Saturday, 18 May 2024
รัสเซีย

‘รัสเซีย’ แฉ!! ‘สหรัฐฯ’ ได้ประโยชน์จากการคว่ำบาตร ส่วน ‘ยุโรป’ รับเคราะห์ ต้องซื้อพลังงานราคาสูงจากสหรัฐฯ

มาตรการคว่ำบาตรที่ตะวันตกกำหนดเล่นงานรัสเซียต่อความขัดแย้งในยูเครน กำลังก่อความเสียหายใหญ่หลวงแก่เศรษฐกิจยุโรป ส่วนสหรัฐฯ เป็นตัวแสดงเดียวที่ได้ประโยชน์จากข้อจำกัดต่าง ๆ นานาเหล่านั้น อันทอน ซีลูอานอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังรัสเซียกล่าวอ้างเมื่อวันเสาร์ (24 ธ.ค.)

ระหว่างให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Asharq News รัฐมนตรีรายนี้เชื่อว่ามาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกช่วยให้วอชิงตันบรรลุเป้าหมาย “พวกเขาป้อนอุปทานน้ำมันและก๊าซสู่ตลาดยุโรปได้เพิ่มขึ้น”

อย่างไรก็ตามอุปทานทางพลังงานจากรัสเซีย มีราคาสูงมากสำหรับยุโรป ผลก็คือมันโหมกระพือเงินเฟ้อพุ่งทะยานและทำให้ภาคธุรกิจของยุโรปสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ซีลูอานอฟกล่าว

รัฐมนตรีรายนี้อ้างด้วยว่า ทั้งมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกและเหตุระเบิดที่ทำให้ท่อลำเลียงก๊าซนอร์ดสตรีม 1 และนอร์ดสตรีม 2 เกิดรอยรั่ว เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน เป็นการจัดฉากเพื่อให้ยุโรปต้องจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลวที่มีราคาแพงกว่าเดิมจากอเมริกา ‘อเมริกาได้ประโยชน์ ยุโรปสูญเสีย’ เขาระบุ

มอสโกเรียกเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็นการลอบก่อวินาศกรรมโจมตีก่อการร้าย พร้อมอ้างว่าสหรัฐฯได้ประโยชน์จากเหตุท่อลำเลียงระเบิดมากที่สุด ส่วนทางวอชิงตันแม้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องใด ๆ แต่ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกลาโหมอเมริกา ให้คำจำกัดความเหตุการณ์นี้ว่า “เป็นโอกาสอันใหญ่โตที่ยุโรปจะเบี่ยงตนเองออกจากพลังงานรัสเซีย”

ซีลูอานอฟ ยอมรับว่ามาตรการคว่ำบาตรส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของรัสเซีย “แต่มันก่อความเจ็บปวดแก่ตะวันตกไม่น้อยไปกว่ากัน และบางทีอาจเจ็บปวดมากกว่าด้วยซ้ำ”

ยูเครน VS รัสเซีย สงครามยืดเยื้อ ที่ยังไม่รู้วันจบ

ปี 2565 กำลังจะจากไป ชาวโลกได้เห็นความยืดเยื้อของสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียข้ามปี และยังไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุด ซ้ำยังจะรุนแรงในช่วงปีใหม่ซึ่งยังเป็นฤดูหนาวในสองเดือนแรก ความหนาวเย็นได้เป็นอาวุธของรัสเซีย

เหยื่อของสงครามที่ต้องทนทุกข์อย่างมากคือชาวยูเครนที่ยังติดอยู่ในประเทศและเจอกับความยากลำบากเพราะขาดไฟฟ้า น้ำประปา และความสะดวกด้านสาธารณูปโภคซึ่งถูกทำลายโดยกองทัพรัสเซีย

และผู้นำยูเครนอดีตตัวตลกยังคงโลดแล่น อาบแสงสีเพื่อความโดดเด่นในฐานะเป็นวีรบุรุษสงครามในสายตาของโลกตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ ซึ่งใช้ยูเครนเป็นตัวแทนทำสงครามเพื่อบั่นทอนแสนยานุภาพของรัสเซีย

