Saturday, 18 May 2024
รัสเซีย

‘UNSC’ ตีตกข้อเสนอ ‘รัสเซีย’ ไม่ผ่านมติหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรม หลังเรียกร้องให้ ‘อิสราเอล-ฮามาส’ ปล่อยตัวประกัน-อพยพ ปชช.

(17 ต.ค. 66) จากกรณีที่รัสเซียยื่นร่างข้อเสนอ เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 66 ซึ่งเรียกร้องให้ปล่อยตัวตัวประกัน การเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการอพยพพลเรือนที่ต้องการอย่างปลอดภัย ในพื้นที่ฉนวนกาซา ระหว่างการสู้รบของกองทัพอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาส เข้าสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) นั้น ล่าสุด มติดังกล่าวไม่ผ่านการรับรองจากที่ประชุม

รายงานข่าว Russia push for UN Security Council action on Israel, Gaza fails จากสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ในการประชุม UNSC เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา มติซึ่งต้องการคะแนนเสียงขั้นต่ำ 9 จากกลุ่มสมาชิก 15 ชาติ ได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบเพียง 5 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง

'พีระพันธุ์' ถก 'รัสเซีย' ซื้อ 'น้ำมัน-ก๊าซ-ถ่านหิน' ราคาถูก ด้าน ‘รัสเซีย’ ยืนยัน!! พร้อมสนับสนุนแบบครบวงจร

(19 ต.ค.66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้หารือแบบทวิภาคีกับรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพลังงานของสหพันธรัฐรัสเซีย (นายเซอร์เก โมคานิคอฟ) และ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย (นายเยฟกินี โทมิคิน) หลังเป็นประธานในการประชุม The 3rd APEF วันนี้ (19 ต.ค. 66) ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เพื่อหาทางในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านพลังงานระหว่างกันและเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ 

การหารือครั้งนี้เป็นไปในทิศทางที่ดี โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานของรัสเซีย แจ้งว่าพร้อมสนับสนุนไทยด้านพลังงานแบบครบวงจร ทั้งในส่วนของทรัพยากรพื้นฐาน อาทิ ถ่านหิน น้ำมัน และ อื่น ๆ รวมทั้งด้านวิชาการ การลงทุนในการสร้างระบบผลิตพลังงานรูปแบบต่าง ๆ และการร่วมเป็นหุ้นส่วนทางการลงทุน โดยเสนอให้มีการจับคู่ธุรกิจด้านพลังงานระหว่างภาคเอกชนในประเทศไทยและสหพันธรัฐรัสเซีย และคาดหวังให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงเสนอให้ผู้แทนจากประเทศไทยเข้าสังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมพลังงาน รัฐบาลรัสเซียพร้อมให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกนักธุรกิจชาวไทยในการเดินทางเข้าไปประกอบธุรกิจด้านพลังงานร่วมกับรัสเซีย และเชิญรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไปเยือนรัสเซีย เพื่อหารือเพิ่มเติมต่อไปด้วย 

จากนั้น นายพีระพันธุ์ ได้พบกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงไฟฟ้า พลังงาน และทรัพยากรธรณีสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ และร่วมหารือในประเด็นความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยและบังกลาเทศ โดยหวังว่าจะมีความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมพลังงานต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ในช่วงเช้า นายพีระพันธุ์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เป็นประธานในการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านพลังงานแห่งเอเชียและแปซิฟิกครั้งที่ 3 (The Third Asian and Pacific Energy Forum: The 3rd APEF) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะ ‘ประธานฯ The 3rd APEF’

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำระหว่างเปิดการประชุมว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญและส่งเสริมการดำเนินการเพื่อผลักดันนโยบายพลังงานสะอาดร่วมกับประเทศสมาชิก โดยให้ความสำคัญกับการเข้าถึงแหล่งพลังงาน และการสร้างมาตรฐานราคาพลังงานที่เป็นธรรม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของการประชุม The 3rd APEF ที่จัดขึ้นเพื่อทบทวน รายงาน รวมถึงติดตามความคืบหน้า ในการพัฒนาการการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 7 (SDG7) ประเด็นเรื่องการสร้างหลักประกันการเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่อย่างยั่งยืนและเชื่อถือได้ ในราคาที่ซื้อหาได้ 

‘ฟินแลนด์’ เร่งสอบสวนเรือขนส่ง ‘จีน-รัสเซีย’ หลังเกิดเหตุวินาศกรรม ทำ ‘ท่อก๊าซรั่ว-สายเคเบิลใต้ทะเลฟินแลนด์-เอสโตเนีย’ เสียหายหนัก

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 66 ‘สำนักงานสอบสวนแห่งชาติ’ ของฟินแลนด์ เดินหน้าคดีสืบสวนหาต้นต่อ การก่อวินาศกรรมท่อส่งก๊าซใต้ทะเล Baltic Connector Gas Pipeline ในบริเวณอ่าวฟินแลนด์ จนทำให้ก๊าซรั่วจนต้องปิดท่อก๊าซชั่วคราว ซึ่งในบริเวณใกล้เคียงกัน ยังพบว่า สายเคเบิลสื่อสารใต้ทะเลได้รับความเสียหายด้วย

