Wednesday, 21 May 2025
พรรคก้าวไกล

‘ชวน’ เตือนสติ ปมขัดแย้งชิง ประธานสภาฯ ยึดตามอำเภอใจ ปัญหาไม่จบ แนะ ก้าวไกล-เพื่อไทย ให้หารือกันใกล้ชิด

28 มิ.ย. 2566 นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ผ่านทีวีรัฐสภา ในรายการ 91 ปีก้าวแห่งความมั่นคงรัฐสภาไทย เนื่องในวันสถาปนารัฐสภา วันที่ 28 มิถุนายน ว่า ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น สภา จะเป็นผู้เลือกโดยยึดดุลยพินิจของส.ส. ที่ผ่านมาเคยมีกรณีประธานสภา ไม่ได้มาจากพรรคอันดับหนึ่ง เพราะเป็นข้อตกลงของพรรคร่วม ที่ผ่านมาพบว่าพรรคที่ได้เสียงใกล้เคียงกัน จะไม่ร่วมเป็นรัฐบาลเพราะจะทะเลาะกันเหมือนปัจจุบัน ใครที่ได้เสียงข้างมากชัดเจน ตกลงได้ว่าได้เป็นนายกฯและประธานสภา

เมื่อถามว่าขณะนี้เสียงของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่ใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดความไม่ชัดเจน นายชวน กล่าวว่า ถือเป็นประสบการณ์ตั้งรัฐบาล ปกติการตกลงร่วมกันจะใช้ตำแหน่งนายกฯ เป็นสำคัญ เพราะจะง่ายต่อการแบ่งปันตำแหน่ง ทั้งนี้ การตั้งรัฐบาลในปัจจุบัน ตนมองว่าง่ายกว่าในอดีต เพราะมีเพียง 8 พรรค ขณะที่มีเพียง 2 พรรคเท่านั้นที่รวมเสียงได้เกินครึ่ง แต่เที่ยวนี้ดูแล้วมีปัญหา เพราะมีประเด็นความต้องการประธานสภา และ ตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเขามีเหตุผลและเป็นปกติที่เป็นไปได้ แต่หากเอาทุกอย่างปัญหาไม่จบ

ต่อข้อถามว่าพรรคก้าวไกล กังวลว่าหากไม่ได้ประธานสภา จะผลักดันกฎหมายของตนเองไม่ได้ นายชวน กล่าวว่า ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะประธานสภา ไม่สามารถทำตามอำเภอใจหรือทำสิ่งที่ขัดกับข้อบังคับการประชุมได้

ส่วนที่ระบุว่าหากไม่ได้ประธานสภา จะไม่ได้ตำแหน่งนายกฯนั้น ก็ไม่จริง เพราะการเลือกนายกฯ ต้องลงมติจากสมาชิก ซึ่งประธานสภา ต้องดำเนินการตามมติของสภา ไม่สามารถเปลี่ยนคนได้ ประธานสภาจะเกี่ยง ถ่วง หรือเสนอชื่อคนอื่นไม่ได้ ดังนั้น หากไม่ได้ตำแหน่งประธานสภา ตำแหน่งนายกฯ จะมีปัญหานั้นไม่เกี่ยวกัน อีกทั้งการผลักดันกฎหมาย ประธานสภาไม่สามารถทำตามอำเภอใจว่าจะเอากฎหมายของใครขึ้นมาพิจารณาก่อนได้ ต้องเป็นไปตามลำดับการเสนอจากสมาชิก หากจะเปลี่ยนวาระต้องขอมติจากที่ประชุม ไม่ใช่อำนาจของประธานสภา

“ฝ่ายที่ตั้งรัฐบาล ไม่ใช่เอาทุกอย่างเป็นของตนเอง ต้องต่อรองกัน เช่นกระทรวง ผมมองว่าหากเขาพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด และเข้าใจภารกิจบทบาทหน้าที่ การแบ่งอำนาจ จะทำให้เกิดความขัดแย้งน้อยลง แต่ที่มีความขัดแย้งมาก เพราะไม่เข้าใจหลายเรื่อง” นายชวน กล่าว

สำหรับปัญหาของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยนั้น ตนมองว่าหากเข้าใจบทบาทสภา จะทำให้มีข้อยุติง่าย แต่หากไม่เข้าใจและมองว่าประธานสภาบันดาลให้ใครเป็นนายกฯ ก็ได้ แบบนี้หารือกันยาก หากไม่แน่ใจว่าการตั้งนายกฯ จะผ่านหรือไม่ หากไม่ผ่าน เขาไม่ได้ทั้งนายกฯ และประธานสภา จนกลายเป็นความวิตก

“ผมมองว่าหาก 2 ฝ่ายหารือกันอย่างใกล้ชิด จะทำให้คุยกันได้ง่าย ดังนั้นปัญหาของประธานสภาฯ ควรยุติด้วยการศึกษา เข้าใจ ในบทบาท อำนาจ หน้าที่ ทุกฝ่ายไม่สามารถเอาอะไรได้ตามมอำเภอใจทุกอย่าง ที่ผ่านมาการตั้งประธานสภา ไม่มีปัญหา แต่สมัยนี้มีปัญหา” นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวถึงสเปกประธานสภาว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร ต้องเตรียมตัว ศึกษากฎเกณฑ์ ข้อบังคับและระเบียบ คนที่ได้เป็นประธานสภา ต้องลาออกจากตำแหน่งในพรรค เพื่อไม่ให้เกี่ยวข้องกับพรรคตัวเอง หากพรรคเลือกคนของตัวเองเข้ามาเพื่อให้เลือกปฏิบัติก็ไม่สามารถทำได้

พรรคที่เลือกตัวแทนเข้ามา ต้องเลือกคนที่เป็นหน้าตาให้พรรค เพราะเลือกคนที่จะมาเป็นหัวหน้าของ 500 คนในสภา ดังนั้น พฤติกรรม นิสัยใจคอ ต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นตัวแทนของฝ่ายนิติบัญญัติ พรรคการเมืองต้องเลือกคนที่เข้ามาเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย รวมถึงต้องคำนึงด้วยว่าจะทำให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นไปในทิศทางบวกหรือลบ

นับถอยหลัง ‘สุชาติ’ คว้าเก้าอี้ประธานสภาฯ ‘ทิม  พิธา’ เต็งหาม ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ

28 มิ.ย. เห็นนสพ.(ไทยโพสต์  รายวัน)พาดหัวตัวเป้ง..”14+1 หักก้าวไกล” พร้อมคำขยายว่า..เพื่อไทย ล็อกเก้าอี้ประธานสภา  ก็ไม่มีอะไรตื่นเต้น..”เล็ก  เลียบด่วน” ไม่ได้โม้...ประเด็นนี้ได้ฟันธงมานานแล้ว  และไม่แต่เก้าอี้ประธานสภาฯเท่านั้น ยังได้ฟันธงว่า..ที่สุดของที่สุด คุณพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์   ก็จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่างหาก..

