Saturday, 11 May 2024
สงครามรัสเซียยูเครน

'ดร.สมเกียรติ' วิเคราะห์ตอนจบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ฟันธงจะไม่มียุโรปชาติใดอยากยุ่งกับยูเครน

'ดร.สมเกียรติ' วิเคราะห์ตอนจบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ฟันธงรัสเซียจะสถาปนารัฐใหม่ขึ้นมาสี่รัฐ โปแลนด์-โมาเนีย จะเข้ามาแบ่งยูเครน ไม่มียุโรปชาติใดอยากยุ่งกับยูเครนเพราะแพง เสี่ยง กลัวรัสเซียตบ ตัดแก๊สเดี๋ยวก็ไล่อเมริกันไป

29 เม.ย. 65 - ดร.สมเกียรติ โอสถสภา อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ว่า...

สงครามจะจบ

เมื่อเริ่มสงครามยูเครนให้กุมารทองไปสืบข่าวมา แล้วบอกว่าตอนจบของยูเครนจะเป็นแบบนี้

1.) รัสเซีย จะสถาปนารัฐใหม่ขึ้นมาสี่รัฐ ชายฝั่งตะวันออกถึงตอนใต้ รวมทะเลดำ ยึดทางออกทะเลทั้งหมดของยูเครน

2.) โปแลนด์จะเข้ามาแบ่งยูเครน เอาส่วนที่เป็นชาติพันธ์โปแลนด์ไป แถวเมืองสวิฟท์ ที่ผมเรียกเมืองละโว้ของโปแลนด์ สถาปนารัฐกันชนระหว่างโปแลนด์กับรัสเซียขึ้น เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์แนวสุโขทัยอเมริกาตกลงกับโปแลนด์แล้ว เดี๋ยวจะแบ่ง

3.) โรมาเนียจะมาแบ่งยูเครนด้วย คาดว่าจะเอาส่วนของมอลโดว่า ทำเป็นรัฐกันชน
.
4.) ท้ายสุด เบลารุสจะสร้างรัฐกันชนของตนด้วย ลากเส้นจะเห็นสงครามจะจบแบบนี้นี่คือวิถีจัดสรรดินแดนแบบยุโรป

สหรัฐฯ หนุนงบส่ง 33 พันล้านดอลล่าร์ช่วยยูเครนรบรัสเซีย แต่อ้างไร้เงินช่วยคนไร้บ้านในสหรัฐฯ ร่วม 6 แสนราย

ผศ.ดร.ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ นักวิชาการทางบูรพคดีศึกษา สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก 'ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์' ระบุว่า...

ประชาชนอเมริกันมีสิทธิ์ที่จะโกรธแค้นประธานาธิบดีของตน แล้วแสดงพลังไล่ลงจากตำแหน่งได้แล้ว ไม่ใช่แค่ลดความนิยมเพราะอเมริกาขณะนี้มีคนไร้บ้านราว 5 ถึง 6 แสนคน รัฐบาลอ้างว่าไม่มีเงินช่วยเหลือ 

แต่รัฐบาลจะส่งเงิน 33 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา (33,000 ล้านดอลล่าร์ ประมาณ 1 ล้านล้านบาท) ไปให้ยูเครนรบกับรัสเซียต่อ และไม่กี่เดือนข้างหน้า โจ ไบเดนก็จะไปเยือนอิสราเอล ซึ่งก็เตรียมขอเงินอเมริกาอีกแล้ว คราวนี้ อเมริกาก็จะปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกัน 

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ชี้ ‘นาโต’ เป็นผู้จุดชนวนสงครามยูเครนเอง เหตุความโกรธเกรี้ยวของปูติน อาจเกิดเพราะ“เสียงเห่าของนาโตที่หน้าประตูบ้านรัสเซีย”

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ตรัสในบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (3 พ.ค.) ระบุต้องการพบประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียเพื่อพูดคุยเรื่องสงครามยูเครน พร้อมเปรียบเทียบการนองเลือดที่เกิดขึ้นว่าไม่ต่างจากการสังหารหมู่ที่รวันดา ขณะเดียวกัน ทรงชี้ว่าชนวนเหตุของสงครามครั้งนี้อาจมาจากพฤติกรรมขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่ไปข่มขู่รัสเซียถึงหน้าบ้าน

โป๊ปฟรานซิสได้ประทานสัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ Corriere Della Sera ของอิตาลี โดยตรัสว่าพระองค์เคยส่งสาส์นถึงปูติน ราวๆ 20 วันหลังเกิดสงคราม เพื่อบอกกับเขาว่า “ข้าพเจ้ายินดีที่จะเดินทางไปมอสโก”

