Saturday, 18 May 2024
รัสเซีย

‘อังกฤษ’ จ่อขึ้นบัญชีดำ ‘Wagner’ กลุ่มทหารรับจ้างของรัสเซีย ชี้!! เป็นองค์กรก่อการร้ายที่มีความอันตรายเทียบเท่า ‘ISIS’

‘รัฐบาลอังกฤษ’ เตรียมที่จะขึ้นทะเบียน ‘Wagner PMC’ บริษัททหารรับจ้างเอกชนของรัสเซีย เป็นองค์กรก่อการร้าย นั่นหมายความว่าใครก็ตามที่เป็นสมาชิกขององค์กร Wagner หรือให้การสนับสนุน ถือว่าผิดกฎหมายก่อการร้ายของอังกฤษ

ซึ่งรัฐบาลอังกฤษเตรียมผ่านชงเรื่องการขึ้นบัญชีดำกลุ่ม Wagner ผ่านสภาฯ ในวันพุธนี้แล้ว และหากประเด็นนี้ผ่านการพิจารณาในสภาฯ สำเร็จ รัฐบาลอังกฤษจะมีอำนาจในการยึดทรัพย์ อาญัติบัญชีทรัพย์สินของกลุ่ม Wagner และเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องในอังกฤษได้ทันที

‘ซูเอลลา บราเวอร์แมน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษ กล่าวว่า “Wagner ถือเป็น กลุ่มที่ก่อความรุนแรง สร้างความหายนะทั้งในยูเครนและแอฟริกา เป็นเครื่องมือการทหารของ ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ ผู้นำรัสเซีย ที่ใช้ในการวางเป้าหมายทางการเมืองเท่านั้น ซึ่งบ่อนทำลายความมั่นคงของโลก ดังนั้น ตามกฎหมายก่อการร้ายของอังกฤษ (Terrorism Act 2000)  Wagner เข้าข่ายองค์กรก่อการร้ายอย่างไม่ต้องสงสัย”

และด้วยกฎหมายก่อการร้ายฉบับปัจจุบันของอังกฤษ ได้มอบอำนาจให้กระทรวงมหาดไทยของอังกฤษสามารถขึ้นบัญชีดำองค์กรใดๆ ก็ตามในโลกที่เข้าข่ายก่อการร้าย จากเดิมที่ครอบคลุมเพียงกลุ่มก่อการร้ายในไอร์แลนด์เหนือเท่านั้น และอังกฤษก็ได้ขึ้นทะเบียนผู้ก่อการร้ายมาแล้วหลายกลุ่มทั้ง อัลกออิดะห์, ISIS, ฮามาส, โบโก, ฮาลาม และล่าสุดคือ กลุ่ม Wagner

และหลังจากขึ้นทะเบียนกลุ่มก่อการร้ายเรียบร้อยแล้ว บุคคลที่เป็นสมาชิก ผู้ที่สนับสนุนกลุ่ม Wagner หรือแม้แต่การแสดงความเห็นในที่สาธารณะในเชิงสนับสนุน จัดกิจกรรมรวมกลุ่ม หรือแม้แต่ใช้โลโก้ ธง สัญลักษณ์ของ Wagner ในอังกฤษ จะถือเป็นความผิดในคดีอาญา มีโทษจำคุกถึง 14 ปี หรือปรับเงิน 5,000 ปอนด์

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอังกฤษได้รับแรงกดดันจากพรรคฝ่ายค้าน ให้เร่งขึ้นทะเบียนผู้ก่อการร้ายกับกลุ่ม Wagner มานานหลายเดือนแล้ว จากเหตุรุกรานยูเครนของกองทัพรัสเซีย ซึ่งกลุ่ม Wagner มีบทบาทสำคัญในการยึดครองพื้นที่ในยูเครน อีกทั้งยังมีหลักฐานการใช้ความรุนแรง การทำร้ายร่างกาย และสังหารประชาชนชาวยูเครน