งานนี้พรรคก้าวไกลก็คงได้ลิ้มรสชีวิตจริงทางการเมืองมากขึ้น...ความฮึกเหิมทางการเมืองที่คิดจะกินรวบประเภท 14+2  คือ  กวาด 14 รัฐมนตรีว่าการ  กับอีกสองเก้าอี้ใหญ่คือ นายกรัฐมนตรีและเก้าอี้ประธานสภาฯ ในขณะที่คะแนนต่างกับเพื่อไทยแค่ 10 เสียงนั้นเป็นเรื่องที่น่าจะอ่านออกมาแต่ต้นว่าพรรคเพื่อไทยไม่น่าจะยอมได้...

ท่าที ท่วงทำนองฮึกเหิมห้าวหาญของพรรค”ด้อมส้ม” ไม่อาจมองเป็นอย่างอื่นได้นอกจากมองว่า..พวกเขาเชื่อมั่นใน 14 ล้านเสียงจนมากเกินไป และเบื้องลึกผู้ทรงอิทธิพลในพรรคหรือโปลิตบูโรพรรคอาจจะกดปุ่มให้เดินเกมได้เสีย   คือถ้าได้ต้องได้ทั้งสองเก้าอี้ใหญ่  ถ้าไม่ได้ก็จะเป็นฝ่ายค้านสร้างความเชื่อมั่นรอส้มทั้งแผ่นดินในการเลือกตั้งครั้งหน้า...

อย่างไรก็ตาม..สงครามยังไม่จบ “เล็ก  เลียบด่วน” ก็ยังไม่อยากนับศพทหาร..ฟังมาว่าวงเจรจาเก้าอี้ประธานสภาวันสองวันนี้ก็ต้องเลื่อนออกไปก่อน    จะเปิดอกคุยกันอีกครั้งในวันที่ 30 มิ.ย.  คุณหมอชลน่าน  ศรีแก้ว  หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าแม้พรรคจะยืนยันในหลักการ 14+1  แต่ยังไม่ใช่มติพรรค...ต่อเมื่อไปคุยกับพรรคก้าวไกลอีกครั้งถ้ายังตกลงกันไม่ได้ก็จะใช้มติพรรคว่าเดินหน้าต่ออย่างไร...

นั่นคือท่าทีเชิงเทคนิคของคุณหมอชลน่าน...

ในส่วนของพรรคก้าวไกลนั้นยังไม่มีอะไรแหลมคมออกมามากไปกว่าตอนทุ่มเศษที่มีการเปิดตัว “หมออ๋อง”  ปดิภัทธ์  สันติภาดา   ส.ส.สมัยที่สองจากพิษณุโลก   ซึ่งหลายคนบอกว่าเขาคือสัตวแพทย์ปากจัด..  เป็นตัวชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ หลังจากพรรคเพื่อไทยเปิดเกมแถลงยืนยันสูตร 14+1 ตอน5โมงเย็น...เรียกว่าสองพรรคเริ่มเปิดฉากออกอาวุธชิงไหวชิงพริบกันแล้ว    ทั้งนี้ในส่วนของพรรคเพื่อไทยนาทีนี้หวยล็อกเก้าอี้ประธานสภาฯยังไม่เปลี่ยนไปจาก “พ่อมดดำ” สุชาติ  ตันเจริญ   ส.ส.9 สมัย  เป็นรัฐมนตรีมา 2 สมัย  รองประธานสภาฯมา 2 สมัย..

ครับ..สุดท้ายถ้าสองพรรคใหญ่เจรจาตำแหน่งประธานสภาฯกันไม่ได้ก็ต้องนำไปสู่การฟรีโหวตโดยที่ประชุมสภา  ซึ่งก็เดาไม่ยากว่าพรรคก้าวไกลจะแพ้หลุดลุ่ย...และหลังจากนั้นก็แทบจะพูดได้ว่าจบเกม..หรือที่คุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธ์  หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยบอกกว่า “จบเห่” นั่นเอง...หรือแม้แต่คุณหมอชลน่านก็ยอมรับว่าถ้าสถานการณ์ลากไปถึงขั้นฟรีโหวตมันจะไม่เป็นผลดีกับการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล  ไม่เป็นผลดีกับฝ่ายประชาธิปไตยด้วยประการทั้งปวง...

สุด..ไม่ว่าจะฟรีโหวตไม่ฟรีโหวตก็ฟันธงว่า เพื่อไทยจะคว้าเก้าอีกประธานสภาฯมาครอง...คำถามใหญ่กว่าที่รอยู่เบื้องหน้ามีอยู่สองประการคือ...หนึ่ง) รัฐบาลใหม่จะยังมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลหรือไม่   สอง)ใครจะเป็นนายกฯ ซึ่งในชั้นนี้เขียนชื่อแปะไว้ข้างฝาเป็นครั้งที่สิบว่า..ถ้าไม่ใช่ชื่อ ป้อม  ประวิตร ก็ จะเป็น  นิด  เศรษฐา  หรืออุ๊งอิ๊ง  แพทองธาร...

ส่วน ทิม  พิธา  นั้น  เป็นเต็งจ๋าเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  -เอวัง

‘อานนท์’ ลั่น!! ถ้า ‘ก้าวไกล’ ถอยเรื่องแก้โครงสร้างการเมือง เลือกตั้งคราวหน้าก็เตรียมตัวสูญพันธุ์เหมือนกับพรรคอื่นๆ

วันที่ (30 มิ.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอานนท์ นำภา นักเคลื่อนไหวการเมือง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า…

“ถ้าก้าวไกลถอยเรื่องการแก้ไขโครงสร้างอำนาจของสถาบันการเมือง ก็ไม่ต่างอะไรกับพรรคการเมืองอื่นๆ เลือกตั้งครั้งหน้าก็เตรียมสูญพันธุ์เช่นกัน

การจะแก้ไขโครงสร้างอำนาจมันก็ต้องทำในสภา ถ้าไม่ได้ตำแหน่งประธานสภา ก็ยากที่จะทำได้ สักพักไปเจอการเตะถ่วงร่างกฎหมาย การเบรคไม่ให้อภิปราย ทุกอย่างก็จบ