“เรายังไม่ได้รับคำตอบใดๆ และยังยืนกรานข้อเสนอนั้นอยู่ แต่ข้าพเจ้าเกรงว่า ปูติน อาจจะไม่สามารถ หรือไม่ต้องการที่จะพบกับข้าพเจ้าในเวลานี้”

“แต่เราจะไม่พยายามยับยั้งความรุนแรงป่าเถื่อนนี้ได้หรือ? เมื่อ 25 ปีก่อน เราก็ได้เห็นสิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นที่รวันดามาแล้ว”

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยชาวทุตซี (Tutsi) โดยรัฐบาลฮูตูสุดโต่งระหว่างเดือน เม.ย.-ก.ค. ปี 1994 ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปราว 800,000 คน และถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งเลวร้ายที่สุดในช่วงศตวรรษที่ 20

โป๊ปฟรานซิสทรงออกมาเรียกร้องสันติภาพในยูเครนอย่างต่อเนื่อง และทรงประณาม “สงครามที่โหดร้ายและขาดสติ” ครั้งนี้ โดยไม่ได้ทรงเอ่ยถึง ปูติน หรือมอสโกตรงๆ

“ข้าพเจ้ายังไม่ไปกรุงเคียฟในตอนนี้ ข้าพเจ้าคิดว่ายังไม่ควรที่จะไป ข้าพเจ้าจะต้องไปเยือนมอสโกก่อน และต้องได้พบกับ ปูติน ก่อน” โป๊ปตรัส

กระทรวงกลาโหมรัสเซียประกาศชัยชนะในปฏิบัติการปิดล้อมโรงงานเหล็กอาซอฟสตัล (Azovstal) ที่เมืองท่ามาริอูโปล หลังรัฐบาลยูเครนสั่งทหารชุดสุดท้ายที่ยังซ่อนตัวอยู่ให้ “ยอมจำนน” แล้วเมื่อวานนี้ (20 พ.ค.)

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน มีคำสั่งไปยังทหารกลุ่มสุดท้ายที่ยืนหยัดปกป้องโรงงานเหล็กอาซอฟสตัลให้รีบถอนกำลังออกมาเพื่อรักษาชีวิตตนเองไว้

ด้านกระทรวงกลาโหมรัสเซียประกาศว่า “พื้นที่ในโรงงานเหล็กอาซอฟสตัลได้ถูกปลดปล่อยแล้วอย่างสมบูรณ์” โดยมีทหารยูเครนยอมวางอาวุธเพิ่มอีก 531 นาย ซึ่งเมื่อบวกกับทหารที่ยอมจำนนไปก่อนหน้านี้ก็จะรวมเป็น 2,439 นาย

ขณะเดียวกัน กองทัพรัสเซียได้เริ่มปฏิบัติการโจมตีครั้งใหญ่เพื่อยึดดินแดนส่วนที่เหลือของแคว้นลูฮันสก์ (Luhansk) ที่ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของยูเครน โดยลูฮันสก์นั้นเป็น 1 ใน 2 แคว้นทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครนที่มอสโกได้ประกาศรับรองความเป็นรัฐอิสระ (independent states) ให้

“กองทัพรัสเซียเริ่มการทำลายล้างในเมืองเซียวีโรโดเนตสก์ (Sievierodonetsk) การยิงถล่มได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว และพวกเขายิงใส่ย่านที่อยู่อาศัยของประชาชน ทำให้บ้านเรือนถูกทำลายไปทีละหลังๆ” เซอร์ฮีย์ ไกได (Serhiy Gaidai) ผู้ว่าการแคว้นลูกันสก์ ประกาศผ่านแอปพลิเคชัน Telegram

หลังจากเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำตลอดช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุด กองทัพรัสเซียสามารถรุกคืบยึดพื้นที่ในลูกันสก์ได้มากขึ้น ซึ่งนักวิเคราะห์ด้านการทหารชี้ว่าเป็นความพยายามของมอสโกที่จะบรรลุเป้าหมายของสงครามซึ่งลดลงเหลือแค่เพียงการยึดดินแดนฝั่งตะวันออกส่วนที่พวกกบฏโปรรัสเซียอ้างสิทธิครอบครอง

