คิกออฟ!! 'ไฮโดรเจน' พลังงานทางเลือกใหม่ ภายใต้แนวคิดของ ‘พีระพันธุ์’ หลัง 'ซาอุฯ' ไฟเขียว ร่วมอุตฯ การผลิต ‘ไฮโดรเจน’ เชิงพาณิชย์ในไทย
ความเป็นจริงเกี่ยวกับเชื้อเพลิงพลังงานที่ใช้กันอยู่ในบ้านเราทุกวันนี้ เกือบทั้งหมดต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ
ด้วยเพราะทรัพยากรเชื้อเพลิงพลังงานที่มีอยู่เองในประเทศนั้น จะมีช่วงเวลาที่ค่อย ๆ หมดไป ๆ และไม่เพียงพอต่อการรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่มีแต่เร่งความต้องการเชื้อเพลิงพลังงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
แต่ในขณะที่เชื้อเพลิงพลังงานที่ต้องนำเข้า ต้องซื้อจากประเทศอื่น ๆ มานั้น ก็ใช่ว่าประเทศที่ขายให้จะไม่ตระหนักถึงทรัพยากรตนที่พร้อมจะหมดไป หรือไม่เพียงพอใช้ในประเทศเช่นกัน
ดังนั้น สิ่งที่ตามมา จึงเป็นเรื่องของราคาเชื้อเพลิงพลังงาน ที่ผู้ซื้อจำใจต้องยึดราคาภายใต้กรอบของผู้ผลิตที่จะกำหนดได้เองเป็นส่วนใหญ่
พอภาพโดยรวมเป็นแบบนี้ ก็ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาจริงจังกับ 'พลังงานใหม่' ไม่ว่าจะเป็นพลังทดแทนหรือพลังงานทางเลือก ที่ต้องให้ความสำคัญ มีการคิดค้น และพัฒนาให้กลายมาเป็นพลังงานที่จะถูกนำมาใช้แทนพลังงานในปัจจุบัน หรือพลังงานฟอสซิลมากขึ้นเรื่อย ๆ
‘ไฮโดรเจน’ (Hydrogen, H2) ถือเป็นเชื้อเพลิงพลังงานที่ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกสำหรับอนาคต เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด เป็นธาตุที่เบาที่สุดและเป็นองค์ประกอบของน้ำ (H2O)
ขณะเดียวกัน ยังเป็นธาตุที่รวมอยู่ในโมเลกุลของสารประกอบอื่น ๆ เช่น สารประกอบจําพวกไฮโดรคาร์บอน (HC) คุณสมบัติทั่วไปของ ‘ไฮโดรเจน’ คือ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ติดไฟง่าย ไม่เป็นพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แถมยังไม่มีสารประกอบคาร์บอน ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจก
นอกจากนี้ ‘ไฮโดรเจน’ ยังถูกนำมาใช้ในการทำปฏิกิริยาไฮโดรจีเนชั่น (Hydrogenation) ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น โรงกลั่นน้ำมันเพื่อลดค่ากำมะถันในน้ำมัน, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมกระจก, อุตสาหกรรมเคมี และอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ไม่เพียงเท่านี้ ‘ไฮโดรเจน’ ยังสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาไหม้และให้ความร้อน โดยมีค่าพลังงานความร้อนต่อน้ำหนักสูงกว่าน้ำมันเบนซินประมาณ 3 เท่า หรือนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าโดยป้อนเข้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell)
ดังนั้น ไฮโดรเจน จึงถือเป็นแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงที่สำคัญอย่างมากในอนาคต โดยหลายประเทศทั่วโลกได้มีการวิจัยและพัฒนาในเรื่องนี้อย่างแพร่หลาย เช่น สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, อังกฤษ, ญี่ปุ่น, ฯลฯ
ทั้งนี้ ‘ไฮโดรเจน’ สามารถผลิตได้จากวัตถุดิบหลัก 3 แหล่ง ได้แก่ (1) เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น แก๊สธรรมชาติ ถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม (2) พลังงานหมุนเวียน เช่น ชีวมวล น้ำ และ (3) พลังงานนิวเคลียร์
ส่วน ‘ไฮโดรเจน’ สำหรับเป็นเชื้อเพลิงพลังงานสามารถจำแนกจากชนิดของแหล่งพลังงานและวิธีในการผลิตไฮโดรเจน โดยกำหนดเป็นสีต่าง ๆ ไว้ 4 สี ดังนี้...