ถ้าเพื่อไทยเห็นจุดนี้และอยากร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยก็ควรถอยเรื่องประธานสภา ให้ก้าวไกลเป็นหัวหอกเรื่องนี้ โดยมีเพื่อไทยเป็นกองหนุนและทำงานด้านปากท้องแบบที่เพื่อไทยอ้างว่าถนัดและทำเป็น แบบนี้สังคมจะได้ประโยชน์กว่า

เว้นเสียแต่ว่าเราไม่มีความฝันร่วมกัน สภาพมันจึงเป็นเช่นที่เราเห็นตอนนี้”
 

ศึกชิงตำแหน่งประธานสภาฯ

ศึกชิงตำแหน่งประธานสภาฯ ระหว่างก้าวไกลและเพื่อไทยยังคงลอยเป็นกระแสในโลกโซเชียลอยู่ กองเชียร์ของทั้ง 2 พรรคต่างก็มีเหตุผลมาหนุนให้พรรคในดวงใจได้นั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ 
.
โดยตัวเต็งของเพื่อไทย คือ ‘สุชาติ ตันเจริญ’ อดีตรองประธานสภาฯ คนที่ 1 (ปี 2548 และ 2562) และอดีต ส.ส. 9 สมัย มีประสบการณ์ทางการเมืองมากกว่า 30 ปี 
.
ทางฟากก้าวไกลก็คือ ‘หมออ๋อง’ ปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตสัตวแพทย์ อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ (ก่อนเป็นก้าวไกล) หนึ่งในมืออภิปรายทุจริตกองทัพ ต้นตอกราดยิงโคราช
.
วันนี้ THE STATES TIMES สรุปประวัติคร่าวๆ ของตัวเต็งทั้ง 2 พรรคมาให้แล้ว จะโดดเด่น เหมาะสมกับตำแหน่งแค่ไหน มาดูกัน!!
 

‘พิธา’ จบข่าว.. ‘ป้อม-เศรษฐา-อนุทิน’ ชิงชัย ถอดรหัส ‘พีระพันธุ์’ ทิ้งเก้าอี้ ส.ส. ลุ้นเก้าอี้ใหญ่

ย่างสู่วันแรกของเดือนใหม่..กรกฎาคม เดือนแห่งความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง  เริ่มหลักกิโลเมตรใหม่ทางการเมือง   มีประธานรัฐสภาคนใหม่  นายกรัฐมนตรีคนใหม่...ซึ่งจนถึงวินาทีนี้ยังฟันธงให้ขาดผึงไม่ได้ว่าเป็นใคร...เพียงแต่น่าเชื่อว่า..

ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเป็นประธานรัฐสภา  ตัวเต็งคือ “พ่อมดดำ”สุชาติ  ตันเจริญ จากพรรคเพื่อไทย   “ตัวตึง”คือ ปดิพัทธ์    สันติภาดา  หรือ”หมออ๋อง”จากค่ายก้าวไกล...ซึ่งต้องรอดูคำตอบสุดท้ายจากการเจรจาของสองพรรคใหญ่ในวันพรุ่งนี้มะรืนนี้ว่าจะยอมกัน ณ จุดไหน อย่างไร..

ตำแหน่งประธานสภาฯ จะบอกเล่าเรื่องราวและเรื่องยาวได้ชัดเจนว่า  หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 จะเป็นใคร  แต่ในชั้นนี้ “เล็ก  เลียบด่วน” ฟันธงด้วยการข่าวว่าให้ตัดชื่อ..พิธา   ลิ้มเจริญรัตน์  ออกไปได้เลย  แม้จะถูกเสนอชื่อและอีก7พรรคร่วมชะตากรรมโดยเฉพาะเพื่อไทยจะยืนยันนอนยันเป็นครั้งที่555 แล้วว่าจะหนุนจนสุดตัวสุดทาง...และแม้จะมีกระแสข่าวเล็ดรอดออกมาว่ามีการทุ่มทุนล็อบบี้ส.ว.กันอย่างเอาการเอางานก็ตาม..

ต้องทำความเข้าใจให้ชัดว่า..กรณีการใช้ยุทธปัจจัยจากกลุ่มทุนบางกลุ่มล็อบบี้ส.ว.นั้นเป็นการล็อบบี้ให้กับตัวเต็งนายกฯที่ชื่อ “เศรษฐา” หรือ “อุ๊งอิ๊ง”  เป้าหมายเพื่อสกัดพรรคภูมิใจไทย ซึ่งบัดนี้คนในสภาสูงจำนวนหนึ่งที่ใจแกว่งกะจะหาโบนัสส่งท้ายก่อนสิ้นวาระกลางปีหน้าก็เริ่มเปลี่ยนใจร้องเพลง..ถอยดีกว่า ไม่เอาดีกว่า..กันเป็นแถว..

สรุปรวมความ..เต็งจ๋านายกฯตอนนี้ยังคงเป็น “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ  ที่ลูกน้องดันหลังเต็มแม็กซ์ แต่เสียงสนับสนุนจากส.ว.ยังไม่แน่นหนาเท่าที่คนภายนอกนึกคิด

เต็งสอง  ห้ามมองข้ามก็คือ..เศรษฐา ทวีสิน  จากเพื่อไทย นาทีนี้ภาษากายบ่งบอกชัดเจนว่า..พร้อมมาก..พร้อมที่จะเป็น...ซึ่งโอกาสมีไม่น้อยถ้าเพื่อไทยไม่ผูกขาไว้กับพรรคก้าวไกลแบ่บว่า..ไปไหนไปด้วยกัน..

เต็งสาม   แม้จะชื่อ”หนู” แต่ก็อาจเป็นหนูที่อาจช่วยราชสีห์..เป็นทางเลือกให้กับบ้านเมืองเดินหน้าไปได้..ใช่แล้ว..เขาคืออนุทิน  ชาญวีรกูล   หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย  ที่ “เล็ก   เลียบด่วน” ขอยืนยันว่าคนในสภาสูงเขาอยากโหวตให้มาก...

...ส่งท้าย ด้วยปริศนาการเมือง จากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อย่าว่าแต่คนภายนอกเลยที่ออกอาการงงเต้ก..คนในพรรคเองก็มึนตึ้บไปตามๆกัน  กรณี”บิ๊กตุ๋ย”พีระพันธุ์  สาลีรัฐวิภาค”  หัวหน้าพรรค ไม่ไปรายการตัวเป็นส.ส.ซึ่งเท่ากับสละตำแหน่งส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อันดับ 1 ของพรรคไป..

