เดินหน้าเต็มสูบหนุนเอสเอ็มอีด้วยโครงการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีใหม่ (Digital Transformation) และโครงการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Productivity) ด้วยการลดค่าใช้จ่ายพลังงาน เพิ่มรายได้ ขยายโอกาสการค้าของ SME สู่ตลาดสากล คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 62 ล้านบาท

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยุคใหม่ที่มีความผันผวน คาดเดาไม่ได้ ส่งผลให้ธุรกิจ SME ไทย จำเป็นต้องปรับตัว รับมือ Digital Disruption และวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ซึ่งจากผลสำรวจ SME Digital Maturity Survey 2023 ชี้ชัดว่า SME ไทย อยู่ในระดับ "Digital Follower" พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในระดับ ปานกลาง โดยเฉพาะ SME ขนาดกลางและภาคการผลิตที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ด้านการตลาด การเงินและบัญชี และการขายมากที่สุด

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ขานรับนโยบายในการสนับสนุน SME โดยได้อัดฉีดงบกว่า 10 ล้านบาท เพื่อพัฒนา SME ไทย จำนวนกว่า 200 ราย ให้สามารถสร้างรายได้เพิ่ม ลดต้นทุน และรักษาสิ่งแวดล้อม ผ่าน 2 โครงการสำคัญ คือ 1. โครงการพัฒนาธุรกิจด้วยดิจิทัลสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีใหม่ (Digital Transformation) เพื่อยกระดับขีดความสามารถของ SME ในการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจและ การบริหารจัดการโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีเอสเอ็มอีจำนวน 100 กิจการ ในสาขาอุตสาหกรรม S-Curve ดิจิทัล เกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีความต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ 2. โครงการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Productivity) เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน โดยมีเอสเอ็มอีจำนวน 100 กิจการ ในสาขาอุตสาหกรรม S-Curve ดิจิทัล เกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ และอุตสาหกรรมอื่นที่มีการใช้พลังงานสิ้นเปลือง หรือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับคำปรึกษาแนะนำเพื่อปรับใช้และเตรียมความพร้อมในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล หรือการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ยั่งยืน รวมไปถึงการสนับสนุนด้านเงินทุน ผ่านสินเชื่อ จากกองทุนฯ เพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจ ด้วยการลดค่าใช้จ่ายพลังงาน เพิ่มรายได้และขยายโอกาสการค้าของ SME ที่เข้าร่วมโครงการสู่ตลาดสากล คาดจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 62 ล้านบาท

“การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) ที่ต้องการให้ “Save อุตสาหกรรมไทย” เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขัน มุ่งสู่เป้าหมายยกระดับ SME ไทยให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง พร้อมรับมือทุกความท้าทาย โดยเสริมสร้างความสามารถทางด้านดิจิทัล ความพร้อมในด้านการผลิตที่ยั่งยืน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งยังสามารถติดตาม ประเมินผล ด้วย Green Productivity Measurement ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และสามารถก้าวไกลได้บนเวทีโลก” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย

‘เอกนัฏ’ ยกทีมบุกญี่ปุ่น ถก 2 กระทรวง - 7 เอกชนใหญ่ สร้างความเชื่อมั่นลงทุนยานยนต์ - พลังงานสะอาดในไทย

‘เอกนัฏ’ เปิดทริปโรดโชว์แรกรับปีงบประมาณ 2568 หวังดึงการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่น เจาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมหารือ METI และ MOEJ ตอกย้ำศักยภาพการเป็นฐานการผลิตของไทย และนัดหารือกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย

(20 พ.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 20-24 พฤศจิกายน 2567 มีกำหนดเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว (Tokyo) พร้อมด้วยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานสำคัญของญี่ปุ่น ได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม (MOEJ) เกี่ยวกับนโยบายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ การใช้พลังงานสะอาด และการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังมีกำหนดการเข้าพบผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น อาทิ โตโยต้า มาสด้า นิสสัน มิตซูบิชิ ฮอนด้า อีซูซุ และมูราตะ เพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมของไทยและญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

“การเยือนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของทั้งสองประเทศ ให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” นายเอกนัฏ กล่าว

ด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ.รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวเสริมว่า ในการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำรายใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยในครั้งนี้ จะเป็นการพูดคุยแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ถึงโอกาสทางธุรกิจ การลงทุน และความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน

ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อภาคอุตสาหกรรม และเป็นประเทศที่ลงทุนในไทยมากเป็นอันดับหนึ่งมาอย่างยาวนาน ซึ่งรัฐบาลไทยมุ่งมั่นเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในไทยสำหรับเอกชนญี่ปุ่นตามคำแนะนำและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากภาคเอกชนญี่ปุ่น โดยไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยและมองหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองประเทศจะได้ประโยชน์ร่วมกัน

