Monday, 13 May 2024
ประวิตรวงษ์สุวรรณ

เพื่อให้ประเทศเดินหน้า!! ‘บิ๊กป้อม’ เผย!! แม้มี ‘สำนึกอนุรักษ์นิยม’  แต่เข้าใจใน ‘ประชาธิปไตยเสรีนิยม’ 

(1 มี.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก ‘พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้โพสต์จดหมายเปิดใจฉบับที่ 4 ซึ่งเป็นฉบับที่มีเนื้อหาต่อจากจดหมายเปิดใจ ‘ทำไมต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง’ ที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาที่เล่าถึงสภาพแวดล้อมในวัยเด็กของ พล.อ.ประวิตร และประวัติการรับราชการทหาร ตั้งแต่สำเร็จการศึกษาโรงเรียนนายร้อยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) จนเติบโตจากกองทัพภาคที่ 1 ในสังกัดกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) หรือคนส่วนใหญ่รู้จักในนาม ‘ทหารเสือราชินี’

พล.อ.ประวิตร ระบุว่า ชีวิตถูกหล่อหลอมขึ้นมาด้วยความเป็น ‘ทหารอาชีพ’ จาก ‘ทหารชั้นผู้น้อย’ ค่อยๆ เติบโตมาจนเป็น ‘ผู้บัญชาการกองทัพ’ และด้วยการปลูกฝังจากสังคมแวดล้อม ระบบการศึกษา และหน้าที่การงาน ทำให้ตนมีความจงรักภักดีที่มีต่อ ‘ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์’ เป็นสภาวะที่ฝังลึกอยู่ในจิตวิญญาณ

พล.อ.ประวิตร ระบุต่อว่า บ้านของตนเป็นแหล่งรวมการใช้ชีวิตของพี่น้องเพื่อนฝูงมาตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือ จนกระทั่งทำงานรับใช้ราชการ เป็นที่พบปะ หารือ ช่วยเหลือเกื้อกูล มีอะไรก็แบ่งกันกิน แบ่งกันใช้ ปรึกษาแลกเปลี่ยนความคิดกัน ชีวิตที่ดำเนินไปเช่นนี้ทำให้รับรู้ว่า ผู้มีความรู้ความสามารถเหล่านี้ มีไม่น้อยเลยที่มีเจตนาดี และมีจิตใจที่พร้อมจะเสียสละมาทำงานเพื่อประเทศชาติ หากรัฐสภาและรัฐบาลได้คนมีความรู้ความสามารถเหล่านี้เข้ามาร่วมงาน จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำพาประเทศพัฒนาสู่ความเจริญรุ่งเรือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับความเป็นไปของประเทศคือ โอกาสที่คนเหล่านี้จะได้เข้ามาร่วมทำงานให้กับประเทศนั้นมีน้อยมาก หรือแทบไม่มีหนทางเลย ระบอบประชาธิปไตยของประเทศเรา กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ปิดกั้นพวกเขา 

การแข่งขันทางการเมืองที่มุ่งเอาชนะคะคานสูงยิ่ง ทำให้ทุกคนที่คิดจะเข้ามาเสี่ยงกับการเป็นเป้าถูกโจมตี ทำลายล้าง ความคิดที่จะเสียสละมาทำงานเพื่อชาติกลายเป็นเปิดทางให้ตัวเองถูกทำลาย และแม้จะมีบางคนที่กล้าพอจะเข้ามา ทว่าวัฒนธรรมการเลือกตั้ง ไม่เอื้อให้คนมีความสามารถเหล่านี้ได้รับชัยชนะ เนื่องจากไม่มีความสามารถในการหาคะแนนเท่ากับ ‘ผู้มีอาชีพนักการเมือง’ ที่มีความเชี่ยวชาญในการหาวิธีได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งมากกว่า คนมีความรู้ ความสามารถ และมีเจตนาดีต่อการพัฒนาประเทศเหล่านี้ แทบไม่เหลือโอกาสที่จะเข้ามาทำงานให้ประเทศในระบบที่อำนาจต้องผ่านการเลือกตั้ง ตามที่ฝ่าย ‘ประชาธิปไตยเสรีนิยม’ มุ่งมั่น กำหนด