ดูเฟซบุ๊กพีระพันธุ์ วันที่ 30 มิ.ย.ระบุว่าเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.เคยบอกว่าจะไม่มีวันทิ้ง”ลุงตู่” วันนี้วันที่ 30 มิ.ย.ขอยืนยันอีกครั้งว่าจะทำหน้าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีช่วยลุงตู่จนวินาทีสุดท้าย...ก่อนที่จะตบท้ายว่า  “ในฐานะหัวหน้าพรรคผมไม่ได้หายไปไหน  ผมยังคงทำหน้าที่กองทุนและดูแลการทำงานของพรรค  ของส.ส.และของสมาชิกพรรคให้ดีที่สุดเพื่อประเทศชาติของเราตลอดไป”

สายข่าวของ “เล็ก  เลียบด่วน” แจ้งว่าวันที่ 3 ก.ค.พีระพันธุ์จะไปยืนเข้าเฝ้ารับเสด็จฯร่วมรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภาในฐานะตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี..ในขณะที่มีการคาดหมายกันว่า..อนาคตฉากต่อไปเขาอาจรับบทรัฐมนตรีหรือตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง...ซึ่งเราๆท่านๆยังไม่รู้

แต่”บิ๊กตู่” กับ “บิ๊กตุ๋ย” รู้แล้ว..!!??

นักเขียนดังค่ายพระอาทิตย์ ชวนรู้จักตัวตน ‘ไพศาล พืชมงคล’  ผู้อยู่เบื้องหลังพรรคก้าวไกล ชู ‘ชัยธวัช’ เป็นประธานสภาฯ ดัน ‘พิธา’ เป็นนายกฯ

แน่นอนว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ย่อมจะต้องเป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีจะต้องได้เสียงจากรัฐสภา 376 เสียงขึ้นไป ส่วนใครจะเป็นไม่ใช่ปัญหาที่ผมจะพูดถึงไม่ว่าจะเป็นพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือแพทองธาร ชินวัตร หรือเศรษฐา ทวีสิน หากว่าคนนั้นได้การยอมรับจากเสียงข้างมากของรัฐสภ

ภาพของไพศาลที่เคยแสดงออกมาโดยตลอดนั้นเหมือนจะเป็นคนที่ยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ หากว่าคำพูดและการแสดงออกที่ผ่านมานั้นไม่ใช่น้ำกลิ้งบนในบัว

ไพศาลยังพยายามแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่า มีสายสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ในรัฐบาลจีน แสดงให้เห็นชัดว่าตัวเองยืนอยู่ข้างจีน รัสเซีย อิหร่าน และต่อต้านยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐอเมริกาและต่อต้านรัฐไทยที่จะเอาตัวเองเข้าไปผูกพันกับอเมริกา หากที่เห็นไม่ใช่เป็นการเล่นละครในบทบาทของสายลับสองหน้า นั่นคือไพศาลที่เราเห็นผ่านตัวอักษรและการแสดงความเห็นในวาระต่างๆ

แต่วันนี้การแสดงออกของไพศาลนั้นทำให้เกิดคำถามว่าแท้จริงแล้วไพศาลมีตัวตนที่แท้จริงอย่างไร

เพราะไพศาลแสดงตัวตนชัดเจนว่า สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล มันอาจจะไม่ผิดอะไรที่คนคนหนึ่งจะเลือกจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง หากคนนั้นไม่ใช่ไพศาล

ถ้าไพศาล เป็นไพศาลคนเดียวกับคนที่มีจุดยืนเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ คนที่มีหูตากว้างไกลอย่างไพศาลก็ต้องรู้ว่า พรรคก้าวไกลและแกนนำพรรคทั้งที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังนั้น ล้วนแล้วมีจุดยืนที่ท้าทายต่อการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ และต้องการลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดแจ้ง

นอกจากนั้นนโยบายของพรรคก้าวไกลเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริกา และตั้งเป้าหมายในการเพิ่มทรัพยากรสำหรับการฝึกร่วมคอบร้าโกลด์ที่จัดขึ้นในไทย รวมไปถึงการร่วมมือในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก และพรรคก้าวไกลได้แสดงให้เห็นในหลายบทบาทอย่างชัดแจ้งว่ามีจุดยืนที่ยืนอยู่ข้างสหรัฐอเมริกา ทำไมคนที่เขาตั้งฉายาว่า “กุนซือสมองเพชร” อย่างไพศาลที่สร้างภาพให้คนเชื่อมาตลอดว่าต่อต้านสหรัฐอเมริกาจึงไปยืนอยู่ข้างพรรคก้าวไกลไปได้

ยังไม่ต้องพูดถึงสามจังหวัดใต้และ 4 อำเภอในสงขลาบ้านเกิดของไพศาล ต่อจุดยืนของพรรคก้าวไกล ที่แสดงออกถึงความเข้าอกเข้าใจฝ่ายที่เรียกร้องสันติภาพในรัฐปาตานี และล่าสุดมีคนออกมาเคลื่อนไหวอย่างเหิมเกริมภายหลังชัยชนะของพรรคก้าวไกลเพื่อเป้าหมายไปสู่การทำประชามติแบ่งแยกดินแดน แต่ไพศาลที่มักจะแสดงตนว่ารักชาติบ้านเมืองไม่เคยมีความเห็นต่อเรื่องนี้ออกมาเลย

ที่ไพศาลมีจุดยืนนี้อาจจะอ้างว่า เมื่อประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นอันดับ 1 ก็มีความชอบธรรมที่พรรคก้าวไกลจะเป็นแกนนำรัฐบาล ที่ไพศาลมักจะใช้คำว่าฉันทมติของประชาชนเพื่อออกมาสนับสนุนพรรคก้าวไกลเสมอ

เมื่อเร็วๆ นี้ไพศาล โพสต์เฟซบุ๊กว่า นอนฝันไปหรือไรหนอ เมื่อคืนวันที่ 23 มิถุนายนเวลา 2.00 น. นายพิธาโพสต์ว่า ผมพร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แล้ว!!! ถ้าหากไม่ใช่เป็นเพราะละเมอตื่นขึ้นมาโพสต์ การโพสต์นี้ย่อมมีนัยความหมายแน่นอน!!! นายพิธา คุยอะไรกับใครหนอ และคุยว่าอย่างไร จึงมาโพสต์อย่างนี้!!!

