Saturday, 11 May 2024
สงครามรัสเซียยูเครน

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น รายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอินเดีย ระบุ ยอดขายน้ำมันรัสเซียที่ป้อนแก่อินเดีย เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 50 เท่าในช่วง 3 เดือนหลังสุด และตอนนี้คิดเป็นสัดส่วน 10% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของอินเดียแล้ว

หนังสือพิมพ์อินเดีย บิสซิเนส รายงานโดยอ้างคำสัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล ระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า "เวลานี้พวกเขาติดท็อปเท็นซัปพลายเออร์ของเรา"

ยอดขายน้ำมันรัสเซียที่ป้อนแก่อินเดีย เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 50 เท่าในช่วง 3 เดือนหลังสุด และตอนนี้คิดเป็นสัดส่วน 10% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของอินเดียแล้ว

มาตรการคว่ำบาตรที่ตะวันตกกำหนดเล่นงานรัสเซีย เปิดโอกาสให้โรงกลั่นต่างๆ ของอินเดีย สั่งซื้อน้ำมันรัสเซียเพิ่มมากขึ้นในราคาที่ลดกระหน่ำ หลังจากชาติยุโรปบางประเทศปลีกตัวออกห่างจากน้ำมันดิบรัสเซีย

ก่อนหน้าความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้น น้ำมันรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนแค่ 0.2% ในปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของอินเดีย อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าแค่เพียงพฤษภาคมเดือนเดียว โรงกลั่นทั้งหลายของประเทศจัดซื้อน้ำมันดิบรัสเซียมากกว่า 25 ล้านบาร์เรล ซึ่งจากจำนวนดังกล่าว ส่งผลให้รัสเซียแซงหน้า ซาอุดีอาระเบีย กลายเป็นผู้จัดหาอุปทานน้ำมันป้อนแก่อินเดียรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 เป็นรองเพียง อิรัก เท่านั้น

อินเดีย ชาติผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลก ถูกตะวันตกกดดันอย่างหนักต่อกรณีที่พวกเขายังคงเดินหน้าจัดซื้อน้ำมันของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม นิวเดลี เพิกเฉยต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว โดยอ้างเหตุผลว่าการนำเข้าเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยในความจำเป็นทั้งหมดของประเทศ

ในเดือนพฤษภาคม กระทรวงพลังงานของรัสเซียระบุว่า "การจัดซื้อพลังงานจากรัสเซียยังคงคิดเป็นสัดส่วนเล็กจิ๋ว เมื่อเทียบกับการบริโภคโดยรวมของอินเดีย"

อย่างไรก็ดี รัฐบาลอินเดีย เรียกร้องให้แก้ปัญหาด้วยวิธีการทางการทูตในความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน พวกเขาไม่ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานมอสโก และแสดงจุดยืนงดออกเสียงในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในญัตติประณามปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย

การสั่งซื้อน้ำมันรัสเซียที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของอินเดีย มีขึ้นในขณะที่โลกตะวันตกกำหนดหาทางบั่นทอนแหล่งรายได้สำหรับทำสงครามของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ในนั้นรวมถึงกรณีที่ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังอเมริกา ระบุเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่แล้วว่า สหรัฐฯ อยู่ระหว่างพูดคุยกับแคนาดาและพันธมิตรอื่นๆ ในความพยายามหาทางจำกัดรายได้ทางพลังงานของรัสเซียเพิ่มเติม ด้วยการกำหนดเพดานราคาสำหรับน้ำมันรัสเซีย

‘สุริยะ’ เร่งช่วยเหลือภาคธุรกิจกระทบสงคราม สั่ง สมอ. แก้กฎลดอุปสรรค ‘ส่งออก-นำเข้า’

สมอ. แก้ประกาศคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ช่วยเหลือผู้ส่งออกสินค้าควบคุม จากเดิมที่ให้รายงานปริมาณการผลิต การส่งออก และปริมาณคงเหลือ ต่อ สมอ. ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่มีการส่งออก เป็น 30 วัน หลังจากได้รับเอกสารครบถ้วนจากกรมศุลกากร เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกอย่างเร่งด่วน โดยตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไขสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อน หากมีกฎระเบียบหรือประกาศของหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ การค้า การส่งออก-นำเข้า ให้พิจารณาแก้ไขเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการให้มากที่สุด โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ต้องไม่กระทบกับนโยบายด้านการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมถึงให้ความช่วยเหลือกรณีที่ผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ไม่สามารถส่งสินค้าเข้าประเทศปลายทางได้ และจำเป็นต้องนำกลับเข้ามาในประเทศให้ สมอ. หามาตรการช่วยเหลือด้วย