แต่รัฐบาลอังกฤษเพิ่งเตรียมพิจารณาผ่านญัตติการขึ้นบัญชีดำกลุ่ม Wagner ในวันนี้ หลังจากที่กลุ่มได้สลายตัวไปหลังเหตุการณ์ Wagner ลุกฮือในรัสเซียเมื่อ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ตามด้วยการเสียชีวิตของ ‘เยฟเกนี พริโกซิน’ หัวหน้าผู้ก่อตั้งองค์กร จากอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่ยังเป็นปริศนาในอีก 2 เดือนต่อมาก็ตาม

ถึงจะทำช้า แต่ก็ทำนะ สำหรับการตัดสินใจของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งเชื่อว่าเครือข่าย Wagner ยังคงอยู่ แม้ผู้นำจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่บทบาทจะยังคงเหมือนเดิม หรือเปลี่ยนชื่อเป็นองค์กร หรือ รูปแบบอื่นๆ ไปแล้ว ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าขอบเขตกฎหมายของอังกฤษจะตามทันหรือไม่

เรื่อง : ยีนส์ อรุณรัตน์

เปิด 5 ความเป็นไปได้...ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น!! ชนวนชัด!! 'สหรัฐฯ' รบ 'รัสเซีย' ปีหน้า?

ในยุคนี้ ใครๆ ก็ว่ากันว่าเป็นการสู้รบบนสมรภูมิเศรษฐกิจที่ต้องใช้มันสมองเป็นอาวุธ การจะปาระเบิด ยิงถล่มใส่กันก็คงไม่มีแล้ว แต่ทว่า สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนก็เป็นคำตอบได้อย่างดีกว่า…สงคราม ยังสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อเกิดความขัดแย้งที่ไม่อาจหาทางออกได้

วันนี้ THE STATES TIMES จะพาไปดู 5 ความเป็นไปได้...ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น!! ชนวนชี้ชัด ‘สหรัฐฯ’ สู้รบ ‘รัสเซีย’ ในปีหน้า…

'อังกฤษ' เปิดฉาก!! กล่าวหารัสเซียยิงขีปนาวุธเป็นชุด  โจมตีเรือสินค้าในทะเลดำ พังธัญพืชหล่อเลี้ยงชีวิตชาวยูเครน

(12 ก.ย. 66) กองทัพรัสเซียเล็งเป้าหมายโจมตีเรือสินค้าพลเรือนลำหนึ่งในทะเลดำ ด้วย ‘ขีปนาวุธหลายลูก’ เมื่อเดือนที่แล้ว แต่กองกำลังยูเครนประสบความสำเร็จในการยิงสกัด จากคำกล่าวหาเมื่อวันจันทร์ (11 ก.ย.) ของสหราชอาณาจักรที่อ้างข้อมูลข่าวกรอง

จากคำกล่าวอ้างของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ระบุว่าเรือลำหนึ่งในกองเรือทะเลดำของรัสเซีย ยิงขีปนาวุธหลายลูก ในนั้นรวมถึงขีปนาวุธร่อนคาลิเบอร์ มุ่งหน้าสู่โอเดสซา เมืองท่าทางใต้ของยูเครน เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม

กระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของสหราชอาณาจักร (Foreign, Commonwealth & Development Office - FCDO) ระบุว่าข้อมูลข่าวกรองชั้นไม่เป็นความลับ เผยว่าเป้าหมายโดยเจตนาของการโจมตีดังกล่าวคือเรือสินค้าประดับธงลิเบียลำหนึ่ง ซึ่งเทียบท่าอยู่ที่นั่น

นอกจากนี้แล้วกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของสหราชอาณาจักร ยังบอกอีกว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศของยูเครนสามารถทลายการโจมตีที่มุ่งเป้าเล่นงานเรือพลเรือน โดยที่ไม่มีขีปนาวุธคาลิเบอร์ใดๆ ที่พุ่งโดนเป้าหมาย "แม้ประสบความล้มเหลว แต่มันพิสูจน์อย่างชัดเจนว่า รัสเซียยังคงพยายามบีบรัดเศรษฐกิจของยูเครน" FCDO กล่าวในถ้อยแถลง

