Tuesday, 20 May 2025
ปตท

CEO ใหม่ ปตท. รับลูกรัฐบาล หนุน 'ไฮโดรเจน-พลังงานสะอาด' ช่วยไทยก้าวสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

(14 มิ.ย. 67) นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. พร้อมรับนโยบายรัฐบาลมาปฏิบัติตาม เพื่อร่วมผลักดันให้เป็นไปตาม ‘แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 หรือ PDP 2024’ ฉบับใหม่ โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้มากขึ้นในสัดส่วน 51% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

โดย ปตท. เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ ดังนั้นจึงจะเข้ามามีบทบาทในการผลักดันการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในประเทศ และ ผลักดันโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) (โดยในร่างแผน PDP 2024 กำหนดสัดส่วนการใช้ไฮโดรเจน 5% นำไปผสมในเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ สำหรับผลิตไฟฟ้า) เนื่องจากไฮโดรเจนถือเป็นพลังงานสะอาด ที่จะเข้ามามีบทบาทช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยก้าวสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี พ.ศ. 2608 และ CCS ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอนาคตด้วย

สำหรับปัจจุบัน ปตท. ได้เข้าไปลงทุนในแหล่งไฮโดรเจนในต่างประเทศเพื่อศึกษาและเรียนรู้เทคโนโลยี เช่น ในแหล่งตะวันออกกลาง หากเริ่มมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน ปตท. ก็พร้อมขยายการลงทุนเพิ่ม ประกอบกับถ้ารัฐบาลไทยเริ่มส่งเสริมให้นำไฮโดรเจนมาผสมรวมในท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ทาง ปตท. ก็พร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลเช่นกัน รวมถึงจะขยายการใช้ไฮโดรเจนไปสู่ธุรกิจโมบิลลิตี้ (Mobility) ด้วย  

นอกจากนี้ในส่วนของราคาน้ำมันตลาดโลกที่ผันผวนนั้น ทาง ปตท. ได้ช่วยเหลือประชาชนด้วยการพยายามควบคุมราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ที่ผ่านมา ปตท. ได้นำน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์มาผสมในดีเซล เพื่อช่วยแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ และพยายามให้ผลประโยชน์ไปถึงเกษตรกรโดยตรงมากที่สุด

ส่วนกรณีที่ภาครัฐเดินหน้าผลักดันความร่วมมือในการสำรวจปิโตรเลียมในแหล่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา (OCA) ปตท.ยืนยันจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐแน่นอน เนื่องจากเป็นเรื่องความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ  

อย่างไรก็ตาม ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ จะนำนโยบายรัฐบาลมาดำเนินการให้สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจ ปตท. โดยคำนึงถึงประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียอย่างเหมาะสม บนพื้นฐานของความสมดุลทั้งด้านความมั่นคงทางพลังงาน กำไรที่เหมาะสม และการคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม

สำหรับในด้านธุรกิจนั้น ปตท.เตรียมทบทวนกลยุทธ์ทางธุรกิจตามแผนการลงทุน 5  ปีใหม่ (2568-2572) ภายในเดือน ส.ค. 2567 นี้ โดยจะต้องนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ปตท. (บอร์ด ปตท.) อนุมัติต่อไป คาดว่า จะเห็นความชัดเจนได้ในช่วงเดือน ก.ย.- ต.ค. 2567 นี้ ทั้งวงเงินลงทุน ธุรกิจที่จะเร่งเดินหน้าต่อ และธุรกิจที่อาจจะปรับลดขนาด หรือถอยการลงทุนลง เป็นต้น ซึ่ง ปตท.จะดำเนินการอย่างระมัดระวัง และเชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนหลังเห็นแผนการลงทุนที่ชัดเจนออกมาในอนาคต

‘พีระพันธุ์’ ยืนยัน!! ตรึงค่าไฟ 4.18 บาทต่อหน่วย ขอบคุณ ‘กกพ.-กฟผ.-ปตท.’ ช่วยทำเพื่อประชาชน