ด้าน นายบรรจง  สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ที่ตนได้เข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ก็ได้รับข้อร้องเรียนจากผู้ส่งออกมาอย่างต่อเนื่อง กรณีที่ไม่สามารถรายงานปริมาณการผลิต การส่งออก และปริมาณคงเหลือ ต่อ สมอ. ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ส่งออกได้ จึงทำให้ต้องถูกดำเนินคดี ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว สมอ. จึงเสนอบอร์ดคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์

'เซเลนสกี้' สั่งเด้งฟ้าผ่า!! ทูตยูเครนใน 5 ประเทศ เหตุไม่ได้ดั่งใจที่ให้ต่างชาติยืนข้างยูเครนไม่ได้

เมื่อวันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ประธานาธิบดียูเครน ได้เซ็นคำสั่งเด้งฟ้าผ่าเอกอัครราชทูตยูเครนที่ประจำในเยอรมนี, อินเดีย, สาธารณรัฐเช็ก, นอร์เวย์ และ ฮังการี รวดเดียว 5 ประเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ต่างประเทศระดับสูงอีกหลายคน โดยไม่ได้อธิบายเหตุผลว่าเกิดจากอะไร มิหนำซ้ำไม่ได้แจ้งด้วยว่า นักการทูตระดับสูงที่ถูกเด้งออกไป จะมีโอกาสได้ย้ายไปทำงานในหน่วยงานอื่นของรัฐบาลยูเครนหรือไม่

สื่อต่างประเทศหลายสำนักพยายามที่จะหาเหตุผลว่า เหตุใดผู้นำยูเครนถึงตัดสินใจปลดเอกอัครราชทูตของตนที่ประจำอยู่ในหลายประเทศชั้นนำอย่างกะทันหันในช่วงเวลาเช่นนี้ 

โดยหนึ่งในสาเหตุ อาจเกิดจากการที่ผู้นำยูเครนพยายามกดดันให้ทูตยูเครนที่ประจำในที่ต่าง ๆ เร่งเจรจากับรัฐบาลต่างประเทศเพื่อระดมทุน และความช่วยเหลือด้านอาวุธส่งเข้ามาให้ยูเครนในการทำสงครามสู้รบกับรัสเซียให้ได้มากที่สุด

แต่เอกอัครราชทูตที่อยู่ในบัญชีถูกปลดบางคน มักประจำอยู่ในประเทศที่มีแนวโน้มเอนเอียงไปทางรัสเซีย ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลอินเดีย ที่ตอนนี้ยังคงวางตัวเป็นกลางในสถานการณ์ยูเครน และยังเพิ่มปริมาณการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียอีกด้วย 

อย่างคนที่ถูกจับตามากที่สุด คือ นาย แอนเดรย์ เมลนิค ที่ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตยูเครน ประจำกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีมาตั้งแต่ปี 2014 ได้อยู่ในรายชื่อที่ถูกปลดด้วยเช่นกัน 

นอกจากนี้ บางส่วนก็มาจากสาเหตุการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไป ตรงมา ผ่านสื่อโซเชียลของทูต แอนเดรย์ เมลนิค ที่พร้อมชนทุกคนที่เห็นต่าง ซึ่งเขาเคยต่อว่านักการเมืองเยอรมนีที่คัดค้านการส่งอาวุธรบให้กองทัพยูเครน ว่าเป็นพวกที่รักสันติแบบผิดที่ ผิดเวลา และยังเคยวิจารณ์นาย โอลัฟ ช็อลทซ์ ผู้นำเยอรมนี ที่ยังไม่ตอบรับคำเชิญในการเยี่ยมเยือนผู้นำยูเครนที่กรุงเคียฟโดยทันทีว่า นายโอลัฟ ช็อลทซ์ ทำตัวเหมือนคนหยิ่งยโส

แต่การใช้คำพูดในการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสม อาจเป็นเหตุผลเพียงส่วนเดียว เพราะเมื่อไม่นานนี้ มีสัญญาณบางอย่างส่งมาจากรัฐบาลเยอรมนี เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของเยอรมนีได้ส่งจดหมายตรงถึงรัฐบาลแคนาดา เรียกร้องให้ส่งเครื่องจักรเทอร์ไบน์ ของบริษัท Siemens ที่ใช้กับท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 แต่ถูกทางการแคนาดายึดไว้ กลับคืนมาให้กับเยอรมนี