ในถ้อยแถลงยังกล่าวหาด้วยว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ไม่แยแสต่อชีวิตพลเรือน และพยายามใช้อาหารและการค้าอันบริสุทธิ์เป็นอาวุธ ที่ทั่วทั้งโลกต้องเป็นฝ่ายชดใช้

ทะเลดำ กลายเป็นสมรภูมิที่มีการต่อสู้กันอย่างดุเดือดมากขึ้น หลังจากรัสเซียถอนตัวจากข้อตกลงส่งออกธัญพืชที่มีสหประชาชาติและตุรกีเป็นคนกลางเมื่อเดือนกรกฏาคม ในขณะที่ข้อตกลงดังกล่าวมีเป้าหมายรับประกันความปลอดภัยในการล่องเรือของเรือสินค้า

นับตั้งแต่นั้น มอสโกโจมตีโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือของยูเครนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในสิ่งที่เคียฟกล่าวหาว่าเป็นความพยายามก่อความเสียหายแก่การส่งออกของพวกเขา และบ่อนทำลายความมั่นคงทางอาหารโลก

ในการพาดพิงคำกล่าวหาเกี่ยวกับเหตุโจมตีเรือพลเรือนเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ใช้โอกาสแถลงต่อรัฐสภา เกี่ยวกับการประชุมซัมมิตจี 20 เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่ามันแสดงให้เห็นว่า ปูติน กำลังจนตรอกอย่างหนัก

เขาบอกด้วยว่าการโจมตีของรัสเซียที่เล่นงานสถานที่ต่างๆ ของยูเครน ได้ทำลายธัญพืชไปมากกว่า 270,000 ตัน ซึ่งมันเพียงพอสำหรับเลี้ยงดูประชาชน 1 ล้านคนเป็นเวลา 1 ปีเลยทีเดียว "ยูเครนมีสิทธ์ส่งออกสินค้าของพวกเขาผ่านน่านน้ำสากล และพวกเขามีสิทธิทางศีลธรรมที่จะส่งออกธัญพืชไปช่วยหล่อเลี้ยงคนทั้งโลก" ซูแน็ก กล่าว

'คิม จองอึน' จบภารกิจ 1 สัปดาห์ในรัสเซีย นั่งรถไฟหุ้มเกราะมุ่งหน้ากลับเปียงยาง

(18 ก.ย.66) สื่อรัสเซียหลายแห่งรายงานว่า นายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ โดยสารรถไฟหุ้มเกราะของเขาเดินทางออกจากภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซียแล้วในวันนี้

สำนักข่าวเรีย โนวอสตีรายงานว่า มีพิธีส่งผู้นำเกาหลีเหนือที่สถานีรถไฟอาร์ตอม-ปรีมอร์สกี อาดีน (Artyom-Primorsky-1) พร้อมกับเผยแพร่คลิปภาพเห็นนายคิมโบกมือจากบนรถไฟ อำลาคณะตัวแทนรัสเซียที่นำโดยนายอเล็กซานเดอร์ คอซลอฟ รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและนิเวศวิทยา

ขณะที่สำนักข่าวทาสส์รายงานว่า รถไฟของนายคิมมุ่งหน้าไปยังพรมแดนที่อยู่ห่างออกไป 250 กิโลเมตร ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน ทาสส์รายงานว่า นายคิมได้รับโดรนติดระเบิด 5 ลำ โดรนลาดตระเวน 1 ลำ ชุดอุปกรณ์กันกระสุนและผ้าพิเศษที่ไม่สามารถตรวจจับได้ด้วยกล้องถ่ายภาพความร้อนเป็นของขวัญจากผู้ว่าการแคว้นปรีมอร์เยของรัสเซียที่มีพรมแดนติดกับเกาหลีเหนือและจีน

