Monday, 29 April 2024
เงินเฟ้อ

บัตรคอนเสิร์ต 'เทย์เลอร์ สวิฟต์' ในสิงคโปร์ขายหมดเกลี้ยงทุกรอบ ส่วนราคาเที่ยวบิน-ที่พักพุ่ง!! ด้านนักเศรษฐศาสตร์หวั่นเกิด 'เงินเฟ้อ'

(8 ก.ค.66) บัตรคอนเสิร์ตของ ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ นักร้องสาวชาวอเมริกัน ซึ่งเตรียมมาเปิดการแสดงที่สิงคโปร์ 6 รอบในเดือนมีนาคมปีหน้า จำหน่ายหมดแล้ว หลังเปิดขาย 2 วัน

เทย์เลอร์ สวิฟต์ นักร้อง และนักแต่งเพลงชื่อดังชาวอเมริกัน เตรียมลัดฟ้าบินมาเปิดคอนเสิร์ต ‘ดิ อีราส์ ทัวร์’ (The Eras Tour) ที่สนามกีฬาแห่งชาติของสิงคโปร์ 6 รอบ ในวันที่ 2-4 และ 7-9 มีนาคม ปี 2024

โดย เออีจี พรีเซนต์ส เอเชีย (AEG Presents Asia) ผู้จัดคอนเสิร์ต เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า บัตรเข้าชมการแสดงคอนเสิร์ตดังกล่าว “จำหน่ายหมดแล้ว” หลังจากเปิดขายรอบพรีเซลเมื่อวันพุธ (5 ก.ค.) และรอบทั่วไปสำหรับผู้ที่ได้รับโค้ดกดบัตรเมื่อวานนี้ (7 ก.ค.)

ขณะที่ก่อนหน้านี้ แฟนๆบางส่วนในสิงคโปร์ ตั้งแคมป์ปักหลักต่อคิวนานข้ามวัน บริเวณด้านหน้าที่ทำการไปรษณีย์สิงคโปร์สาขาต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อรอซื้อตั๋วคอนเสิร์ตเทย์เลอร์ สวิฟต์ โดยนักศึกษามหาวิทยาลัย วัย 22 ปี รายหนึ่งเปิดเผยว่า มาต่อแถวตั้งแต่ช่วงเย็นวันพุธ หลังจากพลาดบัตรรอบพรีเซล จึงตัดสินใจรีบมาตั้งแคมป์ที่จุดจำหน่ายบัตร เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ตั๋ว

สิงคโปร์เป็นจุดหมายเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นักร้องสาวชาวอเมริกันรายนี้จะมาเปิดการแสดงสดเป็นเวลา 6 คืนต่อหน้าแฟนๆ ที่โชคดีกว่า 3 แสนคน แต่ ‘สวิฟตี้’ จำนวนมากทั่วภูมิภาคที่มีประชากรกว่า 500 ล้านคน พลาดโอกาสสุดพิเศษนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการคอนเสิร์ตและความบันเทิงที่พุ่งสูงหลังวิกฤตโรคระบาด และอุปสงค์ที่พุ่งสูง ทำให้ราคาบัตร

คอนฯ ปรับตัวขึ้นสูงตาม จนนักเศรษฐศาสตร์บางคนเรียกปรากฏการณ์เงินเฟ้อลักษณะนี้ว่า ‘สวิฟต์เฟลชัน’ (Swiftflation)

ขณะที่ธนาคารกลางของสิงคโปร์ถูกตั้งคำถามว่า คอนเสิร์ตครั้งนี้จะทำให้ปัญหาเงินเฟ้อในประเทศรุนแรงขึ้นหรือไม่ เนื่องจากมีรายงานว่า ราคาเที่ยวบินและโรงแรมทั่วเกาะพุ่งสูงขึ้นมากในสัปดาห์ที่ ‘เทย์เลอร์’ จะมาเปิดการแสดงที่สิงคโปร์ 

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! ปรากฏการณ์แปลก โลกเจอทั้งเงิน ‘เฟ้อ-ฝืด’ ตะวันตกเผชิญเงินเฟ้อต่อเนื่อง ส่วนจีนเสี่ยง 'วิกฤตเงินฝืด'

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นปรากฏการณ์แปลกที่โลกมีภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) และภาวะเงินฝืด (Deflation) เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เมื่อวันที่ 3 ก.ย.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ขณะนี้กำลังเกิดปรากฏการณ์แปลกที่โลกมีภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) และภาวะเงินฝืด (Deflation) เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน โดย เงินเฟ้อ และ เงินฝืด ต่างก็เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่กลับทิศกัน อย่าง สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป ที่เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงเมื่อปีที่แล้วและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ภายหลังจากคลายล็อกดาวน์โควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรง 

โดยอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และยุโรปหลายประเทศพุ่งสูงกว่า 10% ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องใช้นโยบายการเงินเข้มงวดและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรุนแรงและรวดเร็วอย่างไม่มีมาก่อน ลามมาถึงธนาคารแห่งประเทศไทยที่ก็จำต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจาก 0.5 % เป็น 2.25% ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะปรับเป็น 2.5% อีกครั้งเร็วๆ นี้

