Monday, 19 May 2025
เอกนัฏพร้อมพันธุ์

‘เอกนัฏ’ เผย กระทรวงอุตฯ ยุคนี้ ให้ความสำคัญกับ ปชช. เรื่องมลพิษ ชงแก้กฎหมาย ให้โรงงานต้นเหตุ ต้องจ่ายค่าเยียวยาเอง

(23 มี.ค.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ กรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ชี้แจงข้อสงสัยของสมาชิกเกี่ยวกับการชดเชยราคาอ้อยสดว่า ถ้าสามารถเพิ่มราคาน้ำตาลในประเทศได้ก็จะสามารถเก็บเงินเข้ากองทุน ไม่ต้องเป็นภาระนำงบกลาง ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนมาใช้ สามารถนำเงินส่วนนี้ไปจ่ายชดเชยราคา ในการตัดอ้อยสดได้เลย

สำหรับ สำหรับงบการอบรมของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ (กพร.) ความเป็นจริงกพร. ได้รับงบน้อยมาก การรับรู้ของประชาชน และผู้ประกอบการเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจเหมืองแร่ในประเทศยังน้อยมากไม่ควรปรับลดงบลงมา แต่ควร เพิ่มงบให้ด้วย เพื่อให้ข้าราชการในกพร. สามารถออกไปเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการได้มากกว่านี้ ให้พวกเขาได้ร่วมรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

นายเอกนัฏ กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมปัจจุบันภารกิจน้อยไป มีการแยกงานบางส่วนไปอยู่กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ซึ่งมีกองทุนอยู่ด้วย ถ้าให้มีการนำเงินไปอุดหนุนปัจจัยการผลิตตามที่สมาชิกขอ ก็แทบจะไม่ใช่ภารกิจของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม แต่ภารกิจสำคัญของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมคือการออกไปพัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพให้ความรู้กับกลุ่มผู้ประกอบการ และพัฒนาสินค้าต้นแบบ

อย่างไรก็ตาม การจะไปคำนวณว่าใช้เงินต้นทุน ในการพัฒนาผู้ประกอบการต่อหัวเท่าไหร่ อาจจะเป็นมุมที่บิดเบือนวัตถุประสงค์การใช้เงินในก้อนนี้ ได้รับการยืนยันจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมว่า เงินทั้งหมดที่ใช้ในการพัฒนาองค์ความรู้สินค้าต้นแบบ จะทำให้เพิ่มมูลค่าได้ 7,000 กว่าล้านบาท จึงอยากให้สมาชิกได้มองอีกมุมหนึ่ง อย่ามองแต่เรื่องค่าใช้จ่ายรายหัว ให้มองมูลค่าที่เพิ่มจากการทำภารกิจของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

สำหรับ โครงการดีพร้อมชุมชน นายเอกนัฏ ชี้แจงว่า อาจเป็นความเข้าใจผิดในโครงการที่เคยมีปัญหาในอดีต แต่ภารกิจเหล่านั้น ปัจจุบันแทบไม่ได้ทำแล้ว ปัจจุบันนี้งบของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม งบที่ได้มาส่วนใหญ่จะนำไปเพิ่มมูลค่าให้กับกลุ่มผู้ประกอบการและสินค้ามากกว่า ตัวเนื้องานของกลุ่มเสริมส่งเสริมใช้ผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณภาพเน้นการออกไปพัฒนามากกว่า

นายเอกนัฏ กล่าวถึงความต้องการที่จะให้ตั้งงบประมาณเพื่อเยียวยาปัญหาจากกากอุตสาหกรรม และมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมว่า น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรมให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก งานหลักของกระทรวงอุตสาหกรรมคือการเพิ่มอุตสาหกรรมของประเทศ แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าคือคุณภาพชีวิตของประชาชน การทำมาหากินการค้าขายหรือการสร้างมูลค่าอุตสาหกรรมต้องไม่ไปทำลาย หรือทำร้ายพี่น้องประชาชน

“ความจริงเราไม่ต้องใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียวไม่ต้องมาหากรรมาธิการงบประมาณเพราะรมว.อุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับการแก้กฎหมาย เพื่อให้โรงงานและกลุ่มผู้ประกอบการที่สร้างปัญหาให้ประชาชนเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ต้องมาใช้เงินภาษีของประชาชนในการเยียวยา มีการแก้กฎหมายให้ผู้ประกอบการที่ สร้างมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ปัญหาที่เกิดก่อนการแก้กฎหมาย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นฉุกเฉินไม่มีการตั้งงบไว้ในปี 2567 หวังว่าสัญญานี้ส่งไปถึงรัฐบาลควรตั้งงบกลางมาแก้ปัญหาในกรณีฉุกเฉิน ด้วย”นายเอกนัฏ กล่าว

'เอกนัฏ' ลั่น!! 'รทสช.' พร้อมหนุนแก้ รธน.หากไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 แนะ!! ไม่ต้องแก้ทั้งฉบับ เลือกแก้แค่หมวดที่ 'สร้างสุข-ปลดทุกข์' ให้ปชช.