ผู้นำเกาหลีเหนือเดินทางเยือนต่างประเทศอย่างเป็นครั้งแรกตั้งแต่โควิด-19 ระบาด โดยออกเดินทางจากกรุงเปียงยางในวันที่ 11 กันยายน และเริ่มการเยือนในวันรุ่งขึ้น ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับเรื่องทางการทหาร เช่น เยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องบิน เยี่ยมชมโรงงานผลิตอาวุธพร้อมกับรัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ประชุมสุดยอดและแลกเปลี่ยนปืนไรเฟิลกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย อย่างไรก็ดี เขาได้พบกับกลุ่มนักศึกษาเกาหลีเหนือที่ศึกษาในเมืองวลาดิวอสต็อกก่อนเดินทางกลับในวันนี้

‘ปูติน’ เตรียมเดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง พบ ‘สี จิ้นผิง’ ตุลาฯ นี้ นับเป็นทริปนอกประเทศครั้งแรก หลังถูก ‘ไอซีซี’ ออกหมายจับ

(19 ก.ย. 66) ทางการรัสเซียประกาศแล้วว่าประธานาธิบดี ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ ของรัสเซีย จะเดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง ในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อพบปะพูดคุยกับประธานาธิบดี ‘สี จิ้นผิง’ ของจีน ซึ่งจะนับเป็นการเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกเท่าที่รับรู้ของปูติน หลังจากที่เขาถูกศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ออกหมายจับในข้อกล่าวหา ‘ก่ออาชญากรรมสงคราม’ จากการเนรเทศเด็กๆ ชาวยูเครนไปรัสเซีย

“ในเดือนตุลาคม เราตั้งตารอการเจรจาทวิภาคีระหว่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในกรุงปักกิ่ง” นายนิโคไล ปาทรูเชฟ เลขาธิการสภาความมั่นคงของรัสเซีย กล่าวถึงแผนการเยือนดังกล่าว หลังการหารือกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ที่กรุงมอสโก

นายปาทรูเชฟ กล่าวอีกว่า รัสเซียต้องการพัฒนาความสัมพันธ์กับจีน “รัสเซียมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและกระชับความสัมพันธ์รัสเซีย-จีนให้ก้าวหน้า” พร้อมเสริมว่ามหาอำนาจทั้งสองเป็นหุ้นส่วนและมีความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมระหว่างกัน

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีปูตินจะมาร่วมการประชุมความริเริ่มแถบและเส้นทางครั้งที่ 3 ที่กรุงปักกิ่ง ตามคำเชิญของประธานาธิบดีสี ที่มีขึ้นในระหว่างที่ผู้นำจีนเดินทางเยือนกรุงมอสโก เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

โดยก่อนหน้าที่นายสีจะเดินทางเยือนมอสโกในครั้งนั้นเพียงไม่กี่วัน ศาลไอซีซี ได้ออกหมายจับปูติน กรณีการเนรเทศเด็กชาวยูเครนจำนวนหลายร้อยคนจากยูเครนไปรัสเซียอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รัสเซียปฏิเสธ

‘จีน’ เปิดทดลองเดินรถ บนถนนทางหลวงเอเชียสายใหม่  เชื่อมต่อการคมนาคม 3 ประเทศ ‘จีน-มองโกเลีย-รัสเซีย’

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 66 สำนักข่าวซินหัว, อุรุมชี รายงาน การทดลองเส้นทางขนส่งทางถนนระหว่างประเทศ ซึ่งเชื่อมต่อจีน มองโกเลีย และรัสเซีย บนทางหลวงเอเชีย สาย 4 (AH4) เริ่มต้นที่นครอุรุมชี เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เมื่อช่วงเช้าวันศุกร์ (22 ก.ย.) ที่ผ่านมา