‘บิ๊กป้อม’ เคาะ!! 12 มาตรการ รับมือฤดูฝน 66 ย้ำ!! ทุกหน่วยไม่ประมาท ร่วมแก้ปัญหาน้ำทุกมิติ

(2 มี.ค. 66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุม มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมได้รับทราบ ผลการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ระยะเร่งด่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ จากเหตุการณ์อุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี65 ส่งผลให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย ราว 2.8 ล้านไร่ ใน 16 จังหวัด ภาคกลาง ซึ่ง สทนช.ได้เสนอโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ระยะเร่งด่วนในพื้นที่เจ้าพระยาใหญ่ และขอรับการสนุนงบประมาณประจำปี66 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ ก่อนเสนอ ครม. ต่อไป

‘บิ๊กป้อม’ เตรียมประชุม ‘สุดยอดผู้นำ ลุ่มน้ำโขง’ ยึดโยงประโยชน์คนไทย เจริญสัมพันธ์อันดีเพื่อนบ้าน

(2 มี.ค. 66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมได้รับทราบ ความคืบหน้ากระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ภายใต้ระเบียบปฏิบัติ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อน สานะคาม สปป.ลาว ซึ่งฝ่ายไทยยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดน โดย พล.อ.ประวิตร ได้กำชับให้คณะอนุกรรมการวิชาการ พิจารณาข้อมูลของโครงการ อย่างรอบคอบ อาทิ ด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพน้ำ ระบบนิเวศ การประมง ทางผ่านปลา และด้านเศรษฐกิจ/สังคม และรับทราบความคืบหน้า การขอรับการสนับสนุนโครงการจัดการประมงข้ามพรมแดน ภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF ครั้งที่ 8) รวมทั้งรับทราบความคืบหน้า โครงการจัดตั้งกองทุนแม่โขง (Mekong Fund) เพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์ในการบรรเทาผลกระทบและเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบข้ามพรมแดนจากการดำเนินการบนแม่น้ำโขง สายประธาน รวมทั้ง ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทำเพื่อชาวใต้ ‘ลุงป้อม’ บุกสุราษฎร์ฯ ติดตามแผนบริหารจัดการน้ำ ย้ำ!! ทุกส่วนราชการ เร่งดูแลปัญหาน้ำท่วม-แล้งในทุกมิติ

(13 มี.ค.66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และคณะ ลงพื้นที่ภาคใต้ 3 จ. เพื่อติดตามความคืบหน้าบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาพื้นที่และรับฟังความเดือดร้อนประชาชน โดยจุดแรกเดินทางไปศาลาอเนกประสงค์พรุเฉวง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มีผู้ว่าราชการจังหวัด เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) หัวหน้าส่วนราชการต่างต้อนรับ โดยรับฟังสถานการณ์ภาพรวมแผนงานและโครงการน้ำในพื้นที่ ปี 61- 65 คืบหน้า 870 โครงการ วงเงิน 4,469.40 ล้านบาท มีประชาชนได้รับประโยชน์ 45,687 ครัวเรือน และป้องกันความเสียหายได้ 15,975 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ 6 โครงการ คือ อ่างเก็บน้ำคลองสีสุก คลองลิปะใหญ่ ระบบป้องกันน้ำท่วม ตลาดไชยา ชุมชนเชิงมนต์ ชุมชนเฉวงและชุมชนวัดประดู่ 

จากนั้นลงพื้นที่ติดตามโครงการก่อสร้าง ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนบางรัก และโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมพรุเฉวง

ใจถึงพึ่งได้ ‘บิ๊กป้อม’ ลุย ‘ชุมพร-ระนอง’ แก้ปัญหาน้ำท้วม-แล้ง ชาวบ้านแห่ต้อนรับ เชียร์นั่งนายกฯ คนที่ 30

(13 มี.ค.66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รมช.คลัง และคณะ ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการพื้นที่ภาคใต้ ต่อเนื่องจากช่วงเช้า (จ.สุราษฎร์ธานี) โดยในช่วงบ่ายได้ลงพื้นที่ จ.ชุมพร และ จ.ระนอง 

โดยเมื่อเวลา 14.00 น. พล.อ.ประวิตร และคณะ ได้เดินทางถึงโครงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนฯ บ้านวังช้าง ต.ชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร มีนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผวจ. ให้การต้อนรับ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ จ.ชุมพร ยังคงมีปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นภูเขา เมื่อมีฝนตกหนักปริมาณน้ำมากเกินความจุลำคลอง ทำให้เกิดน้ำหลากในหลายอำเภอ 

