Friday, 17 May 2024
ประเทศไทย

'มือเศรษฐกิจจุลภาค' ชี้!! ความเสี่ยงมากมายในปี 2024 รอไทยอยู่  โตช้า หนี้เสียมาก ส่งออกอืด นักท่องเที่ยวต่ำเป้า เงินดิจิทัลเสี่ยงไม่ผ่าน

(25 ธ.ค. 66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' ถึงเศรษฐกิจไทยในปี 2024 ระบุว่า...

ภาพรวมเศรษฐกิจโลก สหรัฐฯ แข็งแกร่งเกินคาดแม้จะขึ้นดอกเบี้ยหลายรอบยังเติบโตแข็งแกร่ง มีความเป็นไปได้ที่จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว 

ส่วนไทยส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยผิดพลาด ทำให้เศรษฐกิจชะลอมาก ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น การปล่อยสินเชื่อหดตัวหนัก บ้าน รถ SME กระทบรุนแรง

จีน ชะลอตัวหนัก หนี้เสียภาคอสังหาฯ ภาคก่อสร้าง กำลังส่งผลกระทบวงกว้าง 

ยุโรป กระทบจากสงครามรัสเซีย ยูเครนยาวนาน วิกฤต คลองซูเอส และ ฮามาส ซ้ำเติมสร้างปัญหาเงินเฟ้อทั่วยุโรป

นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสร้างปัญหาเงินเฟ้อในญี่ปุ่นมาก คนญี่ปุ่นเริ่มมีกำลังซื้อถดถอย สัญญาณการสิ้นสุดนโยบายการเงิน ดอกเบี้ยติดลบใกล้ถึงสิ้นสุด

อินเดียกำลังฉายแววเป็นผู้นำเศรษฐกิจยุคใหม่ตามด้วยอินโดเนเซีย และเวียดนามเกาะรถอย่างห่าง ๆ

ประเทศไทยมีระเบิดเวลา บริษัทใหญ่ล้ม และหนี้เสียจากบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลางรออยู่ใครถือ พันธบัตร ต้องรอบคอบ ความคาดหวังที่ประชาชนให้พรรคเพื่อไทยว่าเก่งเศรษฐกิจกำลังมีคำถาม 

ท่านนายกต้องรีบแก้ปัญหา โดยต้องมี รมต.คลังตัวจริงมาทำงาน ส่วนกระทรวงเศรษฐกิจอื่นต้องพิจารณาว่าได้คนถูกฝาถูกตัวหรือไม่ หรือยังปรับงานไม่ลงตัว ยังทำงานไม่เข้าขากับฝ่ายราชการ

ท่านนายกฯ พยายามขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ แต่ยังมีจุดที่ต้องปรับอีกมาก การขึ้นค่าแรงจะช่วยดึงกำลังซื้อหรือไม่หรือ เพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการโรงงานให้ปิดตัว หรือย้ายฐานการผลิตมากขึ้น 

เอาใจช่วยรัฐบาลให้ประชาชนอยู่ดีกินดีครับ

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! ปี 67 คลื่นการลงทุนลูกใหม่กำลังเคลื่อนเข้าไทย คาด!! น่าจะเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้าใส่อย่างหนักแน่นด้วย

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น '2567 ปีทองการลงทุนไทย' เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

การลงทุนเป็นตัวแปรทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ การลงทุนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle) เมื่อเศรษฐกิจถดถอย (Recession) การลงทุนจะล่มหายทันที ในทางตรงข้ามเมื่อการลงทุนทะยานขึ้น จะนำมาซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพียงแต่การลงทุนมักมีความผันผวนและขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ดอกเบี้ย ภาษี ภาวะตลาด รวมทั้งการเมืองในและระหว่างประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญและยั่งยืนที่สุด ในอดีตโดยเฉพาะก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระดับการลงทุนสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง การลงทุนในประเทศอยู่ที่กว่า 40% ของ GDP และเป็นการขับเคลื่อนด้วยการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment-FDI) ทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณ 7.5% ต่อปี ต่อเนื่องยาวนาน จนเป็นที่คาดการณ์ว่าไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ในกลุ่มเดียวกับเกาหลีใต้, ไต้หวัน, ฮ่องกง และสิงคโปร์