‘เอกนัฏ’ สั่ง ทบทวนมาตรฐานหม้อแปลงไฟฟ้า ด้าน สมอ. เตรียมประกาศใช้ 5 ม.ค. 68 นี้

เมื่อวันที่ (21 พ.ย.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งกำหนดมาตรฐาน รวมทั้งทบทวนมาตรฐานที่มีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ  ของประเทศที่มีอายุมากกว่า 5 ปี เช่น มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับกระบวนการผลิตในปัจจุบัน โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้นำมาตรฐานไปใช้ยกระดับคุณภาพสินค้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้หน่วยงานที่มีภารกิจโดยตรง ได้นำมาตรฐานไปใช้ในการอ้างอิงในการปฏิบัติงาน เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นต้น 

โดยมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ สมอ. แก้ไขเรียบร้อยแล้วและกำลังจะมีผลใช้งานตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2568 เป็นต้นไป คือ มาตรฐาน 'หม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง' ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เปลี่ยนกระแสไฟเพื่อให้เหมาะสมกับระบบส่งกำลังไฟฟ้า โดยมีความสำคัญที่สุดในบรรดาอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมด เพราะหากหม้อแปลงไฟฟ้าเกิดการขัดข้องหรือชำรุดเสียหาย จะส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟของประชาชน และกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ซึ่งการทบทวนมาตรฐานดังกล่าวในครั้งนี้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และเป็นการเปิดโอกาสทางการค้าในตลาดต่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการไทยมากยิ่งขึ้น

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ได้ประกาศใช้มาตรฐานหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังมาตั้งแต่ปี 2524 และได้มีการทบทวนมาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศใช้ครั้งที่ 2 ปี 2543 และครั้งที่ 3 ปี 2567 ที่จะมีผลใช้งานในวันที่ 5 มกราคม 2568 นี้ การทบทวนมาตรฐานในครั้งนี้ เพื่อให้ทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน โดยการอ้างอิงตามมาตรฐาน IEC และแก้ไขขอบข่ายให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้มีคุณลักษณะตามมาตรฐานสากล และสามารถนำไปใช้งานร่วมกับมาตรฐานด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ครอบคลุมหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้งานภายในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ โรงงานอุตสาหกรรม และอาคารสถานที่ต่าง ๆ ฯลฯ ไม่ครอบคลุมหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดเล็กที่เคลื่อนที่ได้ เช่น หม้อแปลงติดตั้งบนเครื่องฉุดลาก หม้อแปลงสำหรับงานเหมือง หรือหม้อแปลงไฟฟ้าสำหรับใช้งานในน้ำ เป็นต้น และมีการแก้ไขข้อกำหนดในสภาวการณ์ใช้งานให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดจากอุณหภูมิแวดล้อม รวมทั้งแก้ไขมาตรฐานวิธีการทดสอบให้สอดคล้องกับวิธีทดสอบตามมาตรฐานสากลด้วย

สำหรับการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในการนำมาตรฐานไปใช้ สมอ. ได้เชิญผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 200 ราย เช่น การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมโรงงานอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการ เข้าร่วมสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ในวันนี้ (21 พฤศจิกายน 2567) เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในข้อกำหนดของมาตรฐานหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังฉบับใหม่ มอก. 384 เล่ม 1-2567 และการตรวจติดตามภายหลังได้รับใบอนุญาต รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการยื่นขอรับการรับรองตามมาตรฐานดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น เลขาธิการ สมอ. กล่าว

‘เอกนัฏ – อรรถวิชช์’ นำทีมลุย!! กำจัด ‘กากพิษ – ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ เร่ง!! ออกกฎหมาย บังคับใช้เข้มงวด เพื่อปราบปราม ‘โรงงานเถื่อน’

(24 พ.ย. 67) รายการข่าว3มิติ ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้นำเสนอเกี่ยวกับ พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 2 คนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ผนึกกำลังรวมทีมกัน เพื่อกำจัดกากพิษให้ประชาชน โดยเนื้อหาในรายการมีใจความว่า ...

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวว่า ที่แรกที่ผมไปก็คือที่ ‘วินโพรเซส’ เพื่อส่งสัญญาณว่าจากนี้ไป เราต้องไม่ปิดตา ที่มันเกิดขึ้นได้เนี่ยมันไม่ใช่เกิดด้วยความบังเอิญหรือไม่มีใครรู้ มันอยู่ที่ว่าเราจับไม่จับ ออกจับจริงมั้ยถ้าออกจับจริง ก็จะเจอแบบที่เราเจอทั้งผลิตในประเทศ ทั้งนําเข้ามา

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังระบุว่า สิ่งที่กําลังทําขณะนี้มีสองส่วน ส่วนแรกคือสั่งปราบปรามโรงงานเถื่อน 

ส่วนที่สองคือช่องโหว่ทางกฎหมายที่กากอุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ไม่มีกฎหมายเฉพาะมากํากับโดยตรง จึงได้ตั้งคณะทํางานร่างกฎหมายใหม่ในชื่อพระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เจตนากฎหมายนี้ ก็เพื่อแยกโรงงานกากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกจากโรงงานประเภทอื่นให้ชัดเจน

“กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายใช้กํากับของเสีย พ.ร.บ.โรงงานของดี พรบ.กากกํากับดูแลของเสีย ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต้องกําจัด กากของเสียนิคมอุตสาหกรรม ต้องรับผิดชอบ ต้องกําจัดของเสีย และกรณีที่มีพวกที่เจตนาเป็นโจรรับกําจัดของเสียแล้วไม่ทํา กฎหมายก็ต้องรุนแรงพอที่จะไปจัดการกับพวกที่มีเจตนาเป็นโจร” รมว.อุตสาหกรรม กล่าวย้ำ ที่จะดำเนินการทางกฎหมาย 

ร่างพระราชบัญญัติการอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เอกนัฏ พร้อมพันธุ์กล่าวถึงมีนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ทําหน้าที่เป็นประธานคณะทํางานร่างขึ้น

ซึ่งนายอรรถวิชช์ ก็ได้เล่าให้ฟังว่า เวลาสั่งปิดโรงงาน สั่งปิดไปเรียบร้อยแล้ว ทําอะไรเค้าไม่ได้แล้วนะ กระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปแตะเค้าไม่ได้อีกเลย กากพิษก็ยังอยู่ในนั้น กว่าจะได้เงินเยียวยา กว่าจะเข้าไปเก็บกู้ซาก รอกันนานมาก

ภายใต้พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรม เรามีการตั้งกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน ขึ้นอีกอันนึง ทําหน้าที่ในการที่เข้าไปจัดการเยียวยาประชาชนได้ก่อนเลย รวมไปถึงเก็บกู้ได้ก่อนเลย รัฐเนี่ยแหละเข้าไปลุยฟ้องก่อน พอรัฐชนะ ค่อยเอาเงินวกกลับมาคืนกองทุน เยียวยาเร็ว กู้ซากเร็ว เอาสารพิษออกมาได้เร็ว เราไม่มีสินบนนําจับ แล้วก็ขอว่าไม่เข้าหลวงแต่มาเข้ากองทุนเลย คือสินบน เป็นศูนย์เลย เจ้าหน้าที่รัฐไม่มาเกี่ยวข้องอะไรทั้งสิ้น
.
ไม่ให้นําเข้าขยะ แต่จะให้นําเข้าเฉพาะวัตถุดิบเท่านั้น คราวนี้คุณต้องชัดเจน ห้ามมั่ว ถ้าเป็นสมัยก่อน เวลาคุณบี้รถยนต์เข้ามา คุณบี้มาเป็นทั้งคัน ก็บี้ส่งเข้ามา พอเข้ามา ก็มาแยกกันอีกที มันก็จะเหลือเศษที่ไม่มีความจําเป็น คราวนี้เวลาคุณเอาเข้ามาคุณเอาให้แน่ คุณไปแยกมาก่อนที่นู่นเลย ส่วนเบาะรถยนต์คุณแกะออกส่วนสายไฟแกะออกส่วนที่เป็นเหล็กแกะเข้าออก คือมันมาเป็นขยะไม่ได้ แต่ต้องมาเป็นโลหะที่มีคุณภาพ ที่ประเทศไทยถลุงไม่ได้เอง 

ร่างกฎหมายนี้ จะเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ แล้วก็จะบรรจุเข้าสู่วาระที่หนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรได้ทันในสมัยประชุมหน้า

‘เอกนัฏ’ เยือนญี่ปุ่น คุยตัวต่อ 6 CEO ค่ายรถยนต์ใหญ่ ดึงการลงทุนเพิ่มกว่าแสนล้าน รักษาฐานการผลิตในไทย

(27 พ.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  เปิดเผยผลการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นเป้าหมายแรกที่ตนอยากไปพบหารือผู้บริหารระดับสูงภายหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และหารือแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทย-ญี่ปุ่น รวมทั้งหารือร่วมกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น เพื่อรับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยระบุว่า ในการเข้าพบหารือกับ นายมุโต โยจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้งสองประเทศ ณ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) กรุงโตเกียว มีประเด็นสำคัญ คือ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ที่ METI มีความร่วมมืออันดีที่มีต่อไทย และย้ำถึงความสำคัญของญี่ปุ่นในฐานะพันธมิตรที่ยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันได้หารือแนวทางและมาตรการช่วยเหลือผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) และรถยนต์ไฮบริด (HEV) โดยเฉพาะรถยนต์ที่เป็น Product champion ได้แก่ รถปิคอัพ และ Eco car ที่กำลังถูกดิสรัป (Disrupt) จากการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (xEV) 