สำหรับภัยแล้ง ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ลดลง ความต้องการใช้น้ำมากขึ้นโดยเฉพาะฤดูแล้งและยังไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ อย่างเพียงพอ จึงได้มีโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำ ของชุมชนที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยสร้างความรู้ ความเข้าใจการวางแผนการใช้น้ำ ที่มีอยู่ รวมทั้งการพัฒนา/เพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำชุมชน

จากนั้น พล.อ.ประวิตร ได้มอบนโยบายแก่ จังหวัด, สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลมีความห่วงใยต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากทุกปัญหา และพยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ไม่ทอดทิ้งใครอย่างเด็ดขาด รวมถึงจะพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ให้ครอบคลุมทุกมิติ 

จากนั้นได้พบปะพี่น้องประชาชน ที่มาให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง จากหลายอำเภอ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและความต้องการต่าง ๆ ซึ่งมีประชาชนจำนวนมาก แสดงความรู้สึกดีใจที่ได้ใกล้ชิด และได้สัมผัสถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานและความห่วงใยประชาชน อย่างแท้จริง พร้อมชื่นชมว่า ท่านใจดี ใจถึงพึ่งได้จริง มีลักษณะผู้นำที่จะสามารถนำพาประเทศก้าวข้ามความขัดแย้ง สู่การพัฒนาประเทศได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เหมาะที่จะเป็นนายกคนที่ 30 มากที่สุด

พี่ชายที่แสนดี!! ‘นิพิฏฐ์’ เผย ‘บิ๊กป้อม’ ขอ “อย่าว่าน้องผมแรง” รับ!! อิจฉา ‘บิ๊กตู่’ มีพี่ชายแสนดีชื่อ ‘ประวิตร’

(14 มี.ค.66) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊ก “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” หัวข้อ “เมื่อพลเอกประยุทธ์ มีพี่ชายที่แสนดี” มีรายละเอียดดังนี้...

“เมื่อ พลเอกประยุทธ์ มีพี่ชายที่แสนดี"

เมื่อวานตอนเย็น ผมได้รับโทรศัพท์จากทีมงานพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่า ท่านมีข้อหารือ ให้ผมขึ้นมา กทม. ด่วน ผมขึ้นเครื่องตอนกลางคืน เช้านี้ 06.00 น. ผมเข้าร่วมประชุมกับท่าน ผมบอกท่านว่า ท่านครับ อย่าประชุมเช้าอย่างนี้ได้ไหม ผมเป็นคนตื่นสาย ท่านบอกว่า ท่านเริ่มประชุมกับทีมงานแต่ละฝ่ายตั้งแต่ตีห้าครึ่ง

ที่คุยกันก็เรื่องยุติความขัดแย้งในบ้านเมือง ท่านอยากให้ เด็กๆ และเยาวชนเดินไปได้ โดยปราศจากความขัดแย้ง ความขัดแย้งอยู่ตรงไหนท่านจะเข้าไปแก้ให้ ท่านว่า โลกต่อไปนี้ เป็นโลกของคนรุ่นใหม่แล้ว เราเพียงประคับประคองให้เขาเดินไปได้อย่างมั่นคง ส่วนภาคใต้จะทำอะไรบ้างก็ให้บอกมา ผมรับงานหนักนี้กลับมาภาคใต้

'บิ๊กป้อม' ยันการเมืองไม่ต้องมีผู้ชนะเด็ดขาด-ไม่มีฝ่ายต้องแพ้ราบคาบ  ลั่น!! พร้อมแปรรูปนโยบายทุกพรรคที่ดีมาสานต่อหากได้เป็นรัฐบาล