ทว่า หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง การลงทุนในประเทศกลับเหือดหายไปอย่างไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าการส่งออกจะยังสดใสจากค่าเงินบาทที่ลดค่าลงต่ำ แต่วิกฤตปี 2540 ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย แม้ว่าจะมีการปรับโครงสร้างในหลายด้าน อาทิเช่น การสร้างความเข้มแข็งของสถาบันการเงินและตลาดทุน การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน แต่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศรวมทั้งผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถกลับคืนสู่ระดับก่อนวิกฤตได้ ระดับการลงทุนในประเทศลดลงเหลือไม่ถึง 20% ของ GDP หรือประมาณครึ่งหนึ่งของการลงทุนก่อนวิกฤต อัตราเติบโตตามศักยภาพลดลงเหลือ 3-4% ต่อปีในปัจจุบัน

แต่มีเรื่องที่น่ายินดีว่า ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณบวกหลายประการเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าปี 2567 จะเป็นปีทองของการลงทุนไทย 

ประการแรก เศรษฐกิจมหภาคมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น การประชุม Fed เมื่ออาทิตย์ก่อนถือเป็นการยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างถาวร และ Fed ยังได้ประกาศล่วงหน้าว่าจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า แม้ว่านโยบายการเงินของไทยจะผิดพลาดมาโดยตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาและสร้างความผันผวนทางการเงินมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่ครั้งนี้เมื่อไร้แรงกดดันจาก Fed จึงเป็นโอกาสอันดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ทันที  

ดังนั้นภายใต้ภาวะการเงินที่ผ่อนคลายและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่ำลง น่าจะเป็นจังหวะเหมาะสมที่ภาคธุรกิจจะเริ่มลงทุนใหม่หลังจากได้ชะลอการผลิตและลดสินค้าคงคลังมาระยะหนึ่ง

ประการที่สอง การส่งออกเริ่มมีการเติบโตเป็นบวกหลังจากที่หดตัวต่อเนื่องมาเป็นเวลานานหลายเดือน ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เป็นไตรมาสแรกที่การส่งออกเติบโตเป็นบวกและคาดการณ์ว่าจะเติบโตอย่างแข็งแรงตลอดปีหน้า นอกจากนี้การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของทางการ ก็เริ่มมีแนวโน้มสดใสขึ้นในไตรมาสนี้ และจะกลับมาใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิดในปีหน้า ภาคบริการมีการเติบโตอย่างมั่นคงและมีการลงทุนใหม่จำนวนมากในธุรกิจโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงาน

ประการที่สาม การดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ชาญฉลาด สามารถเปลี่ยนความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics) ให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การแบ่งขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ (Economic Decoupling) ระหว่างจีนและประเทศตะวันตก ได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้าย Supply Chain ของอุตสาหกรรมสำคัญๆ ออกจากจีน ไปสู่ประเทศที่ตะวันตกมองว่าเป็นประชาธิปไตยและมีความมั่นคงทางการเมือง การเมืองระหว่างประเทศกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกที่ตั้งฐานการผลิต เพิ่มเติมจากปัจจัยทางธุรกิจ

ประเทศไทยสูญเสียโอกาสสำคัญไปอย่างน่าเสียดายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ใน 100 วันแรกของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปพบผู้นำโลกและผู้นำธุรกิจชั้นนำมากมาย ขณะนี้มีความชัดเจนมากที่ธุรกิจสำคัญในอุตสาหกรรมดิจิทัล อาทิ Google, Amazon และ Microsoft จะย้ายฐานการผลิตมาไทย นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ EV รายสำคัญของโลก อาทิ Tesla, BYD และ MG ก็กำลังจะมาตั้งโรงงานในไทยเช่นกัน ส่วนประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำลังฟื้นตัวและเป็นเสาหลักดั้งเดิมของอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ก็มีแผนการที่จะ Upgrade โรงงานขึ้นสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

