Thursday, 22 May 2025
พรรคก้าวไกล

ประชาชนต้องปรับตัว ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยน คนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า ต้องอยู่กันต่อไป ชาติสำคัญที่สุด

ผู้ใช้ facebook ที่ชื่อว่า Napha Wong ได้โพสต์คลิปชายหนุ่มพูดถึงพรรคส้ม โดยมีใจความว่า

มันเป็นไปตามที่คิดและอยากให้เป็นกับการเลือกตั้งที่พรรคส้มได้ชัยชนะ แต่กลับไม่รู้สึกยินดีที่ไทยนั้นถูกครอบงำโดยชาติตะวันตก และความทันสมัย เห็นดีเห็นงานกับระบอบทุนนิยม มีงาน มีบ้าน มีรถ 

ซีเกมส์ที่ผ่านมาเราเป็นประเทศที่ทุกคนอิจฉา อยากจะเป็นอย่างเรามาก แต่ไม่สามารถเป็นอย่างเราได้เพราะ เราเป็นประเทศที่มีเอกราช และมีคนเก่ง แต่สิ่งเหล่านี้ เราจะสูญเสียไปในทันที ที่เราตกเป็นเมืองขึ้นทางความคิดของทางชาติตะวันตก 

หากเราตกเป็นทาสเขาเมื่อไหร่ เราจะไม่สามารถกำหนดอะไรได้เองเลย ก็หวังว่าสิ่งที่กังวลจะไม่เป็นจริง 

กรณ์ โพสต์ยาว เรื่องจริงหลังเลือกตั้ง ไม่เคยขอร่วมรัฐบาล และไม่เคยคิดแตะ ม.112

หลังจากพรรคก้าวไกลออกแถลงไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคชาติพัฒนากล้า เนื่องจากมีกระแสกดดันโลกออนไลน์ติดแฮชแท็ก #มีกรณ์ไม่มีกู ไม่พอใจที่ดึงพรรคชาติพัฒนากล้า ที่มีนายกรณ์ จาติกวณิช ครั้งหนึ่งเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. มาร่วมตั้งรัฐบาลด้วย ทำให้ขัดกับหลักของก้าวไกลที่มีจุดยืน "มีเราไม่มีลุง"


ล่าสุด วันที่ 20 พ.ค.2566 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า โพสต์ชี้แจงประเด็นร้อนทางการเมือง ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า นี่คือ "เรื่องจริง" ที่เกิดขึ้น หลังการเลือกตั้ง ผมมาอยู่กับลูกที่ออสเตรเลีย จนเมื่อวานบ่ายคุณสุวัจน์โทรแจ้งว่า ก้าวไกล ชวนเข้าร่วมรัฐบาล
คุณสุวัจน์กับผมสรุปกันว่าจะคุยกันวันจันทร์ในที่ประชุมกก.บห. เพราะมีประเด็นสำคัญสำหรับเราคือ นโยบายสู้ทุนผูกขาดพลังงาน และจุดยืนไม่แก้ ม.112

โดยผมไม่เคยติดต่อร่วมรัฐบาลกับใครเลย เพราะเรามีเพียง 2 เสียง และไม่ได้แม้แต่คิดจะมีเงื่อนไขต่อรองอะไรมีสื่อโทรมาหาผมที่เมลเบิร์นว่า เราเข้าร่วมรัฐบาลแล้วเหรอ ผมก็ตอบไปว่าเรายัง ต้องคุยเรื่องนี้กันในวันจันทร์ (สื่อลงว่าผม ‘กั๊ก’)

ผมยืนยันเหมือนเดิมว่า พรรคที่รวมเสียงข้างมากได้ ถึงจะมีความชอบธรรมในการตั้งรัฐบาล นี่คือหลักประชาธิปไตยที่เป็นจุดยืนของผม ชาติพัฒนากล้า พร้อมทำงานกับทุกพรรค แต่เราไม่แตะ 112 และเราต้องการเน้นแก้ปัญหาราคาพลังงาน

ผมโดนด่าฟรีจากทั้งขวาและซ้าย ผมรับได้ทุกข้อกล่าวหา ทุกคำหยาบ ทุกข้อมูลเท็จ แต่ที่ผมเสียใจคือผลกระทบที่มีต่อครอบครัวและคนที่ผมรักการเมืองที่ผมสร้าง ผมไม่ได้สร้างบนความเกลียด ความกลัว แต่ผมทำบนความเชื่อ เชื่อที่อยากเห็นความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย

ควันหลงเลือกตั้ง ประวัติศาสตร์ การเมืองไทย  บัตรโหล – แบ่งเขต - นอกราชฯ กับ ปรากฎการณ์ที่สุ่มเสี่ยง

ปรากฏการณ์ "ก้าวไกล" ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย เขี่ยบ้านใหญ่หลายพื้นที่สอบตก และหลายจังหวัดกวาด ส.ส.ครบทุกเขต  นำมาสู่การเดินหน้าฟอร์มรัฐบาล รวมให้ได้ 376 เสียงให้เพียงพอต่อการโหวตเลือกนายกฯ  แต่ขณะเดียวกันก็ยังต้องลุ้น กกต. ส่วนกลางเคลียร์ประเด็นข้อร้องเรียนต่างๆ และรับรองผลคะแนนเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ให้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลา 60 วัน 

แต่หากมองอีกด้าน ในข่วงก่อนเลือกตั้ง กกต. ในฐานะผู้กำกับดูแลการเลือกตั้ง ก็ถูก "ตั้งคำถามดังๆ" ในหลายประเด็น ที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อความผิดพลาด และทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดความอลวน  อย่างไรบ้าง มาดูกัน 

1 "แบ่งเขตเลือกตั้ง"
สำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.ใช้หลักการ “จัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน” โดยแต่ละเขตจะมีจำนวนประชากรมากหรือน้อยจากค่าเฉลี่ยไม่เกิน 10 %  มาใช้คำนวณหา ส.ส. 1 คนต่อจำนวนราษฎร  วิธีการ คือ นำจำนวนประชากรไทยทั้งหมดตามหลักฐานทะเบียนราษฎร ซึ่งมีทั้งหมด 66,090,475 คน มาหารด้วย 400 เขต จะได้สัดส่วน ส.ส. 1 คน ต่อจำนวนราษฎร 162,766 คน เป็นค่าเฉลี่ย  เสร็จสรรพเรียบร้อย ก่อนนำไปแบ่งเป็นเขตเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด ทำให้เขตเลือกตั้งหนนี้ ถูกแบ่งพื้นที่ต่างไปจากพื้นที่เลือกตั้งเดิม บางจังหวัดมี ส.ส. เพิ่มขึ้น และบางจังหวัดมี ส.ส.ลดลง 

แต่ต่อมา ก็มีนักวิชาการออกมาตั้งข้อสังเกตว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งโดยคิดค่าเฉลี่ยจำนวนประชากรของ กกต. นั้น มีการนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมานับรวมด้วย จะทำให้การแบ่งเขตเกิดความผิดพลาดหรือไม่

ขณะเดียวกัน มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 4 คนยื่นฟ้อง กกต. ว่าแบ่งเขตเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายใน 3 จังหวัด รวม 4 คดี ประกอบด้วย กทม. 1 คดี , สุโขทัย 2 คดี และสกลนครอีก 1 คดี  และขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนประกาศของ กกต.

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า หนึ่งในผู้ยื่นฟ้อง กกต. มองว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งต้องยึดเขตเลือกตั้งเก่าและเขตปกครอง เพราะกฎหมายกำหนดให้ "รวมอำเภอ" ต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่ติดต่อใกล้ชิดกัน ความสะดวกในการเดินทางระหว่างกัน แต่ กกต. กลับนำแขวงมายำรวมกัน แล้วกำหนดให้เป็นเขตเลือกตั้ง ทำให้มี 13 จาก 33 เขตเลือกตั้งของ กทม. ที่มีแต่แขวงล้วน ไม่มีเขตหลัก และยังสร้างความสับสนให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมถึงส่งผลกระทบต่อนักการเมืองเดิมที่ลงพื้นที่มานาน ไม่ผูกพันกับพื้นที่เขตเลือกตั้งใหม่

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดข้อถกเถียงยุติลงเมื่อ 7 เม.ย. หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าประกาศ กกต. ชอบด้วยกฎหมายและไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

2 บัตรโหล ทั้งประเทศ เลือก ส.ส.เขต มีแต่เลข ไม่มีชื่อ ไม่มีพรรค 
สร้างความสับสนไม่น้อย เมื่อการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเดียวกัน แต่ต่างเขต หมายเลขไม่เหมือนกัน และหมายเลข ผู้สมัคร ส.ส.เขต ก็ไม่ตรงกับหมายเลขพรรค ในระบบปาร์ตี้ลิสต์  เพราะขึ้นอยู่กับผลการจับสลากหมายเลขในวันสมัครรับเลือกตั้ง