เมื่อวานนี้ (29 มี.ค.67) ที่รัฐสภา นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ร่วมอภิปรายระหว่างการพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) ที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นผู้เสนอว่า ญัตติที่เสนอโดยนายชูศักดิ์เพื่อขอมติที่ประชุมร่วมรัฐสภายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องมีการทำประชามติหรือไม่ พวกตนเห็นด้วยจะได้สิ้นสงสัยว่ากระบวนการจะต้องทำอย่างไร ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างไร ทำประชามติก่อนหรือไม่จำเป็นต้องทำประชามติ พวกตนไม่ติดใจ น้อมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องอภิปราย เพราะหัวใจสำคัญเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ว่า จะต้องทำประชามติหรือไม่เท่านั้น แต่เป็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญและวิธีแก้รัฐธรรมนูญ สมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติถ้าให้เลือกได้ เราเห็นความสำคัญของการเดินหน้าแก้ปัญหาให้ประชาชน รวมถึงการแก้กฎหมาย แก้ระเบียบ กติกาที่เป็นอุปสรรคมากกว่าการแก้รัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ เพราะเชื่อว่ายังมีกฎระเบียบอีกหลายตัวที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ถ้าสามารถได้จะคลายความทุกข์ให้ประชาชนสร้างความสุขให้ประชาชนมากกว่า

นายเอกนัฏ กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสมาชิกหลายคนหาเสียงไว้ตอนเลือกตั้งเราไม่ติดใจ แต่ขออนุญาตเตือนสติพวกเราว่า ถ้าเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญเกือบทั้งฉบับ นอกจากจะใช้เวลานานแล้ว มีความเสี่ยง จะสิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมาก มีการสรุปไว้ทุกครั้งที่มีการทำประชามติต้องใช้งบประมาณกว่า 3,200 ล้านบาท ถ้าทำประชามติ 3 ครั้งใช้งบเกือบหมื่นล้านบาท

“แต่ถ้าเราถอยกลับมาทบทวนว่า การแก้รัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เพราะในร่างที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้มีสิ่งดีๆ ที่เราควรรักษาไว้ ถ้ามีปัญหาอยากแก้ตรงไหนควรแก้ไขได้ทันทีไม่จำเป็นต้องทำประชามติให้เสียเวลา เสียงบประมาณ ผมเข้าใจมีเพื่อนสมาชิกหลายคนติดใจกังวลอยู่กับวาทกรรมเรื่องเผด็จการประชาธิปไตย และติดใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลพวงจากการทำรัฐประหาร ผมขออนุญาตย้อนข้อเท็จจริคือ รัฐธรรมนูญปี 2560 ผ่านความเห็นชอบตามระบอบประชาธิปไตย”นายเอกนัฏกล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญปี 2560 เกิดขึ้นมี 2 ตอน หนังตอนแรก รัฐธรรมนูญทำจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี มาจากคสช. ทั้ง 4 ส่วนรวมกัน ตนไม่ปฏิเสธว่าทั้ง 4 ส่วนถ้าจะบอกว่ามาจากการแต่งตั้งของคสช. แต่หนังเรื่องนี้ถูกพับไปแล้วเพราะรัฐธรรมนูญที่ร่างมาถูกคว่ำ โดย สภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เกิดจากการร่างรัฐธรรมนูญโดยผู้มีความรู้ความสามารถปราศจากการเมือง ได้รับความเห็นชอบจากการทำประชามติโดยประชาชนคนไทยทั่วประเทศ ได้รับเสียงเห็นชอบกว่า 15 ล้านเสียง มากกว่า 58 % มากกว่าครึ่งหนึ่งและเป็นเสียงส่วนมาก

เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า นี่จึงเป็นเหตุผลที่ตนบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้หลายคนยังจมอยู่กับวาทกรรมเผด็จการ และการทำรัฐประหาร ซึ่งไม่เป็นความจริง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างจากคนมีความรู้ความสามารถ ผ่านการทำประชามติและประชาชนส่วนใหญ่ได้ให้ความเห็นชอบ เป็นผลพวงจากการทำประชามติไม่ใช่รัฐประหาร หากเราจะเดินหน้าประเทศอย่าจมอยู่กับวาทกรรมการทำรัฐประหาร และสามารถเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราได้ แก้โดยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นหากจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญอย่าเสียงบประมาณ และเสียเวลา ยังมีทางเลือกที่จะเดินหน้าไปได้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตย

“ผมไม่ติดใจหากเพื่อนสมาชิกคิดว่าจะต้องเดินหน้า ต้องไปแก้ไขเกือบทั้งฉบับ จนนำไปสู่การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าสมควรทำประชามติหรือไม่ และหากมีการแก้ทั้งฉบับจริง จะต้องไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 สถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่กระทบต่อการปราบปรามทุจริต สิ่งนี้คือจุดยืนของพรรครวมไทยสร้างชาติที่เคยนำเสียงสส. 36 เสียงไปเป็นหลักประกันไว้ตอนจัดตั้งรัฐบาลถือเป็นการแสดงจุดยืนอย่างเปิดเผยกับรัฐบาลนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติยินดีโหวตให้ แต่ขอฝากผู้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้ายังจะเดินหน้าแก้ทั้งฉบับ ต้องระบุคำถามเป็นหลักประกันให้พวกเรา ไว้วางใจ ใส่ไว้ในคำถามว่า ไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามทุจริต ถ้าทำแบบนี้ได้พวกผมไว้วางใจทุกเสียงยินดีสนับสนุนมีมติให้รัฐสภายื่นญัตตินี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการในโอกาสต่อไป”นายเอกนัฏกล่าว

‘รทสช.’ ย้ำจุดยืน ‘กม.นิรโทษกรรม’ ไม่นับรวม ม.112 พร้อมเสนอร่าง ‘พ.ร.บ.เสริมสร้างสันติสุข’ ฉบับของตัวเอง

(5 มิ.ย.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง’ ทางช่องยูทูบ ‘แนวหน้าออนไลน์’ ในประเด็นร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ว่า จุดยืนของพรรครวมไทยสร้างชาติ คือไม่เห็นด้วยกับการนับรวมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และจริง ๆ พรรคก็ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.เสริมสร้างสันติสุข หรือกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับของรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งไม่มีทั้งคดี ม.112 คดีทุจริต และคดีอาญาร้ายแรง

ขณะที่ความเคลื่อนไหวร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทย การพิจารณาเรื่องนี้ยังอยู่ในชั้นกรรมาธิการ ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าที่สุดแล้วระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องคุยกัน เพราะในกรรมาธิการก็มีตัวแทนอยู่ อย่างพรรคชาติไทยพัฒนาก็มีนายนิกร จำนง ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ มีนายเจือ ราชสีห์ ซึ่งแสดงจุดยืนว่าต้องไม่มีเรื่องคดี ม.112 คดีทุจริต และคดีอาญาร้ายแรง เพราะกลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

“นิรโทษกรรมคดีการเมือง เราเข้าใจบรรยากาศสลาย ยุติธรรมขัดแย้ง เดินหน้าด้วยความสามัคคี พวกคดีการเมืองนิรโทษได้ก็นิรโทษกันไป แต่ต้องไม่แตะเรื่อง 112 เรื่องทุจริต เรื่องคดีอาญาร้ายแรง เพราะถ้าแตะเรื่องเหล่านี้ แทนที่มันจะนิรโทษเพื่อความปรองดอง ความรักความสามัคคี มันจะนิรโทษแล้วนำไปสู่ความแตกแยก แล้วปัญหาเดี๋ยวมันจะปะทุขึ้นอีก เราก็แสดงจุดยืนของเราชัดเจน” นายเอกนัฏ กล่าว

นายเอกนัฏ กล่าว ต่อไปว่า อย่าให้การนิรโทษกรรมครั้งนี้ย้อนกลับไปเกิดปัญหาแบบตอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ตนก็มีประสบการณ์ ในเวลานั้นเป็น สส. อยู่แล้วก็ออกไปชุมนุม เพราะการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในเวลานั้นขัดกับหลักนิติรัฐ-นิติธรรม หากเป็นแบบนั้นประเทศก็เสียหายและสร้างความแตกแยก ในเมื่อมีบทเรียนแล้วก็ควรจะเรียนรู้ ซึ่งตนก็เชื่อว่าทุกฝ่ายวันนี้เรียนรู้กันเยอะแล้ว อย่างในฝั่งของตนหลายคนก็มีคดีติดตัว ถูกจำคุกอยู่ก็มี ดังนั้นเดินไปข้างหน้าดีกว่า อย่ากลับไปอยู่ในวังวนจุดเดิม