(1) ไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen) คือ ไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหิน ซึ่งไฮโดรเจนสีเทาคิดเป็นประมาณ ร้อยละ 95 ของไฮโดรเจนที่ผลิตได้ในปัจจุบัน โดยกระบวนการผลิตนี้จะมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สู่ชั้นบรรยากาศ
(2) ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน (Blue Hydrogen) คล้ายกับไฮโดรเจนสีเทา ยกเว้นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกกักเก็บไว้ในพื้นดิน ใช้การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS: Carbon Capture and Storage) โดยไฮโดรเจนสีน้ำเงินเป็นทางเลือกที่สะอาดกว่าไฮโดรเจนสีเทา แต่มีราคาแพงกว่าเนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีในการดักจับคาร์บอน
(3) ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) คือ ไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นโดยใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด ซึ่งไฮโดรเจนสีเขียวถือเป็นไฮโดรเจนที่มีการปล่อยมลพิษต่ำหรือเป็นศูนย์ เนื่องจากใช้แหล่งพลังงานสะอาด เช่น ลมหรือแสงอาทิตย์ จ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับอิเล็กโทรไลซิสในกระบวนการแยกน้ำ (H2O) เป็นไฮโดรเจน (H2) และออกซิเจน (O2)
(4) ไฮโดรเจนสีอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมพลังงาน อาจใช้สีอื่น ๆ เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างชนิดของไฮโดรเจน แม้ว่าสีเทา, สีฟ้า และสีเขียวเป็นสีทั่วไป แต่มีสีดำ, สีน้ำตาล, สีแดง, สีชมพู, สีเหลือง, สีเขียวขุ่น และสีขาว เป็นสีสำหรับ Molecular Hydrogen (H2) ที่ผลิตจากแหล่งพลังงานและกระบวนการผลิตอื่น ตัวอย่างเช่น ไฮโดรเจนสีดำและสีน้ำตาลเป็นไฮโดรเจนสีเทาที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยไฮโดรเจนสีดำคือ การใช้ถ่านหินบิทูมินัส ส่วนไฮโดรเจนสีน้ำตาลคือ การใช้ถ่านหินลิกไนต์ ผ่านกระบวนการ Gasification process เพื่อการผลิต ‘ไฮโดรเจน’
จากปัจจัยต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมานั้น จึงทำให้ ‘ไฮโดรเจน’ เป็นหนึ่งในพลังงานใหม่ที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับประเทศไทย ได้มีการใช้ ‘ไฮโดรเจน’ เป็นพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยพลังงานจาก ‘ไฮโดรเจน’ จะทำหน้าที่สนับสนุนการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลม เพื่อเพิ่มความเสถียรในการผลิตกระแสไฟฟ้า และได้มีการนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิง ‘ไฮโดรเจน’ รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle : FCEV) โดยใช้รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนรับส่งนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจในพื้นที่พัทยา - ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง
นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งสถานีต้นแบบเติม ‘ไฮโดรเจน’ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงแห่งแรกของประเทศไทย (Hydrogen Station) ที่ อำเภอบางละมุง ชลบุรี อีกด้วย
แม้ว่าขณะนี้ ‘ไฮโดรเจน’ ยังไม่ใช่พลังงานทดแทนหลักที่ได้รับความนิยม แต่พลังงานจาก ‘ไฮโดรเจน’ ก็ยังมีการคิดค้นในเชิงนวัตกรรม เพื่อให้เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้นเรื่อย ๆ พอที่จะนำมาแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการปลดปล่อยมลพิษ ช่วยพาสังคมมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) เพื่อขจัดต้นตอของปัญหาโลกร้อนให้สำเร็จได้อย่างแท้จริงเสียที
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยในวันนี้ ก็ไม่ได้นิ่งเฉยกับสุดยอดพลังงานทางเลือกนี้ และยังดูจะเอาจริงเอาจังกับการผลิต ‘ไฮโดรเจน’ เพื่อเป็นเชื้อเพลิงพลังงานหลักให้ประเทศอีกด้วย เพราะนี่คือหนึ่งในวิสัยทัศน์ด้านเชื้อเพลิงพลังงานของ ‘นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ที่ต้องการให้ไทยผลิต ‘ไฮโดรเจน’ ได้เองภายในประเทศ
เหตุผลเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้าแทนที่ ‘LNG’ ที่ปัจจุบันต้องนำเข้าจากต่างประเทศด้วยราคาที่ไม่มีความแน่นอน และมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลน จนส่งผลกระทบต่อต่อค่า ‘Ft’ ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าในบ้านเรามีราคาแพง และสำหรับเป็นเชื้อเพลิงพลังงานในภาคการขนส่งแทนที่ ‘CNG’ ซึ่งกำลังการผลิตจากแหล่งผลิตในอ่าวไทยและนำเข้าจากเมียนมามีปริมาณที่ลดลงเรื่อย ๆ
โดย ‘พีระพันธุ์’ ได้มอบนโยบายนี้ให้ ‘บมจ.ปตท.’ ผู้ประกอบการด้านพลังงานรายใหญ่ที่สุดของไทยได้ทำการศึกษาและขับเคลื่อน ซึ่งทาง ‘บมจ.ปตท.’ เอง ก็ได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวแล้ว โดยร่วมกับ ‘บริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด’ ประเทศซาอุดีอาระเบีย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
สำหรับความคืบหน้าของเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากการที่ ‘พีระพันธุ์’ ได้นำเรื่องของการผลิต ‘ไฮโดรเจน’ เชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นเชื้อเพลิงพลังงานไปเจรจาหารือกับรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ระหว่างการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เมื่อ วันที่ 15-17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และเพื่อเป็นการขยายผลต่อยอดโครงการฯ ดังกล่าว ทางรัฐบาลซาอุดีอาระเบียก็ได้ตอบรับและแสดงความสนใจที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิต ‘ไฮโดรเจน’ เชิงพาณิชย์เพื่อเป็นเชื้อเพลิงพลังงานในประเทศไทยแล้ว
โดยการร่วมมือนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิสัยทัศน์ซาอุดีฯ 2030 (Saudi Vision 2030) จากรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย เพื่อที่จะลดการพึ่งพารายได้จากการขายน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียวของประเทศ และเพิ่มช่องทางการหารายได้ทางเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
นี่จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ภาคการผลิตกระแสไฟฟ้าและการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย จะมีโอกาสและทางเลือกในการใช้เชื้อเพลิงพลังงานที่สามารถผลิตได้ในประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ทำให้ความมั่นคงทางพลังของไทยมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลแก่พี่น้องประชาชนคนไทยโดยรวมทั้งหมดทั้งมวลต่อไป