สำหรับบัตรเลือกตั้ง "พรรคที่ชอบ"  แม้จำหมายเลขไม่ได้ แต่ก็ยังมีโลโก้พรรคให้เห็น ต่างจากบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต ที่มีเพียงหมายเลข ไม่มีชื่อผู้สมัคร รวมถึงโลโก้และชื่อพรรค หรือที่เรียกว่า “บัตรโหล” 

ซึ่งทางเลขาฯ กกต. ยืนยันว่าเป็นรูปแบบบัตรมาตรฐานที่ใช้จัดการเลือกตั้งในไทยทุกครั้งที่ผ่านมา ยกเว้นในปี 2562 ที่ใช้บัตรเลือกตั้งแบบเฉพาะเพราะเลือกจบในใบเดียว  และการนำบัตรโหลมาใช้เลือก ส.ส.เขต จะช่วยประหยัดงบประมาณ และ ป้องกันบัตรเสียจากความสับสน กับบัตรเลือกตั้งบัญชีรายชื่อ ที่มีหมายเลข โลโก้ และชื่อพรรคอยู่บนบัตร  ตรงกันข้ามกับความเห็นของหลายพรรคการเมือง ที่วิจารณ์ว่า การใช้บัตรโหลเป็นการผลักภาระให้ผู้ใช้สิทธิ และสับสน เพราะต้องจำทั้ง “เบอร์คน” และ “เบอร์พรรค”

3 "เลือกตั้งล่วงหน้า  นอกราชอาณาจักร" ใส่ชื่อพรรคผิด-หาย ทำผู้มีสิทธิเลือกตั้งในต่างแดนสับสน
นอกจากเรื่องวุ่น ๆ ในการจัดการเลือกตั้งภายในประเทศแล้ว ยังมีความผิดพลาด บกพร่องเกี่ยวกับเอกสารแนะนำผู้สมัครที่แจ้งต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในหลายกรณี จากหลายประเทศ ซึ่งอาจทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสับสน เข้าใจผิด และลงคะแนนผิด เช่น 

ภาพผู้สมัคร ส.ส.เขตอยู่สลับพรรคกัน มีการพิมพ์ชื่อพรรคต้นสังกัดของผู้สมัครผิด 

ชื่อพรรคต้นสังกัดของผู้สมัคร ซึ่งมีภาพ หมายเลข และชื่ออยู่ด้านบน แต่ชื่อพรรคดันถูกจัดหน้ามาไว้เหนือภาพผู้สมัคร ส.ส. ที่อยู่ด้านล่าง

รายชื่อผู้สมัคร ส.ส.เขต ไม่มีชื่อพรรคต้นสังกัดในช่องเดียวกับผู้สมัคร เนื่องจากชื่อพรรคถูกจัดหน้าแล้วดันไปไว้ในเอกสารหน้าถัดไป โดยไปปรากฏเหนือภาพผู้สมัครอื่น

ความสับสนทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับเอกสาร ทางสถานทูตหลายแห่งที่เกิดปัญหาที่ปลายทางนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากเป็นเทมเพลตสำเร็จรูปจาก กกต. 

4 กกต. ไม่มีเอกสารประกาศ 400 เขตเลือกตั้ง เป็นทางการ
ช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนการเลือกตั้ง 2 วัน  "ยิ่งชีพ อัชฌานนท์" ผู้จัดการไอลอว์ ที่ออกมารณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการติดตามและตรวจสอบการนับคะแนนเลือกตั้งให้โปร่งใส โดยออกมาเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์กันเลือกตั้งและนับคะแนนตามเขตเลือกตั้งทั้ง 400 เขตทั่วประเทศ   ได้เปิดเผยถึง หนึ่งในอุปสรรคของการทำงานของภาคประชาชน  คือไม่มีเอกสารระบุรายละเอียดของการแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 400 เขต

ซึ่งก่อนหน้านั้น ตน และทีมงานได้พยายามยื่นเรื่องขอเอกสารจาก กกต. เพื่อนำมาจัดสรรอาสาสมัครลงทำงานในพื้นที่เขตเลือกตั้ง หลายครั้ง แต่ได้รับคำตอบว่าไม่มีเอกสารเป็นทางการให้ ทำให้ภาคประชาชนทำงานได้ไม่คล่องตัว และอาจเข้าไปสังเกตการณ์พื้นที่เลือกตั้งอย่างไม่ทั่วถึง เนื่องจากไม่มีข้อมูลของเขตเลือกตั้งที่แม่นยำและครบทุกเขต เรื่องนี้อาจดูไม่เป็นปัญหาใหญ่แต่ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ กกต. ทำให้ครบ จบ สมบูรณ์กว่านี้ได้ 

การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 นอกจากจะถูกบันทึกว่าเป็นการเลือกตั้งที่เกิดปรากฏการณ์ความพลิกผันเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากกระแสพรรคก้าวไกลแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ก็นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งครั้งที่เกิดความอลวน และมีความความสุ่มเสี่ยงต่อการผิดพลาดบกพร่องมากที่สุดครั้งหนึ่งด้วยเช่นกัน

‘พิธา ฟีเวอร์’ ทำเมืองชล แทบแตก ตระเวนขอบคุณ ลั่น ขอขอบคุณความไว้วางใจที่มอบให้ ไม่มีสูญเปล่า

21 พ.ค. 2566 –   เมื่อเวลา 14.00 น.ที่บริเวณหน้าตลาดหนองก้างปลา ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล  พร้อมด้วยนายสหัสวัต คุ้มคง ว่าที่ ส.ส.เขต 7 ชลบุรี และว่าที่ ส.ส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล ทุกเขต  ได้ขึ้นรถแห่ปราศัยขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกพรรคก้าวไกล ในพื้นที่ตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี   โดยมีนักเรียน ประชาชน กลุ่มพนักงานโรงงาน และแฟนคลับมารอให้กำลังใจ ส่งเสียงเชียร์ตลอดเส้นทาง

สำหรับขบวนแห่ จะเริ่มจาก ตลาดสดหนองก้างปลาไปยังเส้นทางต่างๆในพื้นที่ตำบลลบ่อวิน  โดยนายพิธา แนะนำตัวว่าเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ขอบคุณทุกคะแนนเสียงจากประชาชนที่ให้ความไว้วางใจ ซึ่งจะไม่สูญเปล่าแน่นอน จะไม่หยุดทำงานและตั้งใจเต็มที่ เข้าไปในสภาฯ จะไม่ทำให้พี่น้องประชาชนผิดหวัง รวมถึงมาสร้างขวัญกำลังใจให้ทีมงาน ส.ส.ด้วย

8 พรรครัฐบาลลงนาม ‘เอ็มโอยู’ 23 ข้อ 5 แนวทางปฏิบัติร่วมกัน เร่งร่างรัฐธรรมนูญ นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ไร้มาตรา 112

(22 พ.ค. 66) ที่ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรค แถลงข่าวการลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลว่า วันนี้แถลงบันทึกความเข้าใจร่วมกันการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งวันนี้ 22 พ.ค.เป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ครบรอบรัฐประหาร 2557 เป็นวันที่พวกเราเซ็นบันทึก เป็นหมุดหมายที่ดี สะท้อนความสำเร็จของสังคมไทย สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาอย่างสันติ

จุดประสงค์การทำเอ็มโอยูเพื่อรวบรวมวาระร่วมที่เราเห็นตรงกันและพร้อมผลักดันผ่านกลไกของรัฐบาลและรัฐสภา และเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของพรรคร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล

นายพิธา อ่านเนื้อหาบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งรัฐบาลและการทำงานร่วมกัน ของ 8 พรรค

ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่าภารกิจของรัฐบาลที่จะผลักดันนั้น ไม่กระทบรูปแบบของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดไม่ได้ขององค์พระมหากษัตริย์ ดังนี้

1.) ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

2.) ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ

3.) ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยยึดหลักความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน

4.) เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ ทั้งนี้ยังคงไว้ซึ่งการเกณฑ์ทหารหากมีศึกสงคราม

5.) ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวนภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง

6.) ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ปราศจากการทุจริต

7.) แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน

8.) ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม

9.) ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราวซึ่งใบอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรม และสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

10.) ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยพรรคประชาชาติขอสงวนสิทธิ์ไม่เห็นด้วยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเหตุผลทางศาสนา

11.) ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการผลักดันกฎหมายปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมแก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

12.) ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

13.) จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (zero-based budgeting)

14.) สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังระยะยาว

15.) แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเร่งด่วน

16.) นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ ผ่านการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา

17.) ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย คุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิตส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี และแหล่งน้ำ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์กษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ

18.) แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน

19.) ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

20.) ยกระดับสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุข

21.) ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

22.) สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเร็วที่สุด

23.) ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเชียน และรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ

ทุกพรรคเห็นพ้องบริหารประเทศด้วยแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้
1.) ทุกพรรคจะคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน
2.) ทุกพรรคจะทำงานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใดมีพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชัน ทุกพรรคจะยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้นๆ ทันที
3.) ทุกพรรคจะทำงานโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน จริงใจต่อกัน สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง
4.)ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจฝ่ายบริหารของรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง
5.) ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติของผู้แทนราษฎรที่สังกัดแต่ละพรรคการเมือง

งานแถลงข่าว การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU)

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้กล่าวบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล ในงานแถลงข่าว การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) จัดตั้งรัฐบาล ที่ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 66

เพื่อสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งรัฐบาล และการทำงานร่วมกันของทุกพรรค ว่า “ภารกิจของรัฐบาลที่ทุกพรรคจะผลักดันนั้น ต้องไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐฯ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ขององค์พระมหากษัตริย์” 
 

ไทม์ไลน์ระทึก!! วัดกึ๋น วัดเกม ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ หลัง ส.ว.ส่งสัญญาณ ให้มันจบที่ตำแหน่งประธานสภาฯ

(24 พ.ค. 66) สวัสดีครับ… เริ่มต้นวันนี้ก็ต้องยอมรับว่ากระบวนท่าของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์และคณะก้าวไกล หลังพิธีกรรมเอ็มโอยู โดยเดินสายไปพบกับสภาอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา แม้ใครหลายคนจะขัดหูขัดตากิริยาอาการนั่งไขว่ห้างระหว่างพูดคุยอยู่บ้าง แต่ก็ได้รับคำชมเปาะจากนายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมว่า “ว่าที่นายกฯ ทิม พิธา นุ่มลึกและลุ่มลึก เข้าใจปัญหาต่างๆ ดีมาก”

เท่าที่ทราบ นายพิธาและพรรคก้าวไกลออกแบบว่า ระหว่างนี้ คณะกรรมการ 2 ชุด คือ ชุดเจรจา และชุดเปลี่ยนผ่านจะทำงานทุกวัน ส่วนหนึ่งก็เพื่อสร้างความยอมรับ เสียงขานรับให้กับว่าที่นายกฯ คนที่ 30 แบบว่าไม่ปล่อยให้เวลาหรือไทม์ไลน์อันยืดย้วยของระบบการเมืองไทย มาทำให้รัฐบาลผสม 313 เสียง หลุดจากพื้นที่ข่าวไปแม้เพียงนาทีเดียว…

อย่างไรก็ตาม บรรทัดนี้ สาธุชนก็พึงรับทราบและฟังอีกครั้ง ถึงไทม์ไลน์การเมืองที่ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แจกแจงไว้ว่า ไทม์ไลน์น่าจะเป็นไปตามนี้…

- 13 ก.ค. คือวันสุดท้ายที่ กกต.จะรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.
- 20 ก.ค. คือวันสุดท้ายที่ ส.ส.จะรายงานตัว
- 24 ก.ค. พิธีเปิดประชุมรัฐสภา
- 25 ก.ค. เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร
- 26 ก.ค. โปรดเกล้าแต่งตั้งประธานสภา
- 3 ส.ค. ประชุมรัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรี
- 10 ส.ค. ได้ ครม.ชุดใหม่
- 11 ส.ค. ครม.ชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ และเป็นวันสุดท้ายของ ครม.รักษาการ

ดูไทม์ไลน์ดังที่ว่ามาแล้ว อีกตั้ง 2 เดือนเศษกว่าจะถึงวันโหวตนายกรัฐมนตรี แต่เป็นที่รู้กันว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี จะรู้กันตั้งแต่วันเลือกตำแหน่งประธานสภาแล้ว ซึ่งสรุปความตามท้องเรื่องในขณะนี้ให้สั้นที่สุดก็คือ พรรคก้าวไกลฮึ่มฮั่มกันทั้งจากนอกพรรคและในพรรค ว่าต้องเป็นของพรรคก้าวไกลเท่านั้น… ขณะที่พรรคเพื่อไทยตั้งธงว่า ขอตำแหน่งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า แม้จะเป็นพรรคอันดับ 2 แต่คะแนนเสียงห่างกันแค่ 11 เสียงเท่านั้น…

และวันนี้… เริ่มแล้ว เมื่อนายอดิษร เพียงเกษ หัวหมู่ทะลวงฟันของพรรคเพื่อไทย ออกมาเปรี้ยงปร้างสอนน้องๆ ก้าวไกลว่า อย่าริกินรวบ ตำแหน่งประธานสภาต้องเป็นของเพื่อไทย หลังจากที่เมื่อวันก่อนนายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ทรงบารมีนอกพรรคของก้าวไกล บอกว่าเก้าอี้ประธานสภาปล่อยให้ใครไม่ได้ เพราะก้าวไกลถอยมามากแล้ว…