ประการที่สี่ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมากกว่าประเทศอื่น ระบบสถาบันการเงินและตลาดเงินตลาดทุนไทยยังถือว่ามีความเข้มแข็งและสามารถให้บริการทางการเงินแกภาคเศรษฐกิจจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลาดทุนไทย ซึ่ง Underperform ตลาดอื่นทั่วโลกมานาน วันนี้เริ่มมีแนวโน้มสดใสและพร้อมที่เติบโตอย่างมั่นคงอีกครั้ง โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของไทยก็ไม่ด้อยกว่าประเทศใดในโลก ทั้งในด้านความมั่นคง ราคาพลังงาน รวมทั้งพลังงานสะอาด (Clean/Renewable Energy) ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเลือกที่ตั้งฐานการผลิต โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและ ICT ก็ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย

ประการที่ห้า การลงทุนใน Mega Projects ของภาครัฐ แม้ว่าการลงทุนภาครัฐในอดีตจะมีความล่าช้า และงบประมาณปี 2567 จะออกมาไม่ทันการ แต่เชื่อว่าโครงการ Flagship ขนาดใหญ่ของรัฐบาลจะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมในปี 2567 นี้ อาทิเช่น EEC โครงการแลนด์บริดจ์ โครงการรถไฟรางคู่ โครงการทางยกระดับ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพ รวมทั้งการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองหลักทั่วประเทศ อย่างไรก็ดีเมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดของรัฐทั้งในเรื่องงบประมาณและความสามารถในการบริหารจัดการ อาจต้องอาศัยกลไกร่วมทุนและดำเนินการกับเอกชน (Public Private Partnership-PPP) โดยจะต้องปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพขึ้น

แต่ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของเอกชนหรือของรัฐก็ตาม ต่างก็ใช้ทรัพยากรของชาติที่มีอยู่จำกัด หน้าที่ของรัฐบาลคือการดูแล/ชี้นำให้ทรัพยากรของชาติมีการจัดสรรไปสู่โครงการที่มีความคุ้มค่าทางการเงินสูงสุด และต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนที่ก่อให้เกิดความสูญเปล่าและความเสียหายทางเศรษฐกิจ ดังที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตและในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นการจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและเป็นหน้าที่หลักของรัฐบาล

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ล้วนบ่งชี้ว่า 2567 จะเป็นปีทองของการลงทุนไทย คลื่นการลงทุนลูกใหม่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว และน่าจะเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้าใส่อย่างหนักแน่น

‘รศ.ดร.สมชาย’ วิเคราะห์!! อนาคตเศรษฐกิจไทย ปีงูใหญ่ แนะ!! ‘ความชำนาญ-เชี่ยวชาญ’ ยังช่วยฝ่าโลกเปลี่ยนไว

จาก THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ถึงทิศของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ในปี 2567เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.66 โดย รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า…

ในภาพรวมของเศรษฐกิจโลกปี 2567 จะมีความเสี่ยงใหญ่ 3 ประการที่ท้าทาย ได้แก่…

(1) ภัยธรรมชาติ โลกร้อน แผ่นดินไหว น้ำท่วม

(2) โรคติดต่อ หรือ โรคระบาด ถึงแม้โควิด-19 จะเพิ่งผ่านไป ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือเสมอ โดยเฉพาะโรคที่จะมาจากสัตว์สู่คน ซึ่งในปัจจุบันมักเกิดถี่ขึ้น ทุกประเทศต้องเตรียมตัว

(3) เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้ โดยเฉพาะสงครามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก (รัสเซีย-ยูเครน) แต่เนื่องจากวงของสงครามในตอนนี้เริ่มจำกัด จึงจะยังไม่ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นเหมือนกับตอนช่วงต้นของสงคราม ขณะที่ ‘สงครามอิสราเอล-ฮามาส’ ประเมินว่า เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 67 แล้วหลังจากนั้นถ้าอิสราเอลบรรลุเป้าหมายในการกำจัดผู้นำฮามาสได้ แรงกดดันจากประชาคมโลกก็จะลดลง ซึ่งระหว่างนั้นอาจจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นบ้าง แต่ก็น่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมต่อเศรษฐกิจโลก 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ในประเด็นข้อพิพาทต่าง ๆ อาทิ ทะเลจีนใต้, ไต้หวัน ซึ่งตรงนี้เชื่อว่ายังไม่มีการเผชิญหน้ากันแบบดุเดือด เนื่องจากต่างฝ่ายต่างก็พยายามป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงในอนาคตอยู่แล้ว