ถึงแม้ว่าเบื้องต้นจะไม่พบร่องรอยความเสียหายที่เกิดจากการใช้ระเบิด แต่เกิดจากการใช้กำลังเครื่องยนต์อื่น และยังพบวัตถุที่มีน้ำหนักมากตกอยู่ใกล้จุดที่เสียหาย จมฝังอยู่ใต้พื้นทะเล   ทางการฟินแลนด์จึงใช้คำว่า “มีการก่อวินาศกรรม” ท่อก๊าซ และ สายเคเบิลสื่อสาร จนได้รับความเสียหายมากที่ต้องใช้ระยะเวลานานหลายเดือนในการซ่อมแซม

เหตุเกิดขึ้นเมื่อช่วงราวๆ ตี 1 ของวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมาเมื่อ สถาบันตัวจับแผ่นดินไหวของนอร์เวย์ พบแรงสั่นสะเทือนใต้ทะเลบริเวณทะเลบอลติก ในเขตน่านน้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟินแลนด์ถึง 2 จุด แต่แรงสั่นสะเทือนดังกล่าวยังถือว่าเบากว่าเหตุระเบิดท่อส่งก๊าซ Nord Stream ของรัสเซียเมื่อปี 2022 มาก

เมื่อทางการฟินแลนด์เข้าไปสำรวจ พบว่า ท่อส่งก๊าซ Baltic Connector เกิดรอยรั่ว รวมถึงสายเคเบิลสื่อสารใต้ทะเลในพื้นที่ใกล้เคียงก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน

ลำพังแค่ท่อส่งก๊าซเสียหายก็เรื่องใหญ่แล้ว แต่พอมีกรณีสายเคเบิลใต้ทะเลที่เชื่อมต่อระหว่าง ‘ฟินแลนด์’ กับ ‘เอสโตเนีย’ ถูกทำลายในลักษะเดียวกันด้วย ซึ่งสายเคเบิลส่วนที่เสียหายอยู่ในเขตของเอสโตเนีย ที่บริษัทของสวีเดนเป็นเข้าของความโกลาหลจึงยังจบง่ายๆ เมื่อประเทศผู้เสียหายมีทั้งที่เป็นสมาชิก และเกือบจะเป็นสมาชิก NATO จึงทำให้ถูกมองว่าน่าจะเป็นการก่อวินาศกรรม เพื่อขัดขวางการสื่อสารภายในระหว่างเอสโตเนีย สวีเดน ฟินแลนด์ หรือกับชาติสมาชิก NATO อื่นๆ

ด้าน ‘พอล โจนสัน’ รัฐมนตรีกลาโหมสวีเดนออกมากล่าวว่า มีการระดมทีมจากกองทัพ ตำรวจ และ หน่วยตระเวณชายฝั่ง ประสานงานกับทางเอสโตเนียเพื่อสืบสวนเกี่ยวกับเรื่องนี้ และมองว่าเป็น ‘คดีด้านความมั่นคงที่เกี่ยวกับการบ่อนทำลายโครงสร้างพื้นฐานของชาติ’ จึงต้องให้ความสำคัญอย่างมากเป็นอันดับต้นๆ

ตามมาด้วย ‘เยนส์ สโทเทนเบิร์ก’ เลขาธิการ NATO ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่าน X ว่า ได้พูดคุยกับนายเซาลี นีนิสเตอ ผู้นำฟินแลนด์ถึงความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานใต้ทะเลของทั้งฟินแลนด์ และเอสโตเนียแล้ว ทาง NATO พร้อมร่วมแชร์ข้อมูล และให้การสนับสนุนพันธมิตรของเราอย่างเต็มที่ จึงกลายเป็นคดีที่มีหลายชาติ พัลวัน พัลเก เต็มไปหมด

โดยคดีท่อส่งก๊าซเป็นเขตของฟินแลนด์ จึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลเฮลซิงกิในการสืบสวน และต่อมาได้เปิดเผยว่า มีเรือต้องสงสัย 2 ลำ ที่อยู่ใกล้บริเวณจุดเกิดเหตุ ในช่วงเวลานั้น ก็คือ ‘เรือขนส่งพลังงานนิวเคลียร์ Sevmorput’ ของรัสเซีย และ ‘เรือขนส่งจีน Newnew Polar Bear’

แต่ถึงจะมีเรื่อลำอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงด้วย แต่ตอนนี้ ทีมสืบสวนขอโฟกัสแค่ 2 ลำนี้ เพราะคดีนี้ ถูกมองในมุมมองของ NATO เรียบร้อยแล้ว ก็เหลือแค่เรือจาก 2 สัญชาตินี้เท่านั้นที่น่าสงสัยที่สุด

จากข้อมูลเดินเรือ พบว่าเรือทั้ง 2 ลำกำลังมุ่งหน้าไปเทียบฝั่งที่ท่าเรือเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก โดยเรือของจีนตามหลังเรือของรัสเซียอยู่เล็กน้อย ขณะผ่านใกล้จุดเกิดเหตุ

ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศฟินแลนด์ ได้ประสานผ่านช่องทางการทูตถึงรัฐบาลจีน และรัสเซีย เพื่อบอกให้รู้ว่าฟินแลนด์จะต้องสืบสวนเส้นทางของเรือทั้ง 2 สัญชาตินี้แล้ว ซึ่ง ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ ผู้นำรัสเซียออกมากล่าวว่า เป็นข้อกล่าวหาที่ไร้สาระมาก แค่มีเรือบรรทุกน้ำมันรัสเซียลอยอยู่แถวนั้น เป็นผู้ต้องสงสัยแล้วหรือ