เครื่องยนต์เทอร์ไบน์ดังกล่าว ได้เคยถูกส่งไปซ่อมบำรุงในศูนย์ที่แคนาดา แต่เมื่อเกิดกรณีรัสเซียรุกรานยูเครน รัฐบาลแคนาดาตัดสินใจยึดเครื่องยนต์เทอร์ไบน์ไว้ เพื่อขัดขวางการส่งออกก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียสู่เยอรมัน และอีกหลายประเทศทางฝั่งยุโรปตะวันตก 

แต่ในวันนี้รัฐบาลเยอรมนีต้องการขอคืนเครื่องยนต์เทอร์ไบน์นี้ แม้แต่ โอลัฟ ช็อลทซ์ ผู้นำเยอรมันเอง ยังเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่าเขาจะทำทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนพลังงานในประเทศ และจะดีกว่าถ้าเราได้เครื่องยนต์เทอร์ไบน์ของ Nord Stream 1 กลับมา ซึ่งทางรัฐบาลแคนาดาได้ตอบตกลงตามคำร้องของเยอรมันแล้ว

‘จิรายุ’ อัด ‘บิ๊กตู่’ ปมน้ำมัน-ไฟฟ้าแพง เหตุรัฐบาลบริหารห่วย ไม่เกี่ยวสงคราม

(22 ก.ค. 65) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 จำนวน 11 คน เป็นวันที่ 4 ภายใต้ยุทธการ ‘เด็ดหัว สอยนั่งร้าน’ ซึ่งเป็นการอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ว่า วันนี้ตนจะมาฉายมหากาพย์การปล้นชาติกินเมืองที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หากนายก ฯเพิกเฉยหมายความว่า นายกฯ ทุจริตไปด้วย แต่รัฐบาลพยายามบอกว่านายกฯ เป็นคนบริสุทธิ์ผุดผ่อง ซึ่งนายกฯ รองนายกฯ ปลัดกระทรวง และอธิบดี สวาปามกินทั้งดิน ทั้งน้ำ ทั้งลม และทั้งไฟ โดยนายกฯ ปล่อยให้พวกพ้อง บุคคลแวดล้อมทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง

นายจิรายุ กล่าวว่า เริ่มจากกองทุนทรัพยากรน้ำบาดาล ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดทำน้ำขวดบาดาลแจกจ่ายประชาชน หลังจากตนได้อภิปรายเมื่อต้นปี 65 ได้ยกเลิกโครงการไปแล้ว 2 ครั้ง แต่กลับแอบเดินหน้าโครงการต่อ โดยให้กรมทรัพยากรน้ำ 12 เขต จัดซื้อจัดจ้างขวดน้ำ เฉพาะ จ.สุพรรรณบุรี ได้งบประมาณ 4.4 ล้านบาท จัดซื้อขวดน้ำจำนวน 4.8 ขวด ที่มีฉ้อฉลว่าราคาขวดน้ำเปล่าที่กรมทรัพยากรน้ำซื้อมีราคาที่ต่างจากราคาท้องตลาดทั่วไป พร้อมทั้งข้อสังเกตงบประมาณปี 2566 ของกรมทรัพยากรน้ำดาล 10 โครงการ 1,800 ล้านบาท เหตุใดรีบเสนอโครงการทั้งๆ ที่สภายังอยู่ในระหว่างการพิจารณาวาระ 2-3

นายจิรายุ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องพลังงานที่มีราคาแพงไม่ได้เกี่ยวกับผลกระทบจากสงครามยูเครนรัสเซีย แต่เป็นเพราะรัฐบาลห่วยแตกโหลยโท่ย บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดบกพร่องโทษโน้นโทษนี่ ซึ่งมาตรการรอบใหม่ลดค่าครอบชีพช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาลทั้ง 8 ข้อนั้น โดยเฉพาะขอความร่วมมือประหยัดพลังงาน วันนี้ตนขอหยิบวิธีประหยัดพลังงานที่นายกฯ บอกประชาชน คือ เตาเศรษฐีใช้แล้วดีมีแล้วรวย ที่มีสัญลักษณ์ เบอร์ 5 ที่สนับสนุนโดยกระทรวงพลังงาน กรณีที่จะขอลดค่ากลั่นและจะใช้เป็นตัวเลือกสุดท้ายนั้น ก็ยังหลอกประชาชน เพราะไม่ได้เจรจาจริง ทำให้น้ำมันแพงขึ้นทุกวันๆ และยังไม่ลดค่าการตลาดลงอยู่ที่ 1.40 สตางค์ แต่พบว่าค่าการตลาดอยู่ที่ 1.76-4.75 สตางค์ ขณะที่บริษัทไทยออยล์เพิ่มกำลังการผลิต จากเดิม 2.8 แสน บาร์เรลต่อวัน แล้วเพิ่มอีก 1.2 แสนบาร์เรลต่อวัน เพื่อการส่งออกแต่ไม่ได้ขายในประเทศเพราะได้กำไรดีกว่า