(19 ก.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวกรณีมีกระแสข่าวว่าจะปรับขึ้นค่าไฟ 6 บาทต่อหน่วย ว่า "จากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ข้อยุติว่า จะตรึงค่าไฟไว้ที่ 4.18 บาท รอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.67 โดยในวันนี้ได้เชิญประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.), ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และประธานคณะกรรมการบมจ. ปตท. (PTT) มาหารือร่วมกัน

"ส่วนจะตรึงต่อไปอีกกี่เดือนนั้น ต้องพิจารณาตามราคาตามค่าเอฟทีที่ปรับทุก 4 เดือน ซึ่งต้องมาดูตรงนี้ด้วย ถ้ามีการปรับลดลงราคาไฟก็ลดลง อย่างไรก็ตามสำหรับการตรึงค่าไฟรอบนี้ ต้องขอบคุณการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และปตท.ที่ยินดีไม่รับค่าตอบแทนใดๆ จากค่าไฟฟ้างวดนี้เลย เพื่อช่วยเหลือประชาชน"

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ากระแสข่าวที่ออกมาเกิดจากอะไร? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ก็เป็นเหมือนทุกครั้ง ที่พยายามทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด สื่อก็ต้องช่วยทำความเข้าใจ ต้องเข้าใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคิดในสิ่งที่ควรจะเป็นจริง ก่อนที่สุดท้ายจะต้องมาดูด้วยว่า นโยบายจะสามารถแก้ไขอะไรได้บ้าง" 

"การที่จะช่วยประชาชน ไม่ว่าจะค่าไฟฟ้าหรือน้ำมัน ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงพลังงานเพียงกระทรวงเดียว แต่ต้องประสานทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเรื่องราคาน้ำมันที่กระทรวงพลังงานพยายามตรึงไว้ที่ราคาเดิมที่ 33 บาท/ลิตร แต่ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนับวันเป็นภาระหนี้สินมากขึ้น การจะปรับลดราคาน้ำมันลงมาได้ต้องปรับลดภาษีด้วย ซึ่งตนพยายามปรับปรุงกฎหมายอยู่ ขณะนี้การยกร่างกฎหมายฉบับที่ 1 เกี่ยวกับการดูแลราคาน้ำมันประจำวันเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการทบทวนความถูกต้อง จากนั้นจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบต่อไป" นายพีระพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย

ธุรกิจ OR ขึ้นแท่นส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ใน สปป.ลาว เล็งขยายปั๊มเพิ่มเป็น 77 แห่ง-เข็นนอนออยล์รุกเต็มสูบ

(25 ก.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านธุรกิจต่างประเทศ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยภายหลังนำสื่อมวลชนเยี่ยมชมสถานีบริการน้ำมันใน สปป.ลาว.ว่า กลยุทธ์หลักของ OR ยังคงเน้นการขยายเครือข่ายสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น (PTT Station) และคาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon) รวมทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่มีศักยภาพ โดยมี สปป.ลาว เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ OR ให้ความสำคัญ

ทั้งนี้ OR ได้จัดสรรงบลงทุนระยะ 5 ปี (ปี 2567-2571) สำหรับกลุ่มธุรกิจ Global ไว้ที่ 8,007 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12% ของงบลงทุนทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดสากล

นายรชา กล่าวว่า สปป.ลาว เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ และยังมีโอกาสเติบโตได้อีก OR จึงได้วางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจทั้งกลุ่มธุรกิจ Mobility ได้แก่ การจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น คลังเก็บผลิตภัณฑ์ ธุรกิจหล่อลื่น พีทีที ลูบริแคนทส์ (PTT Lubricants) และศูนย์บริการยานยนต์ ฟิต ออโต้ (FIT Auto) และ ฟิต เอ็กซ์เพรส (FIT Express) รวมถึงการรุกตลาดธุรกิจพลังงานสะอาดด้วยสถานีชาร์จไฟฟ้า อีวี สเตชั่น พลัส (EV station PluZ) และกลุ่มธุรกิจ Lifestyle มีการดำเนินธุรกิจอย่างหลากหลาย ได้แก่ ร้าน Café Amazon ร้านสะดวกซื้อ และร้านอาหารข้าวเปียกปู เป็นต้น