ทั้งนี้ หากโฟกัสในด้านเศรษฐกิจโลกสำคัญ ๆ ของโลก รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่าคาดการณ์เศรษฐกิจโลก เชื่อว่ายังคงขยายตัวใกล้เคียงกับปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 2.7%-2.8% ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาน่าจะขยายตัวดีมาก 

ส่วนยุโรป (EU) เศรษฐกิจคาดว่าขยายตัว ประมาณ 0.2%-0.6% แต่ไม่เข้มแข็งมากนัก 

ขณะที่ประเทศจีนเศรษฐกิจคาดว่าขยายตัว 4% ในกรณีที่จีนไม่กระตุ้นเศรษฐกิจแรง ๆ แต่ถ้ามีการใช้มาตรการคลังเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจจีนมีโอกาสขยายตัวสูงถึง 5% 

ส่วนประเทศญี่ปุ่นคาดเศรษฐกิจน่าจะขยายตัว ประมาณ 1%-2%  

ด้านเศรษฐกิจอาเซียนเอง คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4% 

โดยสรุปปีหน้าเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง บนความไม่แน่นอน แต่ก็จะมีความแตกต่างกับปีนี้ (2566) เนื่องจากตัวแปรเรื่องเงินเฟ้อเริ่มลดลง ทำให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมคิดว่าผ่านพ้นวิกฤติไปได้ไม่ยากเย็นนัก

ทั้งนี้เมื่อหันมามองเศรษฐกิจไทยในปี 2567 รศ.ดร.สมชาย มองว่า ปัจจัยที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ภาวะของเศรษฐกิจโลก ในเรื่องอัตราดอกเบี้ย และ เงินเฟ้อ 

“ถ้าตั้งสมมติฐานว่าถ้าเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวต่อ คู่ค้าประเทศต่าง ๆ ของเรายังขยายตัวได้ เศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกบนความไม่แน่นอน ด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่ (1) การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 3%-4% (2) เรื่องการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น ถ้าทำการบ้านดี ๆ วางแผนงานได้ดีจะได้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 38-40 ล้านคน ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ และ (3) การบริโภคของเอกชน การลงทุนของภาคเอกชนก็น่าจะขยายตัว รวมไปถึงการลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น”

สรุปแล้วตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีหน้า 2567 คาดว่าจะเติบโตเกิน 3% โดยอยู่ที่ประมาณ 3.2%-3.4% โดยภาครัฐต้องระมัดระวังเรื่องเสถียรภาพการคลัง เพราะหนี้สาธารณะของไทยเริ่มเกิน 60% 

ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ อย่าให้งบประมาณรายจ่ายต่าง ๆ เกิดการสะสมหนาแน่นในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงเกินขอบเขต ควรมีมาตรการคู่ขนานกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การใช้ Digital Transformation มาพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยว การเกษตรกรรม และ Soft Power ซึ่งต้องทำควบคู่กันไป 

นอกจากนี้เงินเฟ้อต่างประเทศยังอยู่ในช่วงขาลง เงินเฟ้อประเทศไทยต่ำ จึงเชื่อว่าปีหน้าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงบ้างแล้ว 

เมื่อถามถึงข้อแนะนำถึงนักธุรกิจในปี 2567 ที่จะมาถึงนั้น? รศ.ดร.สมชาย แนะนำว่า... 

(1) ต้องบริหารความไม่แน่นอน ต้องถือว่าความไม่แน่นอนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อย่ามองโลกในแง่ดีมากเกินไปต้องเตรียมพร้อมเสมอรวมถึงบริหาร Bottom line ของธุรกิจให้ได้

(2) โลกจะเปลี่ยนอย่างไร ควรทำในสิ่งที่ชำนาญและเชี่ยวชาญ มองโลกอนาคต แล้วเพิ่มความชำนาญของตัวเองให้เก่งขึ้นทุกวัน อาจเพิ่มในเรื่องนวัตกรรม หรือเอาเรื่องเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

และ (3) วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคว่าในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ศึกษาและขยายตลาดใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง

‘Finstable’ ผนึกภาครัฐ จัดงาน ‘B2GC’ ที่ภูเก็ต 17-19 ม.ค.นี้ หารือแนวทางใช้ประโยชน์ ‘บล็อกเชน’ ยกระดับ ‘ไทย’ หลากมิติ

