เปิดเหตุผล!! ทำไมเงินเฟ้อถึงต้องแตะอยู่ที่ระดับ 2% เพราะเป็นตัวเลขที่ช่วยกระตุ้นศก.โดยไม่ทำร้ายระบบศก.

เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมเวลาที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศออกมาพูดเรื่องระดับเงินเฟ้อ พร้อมทั้งออกนโยบายทางการเงินต่าง ๆ ก็มักจะมีการพูดถึงระดับเงินเฟ้อที่ 2% กันอยู่บ่อย ๆ 

เงินเฟ้อจริง ๆ แล้วดีไหม? และทำไมเงินเฟ้อถึงควรจะอยู่ที่ระดับ 2%? ... วันนี้จะมาเล่าให้ฟังค่ะ 

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าเงินเฟ้อคืออะไร? 

เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราต้องใช้เงินเยอะขึ้นในการซื้อของชิ้นเดิมหรือใช้บริการเดิม ถ้าพูดในมุมมูลค่าของเงิน ก็แปลได้ว่าเงินของเรามีมูลค่าที่ลดลงนั่นเอง โดยสาเหตุของการเกิดเงินเฟ้อแบ่งได้หลัก ๆ 2 อย่าง นั่นคือ...

1.เงินเฟ้อที่เกิดจากทางด้านอุปสงค์ หรือ Demand-Pull Inflation เงินเฟ้อประเภทนี้จะเกิดจากการที่คนมีความต้องการในสินค้าและบริการมากขึ้น แต่สินค้าและบริการนั้น ๆ มีไม่เพียงพอ ความต้องการที่มากขึ้นนั้นก็จะสะท้อนออกมาในระดับราคาที่เพิ่มสูงขึ้น 

และ 2. เงินเฟ้อที่เกิดจากด้านอุปทาน หรือ Cost- Push Inflation เงินเฟ้อประเภทนี้จะเกิดการที่ต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น ผู้ผลิตจึงผลักภาระทางด้านต้นทุนนี้ออกไป โดยการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการแทน

จริง ๆ แล้วเงินเฟ้อไม่ใช่ตัวร้ายในระบบเศรษฐกิจเสมอไป เพราะเงินเฟ้อในระดับที่ดีจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 'ผู้ขาย' ขายสินค้าได้มากขึ้น ก็จะไปขยายการผลิต เพิ่มการจ้างงาน คนมีรายได้มากขึ้นและนำมาจับจ่าย เงินก็จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น 

แต่ถ้าเงินเฟ้อถึงระดับที่สูงจนเกินไปเมื่อไหร่ นั่นแหละที่จะกลายมาเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจแทน เพราะเงินเฟ้อที่สูงเกินไป ข้าวของแพงเกินไป คนจะไม่ยอมจับจ่ายใช้สอย และเงินก็จะหายไปจากระบบทำให้เศรษฐกิจฝืดเคืองได้

โดยอัตรา 2% ของเงินเฟ้อนี่ล่ะค่ะที่มีการคำนวณเอาไว้แล้วว่าเป็นระดับที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจมากที่สุด ที่ระดับ 2% นี้ถือว่าเป็นระดับต่ำปานกลาง ไม่น้อยจนทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองจนลงจนไม่อยากใช้เงิน และก็ไม่ได้สูงจนคนรู้สึกทุกอย่างแพงจนไม่อยากใช้เงินเช่นกัน และยังเป็นระดับที่สอดคล้องกับเสถียรภาพของราคาระหว่างความเสี่ยงและการเติบโตของเศรษฐกิจ และผลเสียใดก็ตามที่จะเกิดจากการที่เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับนี้ก็ไม่ได้ส่งผลเสียอะไรมากด้วยค่ะ 

แต่เดิมไม่เคยมีประเทศไหนกำหนดระดับเงินเฟ้อมาก่อน โดยประเทศแรกที่มีกำหนดระดับเงินเฟ้อคือ ประเทศนิวซีแลนด์ ในปี 1989 ในตอนนั้นนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีเงินเฟ้อสูงมาก ธนาคารกลางนิวซีแลนด์เลยทำการกำหนดระดับเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับ 0-2% และพอธนาคารกลางนิวซีแลนด์ทำได้จริง หลายธนาคารจึงนำเรื่องนี้ไปใช้บ้าง อย่างเช่น ที่สหรัฐอเมริกาในยุคของ Ben Bernanke ผู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ในยุคนั้นก็ได้นำการตั้งระดับเงินเฟ้อไปใช้เช่นกัน 

ซึ่งพอนำระดับนี้ไปใช้จริงก็ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือแย่ ผู้คนก็จะเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ระดับเงินเฟ้อกลับไปอยู่ที่ 2% รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจเองก็สามารถที่จะคำนวณต้นทุนการผลิต การวางแผนการใช้จ่ายต่าง ๆ ได้แม่นยำขึ้น ส่วนผู้บริโภคหรือเรา ๆ เองก็จะสามารถวางแผนการใช้จ่าย วางแผนการออมได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน 

โดยสรุปคือ ตัวเลข 2% เป็นตัวเลขที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ทำร้ายระบบเศรษฐกิจจนเกินไปค่ะ


เรื่อง: อรวดี ศิริผดุงธรรม