นอกจากนี้ เมื่อต้นปี 2567 OR ยังร่วมกับพันธมิตร ริเริ่มโครงการใช้ระบบวนเกษตรในการพัฒนาไร่กาแฟต้นแบบให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟใน สปป.ลาว (Agroforestry Coffee Plantation) เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจส่งออกเมล็ดกาแฟ (Roasted Coffee and Green Bean Coffee) ให้แก่บริษัทในเครือของ OR ในต่างประเทศ รวมทั้งยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ในกลุ่ม OR อีกด้วย

นายพีรเวท ณ ระนอง Managing Director บริษัท พีทีที(ลาว) จำกัด (PTTLAO) กล่าวว่ากลยุทธ์ของ PTTLAO โดยมุ่งเสริมความแข็งแกร่งในตลาด สปป.ลาว พร้อมขยายฐานธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจของ PTTLAO ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ยังคงเดินหน้าแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ โดยร่วมมือกับพันธมิตรทั้งจากประเทศไทยและพันธมิตรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับกลุ่มธุรกิจ Mobility PTTLAO มีเครือข่ายคลังเก็บผลิตภัณฑ์ 7 แห่ง รองรับการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยความจุโดยรวมกว่า 7 ล้านลิตร รวมทั้งยังมีสถานีบริการ PTT Station รวม 56 แห่ง ครอบคลุมตลอดเส้นทางการเดินทางในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ นับเป็นสถานีบริการน้ำมันที่ผู้บริโภคของ สปป.ลาว นิยมใช้มากที่สุด โดยตั้งเป้าเพิ่มเป็น 77 ปั๊มในปี 2573 ทั้งนี้ OR มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง ในปี 2065 -2566 รวมทั้งธุรกิจหล่อลื่น PTT Lubricants และศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto และ FIT Express รวมจำนวน 9 สาขา

ส่วนกลุ่มธุรกิจ Lifestyle มีความโดดเด่นด้วยร้าน Café Amazon เป็นร้านแฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีจำนวนทั้งสิ้น 92 สาขา และตั้งเป้าขยายสาขาให้ครบ 110 สาขา ภายในปี 2567 นี้ และเพิ่มเป็น 150 สาขา ในปี 2573 โดย OR ได้เปิดร้านคาเฟ่ อเมซอน คอนเซ็ป สโตร์ (Café Amazon Concept Store) สาขาโรงกายะสิน ณ เมืองจันทะบูลี นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งนับเป็น Café Amazon Concept Store แห่งแรกในต่างประเทศ ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคชาวลาวเป็นอย่างดี และยังมีร้านคาเฟ่ อเมซอน สาขาหลวงพระบาง ณ แหล่งมรดกโลก ที่มีความโดดเด่น ด้วยการผสานแรงบันดาลใจจากเอกลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นไว้อย่างลงตัว

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจร้านสะดวกซื้อ และธุรกิจร้านอาหารข้าวเปียกปู ที่ PTTLAO พัฒนาขึ้นเป็นแบรนด์ใหม่ เพื่อรองรับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในสถานีบริการ PTT Station รวมทั้งในวันที่ 7 เดือน ส.ค. 2567 จะร่วมกับร้านสะดวกซื้อ 7-11 เปิดสาขาแรกในปั๊ม OR ที่สาขาสามแยกเซโน แขวงสะหวันนะเขต อีกทั้งยังตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบของผู้บริโภคที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ด้วยการติดตั้งและเปิดให้บริการสถานีชาร์จ EV Station PluZ จำนวน 6 แห่ง ในสถานีบริการ PTT Station เป็นต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2567)