ในทางตรงกันข้าม จีน ก็กำลังเผชิญกับภาวะเงินฝืด (Deflation) ครั้งใหญ่ และอาจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หลังจีนเปิดประเทศกว่า 40 ปีมาแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วภาวะเงินฝืดมักเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤตหนี้และวิกฤตทรัพย์สิน ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้ตัวแปรอยู่ที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน หลังเกิดภาวะฟองสบู่มาหลายปี และเอาเข้าจริงฟองสบู่ก็แตกก่อนการระบาดของโควิดเมื่อปี 2020 เสียอีก

นั่นก็เพราะการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เช่น การแทรกแซงธุรกิจ, การวางตัวเป็นศัตรูกับชาติตะวันตก ซ้ำด้วยการล็อกดาวน์ประเทศเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี เข้าไปอีก เหล่านี้ล้วนซ้ำเติมวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ จนไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวได้ในเร็วๆ นี้ และนั่นก็ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อจีนติดลบและอาจจะติดลบต่อเนื่องไปอีกนานด้วยในเวลาเดียวกัน

ทีนี้หันมามองประเทศไทยในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้เอนเอียงและเชื่อมโยงกับจีนอย่างมีนัยสำคัญ โดยจีนเป็นทั้งคู่ค้าและนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของไทย ดังนั้นเหตุการณ์ในจีนย่อมก่อแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจแก่ไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลจึงต้องเตรียมสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ไทยตามรอยจีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจถดถอย โดยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) ที่มีขนาดใหญ่พอสมควร ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ควรจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้แล้ว เพราะขณะนี้อัตราเงินเฟ้อได้ลดลงต่ำกว่า 1% และอาจจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ

‘อาร์เจนตินา’ เผชิญวิกฤต ‘เงินเฟ้อ’ หนัก!! หลังเงินเปโซอ่อนยับ 'ฉุดประเทศ-ประชาชน' ดำดิ่งสู่ภาวะยากจนอย่างแสนสาหัส

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 66 ช่องยูทูบ ‘ทันโลกกับ Trader KP’ ได้เชิญ ‘คุณบุรินทร์ อดุลวัฒนะ’ กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ (Chief Economist) บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มาร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเงินของประเทศอาร์เจนตินา ว่าเพราะเหตุใด สกุลเงิน ‘เปโซ’ ของประเทศอาร์เจนตินา ถึงอ่อนค่าลงจนทำให้เงินเปโซไร้ค่าเช่นนี้ และปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ทำให้เข้าสู่ภาวะยากจนอย่างหนัก โดยคุณบุรินทร์ได้ให้มุมมองไว้ว่า…

แบงค์ชาติของประเทศอาร์เจนตินา ได้มีการปรับค่าเงินเปโซ ซึ่งเป็นค่าเงินทางการของประเทศ จาก 287 เปโซต่อดอลลาร์ เป็น 350 ต่อดอลลาร์ กล่าวง่ายๆ ก็คือ เป็นการ ‘ลดค่าเงิน’ ประมาณ 18% ที่สําคัญมากกว่านั้นคือ ธนาคารกลางอาร์เจนตินากลัวเกิดภาวะ ‘เงินไหลออก’ จึงปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งปรับขึ้นจาก 97% เป็น 118%

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ตอนนี้ค่าเงินของทางการนั้นไม่มีใครใช้อยู่แล้ว และไม่มีใครเชื่อถือ เพราะในตลาดมืดหรือตลาดของจริง 1 ดอลลาร์ ควรจะมีค่าอยู่ที่ประมาณ 690 เปโซ แต่ทางรัฐบาลได้ออกมาแจ้งว่า 1 ดอลลาร์เท่ากับ 350 เปโซ ซึ่งสวนทางกับในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะในตลาดของจริงนั้น 1 ดอลลาร์ มีค่าเท่ากับ 690 เปโซ หรือสูงเทียบเท่ากับครึ่งนึงของค่าเงินที่รัฐบาลได้แจ้งไว้

ซึ่งสิ่งนี้เกิดจากการที่รัฐบาลอาร์เจนตินา มีความพยายามที่จะปิดกั้นไม่ให้เกิดภาวะเงินไหลออก ซึ่งหากคิดตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว เมื่อมีการตรึงราคาค่าเงินไว้ แล้วราคาไม่ได้สะท้อนกับกลไกทางตลาดหรือความเป็นจริง จะส่งผลทำให้เกิดการซื้อขายกันนอกตลาด หรือนอกระบบขึ้น

แล้วเกิดอะไรขึ้นกับประเทศอาร์เจนตินา? ประเทศอาร์เจนตินาได้มีการเลือกตั้ง และปรากฏว่า ‘จาเวียร์ มิลเลย์’ (Javier Milei) นักเศรษฐศาสตร์และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เสรีนิยมอาร์เจนตินา ได้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยเช่นกัน และในที่สุดเขาก็สามารถคว้าตำแหน่งประธานาธิบดีมาได้

