
ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ
หลักฐานความพยายามในการทำให้เกิด Thailand Spring จากบทความ ‘ประชาชนคือป้อมปราการ’ โดย ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

มีนักการเมือง นักเคลื่อนไหว หลายคนที่พยายามถามหาหลักฐานการที่มีกล่าวหาว่า มีต่างชาติให้การสนับสนุนความพยายามในการจาบจ้วง ล่วงละเมิดสถาบันฯ ครั้งนี้จึงขอนำหลักฐาน ซึ่งเป็นบทความชื่อ ‘ประชาชนคือป้อมปราการ' ของคุณภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งได้ลงใน Post Today เมื่อหลายปีแล้วมาเล่าเพื่อให้ผู้อ่านได้พอเห็นภาพและเกิดความเข้าใจในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องและเป็นไปดังนี้

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา การบ่อนทำลายสถาบันสูงสุดเกิดขึ้นมากผิดปกติ เปิดเผย ไม่เกรงกลัว กลุ่มต่อต้านกษัตริย์ไม่เพียงเคลื่อนไหวในประเทศเท่านั้น แต่ยังไปเคลื่อนไหวในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐ ด้วยการป้อนชุดข้อมูลที่ดูเหมือนจริงแต่เป็นความเท็จ ส่วนหนึ่งเป็นผลงานของนักล็อบบี้จากสำนักงานกฎหมายที่มีชื่อเสียงและบริษัทประชาสัมพันธ์ ที่ถูกใครบางคนจ้างไว้ 3 บริษัท บริษัทละ 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (ประมาณ 30.3 ล้านบาทในขณะนั้น) เพื่อไปล็อบบี้สมาชิกรัฐสภาและรัฐบาลอเมริกันเพื่อผลทางการเมืองของตน อย่างไรก็ดี ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น คือ เกิดกระแสต่อต้านสถาบันกษัตริย์ในหมู่นักการเมืองอเมริกันมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ฝ่ายที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ไทยในสหรัฐทวีความเข้มแข็งมากขึ้น มีการสร้างเว็บไซต์ในรูปแบบหลากหลาย เขียนบทความภาษาต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากข้อเขียนของคนอเมริกัน 2 คน คนหนึ่งคือ เจ.เค. แห่งคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ (Council on Foreign Relations) อันทรงอิทธิพลในสหรัฐ ที่ เจ.เค. ได้เขียนบทความโจมตีสถาบันกษัตริย์ และยกย่องเชิดชูฝ่ายตรงข้ามกษัตริย์สลับกันมาหลายปีแล้ว อีกคนหนึ่งคือ เอ.เอ็ม.เอ็ม. ที่ยอมรับว่าได้รับการว่าจ้างให้มาทำงานด้านนี้ และเป็นคนที่นำเอาคดีของ โจ กอร์ดอน และ อำพล ตั้งนพกุล หรือ ‘อากง’ มาเขียนโจมตี ม.112 เพื่อให้พาดพิงไปถึงพระมหากษัตริย์ไทย ในความเป็นจริง คนพวกนี้ไม่ได้มีความรู้อะไรมากมาย แต่ได้รับข้อมูลจากนักประวัติศาสตร์ชาวไทยสายสาธารณรัฐที่คนไทยรู้จักดี

ในกลางปี พ.ศ. 2556 นักล็อบบี้พวกนี้วางแผนผลักดันให้มีการอภิปรายเชิงวิชาการในที่ประชุมประจำปีของสมาคมเอเชียศึกษา (Association of Asian Studies) ซึ่งมีคนไทยที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์มีอิทธิพลอยู่ การอภิปรายดังกล่าวมีเป้าหมายมุ่งโจมตีสถาบันกษัตริย์ไทยเป็นการเฉพาะ รวมทั้งมีแผนตีพิมพ์หนังสืออีกเล่มหนึ่งโดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐ ที่ผู้เขียนอ้างหลักฐานจากห้องสมุดมหาวิทยาลัย รัฐสภาของสหรัฐ ที่ดูเผิน ๆ แล้วน่าเชื่อถือ หรือเลือกเฉพาะส่วนที่สนับสนุนความคิดของตน เพื่อหาทางทำลายความเชื่อถือพระมหากษัตริย์ไทยองค์ปัจจุบัน (ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ในขณะนั้น)

ก่อนหน้านี้เมื่อปี พ.ศ. 2554 ในวาระครบ 7 รอบ 84 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นักล็อบบี้อเมริกันได้ส่งชุดข้อมูลที่ปั้นแต่งขึ้นจนทำให้สมาชิกสภาหลงเชื่อได้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐพยายามหลีกเลี่ยงไม่ส่งหนังสือถวายพระพรตามที่เคยปฏิบัติมา จนสภาสูงต้องส่งหนังสือถวายพระพรแทน สะท้อนให้เห็นว่า นักล็อบบี้ยิสต์อเมริกันทำงานให้กับนายจ้างอย่างได้ผล ทำให้รัฐสภาชุดก่อนเข้าใจผิดและต่อต้านสถาบันกษัตริย์ไทย ตกทอดมาถึงสภาใหม่ชุดที่ 113 ในปัจจุบัน (พ.ศ.2556)

ไม่เพียงแต่เท่านั้น สถาบันบางแห่งของสหรัฐ เช่น กองทุนแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National Endowment for Democracy) ยังจัดสรรเงินงบประมาณของรัฐคิดเป็นเงินไทยกว่า 1,500 ล้านบาท และอีกโครงการเป็นเงิน 200-300 ล้านบาท ให้กับกลุ่มต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ตามที่กลุ่มพวกนี้ร้องขอมาโดยอ้างว่าเพื่อนำไปใช้ในการให้ความรู้ประชาชนในการพัฒนาประชาธิปไตย แต่กลับนำไปสร้างสื่อและเว็บไซต์ ปลุกระดม โฆษณาชวนเชื่อให้คนไทยบางกลุ่มต่อต้านสถาบันสูงสุด