สื่อมะกัน แฉ อาวุธที่ตะวันตกมอบให้ยูเครน พบถึงแนวหน้าแค่ 30% ที่เหลือลือถูกขายต่อตลาดมืด

แม้สหรัฐ อเมริกา และพันธมิตรให้สัญญามอบแรงสนับสนุนด้านการทหารแก่ยูเครนแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่รายงานข่าวของสำนักข่าวซีบีเอสนิวส์เมื่อเร็ว ๆ นี้ บ่งชี้ว่าในบรรดาอาวุธที่ตะวันตกจัดหาให้นั้น มีเพียงแค่ราว ๆ 30% ที่ถูกส่งถึงมือแนวหน้า ท่ามกลางข่าวลือเกี่ยวกับการถูกทิ้งไว้โดยเปล่าประโยชน์ คอร์รัปชันและนำไปขายต่อทำกำไรในตลาดมืด

สหรัฐฯ อนุมัติความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทางทหารแก่ยูเครนไปแล้วมากกว่า 54,000 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ส่วนสหราชอาณาจักรสัญญามอบความช่วยเหลือด้านการทหารเกือบ ๆ 3,000 ล้านดอลลาร์ และอียูส่งมอบอาวุธแก่ยูเครนอีก 2,500 ล้านดอลลาร์ โดยอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ไล่ตั้งแต่ปืนไรเฟิล ระเบิด ขีปนาวุธต่อต้านรถถัง ไปจนถึงระบบจรวดหลายลำกล้อง ถูกลำเลียงออกจากคลังแสงของตะวันตกมุ่งหน้าสู่ยูเครน เกือบทั้งหมดผ่านทางโปแลนด์

อย่างไรก็ตาม มีน้อยครั้งมากที่การส่งมอบจะเป็นไปอย่างราบรื่น รายงานของซีบีเอสนิวส์เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว "ทั้งหมดถูกลำเลียงข้ามชายแดน และจากนั้นมีบางอย่างเกิดขึ้น มีแค่ราว ๆ 30% ไปที่ถึงจุดหมายปลายทาง" โจนาส โอห์มาน ผู้ก่อตั้งองค์กรจัดหาเสบียงแก่ทหารยูเครน ที่มีฐานบัญชาการในลิทัวเนีย กล่าวกับซีบีเอสนิวส์ พร้อมระบุว่าการนำพาอาวุธไปมอบเหล่าทหารนั้น พัวพันกับเครือข่ายอันซับซ้อนของบรรดาผู้ทรงอิทธิพล ผู้มีอำนาจและผู้มีบทบาททางการเมือง

"ไม่มีข้อมูลจริง ๆ ว่าอาวุธกำลังถูกส่งไปที่ไหน" โดนาเคลลา โรเวรา ที่ปรึกษาอาวุโสขององค์การนิรโทษกรรมสากลบอกกับซีบีเอสนิวส์ "มีความกังวลอย่างแท้จริงในบางประเทศ ว่าการส่งมอบอาวุธไม่เป็นไปอย่างที่คิด และพวกเขามีหน้าที่รับผิดชอบต้องกำหนดกลไกกำกับดูแลที่แข็งขันอย่างยิ่งขึ้นมา"

ยูเครน ยืนกรานว่าพวกเขาติดตามอาวุธแต่ละชิ้นและทุกชิ้นที่ข้ามเข้าสู่ชายแดนของพวกเขา โดย ยูริ ซัค ที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บอกกับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์สเมื่อเดือนที่แล้ว ว่า รายงานข่าวต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกัน "อาจเป็นส่วนหนึ่งของสงครามข้อมูลข่าวสารของรัสเซีย เพื่อทำให้พันธมิตรนานาชาติท้อใจ ไม่อยากมอบอาวุธแก่ยูเครน"