(5 ม.ค. 67) บริษัท ฟินสเตเบิ้ล จำกัด (Finstable) ผู้นำด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนในประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), Thai Blockchain Services Infrastructure (TBSI), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (DGA) ผนึกกำลังจัดการประชุม Blockchain to Government Conference (B2GC) โดยจังหวัดภูเก็ตจะเป็นเจ้าภาพ ในระหว่างวันที่ 17 - 19 มกราคม 2567 นี้

สำหรับการประชุมครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่นำรัฐบาลและผู้นำด้านบล็อกเชนระดับโลกมาพบกัน เพื่อเป็นการประชุมและหารือเกี่ยวกับแนวทางในโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล และโครงสร้างพื้นฐานของระบบบล็อกเชนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นประตูที่จะนำไปสู่ประเทศที่มีการพัฒนาและรวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น พร้อมทำให้เกิดประโยชน์ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างแท้จริงแก่ประชาชนชาวไทย 

ในขณะเดียวกันที่ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ บล็อกเชนเป็นระบบปฏิบัติการอัจฉริยะที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งในเรื่องของความเชื่อมั่น ความปลอดภัย และรวมไปถึงการกระจายอำนาจสู่หน่วยงานต่าง ๆ ของประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชน นับเป็นเทคโนโลยี ที่ได้รับการยอมรับในความแข็งแกร่งของระบบบันทึกข้อมูลที่โปร่งใสและยังสามารถกระจายอำนาจไปสู่ภายในระบบของประเทศไทย ที่สามารถเดินหน้าทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ โดยได้รับรองความถูกต้องของข้อมูลและสร้างความเชื่อมั่นในโครงสร้างฐานเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงกลยุทธ์เทคโนโลยีบล็อกเชนจะสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก พร้อมยกระดับเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ เช่น บริการสาธารณะของประเทศไทย จะสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การประชุม B2GC ครั้งนี้ จะจัดขึ้นที่ Blockchain Technology Center (BTC) จังหวัดภูเก็ต โดยเนื้อหาการประชุมจะเน้นบทบาทของบล็อกเชนในการยกระดับความสามารถภาครัฐและผลประโยชน์ต่อประชาชน โดยมีวิทยากรระดับโลกทั้งในและต่างประเทศมาเข้าร่วมงานด้วย รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูง นักวิชาการ และแขกคนสำคัญระดับ VIP อาทิ คุณประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, คุณโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าการจังหวัดภูเก็ต, ศ.(พิเศษ)ธงทอง จันทรางศุ และ คุณวิชัย ทองแตง 

โดยงานประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีชื่อเสียง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิด้านบล็อกเชนระดับโลก อาทิ Dr. Xiao Feng (CEO) Hashkey Group, Dr. Xinxi Wang (Co-Founder) Litecoin Foundation, Zack Gall (Co-founder & CCO) EOS Network, Alex Blagirev (Strategic Initiatives Officer) SingularityNET, และ Sebastian R. Cabrera (VP of Product, National ID) Polygon Labs

พร้อมกลุ่มผู้นำทางด้านบล็อกเชนไทย อาทิ คุณชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ประธานบริษัท Velo Labs, คุณสำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีบริษัท Bitkub Blockchain Technology, คุณกัญญารัตน์ แสงสว่าง Head of Growth (Thailand) จาก The Sandbox, คุณสถาพน พัฒนะคูหา ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัท SmartContract Blockchain Studio และพ.ญ. นวพร นะลิตา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัท Crypto City Connext

สำหรับเนื้อหาการประชุม B2GC ทั้ง 3 วันนั้น ในวันที่ 1 จะกล่าวถึงการทำงานของบล็อกเชนและการประยุกต์ใช้ ตามด้วยการประชุมในวันที่ 2 ซึ่งมุ่งเน้นหัวข้อการประชุมที่ถูกเลือกโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลและคณะกรรมการจัดงาน และวันสุดท้ายจะมีการหารือครั้งสำคัญ รวมถึงการปราศรัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เกี่ยวกับการดำเนินงานของกระทรวง ภายใต้แผนงาน ‘The Growth Engine of Thailand’ โดยโฟกัส 3 ด้านสำคัญคือ การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ, การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศรวมถึงการพัฒนาบล็อกเชนระดับโลกอีกด้วย