ยูเครนจึงต้องเป็นสมรภูมิสำหรับอาวุธจากโลกตะวันตกและของรัสเซียซึ่งสร้างความพินาศย่อยยับให้กับหลายเมือง แม้กระทั่งเมืองหลวงกรุงเคียฟก็ยังไม่ปลอดภัย ทั้งยังขาดแคลน ไฟฟ้า น้ำประปา ระบบขนส่งโทรคมนาคมที่เดี้ยง

โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ชอบกับการถูกยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษสงครามสวมเสื้อยืดตัวเดียวเป็นผู้นำยูเครนท่ามกลางความพินาศของบ้านเมือง และความทุกข์ยากของชาวยูเครนซึ่งมองไม่เห็นอนาคตว่าสงครามจะสิ้นสุดเมื่อไหร่

โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศว่าจะทุ่มอาวุธและเงินช่วยเหลือยูเครนรบกับรัสเซียให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นได้เหลือเพียงชาวยูเครนคนสุดท้ายก็จะต้องทำ

และคนสุดท้ายน่าจะเป็นตัวตลก เซเลนสกี้ ที่ถูกมองว่ากำลังกอบโกยความมั่งคั่งจากสงครามร่วมกับพวกพ่อค้าทรงอิทธิพลที่แอบยักยอกเอาอาวุธ จากนาโตไปขายเอาเงินเข้ากระเป๋า ผู้ก่อการร้ายในแอฟริกาอ้างว่ามีอาวุธสมัยใหม่จากสงครามยูเครน

ถ้าจะประเมินว่าใครอยู่ในสภาพที่ดีกว่าด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตก ต้องบอกว่ายุโรปและอังกฤษกำลังทุกข์ระทมกับวิกฤตที่เกิดจากพลังงานราคาแพง อัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ค่าครองชีพสูง

ชาวอังกฤษหลายล้านคนกลายเป็นผู้ดีตกยาก ต้องเก็บออมเงินไว้จ่ายค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ มาตรฐานการครองชีพต่ำลง ต้องอดมื้อกินมื้อ อาหารที่เคยมีคุณภาพต้องงด พวกรายได้น้อยไม่ต้องพูดถึง อยู่ในสภาพทุกข์ยาก โดยรัฐบาลไม่มีทางช่วยเหลือได้

พยาบาล พนักงานองค์กรต่าง ๆ ได้นัดหยุดงานประท้วง เรียกร้องค่าแรงเพิ่ม แต่รัฐบาลไม่มีเงิน ต้องกู้กว่า 2.6 หมื่นล้านปอนด์เพื่อใช้จ่าย

เยอรมนีอยู่ในสภาพที่กำลังจะสิ้นความเป็นชาติอุตสาหกรรม พลังงานจากรัสเซียที่เคยทำให้ประเทศเป็นขุมพลังของยุโรปไม่มีต่อไปอีกแล้ว ท่อก๊าซใต้ทะเลทั้งสองถูกก่อวินาศกรรมโดยฝีมือของสหรัฐฯ และอังกฤษตามหลักฐานที่ไม่เปิดเผยได้

เท่ากับว่าเป็นการตัดหนทางที่จะให้เยอรมนีได้หวนคืนไปรับก๊าซจากรัสเซียในราคาถูก ต้องซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวจากสหรัฐฯ ในราคาที่แพงกว่า 4 เท่าตัว

กลุ่มประเทศยุโรปต้องขออาวุธไปให้ยูเครน เมื่อคลังแสงพร่อง ต้องสั่งซื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐฯ ที่เป็นผู้นำ และกำหนดมาตรฐานอาวุธของนาโต เท่ากับว่าสหรัฐฯ มีแต่ได้กับได้ จากการขายพลังงานและอาวุธ ยุโรปกลายเป็นเหมือนเมืองขึ้น

ยุโรปไม่มีทางถอนตัวออกจากการนำของสหรัฐฯ เศรษฐกิจมีแต่จะทรุด

เยอรมนีต้องกู้เงินมากกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์เพื่อพยุงเศรษฐกิจ โดยไม่มีโอกาสจะเห็นวันฟื้นตัวจากภาวะถดถอย ตราบใดที่ราคาพลังงานยังแพง ธุรกิจตั้งแต่ขนาดใหญ่จนถึงรายย่อยต่างเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน ลดการผลิตหรือปิดตัวลง