จะว่าไปงานนี้ ทั้งก้าวไกลและเพื่อไทยอึดอัดจนจุกอกทั้งคู่… พรรคก้าวไกลนั้น หากเก้าอี้นี้หลุดมือ เก้าอี้นายกฯ ก็อาจหลุดตาม หรือต่อให้ได้เป็นนายกฯ แต่ประธานสภาเป็นของพรรคอื่น การจะขับเคลื่อนแก้ไขมาตรา 112 และอีก 44 กฎหมายของพรรค คงเดินหน้าลำบากขึ้น ส่วนพรรคเพื่อไทยนั้น หากยื่นคำขาดว่า ถ้าไม่ได้เก้าอี้ประธานสภาก็ไม่ร่วมรัฐบาล แล้วพลิกเกมไปจับมือกับพรรคภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ… ก็คงจะโดนกระหน่ำจาก ‘ด้อมส้ม’ และคนทั่วไปกระอักเหมือนกัน

ตำแหน่งประธานสภาจึงเป็นตำแหน่งวัดใจ วัดเกม และวัดกึ๋นของพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย หนนี้หวยคงไม่ไปออกที่พรรคเล็กเหมือนเมื่อปี 2526 ที่พรรค 3 เสียงของนายอุทัย พิมพ์ใจชน ส้มหล่นได้เป็นประธานสภา แต่จะเป็นใคร? รอกันอีกไม่กี่อึดใจ…

ไม่เพียงแต่เราๆ ท่านๆ เท่านั้นที่ลุ้นระทึก นาทีนี้บรรดาท่านสมาชิกวุฒิสภาได้ส่งสัญญาณไปยังบางพรรคแล้ว ว่าเกมทั้งหมดอย่าให้ถึงมือ ส.ว.เลย ขอให้จบกันที่การโหวตเลือกประธานสภาเถอะ ประธานจะชื่อนายสุชาติ หรือชื่อนายชลน่านก็ว่ากันไป จากนั้นค่อยเสนอชื่อนายกฯ จะชื่อ อุ๊งอิ๊ง ชื่อประวิตร หรือชื่ออนุทิน… ส.ว.ส่วนใหญ่จะจัดให้

เอวัง – สวัสดี

เรื่อง : เล็ก เลียบด่วน

‘โรม’ ย้ำ!! เก้าอี้ประธานสภาฯ ต้องอยู่ที่ ‘ก้าวไกล’ อ้าง รักษาประเพณี พรรคที่ชนะเลือกตั้งต้องได้นั่ง

(24 พ.ค. 66) ที่พรรคก้าวไกล นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล และว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เสียไปไม่ได้เป็นอันขาดว่า…

อันที่จริงก็เหมือนกับที่นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค เคยกล่าวเอาไว้ว่า เรื่องของตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตำแหน่งที่พรรคก้าวไกล อยากรักษาประเพณีที่เคยทำกันมา ซึ่งในอดีตหากไม่นับรวมเมื่อปี 2562 จะพบว่า พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเป็นลำดับที่ 1 จะขอตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย เพื่อผลักดันกฎหมายต่างๆ พรรคก้าวไกลยืนยันว่า ตำแหน่งดังกล่าว ทางพรรคก้าวไกลต้องขอเอาไว้เอง

เมื่อถามว่า มีพรรคการเมืองใดมาต่อรองตำแหน่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วหรือยัง นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ แต่เบื้องต้นพรรคก้าวไกลได้ประกาศมาหลายครั้ง และยืนยันในเรื่องนี้มาโดยตลอด

เมื่อถามว่า ได้พูดคุยกับพรรคเพื่อไทยในประเด็นนี้หรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ต้องถามนายชัยธวัช เพราะเป็นผู้ดูแลการเจรจาในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งจะตอบคำถามได้ดีที่สุด

เมื่อถามว่า นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งประธานสภาใช่หรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ในรายละเอียดทางพรรคก้าวไกล ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันว่าใครเหมาะจะเป็นแคนดิเดตในตำแหน่งประธานสภาฯ ซึ่งคิดว่าพรรคก้าวไกลยังมีเวลาคุยว่าจะมีใครที่มีความเหมาะสม