นายเอกนัฏฯ กล่าวว่า ตนและคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปประชุมหารือกับผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทแม่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ได้สร้างฐานการผลิตในประเทศไทย จำนวน 6 บริษัทแบบตัวต่อตัว (One to One) ณ สำนักงานใหญ่/สำนักงานสาขากรุงโตเกียว โดยได้พบหารือกับผู้บริหารระดับ CEO จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ โตโยต้า มาสด้า มิตซูบิชิ และอิซูซุ และผู้บริหารระดับ EVP จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ ฮอนด้า และนิสสัน ซึ่งตนได้แสดงความห่วงใยต่อผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่น ที่กำลังเผชิญสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยหดตัวลงอย่างมาก สาเหตุหลักเนื่องจาก ความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของไฟแนนซ์ สภาพเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว รวมทั้ง ปัญหาค่าครองชีพและสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ที่ส่งผลให้ความต้องการและกำลังซื้อของประชาชนลดลง โดยเฉพาะในสินค้าที่เป็น Product Champions ของไทย ได้แก่ 

รถปิกอัพ และรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car) โดยล่าสุด กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปี 2567 จากเดิมที่ตั้งไว้ 1.9 ล้านคัน ปรับลดมาเป็น 1.7 ล้านคัน โดยเป็นการปรับลดในส่วนของการผลิตเพื่อตลาดในประเทศ เหลือเพียง 550,000 คัน ในขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกต่างประเทศยังคงยึดเป้าหมายเดิม คือ 1.15 ล้านคัน อย่างไรก็ตาม ตนได้ให้ความมั่นใจกับผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาส 4 ปี 2567 มีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับ รัฐบาลได้พยายามปลดล็อคเรื่องการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวด และอยู่ระหว่างพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus) และการจับจ่ายใช้สอย จึงมั่นใจได้ว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศในปีหน้า (2568) จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

“การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ความยั่งยืน (Sustainable Mobility) รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาสร้างความสมดุลระหว่างมิติด้านสิ่งแวดล้อมและมิติด้านเศรษฐกิจควบคู่กันไป โดยในมิติด้านสิ่งแวดล้อมรัฐบาลจะมุ่งส่งเสริมรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเพื่อลดปัญหาโลกเดือด (Global Boling) ซึ่งปัจจุบันรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีเพียงรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (EV) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงรถยนต์ที่ได้รับการพัฒนาตามความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ เช่น รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่มีประสิทธิภาพสูงและมีการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยลดมลพิษ/ประหยัดพลังงาน รวมทั้ง รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuel) อีกด้วย ในขณะที่มิติด้านเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลมุ่งส่งเสริมรถยนต์สู่การเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบอุตสาหกรรมเศรษฐกิจของไทย ผ่านกลไกการกำหนดให้มีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศ (Local Content) เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ ซึ่งการที่จะตอบโจทย์ทั้ง 2 มิติได้นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศ (ECO System) และปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ (Infrastructure) ให้มีความสมดุลและเท่าเทียมกัน เพื่อให้รัฐบาลสามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 รวมทั้ง เป้าหมายการส่งเสริมให้ฐานการผลิตหลักของประเทศ (ร้อยละ 70) ซึ่งเป็นรถ ICE ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) ในอนาคต” นายเอกนัฏฯ กล่าว

นายเอกนัฏฯ พร้อมสานต่อการจัดตั้งกลไกการหารือ Energy and Industrial Dialogue ตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพื่อยกระดับความร่วมมือในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาการชะลอตัวของอุปสงค์ อุปสรรคทางกฎระเบียบ และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และโครงการ Global South Future-Oriented Co-Creation Project เป็นโครงการที่ส่งเสริมความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน (All-win) ระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ โดยไทยพร้อมสนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ขณะที่การพัฒนาบุคลากร ทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะสานต่อความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะโครงการ LASI, LIPE, และ Smart Monodzukuri ซึ่งมีบุคลากรไทยได้รับการพัฒนาแล้วกว่า 1,800 คน นอกจากนี้ ยังได้แสดงความยินดีต่อญี่ปุ่นในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo 2025 ในช่วงเดือนเมษายน 2025 ณ จังหวัดโอซาก้า

ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับฟังแผนการลงทุนในอนาคตของทุกบริษัท รวมทั้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางหรือมาตรการที่เสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือ ทั้งในส่วนของมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาระดับการผลิตของโรงงาน เช่น มาตรการกระตุ้นตลาด การส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฮบริด (HEV) เป็นต้น และ มาตรการระยะกลางเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม เช่น การจัดการซากรถยนต์เก่า (End-of-Life Vehicles) มาตรการรถเก่าแลกรถใหม่เพื่อกระตุ้นตลาด และมาตรการส่งเสริมการส่งออก เป็นต้น 

“ผลการหารือกับผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายญี่ปุ่น ได้รับสัญญาณบวกที่ชัดเจนว่า ทุกบริษัทยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพการเป็นฐานการผลิตและส่งออกของประเทศไทย และจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในการผลิตรถปิกอัพ รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car) และรถยนต์ไฮบริด เพื่อตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก (ทั้งในรูปแบบของ รถยนต์สำเร็จรูป และชิ้นส่วนครบชุด) โดยคาดว่า ในช่วงเวลา 3-5 ปีนี้ มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 120,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่นขอให้ภาครัฐกำหนดเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ให้ชัดเจน และเร่งส่งเสริมการลงทุนโดยเร็ว โดยเฉพาะในโครงการผลิตรถยนต์ไฮบริดและชิ้นส่วนสำคัญ ซึ่งคาดว่า คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ จะเสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายในปีนี้”นายณัฐพลฯ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤศจิกายน 2567 นี้ คณะของกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นายเอกนัฏ พร้อมพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย 
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ที่ปรึกษาประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ โดยได้หารือกับแต่ละบริษัทแบบตัวต่อตัว (One on One) ระหว่างผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมกับผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทแม่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ได้มีการตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย จำนวน 6 บริษัท ประกอบด้วยผู้บริหารระดับ CEO จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ 1.นายอากิโอะ โตโยดะ (Mr. TOYODA Akio), ประธานกรรมการบริหาร, กรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น 2.นายมาซาฮิโร โมโร (Mr.MORO Masahiro), กรรมการผู้จัดการ,ประธาน และ CEO บริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น 3.นายทาคาโอะ คาโตะ (Mr.KATO Takao), กรรมการบริหาร, ประธาน และ CEO บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น 4.นายชินสึเกะ มินามิ (Mr.MINAMI Shinsuke), ประธาน และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ส ลิมิเต็ด, ญี่ปุ่น  และผู้บริหารระดับ EVP จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ นางอาซาโกะ โฮชิโนะ (Ms.HOSHINO Asako), รองประธานบริหาร บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด (NML) และนายชินจิ อาโอยามะ (Mr.AOYAMA Shinji), กรรมการ, รองประธานบริหาร และ กรรมการบริหาร บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น 

‘เอกนัฏ’ เล็งใช้ AI ตรวจจับสินค้าออนไลน์ไม่ได้มาตรฐาน ย้ำชัด! ความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสำคัญที่สุด

เมื่อวันที่ (27 พ.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีมาตรฐานก่อนจำหน่ายไปยังผู้บริโภค โดยพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน มักนิยมสั่งซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มออนไลน์กันมากขึ้น ซึ่งบางครั้งเกิดการร้องเรียนเรื่องสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ไม่คุ้มค่า คุ้มราคา โดยจากสถิติเรื่องร้องเรียนสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 -2567 เกิดการร้องเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2566 ได้รับการร้องเรียนจำนวน 209 เรื่อง และในปี 2567 ได้รับการร้องเรียนแล้ว 216 เรื่อง ซึ่งสินค้าที่มีการร้องเรียนเข้ามา ได้แก่ ปลั๊กไฟ สายไฟ พาวแบงก์ หม้อสแตนเลส ภาชนะพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ทำให้หน่วยงานภาครัฐวางมาตรการในการควบคุมดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์ ป้องกันสินค้านำเข้าไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ 

โดย กระทรวงอุตสาหกรรม มีหน่วยงานในสังกัดที่ดูแลเรื่องร้องเรียนในด้านต่างๆ ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนโรงงาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดูแลเรื่องการจดแจ้ง การขออนุญาตมาตรฐานต่างๆ และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดูแลผู้ประกอบการจึงต้องมีการกำกับ ดูแล เกี่ยวกับการจัดการข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้น และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 282/2567 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 แต่งตั้งคณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมขึ้น โดยมีนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะ ทำหน้าที่ ศึกษา และรวบรวม ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการสนับสนุนการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ จัดทำระบบ ฐานข้อมูล พร้อมเสนอแนวทางจัดทำแผนปฏิบัติการของหน่วยงานในกระทรวง ประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เพื่อศึกษา พิจารณา กลั่นกรอง และนำเสนอแนวทางในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปอุตสาหกรรม 

“การแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อให้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญร่วมกันเสนอมุมมอง และวิธีการจัดการที่เหมาะสม ควบคุมดูแลร้านค้าบนแฟลตฟอร์มออนไลน์อย่างจริงจัง ขอย้ำว่ากระทรวงอุตสาหกรรม เอาจริง ปรับจริง และจับจริงกับผู้ค้าที่จำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ผ่านมาตรฐานตามข้อกฎหมายกำหนด เพราะความปลอดภัยของประชาชนผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก” นายเอกนัฏ กล่าว

ด้านนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า คณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม เป็นการดำเนินการตามแนวตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” โดยให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยและสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

ซึ่งที่ประชุมได้นำเสนอ 2 เทคโนโลยี ได้แก่ 1) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่ใช้ใน Platform e-Commerce เพื่อแก้ปัญหาสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือการแอบอ้างนำเครื่องหมาย มอก. มาแสดงบนผลิตภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาตบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และ 2) เทคโนโลยี Traffy Fondue มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์แจ้งเรื่องร้องเรียนรายงานสินค้าปลอมหรือผิดกฎหมาย โดยที่ประชุมได้ยังลงความเห็นให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นอีก 2 คณะ คือ

1. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม โดยมีนายวีรพงษ์ เอี่ยมเจริญชัย รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นประธานอนุกรรมการ มีหน้าที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนการดำเนินงานการตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ สนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) มาประยุกต์ใช้ในการตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และบูรณาการความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการ

และ 2. คณะอนุกรรมการพัฒนาแพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ โดยมี
นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่ ส่งเสริมการขับเคลื่อนการดำเนินงานการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์แจ้งเรื่องร้องเรียน สนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยี Traffy Fondue มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์แจ้งเรื่องร้องเรียนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม ให้การรับเรื่องร้องเรียนจากภาคประชาชนเป็นเรื่องง่ายผ่านช่องทางแอปพลิเคชันไลน์ 

 “การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 2 คณะดังกล่าว เรามุ่งดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายในการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ร่วมกันหารือการจัดทำระบบที่เป็นมาตรฐาน มีฐานข้อมูลของผู้ขายและสินค้าที่ขายมีการใช้เทคโนโลยี  AI ในการตรวจสอบตัวตน สามารถตัดระบบผู้ที่ทำผิดกฎได้ในทันที เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าบนแฟลตฟอร์มออนไลน์ มีความปลอดภัย ได้รับสินค้าที่มีมาตรฐาน ทั้งนี้คณะกรรมการฯ แต่ละชุดจะเร่งจัดหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป” นายพงศ์พล กล่าว

‘เอกนัฏ’ ลงใต้ด่วน ร่วมปล่อยคาราวานถุงยังชีพ 5 จังหวัด พร้อมเตรียมออกมาตรการช่วยผู้ประกอบการหลังน้ำลด

(3 ธ.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากกรณีพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย ได้ประสบอุทกภัย เนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดได้แก่ สงขลา พัทลุง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และมีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ ล่าสุดจากการสำรวจความเสียหายของสถานประกอบการ พบว่า มีโรงงานอุตสาหกรรม 52 แห่ง วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 14 แห่ง เหมืองแร่ 1 แห่ง มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 23 ล้านบาท และมีวิสาหกิจชุมชน 23 แห่ง (ข้อมูลจากศูนย์ CMC สะสมตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2567) 

กระทรวงอุตสาหกรรม จึงใช้พื้นที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จังหวัดสงขลา จัดตั้งเป็น “ศูนย์อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทยประสบภัยน้ำท่วม“ รวบรวมสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค ของใช้จำเป็น และยารักษาโรค เพื่อระดมและลำเลียงไปช่วยพื้นที่ประสบภัยในจังหวัดใกล้เคียง และเป็นศูนย์ประสานหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ติดตามความเสียหาย เตรียมพร้อมมาตรการต่าง ๆ รองรับสถานการณ์หลังน้ำลด กำหนดแผนป้องกันหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวอีกครั้งทั้งในระยะฉับพลัน ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ในการสนับสนุนสิ่งของอุปโภค บริโภค เพื่อส่งมอบเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด บรรเทาความเดือนร้อนเป็นการเร่งด่วน

ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า มอบหมายให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมบูรณาการกับภาคเอกชน จัดตั้งศูนย์ประสานหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัยเร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ 2) มาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลดผ่านการให้คำปรึกษาปัญหาธุรกิจอุตสาหกรรม และช่วยเหลือในการปรับปรุงกระบวนการผลิต ฟื้นฟูเครื่องจักร ระบบไฟฟ้า เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้กลับมาดำเนินการได้ อีกทั้ง ยังมีการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 3) มาตรการเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ผ่านการจัดทำแผนรองรับการเกิดอุทกภัยเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยจัดทำ Check list เมื่อเกิดเหตุอุทกภัย การสร้างผนังกั้นน้ำ สอนวิธีการป้องกันอุปกรณ์เครื่องจักร เป็นต้น 

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้เร่งให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยา ผ่านการจัดตั้ง “ศูนย์อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทยประสบภัยน้ำท่วม” โดยใช้พื้นที่บริเวณศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จังหวัดสงขลา เป็นจุดรวบรวมสิ่งของอุปโภค บริโภค ของใช้จำเป็น และยารักษาโรค บรรจุลง “ถุงอุตสาหกรรมรวมใจ MIND ไม่ทิ้งกัน” เพื่อกระจายไปยังประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อน เบื้องต้นได้จัดเตรียมถุงยังชีพ จำนวน 2,500 ชุด โดยในวันนี้ (3 ธันวาคม 2567) จะมีการปล่อยคาราวานรถบรรทุกสำหรับการส่งมอบถุงอุตสาหกรรมรวมใจฯ ให้แก่ประชาชนใน 5 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยจะส่งมอบให้จังหวัดละ 500 ชุด ได้แก่ สงขลา พัทลุง นราธิวาส ยะลา และปัตตานี 