ซึ่งแนวคิดของเขานั้น ค่อนข้างที่จะสุดโต่ง อีกทั้งเขายังได้ออกมาบอกว่า “พวกนักการเมืองเป็นโจร” และเขายังกล่าวอีกด้วยว่า หากเขาได้เป็นประธานาธิบดีเขาจะเผา (ยกเลิกระบบ) ธนาคารกลางให้หมด เพราะนโยบายต่าง ๆ ของเขาค่อนข้างที่จะมีความ ‘สุดโต่ง’ เป็นอย่างมาก เช่น เขาประกาศจะลดภาษี และจะปรับค่าเงินทำให้เงินดอลลาร์กลับไปเท่ากับค่าเงินเปโซ หรืออาจเปลี่ยนมาใช้ค่าเงินดอลลาร์ในประเทศแทน ซึ่งโดยปกติแล้ว ทางการห้ามใช้เงินดอลลาร์ และการหาเงินดอลลาร์นั้นได้ทำได้ยากมาก

อีกทั้งเงินเฟ้อของอาร์เจนตินาก็สูงมากเช่นกัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (ปี 2022) สมมติราคาสินค้าอยู่ที่ 100 ตอนนี้อาจจะขึ้นมาเป็น 200 ซึ่งถือว่าสูงขึ้นประมาณ 110% เพราะฉะนั้น คนในประเทศจึงไม่สามารถแบกรับภาระตรงนี้ได้

ต้องบอกว่าตอนนี้ เศรษฐกิจของประเทศอาร์เจนตินาอาการหนักมาก โดยประชากร 40% ในประเทศ อยู่ในภาวะ ‘ยากจน’ อย่างหนัก คือ ‘ต่ำกว่าเส้นความยากจน’ (Below Poverty Line) ซึ่งตอนนี้อาจจะอยู่ที่ประมาณ 2-4 เหรียญ แปลว่าคนในประเทศไม่มีเงินพอใช้ ดังนั้น จึงกลายเป็นว่า เกิดปัญหามีคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้น มีคนไร้บ้านมานอนอยู่ที่สนามบินกันเต็มไปหมด เรียกได้ว่า เป็นประเทศที่น่าสงสารมาก

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราสามารถวิเคราะห์กันได้ว่า การที่ประเทศอาร์เจนตินาได้ประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง ‘จาเวียร์ มิลเลย์’ ซึ่งถือเป็น ‘ตัวเต็ง’ ที่สุดในบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเขาไม่ได้มีพรรคการเมืองใหญ่คอยหนุนหลัง และถึงแม้นโยบายของเขาจะค่อนข้างสุดโต่ง แต่นี่อาจเป็น ‘ความหวังใหม่’ ของคนอาร์เจนตินา เพราะในตอนนี้ประชากร 40% หรือเกือบครึ่งของประเทศ อยู่สภาวะยากจน ประชาชนไม่มีจะกิน ไม่มีบ้านอยู่ เกิดปัญหาคนไร้บ้าน เพราะฉะนั้น ประชาชนจึงต้องหาทางออก

ซึ่งสิ่งนี้มีความคล้ายคลึงกับการเกิด ‘เงินเฟ้อขั้นรุนแรง’ (Hyperinflation) ขึ้นที่ประเทศเยอรมนี หลังการพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 จนเป็นเหตุทำให้ประเทศเยอรมนีเผชิญกับสภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ส่งผลให้คนเยอรมันหาทางออกจากปัญหาข้าวยากหมากแพง โดยการเลือก ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ (Adolf Hitler) ซึ่งเป็นนักการเมืองเยอรมันเชื้อชาติออสเตรีย หัวหน้าพรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ ‘พรรคนาซี’ เป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ในปี ค.ศ. 1933-1945

ซึ่งนโยบายของฮิตเลอร์นั้น เขาให้คำมั่นสัญญากับชาวเยอรมันว่า “ผู้คนจะต้องมีงานทำ” แต่วิธีการจัดการของเขานั้น ค่อนข้างที่จะสุดโต่งอยู่พอสมควร เขาได้ทำการจัดการคนที่ไม่สามารถบริหารประเทศได้ออกไป และทำการเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ในประเทศ

กลับมาที่ประเทศอาร์เจนตินา จริงๆ แล้ว อาร์เจนตินา เป็นประเทศที่น่าสนใจมาก หลายๆ คนอาจจะไม่ทราบว่า เมื่อประมาณร้อยกว่าปีก่อนนั้น อาร์เจนตินา เป็นหนึ่งในประเทศที่รวยที่สุดในโลก ในตอนนั้นรายได้ที่เกิดขึ้นจากในประเทศ หรือ GDB ต่อหัวของประชากรในประเทศนั้น สูงเทียบเท่ากับประเทศสหรัฐอเมริกา สูงกว่าประเทศฝรั่งเศส และเบลเยียมเสียอีก