ฝรั่งเศสและอิตาลีก็อยู่ในสภาพไม่ต่างกันมากนัก ต้องเร่งหาพลังงานทดแทน ฟื้นโรงงานผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานนิวเคลียร์ บางประเทศต้องหันไปใช้ถ่านหิน ทำให้แผนที่จะลดภาวะโลกร้อนต้องชะลอตัว ประเทศยุโรปอื่น ๆ ก็เดือดร้อนเช่นกัน

‘รัสเซีย’ เสียท่า!! ส่งความรวยให้สหรัฐฯ หลังพลาดขาย ‘อะแลสกา’ ไปในราคาแสนถูก

ชาวโลกรู้ว่าอเมริกากับรัสเซียนั้นเป็นคู่กรณีสงครามเย็น จนหลายคนคิดว่าสองชาตินี้คงไม่มีวันยิ้มให้กันได้ แต่จริงๆ แล้วครั้งหนึ่งไอ้นกอินทรีกับพี่หมีขาวเป็นมิตรกันมาก่อน ตอนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ยังอยู่ฝ่ายเดียวกันเลย มาแตกหักรักไม่ลงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี่แหละ แต่เชื่อไหมว่าอเมริกาได้ครอบครองดินแดนของรัสเซีย และสถาปนาเป็นรัฐของอเมริกาเต็มภาคภูมิ 

เมื่อเอ่ยถึงรัฐอะแลสกา (Alaska) หลายคนรู้สึกหนาวแทนพลเมืองที่นั่น เพราะได้ชื่อว่าเป็นรัฐที่หนาวสะท้านโลก 

อะแลสกาเป็นรัฐที่ 49 ในบรรดา 50 รัฐของอเมริกา ถูกค้นพบโดยนักเดินทางรัสเซียในปี ค.ศ.1741 พี่หมีขาวเลยกระโจนเข้าครอบครองตั้งแต่ปี ค.ศ.1784 ไอ้ที่โผเข้าหาดินแดนโน่นนี่ไม่ใช่อะไรหรอก พี่หมีแกอยากขยายอาณาจักรไปเรื่อยๆ เพราะช่วงนั้นประเทศต่างๆ ก็ล่าอาณานิคมกัน จะล่องไปล่าแถวไหน ประเทศแถบยุโรปล่ากันหมดแล้ว เลยต้องมุ่งหน้าขึ้นเหนือ 

พี่หมีขาวอยากได้อาณานิคมในดินแดนฝั่งตะวันออก เอาไว้ค้าขายชายเฟือยและเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียนออร์โธดอกซ์ รวมถึงการเรียกเก็บภาษีและทรัพยากรจากอาณานิคม แต่อะแลสกานั้นยกเว้น เพราะการครอบครองอะแลสกาของรัสเซีย เป็นไปเพื่อการทำธุรกิจมากกว่าการตั้งถิ่นฐาน มีการจัดตั้งการค้าขนสัตว์ในปีค.ศ.1781 และตั้งบริษัท Russian American Company ในปี ค.ศ. 1799 

หากเรากางแผนที่โลก จะเห็นว่าอะแลสกาอยู่ไกลจากขอบเขตดินแดนรัสเซีย ด้วยระยะทางที่ห่างกันมากระหว่างอะแลสกากับเมืองหลวงของรัสเซีย ทำให้สื่อสารกันลำบาก แถมไม่มีชาวรัสเซียไปตั้งรกรากในอะแลสกามากนัก นอกจากหนาวแล้วยังไกลปืนเที่ยง เลยมีคนหอบผ้าหอบผ่อนไปอยู่ที่นั่นแค่ 800 คนเท่านั้นเอง  

หนักหนากว่านั้นคือหนาวหูตูบจนเพาะปลูกอะไรไม่ค่อยจะได้ ทำให้ผู้นำหมีขาวเบ้ปากมองบนว่าจะเอาไอ้แผ่นดินนี้ไว้ทำไมหนอเรา นอกจากอะแลสกาจะกลายเป็นดินแดนที่ไม่ทำกำไรให้รัสเซีย ยังเสี่ยงต่อการถูกอังกฤษรุกราน ทำให้พี่หมีขาวนอนกระดิกตีนตรอง ว่าจะเอาไงดีกับไอ้ดินแดนแห่งนี้ ที่สำคัญตอนนั้นรัสเซียกำลังถังแตกเสียด้วย