เข้าไปดูเพจพิธาว่าพิธาโพสต์อย่างนั้นจริงไหม ก็ไม่มีหรอก เป็นไพศาลนี่แหละที่สร้างฝันขึ้นมาเอง

เราต้องรู้นะว่า น้องชายของไพศาลคือ พิชัย พืชมงคล นั้นตอนนี้เป็นกุนซืออยู่เบื้องหลังพรรคก้าวไกล ผมถึงบางอ้อว่าที่มาของโพสต์นั้นของไพศาล เพราะไพศาลเพิ่งจะพาชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล คนสงขลาบ้านเดียวกันไปพบกับบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงขอบฟ้าได้ ก็เลยมีความเชื่อว่าตอนนี้สวรรค์เปิดทางให้กับรัฐบาลพิธาแล้ว

“นายพิธาคุยอะไรกับใครหนอ และคุยว่าอย่างไร จึงมาโพสต์อย่างนี้” ถ้อยคำที่ไพศาลโพสต์นั้น เพื่อต้องการบอกนัยว่าคนที่ไพศาลพาชัยธวัชไปพบนั้นสามารถจะแผ้วทางให้พิธาไปสู่เป้าหมายได้

ถ้าเราติดตามการโพสต์ของไพศาลเขามักจะใช้วิธีการดังนี้ คือ โพสต์เรื่องหนึ่งขึ้นมาให้คนอ่านหลงเชื่อ แล้วสื่อมักจะเอาไปเล่นข่าว พอไม่เป็นความจริง ไพศาลก็จะโพสต์ว่าแผนนั้นล้มไปแล้ว คือ เป็นการโพสต์เองปฏิเสธเองแบบนี้หลายครั้ง

ต่อมาไพศาลยังโพสต์เฟซบุ๊กว่า การประชุมเลือกนายกรัฐมนตรีจะมีขึ้นช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 66 เป็นอำนาจของประธานในการกำหนดวิธีการเลือกและ ณ วันนี้แนวทางคือจะเปิดให้เสนอชื่อแคนดิเดตพร้อมกันทีเดียวและกำหนดให้ ส.ส.ลงคะแนนโดยเปิดเผยด้วยวิธีขานชื่อก่อน ครบจำนวนแล้วจึงให้ ส.ว.ลงคะแนนโดยเปิดเผยด้วยวิธีการขานชื่อเช่นเดียวกันใครได้คะแนนเสียง 376 ก็เป็นนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภาก็จะนำความกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในวันนั้น อีก 2 วัน นายกรัฐมนตรีก็จะนำรายชื่อคณะรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง หลังจากนั้นราว 3 วัน คณะรัฐมนตรีก็จะเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ฯ เข้ารับหน้าที่ คอยจับตาดูการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ฯ “รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ในครั้งนี้!!! อาจจะได้เห็นปรากฏการณ์พิเศษที่ประดุจดังแสงอรุณยามฟ้าสาง แห่งการสร้างความสามัคคีในชาติ

ไพศาลต้องการสื่อให้เห็นว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่จะมีคนเสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น จะสำเร็จลงอย่างง่ายดายในการลงมติครั้งแรกเท่านั้น

และไพศาลเพิ่งจะโพสต์เฟซบุ๊กว่า ในช่วงการสมโภชศาลพระหลักเมือง เมื่อ 180 ปีก่อน พระหลักเมืองสงขลาพยากรณ์ว่า ในอนาคต จะมีคนสงขลา 3 คน มีบุญญาธิการมากมีอำนาจมากในบ้านเมือง จะได้ช่วยทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เป็นสุข

คนสงขลาคนที่ 1 คือเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและประธานองคมนตรี คนที่ 2 คือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษ และประธานองคมนตรี

มีคำร่ำลือกันว่า คนสงขลาคนที่ 3 ตามคำพยากรณ์นั้นได้อุบัติแล้ว มีบุญญาธิการมาก จะทำให้มณฑลปักษ์ใต้ทั้งหลาย กลับคืนสู่ความสามัคคีและเป็นสุขอีกครั้งหนึ่ง!!! คนสงขลาและชาวภาคใต้ กำลังรอชมบารมีนั้นให้เป็นมิ่งขวัญแก่ราษฎรสืบไป

ไม่รู้ว่า ไพศาลต้องการบอกว่า คนสงขลาผู้มากบารมีคนที่ 3 คนนั้นคือ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการของพรรคก้าวไกลหรือไม่

ไพศาลนั้นเป็นนักกฎหมายใหญ่และมีสำนักกฎหมายใหญ่หนุนหลัง แต่หลายครั้งความรู้ทางกฎหมายที่แสดงออกมาของไพศาลก็เป็นที่กังขา เช่นบอกว่า การยุบสภาฯ นั้นจะต้องทำเป็นมติคณะรัฐมนตรีเป็นต้น และการใช้กฎหมายแบบตัดตีนให้กับเข้าเกือกหลายครั้ง หรือว่าจริงๆ แล้วอาจไม่ใช่เพราะไพศาลสับสนในข้อกฎหมายหรอก แต่ต้องการใช้ความเป็นผู้รู้ทางกฎหมายของตนเพื่อเป้าหมายที่ซ่อนเร้นของตัวเองนั่นเอง

ย้อนดู พฤติกรรม ว่าที่ประธานสภาฯ ‘หมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ ไม่ผูกเนคไท เข้าสภาฯ อภิปรายเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

‘หมออ๋อง’ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก อดีตนายสัตวแพทย์ ที่พรรคก้าวไกล ส่งชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร สู้กับพรรคเพื่อไทย หากเราลองย้อนดูพฤติกรรมที่ผ่านมาของหมออ๋องแล้ว ก็จะพบว่ามีพฤติกรรมหลายๆอย่างที่ไม่เหมาะสม

หมออ๋องไม่ผูกเนคไท เข้าสภาฯ 
ซึ่งประเด็นนี้ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ก็ได้เคยกล่าวอภิปรายในร่างข้อบังคับฯ ในประเด็นการแต่งกายของส.ส. แล้วว่าเป็นการไม่ให้เกียรติสถานที่ การแต่งกายไม่เรียบร้อยนั้นเป็นการไม่เคารพต่อประธานสภาและเพื่อนสมาชิก

หมออ๋อง ขึ้นอภิปรายเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
โดยเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2563 นายปดิพัทธ์อภิปรายว่า "นี่เป็นคำถามแห่งยุคสมัย ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า จากบทสนทนาที่เราคุยกันในโต๊ะอาหาร วงเหล้า หรือในกลุ่มเพื่อนสนิท ตอนนี้กลับมาเป็นประเด็นทางสาธารณะ มันหมายความว่านี่คือคำถามแห่งยุคสมัย แทนที่ผู้ใหญ่จะใช้วิธีปิดปากปิดตา ปิดหู ทำไมเราไม่ทำหน้าที่ในการตอบ ในการถามกลับ” 