แต่มาวันนี้ มีรายงานเพิ่มเติมจากฟินแลนด์ว่า น่าจะโฟกัสที่เรือ Newnew Polar Bear ของจีนมากกว่า เพราะลอยอยู่ใกล้จุดที่เกิดเหตุ ในช่วงเวลาเดียวกันมากกว่าเรือของรัสเซีย
ซึ่ง Newnew Polar Bear ปักธงฮ่องกงในการเดินทางก็จริง แต่บริษัทของจีนแผ่นดินใหญ่เป็นเจ้าของชื่อ ‘Hainan Xin Xin Yang Shipping’

แต่ทางการฟินแลนด์ และเอสโตเนีย ยอมรับว่าคดีนี้มีความอ่อนไหวทางการเมือง และการทูตอย่างมาก จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก เมื่อต้องแถลงข้อมูลออกสื่อ ถ้าไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนจริงๆ

เพราะเดี๋ยวจะเหมือนกรณีข้อพิพาท ‘อินเดีย-แคนาดา’ ที่ตอนนี้ยังมองหน้ากันไม่ติด กลายเป็นวิกฤติการทูตที่ใช้เวลาซ่อมนานยิ่งกว่าท่อส่งก๊าซใต้ทะเลบอลติกเสียอีก

ส่องสาระสำคัญ 'ไทย-จีน-รัสเซีย' จากงาน BRF ครั้งที่ 3 ท่ามกลาง 'ข้อเสนอ' ที่มีมากกว่า 'ท่วงท่า' และ 'ถุงเท้า' 

อาจจะถูกโฟกัสไปแต่ประเด็นทางกายภาพของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ครั้นได้มีโอกาสเข้าหารือแบบทวิภาคีกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำแห่งรัสเซีย รวมถึงผู้นำจีนอย่าง สี จิ้นผิง

แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อวันที่ วันที่ 17-19 ต.ค.ที่ผ่านมา ในการเข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 ในช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีโอกาสหารือทวิภาคีกับนายวลาดิเมียร์ ปูติน (Mr. Vladimir Putin) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ก็ต้องยอมรับว่า วันนั้นีสาระสำคัญมากมายที่ควรสรุปให้ทราบ...

>> กับ รัสเซีย...
การที่นายกฯ ได้พบหารือกับประธานาธิบดีปูติน ถือเป็นโอกาสอันดีในการแสดงเจตจำนงร่วมกัน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยรัสเซียถือเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทยมายาวนาน และทั้งสองฝ่ายก็เพิ่งฉลองครบรอบ 125 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเมื่อปี 2565 และนี่ก็ถึงเวลาที่ ไทย-รัสเซีย ควรร่วมมือกันเพิ่มพูนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและเป็นรูปธรรม

ในวันนั้น ปูติน พูดกับนายกฯ เศรษฐา โดยกล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยาวนานระหว่างไทยกับรัสเซีย พร้อมทั้งเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีมากขึ้น โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ในระดับประชาชนที่แน่นแฟ้นอย่างมาก

ที่น่าสนใจ คือ โดยปี 2567 (ค.ศ. 2024) จะเป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวไทย-รัสเซีย โดยเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวรัสเซียมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยมากกว่า 1 ล้านคน และนายกฯ ก็ได้ขานรับทันทีว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค.66 ทางครม. ของไทยได้มีมติเพิ่มวันพำนักให้ชาวรัสเซียจาก 30 วันเป็น 90 วัน แล้ว

นอกจากเรื่องท่องเที่ยว ยังมีการพูดคุยกันถึงสาระสำคัญด้านการเมือง โดยทั้งสองฝ่ายเห็นควรว่าต้องมีการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างบุคลากรสภาความมั่นคงของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง

ส่วนด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นควรเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น โดยนายกฯ ขอให้ฝ่ายรัสเซียส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน พร้อมทั้งเชิญชวนให้รัสเซียพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย

นอกจากนี้นายกฯ ยังได้เชิญประธานาธิบดีรัสเซียเดินทางเยือนไทย ซึ่งประธานาธิบดีตอบรับ โดยจะได้ร่วมกำหนดวันที่ทั้งสองฝ่ายสะดวกต่อไป...สวยงาม!!

>> กับ จีน...