รายงานระบุว่า ขบวนรถบรรทุกของจีน มองโกเลีย และรัสเซีย จำนวน 9 คัน วิ่งออกจากศูนย์ขนส่งหลายรูปแบบในเขตด่านบกระหว่างประเทศอุรุมชี โดยรถบรรทุกจะออกจากจีนผ่านด่านบกถ่าเค่อสือเขิ่น วิ่งผ่านมองโกเลียและรัสเซีย ก่อนถึงเมืองโนโวซีบีรสค์ของรัสเซีย

เส้นทางวิ่งระยะทดลองทั้งหมดยาวราว 2,253 กิโลเมตร แบ่งเป็นในจีนราว 577 กิโลเมตร ในมองโกเลีย 758 กิโลเมตร และในรัสเซีย 918 กิโลเมตร โดยจะมีการจัดพิธีต้อนรับขบวนรถบรรทุกที่เมืองโนโวซีบีรสค์ ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสามของรัสเซีย ในวันที่ 28 ก.ย. ด้วย

‘เซวียนเติงเตี้ยน’ เจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคมของจีน กล่าวว่าเส้นทางใหม่นี้เป็นช่องทางขนส่งทางถนนระหว่างประเทศที่เชื่อมต่อจีน มองโกเลีย และรัสเซีย ลำดับที่ 2 ต่อจากเส้นทางบนทางหลวงเอเชีย สาย 3 ซึ่งจะส่งเสริมการหมุนเวียนทรัพยากรอย่างเป็นระเบียบ การจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการบูรณาการตลาดในภูมิภาค รวมถึงมีบทบาทนำร่องในการสร้างระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย-รัสเซีย

อนึ่ง ซินเจียงตั้งอยู่ใจกลางทวีปยูเรเซีย ถือเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคหลักของแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม

ปัจจุบันจีนมีส่วนร่วมการขนส่งทางถนนระหว่างประเทศกับ 21 ประเทศ และมีท่าด่านในจีน 68 แห่ง ที่เปิดบริการขนส่งทางถนนระหว่างประเทศ

‘รัสเซีย’ ยกระดับเอาคืน!! ขู่ขึ้นบัญชีดำหมายหัว ‘ปธ.ศาลโลก’ ปม ‘ไอซีซี’ ออกหมายจับ ‘ปูติน’ ฐานก่ออาชญากรรมสงคราม

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 66 ‘รัสเซีย’ ได้เปิดเผยว่าได้ใส่ชื่อ ‘ปิโอเตอร์ ฮอฟมันสกี’ (udge Piotr Hofmański) ประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ในบัญชีต้องการตัว ความเคลื่อนไหวตอบโต้กรณีที่ศาลแห่งนี้ออกหมายจับ ‘ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน’ ตามข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงคราม

‘ฮอฟมันสกี ปิโอเตอร์ โจเซฟ’ ชาวโปแลนด์ เป็นที่ต้องการตัวภายใต้มาตรการหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญาแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ตามประกาศฉบับหนึ่งที่ปรากฏในฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทยรัสเซียไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับคำกล่าวหาที่มีต่อ ฮอฟมันสกี

เมื่อเดือนมีนาคม ศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่มีสำนักงานใหญ่ในเมืองเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ออกหมายจับ ‘ปูติน’ ฐานก่ออาชญากรรมสงคราม ตามข้อกล่าวหาบังคับเนรเทศเด็กๆ ชาวยูเครนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ ศาลอาญาระหว่างประเทศยังออกหมายจับ ‘มาเรีย ลโววา-เลโบวา’ คณะกรรมาธิการด้านสิทธิเด็กประจำทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย ในข้อหาเดียวกัน