ผู้ที่สนใจร่วมงาน สามารถส่งคำถามหรือลงทะเบียนรอรับสิทธิ์เข้าร่วมงานได้บนเว็บไซต์ https://B2GC.finstable.co.th

‘ซีอีโอหนุ่ม’ แชร์มุมคิด ไม่มีที่ใดสุขใจเท่าประเทศไทย อาหารไม่แพง จอดรถไม่โดนทุบ ไม่มีใครเดินมาปล้น

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้ TikTok บัญชี @ckfastwork หรือ ‘CK Cheong’ CEO แห่งบริษัท Fastwork.co ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับความภาคภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย อย่ามองว่าประเทศอื่นดีกว่าเรา โดยระบุว่า…

“ทุกประเทศมีปัญหาของเขาพี่ จริงๆ นะเราชอบมองว่าประเทศอื่นดีกว่าเรา เราลืมมองว่าจริงๆ เราน่ะโชคดีขนาดไหน ผมไม่ค่อยชอบความคิดว่าบ้านอื่นมันดี คุณเคยอยู่หรือ คุณถึงรู้ว่าบ้านอื่นมันดี?”

“รู้ไหมแคลิฟอร์เนียตอนจอดรถ คนเอากระจกรถลงนะ เขาบอกว่าอย่าทุบรถ อยากขโมยก็ขโมยเลย
นี่คือแคลิฟอร์เนีย รู้ไหมว่าตอนอยู่ลอนดอนบ้านเรามีอย่างนี้ไหม ค้นหาใช้มีดแทงที่ลอนดอนสิ
มีคนโดนแทงทุกวัน”

“ก่อนเราจะบอกว่าบ้านอื่นดีขนาดไหนคุณเคยรู้สึกโชคดีไหม ที่เราอยู่แผ่นดินไทย ได้โปรดเถอะ หยุดความอิจฉาที่มันมีไปเพื่ออะไรก็ไม่รู้”

“ผมเข้าใจประเทศไทยไม่ได้เพอร์เฟกต์แต่ก็ไม่มีบ้านไหนที่เพอร์เฟกต์ ทุกบ้านมีปัญหาหมด แต่วันนี้ผมถามหน่อย
จอดรถมีคนทุบรถคุณไหม วันนี้มีสงครามไหม เดินไปเดินมามีคนปล้นคุณไหม? วันนี้คุณเอื้อมถึงราคาอาหารไหม?”

“คุณรู้ไหมอยู่ที่สหรัฐน่ะ 35 บาท ซื้อได้แค่พิซซ่าที่ไม่มีหน้าเลย แต่วันนี้  35-40 บาท มีตัวเลือก คุณเคยมองถึงจุดนี้บ้างไหม? คุณรู้ไหมคนยากจนที่ยุโรปเขาไม่มีทางเลือกหน้าหนาว เพราะเค้าต้องจ่ายค่าฮีตเตอร์ เขาจ่ายไม่ไหวเขาก็ต้องปล้น แต่บ้านเราไม่มีหน้าหนาว คุณเคยมองจุดนี้บ้างไหม?”

“หยุดมองว่าบ้านอื่นน่าอยู่กว่าบ้านเรา จริงๆ เราเป็นคนโชคดีเว้ย เราเป็นคนโชคดีที่เป็นคนไทย”

‘นายกฯ’ เล็งลงพื้นที่ดูแล ศก. 3 จว.ชายแดนใต้ สิ้นเดือน ก.พ. หาทางพัฒนา-ยกระดับ ‘ของดีพื้นถิ่น’ ให้มีมูลค่าสูงยิ่งขึ้น

(9 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สิ้นเดือน ก.พ. ตนจะลงพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ไม่ใช่ไปดูเรื่องความมั่นคง แต่ไปดูเรื่องเศรษฐกิจ ไปพร้อมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อไปดูเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ศิลปะ วัฒนธรรม อาหาร ซึ่งหลายอย่างเชื่อว่ามีของดีอยู่มากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