เพราะหากย้อนไปมองในอดีต เวลานั้นมีเพียงเรื่องคดีทุจริต ยังไม่มีเรื่องคดี ม.112 ยังเป็นเรื่องแล้ว หากใส่คดี ม.112 เข้าไปอีกก็จะเป็นปัญหาขึ้นมาได้ ส่วนคำถามที่ว่า พรรคเพื่อไทยจะไปขอเสียงสนับสนุนจากพรรคก้าวไกล เพื่อให้มีเสียงพอผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่รวมความผิด ม.112 จะเป็นไปได้หรือไม่ เรื่องนี้แม้พรรครวมไทยสร้างชาติจะมีเพียง 36 เสียง แต่ก็ยิ่งต้องยึดหลักให้ดีและต้องสู้ ซึ่งตั้งแต่วันแรกที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล พรรครวมไทยสร้างชาติก็ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลจะต้องไม่ไปเกี่ยวข้องกับการแก้ไขมาตรา 112

แต่หากเขาจับมือกันขึ้นมาแล้วจะให้ทำอย่างไรได้ เพราะตัวเลขในสภาเป็นคณิตศาสตร์ พรรคหนึ่งมีร้อยกว่า อีกพรรคหนึ่งก็มีร้อยกว่า บวกกันเกิน 250 เขาก็ตั้งรัฐบาลได้ แต่ตนก็คิดว่าที่มีการตกลงกันของฝั่งรัฐบาลแล้วประกาศต่อสาธารณะ เท่าที่ได้พูดคุยทุกฝ่ายก็ยังยืนยันข้อตกลงนั้นอยู่ ไม่มีใครคิดแตกแถวแม้แต่พรรคเพื่อไทย ยังไม่มีสัญญาณที่ชี้ว่าจะยกเลิกสัญญาที่ให้ไว้ ดังนั้นก็ต้องรักษาบรรยากาศกันไปแบบนี้ก่อน

ส่วนที่พรรคเพื่อไทยให้ข่าวว่าจะมีการพิจารณาว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจะนับรวมความผิด ม.112 ด้วยหรือไม่ คือการส่งสัญญาณอะไร เรื่องนี้คงต้องไปถามพรรคเพื่อไทย แต่เราทำการเมืองจะไปคิดถึงเพื่อนมากไม่ได้ เราต้องทำตัวเราให้ชัดเจนจะดีที่สุด ซึ่งปัจจุบันเราก็ยังยืนบนสัญญาเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ก็เดินไปแล้วหากมีปัญหาก็พูดคุยกัน เจรจากัน เตือนกันว่าอย่าไปทำแบบนั้นเลยดีกว่า เดี๋ยวจะมีปัญหา ส่วนที่พูดกันว่าท่าทีล่าสุดของพรรคเพื่อไทย มาจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตนก็อยากให้เพลา ๆ การคาดการณ์หรือข่าวลือลงบ้าง

“ตราบใดที่ยังไม่เห็นท่าทีชัดเจน จะพรรคไหนก็แล้วแต่ เราจะไปบอกว่าเป็นท่าทีของเขาก็ไม่ได้ อันนี้แฟร์ ๆ นะ เพราะฉะนั้นวันนี้เมื่อยังไม่มีท่าทีในลักษณะนั้น เราก็ต้องยึดตามคำมั่นสัญญาเดิม มันเบสิกมาก มันแค่นั้นเอง ฉะนั้นสำหรับรวมไทยสร้างชาติเราก็เดินตามสัญญาเดิม ไม่มีสัญญาใหม่ ไม่มีสัญญาณใหม่ ฉะนั้นก็เดินไปตามนี้” เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าว

💜3 ภารกิจ รมต.ขิง เดินหน้าทำทันที ก้าวสู่ยุค ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรม’

วันแรกในกระทรวงอุตสาหกรรมของรัฐมนตรีหน้าใหม่อย่าง ‘ขิง เอกนัฏ พร้อมพันธุ์’ ได้ประกาศเป้าหมายของการนั่งเก้าอี้นี้อย่างชัดเจนว่าจะเข้าสู่ยุค ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรม’ (Industry Reform) 

โดยการเข้าสู่ยุคปฏิรูปอุตสาหกรรม ‘ขิง เอกนัฏ’ จะได้ใช้ 3 ยุทธศาสตร์ย่อย มุ่งเน้นแก้ Pain Point ของอุตสาหกรรมไทย ได้แก่ 

1. จัดการกากอุตสาหกรรมตกค้างทั้งระบบอย่างเข้มงวด

2. ปกป้องอุตสาหกรรมไทยจากการทุ่มตลาด: ช่วยผู้ประกอบการรายย่อย ที่รับผลกระทบจากการทะลักเข้าของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และยกระดับขีดความสามารถSMEไทย