(15 มี.ค.66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ในหัวข้อ ‘บทสรุปสู่ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ ระบุว่า ทีมงานได้วิเคราะห์ให้ผมฟังว่าจดหมายทั้ง 5 ฉบับ ไม่มีใครโต้แย้งในสาระสำคัญในเรื่องของเนื้อหา จากสื่อและสังคม แต่ก็มีสื่อบางท่านตั้งคำถามว่า จะทำได้หรือไม่ ซึ่งนั่นก็แปลว่าหากทำได้ก็จะเป็นผลดีต่อประเทศ สื่อบางท่านบ่นว่า ยาวไปหน่อย ก็ต้องตอบว่าสังคมโดยทั่วไป มีทั้งผู้เข้าใจและไม่เข้าใจ รวมทั้งสื่อเองก็อาจจะมีความเข้าใจแตกต่างกัน ระหว่างสื่อที่ทำข่าวการเมือง กับสื่อเศรษฐกิจหรือสื่อกีฬา ทีมงานจึงต้องระมัดระวังเป็นที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมโดยทั่วไป

ด้วยเหตุนี้ทีมงานจึงขอให้ผมใช้วิธีการสื่อสารด้วย Facebook จะอธิบายได้ดีกว่า ชัดเจนกว่า เพราะหากผมทำในสิ่งที่ผมไม่ถนัด คือการให้สัมภาษณ์ ซึ่งผมเป็นคนพูดไม่เก่งอยู่แล้ว อาจจะถูกตีความหมายผิดไปจากที่ผมต้องการสื่อสาร และจะต้องมาตามแก้ไขในภายหลัง ซึ่งไม่เป็นผลดีแต่อย่างใดสำหรับการเมือง และสำหรับความคิดของผมที่ต้องการให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า

จดหมายฉบับนี้ จั่วหัวว่า เป็นบทสรุป สู่ ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ ซึ่งผมได้อธิบายไปแล้ว ในหลายฉบับที่ผ่านมาว่าปัญหาความไม่เข้าใจในเรื่องของแนวคิด ของฝ่าย ‘อนุรักษ์นิยม’ กับ ‘ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม’ มีมาอย่างยาวนาน แล้วก็ยังวนเวียนอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องความไม่เข้าใจในเรื่องที่มาของปัญหา ว่าเกิดมาจากอะไร ทีมงานจึงถือโอกาสนี้อธิบายให้เข้าใจ ว่าประเทศไทยของเรานั้นเลือกที่จะปกครองในระบอบประชาธิปไตย นั่นก็คือการปกครองด้วยเสียงข้างมาก กล่าวคือผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชน ก็จะถือว่า เป็นมติของประชาชน อันจะส่งผลให้ผู้สมัครท่านนั้นได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และหากพรรคใดรวมเสียงข้างมากได้ก็จัดตั้งรัฐบาลในสภา ซึ่งเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ในหลักการแล้ว นับได้ว่า สภานี้เป็น ‘สภาของประชาชน’ ไม่ใช่เป็น ‘สภาของนักการเมือง’

เมื่อสภาเป็นของประชาชน การใช้เสียงข้างมากเพื่อหาข้อยุติในความเห็นต่าง บนผลประโยชน์ของส่วนรวมนั้นจึงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งไม่นับว่าเป็นความขัดแย้ง ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ มีการใช้มติของเสียงข้างมากในสภาบนผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องแล้วก็ไปอ้างว่าเป็นมติพรรค จึงไปฝืนความรู้สึกของ มติประชาชนที่เห็นต่าง และมีการทักท้วงจากสื่อและสังคมในกรณี ที่ขัดแย้งกันซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่สภาก็ไม่ฟังทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่า สภาไม่ใช่เป็นของประชาชนอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นสภาของนักการเมือง จะเอาเป็นที่พึ่งต่อไปไม่ได้แล้ว และประชาชนก็ตัดสินใจออกมาต่อต้าน มติของสภาและขับไล่รัฐบาล โดยไม่คิดแก้ไขตามกลไกของประชาธิปไตยคือ รอให้มีการเลือกตั้ง จึงทำให้เหตุการณ์ลุกลามกลายเป็นวิกฤติที่ทำให้ฝ่ายทหารต้องนำกำลังออกมาเพื่อยุติปัญหา ซึ่งเท่ากับว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลับเข้ามาควบคุมอำนาจอีกครั้งหนึ่ง