“กระทรวงอุตสาหกรรมและภาคีเครือข่าย ขอรวมใจส่งมอบรอยยิ้ม เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ให้สามารถก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้” นายเอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ หยิบไอเดีย ‘ญี่ปุ่น’ แก้ปมลักลอบทิ้งกากพิษ เสริมร่าง กม.กากอุตสาหกรรม - ปั้นนิคมฯ Circular

‘เอกนัฏ’ หยิบไอเดีย ‘ญี่ปุ่น’ เสริมร่างกฎหมายกากอุตสาหกรรม-ปั้นนิคมฯ Circular ด้าน กนอ. ขยายใช้ระบบติดตามกากสารพิษ Real Time ใน 14 นิคมฯ ลดโอกาสการลักลอบทิ้ง 

(6 ธ.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการเข้าพบหารือกับ นายนาคาดะ ฮิโรชิ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม (MOEJ) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้งสองประเทศ ในระหว่างการเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ว่า กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น และกระทรวงอุตสาหกรรมไทย มีความร่วมมือที่ดีอย่างยาวนาน โดยเฉพาะด้านการจัดการกากอุตสาหกรรม ผ่านบันทึกความร่วมมือ (MOC) ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งรัฐบาลไทยมีความตั้งใจอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้ง และการจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบอย่างเร่งด่วน โดยเชื่อมั่นว่าความร่วมมือของทั้งสองประเทศจะสามารถทำให้ก้าวข้ามอุปสรรคนี้ไปได้

“ในการหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ได้มีแลกเปลี่ยนข้อมูลและหาแนวทางการกำกับดูแลโรงงาน และการจัดการกากอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น มาปรับใช้ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน ที่กระทรวงฯ กำลังดำเนินการอยู่” นายเอกนัฏ ระบุ

นายเอกนัฏ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) แห่งแรกในพื้นที่ EEC ด้วยว่า ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการรีไซเคิล และการลดของเสียจากทางญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Circular ของไทย ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการเกิดของเสีย และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

ด้าน นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมมือกับศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมนานาชาติ (International Center for Environmental Technology Transfer : ICETT) แห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมไทย มุ่งสู่อุตสาหกรรม (Green Industry) และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ

“ความร่วมมือกับ ICETT ตลอดจนลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOC) กับสำนักฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและวัฏจักรของวัสดุ กระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม มุ่งเน้นแลกเปลี่ยนข้อมูล นโยบาย และองค์ความรู้เพื่อจัดการกากของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด” นายณัฐพล กล่าว

ขณะที่ นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นได้พัฒนาแนวทางการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง กนอ.เองก็มีการพัฒนาระบบติดตามการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมแบบทันสถานการณ์ (Real-Time) มาตั้งแต่ปี 2562 โดยเริ่มนำร่องในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือเป็นแห่งแรก เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยระบบนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามตรวจสอบเส้นทางการขนส่งกากอุตสาหกรรมได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ณ สถานที่รับกาก ลดโอกาสการลักลอบทิ้ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชน และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมและสังคม สอดคล้องกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับล่าสุด เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566

“กนอ.ได้ขยายผลระบบติดตามการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมแบบ Real Time ใน 14 นิคมอุตสาหกรรมแล้ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างผิดกฎหมาย สร้างภาพลักษณ์ใหม่ของอุตสาหกรรมที่สะอาด สอดรับแนวทางส่งเสริม BCG Economy และ Carbon Neutral ที่เป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” นายสุเมธ ระบุ

'เอกนัฏ' ส่ง 'ทีมสุดซอย' ตรวจโรงงานใน อ.ศรีมหาโพธิ สั่งเพิกถอนใบอนุญาต แถมพบขยะอิเล็กทรอนิกส์อื้อ

'เอกนัฏ' ส่ง 'ทีมสุดซอย' ตรวจ รง.ใน อ.ศรีมหาโพธิ หลังพบฝ่าฝืนคำสั่งลักลอบประกอบกิจการ เคลื่อนย้ายของกลาง สั่งเพิกถอนใบอนุญาต พร้อมแจ้งทุกหน่วยงานดำเนินคดีถึงที่สุด แถมตรวจพบขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าจากต่างประเทศอีกกว่า 3 พันตัน ขยายผลหาต้นตอ

(13 ธ.ค.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ส่ง ทีมตรวจการสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม, นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, กรมควบคุมมลพิษ ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) และนายอำเภอศรีมหาโพธิ เข้าตรวจสอบบริษัท ที แอนด์ ที เวสท์ แมเนจเม้นท์ 2017 จำกัด ที่ตั้งอยู่ใน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งบริษัทแห่งนี้เคยถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี และกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีคำสั่งห้ามประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต ห้ามเคลื่อนย้ายสิ่งของ วัสดุ เครื่องจักรที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีคำสั่งอายัดไว้ตั้งแต่เดือน ก.ย.67 เป็นต้นมา แต่กลับพบว่าบริษัทแห่งนี้มีการฝ่าฝืนคำสั่งอย่างต่อเนื่อง