รัสเซียจนกรอบ เพราะทำสงครามอย่างหนักและต่อเนื่อง เพื่อขยายอาณาเขตให้กว้างใหญ่ไพศาล การทำสงครามแต่ละครั้งนั้นต้องใช้เงินมหาศาล โดยเฉพาะสงครามไครเมียในปี 1853-1856 สงครามหนนี้ทำเอารัสเซียสิ้นเนื้อประดาตัวแทบล้มละลาย  หลังเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพปารีส 1856 มีการกันทะเลดำให้เป็นเขตกลางเพื่อไม่ให้รัสเซียตั้งฐานยุทธศาสตร์ นั่นยิ่งทำให้สูญเสียช่องทางการค้าขายกับประเทศอื่นไปโดยปริยาย

เมื่อถังแตกก็ต้องขายของเก่ากินนั่นแหละ กวาดสายตาทั่วแผ่นดินแล้วพบว่าอะแลสกาเป็นแผ่นดินของรัสเซียในบริเวณอเมริกาเหนือ แถมยังรกร้างว่างเปล่าเต็มไปด้วยน้ำแข็ง จนทางรัสเซียคิดว่าหาประโยชน์อะไรไม่ได้ และไม่อยากจ่ายเงินก้อนโตในการดูแล เลยเอาไปเร่ขายให้อเมริกา ซึ่งตอนนั้นยังดี ๆ กันอยู่ แถมทั้งรัสเซียและอเมริกามีศัตรูร่วมกันคืออังกฤษ เลยใส่พานวางถวาย

รัสเซียตัดสินใจเสนอขายอะแลสกาให้อเมริกาใน ค.ศ. 1859 แต่การเจรจาซื้อขายถูกชะลอไปเนื่องจากสงครามเย็น จนกระทั่งวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1867 วิลเลียม เอช. ซูเวิร์ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ซื้ออะแลสกามาจากรัสเซีย  

การซื้อขายครั้งนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนัก สื่อในอเมริกาลงข่าวเสียดสีว่าการซื้ออะแลสกาเป็นความโง่เขลาของ ซูเวิร์ด และเป็นสวนหมีขั้วโลกของ จอห์นสัน ส่วนชาวรัสเซียต่างไม่พอใจที่อะแลสกาถูกขายไป เพราะรัสเซียทุ่มเทพัฒนาอะแลสกามาอย่างยาวนาน อยู่ ๆ จะมาขายไปง่ายๆ ได้ไง แถมขายถูกเสียด้วย

'ปูติน' ระงับสนธิสัญญานิวเคลียร์กับสหรัฐฯ หลังพบสหรัฐฯ เริ่มพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์แบบใหม่

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ระบุระหว่างแถลงนโยบายประจำปีเมื่อวันอังคารว่า เขาระงับการมีส่วนร่วมของรัสเซียในสนธิสัญญาลดการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ที่รัสเซียทำไว้กับสหรัฐอเมริกา และกล่าวหาชาติตะวันตกว่าทำให้ความขัดแย้งในยูเครนเลวร้ายลง

สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงนโยบายประจำปีในกรุงมอสโก เมื่อวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ต่อสมาชิกรัฐสภาและนายทหารระดับสูงของรัสเซีย ก่อนหน้าไม่กี่วันที่จะครบรอบ 1 ปี ที่ทหารรัสเซียเริ่มบุกเข้าไปในยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565

ปูตินกล่าวหามหาอำนาจชาติตะวันตกว่าต้องการจำกัดรัสเซียให้หมดสิ้น และรัสเซียถูกบังคับให้ระงับการมีส่วนร่วมในสนธิสัญญา 'นิวสตาร์ต' ซึ่งเป็นสนธิสัญญาจำกัดการครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ที่รัสเซียมีข้อตกลงไว้กับสหรัฐ แต่บอกว่าจะไม่ถอนตัวจากข้อตกลงทั้งหมด

ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า บางคนในกรุงวอชิงตันกำลังคิดเรื่องกลับมาทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง ดังนั้นกระทรวงกลาโหมของรัสเซียและบริษัทนิวเคลียร์ของรัสเซียควรที่จะพร้อมทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียถ้ามีความจำเป็น

ปูตินระบุแน่นอนว่าเราจะไม่เริ่มทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ก่อน แต่ถ้าสหรัฐอเมริกาดำเนินการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ เราจะทำเช่นกัน ไม่ควรมีภาพลวงตาที่อันตรายที่ว่าความเสมอภาคทางยุทธศาสตร์ของโลกสามารถถูกทำลายได้

สหรัฐฯ เดือด!! ปูติน เปิดทำเนียบรับ ‘หวังอี้’ พร้อมชวน ‘สีจิ้นผิง’ เยือนยกระดับความสัมพันธ์

ท่ามกลางความตึงเครียดในสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่นโยบายด้านการต่างประเทศก็ยังต้องดำเนินต่อไป ซึ่งวันนี้ (23 ก.พ.66) วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้เปิดทำเนียบต้อนรับ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจากจีน ที่ได้มาเยือนกรุงมอสโก ก่อนวันครบรอบ 1 ปี วันเริ่มต้นปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนเพียงวันเดียว สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่าง จีน และ รัสเซีย ยังคงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

โดย นาย หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้กล่าวกับปูติน ว่า จีน และ รัสเซีย พร้อมที่จะยกระดับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ และ เชิงพาณิชย์ให้มากขึ้นกว่าเดิม และคาดหวังว่าจะได้ฉันทามติในข้อตกลงใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

ด้าน ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้กล่าวกับตัวแทนจากจีนว่า ความร่วมมือด้านการค้าระดับทวิภาคีของทั้ง 2 ประเทศ ได้ผลลัพธ์ที่ดีเกินคาดมาก ทำรายได้โตขึ้นถึงเกือบ 2 แสนล้านเหรียญ คาดว่าน่าจะโตกว่าปีที่ผ่านมาที่ 1.85 แสนล้านเหรียญอย่างแน่นอน 

นอกจากนี้ ปูติน ยังกล่าวกับ หวัง อี้ อีกด้วยว่า ทางรัฐบาลรัสเซียรอคอยการมาเยือนของผู้นำจีน ที่เคยมีกระแสข่าวว่ามีแผนการเยือนรัสเซียในเร็วๆนี้ เพื่อหารือข้อตกลงใหม่ๆ โดยย้ำว่าข้อตกลงที่ผ่านมาล้วนคืบหน้าไปด้วยดี และราบรื่น รวมถึงความร่วมมือระหว่างจีน และ รัสเซีย มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างเสถียรภาพในสถานการณ์ของโลกในวันนี้ 

หากมองดูให้ดีแล้ว ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวของผู้นำชาติมหาอำนาจอย่าง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ได้เดินทางไปเยือนกรุงเคียฟแบบ Surprise Visit เป็นการตอกย้ำบทบาทของสหรัฐฯ ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ซึ่งได้มาเยือนกรุงมอสโก ก็สร้างความวิตกกังวลกับนานาชาติว่า ความขัดแย้งจะเพิ่มดีกรีให้ร้อนแรงขึ้นจนเลยขีดความสงครามเย็น จนกลายเป็นสงครามโลกหรือไม่ 

นี่ยังไม่นับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และ จีน ซึ่งเข้าสู่ภาวะตึงเครียดอีกครั้ง จากกรณีพบบอลลูนสัญชาติจีนเหนือน่านฟ้าสหรัฐฯ 

เกี่ยวกับกรณีนี้ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า จีนกำลังเตรียมที่จะส่งอาวุธสนับสนุนให้กับฝ่ายรัสเซีย เพื่อใช้ในการสู้รบที่ยูเครน ตามมาด้วยคำขู่ของ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนที่ออกมาโจมตีว่า เมื่อใดก็ตามที่จีนส่งอาวุธสนับสนุนรัสเซีย จะเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 3 และรัสเซียจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

‘เซเลนสกี’ ผู้นำยูเครน เผย อยากพบ ‘สี จิ้นผิง’ หารือช่วยเจราสงบศึก หวัง จีนไม่ส่งอาวุธช่วย ‘รัสเซีย’