นี่คือสิ่งที่ทีมงานพยายามอธิบาย ครั้งแล้วครั้งเล่าให้ผมฟังเพื่อให้เข้าใจว่า ที่มาของปัญหาเกิดจากภายในสภาแต่มาจบกันนอกสภา หลังจาก ‘ฝ่ายอนุรักษ์นิยม’ ควบคุมอำนาจได้แต่ก็พ่ายแพ้ทุกครั้ง เมื่อการได้อำนาจต้องผ่านการเลือกตั้งในทางตรงข้าม ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ แม้จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่เสมอ แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่มีพลังพอที่จะต้านทานการเข้ามาควบคุมจากกลไกที่มีอำนาจอย่างแท้จริง ต่อโครงสร้างอำนาจของประชาชน เมื่อประเทศต้องอยู่ในสถานะที่ ‘ผู้ล้มเหลวทั้งสองฝ่าย’ ต่างก็ผลัดเข้ามาควบคุมอำนาจอาการหมดสภาพที่จะก้าวต่อไปสู่ความเจริญจึงเกิดขึ้นกับประเทศของเรา

นโยบายของแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกัน ผู้นำทั่วโลกของแต่ละยุคแต่ละสมัยต่างก็ปรับเปลี่ยนนโยบาย ขึ้นอยู่กับสถานะการณ์ ในช่วงเวลานั้นๆ การเมืองไทยก็เช่นกัน นโยบายในการบริหารประเทศของแต่ละพรรค การเมืองที่ต่างก็กำลังเสนอออกมาในขณะนี้ นับได้ว่าเป็นนโยบายที่ดีเพราะกลั่นกรอง มาจากบุคลากรชั้นนำของแต่ละพรรค แต่เป็นที่น่าเสียดายหากนโยบายเหล่านั้นจะไม่ได้รับการนำไปใช้เพราะ ต้องไปเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล

ผมตั้งใจว่าเมื่อ พรรคผมเป็นรัฐบาล ผมจะตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก นำนโยบายดีๆ ของทุกพรรค ที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียง เอามาทำและปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง โดยไม่ได้มีความรังเกียจหรือแบ่งแยก หากนโยบายเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ นี่คือการเมืองที่อยู่ในใจผม การเมืองที่ไม่ต้องมี ‘ผู้ชนะเด็ดขาด’ ‘ไม่มีฝ่ายใดต้องแพ้ราบคาบ’ ทุกคนทุกฝ่ายต้องตระหนัก ถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องช่วยกัน ร่วมมือกันฟื้นฟู และพัฒนาประเทศให้เดินไปข้างหน้าอย่างเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก

ผมขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ‘ผมพูดไม่เก่ง’ แต่ ‘ผมมีหัวใจ’ หัวใจที่ใหญ่พอจะยอมรับความแตกต่างทางความคิด เพื่อนำพาให้ ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ วิธีที่ผมคิดไว้คือให้ความเคารพอย่างแท้จริงต่อ ‘ประชาชนเสียงส่วนใหญ่’ ด้วยความเชื่อมั่นว่า ‘ประเทศจะเดินหน้าไปได้ด้วยการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย’ เท่านั้น

เพียงแต่ว่าเป็น ‘ประชาธิปไตยที่เปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มเข้ามาร่วมมีบทบาท’ เคารพใน ‘เสียงส่วนใหญ่’ แต่ ‘เปิดใจรับฟังเสียงส่วนน้อยที่มีความรู้ ความสามารถด้วยเจตนาดีต่อความเป็นไปของประเทศ’

‘บิ๊กป้อม’ สั่งคุมเข้ม ‘มาตรการทำเหมืองแร่’ ย้ำหลักใช้แร่อย่างยั่งยืน - เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

(15 มี.ค.66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมได้รับรายงาน แนวทางการดำเนินการส่งเสริมกิจกรรมเมืองแร่ โดยจะมีการพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการที่เข้าร่วมรับสมัคร เพื่อรับรางวัลเหมืองแร่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีธรรมาภิบาล พร้อมทั้งจัดให้มีกิจกรรมเหมืองแร่ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีธรรมาภิบาล ประจำปี พ.ศ.2566 และรับทราบ รมว.ทส. ได้เข้าร่วมการประชุมเสวนาโต๊ะกลม ระดับรัฐมนตรี ณ ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ในหัวข้อบทบาทของรัฐบาลในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานแร่ธาตุที่สำคัญ และการพัฒนาอุตสาหกรรม อย่างยั่งยืน 