3. สร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สร้าง new S-Curve กับประเทศผ่านหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ สินค้าเกษตรเทคโนโลยีสูง พลาสติกชีวภาพ โอลีโอเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง ยานยนต์ EV เซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ

นอกจากเป็นการแก้ Pain Point ของอุตสาหกรรมไทยแล้ว ยังเป็นการปรับให้องค์กรพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกและของไทย ไม่ว่าจะเป็น SDG, การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอีกด้วย 

'รมว.เอกนัฏ' ปลุก!! 'กนอ.' ตีหลากโจทย์ภาคอุตสาหกรรมไทย 'เศรษฐกิจสีเขียว-ผลักดันอุตฯ ป้องกันประเทศ-สนับสนุน SMEs'

(19 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ย.67 ได้มีโอกาสไปตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายให้กับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งก็ได้รับทราบถึงแผนงาน รวมถึงปัญหาอุปสรรคของ กนอ.หลายเรื่อง โดยได้เน้นย้ำถึงพันธกิจของกระทรวงฯ ที่ กนอ.เป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่ต้องเข้ามาร่วมขับเคลื่อน โดยเฉพาะปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ ไปถึงการดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ที่เป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรืออุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ที่ผู้ประกอบการในไทยหลายรายมีศักยภาพสูง นอกจากนี้ยังต้องยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ในการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และรักษาสิ่งแวดล้อม

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการจัดการกากอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน ที่ผ่านมา กนอ.ถือว่าทำได้ดีอยู่แล้ว แต่อาจจะต้องวางแนวทางประสานข้อมูลกับทางกระทรวงฯ และต่อยอดองค์ความรู้ของ กนอ.ไปสู่ผู้ประกอบการนอกนิคมฯ เพื่อให้เกิดโรงงานสีเขียวทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ กำลังจัดฐานข้อมูลของแต่ละหน่วยงานในกระทรวงฯ ให้เป็นหนึ่งเดียวตามแนวนโยบายรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) จึงอยากให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง กนอ. และกระทรวงฯ ทั้งในเรื่องการจัดการจากอุตสาหกรรม, ขออนุมัติ-อนุญาต และการรายงานผลประกอบการผ่านแพลตฟอร์มเดียวกัน (Single Form) เพื่อให้ฐานข้อมูลที่ทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้ฝากให้ กนอ.เข้าไปช่วยเหลือส่งเสริม SMEs ไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย โดยอาจจะจัดพื้นที่ และสนับสนุนเทคโนโลยีที่มีอยู่ภายในนิคมฯ ให้แก่ธุรกิจ SMEs ทั้งในแง่ของการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งทุน และการสร้าง Supply Chain หรือห่วงโซ่อุปทานให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมนั้นๆ 

“ผมเห็นแล้วว่า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเรามีเป้าหมายเดียวกัน และเชื่อมั่นว่าการทำงานของเราจะสำเร็จตามเป้าหมาย เพราะเรามองเห็นภาพเดียวกัน และจับมือและเดินไปด้วยกัน การทำงานร่วมกันเป็นทีม และแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อเป้าหมายเดียวกันในการปฏิรูปอุตสาหกรรม” นายเอกนัฏ ระบุ

ทั้งนี้ โอกาสเดียวกัน นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ กนอ. ได้กล่าวย้ำถึงบทบาทสำคัญของ กนอ. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม พร้อมนำเสนอข้อมูลการลงทุน (Investment Outlook) และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในภาพรวมและในนิคมอุตสาหกรรมที่ผ่านมาว่า พื้นที่นิคมฯที่ กนอ.ดำเนินการเอง และพื้นที่ร่วมดำเนินงาน ยังมีความสามารถที่จะรองรับการลงทุน โดยเฉพาะจากนักลงทุนต่างชาติได้อีกมาก

ด้าน นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ. รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ 'นิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากลด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน' ที่มุ่งพัฒนานิคมอุตสาหกรรมครบวงจรอย่างยั่งยืน ยกระดับความได้เปรียบในการแข่งขันแก่นักลงทุน และเพิ่มคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย สังคม และสิ่งแวดล้อมบนหลักธรรมาภิบาล พร้อมรายงานความคืบหน้าของโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1, นิคมอุตสาหกรรม Smart Park, การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือนิคมฯ Circular, นิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับโครงการแลนด์บริดจ์ในพื้นที่ จ.ระนองและ ชุมพร, นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล และแนวคิดโครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นายสุเมธ ยังได้นำเสนอแผนงานตามนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส 3 ปฏิรูป 3 แนวทาง” ของ รมว.อุตสาหกรรม ด้วยว่า กนอ.ได้วางแนวทางเพื่อสนับสนุนนโยบายไว้ 3 เรื่องสำคัญที่จะเร่งดำเนินการ คือ 