PTTLAO ยังให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโต ใน 3 มิติ อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย OR 2030 อีกทั้ง ยังเป็นไปตามกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจตามแนวคิด OR SDG ในทุกมิติ ทั้งในด้าน ‘S’ หรือ ‘SMALL’ เสริมสร้างโอกาสเพื่อคนตัวเล็ก ‘D’ หรือ ‘DIVERSIFIED’ การเปิดโอกาสเพื่อการเติบโตทุกรูปแบบ และ ‘G’ หรือ ‘GREEN’ ที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment)

'บอสใหญ่ ปตท.' จัดกิจกรรม ‘เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ พร้อมเผยแพร่พระราชกรณียกิจสำคัญ เพื่อคนไทยได้ร่วมน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

(25 ก.ค. 67) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร และพนักงานกลุ่ม ปตท. จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่ ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ

ดร.คงกระพัน เปิดเผยว่า ในวันนี้คณะผู้บริหารและพนักงานกลุ่ม ปตท. ได้ร่วมกันผนึกพลังแห่งความจงรักภักดี ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยพร้อมใจกันแต่งกายด้วยเสื้อสีเหลือง ร่วมตักบาตรพระสงฆ์และสามเณรจากวัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดประจำในรัชกาลปัจจุบัน พร้อมด้วยวัดธรรมมงคลและวัดศรีเอี่ยม รวมจำนวน 73 รูป และได้ร่วมกันถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นพนักงานที่ดีและพลังของแผ่นดิน รวมทั้งมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ และร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสาผลิต ‘ถุงมือพิทักษ์ Tub’ สำหรับใช้ป้องกันการดึงสายน้ำเกลือ สายยางให้อาหารและท่อช่วยหายใจ เพื่อส่งต่อให้กับผู้ป่วยในสถานพยาบาลต่าง ๆ ต่อไป

“โครงการและกิจกรรมพิเศษที่ กลุ่ม ปตท. ร่วมดำเนินการในครั้งนี้ เป็นการเผยแพร่พระราชกรณียกิจและโครงการตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างสังคมไทยให้แข็งแรง สอดคล้องตามวิสัยทัศน์ 'ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย' และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” ดร.คงกระพัน กล่าว

อนึ่ง ในปี 2567 นี้ กลุ่ม ปตท. ได้มีการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ ประกอบไปด้วย 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่...

1.โครงการพัฒนาพื้นที่กำแพงเพชร 6  ปตท. จัดสรรพื้นที่จำนวน 10 ไร่ ขนานแนวโครงการพัฒนาคลองเปรมประชากรเฉลิมพระเกียรติฯ ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ทั้งท่าเรือและพื้นที่สาธารณประโยชน์ของชุมชน โดยการพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ พร้อมลานกิจกรรมและเส้นทางจักรยาน รวมถึงจัดสร้างอาคารนิทรรศการ 'ชลวิถีธีรพัฒน์' บอกเล่าเรื่องราวการพัฒนาสายน้ำ เพื่อ 'สืบสาน รักษา และต่อยอด' ตามพระราชปณิธาน โดยจะเปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ต่อไป

2.โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โครงการหลวงเลอตอ อ.แม่ระมาด จ.ตาก กลุ่ม ปตท. และโครงการหลวง ร่วมสืบสานพระราชปณิธาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขา ซึ่งถือเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งแรกในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10

3.ปลูกป่า 72,000 ไร่ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ แหล่งต้นน้ำ ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยครอบคลุมพื้นที่ป่าทั่วประเทศ ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 70,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

4.ผลิตหนังสั้นเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล จำนวน 2 เรื่อง เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจและผลสัมฤทธิ์ของโครงการด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตประชาชน ตามพระบรมราโชบาย จำนวน 10 โครงการทั่วประเทศ เผยแพร่ตั้งแต่วันนี้ถึง 3 สิงหาคม 2567 ทางโทรทัศน์และสื่อออนไลน์