รัฐบาลนี้ใส่ใจ หลาย ๆ อย่างจะถูกนำขึ้นมา อย่างเมืองยะลา เป็นเมืองที่มีผังเมืองสวยที่สุดในประเทศและพร้อมรับนักท่องเที่ยว อาหารใต้มีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์ แต่ขาดการโปรโมตในเวทีโลก ดังนั้น หากผู้ใหญ่ในรัฐบาลลงพื้นที่และสนับสนุนต่อเนื่อง ก็เชื่อว่าสิ่งดี ๆ เหล่านี้จะนำเงินเข้าประเทศได้จำนวนมาก ทำให้พี่น้องประชาชนภาคใต้มีกินมีใช้ขึ้นอีก

“อย่างประเทศฝรั่งเศส หลายท่านดื่มไวน์ก็รู้ว่าองุ่นกิโลกรัมละไม่กี่ร้อย แต่ถ้านำไปทำเป็นสินค้าที่มี Value added จริง ๆ กลายเป็นไวน์ขวดหนึ่งก็เป็นหลายหมื่นได้ ตัวอย่างมีอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผมจะลงไปดูในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปลาหน้าตก หรือ ปลานิลสายน้ำไหล ที่เลี้ยงโดยว่ายสวนน้ำขึ้นไปที่มีราคาสูงถึงตัวละ 3,000 บาท ไม่มีใครทราบ ไม่มีใครโปรโมต แต่ผมเชื่อว่า หลังจากสิ้นเดือนหน้าแล้ว รัฐบาลนี้ลงไปจะสร้างตลาดให้กับสินค้าประเภทนี้และอีกหลายประเภท ซึ่งยังไม่มีใครสร้าง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

‘เมืองไทย’ ไม่หลุดโผ!! ประเทศที่มีผู้เยี่ยมชมมากที่สุดในโลก ปี 2023

หลังจากโควิด-19 ซาลง ‘นักท่องเที่ยว’ ส่วนใหญ่มั่นใจที่จะเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อเดินทางหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ในประเทศที่ไม่คุ้นเคย สำหรับ ‘ประเทศไทย’ ของเรา เดิมทีก็ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘หมุดหมาย’ สำคัญที่นักท่องเที่ยวต่างชาติอยากมาเยือนอยู่แล้ว และเมื่อมรสุมเชื้อโรคอย่างโควิดเบาบางลง ก็ไม่แปลกที่ต่างชาติจะรีบ ‘ตรงดิ่ง’ มาเที่ยวไทยทันที เฉกเช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมทั่วโลก

วันนี้ THE STATES TIMES ได้รวบรวม 20 ประเทศที่มีผู้เยี่ยมชมมากที่สุดในโลก ประจำปี 2023 มาไว้ให้แล้ว แน่นอนว่ามี ‘ประเทศไทย’ ติดโผอยู่ด้วยแน่นอน แต่จะอยู่ในลำดับที่เท่าไหร่ มาดูกัน!!

13 มกราคม พ.ศ. 2563 ‘สธ.’ แถลงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกในไทย เป็น ‘นักท่องเที่ยวชาวจีน’ เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น

วันนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขออกมาแถลงยืนยันว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกของประเทศ เป็นเพศหญิง วัย 61 ปี จากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน 

ย้อนกลับไปปลายเดือนธันวาคม 2562 มีรายงานว่า ประเทศจีนพบกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ โดยยังไม่สามารถระบุเชื้อที่เป็นสาเหตุ จำนวน 27 คน และเพิ่มเป็น 44 คน ในวันที่ 3 มกราคม 2563 และกลุ่มผู้ป่วยทั้งหมดนี้มีความเชื่อมโยงกับตลาดค้าส่งอาหารทะเลในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน และในวันเดียวกันนั้น ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงเริ่มมาตรการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

ต่อมา วันที่ 8 มกราคม 2563 ไทยตรวจพบนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีน มีไข้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อตรวจร่างกายแรกรับผู้ป่วยวัดอุณหภูมิได้ 38.6 องศาเซลเซียส และมีอาการไอแห้งเล็กน้อย ไม่มีน้ำมูก เมื่อสอบประวัติก็พบว่า เคยไปตลาดค้าส่งอาหารทะเลในอู่ฮั่น จนในที่สุด 13 มกราคม 2563 กระทรวงสาธารณสุข ออกมาแถลงยืนยันว่า พบเชื้อโควิด-19 เป็นรายแรกในไทย หลังจีนเปิดเผยข้อมูลเชื้อโรคดังกล่าวเพียง 1 วัน โดยระบุว่า เชื้อโรคดังกล่าวเป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เรียกว่า SARS-CoV-2 หรือที่องค์การอนามัยโลกประกาศชื่อภายหลังว่า COVID-19