พร้อมทั้งได้กล่าวปาฐกถาแสดงบทบาทของไทย ในเวทีระดับโลกต่อการพัฒนาแร่ โดยใช้หลักการใช้ทรัพยากรแร่อย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยึดหลัก BCG Model และแนวทางการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์แร่ อย่างคุ้มค่าเพื่อให้ เป็นสมบัติของคนรุ่นต่อไป โดยเน้นกระบวนการรีไซเคิล และอัปไซเคิล เพื่อลดการใช้ทรัพยากรแร่ และได้มีการหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ความร่วมมือในการสร้างศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านการพัฒนาแร่ธาตุที่สำคัญ ระหว่างภูมิภาค แอฟริกา-เอเชียตะวันตก-เอเชียกลาง

‘ลุงป้อม’ ลงใต้ เยือน ‘ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส’ ดันโครงการ ‘ศูนย์กลางผลิตอาหารฮาลาลของโลกมุสลิม’

(17 มี.ค.66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รมช.กห. และคณะ ได้ลงพื้นที่ภาคใต้ เพื่อไปปฏิบัติราชการในการประชุมสัญจร กพต. และตรวจ ติดตาม โครงการสำคัญตามแผนงาน พื้นที่ 3 จชต.

โดยเมื่อเวลา 09.30 น. พล.อ.ประวิตร และคณะเดินทางถึง หมู่บ้านกำปงบารู ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา พล.อ.ประวิตร ได้เป็นประธานพิธี เปิดศูนย์การเรียนรู้ฟาร์มมาตรฐานการเลี้ยงวัว ตามกรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล จชต. และมอบพันธุ์กระถิน, หญ้าเนเปียร์ ให้แก่เกษตรกร โดยได้กล่าวเปิดงาน ในฐานะประธาน กพต. ที่ต้องการสร้างอาชีพ เศรษฐกิจ และรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ ให้อยู่ดีกินดี และเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารฮาลาล ของโลกมุสลิม ต่อไป

จากนั้น ได้พบปะพี่น้องประชาชน ที่มาให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง พร้อมทั้งได้ทำการมอบผ้าละหมาด และอินทผาลัมแก่ผู้แทน หน่วยงาน/องค์กร ในพื้นที่ 5 จชต. บริเวณห้องโถงอาคาร ม.ราชภัฎยะลา ซึ่งได้มีผู้แทนกล่าวขอบคุณ ในโอกาสที่ท่านให้การช่วยเหลือและสนับสนุนโครงการต่าง ๆ 

‘บิ๊กป้อม’ หนุนสังคมพหุวัฒนธรรม มุ่งสร้างสันติสุข รองรับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนใต้

พล.อ.ประวิตร เร่ง สร้างสันติสุข / สังคมพหุวัฒนธรรม ฟื้น ศก.ชายแดนใต้ คงเข้ม งานข่าวต่อเนื่อง เน้นการปฏิบัติงานรอบคอบ / ไม่ประมาท มุ่งยกระดับการศึกษา สร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดร่วมกัน

(23 มี.ค.66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ครั้งที่ 1/2566 โดยมี รมช.กห. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมวิจิตรวาทการ สมช. ทำเนียบรัฐบาล ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมได้รับทราบ สถานการณ์ด้านการข่าวในพื้นที่ จชต. ซึ่งมีความคืบหน้าตามแนวทางสร้างสันติสุข โดย พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ หน่วยงานด้านการข่าวให้ติดตามสถานการณ์ อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเน้นย้ำให้หน่วยงานด้านความมั่นคง เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ตลอดเวลา ด้วยความรอบคอบ และไม่ประมาท และรับทราบความคืบหน้าของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านต่าง ๆ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้มีนโยบายให้ คณะอนุฯ ทุกด้าน เร่งยกระดับการขับเคลื่อน โดยเฉพาะด้านการศึกษา เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด และจัดทำแนวทางการพัฒนาโรงเรียนนำร่อง ที่เป็นต้นแบบความเป็นเลิศทางวิชาการ ส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม และใช้ประโยชน์จากสภาสันติสุขตำบลในการขยายผลสร้างความเข้าใจร่วมกัน พร้อมทั้งได้กำชับให้คณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ช่วยประสาน เร่งรัดการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการนำเรือประมง ออกนอกระบบ ตามที่ ครม.ได้เห็นชอบไปแล้ว จำนวน 96 ลำ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top