มาธิว บูเลก (Mathieu Boulegue) ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันคลังสมอง Chathan House ในกรุงลอนดอน ระบุว่า “ช่วง 2-3 สัปดาห์ถัดจากนี้จะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของสงคราม และมันขึ้นอยู่กับว่า (รัสเซีย) จะประสบความสำเร็จไหนในการยึดเซียวีโรโดเนตสก์ และดินแดนโดยรอบ”

เซียร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ออกมาให้สัมภาษณ์ที่กรุงมอสโกว่า “การปลดปล่อยสาธารณรัฐประชาชนลูกันสก์” กำลังจะเสร็จสมบูรณ์ในไม่ช้า

'ทูตอียู' รับ!! เริ่มหมดหนทางเล่นงานรัสเซีย หลังรัฐสมาชิกหวั่น!! พิษแบนเร่งฉีกศก.เป็นชิ้นๆ

ความล้มเหลวของรัฐสมาชิกอียูในการเห็นพ้องคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย บ่งชี้ว่าทางกลุ่มกำลังถึงขีดจำกัด ในความสามารถกำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินเล่นงานมอสโก จากคำกล่าวของผู้แทนทูตสหภาพยุโรปรายหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์กับ EURACTIV ซึ่งเป็นเครือข่ายสื่อที่เชี่ยวชาญด้านนโยบายของสหภาพยุโรป เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

"เมื่อมีความยุ่งยากกับน้ำมันของรัสเซียเช่นนี้ จินตนาการได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับข้อเสนอแบนแก๊สของรัสเซีย" EURACTIV อ้างคำกล่าวของผู้แทนทูตอียูรายหนึ่ง ตามหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปเมื่อวันจันทร์ (16 พ.ค.)

"แพ็กเกจคว่ำบาตรรอบที่ 7 เล่นงานมอสโก จะยากลำบากอย่างยิ่ง เราใกล้ถึงขีดจำกัดของเราอย่างมากๆ แล้ว"

รัฐสมาชิกอียูไม่อาจเห็นพ้องต้องกันในข้อเสนอแบนนำเข้าน้ำมันรัสเซีย หลังการเจรจาที่ใช้เวลานานถึง 10 วัน โดยหลายประเทศ ซึ่งมีฮังการีเป็นแกนนำในการส่งเสียงคัดค้านมาตรการดังกล่าว 

ทั้งนี้แผนคว่ำบาตรน้ำมันดิบรัสเซีย เป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจคว่ำบาตรรอบ 6 ที่เสนอเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม สำหรับเล่นงานมอสโกต่อกรณียกทัพรุกรานยูเครน

หลายประเทศที่ต้องพึ่งพิงน้ำมันรัสเซียเป็นอย่างสูง ในนั้นรวมถึงฮังการี, สาธารณรัฐเช็ก, สโลวาเกีย และบัลแกเรีย ได้ส่งเสียงคัดค้านซ้ำๆ ต่อมาตรการแบนดังกล่าว โดยรัฐบาลฮังการีเตือนว่าการห้ามนำเข้าดังกล่าวจะฉีกเศรษฐกิจเป็นชิ้นๆ

UK ร้อง!! 'รัสเซีย' หยุดขวางยูเครนส่งออกธัญพืช วอน 'ทำในสิ่งที่ถูกต้อง' ก่อนทั่วโลกอดอยาก

เบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมสหราชอาณาจักร ในวันพุธ (25 พ.ค.) เรียกร้องมอสโก "ทำในสิ่งที่ถูกต้อง" และยอมปล่อยธัชพืชที่ติดค้างอยู่ตามท่าเรือต่างๆ ของยูเครน สืบเนื่องจากปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย เพื่อแสดงจิตวิญญาณแห่งมนุษยธรรม ท่ามกลางความกังวลว่าโลกอาจต้องเผชิญกับวิกฤตทางอาหาร แต่ขณะเดียวกัน เคียฟวิงวอนตะวันตกยกระดับเล่นงานรัสเซีย โดยเฉพาะภาคการส่งออก ชดใช้ต่อกรณีมอสโกรุกรานยูเครน

มอสโกเคยบอกว่าพวกเขาจะอนุญาตให้จัดตั้งแนวกันชนด้านอาหารในยูเครน เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตอาหารโลก หากว่านานาชาติยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ที่กำหนดเล่นงานรัสเซียต่อกรณีรุกรานยูเครน