1.การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะ SMEs (I-EA-T Incubation) เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SMEs โดยการใช้นิคมฯ เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ SMEs เบื้องต้นจะเริ่มดำเนินการ และพร้อมเปิดนิคมฯที่นิคมฯลาดกระบัง ภายใน 3 เดือน และการผลักดันแก้ไขปัญหาผังเมืองในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจหรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะดำเนินการภายใน 3 เดือนเช่นกัน

2.การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมครบวงจร ผ่านความร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ในการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อลดขั้นตอนและเวลา เรื่องนี้จะสามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบภายใน 6 เดือน และ 3.การสร้าง Eco System หรือระบบนิเวศทางธุรกิจใหม่ โดยใช้แพลตฟอร์ม (Platform) ต่างๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ ให้ง่ายต่อการประกอบกิจการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ภายใน 1 ปี

“กนอ.ขอรับการสนับสนุนจาก รมว.อุตสาหกรรม ในด้านต่างๆ เช่น การผลักดันกฎหมายผังเมือง EEC, การบูรณาการแก้ไขการจัดการกากอุตสาหกรรมครบวงจร, Fast Track Lane (ช่องทางพิเศษเพื่ออำนายความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง, กรมที่ดิน และ BOI (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) เพื่อให้โครงการตามนโยบายของ รมว.อุตสาหกรรม สำเร็จลุล่วง และที่ต้องการใช้กลไกของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายสุเมธ ระบุ

'เอกนัฏ' ปลื้ม!! ความนิยม 'พีระพันธุ์-รวมไทยสร้างชาติ' เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้คำมั่น!! มุ่งทำงานบริหาร-ขับเคลื่อนการเมืองเพื่อประเทศชาติต่อไป

(29 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงผลโพลล่าสุดของ NIDA Poll โดยระบุว่า...

"ดูจากผล NIDA Poll ที่ออกมาวันนี้ 

"คะแนนดีขึ้นทั้งท่านหัวหน้าพีระพันธุ์และพรรครวมไทยสร้างชาติ ตั้งแต่หลังเลือกตั้งจาก 3% เป็น 5% เป็น 8% จนกระทั่งวันนี้กลับขึ้นมาเรื่อย ๆ จนใกล้แตะ 10% 

"ขอบคุณทุกท่านที่เชื่อมั่นหัวหน้าพีระพันธุ์ ที่เชื่อมั่นพรรคฯ พวกเรายังต้องทำงานกันอย่างหนัก ทั้งงานบริหารบ้านเมือง และขับเคลื่อนงานการเมือง เป็นกำลังใจให้ทีมงานและผู้สนับสนุนทุก ๆ คนครับ"

พีระพันธุ์-เอกนัฏ นำทีมรวมไทยสร้างชาติร่วมพิธีเปิด ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว จ.สุราษฎร์ธานี

(18 ต.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติพร้อมด้วยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ เข้าร่วมในพิธีเปิดงานประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว จ.สุราษฎร์ธานี ประจำปี 2567 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-22 ตุลาคม 2567 

โดยมี คณะกรรมการบริหาร สส. และสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติได้ร่วมในงานประเพณีในครั้งนี้ อาทิ นายชุมพล กาญจนะ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ, นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร และสส.สุราษฎร์ธานี เขต 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ, รองศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ, นางสาวกานสินี โอภาสรังสรรค์ สส.สุราษฎร์ธานี เขต 1 และรองเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ, นายพันธ์ศักดิ์ บุญแทน สส.สุราษฎร์ธานี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ, นายธานินท์ นวลวัฒน์ สส.สุราษฎร์ธานี เขต 7 พรรครวมไทยสร้างชาติ, นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร เขต พรรครวมไทยสร้างชาติ

ย้อนที่เป็นมาตำนานประเพณี ‘ชักพระ’ สุราษฎร์ธานี หนึ่งในสองประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในพื้นที่ภาคใต้

(18 ต.ค. 67) หากนับตามปฏิทินจันทรคติวันนี้คือวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 วันอาสาฬหบูชาตามความสำคัญในศาสนาพุทธ ที่มีการตักบาตรเทโวโรหณะ ตามคติว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่ท่านทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดพระมารดา ในการเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นได้มีพุทธศาสนิกชนสมัยพุทธกาลเป็นจำนวนมากได้รอใส่บาตรเพื่อเป็นกุศลแก่ชีวิต 

จากคติที่ว่ามานี้ได้นำมาสู่อีกหนึ่งประเพณีที่มีงดงามของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ คือประเพณีชักพระ ที่จะจัดขึ้นทุก ๆ วันขึ้น 1 ค่ำเดือน 11 ของทุก ๆ ปี