(25 ก.พ. 66) ‘ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี’ แห่งยูเครนประกาศวานนี้ (24 ก.พ.) ว่า อยากจะพบ’ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง’ ของจีน หลังปักกิ่งออกมาเสนอ ‘แผนสันติภาพ 12 ข้อ’ เพื่อนำไปสู่การยุติสงครามยูเครนโดยด่วน

“ผมมีแผนที่จะพบกับ สี จิ้นผิง” เขาให้สัมภาษณ์สื่อที่กรุงเคียฟในวาระครบรอบ 1 ปีที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน พร้อมย้ำว่าที่ผ่านมาตนพยายามอย่างยิ่ง ที่จะขัดขวางไม่ให้จีนส่งอาวุธช่วยรัสเซีย เพราะอาจนำไปสู่ ‘สงครามโลกครั้งที่ 3’ ได้

“มันสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของโลก” เซเลนสกี กล่าว

ผู้นำยูเครนไม่ได้เอ่ยชัดเจนว่าจะพบกับ สี ที่ไหนและเมื่อไหร่ แต่แสดงความคาดหวังให้ปักกิ่งช่วยสนับสนุนยูเครน และ ‘สันติภาพที่เป็นธรรม’ (just peace)

“ผมอยากจะเชื่อจริง ๆ ว่า จีนจะไม่ส่งอาวุธให้รัสเซีย นี่เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผม” เขากล่าว

เซเลนสกี ยังระบุด้วยว่า ตนเชื่อว่าประเทศที่ถูกรุกรานเท่านั้นที่มีสิทธิ ‘เสนอแผนริเริ่มเพื่อสันติภาพ’

กระทรวงการต่างประเทศจีนได้เผยแพร่แผน 12 ข้อ เพื่อยุติสงครามและฟื้นฟูสันติภาพในยูเครน แต่ปรากฏว่า โดนชาติตะวันตกวิจารณ์แหลก ว่าเป็นข้อเสนอที่เอื้อประโยชน์ให้รัสเซียมากกว่า แถมยังส่งสัญญาณปรามปักกิ่งว่า อย่าได้ส่งอาวุธให้มอสโกเป็นอันขาด

สำหรับแผนสันติภาพที่กระทรวงการต่างประเทศจีน เผยแพร่เมื่อเช้าวันศุกร์ (24 ก.พ.) มีใจความสำคัญเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหยุดกระพือความขัดแย้งและความตึงเครียด เพื่อไม่ให้สงครามยูเครนทวีความรุนแรงหรือลุกลามจนไม่อาจควบคุมได้ โดยรายละเอียดของแผนทั้ง 12 ประการ มีดังต่อไปนี้

‘ปูติน’ เผย ตลาดแรงงานในรัสเซียยังคึกคัก หลัง ‘อัตราว่างงาน’ ลดต่ำเป็นประวัติการณ์

(15 มี.ค. 66) เมื่อวันอังคารที่ 14 มี.ค. 66 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เปิดเผยว่า อัตราการว่างงานของประเทศ ลดแตะระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ร้อยละ 3.6 จากข้อมูลตลาดแรงงานล่าสุด

ปูติน ซึ่งเดินทางไปปฏิบัติงานที่สาธารณรัฐบูร์ยาเตีย ระบุว่า อัตราการว่างงานของรัสเซียต่ำเป็นประวัติการณ์ แม้เทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.7

‘ซาอุฯ’ ขู่ระงับขายน้ำมัน หากถูกกำหนดราคาเหมือนรัสเซีย ชี้ นโยบายชาติตะวันตกซ้ำเติมความผันผวนแก่ตลาดน้ำมันโลก

(17 มี.ค. 66) เจ้าชายอับดุลลาซิซ บิน ซัลมาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแห่งซาอุดีอาระเบีย เตือนบรรดาชาติตะวันตก ต่อการกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบของเมืองริยาด ระบุ ความพยายามใด ๆ ดังกล่าว จะต้องเจอกับการระงับขายและลดกำลังผลิต

