Monday, 19 May 2025
เอกนัฏพร้อมพันธุ์

‘เอกนัฏ’ ชง ‘กระดาษสัมผัสอาหาร’ เป็นสินค้าควบคุม หวังควบคุมโลหะหนัก คาดมีผลบังคับใช้ธันวาคม 2568

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานของสินค้า ให้เข้มงวดในการตรวจควบคุมการผลิตและนำเข้าสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมทั้ง ยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชน โดยเพิ่มจำนวนสินค้าที่ส่งผลกระทบกับความปลอดภัยให้เป็นสินค้าควบคุมมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสกัดกั้นสินค้าด้อยคุณภาพที่ทะลักเข้ามา และให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันสำหรับผู้ประกอบการในประเทศ ล่าสุด เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรฐานกระดาษสัมผัสอาหารเป็นสินค้าควบคุม คาดมีผลบังคับใช้ธันวาคม 2568 

“ผมได้สั่งการ สมอ. เร่งประกาศให้ กระดาษสัมผัสอาหาร และกระดาษสัมผัสอาหารสำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน ให้เป็นสินค้าควบคุมเพิ่มอีก 2 รายการ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายและหากเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ อาจมีปริมาณโลหะหนักและสารเคมีเกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งได้เตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งผู้ทำ ผู้นำเข้า ในการยื่นขอรับใบอนุญาตจาก สมอ. ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้” นายเอกนัฏ กล่าว

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรฐานกระดาษสัมผัสอาหาร มอก. 2948-2562” เช่น จานกระดาษ ถ้วยกระดาษ และ “กระดาษสัมผัสอาหารสำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน มอก. 3438-2565” เช่น กระดาษรองอาหารที่ใช้ในหม้ออบลมร้อน หรือกระดาษอุ่นอาหารในไมโครเวฟ เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่มีข้อกำหนดสำคัญ ในการควบคุมปริมาณโลหะหนัก ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และโครเมียม และสารเคมีในกระบวนการผลิตที่เป็นอันตราย ได้แก่ สารฟอกนวล และสารต้านจุลินทรีย์ ไม่ให้เกินเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนด รวมทั้งสารเคมีที่ใช้ต้องเป็นชั้นคุณภาพสัมผัสอาหาร (Food contact grade) เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะมาตรฐานกระดาษสัมผัสอาหารสำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน จะต้องผ่านการทดสอบที่อุณหภูมิความร้อนสูงสุด 175 องศาเซลเซียส โดยคาดว่ามาตรฐานดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนธันวาคม 2568 นี้ ซึ่งจะมีผลให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องทำ และนำเข้า เฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐานเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 สมอ. ได้จัดการสัมมนาเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการขอรับใบอนุญาต ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โดยมีผู้ทำ ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย เข้าร่วมสัมมนาดังกล่าว จำนวนกว่า 330 ราย   

‘เอกนัฏ’ เดินหน้าสอยยกแก๊งลอบนำเข้า ‘ฝุ่นแดง’ ส่งทีมบุกจับ ‘หัวจงฯ’ ซ้ำ หลังพบเส้นเงินโยง ‘ซินเคอหยวน’

‘เอกนัฏ’ ส่ง ‘ทีมสุดซอย’ บุกจับ ‘หัวจงฯ’ ซ้ำ หลังเจอเส้นทางการเงินจ่ายค่า ‘ฝุ่นแดง’ โผล่ ‘ซิน เคอ หยวน’ ยอดเกิน 111.8 ล้านบาท พบโยง ‘เค เอ็ม ซี’ บริษัทนำเข้ากากอุตฯ รายใหญ่ที่เคยพบการปลอมเอกสาร ผลกรรมการสอบข้อเท็จจริงออกแล้ว ฮึ่ม! ขรก. มีเอี่ยวฟันไม่เลี้ยงแน่ ‘ฐิติภัสร์’ เผยเจ้าหน้าที่แจ้งความเอาผิด บริษัทหัวจงฯ เตรียมรับโทษจำคุก คาด ‘แก๊งศูนย์เหรียญ’ ทำเป็นขบวนการ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าชุดปฏิบัติการตรวจสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ ‘ทีมสุดซอย’ พร้อมด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) นำหมายค้นจากศาลจังหวัดสมุทรสาคร เข้าตรวจค้น บริษัท หัวจง อุตสาหกรรม จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.คลองมะเดื่อ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับการลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงจากต่างประเทศ ลักษณะเป็นขบวนการในเครือข่ายธุรกิจรีไซเคิลศูนย์เหรียญ