แล้วเหตุใด ประเทศอาร์เจนตินาจึงมาถึงจุดนี้ได้? จริงๆ แล้วมีเหตุปัจจัยหลายๆ อย่าง เนื่องจากการดําเนินนโยบายผิดไปในหลายเรื่อง เปรียบเหมือนกับการลงทุน ที่เราไม่ควรจะทุ่มจนหมดหน้าตัก แต่ ณ ขณะนั้น อาร์เจนตินาลงทุนทุ่มจนหมดหน้าตัก โดยในช่วงเวลานั้น อาร์เจนตินาได้ทำการค้ากับประเทศอังกฤษ ทุกอย่างจะส่งออกให้กับประเทศอังกฤษทั้งหมด เพราะเขามีแนวคิดว่า อังกฤษเป็นประเทศมหาอํานาจ ดังนั้น เขาจึงคิดว่า สามารถทำการค้ากับประเทศอังกฤษแค่ประเทศเดียวก็เพียงพอแล้ว

แต่ในเวลาต่อมา ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น จึงทำให้ประเทศอังกฤษไม่ได้ทำการค้าขายอาร์เจนตินา เป็นเวลากว่า 4 ปี ทำให้เศรษฐกิจของอาร์เจนตินาล้มทั้งระบบ ยิ่งไปกว่านั้น ก็ดันเกิดสงครามโลกที่ 2 ตามมาซ้ำเติมสถานการณ์ในประเทศอาร์เจนตินาให้ยิ่งวิกฤตมากขึ้นไปอีก

ในสมัยนั้น ของขึ้นชื่อของประเทศอาร์เจนตินา คือ ‘เนื้อวัว’ ดังนั้น เนื้อสเต๊กจึงถือเป็นสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของประเทศไปยังประเทศในทวีปยุโรป เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ทำให้คนยุโรปหันไปซื้อเนื้อสเต๊ก และพวกผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทางการเกษตรจากสหรัฐอเมริกาแทน

ทำให้หลังสงครามโลกจบลง ‘ฆวน เปรอน’ (Juan Domingo Perón) ซึ่งเป็นประธานาธิบดีของอาร์เจนตินาในขณะนั้น ได้ดำเนินนโยบาย ‘ประชานิยม’ อย่างเข้มข้น เขาได้ประกาศลดภาษี ลดราคาสินค้าต่าง แจกทุกอย่างฟรี ไปจนถึงแจกเงินแก่ประชาชนอีกด้วย

ปรากฏว่า นโยบายของเขานั้นทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจขึ้น เนื่องจากเขาแจกประชาชนไปหมดแล้ว อีกทั้งยังลดภาษีต่างๆ ทำให้รัฐบาลไม่มีเงินทุนสำรองมากเพียงพอในการบริหารประเทศต่อ จึงทำให้ประเทศประสบกับสภาวะ ‘เงินเฟ้อ’ จนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น

ในตอนนี้ อาร์เจนตินากลับมาเผชิญกับวิกฤตนี้อีกครั้ง ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในตอนนี้นั้น ช่างสวนทางกับการที่อาร์เจนตินาเพิ่งคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก ในศึก ‘FIFA World Cup 2022’ ที่ผ่านมาเมื่อไม่นานนี้อย่างสิ้นเชิง

อาร์เจนตินานับเป็นประเทศที่ทนทุกข์ทรมาน กับการเผชิญปัญหาการบริหารนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลมาโดยตลอด ทำให้อาร์เจนตินาเป็นประเทศที่ติดหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เยอะที่สุด เมื่อปี 2018 อาร์เจนตินาเพิ่งทำการกู้เงิน IMF ไปกว่า 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนทำให้อาร์เจนตินาเรียกได้ว่าเป็น ‘ลูกค้าหลัก’ ของ IMF เลยก็ว่าได้ อีกทั้ง ในปี 2021 รัฐบาลปิดนัดชำระหนี้ IMF เมื่อปี 2021 ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้ประชาชนต่างพากันลุกฮือ ออกมาประท้วงรัฐบาลกันเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักของอาร์เจนตินา คือ ‘การขาดความน่าเชื่อถือ’ เนื่องจากเมื่อปี 2001 อาร์เจนตินาได้รับการจารึกว่าเป็นประเทศที่ผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยประกาศว่าจะไม่จ่ายหนี้คืนเจ้าหนี้ จนกระทั่งเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวในปี 2005 และปี 2010 อาร์เจนตินาได้ยื่นข้อเสนอจ่ายคืนหนี้ให้บางส่วน โดยเจ้าหนี้ร้อยละ 93 ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ไม่มีใครกล้ามาลงทุนในประเทศอาร์เจนตินา และไม่มีใครกล้าให้ยืมเงินลงทุน จนท้ายที่สุด อาร์เจนตินาก็ต้องหันหน้าไปพึ่ง IMF จนเกิดเป็นปัญหาหนี้สินของประเทศ ที่ต้องตามชำระกันต่อไปอย่างไม่จบไม่สิ้น