แม้ รมว.สาธารณสุข จะแสดงความเชื่อมั่นในการหาวัคซีน หรือเพิ่มมาตรการป้องกัน แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ วิถีชีวิตของคนไทยทั้งประเทศตลอดหลายปีที่ผ่านมา

แต่ด้วยเวลาที่ผ่านไปประชาชนเริ่มมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ป้องกันตัวเอง มีวินัยอยู่สม่ำเสมอ บวกกับมีการพัฒนาวัคซีน มีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง และทำให้ประชาชนคนไทยได้กลับมาลืมตาอ้าปาก ออกไปใช้ชีวิต ทำมาหากิน ได้อย่างสบายใจมากขึ้นอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์จะผ่อนคลายลงกว่าเดิมแล้ว แต่เราทุกคนยังคงต้องป้องกันตนเอง ไม่ประมาท ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังเช่นเดิมจะเป็นผลดีกับตัวเราเองที่สุด

ส่อง 5 อันดับต่างชาติเที่ยวไทย ‘มากที่สุด’ ตั้งแต่ 1-7 ม.ค. 67

เมื่อวานนี้ (10 ม.ค. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ติดตามสถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้อัปเดตสถานการณ์ท่องเที่ยวล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1-7 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยทั้งสิ้น 605,537 คน โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่เปิดศักราชใหม่มาได้เพียง 7 วัน ประเทศไทยมีสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจมาท่องเที่ยวกว่า 6 แสนคน และนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากที่สุดเป็นอันดับ 1 ถือเป็นข่าวดีของการท่องเที่ยวไทย พร้อมย้ำเดินหน้ากระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยตลอดปีด้วยมาตรการวีซ่าฟรีแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ มั่นใจจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวไทยในปี 2567  

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงรายงานของสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยทั้งสิ้น 605,537 คน นั้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 

อันดับ 1 จีน 81,854 คน 
อันดับ 2 มาเลเซีย 64,053 คน 
อันดับ 3 รัสเซีย 51,467 คน 
อันดับ 4 เกาหลีใต้ 43,894 คน 
อันดับ 5 อินเดีย 30,203 คน 

ด้านภาพรวมสัปดาห์ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาลดลง 184,106 คน หรือลดลง 23.32 % จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงของนักท่องเที่ยวเกือบทุกตลาด เนื่องจากเสร็จสิ้นการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ในสัปดาห์ก่อนหน้า รวมถึงนักท่องเที่ยวตลาดหลักที่ลดลงด้วยเช่นกัน สำหรับสัปดาห์ถัดไป คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง หรือวีซ่าฟรี ให้แก่นักท่องเที่ยวจีน และคาซัคสถาน การขยายเวลาพำนักแก่นักท่องเที่ยวรัสเซีย และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกลในกลุ่มที่เดินทางหลังเทศกาลปีใหม่

“รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักและเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยนายกรัฐมนตรีได้ตั้งเป้าหมายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวปี 2567 ให้ได้ 3.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศ 1.2 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย 205 ล้านคน-ครั้ง และรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.3 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 35 ล้านคน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนชาวไทย ร่วมกันผลักดันให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จ 

โดยในส่วนเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น รัฐบาลจะเดินหน้ากระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ด้วยมาตรการวีซ่าฟรีแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง จากปี 2566 ที่รัฐบาลออกมาตรการวีซ่าฟรีให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจาก 60 ประเทศ/ดินแดน และในปี 2567 คาดว่าจำนวนประเทศ/ดินแดนที่ได้รับวีซ่าฟรีจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการอำนวยความสะดวกการเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทย และดึงดูดใจนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว โดยเชื่อมั่นว่ามาตรการวีซ่าฟรีจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทยตลอดปี 2567” นายชัย กล่าวทิ้งท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top