การชักพระในพื้นที่ภาคใต้ของไทยนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ

การชักพระทางบก คือการอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้นประดิษฐาน บนนบพระ หรือบุษบก แล้วแห่แหน ใช้เชือกแบ่งผูกเป็น 2 สาย เป็นสายผู้หญิงและสายผู้ชาย ใช้โพน ฆ้อง ระฆัง เป็นเครื่องตีให้จังหวะในการลากพระ คนลากจะเบียดเสียดกันสนุกสนานและประสานเสียงร้องบทลากพระเพื่อผ่อนแรง วัดส่วนใหญ่ ที่ดำเนินการประเพณีลากพระวิธีนี้ มักตั้งอยู่ในที่ไกลแม่น้ำลำคลอง

การชักพระทางน้ำ เป็นการอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้นประดิษฐาน บนบุษบก ในเรือ แล้วแห่แหนโดยการลากไปทางน้ำ ประเพณีลากพระ ที่มักกระทำด้วยวิธีนี้ เป็นของวัดที่ส่วนใหญ่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลองการลากพระทางน้ำจะสนุกกว่าการลากพระทางบก เพราะสภาพการเอื้ออำนวยต่อกิจกรรมอื่น ๆ เช่น สะดวกในการลากพระ ง่ายแก่การรวมกลุ่มกันจัดเรือพาย

ไม่ว่าจะเป็นการชักพระทางบกหรือทางน้ำล้วนแต่มีการตกแต่งที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปอย่างวิจิตร เป็นที่ตื่นตาของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นงานบุญครั้งสำคัญที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในทุก ๆ ปี 

สำหรับงานพิธีทางศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ประกอบไปด้วย 2 พิธี ได้แก่ พิธีสารทเดือนสิบ และพิธีชักพระ

‘งานสารทเดือนสิบ’ ที่เป็นงานบุญที่รวบรวมบรรดาลูกหลานไม่ว่าอยู่ในพื้นที่ไหนก็ต้องกลับบ้าน เป็นงานพิธีเชิงสัญลักษณ์ที่ผูกร้อยให้เกิดความเชื่อมโยงกันในครอบครัว วงศาคณาญาติ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคงหนีไม่พ้นงานที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 

และหากกล่าวถึงประเพณีชักพระแล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่จะละเลยการกล่าวถึง ‘สุราษฎร์ธานี’ ที่ประเพณีนี้มีความยิ่งใหญ่ที่สุด จนมีชื่อเสียงระดับประเทศ ทั้งจากประชาชนที่เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งความวิจิตรของขบวนชักพระ นอกจากนี้ในจังหวัดสุราษฎร์ธานียังได้ผนวกอีกหลายประเพณีรวมกันเป็น ‘งานประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาวฯ’

ซึ่งในปีนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมยกทีมอันประกอบด้วยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรครวมไทยสร้างชาติ 

เป็นการตอกย้ำความเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของพรรครวมไทยสร้างชาติที่สามารถคว้าเก้าอี้ สส. ได้มากที่สุดของพรรค และเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญของพื้นที่ภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง ผ่านการมีการมีส่วนร่วมไม่ว่าจะยามทุกข์หรือยามสุข

‘เอกนัฏ’ หารือ อีซูซุ ให้ความเชื่อมั่นอุตฯ ยานยนต์ไทย พร้อมผลักดันการเติบโตทั้งในประเทศและส่งออก

เมื่อวานนี้ (11 พ.ย.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือกับบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นายกฤศ จันทร์สุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายเริงฤทธิ์ กุศลกรรมบถ รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายดุสิต อนันตรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายทินวัฒน์ แก้วสวี ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน เข้าร่วม ณ ห้องประชุม อก. 1 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ด้านบริษัทฯ ได้นำเสนอภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ สถานการณ์การตลาด ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งนี้บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด ได้ตั้งฐานการผลิตในไทยมาอย่างยาวนานถึง 67 ปี และปัจจุบันบริษัทฯ มีฐานการผลิตในไทยมากถึง 90%

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือกับสถาบันยานยนต์ และบริษัทฯ ด้านยานยนต์จากหลากหลายบริษัทชั้นนำ ซึ่งได้เห็นปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่มีความสอดคล้องตรงกันทั้งในเรื่องการใช้มาตรฐานมลพิษ Euro 6 สิทธิประโยชน์ทางภาษี การ Disruption ในอุตสาหกรรมยานยนต์จากรถสันดาปสู่ EV ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้เตรียมหารือกับบริษัทฯ ชั้นนำด้านยานยนต์ ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อหารือและพิจารณาแนวทางช่วยเหลือและสนับสนุนตลาดยานยนต์ไทยให้สามารถเติบโตได้ทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศต่อไป