นี่จึงถือเป็นจุดพลิกผัน ที่ทำให้ประเทศอาร์เจนตินา หนึ่งในประเทศที่รวยที่สุดในโลก กลับกลายเป็นประเทศลูกหนี้รายใหญ่ และต้องเผชิญกับการอ่อนตัวลงของค่าเงินในประเทศ จนเกิดสภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง จากการบริหารประเทศที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าของรัฐบาล

ทำให้ตอนนี้ ชาวอาร์เจนตินาต้องหวังพึ่งรัฐบาลใหม่ ภายใต้การบริหารจากผู้นำที่มีแนวคิดสุดโต่งอย่าง ‘จาเวียร์ มิลเลย์’ ซึ่งสถานการณ์ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป…

‘ฟิลิปปินส์’ เผชิญเงินเฟ้อหนัก ทำค่าครองชีพประชาชนพุ่งสูง ฉุดฐานความนิยมของประธานาธิบดี ‘บองบอง มาร์กอส’ ร่วง 15%

(3 ต.ค. 66) ‘นายเฟอร์ดินานด์ บองบอง โรมูอัลเดซ มาร์กอส จูเนียร์’ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เผชิญกับการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของคะแนนนิยมในตัวเขา เนื่องจากราคาผู้บริโภคที่พุ่งสูงขึ้นในประเทศที่บ่อนทำลายการสนับสนุนจากประชาชน

‘Pulse Asia’ องค์กรสำรวจความนิยมได้เผยแพร่ผลสำรวจครั้งล่าสุดในวันที่ 2 ตุลาคม โดยเป็นผลจากการสำรวจที่จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 10-14 กันยายน ซึ่งชี้ว่า 65% ของผู้ตอบแบบสำรวจ 1,200 คน ให้ความเห็นชอบกับผลงานของประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์

แม้ดูเหมือนว่าจะยังเป็นตัวเลขให้การรับรองที่ค่อนข้างสูง แต่ถือว่าลดลงอย่างมากถึง 15% จากผลสำรวจในเดือนมิถุนายน ที่ประชาชนพอใจกับการทำงานของเขาสูงถึง 80% และยังเป็นการลดลงครั้งแรกในการสำรวจผลการทำงานของบุตรชายอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส พ่อผู้โด่งดังอีกด้วย

‘โรนัลด์ โฮล์มส์’ ประธาน Pulse Asia กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และบริการขั้นพื้นฐาน รวมถึงคำมั่นสัญญาว่าจะลดราคาสินค้าเหล่านี้ลง ดูเหมือนจะเป็นต้นเหตุให้การให้การเห็นชอบในการทำงานของประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

‘มาร์กอส จูเนียร์’ ซึ่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรด้วย พยายามที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อในประเทศ แต่การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าต่างๆ ยังเกินเป้าหมายของรัฐบาลที่ 2-4% แม้ว่ารัฐจะมีมาตรการแทรกแซง เช่นการลดภาษีอาหารแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อต่อปีของฟิลิปปินส์อยู่ที่ 6.6% ณ สิ้นเดือนสิงหาคม

‘ซารา ดูแตร์เต’ รองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ บุตรสาวของอดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ก็ประสบปัญหาคะแนนนิยมลดลงเช่นกัน โดยลดลง 11% มาอยู่ที่ 73%

‘กิตติรัตน์’ แจง 2 ข้อสงสัย ปม ‘เงินดิจิทัล’ ยัน!! ไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ เผย เหตุที่ไม่ให้เป็นเงินสด เพราะป้องกันการใช้เงินซื้อ ‘สิ่งไม่ดี-สิ่งผิด’

(8 ต.ค. 66) นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กกรณีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล ระบุว่า…

ตอบ 2 คำถาม 1.) เงินดิจิทัล จะสร้างเงินเฟ้อไหม?
- ไม่มีใครสั่งให้ธนาคารกลาง พิมพ์เงินใหม่มาใส่ระบบ แต่ ‘เงินดิจิทัล’ ทุกบาท จะมาจากรายได้ของรัฐบาลเอง

นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า ‘อุปสงค์’ (Demand) ที่เพิ่มจากโครงการ ย่อมเพิ่มปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่จะไม่เป็นเหตุให้ ‘ราคาเฟ้อ’ เพราะอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่เพียงประมาณ 60%

อุปทาน (Supply) ย่อมเพิ่มได้โดยราคาไม่ขยับ และเมื่อผลิตเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าที่ผลิตถูกลงอีก ถ้าไม่ลดราคา รัฐบาลขอเก็บภาษีจากกำไรที่สูงขึ้น

นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า 2.) ทำไมไม่ให้เป็น ‘เงินสด’ มีอะไรแอบแฝงรึเปล่า?
- ‘เงินสด’ ใช้ซื้อ ‘สิ่งดี’ ได้ และใช้ซื้อ ‘สิ่งไม่ดี/สิ่งผิด’ ก็ได้ ‘เงินดิจิทัล’ ที่มีค่าเท่ากัน บาทต่อบาท ใช้ซื้อ ‘สิ่งไม่ดี/สิ่งผิด’ ไม่ได้ ใช้ไม่หมดตามกำหนด แสดงว่าไม่จำเป็นนัก ก็ยกเลิกการให้ได้

‘อ.พงษ์ภาณุ’ หวั่น!! หากภาวะ ‘เงินฝืด’ เกิดขึ้นในเมืองไทย ก่อผลกระทบ ‘รุนแรง-กว้างขวาง’ แก้ไขได้ยากกว่า ‘เงินเฟ้อ’

(11 พ.ย. 66) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ให้มุมมองต่อภาวะความเสี่ยงเงินฝืดกับประเทศไทย ภาคต่อ ไว้ว่า…

‘ภาวะเงินฝืด’ (Deflation) เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เพราะเรามักคุ้นเคยกับ ‘เงินเฟ้อ’ (Inflation) มากกว่า แต่เมื่อเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นแล้ว จะก่อเกิดผลกระทบรุนแรง กว้างขวาง และแก้ไขได้ยากกว่า 

เนื่องจากผู้บริโภคจะชะลอการจับจ่ายใช้สอยและธุรกิจชะลอการลงทุน เพราะภาระหนี้ที่แท้จริงจะสูงขึ้น ดังเช่นที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นเป็นเวลากว่า 20 ปี และที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศจีนขณะนี้ หรือในประเทศตะวันตกหลังวิกฤตการเงินแฮมเบอร์เกอร์ ธนาคารกลางต้องใช้นโยบายดอกเบี้ย 0% ร่วมกับ Quantitative Easing (QE) เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเป็นเวลากว่า 10 ปี

อาจจะเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าไทยเริ่มเข้าภาวะเงินฝืด แต่ก็มีความเสี่ยงสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จากปีที่แล้วที่มีเงินเฟ้อสูงสุดในโลกประเทศหนึ่ง จนกลายเป็นอัตราเงินเฟ้อติดลบเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 

แน่นอนไทยได้รับผลกระทบจากจีนที่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย แต่ภาวะเงินฝืดในไทยมีสาเหตุอีกส่วนหนึ่งจากการดำเนินนโยบายการเงินผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในจังหวะเวลาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะได้มีการเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่ล่าช้ากว่าประเทศอื่นในระยะที่เงินเฟ้ออยู่ในช่วงขาลงแล้ว ซึ่งเป็นการซ้ำเติมวัฏจักรธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ก็ยังถือเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่ขณะนี้รัฐบาลได้เริ่มทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะต้องมีการก่อหนี้เพื่อระดมเงินมาใช้จ่าย แต่ส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายครั้งเดียวจบและไม่ผูกพันงบประมาณแผ่นดินในอนาคต 

อีกทั้งขนาดและความเร็วในการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ภาคเศรษฐกิจจริงๆ เหล่านี้ ก็จะมีความสำคัญอย่างมากต่อการฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นภาวะเงินฝืดได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่แม้จะใช้ได้จริงก็เป็นเดือนพฤษภาคมปีหน้า แต่ความชัดเจนจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรี ย่อมสร้างผลที่เรียกว่า Announcement Effect ในทันที และกระตุ้นให้ภาคธุรกิจลงทุนเพื่อผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครองรับการใช้จ่ายที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในปีหน้าด้วยความมั่นใจต่อไป...

อ่านบทความเกี่ยวเนื่อง : ‘เงินฝืดจ่อไทย’ >> https://www.facebook.com/100064606066871/posts/pfbid02UjG5nDK1oHfcZqdWee1KWQp963cCQoZ7K29Z5W5tsfz4ShNBBq5qhHKeUdXy4xM4l/

'อ.พงษ์ภาณุ' หวั่น!! นโยบายการเงินแบงก์ชาติซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย หลังเงินเฟ้อตุลาติดลบ และเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามประเทศจีน

(11 พ.ย. 66) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ให้มุมมองต่อภาวะความเสี่ยงเงินฝืดกับอิสรภาพธนาคารกลาง ไว้ว่า...