ควันหลังเลือกตั้ง!! ย้อนทำความรู้จัก ‘MOU’ จากทั่วโลก เวิร์คหรือไม่? ทางการเมือง

หนึ่งประเด็นที่ดูเป็น ‘เรื่องใหม่’ ของการเมืองไทย และถูกจับตามากที่สุด หลัง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาประกาศต่อสาธารณชน เมื่อทราบผลการนับคะแนนไม่เป็นทางการ และปรากฏว่าพรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงมากที่สุด ก็คือ การเตรียมจัดทำข้อตกลง หรือ ‘เอ็มโอยู’ ระหว่างพรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยยืนยันว่า…

“เวลาที่เราจะร่วมรัฐบาลกัน มันไม่ใช่แค่แบ่งกระทรวง หรือดู ส.ส. จำนวนเท่าไร แต่เราจะทำเป็นเอ็มโอยู ที่เป็นเอกสารเปิดเผยต่อสาธารณชน ว่าการร่วมรัฐบาลเราคาดหวังอะไรซึ่งกันและกันบ้าง เวลาทำงานจะได้ไม่สะดุดระหว่างทาง แล้วก็ให้ประชาชนสามารถคาดหวังได้ว่าสิ่งที่เคยสัญญา ก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งยังเหมือนเดิมทุกประการ”

ก่อนอื่น มาดูนิยามของ เอ็มโอยู (MOU-Memorandum of Understanding) ก็คือ “บันทึกความเข้าใจ” ซึ่งทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างบุคคล องค์กร หรือสถาบัน ตั้งแต่สองฝ่าย หรือมากกว่านั้น ไม่ได้เป็นสัญญาผูกมัด แต่เพื่อเป็นการแสดงความต้องการอันแน่วแน่ของผู้ลงนามว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังที่ได้ระบุและตกลงกันไว้

ในส่วนของการเมือง เมื่อการเลือกตั้งปรากฏผลลัพธ์ออกมา ว่าไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสภาฯ การฟอร์มรัฐบาลจึงต้องออกมาในรูปแบบการเจรจาจัดตั้ง ‘รัฐบาลผสม’ 

ที่ผ่านมาในการเมืองไทย การจัดตั้งรัฐบาลหลายพรรค มักเริ่มที่การดูจำนวน ส.ส. ก่อนตกลงผลประโยชน์ แบ่งโควต้ารัฐมนตรี และจับจองกระทรวงต่างๆ อาจมี ‘การให้สัตยาบัน’ เพื่อเป็นพันธะยึดโยงร่วมกันบ้าง แต่แทบไม่เคยเห็นการทำเอ็มโอยู เป็นตัวหนังสือกำหนดแนวทางดำเนินนโยบายร่วมกัน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะแต่ละพรรคการเมือง ย่อมมีนโยบายและจุดยืนแตกต่างกัน จึงต้องหาความลงตัว แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพื่อเดินหน้าทำงานร่วมกันให้ได้ 

แต่สำหรับในหลายประเทศทั่วโลก การจัดทำข้อตกลงร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลในรัฐบาลผสม ก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลกและเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เรามาลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น

เริ่มต้นกันที่ ‘เยอรมนี’ ที่หลังสิ้นสุดยุคการบริหารบ้านเมืองโดยพรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแครต หรือ ‘CDU’ ภายใต้การนำของ ‘อังเกลา แมร์เคิล’ มานานกว่า 16 ปี ก็นำมาสู่การเลือกตั้งทั่วไป 26 กันยายน 2021 ซึ่งพรรคโซเชียลเดโมแครต ที่นำโดย ‘โอลาฟ ชอลซ์’ ได้เสียงสนับสนุน 25.7% ร่วมกับ พรรคกรีน ที่มีเสียง 14.8% และพรรคฟรีเดโมเครต อีก 11.5% จับมือกันจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยมีการลงนาม ‘ข้อตกลงภายใน’ ร่วมกัน จำนวนกว่า 177 หน้า เพื่อเป็นแบบร่างแผนการบริหารประเทศตลอดระยะเวลา 4 ปี

สำหรับสาระสำคัญในข้อตกลงนี้ ครอบคลุมการดำเนินนโยบาย ทั้งการสร้างรัฐทันสมัย การเปลี่ยนแปลงสู่ยุครัฐบาลดิจิทัล มาตรการป้องกันและลดโลกร้อน การส่งเสริมการค้า อุตสาหกรรมการลงทุนและธุรกิจ  การพัฒนาที่อยู่อาศัย การสร้างงาน รัฐสวัสดิการ กระบวนการยุติธรรม และนโยบายต่างประเทศและสหภาพยุโรป