"อย่าพูดถึงมาตรการคว่ำบาตรเลย จงพูดถึงการทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก" วอลเลซบอกกับผู้สื่อข่าวในกรุงมาดริด เมื่อถูกถามถึงจุดยืนของรัสเซีย "ผมเรียกร้องรัสเซียทำในสิ่งที่ถูกต้องด้วยจิตวิญญาณแห่งมนุษยธรรม และปล่อยธัญพืชยูเครนออกมา" เขากล่าวพร้อมระบุว่า "เป็นไปได้ว่ารัสเซียกำลังทำให้หลายประเทศทั่วโลกอดอยาก"

ก่อนหน้าถูกรัสเซียรุกรานในเดือนกุมภาพันธ์ ยูเครนถูกมองในฐานะตะกร้าขนมปังของโลก ส่งออกผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรราวๆ 4.5 ล้านตันต่อเดือนผ่านท่าเรือต่างๆ ของพวกเขา ในนั้นรวมถึงข้าวสาลี คิดเป็น 12% ของโลก ข้าวโพดคิดเป็นสัดส่วน 15% และน้ำมันดอกทานตะวัน คิดเป็นสัดส่วนถึง 50%

'ปูติน' พร้อมโจมตีเป้าหมายที่ไม่เคยโจมตีก่อนหน้า หากว่า 'สหรัฐฯ' ส่งขีปนาวุธพิสัยไกลให้ยูเครน

6 มิ.ย.65 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์ที่ออกอากาศวันอาทิตย์ (5 มิ.ย.) ว่ารัสเซียจะ ‘หาข้อสรุปอันเหมาะสม’ และโจมตีเป้าหมายใหม่ หากสหรัฐฯ ส่งมอบขีปนาวุธพิสัยไกลให้ยูเครน

“รัสเซียจะหาข้อสรุปอันเหมาะสม และใช้อาวุธของเราโจมตีกลุ่มเป้าหมายที่ไม่เคยโจมตีมาก่อน หากมีการส่งมอบขีปนาวุธพิสัยไกลให้ยูเครน” ปูตินเผยกับสถานีโทรทัศน์รอสซียา 1

ปูติน เสริมว่า กองทัพยูเครนมีระบบที่คล้ายคลึงกันนี้อยู่แล้ว การส่งมอบอาวุธดังกล่าวจึงไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันใด ทว่ามีแต่จะทำให้ความขัดแย้งยืดเยื้อเท่านั้น ขณะเดียวกัน ปูติน ได้เผยการสนทนาทางโทรศัพท์กับเหล่าผู้นำยุโรปเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ด้วยว่า การจัดหาอาวุธจะส่งผลให้สถานการณ์ไร้เสถียรภาพยิ่งขึ้น และทำให้วิกฤตมนุษยธรรมในยูเครนย่ำแย่ลง

รัสเซีย โกยเงินขายพลังงานแล้ว 3.4 ล้านลบ. ช่วง 100 วันแรกของสงครามรุกรานยูเครน

รัสเซียทำเงินไปกว่า 93,000 ล้านยูโร (ราว 3.4 ล้านล้านบาท) ในช่วง 100 วันของการทำสงครามรุกรานยูเครน ผ่านการขายเชื้อเพลิงฟอสซิล แก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตามรายงานของสกายนิวส์ สื่อมวลชนของอังกฤษในวันจันทร์ (13 มิ.ย.) อ้างอิงข้อมูลจากสถาบันวิจัยทางพลังงานแห่งหนึ่ง

รายได้รวมอันมหาศาลนี้มีขึ้นแม้ว่าปริมาณการส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิลของรัสเซียลดลงอย่างมากในเดือนพฤษภาคม ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของประชาคมนานาชาติที่พยายามลดพึ่งพิงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของมอสโก

รายงานของศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศบริสุทธิ์ (CREA) พบว่า อียูรับอุปทานเชื้อเพลิงฟอสซิลของรัสเซีย คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 61% จากปริมาณการส่งออกทั้งหมดของรัสเซีย

ทั้งนี้ แม้ว่าน้ำมันรัสเซียถูกขายในราคาที่ลดกระหน่ำ สืบเนื่องจากแหล่งที่มาของมัน แต่ด้วยอุปสงค์เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกและราคาพลังงานที่พุ่งสูง มันจึงยังคงก่อรายได้งดงามแก่รัฐบาลประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และเป็นการช่วยมอบแหล่งเงินทุนสนับสนุนปฏิบัติการรุกรานยูเครนของผู้นำรายนี้