สมัยก่อนระบบการเงินโลกตั้งอยู่บนมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) เงินตราสกุลต่าง ๆ มีค่าคงที่อิงอยู่กับน้ำหนักทองคำ ต่อมาหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 มีการใช้ระบบ Bretton Woods ค่าเงินก็ยังคงที่แต่อิงกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ นโยบายการเงิน (Monetary Policy) มักจะไม่ค่อยมีบทบาททางเศรษฐกิจเท่าไหร่ 

หน้าที่หลักของนโยบายการเงินคือ การรักษาระดับคงที่ (Parity) ของอัตราแลกเปลี่ยน ต่อเมื่อระบบการเงินโลกเปลี่ยนมาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา นโยบายการเงินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระดับราคา และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าธนาคารกลางจะต้องมีอิสรภาพในการทำหน้าที่นี้โดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ความเชื่อในอิสรภาพของธนาคารกลางและการใช้ Inflation Targeting มาเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงิน ได้ช่วยให้เงินเฟ้อของโลกที่เคยสูงถึงกว่า 20% ลดลงมาอยู่ระดับไกล้ศูนย์มาเป็นเวลานาน

ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ยึดมั่นในหลักความเป็นอิสระของธนาคารกลาง โดยเฉพาะหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ได้มีการแก้กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อประกันความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินและทำให้การปลดผู้ว่าการฯ ยากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะกระทำไม่ได้หากผู้ว่าการฯ บกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง

1 ปีครึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่านโยบายการเงินได้สร้างความผันผวนอย่างรุนแรงให้กับเศรษฐกิจไทย เมื่อโลกมีเงินเฟ้อสูงเมื่อไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว ธนาคารกลางทุกประเทศได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วตามกรอบ Inflation Targeting ขณะที่ทางการไทยกลับรี ๆ รอ ๆ ปรับดอกเบี้ยช้ากว่าประเทศอื่น จนอัตราเงินเฟ้อของไทยในปีที่แล้วขึ้นไปสูงถึงกว่า 6% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในอาเซียนและสูงกว่ากรอบ Inflation Targeting ที่เห็นชอบร่วมกับรัฐบาล ถึงกว่า 2 เท่า 

พอมาถึงปีนี้ ภายหลังการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ดูเหมือนว่าการดำเนินการนี้จะสายเกินไปและผิดที่ผิดเวลา จนซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้เงินเฟ้อมีอัตราติดลบในเดือนตุลาคม และมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามประเทศจีนไป และก็ถือเป็นการหลุดกรอบ Inflation Targeting 2 ปีติดต่อกัน เราไม่เคยได้ยินคำขอโทษของธนาคารแห่งประเทศไทยสักครั้งเดียว

เรายังเชื่อในอิสรภาพของธนาคารกลาง แต่อิสรภาพนี้จะต้องมีควบคู่ไปกับ Accountability ฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งต้อง Accountable ต่อประชาชนที่เลือกตั้งเข้ามา แต่ธนาคารกลาง ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและได้รับการคุ้มครองอิสรภาพตามกฎหมาย ควรจะต้องมี Accountability มากกว่านี้ อย่างน้อยก็ควรจะต้องเคารพเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งเปรียบเสมือนสัญญาประชาคม

‘แบงก์ชาติ’ แจง!! เหตุยังไม่ลดดอกเบี้ยแม้เงินเฟ้อลง ชี้!! ดอกเบี้ยไทยยังต่ำ เมื่อเทียบกับทั่วโลก

(15 ม.ค. 67) นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงินและเลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) กล่าวถึงแนวทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่าเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมแล้ว ไม่สามารถปรับดอกเบี้ยนโยบายตามกระแสข่าวได้ เพราะต้องให้ความสำคัญกับ 3 ด้านหลักคือ 1.) เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน 2.) ควบคุมเงินเฟ้อยั่งยืน และ 3.) เสถียรภาพเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ยังให้ความเห็นต่อประเด็นที่ว่าดอกเบี้ยนโยบายการเงินสูงไปหรือไม่นั้น นายปิติยืนยันว่าทางกนง. ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ไม่อาจใช้นโยบายการเงินมาแก้ไขโดยง่าย การลดดอกเบี้ยมีต้นทุนและเสี่ยง ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะไม่เพียงแค่เรื่องคุมเงินเฟ้อ แต่จะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีก

"นโยบายดอกเบี้ยต้องดูหลายปัจจัยรอบด้าน เพื่อดูให้ออกว่าอะไรเป็นแก่น อะไรเป็นกระแส ต้องมองไประยะปานกลาง เพราะใช้เวลาส่งผ่านช่วงหนึ่ง เหมือนส่งบอลให้เพื่อนว่าจะวิ่งไปทางไหน"

สำหรับแนวทางกำหนดกรอบดอกเบี้ยนโยบายโดยคำนึงถึงการสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืนนั้น นายปิติขยายความว่า แม้ในปี 2566 เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วในหลายมิติ แต่ยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควรและไม่สมดุล เพราะขาดแรงส่งจากภาคส่งออกและการผลิต แต่เป็นการขยายตัวที่เน้นหนักที่ด้านท่องเที่ยวและบริการเป็นหลัก ทั้งนี้ยังมีบางจุดที่ยังไม่เป็นไปตามคาด เช่น การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวและปริมาณนักท่องเที่ยวจีน เช่นเดียวกับที่ภาคการผลิตและภาคการส่งออกไม่ฟื้นตัวเร็ซอย่างที่เคยประเมินไว้ เพราะอุปสงค์โลกยังเน้นฟื้นตัวที่ภาคบริการเป็นหลัก ยังไม่มีความต้องการซื้อสินค้าจากทั่วโลก