“ปฏิบัติการตรวจสุดซอยครั้งนี้ เป็นการขยายผลจากบริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด ที่มีการขายฝุ่นแดงไปยังบริษัท หัวจง อุตสาหกรรม จำกัด และจากการตรวจสอบในระบบคอมพิวเตอร์ พบการจ่ายเงินเกินกว่ารายการจริงมากถึง 111.8 ล้านบาท และยังพบเอกสารข้อมูลการนำเข้าฝุ่นแดงจากต่างประเทศหลายรายการ เชื่อมโยงกับ บริษัท เค เอ็ม ซี 1953 จำกัด จ.ปทุมธานี ผู้ประกอบกิจการนำเข้า-ส่งออก ซึ่งถูกดำเนินคดีข้อหาลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงก่อนหน้านี้ด้วย” นายเอกนัฏ ระบุ

นายเอกนัฏ กล่าวด้วยว่า หลังจากช่วงเดือนมีนาคม 68 ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีพบหลักฐานเอกสารประกอบการนำเข้าฝุ่นแดงของ บริษัท เค เอ็ม ซี 1953 จำกัด ถึง กรมศุลกากรนั้น เป็นเอกสารที่ออกจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแห่งหนึ่ง ขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้รายงานกลับมายังตนเรียบร้อยแล้ว และพบว่ามีข้าราชการบางรายเข้าไปมีส่วนร่วมการกระทำผิดจริง จึงได้สั่งให้สอบทางวินัยอย่างเด็ดขาดและจะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีอาญากับข้าราชการที่กระทำความผิดต่อไป

น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลที่สืบค้นได้จากคอมพิวเตอร์ฝ่ายบัญชีของบริษัท หัวจงฯ พบว่า มีรายการชำระค่าฝุ่นแดงให้กับ บริษัท ซิน เคอ หยวนฯ ซึ่งมีความผิดปกติ เพราะยอดชำระเกินไปจากมูลค่าจริงถึง 111,862,833.30 บาท เจ้าหน้าที่จึงได้ยึดอายัดเอกสาร คอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์กล้องวงจรปิด โทรศัพท์มือถือ ของบริษัท หัว จงฯ  เพื่อนำไปตรวจสอบและขยายผลเครือข่าย รวมถึงเส้นทางการเงินที่อาจมีความเชื่อมโยงไปยังเครือข่ายธุรกิจรีไซเคิลศูนย์เหรียญ 

นอกจากนี้ยังพบเอกสารและข้อมูลการนำเข้าฝุ่นแดงจากต่างประเทศหลายรายการเชื่อมโยงกับ บริษัท เค เอ็ม ซีฯ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ที่ก่อนหน้านี้มีการแจ้งความเอาผิด โดยทีมสุดซอยได้เข้าตรวจค้น หลังพบการกระทำผิดปลอมแปลงเอกสารราชการเพื่อลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงเข้ามาภายในประเทศกว่า 10,262 ตัน ในช่วงเดือน ส.ค. 67 ถึงช่วงต้นปี 68 เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้อายัดฝุ่นแดงจำนวน 7,000 ตัน และอายัดวัตถุอันตรายต้องสงสัยอีก 200 ตัน นำส่งกองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน กรอ. เพื่อตรวจสอบและเป็นข้อมูลในการดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีบริษัท หัวจงฯ และ นายยี่หัน หวัง ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทฯ ฐานครอบครองวัตถุอันตราย และตรวจสอบความผิดฐานลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงซึ่งถือเป็นวัตถุอันตรายเพิ่มเติมอีกด้วย

“ความเชื่อมโยงลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงจากต่างประเทศกับบริษัท เค เอ็ม ซีฯ รวมไปถึงธุรกรรมที่ผิดปกติกับบริษัท ซิน เคอ หยวนฯ ชี้ให้เห็นว่า ทำกันเป็นขบวนการในกลุ่มธุรกิจศูนย์เหรียญที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย ไม่เข็ดหลาบ แม้จะอยู่ระหว่างถูกลงโทษระงับการประกอบกิจการไปแล้ว ที่สำคัญยังไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันอาจจะเกิดขึ้นจากวัตถุอันตรายที่อยู่ในความครอบครองด้วย” น.ส.ฐิติภัสร์ ระบุ

กระทรวงอุตฯ จับมือ สถาบันทดสอบและวิจัยของเกาหลีใต้ พัฒนางานด้านมาตรฐาน หนุน ‘อุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม’