สี จิ้นผิง ได้กล่าวกับนายกฯ เศรษฐา ว่า จีนเป็นประเทศแรกนอกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่เศรษฐาเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ ซึ่งสะท้อนอย่างเต็มที่ว่ารัฐบาลชุดใหม่ของไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างมาก

โดยจีนพร้อมทำงานร่วมกับไทยเพื่อสร้างนิยมความเป็นไปได้ในยุคใหม่นี้ให้กับคำกล่าว "จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน" อย่างต่อเนื่อง และทำให้ข้อได้เปรียบของมิตรภาพอันยาวนานเป็นพลังขับเคลื่อนความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน

สี จิ้นผิง กล่าวอีกว่า ทั้งสองฝ่ายควรเร่งรัดการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทย พร้อมทั้งขยับขยายความร่วมมือด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล, การพัฒนาสีเขียว และพลังงานใหม่ ตลอดจนเสริมความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและการพนันออนไลน์ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมอันปลอดภัยสำหรับการพัฒนาของ 2 ประเทศ

สี จิ้นผิงเสริมว่า จีนยินดีแบ่งปันโอกาสจากตลาดขนาดใหญ่และการเปิดกว้างระดับสูงของจีน เพื่อเพิ่มพูนพลังเชิงบวกสู่การพัฒนาของเอเชีย 

แน่นอนว่า ทางด้านนายกฯ ไทย ก็แสดงความยินดีในการที่จะทำงานร่วมกับจีน เพื่อสร้างประชาคมไทย-จีน ที่มีอนาคตร่วมกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ นายกฯ ก็ยังได้โชว์แผนแลนด์บริดจ์เชื่อม BRI ภายใต้งบลงทุนในระดับ 1 ล้านล้านบาท เพื่อเชิญชวนให้ภาคเอกชนจีนเข้ามาร่วมลงทุน มหาโปรเจกต์เชื่อมโยงสองฝั่งท่าเรืออันดามัน-อ่าวไทยครั้งใหญ่นี้

โดยนายกฯ ได้กล่าวอีกด้วยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งให้ความเห็นชอบแนวทางการศึกษาและแผนการดำเนินงานโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทยและมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นที่เรียบร้อย

ขณะเดียวกัน ยังเผยถึงแนวทางปรับปรุงการเชื่อมต่อในพื้นที่อันดามันทางตอนใต้ ลดเวลาการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา ภายใต้แนวคิด 'One Port, Two Sides' ในระยะทางทางบก 90 กิโลเมตรทางภาคใต้ของไทยด้วย

แน่นอนว่า สาระสำคัญเกิดขึ้นกับงาน BRF ครั้งที่ 3 ระหว่าง ไทย-จีน และ ไทย-รัสเซีย ไม่ใช่แค่การแวะเวียนมานำเสนอตัวเองของนายเศรษฐาเป็นแก่น แต่เป็นความพยายามของรัฐบาลที่ถือโอกาสใช้เวทีนี้โชว์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมมือกันในด้านต่างๆ อย่างยั่งยืนกับทั้ง 2 ประเทศมหาอำนาจใหม่นี้ ภายใต้ความสัมพันธ์อันดีที่ถูกเปิดมาตั้งแต่ครั้นรัฐบาลก่อนหน้า

ที่เหลือก็แค่รอดูผลลัพธ์...ต่อไป!!
 

ประณาม Nestle ไม่ยอมถอนธุรกิจออกจากรัสเซีย โวย 'สนับสนุนสงคราม-ท่อน้ำเลี้ยง' ให้ ศก.หมีขาว

หน่วยงานป้องกันคอร์รัปชันแห่งชาติของยูเครน (NACP) จะไม่ทน ได้ออกแถลงการณ์ประณาม ให้ Nestle เครือบริษัทผู้ผลิตอาหารยักษ์ใหญ่สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ เป็นผู้สนับสนุนสงครามข้ามชาติรายใหญ่ของโลก เนื่องจาก Nestle ไม่ยอมถอนธุรกิจออกจากรัสเซียตามที่รัฐบาลยูเครนกดดัน 

Nestle เป็นบริษัทผลิตอาหารที่มีแบรนด์ชื่อดังในเครือมากกว่า 2,000 แบรนด์ทั่วโลก และติดตลาด เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เช่น Nescafé, Milo, Kit-Kat หรือ Maggi เป็นต้น และเป็นอีกบริษัทข้ามชาติที่มาลงทุนสร้างฐานโรงงานในรัสเซีย ผลิตสินค้าบริโภคเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง แม้ธุรกิจต่างชาติหลายแห่งประกาศยกเลิก แห่ถอนกิจการออกจากรัสเซียหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนแล้วก็ตาม

นี่จึงสร้างความไม่พอใจกับรัฐบาลยูเครน ที่ต้องการให้บริษัทต่างชาติร่วมกันถอนกิจการออกจากรัสเซียเพื่อสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาลมอสโก แต่ถึงกระนั้นก็ตาม บริษัท Nestle กลับเพิกเฉย ไม่กล้าสละตลาดรัสเซียที่สร้างผลกำไรให้แก่บริษัทเพียง 2% จากรายได้ทั้งหมดทั่วโลก 

หากย้อนไปช่วงเริ่มต้นสงครามรัสเซีย-ยูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนเคยเรียกร้องให้บริษัท Nestle ถอนกิจการทั้งหมดออกจากรัสเซีย หลังจากที่มีบริษัทข้ามชาติกว่า 400 แห่ง ประกาศปิดกิจการโดยยอมทิ้งสินทรัพย์ และเงินลงทุนหลักหมื่นล้าน เพื่อแสดงจุดยืนร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย

โดยครั้งนั้น Nestle ตอบสนองข้อเรียกร้องของรัฐบาลยูเครนด้วยการระงับการนำเข้า และ ส่งออกสินค้าของ Nestle ไปยังตลาดรัสเซียหลายพันรายการ รวมทั้งยกเลิกการโฆษณาสินค้า และ แผนการลงทุนเพิ่มเติมในรัสเซียทั้งหมด แต่ยังคงดำเนินกิจการในรัสเซียต่อไป โดยจะบริจาคเงินช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์จากสงครามให้แก่ยูเครนแทน ด้านผู้นำยูเครนจึงออกมาตอบโต้ว่า บริษัท Nestle ยังแสดงจุดยืนไม่มากพอ ให้สมกับสโลแกนของบริษัท "Good Food, Good Life" แต่เลือกที่จะคบค้ากับรัสเซีย ที่เป็นรัฐก่อการร้าย

และจนถึงวันนี้ Nestle ก็ยังคงดำเนินกิจการในรัสเซียอย่างต่อเนื่อง แถมยังสร้างความได้เปรียบทางการตลาด หลังจากที่บริษัทคู่แข่งอื่น ๆ ถอนกิจการออกจากรัสเซียไปแล้ว จึงทำให้ทุกวันนี้ สินค้าของ Neslte ครองตลาดในรัสเซีย ทุกชั้นวางสินค้าตามห้างสรรพสินค้า และ ซูเปอร์มาร์เก็ต ล้วนเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ของ Nestle 

เป็นเหตุให้รัฐบาลยูเครนทนไม่ไหว จึงออกแถลงการณ์ออกสื่อผ่านหน่วยงานป้องกันคอร์รัปชัน ประณามการทำธุรกิจของ Nestle ที่มีส่วนสนับสนุนสงครามระหว่างประเทศ ด้วยการเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้แก่เศรษฐกิจของรัสเซีย

อีกทั้งได้ยกประเด็นจุดยืนของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแม้สวิตเซอร์แลนด์จะประกาศวางตัวเป็นกลางในสงคราม แต่ก็ทำการค้ากับรัฐบาลนาซีเยอรมัน พร้อม ๆ กับส่งออกสินค้าของตนไปยังประเทศที่ต่อต้านฮิตเลอร์ไปพร้อม ๆ กันด้วย เป็นจุดยืนแบบ 2 หน้าเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น ทำให้รู้ว่าบริษัทสวิตเซอร์แลนด์แห่งนี้ไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย 

ด้าน Nestle ออกมาตอบโต้ ถึงสาเหตุที่ยังคงดำเนินกิจการต่อในรัสเซีย เพราะโรงงานของตนในรัสเซียมีพนักงานกว่า 7,000 คน และไม่อยากปิดโรงงาน ลอยแพพนักงานเหล่านั้น อีกทั้งประชาชนชาวรัสเซียยังต้องการสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในประเทศ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกิจการสงคราม บริษัทจึงตัดสินใจดำเนินธุรกิจในรัสเซียต่อไป 

ไม่ว่าทางยูเครนจะพอใจในคำตอบของ Nestle หรือไม่ แต่ก็ยังมีบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่อีกไม่น้อยที่ยังประกอบกิจการในรัสเซีย อาทิ PepsiCo, Unilever และ Procter & Gamble เป็นต้น โดยเน้นผลิตสินค้าบริโภคที่จำเป็นสำหรับประชาชนทั่วไป อย่าง อาหาร เครื่องดื่ม นมผง ผ้าอ้อม เป็นต้น

‘สื่อตะวันตก’ เผยผลสืบสวนพบ 'ยูเครน' อยู่เบื้องหลังบึ้มท่อนอร์ดสตรีม ผู้กระทำอ้าง!! คอยรับคำสั่งมาจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ยูเครนอีกทอด

(12 พ.ย.66) หนังสือพิมพ์สหรัฐฯ และเยอรมนี อ้างอิงแหล่งข่าวใกล้ชิด ระบุว่า โรมาน เชอร์วินสกี พันเอกแห่งกองกำลังปฏิบัติการพิเศษของยูเครน คือผู้ประสานงานของปฏิบัติการโจมตีท่อลำเลียงน้ำมันนอร์ดสตรีม ทั้งนี้ ผลการสืบสวนร่วมของวอชิงตัน โพสต์กับแดร์ ชปีเกิล อ้างอิงคำบอกเล่าของพวกเจ้าหน้าที่ในยูเครนและที่อื่นๆ ในยุโรป เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่รับรู้เกี่ยวกับปฏิบัติการดังกล่าว แต่ไม่ประสงค์เอ่ยนาม

สื่อมวลชนสหรัฐฯ ให้รายละเอียดว่า เชอร์วินสกี ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านโลจิสติกส์และควบคุมทีมงานที่ประกอบด้วยสมาชิก 6 คน ซึ่งเช่าเรือใบลำหนึ่งภายใต้ชื่อปลอมและใช้อุปกรณ์ดำน้ำสำหรับดำลงไปวางวัตถุระเบิดที่ท่อทำเลียง ทั้งนี้เขาไม่ได้วางแผนปฏิบัติการหรือลงมือเพียงลำพัง แต่คอยรับคำสั่งมาจากพวกเจ้าหน้าที่ยูเครนอีกทอด

รอยรั่วขนาดใหญ่ 4 รู ถูกพบบนท่อลำเลียง 2 เส้นของท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม นอกชายฝั่งเกาะบอร์นโฮล์มของเดนมาร์ก ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2022 ซึ่งสถาบันธรณีวิทยาหลายแห่งตรวจพบแรงระเบิดใต้น้ำ 2 รอย ก่อนที่ท่อลำเลียงจะเกิดการรั่วไหล