ส่วนที่ ‘สหราชอาณาจักร’ ถ้าย้อนไปดูบรรยากาศหลังการเลือกตั้งในปี 2010 ปรากฏว่าไม่มีพรรคการเมืองได้ครองเสียงเบ็ดเสร็จในสภาฯ โดยพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่นำโดย ‘เดวิด คาเมรอน’ ได้เสียงมากที่สุด ได้ตกลงจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคลิเบอรัลเดโมแครต และนำมาสู่การทำ ‘ข้อตกลง’ ร่วมกัน ที่ครอบคลุมวาระสำคัญ เช่น การแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญๆ นโยบายและความรับผิดชอบที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น โดยมีการประเมินและทบทวนความคืบหน้าของข้อตกลงและเผยแพร่เป็นเอกสารชี้แจงสู่สาธารณะในช่วงครึ่งเทอม เพื่อประเมินการทำงานร่วมกันรวมถึงพิจารณาความร่วมมือกันในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

คล้อยหลังมา 5 ปี หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2015 ‘เทเรซา เมย์’ ไม่สามารถพาพรรคคอนเซเวทีฟ ที่ได้ 318 ที่นั่ง แต่ยังไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้ จึงตัดสินใจใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ในการเจรจาจับมือพรรคลำดับ 5 อย่าง สหภาพประชาธิปไตยหรือดียูพี ที่มีจำนวน ส.ส. 10 คน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยที่พรรคดียูพีจะไม่ร่วมรัฐบาล โดยมีการลงนามในข้อตกลงร่วมกัน 

สาระสำคัญคือ พรรคดียูพีจะโหวตสนับสนุนพรรคคอนเซเวทีฟในวาระสำคัญ เช่น การผ่านร่างงบประมาณและการลงมติไว้วางใจ รวมถึงสนับสนุนการออกกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับเบร็กซิท ความมั่นคง และอื่นๆ ขณะเดียวกัน รัฐบาลพรรคคอนเซอเวทีฟต้องให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนโครงการและนโยบายของพรรคดียูพี เช่น การเพิ่มงบประมาณ 1 พันล้านปอนด์ให้กับไอร์แลนด์เหนือ ฐานที่มั่นของพรรคดียูพี เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข และการศึกษา ในช่วง 2 ปี 

หรือลองแวะมาดูในพื้นที่ใกล้ตัว อย่าง ‘มาเลเซีย’ ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ที่เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 ปรากฎว่าไม่มีพรรคใดชนะขาดการเลือกตั้งและมีเสียงข้างมากในสภาฯ แต่ในที่สุด ‘อันวาร์ อิบราฮิม’ ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสม และสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว

ซึ่งต่อมา ในเดือนธันวาคม มีการลงนามในเอ็มโอยู เพื่อเสถียรภาพของรัฐบาลผสม โดยพรรคแนวร่วมได้ลงนามยืนยันว่าจะสนับสนุน ‘อันวาร์ อิบราฮิม’ ผ่านการออกเสียงให้รัฐบาลหรืองดเว้นการออกเสียงเมื่อมีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ รวมทั้งให้การสนับสนุนรัฐบาล อย่างเช่น การผ่านงบประมาณรายจ่าย

ย้อนกลับมาที่บ้านเรา สูตรจัดตั้งรัฐบาลผสม ที่มี ‘ก้าวไกล’ เป็นแกน จับมือกันถึง 8 พรรค จำนวน 313 เสียง เพิ่งผ่านเวลามาเพียงสัปดาห์เศษเท่านั้น ขณะเดียวกันการจัดทำ ‘เอ็มโอยู’ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่เคยสัญญาไว้กับประชาชนตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ก็เป็นเรื่องใหม่ และไม่ง่าย 

แต่ถ้าการทำข้อตกลง เอ็มโอยู ครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้น ในการยกระดับ การ ‘เจรจา’ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเปิดทางนำไปสู่การทำงานด้านนโยบายร่วมกันเพื่อประชาชน ก็จะเป็นการเริ่ม ‘เปลี่ยน’ หากจุดสมดุล และเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการเมืองไทยนับจากนี้ ที่จะทำให้การบริหารบ้านเมือง เป็นไปตามที่เคยสัญญาและให้คำมั่นกับประชาชนเอาไว้ แทนที่จะเป็นไปเพื่อการรักษาผลประโยชน์ และตำแหน่งแห่งที่ของนักการเมือง เป็นประชาธิปไตยของประชาชนเพียงแค่สี่นาที อย่างที่เคยฝังรากอยู่ในบ้านเรามานาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top