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่บางส่วนในตะวันตกยังคงส่งเสียงแสดงความกังวล โดยแหล่งข่าวด้านข่าวกรองของสหรัฐฯ เปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นในเดือนเมษายน ว่า วอชิงตันแทบไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับอาวุธเหล่านั้น และให้คำจำกัดความการส่งมอบอาวุธว่าเป็น "การหย่อนลงสู่หลุมดำขนาดใหญ่" ครั้งที่อาวุธเหล่านี้ถูกส่งเข้าไปในยูเครน ส่วนแหล่งข่าวแคนาดาก็ระบุเช่นกันเมื่อเดือนที่แล้ว ว่า พวกเขาไม่รู้ว่าอาวุธที่ส่งมอบไปนั้น แท้จริงแล้วไปจบลงที่ไหน

สำนักงานตำรวจสหภาพยุโรป (ยูโรโพล) อ้างว่าอาวุธบางส่วนไปจบลงในมือขององค์การอาชญากรรมกลุ่มต่าง ๆ ในอียู ส่วนรัฐบาลรัสเซียเตือนว่าพวกมันกำลังไปโผล่ที่ตะวันออกกลาง ทั้งนี้จากการตรวจสอบของสำนักข่าวอาร์ทีนิวส์เมื่อเดือนมิถุนายน พบตลาดออนไลน์หลายแห่งที่มีการนำยุทโธปกรณ์ล้ำสมัยของตะวันตก อย่างเช่นจรวดเจฟลิน และระบบต่อต้านรถถัง NLAW รวมถึงโดรนสวิตช์เบลด ออกวางจำหน่ายในราคาดอลลาร์

ยูเครนติดอันดับชาติที่มีการคอร์รัปชันมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกต่อเนื่องมาหลายปี มีคะแนน 122 เต็ม 180 ใน "ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI)" ประจำปี 2021 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ โดย 180 เป็นตัวแทนของการคอร์รัปชันมากที่สุดและ 0 เป็นตัวแทนของการคอร์รัปชันน้อยที่สุด

รัสเซียเคาะวันประชามติ ผนวกรวม 4 แคว้นยูเครน ด้านเซเลนสกี้ หยัน!! ปูตินรีบเพราะเห็นเค้าลางแพ้

สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ และ ลูฮันสก์ ที่เคยประกาศแยกตัวออกจากยูเครน ประกาศเดินหน้าทำประชามติเพื่อรวมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียแล้ว โดยกำหนดไว้ในวันที่ 23-27 กันยายน 2565 ที่จะถึงนี้ 

ในขณะเดียวกัน เมืองเคอร์ชอน และ ซาปอริซเซีย ซึ่งเป็นเขตยึดครองของกองทัพรัสเซีย ก็เตรียมทำประชามติ เพื่อไปรวมกับรัสเซียในวันเดียวกันกับทางแคว้นโดเนตสก์ และ ลูฮันสก์ ด้วยเช่นกัน 

วลาดิมีร์ ซาลโด ผู้ว่าการเมืองเคอร์ชอน ที่ทางรัฐบาล มอสโควเป็นผู้แต่งตั้ง ได้ออกมาประกาศผ่านคลิปวิดีโอว่า “เราได้เตรียมแผนการที่จะกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอีกครั้ง และเราจะไม่ถอยหลังอีกแล้ว”

ทางด้านรัสเซีย ดมิตี้ เมดเวเดฟ อดีตผู้นำรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสภาฝ่ายความมั่นคง เคยให้ความเห็นมาก่อนหน้านี้แล้วว่า การจัดทำประชามติ ในเขตโดเนตสก์ และ ลูฮันสก์ เป็นสิ่งจำเป็น ที่จะช่วยให้รัสเซียส่งกำลังพลไปลงในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่มากกว่าที่เป็นอยู่นี้ 

ส่วน เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียก็ออกมาสนับสนุนแผนการทำประชามติอย่างเต็มที่ โดยบอกว่า ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ควรให้ประชาชนได้มีส่วนตัดสินใจอนาคตของพวกเขา 

แต่ในทางตรงกันข้าม ดมิโตร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศของทางยูเครนได้ออกมาประณามแผนการทำประชามติในพื้นที่ 4 เขตยึดครองของกองทัพรัสเซียอย่างรุนแรงว่าเป็นการทำประชามติที่น่าละอาย และไม่ได้ทำให้สถานการณ์อะไรเปลี่ยนแปลงเลย

การเร่งเดินหน้าแผนการทำประชามติเกิดขึ้นหลังจากที่กองทัพยูเครน สามารถตีโต้กองทัพรัสเซีย และยึดคืนพื้นที่ทั้งหมดของเมืองคาร์คีฟมาได้ และเริ่มเดินหน้ารุกคืบพื้นที่ในแคว้นลูฮันสก์ ซึ่ง โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ได้ออกมาประกาศว่ายูเครนพร้อมแล้วที่จะตีพื้นที่ในดองบาสคืนกลับมาทั้งหมด

‘ปูติน’ ออกกฎหมายลงโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี สำหรับทหารที่ ‘จงใจยอมแพ้’ ในสงครามยูเครน

ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียลงนามบังคับใช้กฎหมายอาญาซึ่งกำหนดบทลงโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี สำหรับทหารรัสเซียที่ 'จงใจยอมแพ้' ให้แก่ฝ่ายศัตรู ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในสงครามยูเครน

มาตรการดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นหลังจากที่ ปูติน ประกาศเรียกระดมพลบางส่วน (partial mobilization) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อเกณฑ์ชายฉกรรจ์เข้าทำสงครามที่ยืดเยื้อมานาน 7 เดือน และไม่เป็นไปตาม 'สคริปต์' ที่มอสโกวางไว้

สำนักข่าว TASS ของรัสเซียอ้างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352.1 ซึ่งระบุว่า บรรดาทหารเกณฑ์เหล่านี้จะได้รับโทษจำคุกระหว่าง 3-10 ปี หากมีเจตนายอมแพ้ แต่หากเป็นผู้กระทำความผิดครั้งแรก และสามารถหลบหนีกลับมายังกรมกองได้โดยไม่ได้กระทำความผิดอื่นๆ ในระหว่างที่ตกเป็นเชลย ก็จะถือเป็นข้อยกเว้น

“นี่คือแผนการเล่นคลาสสิกของ ปูติน” รีเบกาห์ คอฟเลอร์ อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานข่าวกรองกลาโหมของสหรัฐฯ (DIA) ซึ่งเป็นผู้แต่งหนังสือ ‘Putin’s Playbook: Russia’s Secret Plan to Defeat America’ ให้สัมภาษณ์กับฟ็อกซ์นิวส์ดิจิทัล

“มันคือการตัดสินใจอันยากลำบากที่ชายชาวรัสเซียต้องเผชิญในวันนี้ คือเลือกว่าจะตายในสนามรบ หรือไม่ก็เน่าอยู่ในคุก”

'อลงกรณ์' ชี้แม้ไทยส่งออกยางธรรมชาติทะลุ 2 แสนล้านเพิ่มขึ้นกว่า 20%แต่ราคายังผันผวนจากผลกระทบของโควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน มอบ 'กยท.' เร่งเดินหน้าขยายมาตรการชะลอขายยางเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง เปิดเผยวันนี้(1 ธ.ค)ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 5/2565ว่าที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจ ตลาดยางพารา ในประเทศคู่ค้าที่สำคัญจากทูตเกษตร ประจำสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก โดยทูตเกษตรจากสหภาพยุโรป (สำนักงานบรัสเซลส์) อิตาลี (สำนักงานกรุงโรม) สหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้ (สำนักงานกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.และลอสแองเจลิส) ออสเตรเลีย รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น อาเซียน (สำนักงานกรุงจาการ์ต้า) ซึ่งจากรายงานสถานการณ์การผลิต การค้า และการแข่งขันของตลาดยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางทั่วโลก ทั้งจากรายงานสถานการณ์ปัญหาสงครามรัสเซียยูเครน ยังคงส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางไทย

โดยสถานการณ์การส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางไทยไปยังรัสเซียยังคงหดตัว อีกทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหนักอยู่ในระยะ wait and see mode และสต๊อคยางในรัสเซียยังล้นตลาดถึง 43 % ในสหรัฐอเมริกา เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง และสถานการณ์โควิดในประเทศจีนรุนแรง หลายพื้นที่ล็อคดาวน์ยังพบผู้ติดเชื้อสูงโดยในเดือนพฤศจิกายน จีนพบผู้ติดเชื้อกว่า 49,479 ราย ไม่แสดงอาการ 448,350 ราย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าในจีน ซึ่งจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้ส่งผลกระทบต่อราคาและการส่งออกยางพาราของไทย