ท่อลำเลียงแห่งนี้ตกอยู่ในแก่นกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียกับยุโรป โดยรัสเซียตัดการส่งมอบก๊าซป้อนสู่ยุโรป ซึ่งสงสัยว่าน่าจะเป็นการแก้แค้นมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกที่กำหนดเล่นงานมอสโกต่อกรณีรุกรานยูเครน

เชอร์วินสกี ให้การปฏิเสธผ่านทนายความส่วนตัว บอกกว่าเขาไม่ได้มีบทบาทใดๆ ในการลอบก่อวินาศกรรมโจมตีท่อลำเลียง "ทุกข่าวลือเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องของผม ในเหตุโจมตีท่อนอร์ดสตรีม ถูกเผยแพร่ออกมาโดยโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซีย โดยปราศจากพื้นฐานใดๆ รองรับ" เขาเขียนถ้อยแถลงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรส่งถึงวอชิงตัน โพสต์กับแดร์ ชปีเกิล

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ปฏิเสธซ้ำๆ ว่าประเทศของเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดท่อลำเลียง "ผมจะไม่มีวันทำเช่นนั้น" เขาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บิลด์ของเยอรมนี เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

อ้างอิงหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพต์ ระบุว่าปฏิบัติการก่อวินาศกรรมถูกคิดค้นขึ้นมาโดยปราศจากการรับรู้ของเซเลนสกี

วอชิงตัน โพสต์กับแดร์ ชปีเกิล เผยว่าพวกเขาได้ติดต่อไปยังรัฐบาลยูเครน เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับผลการสืบสวนร่วมของพวกเขา แต่ทางเคียฟไม่ได้ให้คำตอบกลับมาแต่อย่างใด

'วลาดิมีร์ ปูติน' ขอครองอำนาจต่ออีก 6 ปี ประกาศลงชิง ปธน.รัสเซีย สมัย 5 ในปีหน้า

เมื่อวานนี้ (8 ธ.ค.66) สำนักข่าวทาสส์ของทางการรัสเซียรายงานว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียในปีหน้า ซึ่งหากประสบชัยชนะจะทำให้เขาดำรงตำแหน่งผู้นำรัสเซียสมัยที่ 5 เป็นเวลาอีก 6 ปี

ทั้งนี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียจะมีขึ้นเป็นเวลา 3 วันระหว่างวันที่ 15-17 มี.ค.2567

ผลการสำรวจของ Levada Center พบว่า ปธน.ปูตินได้รับคะแนนความพึงพอใจจากชาวรัสเซียสูงถึง 85% ในเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค.2560

นอกจากนี้ ผลการสำรวจของ Public Opinion Foundation (FOM) พบว่า ชาวรัสเซียที่มีสิทธิเลือกตั้งราว 70% ต้องการให้ปธน.ปูตินลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียในครั้งนี้

ชาวเน็ตขำก๊าก!! หลังเปิดตัว 'รถยนต์ไฟฟ้า’ คันแรกของ ‘รัสเซีย’  ชี้!! ดีไซน์แปลก-สะดุดตา ยกเป็น ‘รถยนต์ที่น่าเกลียดที่สุดในโลก’

(26 ธ.ค.66) แอมเบอร์ ยันตาร์ (Amber Yantar) รถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบรุ่นใหม่จากรัสเซียได้รับความสนใจจากชาวเน็ตเพราะรูปลักษณ์ภายนอก หลังเปิดตัวโดย Avtotor ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติรัสเซียในเมืองคาลินินกราด ร่วมมือกับสถาบันโพลีเทคนิคมอสโก เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา รถคันนี้กล่าวกันว่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกของรัสเซียที่ผลิตโดยรัสเซีย 100%

งานนี้ รถยนต์ไฟฟ้ามีการออกแบบที่สะดุดตาและดึงดูดจินตนาการของผู้ชม ทำให้แฟน ๆ หัวเราะกับรูปลักษณ์จนขนานนามว่าเป็นรถยนต์น่าเกลียดที่สุดในโลก ตามรายงานแอมเบอร์ ยันตาร์ดูเหมือนจะเป็นผู้สืบทอดของ Fiat Multipla ปี 1998

ทางบริษัท Avtotor ประกาศว่ามีแผนจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแอมเบอร์ ยันตาร์ให้ได้มากถึง 50,000 คันในปี 2568 ที่โรงงานในเมืองคาลินินกราด โดยเสริมว่าส่วนประกอบหลักทั้งหมด เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า อินเวอร์เตอร์ แผงควบคุม และแบตเตอรี่ทั้งหมดจะได้รับการออกแบบและผลิตในรัสเซีย