ในปี 2565 นายปดิพัทธ์ ยังได้เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบของมาตรา 112 ที่มีต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน ในช่วงที่นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวังไม่ได้รับการประกันตัวจากการถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ระหว่างเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565

นายปดิพัทธ์ เคยกล่าวถึงบทบาทของอนุ กมธ. ชุดนี้ว่า ต้องการสร้างกระบวนการที่สามารถให้มีบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและหาทางออกร่วมกันได้ โดยได้มีการเรียกให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดี ม.112

ซึ่งในขณะนี้ทางพรรคเพื่อไทยก็ได้เตรียมจะส่งนายสุชาติ ตันเจริญ หรือพ่อมดดำ ส.ส.ฉะเชิงเทรา หลายสมัย ผู้มากประสบการณ์ ในการเดินเข้าสภาฯสมัยที่แล้ว ก็ยังได้ทำหน้าที่เป็นรองประธานสภาฯ ซึ่งก็ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม

ถ้าเปรียบเชิงมวยกันแล้วก็ดูเหมือนว่า พ่อมดดำ นั้นจะได้เปรียบหมออ๋องอยู่ไม่น้อย เพราะมีเสียงสนับสนุนทั้งจากทางพรรคเพื่อไทยเอง และจากทางพรรคการเมืองอื่น

จากกำหนดการไทม์ไลน์ก็คงจะได้เปิดสภาฯกันเร็วๆนี้ ถึงตอนนั้นก็ไปลุ้นกันว่าหมออ๋อง จะได้นั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ หรือว่าจะได้กินแห้ว

‘ก้าวไกล’ ยืนยันเจตนารมณ์!! ไม่ลดเพดานแก้ ม.112 เชื่อ ส.ว.หนุน ‘พิธา’ นั่งนายกฯ ให้โอกาสประเทศเดินหน้า

‘ชัยธวัช’ ชี้แค่ ส.ว.บางราย ไม่เอา ‘พิธา’ ลั่นสิ่งที่เป็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เห็น มองบวก ‘สภาสูง’ ส่วนใหญ่ให้โอกาสเดินหน้าประเทศ เมินลดเพดานแก้ 112 ไม่ห้ามม็อบเคลื่อนไหว

(7 ก.ค. 66) ที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กรณีเสียงของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เริ่มชัดเจนไม่สนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะเงื่อนไขการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า ยังเป็นแค่ความเห็นของ ส.ว.เพียงบางราย ส.ว.ส่วนใหญ่ยังไม่ได้แสดงออกอะไร คิดว่าจะแสดงออกทีเดียวในวันโหวตนายกฯ 13 ก.ค.นี้ ดังนั้น อย่าเพิ่งประเมินสถานการณ์จากที่เห็น สิ่งที่เป็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เห็นก็ได้ ยังมั่นใจว่าจะผ่านไปได้ด้วยดี และมั่นใจในวิจารณญาณของ ส.ว.ว่าอยากจะเห็นประเทศชาติเดินหน้าอย่างไร การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ประชาชนได้แสดงออกต้องการคืนความเป็นปกติของระบอบประชาธิปไตยไทย ยังเชื่อมั่นใน ส.ว.จำนวนมากว่าจะให้โอกาสนี้กับประเทศไทย

เมื่อถามว่า แสดงว่าอีก 60 กว่าเสียง ที่เหลือจะมาจาก ส.ว. ทั้งหมด หรือจะมีการเจรจากับฝ่าย ส.ส. ด้วย นายชัยธวัช กล่าวว่า ทาง ส.ส. โดยเฉพาะพรรคที่เราไม่ได้ชวนมาร่วมรัฐบาลก็คงเป็นสิทธิของแต่ละคน แต่เชื่อว่าจะมี ส.ส.หลาย ๆ คน ใช้จุดยืนตัวเอง หรือใช้สถานะความเป็น ส.ส. ปกป้องรักษาระบบไว้ให้ได้ในสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ ส่วนจะมีการเจรจาถอยบางเรื่องเพื่อให้ ส.ว. เห็นใจมาสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ นั้น คงเป็นการเน้นพูดคุยทำความเข้าใจมากกว่า ส.ว.ส่วนใหญ่อาจรับรู้ข้อมูลจากสื่อมวลชนซึ่งบางครั้งอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะไม่ลดเพดานมาตรา 112 ตามที่ ส.ว.ให้คำแนะนำมาหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าลดเพดานหมายถึงอะไร ที่ผ่านมาเราพยายามอธิบายว่าเจตนารมณ์ของเราเป็นอย่างไร เรามองเห็นปัญหาอย่างไร เราคิดว่าแนวทางแบบนี้ดีต่อระบอบประชาธิปไตย และสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่า

เมื่อถามย้ำว่า ยังยืนยันที่จะแก้ไขมาตรา 112 แม้จะมีคำทักท้วงจาก ส.ว.เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ยังมั่นใจว่าถ้าได้อธิบายเหตุผล จะมีความเข้าใจมากขึ้น เราต้องอธิบายเหตุผลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในเวลาที่เหลือ เวทีสำหรับสื่อมวลชนในสัปดาห์หน้าจะมีความสำคัญกับประชาชน และสังคมในการสะท้อนไปยัง ส.ว. ซึ่งในวันนี้จะมีการหารือกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฏร เกี่ยวกับกระบวนการแสดงวิสัยทัศน์ของแคนดิเดตนายกฯ ที่ถูกเสนอก่อนโหวต จะมีเวลาแสดงวิสัยทัศน์อย่างไร เป็นไปได้หรือไม่นอกจากการแสดงวิสัยทัศน์แล้ว จะมีการเปิดให้ ส.ส.-ส.ว.อภิปรายซักถามแคนดิเดตนายกฯ ที่ถูกเสนอชื่ออย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนที่สุดก่อนลงมติ แต่คงรอต้องหารือกับประธานสภาฯ ก่อนว่าจะได้ข้อสรุปอย่างไร

ส่วนที่มีการวิเคราะห์กันว่าถ้าฟังจากเสียง ส.ว.การโหวตเลือกนายพิธาครั้งแรกอาจจะไม่ผ่านนั้น นายชัยธวัช กล่าวย้ำว่า อย่างที่บอกไป สิ่งที่เป็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เห็น ยืนยันว่าหากโหวตนายพิธาไม่ผ่านในวันที่ 13 ก.ค. จะเสนอชื่อนายพิธาเพื่อโหวตอีกในวันที่ 19 ก.ค. แน่นอน แต่ยังเชื่อว่าจะโหวตจบในครั้งเดียว และไม่กังวลหากมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ มาแข่ง เพราะเป็นปกติในระบบรัฐสภา ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เชื่อว่า ส.ว.จะไม่สนับสนุนการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ส่วนจะต้องโหวตกี่ครั้งนั้น อย่าเพิ่งไปสรุปเป็นตัวเลข ต้องดูสถานการณ์ที่เป็นจริง และอย่าเพิ่งตัดว่าจะต้องโหวตจบในครั้งเดียวออกไป