‘เอกนัฏ’ สั่งปูพรมลุยตรวจโรงงานต่อเนื่อง ย้ำ! หากพบคนทำผิดให้จัดการตาม กม.อย่างเด็ดขาด

(15 พ.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) บูรณาการร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทั่วประเทศ เปิด 'ปฏิบัติการตรวจสุดซอย' ต่อเนื่อง ปูพรมตรวจกำกับดูแลโรงงานกลุ่มเสี่ยงสูงในพื้นที่เฝ้าระวัง เช่น จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครราชสีมา เพชรบูรณ์ เป็นต้น รวมจำนวน 218 ราย โดยเฉพาะโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม หรือโรงงานลำดับที่ 101, 105 และ 106 ทั้งที่เป็นของเสียอันตรายและไม่เป็นของเสียอันตราย เช่น การคัดแยก หลุมฝังกลบ ทำเชื้อเพลิงผสม ทำเชื้อเพลิงทดแทนจากน้ำมันและตัวทำละลายใช้แล้ว สกัดแยกโลหะ ถอดแยกบดย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลอมตะกรัน รีไซเคิลกรดด่าง เป็นต้น ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม และจะดำเนินการขยายผลปูพรมตรวจโรงงานทั่วประเทศ โดยให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัดตรวจสอบและวางแผนดำเนินการ คาดใช้เวลาภายในเวลา 2 เดือน หากพบโรงงานที่มีการกระทำผิดจะสั่งลงโทษเด็ดขาด

นายเอกนัฏฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ ตนได้ให้นโยบายและสั่งการให้ กรอ. และ สอจ. ทั่วประเทศ ปรับกลไกการอนุมัติอนุญาตโรงงานทั้งระบบ โดยใช้แนวคิด 'เพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการที่ดี' โดยการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่ดีในทุกช่องทาง ควบคู่ไปกับการขึ้นบัญชี Blacklist ผู้ประกอบการที่มีประวัติไม่ดีหรือมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อยกระดับการตรวจสอบ กำกับดูแล และติดตามโรงงานกลุ่มดังกล่าวอย่างเข้มข้น การปรับกลไกการอนุมัติอนุญาตโรงงานดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงป้องกันที่ต้นเหตุ อย่างไรก็ตาม การจะสู้กับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ทำร้ายประชาชนและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย 'สู้ เซฟ สร้าง' นั้น การดำเนินการดังกล่าวอาจจะยังไม่เพียงพอ มีความจำเป็นต้องปฏิรูปการกำกับโรงงานทั้งระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการกำกับดูแลโรงงานทั่วประเทศ

“ผมได้กำชับเจ้าหน้าที่ กรอ. และ สอจ. ทั่วประเทศ ให้ตรวจสอบทุกโรงงานสุดซอยอย่างเข้มข้น พร้อมย้ำ! หากตรวจพบการประกอบการที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้ดำเนินการสั่งการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดให้ถึงที่สุด โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่ออิทธิพลใด ๆ” รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าว

ด้านนายพรยศ กลั่นกรอง รักษาการอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ปฏิบัติการตรวจสุดซอย” เป็นปฏิบัติเชิงรุกในการตรวจสอบกำกับโรงงานเชิงลึกในทุกมิติ ทั้งด้านการติดตั้งเครื่องจักร กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีมาตรฐาน มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตอย่างครบถ้วน ด้านสิ่งแวดล้อม มีการติดตั้งระบบบำบัดมลพิษที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ด้านการบริหารจัดการสารเคมี วัตถุอันตราย และกากอุตสาหกรรมต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และด้านอาชีวอนามัย การปฏิบัติงานต้องมีความปลอดภัยของทั้งพนักงานและประชาชนโดยรอบโรงงาน อีกทั้ง การประกอบการต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายโรงงาน กฎหมายวัตถุอันตราย กฎหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบอย่างเต็มรูปแบบ เช่น ระบบตรวจกำกับดูแลสถานประกอบการ หรือระบบ i-Auditor ระบบห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ (E-Report) และระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษ (Pollution Online Monitoring System) เป็นต้น

“กรอ. พร้อมทำงานเป็นเนื้อเดียวกับ สอจ. ในการกำกับดูแลโรงงานทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ รวมทั้งพร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสู้กับผู้ประกอบการที่เย้ยกฎหมาย หากพบโรงงานทำผิดกฎหมาย จะดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุด” นายพรยศฯ กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top