แม้จะมีการเปิดเผยรายละเอียดทางเทคนิคน้อยมาก แต่รถไฟฟ้าแอมเบอร์ ยันตาร์ มีราคาไม่แพงมากและมาพร้อมกับแบตเตอรี่ขนาด 25kW/h นอกจากนี้ ผู้ขับขี่รถยนต์ยังสามารถเช่าแบตเตอรี่แทนการซื้อได้ รถจะไปถึงความเร็วสูงสุดที่ 105 กม./ชม. (65 ไมล์ต่อชั่วโมง)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นรถแล้ว มีเพียงไม่กี่คนที่สนใจด้านเทคนิค เพราะมีแต่คนสนใจในเรื่องของรูปลักษณ์มากกว่าทำให้เกิดมีมและเรื่องตลกนับไม่ถ้วนในโลกออนไลน์ ทั้งนี้ ทางบริษัทไม่นิ่งนอนใจเผยว่า รถไฟฟ้าจะมีการออกแบบที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงเมื่อเข้าสู่การผลิต และนี่เป็นเพียงต้นแบบรถยนต์ในการทดสอบ

‘สื่อเยอรมัน’ เผยแผนลับ!! 5 ขั้นตอนของ ‘ปูติน’ เตรียมโจมตี 'ยูเครน' ก่อนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3

(18 ม.ค.67) หนังสือพิมพ์ BILD ของเยอรมันตีพิมพ์ข่าวใหญ่ ระบุชัดว่า 'วลาดิมีร์ ปูติน' ผู้นำรัสเซีย มีแผนที่จะยกระดับสงครามยูเครน ไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ภายในปี 2025 โดยอ้างอิงจากเอกสารลับสุดยอดของกระทรวงกลาโหมเยอรมันเป็นประกัน!!

สื่อเยอรมัน เปิดเผยว่า กระทรวงกลาโหมและกองกำลังในยุโรปเริ่มเตรียมความพร้อมรอรับการโจมตีของรัสเซียแล้ว โดยมีการประเมินสถานการณ์ว่า ปูตินมีแผนที่จะทำสงครามแบบผสม ‘Hybrid War’ โจมตีชาติพันธมิตร NATO ในหลายรูปแบบ ทั้งการโจมตีทางไซเบอร์, ใช้กำลังทหารรุกราน รวมถึงการโจมตีด้วยข้อมูลข่าวสาร ที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้น

เอกสารลับ (ที่ตอนนี้ไม่ลับแล้ว) ของกลาโหมเยอรมันระบุว่าชื่อ ‘Alliance Defense 2024’ ได้คาดการณ์แผนการยกระดับสงครามยูเครน สู่สงครามโลกครั้งที่ 3 พอสรุปคร่าวๆ ไว้ 5 ขั้น

โดยขั้นแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2023 นี้ ที่ปูตินจะประกาศระดมพลเพิ่มอีก 2 แสนนาย โดยอ้างว่าเตรียมไว้สำหรับเปิดฉากสงครามในยูเครนอีกครั้งในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ที่ยังดูเป็นสงครามภายในระหว่างรัสเซีย-ยูเครนปกติ

แต่สื่อเยอรมันชี้ว่า แผนการขั้นสอง จะยกระดับขึ้นในช่วงกรกฎาคมปีนี้ ด้วยการใช้ยุทธวิธีโจมตีทางไซเบอร์ในกลุ่มประเทศบอลติค อันได้แก่ประเทศ เอสโตเนีย ลัทเวีย และ ลิทัวเนีย

ขั้นที่สามจะตามมาในเดือนกันยายน ที่มีการตั้งชื่อแล้วว่า แผน ‘Zapad 2024’ ที่จะมีการซ้อมรบใหญ่ตามแนวชายแดนรัสเซียตะวันตกและเบลารุส เพื่อกลบเกลื่อนการเคลื่อนพลใหญ่ และขีปนาวุธพิสัยกลางไปประจำในแคว้นคาลินินกราด เพื่อประชิดชายแดนโปแลนด์และลิทัวเนีย 

และนำไปสู่แผนการขั้นที่ 4 ในเดือนธันวาคม ช่วงที่มีการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ ที่รัสเซียวางแผนที่จะโจมตีด้วยข้อมูลข่าวสาร และปั่นกระแสให้เกิดจลาจลบริเวณเขตแนวชายแดนระหว่างโปแลนด์ และ ลิทัวเนีย ที่เรียกว่า ‘Suwalki Gap’ หลังวางกองกำลังของตนไว้ในคาลินินกราดแล้ว

แผนขั้นที่ 5 จะเริ่มในเดือนมกราคม 2025 เมื่อพันธมิตร NATO จะพุ่งเป้ามาที่รัสเซียว่าเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดความไม่สงบในประเทศแถบบอลติก ที่ปูตินจะใช้เป็นข้ออ้างในการระดมพลใหญ่อีกครั้งทั้งในรัสเซียและเบลารุส ซึ่งกองกำลัง NATO คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องประกาศรวมพลเช่นกัน ซึ่งจุดแตกหักที่อาจกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้ ในเอกสารของกลาโหมเยอรมันระบุว่า ตั้งแต่มีนาคม 2025 เป็นต้นไป

เป้าหมายที่ฝ่ายกลาโหมเยอรมัน จัดทำเอกสารประเมินสถานการณ์สงครามของรัสเซียฉบับนี้ ก็เพื่อกระตุ้นเตือนให้พันธมิตรในยุโรปตระหนักว่า รัสเซียเป็นภัยคุกคามที่อันตรายมากกว่าที่คิด จำเป็นต้องเร่งเตรียมความพร้อมในกองทัพของแต่ละประเทศในการป้องกันดินแดนของตน และทางเยอรมันได้เริ่มแล้วนั่นเอง

จากหัวข้อข่าวที่ BILD ได้ออกมาเผยแพร่ ก็ได้สร้างความฮือฮาและแตกตื่นพอสมควรว่า รัสเซียคิดจะเปิดศึกในยุโรปแน่หรือ? และเอกสารที่สื่อเยอรมันหยิบมาอ้างถึงนั้นเป็นเอกสารจริงหรือไม่?