“ยังบอกไม่ได้ว่าจะมีเสียง ส.ว.สนับสนุนเท่าไร ส.ว.ส่วนใหญ่จะไม่ได้ออกมาบอกว่าคิดเห็นอย่างไรกันแน่ มีเพียง ส.ว.เพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ออกมาให้ความเห็น ผมยังเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ยังเงียบอยู่จะเป็นสิ่งที่เปิดโอกาสให้ประเทศได้คืนความเป็นประชาธิปไตยให้ระบบการเมืองไทย และเดินหน้าไปตามกระบวนการ” นายชัยธวัช ระบุ

เมื่อถามว่าเสียงที่เงียบอย่าง ส.ว.สายทหาร ที่มีแนวโน้มแน่นอนว่าจะไม่สนับสนุนนายพิธา นายชัยธวัช กล่าวว่า อย่าเพิ่งดูถูกอาชีพทหาร ตนคิดว่าทหารจำนวนมาก มีความหวังดีกับประเทศชาติ ซึ่งก็ได้มีโอกาสพูดคุยทำความเข้าใจกับ ส.ว.สายทหาร เราทำทุกวันทั้ง ส.ว.สายทหาร ตำรวจ พลเรือน ข้าราชการ ทำเต็มที่ที่สุดจนถึงวันสุดท้าย เชื่อว่ามีสิทธิ์ที่จะได้เห็นแสงสว่าง ชีวิตต้องมีความหวัง

ส่วนกังวลหรือไม่ หากมีการเสนอแคนดิเดตนายกฯ จากฝ่ายประชาธิปไตย อย่างพรรคเพื่อไทยขึ้นมาแข่งนั้น นายชัยธวัช กล่าวว่า ขณะนี้มีแคนดิเดตนายกฯ เพียงคนเดียว อย่าเพิ่งพูดไปขนาดนั้น

เมื่อถามถึงกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลเตรียมออกมาเคลื่อนไหว จะมีการส่งสัญญาณใดหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า อย่าเพิ่งบอกว่ามาสนับสนุนพรรคก้าวไกล ตนก็เห็นว่าทางกลุ่มผู้ชุมนุมเปิดให้มีการโหวตแสดงเจตจำนงของประชาชนที่ลงคะแนนเสียงว่าให้เคารพผลการเลือกตั้งเป็นสำคัญ ประเด็นคือต้องการให้ทุกฝ่ายปกป้องระบบ ไม่ใช่ตัวบุคคลหรือพรรคการเมืองใด ส่วนจะแสดงออกอย่างไร ตนไม่ทราบ หวังว่าจะแสดงออกอย่างสงบไม่ว่าจะฝ่ายไหน เพราะเราไม่ต้องการเห็นความรุนแรง ทางประธานสภาฯ ก็ได้กำชับเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย

“แน่นอนว่าหากกระบวนการเลือกนายกฯ ล่าช้า การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำปีในช่วงเดือน ต.ค. การพิจารณางบประมาณประจำปี และนโยบายเร่งด่วนต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ การลงทุนจะชะลอ และเกิดผลกระทบไปหมด ดังนั้นจบเร็วมากเท่าไหร่ยิ่งดี และจบแบบเคารพผลการเลือกตั้งเร็วที่สุด ให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพ” นายชัยธวัช ระบุ

เลขาธิการพรรคก้าวไกล ยังกล่าวถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา ร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบจริยธรรม น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ในสภาฯหรือไม่ว่า ตนอยู่ในแถวเดียวกับ น.ส.ศิริกัญญา ซึ่ง น.ส.ศิริกัญญาก็ปฏิญาณตนตามปกติ เพียงแต่อาจจะหันมาบ้าง เข้าใจว่า น.ส.ศิริกัญญาคิดว่าสมาชิกทุกคนจะพูดตามประธานทีละประโยค แต่พอพูดชื่อตัวเองแล้วก็พูดยาวไปเลย โดยไม่ได้รอประธาน จึงคิดว่าทำไมไม่รอ ซึ่งเรื่องนี้ไม่น่าเป็นสาระสำคัญอะไร และไม่เป็นประเด็นทางข้อกฎหมาย จริงๆ การปฏิญาณตนของนายกฯ ที่ไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญสำคัญกว่า อย่างที่เกิดขึ้นในปี 2562 เรื่องใหญ่กว่า ไม่ทราบว่านักร้องหายไปไหน และเรื่องนี้คงไม่ถูกนำไปเป็นไปเด็นเชื่อมโยงเรื่องสถาบันฯ ให้กระทบกับการโหวตนายพิธาเป็นนายกฯ เพราะไม่เกี่ยวกัน เป็นการปฏิญาณตนของ ส.ส.ต่อสภาฯ

เมื่อถามว่า หากพรรคก้าวไกลยอมถอยเรื่องการแก้ไขมาตรา112 ส.ว.น่าจะมีข้ออ้างอื่นที่จะไม่สนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า แน่นอน คนไม่เลือกก็ไม่เลือกอยู่แล้ว ถามย้ำว่า ส.ว.มีธงในการโหวตอยู่แล้วใช่หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า มี ส.ว.บางคนเท่านั้นที่มีธงอยู่แล้ว

‘เพื่อไทย’ ผวาชื่อ ‘บิ๊กป้อม’ โผล่ชิงนายกฯ ยัน!! ขอดัน ‘พิธา’ เป็นนายกฯ สุดลิ่ม

ดันสุดลิ่ม!! ‘ชลน่าน’ ยันเพื่อไทย ดัน ‘พิธา’ เป็นนายกฯสุดความสามารถ แจงยังไม่คิดเสนอชื่ออื่นแข่ง ย้ำไม่มีนิยามของคำว่าหนุนถึงที่สุด ชี้ ‘ปิยบุตร’ เป็นผู้นำจิตวิญญาณ ขึ้นกับก้าวไกลจะเป็นฝ่ายค้านตามสั่งหรือไม่ แอบห่วงชื่อ ‘บิ๊กป้อม’ ชิงนายกฯแพ็กกันแน่นได้เสียงเกิน 375