ที่ประชุมยังรับทราบรายงานสถานการณ์ยางพารา เดือนพฤศจิกายน 2565 และคาดการณ์เดือนธันวาคม 2565 โดยฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย ได้รายงานคาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางพารา ปี 2565 มีปริมาณ 4.754 ล้านตัน ในช่วงไตรมาส 4/65 มีปริมาณผลผลิตยางพาราสูงกว่าทุกไตรมาส มีปริมาณ 1.432 ล้านตัน การส่งออกในไตรมาสที่ 3/65 ไทยส่งออกรวม 1.150 ล้านตัน ยังอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน สำหรับช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.2565 คาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกอาจจะชะลอตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ปริมาณสูงกว่าช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการส่งออกยางธรรมชาติของไทย ปี 2565 (ม.ค.-ก.ย. 2565) มีมูลค่า 216,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.99 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งออกไปยังประเทศจีน มากที่สุด มีมูลค่า 107,352 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ มาเลเชีย มูลค่า 19,153 ล้านบาท สหรัฐอเมริกามูลค่า 15,414 ล้านบาท ญี่ปุ่น มูลค่า 11,905 ล้านบาท เกาหลีใต้ มูลค่า 9,891 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ มูลค่า 52,813 ล้านบาท 

นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบรายงานเรื่องแพลตฟอร์มเพื่อการบูรณาการองค์ความรู้และนวัตกรรม (Field for Knowledge Integration and Innovation (FKII)) และรายงานความก้าวหน้าโครงการจัดตั้งพื้นที่บริหารจัดการยางพารา (Rubber Valley) 

‘ไบเดน’ เปิดทำเนียบต้อนรับ ‘เซเลนสกี’ พร้อมให้คำมั่น สหรัฐฯ จะหนุนยูเครนสู้รบรัสเซีย

(22 ธ.ค. 65) หลังจากที่มีข่าวลืออกมาว่า โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน กำลังเดินทางไปสหรัฐฯ เตรียมเข้าพบประธานาธิบดีโจ ไบเดน และแถลงต่อที่ประชุมสภาคองเกรส ซึ่งจะเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกเท่าที่รู้นับตั้งแต่เกิดสงคราม

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนสหรัฐฯ ร้องขอขีปนาวุธแพทริออตเพิ่มจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในระหว่างพบกันที่ทำเนียบขาว ก่อนที่ระบบป้องกันชุดแรกจะเดินทางถึงยูเครน โดยย้ำในระหว่างการแถลงข่าวว่า "เราอยู่ในสงคราม"

ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวกับผู้นำยูเครนว่า สหรัฐจะยังคงให้ความช่วยเหลือยูเครนตราบนานเท่านานในสงครามกับรัสเซีย และยูเครนจะไม่มีวันถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวเดียวดาย พร้อมยืนยันเรื่องที่สหรัฐจะมอบความช่วยเหลือครั้งใหม่มูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 69,308 ล้านบาท) ให้แก่ยูเครนเพื่อนำไปใช้ป้องกันประเทศจากการโจมตีของรัสเซีย และให้สัญญาว่าจะมอบความช่วยเหลืออีกราว 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.56 ล้านล้านบาท) 

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังกล่าวในงานแถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดีเซเลนสกีว่า เขาไม่ได้รู้สึกวิตกกังวลเลยแม้แต่น้อยเกี่ยวกับการจัดตั้งกลุ่มแนวร่วมนานาชาติที่เป็นพันธมิตรร่วมกันเพื่อช่วยเหลือยูเครน ทั้งยังระบุว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ยังคงไม่มีความคิดที่จะหยุดการทำสงครามอันโหดร้ายในครั้งนี้

ยูเครน VS รัสเซีย สงครามยืดเยื้อ ที่ยังไม่รู้วันจบ

ปี 2565 กำลังจะจากไป ชาวโลกได้เห็นความยืดเยื้อของสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียข้ามปี และยังไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุด ซ้ำยังจะรุนแรงในช่วงปีใหม่ซึ่งยังเป็นฤดูหนาวในสองเดือนแรก ความหนาวเย็นได้เป็นอาวุธของรัสเซีย

เหยื่อของสงครามที่ต้องทนทุกข์อย่างมากคือชาวยูเครนที่ยังติดอยู่ในประเทศและเจอกับความยากลำบากเพราะขาดไฟฟ้า น้ำประปา และความสะดวกด้านสาธารณูปโภคซึ่งถูกทำลายโดยกองทัพรัสเซีย

และผู้นำยูเครนอดีตตัวตลกยังคงโลดแล่น อาบแสงสีเพื่อความโดดเด่นในฐานะเป็นวีรบุรุษสงครามในสายตาของโลกตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ ซึ่งใช้ยูเครนเป็นตัวแทนทำสงครามเพื่อบั่นทอนแสนยานุภาพของรัสเซีย

ยูเครนจึงต้องเป็นสมรภูมิสำหรับอาวุธจากโลกตะวันตกและของรัสเซียซึ่งสร้างความพินาศย่อยยับให้กับหลายเมือง แม้กระทั่งเมืองหลวงกรุงเคียฟก็ยังไม่ปลอดภัย ทั้งยังขาดแคลน ไฟฟ้า น้ำประปา ระบบขนส่งโทรคมนาคมที่เดี้ยง

โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ชอบกับการถูกยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษสงครามสวมเสื้อยืดตัวเดียวเป็นผู้นำยูเครนท่ามกลางความพินาศของบ้านเมือง และความทุกข์ยากของชาวยูเครนซึ่งมองไม่เห็นอนาคตว่าสงครามจะสิ้นสุดเมื่อไหร่

โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศว่าจะทุ่มอาวุธและเงินช่วยเหลือยูเครนรบกับรัสเซียให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นได้เหลือเพียงชาวยูเครนคนสุดท้ายก็จะต้องทำ

และคนสุดท้ายน่าจะเป็นตัวตลก เซเลนสกี้ ที่ถูกมองว่ากำลังกอบโกยความมั่งคั่งจากสงครามร่วมกับพวกพ่อค้าทรงอิทธิพลที่แอบยักยอกเอาอาวุธ จากนาโตไปขายเอาเงินเข้ากระเป๋า ผู้ก่อการร้ายในแอฟริกาอ้างว่ามีอาวุธสมัยใหม่จากสงครามยูเครน

ถ้าจะประเมินว่าใครอยู่ในสภาพที่ดีกว่าด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตก ต้องบอกว่ายุโรปและอังกฤษกำลังทุกข์ระทมกับวิกฤตที่เกิดจากพลังงานราคาแพง อัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ค่าครองชีพสูง

ชาวอังกฤษหลายล้านคนกลายเป็นผู้ดีตกยาก ต้องเก็บออมเงินไว้จ่ายค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ มาตรฐานการครองชีพต่ำลง ต้องอดมื้อกินมื้อ อาหารที่เคยมีคุณภาพต้องงด พวกรายได้น้อยไม่ต้องพูดถึง อยู่ในสภาพทุกข์ยาก โดยรัฐบาลไม่มีทางช่วยเหลือได้

พยาบาล พนักงานองค์กรต่าง ๆ ได้นัดหยุดงานประท้วง เรียกร้องค่าแรงเพิ่ม แต่รัฐบาลไม่มีเงิน ต้องกู้กว่า 2.6 หมื่นล้านปอนด์เพื่อใช้จ่าย

เยอรมนีอยู่ในสภาพที่กำลังจะสิ้นความเป็นชาติอุตสาหกรรม พลังงานจากรัสเซียที่เคยทำให้ประเทศเป็นขุมพลังของยุโรปไม่มีต่อไปอีกแล้ว ท่อก๊าซใต้ทะเลทั้งสองถูกก่อวินาศกรรมโดยฝีมือของสหรัฐฯ และอังกฤษตามหลักฐานที่ไม่เปิดเผยได้

เท่ากับว่าเป็นการตัดหนทางที่จะให้เยอรมนีได้หวนคืนไปรับก๊าซจากรัสเซียในราคาถูก ต้องซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวจากสหรัฐฯ ในราคาที่แพงกว่า 4 เท่าตัว

กลุ่มประเทศยุโรปต้องขออาวุธไปให้ยูเครน เมื่อคลังแสงพร่อง ต้องสั่งซื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐฯ ที่เป็นผู้นำ และกำหนดมาตรฐานอาวุธของนาโต เท่ากับว่าสหรัฐฯ มีแต่ได้กับได้ จากการขายพลังงานและอาวุธ ยุโรปกลายเป็นเหมือนเมืองขึ้น

ยุโรปไม่มีทางถอนตัวออกจากการนำของสหรัฐฯ เศรษฐกิจมีแต่จะทรุด

เยอรมนีต้องกู้เงินมากกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์เพื่อพยุงเศรษฐกิจ โดยไม่มีโอกาสจะเห็นวันฟื้นตัวจากภาวะถดถอย ตราบใดที่ราคาพลังงานยังแพง ธุรกิจตั้งแต่ขนาดใหญ่จนถึงรายย่อยต่างเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน ลดการผลิตหรือปิดตัวลง

ฝรั่งเศสและอิตาลีก็อยู่ในสภาพไม่ต่างกันมากนัก ต้องเร่งหาพลังงานทดแทน ฟื้นโรงงานผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานนิวเคลียร์ บางประเทศต้องหันไปใช้ถ่านหิน ทำให้แผนที่จะลดภาวะโลกร้อนต้องชะลอตัว ประเทศยุโรปอื่น ๆ ก็เดือดร้อนเช่นกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top