และเมื่อมีการสอบถามไปยังกลาโหมเยอรมัน โฆษกประจำกระทรวงก็ออกมาปฏิเสธที่จะออกความเห็นถึงเนื้อหาที่มีอยู่ในเอกสารลับ ‘Alliance Defence 2025’ แต่กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า โดยปกติแล้ว ฝ่ายกองทัพมีการประเมินสถานการณ์เป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งมันก็เป็นส่วนหนึ่งในงานของทหาร ไม่ต่างจากการฝึกซ้อมประจำวันนั่นแหละ"

ด้าน วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่ถูกโยงให้เป็นตัวเอก และตัวร้ายในรายงานเอกสารลับของเยอรมัน ก็ออกมาปฏิเสธว่า นี่มันนิยายอะไรกัน รัสเซียไม่ต้องการขยายขอบเขตสงครามออกไปไกลเกินยูเครนแล้ว จะยุให้เราไปรบกับใครอีก?

แม้สื่อตะวันตกจะสนใจเรื่องเอกสารลับของเยอรมันกันค่อนข้างเยอะ แต่ก็ต้องพึงระลึกเสมอว่า ‘ฟังหู ไว้หู’ เพราะลำพังกองกำลังพลที่จะระดมเพิ่มแค่ 2 แสน กับขยายกองกำลังไปประจำที่คาลินินกราด กับขีปนาวุธพิสัยกลางอีกนิดหน่อย คิดจะเปิดฉากรบยุโรปทั้งทวีปได้เชียวหรือ?

แต่ทั้งนี้ แอดฯ ก็เคยเชื่อว่ารัสเซียไม่น่าจะบุกยูเครน และทำสงครามเต็มรูปแบบมาก่อน แต่สุดท้ายปูติน ก็บุกจริงๆ ดังนั้น คงยังฟันธงไม่ได้ว่า รายงานประเมินสถานการณ์ ‘Alliance Defence 2025’ ถูกเขียนขึ้นเพราะ ‘เชื่อในสิ่งที่เห็น’ หรือ ‘เห็นในสิ่งที่เชื่อ’

‘ปธน.ปูติน’ เตรียมเดินทางเยือน ‘เกาหลีเหนือ’ ตามคำเชิญ ‘ผู้นำคิม’ นับเป็นการเดินทางครั้งแรกของผู้นำรัสเซีย ในรอบกว่า 2 ทศวรรษ!!

(21 ม.ค. 67) สำนักข่าวเคซีเอ็นเอของทางการเกาหลีเหนือ รายงานในวันนี้ อ้างสำนักงานผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือ เกี่ยวกับการพบปะกันระหว่าง ‘ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน’ แห่งรัสเซีย และ ‘นายโช ซอนฮุย’ รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ปธน.ปูตินได้แสดงความตั้งใจจะเยือนกรุงเปียงยางในเร็วๆ นี้ และยังขอบคุณสำหรับคำเชิญของ ‘นายคิม จอง อึน’ ผู้นำเกาหลีเหนือด้วย

นี่จะเป็นการเยือนเกาหลีเหนือครั้งแรกของผู้นำรัสเซีย ในรอบกว่า 2 ทศวรรษ!!

‘นายดมิทรี เพสคอฟ’ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (15 ม.ค.) ว่า รัสเซียหวังว่า ปธน.ปูตินจะเยือนเกาหลีเหนือ ตามคำเชิญของคิม ซึ่งจะเกิดขึ้น ‘ในอนาคตอันใกล้’ โดยเพสคอฟกล่าวว่า ยังไม่มีการตกลงวันการเยือนไว้

ในรายงานของเคซีเอ็นเอ ภาคภาษาเกาหลีระบุว่า “ปูตินตั้งใจจะเยือนเร็วๆ นี้” ขณะที่ต่อมาได้มีรายงานภาคภาษาอังกฤษของเคซีเอ็นเอ ระบุว่า “เขาเต็มใจจะเยือนในไม่ช้านี้”

เคซีเอ็นเอรายงานด้วยว่า ในระหว่างการเยือนของรัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือ รัสเซียได้ขอบคุณเกาหลีเหนือที่ได้สนับสนุน และแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครน

มอสโก และเปียงยาง มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการกระทำที่ยั่วยุของสหรัฐฯ และพันธมิตรที่ต่อต้านสิทธิทางอธิปไตยของเกาหลีเหนือ ขณะเดียวกัน ได้ตกลงจะร่วมมือจัดการสถานการณ์ในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม การเยือนครั้งนี้มีความสำคัญยิ่ง นับตั้งแต่ปูตินรับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจาก ‘บอริส เยลต์ซิน’ ซึ่งเขาได้เยือนเปียงยางในเดือน ก.ค. 2543 เพื่อพบกับ ‘คิม จอง อิล’ บิดาของคิม จอง อึน ผู้นำคนปัจจุบัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top