พระองค์ทรงตรัสอีกว่า บรรดาชาติผู้ผลิตน้ำมันรายหลักอื่น ๆ มีความเป็นไปได้ว่าจะดำเนินการแบบเดียวกัน “ถ้ามีการกำหนดเพดานราคาน้ำมันส่งออกของซาอุดีอาระเบีย เราจะไม่ขายน้ำมันแก่ประเทศไหน ๆ ที่กำหนดเพดานราคาอุปทานของเรา และเราจะลดกำลังผลิตน้ำมัน และผมจะไม่ประหลาดใจเลยหากว่าชาติอื่น ๆ จะทำตามแบบเดียวกัน” เจ้าชายอับดุลลาซิซ บิน ซัลมาน ตรัสเมื่อช่วงต้นสัปดาห์

รัฐมนตรีพลังงานซาอุดีอาระเบีย ตรัสต่อว่า หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่นโยบายเพดานราคาน้ำมัน ได้ซ้ำเติมความไม่มั่นคงและความผันผวนแก่ตลาด และจะส่งผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมน้ำมันทั้งมวลทั่วโลก

พระองค์เปรียบเทียบมาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมัน กับร่างกฎหมายของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า ‘NOPEC’ โดยเน้นย้ำว่า มีความเป็นไปได้ ว่ามาตรการทั้งสองอาจส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันไม่ต่างกัน

ทั้งนี้ ‘NOPEC’ (กฎหมายไม่มีเครือข่ายผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน) จะถอดกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือ ‘โอเปก’ ออกจากการได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐฯ เปิดทางให้โอเปก และบรรดาบริษัทน้ำมันแห่งชาติทั้งหลายสามารถถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ภายใต้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐฯ สำหรับความพยายามขัดขวางการแข่งขันที่จำกัดอุปทานน้ำมันโลก และส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบตามมา

ในเดือนธันวาคม ‘อียู’ และบรรดาสมาชิกกลุ่มจี 7 รวมถึงพันธมิตรได้ร่วมกันกำหนดมาตรการแบนการส่งออกน้ำมันทางทะเลของรัสเซีย เช่นเดียวกับกำหนดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซียไว้ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันรัสเซียเกือบทั้งหมด เช่นเดียวกับบังคับใช้มาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันดีเซลและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่น ๆ เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา

‘สี จิ้นผิง’ เตรียมบินลัดฟ้า เดินทางเยือน ‘รัสเซีย’ หลังได้รับคำเชิญจาก ‘วลาดิเมียร์ ปูติน’ 

สี จิ้นผิงเตรียมเดินทางเยือน ‘รัสเซีย’ อย่างเป็นทางการ

ปักกิ่ง, 17 มี.ค. (ซินหัว) — วันศุกร์ (17 มี.ค.) ฮว่าชุนอิ๋ง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ประกาศว่าสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน จะเดินทางเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 20-22 มี.ค. ตามคำเชิญของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

‘ทูตจีน’ เผยสัมพันธ์ ‘จีน-รัสเซีย’ แข็งแกร่ง ท่ามกลางปั่นป่วนบนโลก ยิ่งต้องแน่นแฟ้น

มอสโก, 18 มี.ค. (ซินหัว) — จางฮั่นฮุย เอกอัครราชทูตจีนประจำรัสเซีย กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสื่อจีนเมื่อไม่นานนี้ว่า ยิ่งโลกเผชิญความปั่นป่วนมากเท่าใด ความสัมพันธ์จีน-รัสเซียก็ยิ่งจำเป็นต้องก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

จางระบุว่าไม่ว่าสถานการณ์ระหว่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สถานะหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านแห่งความร่วมมือในยุคใหม่จีน-รัสเซียจะยังคงเดินหน้าต่อไปในระดับสูงขึ้น ภายใต้การชี้แนะเชิงกลยุทธ์ของผู้นำทั้งสอง

เมื่อวันศุกร์ (17 มี.ค.) ฮว่าชุนอิ๋ง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ประกาศว่าสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน จะเดินทางเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 20-22 มี.ค. ตามคำเชิญของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

จางกล่าวว่าผู้นำจีนและรัสเซียยังคงรักษาการติดต่อสื่อสารอย่างใกล้ชิด และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีและประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญ ซึ่งเปรียบเสมือนเข็มทิศและหลักยึดในการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี

จางเผยว่าสีจิ้นผิงและปูตินได้บรรลุฉันทามติเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญหลายประการในการส่งเสริมการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคี การรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค และการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์จีน-รัสเซียได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ โดยความร่วมมือทวิภาคีบรรลุผลลัพธ์ใหม่ ขณะการประสานงานเชิงกลยุทธ์ก้าวสู่ระดับใหม่

จางเน้นย้ำว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-รัสเซียได้ยืนหยัดต่อแรงกดดันและก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง แม้เผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) อันยืดเยื้อ วิวัฒนาการของสถานการณ์ระหว่างประเทศที่สลับซับซ้อน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ

จางกล่าวว่าปี 2022 การค้าทวิภาคีระหว่างจีนและรัสเซียพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1.90 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.44 ล้านล้านบาท) พร้อมเสริมว่าการค้าพลังงานมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในการค้าทวิภาคี ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องกลและไฟฟ้า ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ของจีนไปยังรัสเซียล้วนมีการเติบโตอย่างมาก

จางเผยว่าสัดส่วนการชำระเงินในสกุลเงินท้องถิ่นเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มธนาคารรัสเซียดำเนินธุรกิจโดยใช้สกุลเงินหยวนอย่างกว้างขวาง

จางกล่าวถึงความร่วมมือระดับท้องถิ่นระหว่างจีนและรัสเซียที่ลึกซึ้งกว่าที่เคยเป็นมา โดยชี้ว่าสถาบันและผู้ประกอบการท้องถิ่นจากสองประเทศ มีส่วนร่วมแข็งขันในงานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน (CIIE) งานกว่างโจวแฟร์ (Canton Fair) การประชุมเศรษฐกิจภูมิภาคตะวันออก (EEF) และการประชุมเศรษฐกิจนานาชาติเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (SPIEF) ซึ่งช่วยประสานความต้องการความร่วมมือและปลดปล่อยศักยภาพความร่วมมืออย่างเต็มที่

จางเปิดเผยว่าสะพานทางหลวงข้ามพรมแดนเฮยเหอ-บลาโกเวชเชนสค์ สะพานทางรถไฟข้ามพรมแดนถงเจียง-เนซเนียลีนินสกอย และสะพานข้ามแม่น้ำบริเวณพรมแดนแห่งอื่นๆ ต่างทยอยเปิดให้สัญจร ส่วนช่องทางขนส่งและโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนมีการขยับขยายเพิ่มเติมเช่นกัน

หลังจากจีนเพิ่มประสิทธิภาพและปรับเปลี่ยนมาตรการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) พิธีการทางศุลกากรที่ท่าเรือของจีนและรัสเซียได้ทยอยกลับสู่รูปแบบเดียวกับก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่ ซึ่งช่วยรับรองการแลกเปลี่ยนของทั้งบุคลากรและสินค้าระหว่างสองฝ่ายว่าจะเป็นไปอย่างราบรื่น

“การค้าทวิภาคีเติบโตอย่างแข็งแกร่งช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ปีนี้ โดยมูลค่าสูงถึง 3.36 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.14 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.9 เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นที่ดี” จางกล่าว “ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นอีกครั้งว่ารากฐานความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าทวิภาคียังคงแข็งแกร่ง”

ในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน จีนและรัสเซียมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันทางการเมืองอย่างแน่นแฟ้น มีความเกื้อกูลกันทางเศรษฐกิจในระดับสูง และมีศักยภาพในการร่วมมือที่ดีเยี่ยม ทำให้บริษัทรัสเซียจำนวนมากขึ้นแสดงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะร่วมมือกับฝ่ายจีน

จางเชื่อมั่นว่าการค้าจีน-รัสเซียจะพุ่งแตะระดับสูงสุดใหม่ในปี 2023 พร้อมมุ่งมั่นบรรลุเป้าหมายทางการค้าที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าไว้ที่ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.81 ล้านล้านบาท) ภายในสิ้นปีนี้

จางเสริมว่าความร่วมมือระหว่างประชาชนมีบทบาทสำคัญมาตลอดประวัติศาสตร์แห่งการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top