ลอริ มีลลีเวอร์ตา นักวิเคราะห์ชั้นนำของ CREA พูดถึงมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติที่กำหนดเล่นงานรัสเซียในปัจจุบันว่า "กระบวนการต่างๆ สำหรับมอบแรงสนับสนุนที่จำเป็นเร่งด่วนแก่ยูเครน จนถึงตอนนี้ยังเป็นไปด้วยความล่าช้า จำเป็นต้องมีความเคลื่อนไหวที่แข็งขันกว่านี้ในการตัดกระแสเงินสดที่ป้อนแก่รัสเซีย"

คุณปู่ชาวญี่ปุ่น ทำตุ๊กตาฟางสาปแช่ง 'ปูติน' เหตุไม่พอใจที่รัสเซียรุกรานยูเครน

คุณปู่ชาวญี่ปุ่นวัย 72 ปี ถูกจับกุมเมื่อวันพุธ (15 มิ.ย.) ตามคำกล่าวหาเอาตุ๊กตาฟางติดภาพใบหน้าของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ตอกตะปูติดกับต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ต้นหนึ่ง บริเวณศาลเจ้าใกล้กรุงโตเกียว ในความพยายามสาปแช่งขอให้ผู้นำแดนหมีขาวเสียชีวิต จากความขุ่นเคืองที่มีต้นตอจากปฏิบัติการรุกรานยูเครน

ตำรวจในเมืองมัตสึโดะ จังหวัดชิบะ ระบุว่านายมิตซูโนบุ ฮิโนะ ถูกจับกุมฐานต้องสงสัยก่อความเสียหายแก่ทรัพย์สินและบุกรุก

ภาพที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ พบเห็นตุ๊กตาฟางไม้ที่ติดภาพใบหน้าของปูติน ถูกตอกตะปูติดกับต้นไม้ และมีข้อความเขียนสาปแช่งให้ผู้นำรัสเซียเสียชีวิต

ฮิโนะ ถูกกล่าวหาบุกรุกเข้าไปในบริเวณศาลเจ้ามิคาซูกิของเมืองมัตสึโดะ ตอนเวลาราวๆ 14.20 น. ของวันที่ 19 พฤษภาคม และทำให้ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้าเป็นรู ด้วยการตอกตะปูยึดตุ๊กตาฟางติดกับต้นไม้

พลังงานโลก เร่งอียูเตรียมแผนรับมือ หวั่นรัสเซียตัดก๊าซป้อนยุโรปโดยสิ้นเชิง

ทบวงพลังงานสากล (ไอเออี) เตือนชาติยุโรปเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตพลังงานด่วน หลังรัสเซียส่อตัดอุปทานก๊าซธรรมชาติที่ป้อนแก่ยุโรปโดยสิ้นเชิง 

ฟาตีห์ ไบรอล ผู้อำนวยการบริหารของทบวงพลังงานสากล กล่าวในถ้อยแถลงที่ส่งถึงสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า "ผมไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะหาประเด็นถกเถียงอีก และเดินหน้าหาข้ออ้างสำหรับลดการส่งมอบก๊าซสู่ยุโรป และบางทีอาจถึงขั้นตัดอุปทานก๊าซโดยสิ้นเชิง"

"นี่คือเหตุผลว่าทำไมยุโรปถึงจำเป็นต้องมีแผนฉุกเฉิน" ไบรอล ระบุ พร้อมบอกว่าการปรับลดจ่ายอุปทานก๊าซเมื่อเร็วๆ นี้ อาจเป็นความพยายามให้ได้มาซึ่งอิทธิพลทางการเมือง ก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวที่ลากยาวนานหลายเดือน

อย่างไรก็ตาม ฟาตีห์ ระบุว่า ในข้อสันนิษฐานของทบวงพลังงานสากล การตัดป้อนก๊าซโดยสิ้นเชิงไม่น่าจะเป็นกรณีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด

สหภาพยุโรปกำหนดมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันและถ่านหินของรัสเซีย แต่ไม่ห้ามนำเข้าก๊าซธรรมชาติ สืบเนื่องจากอียูพึ่งพิงอุปทานจากมอสโกสูงลิ่ว

ในแง่ภาพรวมของการลงทุนทางพลังงานสำหรับปี 2022 ทบวงพลังงานสากลระบุในรายงานฉบับหนึ่งว่า มีการเตรียมลงทุนในภาคดังกล่าวในปีนี้ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ ในนั้นรวมถึงใช้จ่ายในด้านพลังงานหมุนเวียนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ทบวงพลังงานสากลชี้ว่ามันยังไม่เพียงพอสำหรับเติมช่องว่างทางอุปทานและจัดการกับภาวะโลกร้อน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top