ด้วยปัจจัยเชิงโครงสร้างเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัว จนส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวต่ำกว่าคู่แข่งมาก และดัชนีความซับซ้อนของสินค้าส่งออกของไทยเพิ่มเพียงเล็กน้อย ขณะที่หลายประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่า สะท้อนว่าไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และไทยเองก็มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวน้อยลง เพราะขาดการพัฒนาเชิงโครงสร้างพื้นฐานเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและเวียดนาม

แต่มองว่าปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอย่างครบครันและสมดุลมากขึ้น จะมีทิศทางการส่งออกดีขึ้น จากปัจจัยที่วัฏจักรอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกกลับมา แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างยังทำให้ประโยชน์ที่ควรได้รับไม่มีมากเท่าที่ควร กนง.จึงให้ความสำคัญและยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในการประเมินภาพเศรษฐกิจในอนาคต

"เหตุผลที่เศรษฐกิจขยายตัวชะลอ เพราะปัจจัยทางโครงสร้าง และปัจจัยนอกประเทศที่เหนือการควบคุม เลยยังไม่สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยลงได้"

สำหรับในมิติของเงินเฟ้อนั้น มองว่าการที่อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงเป็นข่าวดี เพราะช่วยจำกัดค่าครองชีพของประชาชนไม่ให้สูงขึ้น และปัญหาเงินเฟ้อของไทยได้คลี่คลายไปพอสมควรแล้ว นอกจากนี้เงินเฟ้อที่ต่ำมาจากมาตรการรัฐ แต่จริง ๆ แล้วราคาสินค้าไม่ได้ลดลงเป็นวงกว้าง ทั้งนี้แม้ว่าเงินเฟ้อไทยปรับลดลงเร็ว จึงไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ระดับ 2% และการลดลงของเฟ้อสะท้อนเรื่องอุปทานหรือการผลิตที่คลี่คลายลง โดยมองว่าเงินเฟ้อจะติดลบไปอีกถึงเดือนกุมภาพันธ์ แล้วจะค่อยเพิ่มขึ้นจึงคาดว่าปลายปีก็จะอยู่ 1-2% ตามระดับเป้าหมาย 

"ด้วยเงินเฟ้อที่ติดลบในช่วงนี้ก็ไม่ได้สะท้อนว่าเป็นเงินฝืดหรืออุปสงค์ที่ลดลงจริง จึงยังไม่ใช่เหตุผลที่ต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงทันที เพราะต้องดูให้รอบด้านไม่ใช่แค่เรื่องอัตราเงินเฟ้อ"

ส่วนมิติของการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยเพื่อดูแลเสถียรภาพทางการเงินนั้น นายปิติกล่าวว่า ระดับหนี้ที่สูงเป็นจุดเปราะบางสาคัญของเศรษฐกิจไทย โดยตัวเลขหนี้ต่อ GDP ลดลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง นั่นคือหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.9% และหนี้ภาคธุรกิจต่อ GDP อยู่ที่ 87.4% เช่นเดียวกับที่สัดส่วนของหนี้ครัวเรือนไทยที่มีสินทรัพย์รองรับมีน้อยหรืออยู่ที่เพียง 34% เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่เกินกว่า 50% ซึ่งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยต้องสอดรับกับศักยภาพพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจและการขยายตัวทางธุรกิจที่แท้จริง 

อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับทั่วโลก แล้วเป็นไปในแนวทางที่กนง.ต้องการให้อยู่ในภาวะสมดุล เป็นกลาง และไม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ ให้มีเม็ดเงินเพียงพอไปหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจได้ แม้ค่าเงินบาทยังผันผวนแต่ยังอยู่ในระดับที่รับได้ 

ด้านนางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ยืนยันว่าการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะปัจจุบันยังส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ย MRR เพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อย รวมถึงมีการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เปราะบางอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ได้เปรียบเทียบการส่งผ่านจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ว่า ของไทยอยู่ที่ 69% สำหรับดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 64% สำหรับ MOR และ ที่ 49%  สำหรับ MRR ซึ่งโดยเฉลี่ยยังต่ำกว่าหลายประเทศ แม้อาจสูงกว่าเมื่อเทียบกับบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย

ส่วนประเด็นที่ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างสูงเป็นจุดที่เหมาะสมหรือไม่นั้น ทางแบงก์ชาติมองว่า เรื่องส่งต่างอัตราดอกเบี้ยเป็นกลไกตลาด ที่การส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายไปเงินฝากน้อยเกินไป โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ยังไม่ค่อยตึงตัว ทั้งนี้หน้าที่ของแบงก์ชาติต้องดูแลเรื่องความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ และดูแลเรื่องให้บริการอย่างเป็นธรรมกับผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ยังดูเรื่องต้นทุนการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top