รัฐบาลเคียฟกล่าวอ้างว่า เด็กยูเครนหลายหมื่นคนถูกนำตัวไปรัสเซียนับตั้งแต่เริ่มการสู้รบ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว โดยมีข้อมูลว่าเด็กจำนวนมากถูกส่งไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ และบ้านอุปถัมภ์ ภายใต้ความพยายามล้างสมองเด็กเหล่านั้นให้ฝักใฝ่สหพันธรัฐรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ รัสเซียเคยออกหมายจับ ‘คาริม ข่าน’ อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศและผู้พิพากษาหลายคน

มอสโกตอบโต้ว่า ไอซีซีไม่มีอำนาจหรือความชอบธรรมในการออกหมายจับ เพราะว่ารัสเซียไม่ได้เป็นสมาชิกและไม่เคยให้การรับรองธรรมนูญกรุงโรมปี 1998 ที่จัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศแห่งนี้

ในเดือนกันยายน ศาลอาญาระหว่างประเทศเปิดทำการสำนักงานสนามแห่งหนึ่งในยูเครน ส่วนหนึ่งในพยายามหาทางลงโทษกองกำลังรัสเซีย ต่อปฏิบัติการรุกรานยูเครนที่ได้รับการหนุนหลังจากตะวันตก

‘รัสเซีย’ เล็งแบนนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่น ปมปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีสู่ทะเล

สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซีย (Rosselkhoznadzor) ระบุในวันอังคาร (26 ก.ย.) ว่า รัสเซียกำลังพิจารณาที่จะดำเนินการตามจีนในการสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเล หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในวันพฤหัสบดีที่ 24 ส.ค. และวางแผนที่จะหารือเรื่องดังกล่าวกับญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากจีน หลังปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่ทะเลในเดือนที่ผ่านมา โดยจีนได้ตอบโต้การดำเนินการดังกล่าวด้วยการสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดจากญี่ปุ่น

สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซียระบุว่า รัสเซียได้หารือเรื่องการส่งออกอาหารญี่ปุ่นกับจีน โดยรัสเซียเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์อาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของจีน และกำลังพยายามเพิ่มส่วนแบ่งตลาด

“เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงเรื่องการปนเปื้อนกัมมันตรังสีในอาหารแล้ว สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซียจึงพิจารณาที่จะจำกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากปลาของญี่ปุ่นเช่นเดียวกับจีน” สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซียระบุในแถลงการณ์ พร้อมกล่าวเสริมว่า “รัสเซียจะสรุปการตัดสินใจหลังเจรจากับทางญี่ปุ่นแล้ว”

สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซียระบุว่า ได้ส่งจดหมายถึงญี่ปุ่นแล้ว เพื่อขอนัดหมายการประชุม พร้อมขอให้ญี่ปุ่นส่งข้อมูลการทดสอบรังสีในผลิตภัณฑ์ปลาส่งออกของญี่ปุ่นภายในวันที่ 16 ต.ค ซึ่งรวมถึงสารทริเทียม

สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซียระบุว่า รัสเซียนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งสิ้น 118 ตันในปีนี้

ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นระบุว่า น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีนั้นปลอดภัยดี เนื่องจากได้รับการบำบัดเพื่อขจัดสารรังสีออกไปเกือบทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงแค่สารทริเทียมเท่านั้น เนื่องจากเป็นสารที่ยากที่จะแยกออกจากน้ำได้ และการปล่อยน้ำปนเปื้อนดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ญี่ปุ่นระบุว่า ข้อครหาจากรัสเซียและจีนนั้นไม่เป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

‘ปูติน’ ประกาศฉลองครบรอบ 1 ปี ผนวก 4 ดินแดนของ ‘ยูเครน’ ยกเป็น ‘วันรวมชาติ’ อ้าง ปชช.ในแคว้นอยากเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 66 สำนักข่าวเอพี รายงานว่า นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้กล่าวเน้นย้ำว่า ประชาชนใน 4 ดินแดนของยูเครนที่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย ในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีขึ้นก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายน

ในวิดีโอนาน 4 นาทีที่เผยแพร่เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีการที่รัสเซียได้ผนวกรวม 4 ดินแดนของยูเครน ได้แก่ โดเนตสค์ ลูฮานสค์ ซาปอริซเซีย และเคอร์ซอน เมื่อวันที่ 30 กันยายนปีที่แล้วหลังมีการทำประชามติ ประธานาธิบดีปูตินกล่าวยืนยันว่าการผนวกรวม 4 ดินแดนของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียนั้นตรงตามแนวปฏิบัติสากลทั้งหมด และอ้างว่าประชาชนใน 4 ดินแดนดังกล่าว ได้แสดงถึงความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอีกครั้งในการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ทางคณะกรรมการกลางการเลือกตั้งของรัสเซียระบุว่า พรรครัฐบาลของรัสเซียได้คะแนนเสียงมากที่สุด

“เช่นเดียวกับในการทำประชามติครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปีที่แล้ว ผู้คนได้แสดงออกและยืนยันอีกครั้งถึงความต้องการที่จะอยู่กับรัสเซียและสนับสนุนเพื่อนร่วมชาติของพวกเขา ที่พิสูจน์แล้วว่าคู่ควรที่จะได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน ผ่านการลงมือทำงานอย่างจริงจัง” ประธานาธิบดีปูติน กล่าว

อย่างไรก็ดี ชาติตะวันตกได้ประณามการทำประชามติผนวก 4 ดินแดนของยูเครนเมื่อปีที่แล้ว และการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้ว่า เป็นการเลือกตั้งอย่างปลอมๆ ซึ่งมีขึ้นขณะที่ทางการรัสเซียพยายามที่จะกระชับอำนาจในดินแดนดังกล่าว ที่รัสเซียผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งอย่างผิดกฎหมาย และถึงตอนนี้รัสเซียก็ยังไม่สามารถควบคุมพื้นที่ทั้งหมดของดินแดน 4 แห่งดังกล่าว

นอกจากนั้นแล้ว รัสเซียยังได้จัดคอนเสิร์ตที่จัตุรัสแดง ในกรุงมอสโก เมื่อวันที่ 29 กันยายน เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 1 ปีการผนวกดินแดน 4 แห่งเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย โดยมีประชาชนเข้าร่วมในคอนเสิร์ตดังกล่าวจำนวนมาก และถึงแม้ประธานาธิบดีปูตินจะไม่ได้เข้าร่วมในคอนเสิร์ตดังกล่าว แต่ก็ได้ประกาศให้วันที่ 30 กันยายนเป็น ‘วันรวมชาติ’

‘ยูเครน’ เละ!! หลังเปิดฉากทำสงครามกับ ‘รัสเซีย’ โครงสร้างพื้นฐานเสียหายกว่า 1.51 แสนล้านดอลลาร์ฯ

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 66 สำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์-ยูเครน อ้างอิงผลการศึกษาล่าสุดจากสถาบันเคียฟ สคูล ออฟ อีโคนิมิกส์ (Kyiv School of Economics) เผยว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งกำลังดำเนินอยู่ได้สร้างความเสียหายทางตรงต่อโครงสร้างพื้นฐานของยูเครน คิดเป็นมูลค่า 1.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.59 ล้านล้านบาท) เมื่อนับถึงสิ้นเดือนกันยายน 2023

การศึกษาพบว่าภาคส่วนที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบมากที่สุดจากความขัดแย้งครั้งนี้ โดยมีบ้านส่วนบุคคล อาคารอะพาร์ตเมนต์ และหอพักประมาณ 167,200 หลังถูกทำลายหรือเสียหายจากสงคราม

นับตั้งแต่เริ่มมีการเผชิญหน้า สนามบินและสนามบินพลเรือน 18 แห่ง รวมถึงสะพานและสะพานลอย 344 แห่งในยูเครนได้รับความเสียหาย ขณะกลุ่มสถานประกอบการขนาดใหญ่และขนาดกลางอย่างน้อย 426 แห่งได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top