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบพบการลักลอบประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตและพบการลักลอบขนย้ายวัสดุ สิ่งของ เครื่องจักร และสิ่งอื่น ๆ ที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ยึดอายัดไว้ นอกจากนี้ยังพบพยานหลักฐานการลักลอบทิ้งสารเคมีและกากอุตสาหกรรมในพื้นที่บ่อน้ำที่ใกล้เคียงกับบริษัทด้วย ด้วยพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนไม่เคารพกฎหมาย ประกอบกับคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาจากหลักฐานพฤติกรรมของบริษัทแล้ว จึงมีข้อเสนอไม่รับอุทธรณ์บริษัทดังกล่าว และออกแนวทางปฏิบัติเสนอมายังรัฐมนตรี โดยได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทำหนังสือแจ้งคำสั่งปิดโรงงานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร, กรมสรรพากร, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และนายอำเภอศรีมหาโพธิ เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทที่กระทำผิดตามอำนาจหน้าที่ที่หน่วยงานเกี่ยวข้องต่อไป 

น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากการเข้าตรวจค้นเพิ่มครั้งนี้ทีมตรวจการสุดซอยยังตรวจพบขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าจากต่างประเทศอีกกว่า 3,000 ตัน และพบการกระทำผิดเพิ่มเติม จึงได้แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัท และจะขยายผลขอความร่วมมือจากกรมศุลกากรตรวจหาที่มาของขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป”

‘เอกนัฏ’ หนุน!! ‘ดีพร้อม’ ขับเคลื่อนนโยบาย ยกระดับ โลจิสติกส์ไทย ลดปล่อยคาร์บอน 5.8 พันตัน/ต่อปี ดันเศรษฐกิจโต 200 กว่าล้านบาท

(14 ธ.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนนโยบาย ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส’ โดยได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) พัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ด้วยการช่วยเหลือและยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) ผ่าน “กระจายสินค้าของสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมตามแนวทาง BCG Model” ด้วยการพัฒนาให้สามารถเตรียมความพร้อมในการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร พร้อมกับการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เช่น บริการขนส่ง คลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นต้น คาดว่าจะขยายผลการยกระดับการบริหารจัดการโลจิสติกส์กว่า 206 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 5,848 ตันคาร์บอนต่อปี 

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคประชาสังคมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสถานประกอบการโดยการพัฒนาองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจตามแนวคิด BCG เพื่อมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นกติกาทางการค้าที่อุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้อง ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ดำเนินการตามนโยบาย ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส’ โดยได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งส่งเสริมและกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อม ๆ กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนอย่างแท้จริง รวมถึงการดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพ ตลอดจนต้องการยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้ขานรับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมผ่านการดำเนินโครงการการยกระดับธุรกิจ SMEs ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ด้วยการช่วยเหลือและยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตให้มิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG-driven Enterprise) ลดต้นทุนการใช้พลังงานและเชื้อเพลิงจากชีวมวล (Biomass) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ภายในสถานประกอบการ (Upcycled Product) รวมถึงได้ดำเนินการ ‘กระจายสินค้าของสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมตามแนวทาง BCG Model’ ซึ่งเป็นการพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตที่มีคลังสินค้าและ/หรือขนส่งของตนเอง และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (Logistics Service Provider) เช่น บริการขนส่ง คลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้าครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศให้สามารถรวบรวมข้อมูลและเตรียมความพร้อมที่จะขอการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) พร้อมกับการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนขององค์กร โดยเฉพาะระบบการ Tracking รถขนส่งเพื่อติดตามเส้นทาง พฤติกรรมการขับขี่ และประสิทธิภาพการใช้รถ โดยมีสถานประกอบการผ่านการคัดเลือกจำนวน 25 ราย ซึ่งคาดว่าจะสามารถขยายผลการยกระดับการบริหารจัดการโลจิสติกส์ได้กว่า 206 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 5,848 ตันคาร์บอนต่อปี ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการที่มีความพร้อมที่จะยื่นขอใบรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นต์องค์กร (CFO) จำนวน 5 กิจการ

นางสาวณัฏฐิญา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ดีพร้อม ขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ ECO Move ระบบขนส่งลดคาร์บอนด้วยโลจิสติกส์เทคโนโลยีตามแนวทาง BCG Model ภายใต้กิจกรรมการพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตสู่อุตสาหกรรมผลิตภาพสีเขียว (Green Productivity) การให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์สีเขียว (Green Transport) และการอบรมด้าน Green Logistics และมาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ตาม ISO 14064-1 ผู้ประกอบการสามารถติดตามข่าวสารของ ดีพร้อม ผ่านช่องทาง DIPROM Service (https://customer.diprom.go.th) นอกจากจะลดต้นทุนและลดของเสีย เปลี่ยนต้นทุนเป็นรายได้และกำไร พร้อมสร้างเครือข่ายใหม่ ๆ แล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมของประเทศไทย ส่งผลต่อการเข้าถึง มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศได้ไวยิ่งขึ้นอีกด้วย นางสาวณัฏฐิญา กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top