(14 ก.ค. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.ชลน่าน ส.ส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีกระแสข่าวการเสนอชื่อนายกฯ รอบสอง จะมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แข่งว่า ถ้ามีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง สิ่งที่เรามีข้อห่วงใย คาดการณ์ว่าเสียงโหวตที่จะโหวตให้คู่แข่งเรา อาจจะเกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นมาทันที จาก 188 เสียงถ้าเขาแพ็กกันแน่น บวกกับเสียง ส.ว. มีโอกาสที่เสียงจะเกิน 375 เสียงได้

เมื่อถามว่าพรรคพท.จะเสนอนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ต่อหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยังเคารพสิทธิของพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคอันดับหนึ่ง และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ ส่วนจะดันหรือไม่นั้นขึ้นกับพรรคก้าวไกล ที่จะเป็นผู้เสนอในระหว่างวงพูดคุยระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย รวมทั้งวงของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล

เมื่อถามว่าดูแล้วเสียง ส.ว.น่าจะโหวตให้ยาก นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “ไม่มีอะไรง่ายหรอก โดยเฉพาะการเมืองที่ไม่ปกติแบบนี้ มันคงเป็นประเด็นที่ 8 พรรคร่วมต้องมาคุยกัน ว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร รู้อยู่แล้วว่าถ้าโหวตเลือกนายกฯ อีกครั้งในวันที่ 19 ก.ค. โดยที่เราไม่มีหลักหรือความมั่นใจ แล้วมีคนแข่งแล้วเรามีโอกาสแพ้ ก็ต้องมาปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไร”

เมื่อถามว่าในการพูดคุยกับพรรคก้าวไกลจะมีโอกาสเปลี่ยนแคนดิเดตนายกฯ ในการโหวตครั้งที่ 2 หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า อยู่ที่ข้อเสนอของการพูดคุย

เมื่อถามอีกว่าถ้าพรรคก้าวไกลยังเสนอชื่อนายพิธา พรรคเพื่อไทยจะแสดงท่าทีอย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “ก็เป็นสิทธิของพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคอันดับ 1 และเป็นพรรคแกนนำ พท.ลงเอ็มโอยูชัดเจนว่าจะสนับสนุนจนสุดความสามารถ ยืนยันอยู่แล้วครับ”

เมื่อถามว่าถึงเวลาสำหรับพรรคอันดับสองแล้วหรือยัง เพราะพรรคอันดับหนึ่งดูจะไม่ได้เสียงสนับสนุน นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตนเชื่อว่า 8 พรรคร่วมจะคำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ถ้าการโหวตนายกฯ ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ไม่ใช่ชื่อนายพิธาเป็นชื่ออื่นที่ไม่ได้อยู่ใน 8 พรรคร่วม ความคาดหวังของพี่น้องประชาชนจะถูกทำลายทันที

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าในการโหวตนายกฯ ครั้งที่ 2 ทางพรรคร่วมจะเสนอชื่ออื่น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่มีคำว่าอาจจะ อยู่ที่การพูดคุย เมื่อถามต่อว่าหากสองพรรคพูดคุยจบแล้ว จะเป็นที่แน่ชัดหรือไม่ว่า 8 พรรคร่วมจะเสนอชื่อใครชิงตำแหน่งนายกฯ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องรอสรุปก่อน ถ้าเราไม่ชัดเจน วันที่ 19 ก.ค.ก็มีเจตนาชัดแล้วว่าอีกฝ่ายจะเสนอชื่อแข่ง ก็จะเป็นกับดักให้เรายอมรับกับความพ่ายแพ้ เหมือนเราเอาความหวังประชาชน 25 ล้านเสียงไปทลายตรงนั้น เชื่อว่าประชาชนรับไม่ได้

เมื่อถามว่าฉันทามติของประชาชนต้องการให้ 8 พรรคร่วมเป็นรัฐบาลหรือให้นายพิธาเป็นนายกฯ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นายพิธาเป็นหัวหน้าพรรคอันดับหนึ่ง เป็นผู้รวบรวมเสียงได้ 312 เสียง ในเชิงสัญลักษณ์ก็เหมือนประชาชนสนับสนุนเขา เมื่อทุกฝ่ายรวมกันก็เหมือนเป็นการสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ

เมื่อถามว่าคำว่าจะสนับสนุนจนถึงที่สุด นิยามของคำว่าที่สุดคืออะไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า คำว่าที่สุดไม่มีนิยาม มันขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ ความเป็นเหตุเป็นผล ความเสียหาย และโอกาสของประเทศชาติบ้านเมือง รวมๆ กันทั้งหมดนั่นแหละ ถ้าเราทำถึงที่สุดแล้วพรรคก้าวไกลพึงพอใจ เห็นชอบภาพรวมแล้วไม่ส่งผลกระทบ ถึงจะเป็นนิยามของคำว่าถึงที่สุด

เมื่อถามย้ำว่าจะให้โอกาสนายพิธาเป็นครั้งที่ 2 หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุย พรรค พท.ก็ยังหนุนนายพิธา เมื่อมีการพูดคุยก็จะเป็นไปตามข้อสรุปร่วมกัน

เมื่อถามถึงท่าทีของพรรค พท.กรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาฯ คณะก้าวหน้าโพสต์เฟซบุ๊กเสนอแก้มาตรา 272 รวมทั้งให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “ก็เป็นความเห็นของผู้นำทางจิตวิญญาณของทางก้าวไกลส่วนจะปฏิบัติหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่เราไม่มีข้อผูกมัดอะไรในการที่จะเป็นฝ่ายค้านหรือไม่เป็นฝ่ายค้าน เพราะประชาชนเสียงข้างมากเลือกให้มาเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้เลือกเราให้มาเป็นฝ่ายค้าน

เมื่อถามอีกว่านายปิยบุตรระบุอีกว่า ต้องยอมไปเป็นแกะดำ เพื่อให้อีก 4 ปีข้างหน้าจะได้คะแนนเสียงมากกว่านี้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ก็แล้วแต่ความเห็น ไม่ขอวิจารณ์

เมื่อถามถึงกรณีที่ ส.ว.ระบุว่า ถ้ามีพรรคก้าวไกลอยู่ร่วมรัฐบาล ส.ว.จะก็ไม่สนับสนุน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นเพียงความเห็นของ ส.ว.บางคน

เมื่อถามต่อว่าข้อเสนอแก้มาตรา 272 ของพรรคก้าวไกลจะยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับ ส.ว.หรือไม่นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องไปถาม ส.ว.ว่าพอใจหรือไม่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top