(3 ก.พ. 68) เร็ว ๆ นี้มีบทความเศรษฐกิจของสื่อแห่งหนึ่งได้ตั้งประเด็นว่า “ประเทศไทยใกล้จะเป็น Failed State ?” โดยมีการหยิบยกเอาเกณฑ์หรือตัววัดความเป็นรัฐล้มเหลว 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) การเมือง (2) เศรษฐกิจ และ (3) สังคม แล้ว ประเทศไทยเข้าสู่สถานการณ์เช่นที่ว่า “จริงหรือไม่”
นิยามความหมายของ ‘รัฐล้มเหลว’ คือ ประเทศที่สูญเสียการควบคุมตนเอง อันเนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น ความไม่มั่นคงทางการเมือง ความไม่สงบทางการเมือง และไม่มีการปกครอง ทั้งนี้ “รัฐล้มเหลว” ไม่ใช่คำศัพท์อย่างเป็นทางการที่ใช้ในกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่ได้หมายความว่า “รัฐบาลที่มีสภาพดังกล่าวได้ล่มสลายโดยสมบูรณ์”
อย่างไรก็ตาม คำว่า "รัฐล้มเหลว" บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า “รัฐนั้นกำลังเผชิญกับช่วงเวลาแห่งความไม่มั่นคงอย่างรุนแรง และมีความเสี่ยงที่จะปกครองไม่ได้เลย” ซึ่งในบางกรณีมีการใช้คำว่า “รัฐเปราะบาง” โดยทั่วไป คำว่า “รัฐล้มเหลว” หมายความถึง “รัฐชาติที่มีอำนาจอธิปไตย แต่สูญเสียความสามารถหลักสองประการ ได้แก่ ความสามารถในการรักษาอำนาจเหนือประชาชนและดินแดนของตนเอง และความสามารถในการปกป้องพรมแดนของประเทศตนเอง”
ในหลาย ๆ กรณีที่รัฐบาลของ “รัฐล้มเหลว” สูญเสียความสามารถในการให้บริการสาธารณะพื้นฐาน บังคับใช้กฎหมาย หรือปกป้องพลเมืองจากความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอก กรณีร้ายแรงของ “รัฐล้มเหลว” อาจประสบกับสงครามกลางเมือง ความอดอยาก หรือการอพยพประชาชนจำนวนมาก โดย “รัฐที่ล้มเหลว” มักตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเครือข่ายอาชญากร องค์กรก่อการร้าย และมหาอำนาจระหว่างประเทศ ซึ่งใช้ประโยชน์จากความไม่มั่นคงของรัฐเหล่านี้
มีสาเหตุที่เป็นไปได้หลายประการของรัฐที่ล้มเหลว ตั้งแต่ความไม่มั่นคงทางการเมือง ไปจนถึงการละเลยทางเศรษฐกิจและการขาดการปกครอง สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดบางประการของรัฐที่ล้มเหลว ได้แก่ :
1. ความไม่มั่นคงทางการเมือง : การขาดรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจปกครองที่มีประสิทธิภาพอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางการเมืองและความวุ่นวาย ซึ่งอาจรุนแรงขึ้นได้จากการทุจริต การบริหารจัดการทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม หรือความขัดแย้งภายใน
2. การบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาด : รัฐที่ล้มเหลวมักมีประวัติการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาดและการละเลย ส่งผลให้เกิดความยากจน การว่างงาน และปัญหาอื่น ๆ
3. ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม : การเข้าถึงทรัพยากร การศึกษา และสุขภาพที่ไม่เท่าเทียมกันกระทั่งสร้างความแตกแยกอย่างมากมายขึ้นภายในประเทศ และนำไปสู่ความขัดแย้งจนเกิดความไม่สงบขึ้น
4. ความขัดแย้งในภูมิภาค : สงคราม การก่อความไม่สงบ และความขัดแย้งอื่น ๆ ระหว่างรัฐหรือกลุ่มต่างๆ สามารถทำให้ภูมิภาคไม่มั่นคงและนำไปสู่รัฐที่ล้มเหลว เกิดสงครามกลางเมืองที่ร้ายแรงมาก จนกระทั่งสามารถทำลายรัฐบาลและโครงสร้างทางสังคมของประเทศได้
5. การแทรกแซงจากต่างประเทศ : บางครั้งรัฐที่ล้มเหลวอาจเป็นผลจากการแทรกแซงจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ซึ่งอาจรวมถึงการแทรกแซงทางทหาร การคว่ำบาตร และการแทรกแซงทางการเมืองภายในประเทศในรูปแบบอื่น ๆ
6. แรงกดดันจากต่างประเทศ : การแทรกแซงจากต่างประเทศในวงกว้าง เช่น การคว่ำบาตรทางการค้าหรือการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ อาจทำให้เกิดความยากลำบากทางเศรษฐกิจและนำไปสู่ความไม่มั่นคงในประเทศ
7. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ประเทศที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากในการดำรงชีพอาจมีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง
ทั้งนี้ ด้วยเกณฑ์หรือตัววัดที่บทความ “ประเทศไทยใกล้จะเป็น Failed State ?” ได้หยิบยกมานั้น แม้จะเป็นไปตามสาเหตุข้อ 1 -3 ของการนำไปสู่ความเป็น “รัฐล้มเหลว” ก็ตาม แต่ก็สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยนั้น ยังคงห่างไกลจากความเป็น “รัฐล้มเหลว” อย่างมากมาย สิ่งที่เห็นเป็นเรื่องแรกคือ “การพ้นจากตำแหน่งของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 30” ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอดถอนพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2567 จากกรณีทูลเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่นายพิชิตเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
สำหรับการตรวจสอบและดำเนินการบังคับใช้กฎหมายนั้น ยังคงมีการดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ แต่คดีความต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้ส่วนหนึ่งมีความซับซ้อนและยุ่งยากกว่าในอดีตมาก ทั้งหลายคดียังเกี่ยวข้องกับบุคคลและองค์กรนอกประเทศอีกด้วย การดำเนินการจึงเป็นไปด้วยความล่าช้า แต่ไม่ใช่ว่า ไม่มีการดำเนินการใด ๆ เลย สำหรับ สาเหตุจากการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาดนั้น ที่สุดแล้วหลังจากความจริงปรากฎจะต้องมีผู้รับผิดชอบ ดังเช่น “กรณีการรับจำนำข้าว ซึ่งแม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี และอดีตข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องต้องถูกตัดสินจำคุก” สำหรับสาเหตุจากความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมนั้น เป็นเรื่องที่ย้อนแย้งกับบริบททางสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง ไทยเราเป็นประเทศแรก ๆ ของทวีปเอเชียที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีระบบดูแลสุขภาพที่ดีติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก แต่การกระทำความผิดตามกฎหมายอย่างชัดเจน แล้วอ้างความชอบธรรมว่าเป็นสิทธิเสรีภาพนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง และตลอด 93 ปีในระบอบประชาธิปไตยของไทยนั้น รัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมส่วนใหญ่แล้วมักจะอยู่ไม่ครบเทอม และด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผู้ที่ประพฤติหรือมีพฤติการณ์ทุจริตและประพฤติมิชอบนั้นจะอยู่ในตำแหน่งได้ยาก เพราะในที่สุดแล้วจะต้องถูกตรวจสอบและดำเนินคดีตามโทษานุโทษที่ได้ก่อกรรมทำขี้น