(5 พ.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ลงนามความร่วมมือด้านการมาตรฐานกับ Korea Testing & Research Institute (KTR) ซึ่งเป็นองค์กรด้านการทดสอบและวิจัยที่ดำเนินงานร่วมกับสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการมาตรฐาน การตรวจสอบรับรองในด้านความปลอดภัย โดยมุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีสีเขียว และความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งปัจจุบัน สมอ. กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมด้านสิ่งแวดล้อม (BCG) แล้ว จำนวน 757 มาตรฐาน เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์มือสอง ปูนซิเมนต์ไฮดรอลิก ฉนวนกันความร้อน     ฟิล์มติดกระจกประสิทธิภาพพลังงาน เครื่องย่อยสลายขยะชีวภาพด้วยจุลินทรีย์ ระบบสูบน้ำด้วยระบบเซลล์แสงอาทิตย์ กระจกสะท้อนแสง  ยางล้อสูบลม  และคอนกรีตผสมเสร็จสำหรับสภาพแวดล้อมทางทะเล เป็นต้น

“การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาด้านการมาตรฐานของไทยในระดับสากล โดยเฉพาะมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสีเขียวและความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานของประเทศไทยที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบรรเทาปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้แข่งขันได้ในระดับนานาชาติได้อย่างยั่งยืน” 

“สาธารณรัฐเกาหลีเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 13 ของไทย โดยในปี 2567 มีมูลค่าการค้าทวิภาคี รวมกว่า 15,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 520,586 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.64% จากปี 2566 โดยสินค้าส่งออกหลักของไทยที่ส่งไปสาธารณรัฐเกาหลี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และน้ำตาลทราย รวมทั้งยังเป็นผู้ลงทุนสำคัญอันดับที่ 11 ของไทย มีมูลค่าการลงทุนรวม 215 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7,325 ล้านบาท ในสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็กกล้าและวัตถุดิบ เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี เครื่องจักรและยานพาหนะ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมการแพทย์”

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง สมอ. กับ KTR ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านการมาตรฐาน การตรวจสอบและรับรองในสาขาความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีสีเขียวและความเป็นกลางทางคาร์บอน ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การจัดสัมมนาทางวิชาการ กระบวนการทดสอบ การฝึกอบรมเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรของทั้งสองหน่วยงานตามแนวปฏิบัติสากล รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องตามที่คู่ภาคีมีความสนใจร่วมกัน ถือเป็นการเริ่มต้นความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างสองหน่วยงาน โดยหลังจากนี้จะดำเนินการจัดประชุมวางแผนจัดกิจกรรมทางวิชาการด้านการมาตรฐาน การตรวจสอบและรับรองต่อไป

‘เอกนัฏ’ ส่ง!! ‘ทีมสุดซอย’ กำราบ โรงงานเหล็ก BNSS ในนิคมฯ เมืองชลฯ ลงดาบ 5 ข้อหาโทษหนัก จำคุก 10 ปี ตั้งสอบ จนท. ฐานปล่อยผีเหล็ก IF ระบาด

(10 พ.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าชุดปฏิบัติการตรวจสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ ‘ทีมสุดซอย’ พร้อมด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ลงพื้นที่ บริษัท บี เอ็น เอส เอส สตีลกรุ๊ป จำกัด จังหวัดชลบุรี เพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิตและคุณภาพผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผลิตจากโรงงานนี้ ตามที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนจังหวัดภูเก็ตว่า ซื้อเหล็กเส้นจากโมเดิร์นเทรดแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต เพื่อนำไปสร้างอาคาร แต่เมื่อนำมาดัดโค้งงอปรากฎว่าเหล็กหัก จึงได้ประสานมายังทีมสุดซอยเพื่อตรวจสอบ 

“เบื้องต้นเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ตนำตัวอย่างเหล็กจากหน้างานบริเวณที่ก่อสร้าง ส่งมาตรวจวิเคราะห์ที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบเหล็กที่ส่งมาตรวจทั้ง 10 ท่อนไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ตกค่าโบรอนทั้งหมด“ นายเอกนัฏ กล่าว

นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวเสริมว่า จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เหล็กข้ออ้อย มีอักษร BNS DB16 SD4oT IF กำกับ ซึ่งเป็นเหล็กที่ผลิตโดย บริษัท บี เอ็น เอส เอส สตีลกรุ๊ป จำกัด จดทะเบียนประกอบกิจการผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ชนิดเหล็กเส้นกลม เหล็กข้ออ้อย และเหล็กรูปพรรณ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมชลบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ใช้เตาหลอมแบบ IF ทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน ตรวจพบการกระทำความผิดหลายเรื่อง อาทิ ไม่ขออนุญาตแจ้งเดินเครื่องจักร ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน EIA ติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มเติมที่เข้าข่ายขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต เหล็กไม่เป็นไปตามมาตรฐานในส่วนของค่าโบรอน ซึ่งตรงกับผลการตรวจวิเคราะห์ล่าสุดโดยสถาบันเหล็กฯ ตามที่ประชาชนจังหวัดภูเก็ตร้องเรียนมา และยังมีกรณีลักลอบจำหน่ายกากอุตสาหกรรมด้วย

”โรงงานแห่งนี้มีพฤติกรรมทำผิดเป็นระบบ ไม่เกรงกลัวกฎหมาย ลักลอบประกอบกิจการ ฝ่าฝืน กฎหมายหลายฉบับ จึงต้องจัดการให้เด็ดขาด” นางสาวฐิติภัสร์ ระบุ

นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวต่อว่าจากการตรวจสอบเชิงลึกพบสัญญาว่าจ้างผลิตเหล็กของ บริษัท เวล เอสทาบลิช จำกัด ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และเมื่อตรวจสอบจากเอกสารภายในบริษัท ประกอบคำบอกเล่าของพนักงานพบว่า มีความเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย และมีการตั้งบริษัทเพื่อรับเป็นนายหน้าจัดหาวัตถุดิบและจำหน่ายเหล็ก ซึ่งในวันที่เข้าตรวจค้นยังพบพฤติกรรมต้องสงสัยของชาวจีนหลายคน ซึ่งในส่วนนี้ กขค. จะขยายผลและเร่งตรวจสอบโดยเร็วต่อไป เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งดำเนินคดีกับบริษัทฯ 5 ข้อหา คือ 
1. ทำผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้าน หรือทั้งจำและปรับ 
2. ติดเครื่องหมาย มอก. บนผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้าน หรือทั้งจำและปรับ 
3. จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ 
4. ทำลายเครื่องหมายและป้ายคำเตือนที่เจ้าพนักงานยึดอายัดของกลาง โทษคดีอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ  
5. เคลื่อนย้ายทำลายของกลางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ พร้อมสั่งให้บริษัทฯ รีบดำเนินการเรียกคืนผลิตภัณฑ์เหล็กที่จำหน่ายออกสู่ท้องตลาดกลับมาทั้งหมด และให้แจ้งรายละเอียดการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กของบริษัทฯ ทั้งหมดภายใน 7 วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ผู้รับไปจำหน่ายและประชาชนทราบโดยเร็ว

“นอกจากนี้จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สอบข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องด้วยว่า เหตุใดถึงปล่อยให้บริษัทฯ แห่งนี้มีการฝ่าฝืนทำผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมต้องขอบคุณประชาชนที่เป็นหูเป็นตาให้ความร่วมมือในการร่วมกำจัดปัญหาโรงงานเถื่อนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้สิ้นซากไป” นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ ลั่น!! ต้องปิดเกม ‘นิคมศูนย์เหรียญ’ ส่ง ‘สุดซอย’ บุกระยอง ชักปลั๊ก!! หยุดกิจการ

(17 พ.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าชุดปฏิบัติการตรวจสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ 'ทีมสุดซอย' พร้อมด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ลงพื้นที่ ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง หลังได้รับการประสานงานจาก นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคประชาชน ให้เข้าตรวจสอบกลุ่มโรงงานและโกดังต้องสงสัยที่อาจเข้าข่ายตั้งเป็นนิคมจีนศูนย์เหรียญ รวมทั้งยังมีประชาชนบริเวณใกล้เคียงร้องเรียนว่า ได้รับผลกระทบด้านมลภาวะจากกลุ่มโรงงานดังกล่าวด้วย 

“นิคมศูนย์เหรียญ เป็นวาระสำคัญ กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเร่งปราบปราม แก้ไขอย่างเร่งด่วน เป็นโมเดลธุรกิจ ที่เอารัดเอาเปรียบ ไม่ก่อให้เกิดมูลค่า ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำร้ายชีวิตคน ทำร้ายธุรกิจไทย ไร้ความรับผิดชอบ ไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง เป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างร้ายแรง“ นายเอกนัฏ ระบุ 

นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวเสริมถึงผลการลงพื้นที่ตรวจสอบกลุ่มโรงงานที่ ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ว่า ในพื้นที่มีอาคารลักษณะโกดังจำนวน 4 หลังเป็นของ บริษัท ซีเอสเค เอสเตรท จำกัด ประกอบกิจการให้เช่าพื้นที่โรงงานและโกดัง มี นายหว่าน ชิว เฉิน รับเป็นเจ้าของโครงการบริหารจัดการดูแลพื้นที่ทั้งหมด โดยมีข้อเสนอพิเศษให้ผู้เช่าว่า สามารถขอใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) ให้ได้ด้วย โดยพบว่า 4 โกดังในพื้นที่มี 5 บริษัทที่มีกรรมการบริษัทเป็นชาวจีนทั้งหมดตั้งประกอบกิจการโรงงานอยู่ ตรวจสอบใบอนุญาตโรงงานพบข้อพิรุธว่า เกือบทุกบริษัทได้รับโอนใบอนุญาตจาก บริษัท ซีเอสเค เอสเตรท จำกัด และประเภทของใบอนุญาตก็จะมีลักษณะคล้ายหรือใกล้เคียงกัน แต่ในข้อเท็จจริงแต่ละโรงงานผลิตสินค้าที่แตกต่างกัน 

“กรณีของบริษัท ซีเอสเคฯ ในฐานะผู้ให้เช่าโกดังมีใบอนุญาตประเภทเดียวกันจำนวน 3-4 ใบ และยังสามารถโอนไปยังผู้เช่าโกดังในห้วงเวลาเดียวกัน ต้องไปไล่ดูว่า มีช่องโหว่ในกระบวนการขออนุญาตของ กรอ. หรือมีเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เอื้อประโยชน์ หรือสนับสนุนผู้ประกอบการกระทำความผิดหรือไม่ด้วย“ นางสาวฐิติภัสร์ กล่าว 

นางสาวฐิติภัสร์ เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบโรงงานทั้งหมด ดังนี้ 

1.บริษัท ซานเซน อิเล็คทริคอล (ประเทศไทย) จำกัด แจ้งประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปลั๊กไฟ ปลั๊กราง และสายไฟ โดยไม่แจ้งขออนุญาตเริ่มประกอบกิจการ เจ้าหน้าที่จึงสั่งหยุดประกอบกิจการทั้งหมด พร้อมดำเนินคดีฐานประกอบกิจการโดยไม่แจ้ง และฐานทำผลิตภัณฑ์ โดยไม่มีใบอนุญาต รวมถึงจำหน่ายผลิตภัณฑ์โดยไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กับบริษัทและกรรมการ รวมทั้งยึดอายัดผลิตภัณฑ์ มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท 

2.บริษัท ชุนเล่ย (ไทยแลนด์) จำกัด แจ้งประกอบกิจการโรงงานผลิต นำเข้า ส่งออก เชือกรัด สายรัด สลิง เชือกยกของหัวเข็มขัด ตัวล็อกและชิ้นส่วนอุปกรณ์ ซึ่งเป็นกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ที่จะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินกิจการได้ แต่ตรวจพบว่า ประกอบกิจการผลิตสายรัดของ ซึ่งไม่ตรงกับประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ได้รับอนุญาต จึงสั่งให้หยุดประกอบกิจการ พร้อมดำเนินคดีกับบริษัทและกรรมการ ฐานประกอบกิจการไม่ตรงกับที่ได้รับอนุญาต 

3.บริษัท จินต๋า พรีซิชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่พบว่ามีการแบ่งพื้นที่ให้ บริษัท แฮนด์ดีแจ็ค อีควิปเมนท์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตแม่แรงไฮดรอลิก แต่ตั้งประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่ด้วย จึงได้สั่งหยุดประกอบกิจการทั้งหมด พร้อมผูกมัดประทับตรายึดอายัดเครื่องจักร และควบคุมตัว นายยู่ เจียงหัว อายุ 36 ปี สัญชาติจีน ที่รับเป็นผู้จัดการผู้ควบคุมงานของบริษัทไปดำเนินคดีข้อหาตั้งประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต 

"การปราบปรามนิคมจีนศูนย์เหรียญ เป็นวาระเร่งด่วน และนโยบายสำคัญของ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงต้องเร่งจัดการให้หมดไปโดยเร็ว และจะดำเนินคดีลงโทษกับผู้กระทำความผิดอย่างถึงที่สุด ซึ่งทีมสุดซอยจะรวบรวมข้อมูลเป็นรายสรุปนำเสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไปถึงผู้บริหารกระทรวงฯ ถึงพฤติกรรม และรูปแบบดำเนินกิจการของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ เพื่อนำไปสู่การปรับระเบียบ หลักเกณฑ์การพิจารณาออกใบอนุญาตต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบันและสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป“ นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top