5.กิจกรรมแสดง แสง สี เสียง เฉลิมพระเกียรติ ‘ลำนำนที วารีสมโภช’ โดย ปตท. ได้จัดกิจกรรมสุดพิเศษ ณ สวนสันติชัยปราการ (ป้อมพระสุเมรุ) ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2567 เวลา 15.00-21.00 น. โดยภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ เปิดล่องเรือเส้นทางพิเศษ เยี่ยมชมการพัฒนาสายน้ำและวิถีชุมชนคลองบางลำพู ตามพระบรมราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 10 ชมหนังสั้นเฉลิมพระเกียรติฯ การแสดงแสง สี เสียง ‘พรจากสายน้ำ’ ด้วยเทคนิค Immersive 3D Mapping ชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ การละเล่นจากชุมชนบางลำพูและดนตรีในสวน พร้อมร่วมทำกิจกรรม Workshop ศิลปะบนผืนผ้าใบ และการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย อีกทั้งชิมช้อปอาหารเด็ดย่านบางลำพู และ Street food ระดับมิชลิน และร้านค้าชุมชนมากมาย

สำหรับประชาชนที่สนใจ สามารถร่วมกิจกรรมในวันและเวลาดังกล่าว พร้อมทั้งร่วมพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 เวลาประมาณ 19.00 น. ณ สวนสันติชัยปราการ (ป้อมพระสุเมรุ) ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ

'ปตท.สผ.' ชี้!! ครึ่งปีแรก 67 นำส่งรายได้ให้รัฐแล้ว 30,170 ล้านบาท พร้อมจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 4.50 บาทต่อหุ้น

เมื่อวานนี้ (30 ก.ค.67) ปตท.สผ. เผยความคืบหน้าการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2567 ประสบความสำเร็จในการขยายฐานการลงทุนในตะวันออกกลาง ช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมให้บริษัทได้ทันที พร้อมจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 4.50 บาทต่อหุ้น โดยนำส่งรายได้จากการดำเนินธุรกิจให้กับรัฐประมาณ 30,170 ล้านบาท เพื่อการพัฒนาประเทศ 

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2567 ว่าบริษัทมีความคืบหน้าที่สำคัญในส่วนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยได้ขยายฐานการลงทุนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จากการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 10 ในแปลงสัมปทานกาชา หนึ่งในแหล่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของยูเออี ซึ่งสามารถเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมให้บริษัทได้ทันที และช่วยเสริมประโยชน์และประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการร่วมกับโครงการสำรวจอื่น ๆ ซึ่งบริษัทมีการลงทุนอยู่แล้วในยูเออี โดยคาดว่าแปลงสัมปทานกาชาจะมีปริมาณการผลิตก๊าซฯ ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในปี 2573 และมีแผนที่จะทำการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อีกด้วย

ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ปตท.สผ. ได้จัดทำ 'EP Digital Platform' ซึ่งเป็นศูนย์รวมโครงการนวัตกรรมดิจิทัล ทั้งที่บริษัทพัฒนาขึ้น และพัฒนาร่วมกับพันธมิตร กว่า 65 โครงการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานอย่างครบวงจร ตั้งแต่งานด้านการสำรวจและการผลิตปิโตรเลียม การซ่อมบำรุง โลจิสติกส์ และความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ลดระยะเวลาในการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กร รวมถึง สร้างประโยชน์ให้กับภาคอุตสาหกรรมทั้งปัจจุบันและต่อไปในอนาคต 

ปตท.สผ. ยังได้ทำโครงการ 'Subsurface Data for U' เพื่อส่งมอบข้อมูลทางด้านธรณีศาสตร์จากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจริงจากการดำเนินงานของบริษัท ให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีการเรียนการสอนในสาขาธรณีศาสตร์และวิศวกรรมปิโตรเลียม เช่น ข้อมูลการสำรวจคลื่นไหวสะเทือน ข้อมูลหลุมเจาะ และข้อมูลด้านวิศวกรรมปิโตรเลียม ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนและการศึกษาวิจัยให้กับสถาบันการศึกษาและนิสิตนักศึกษา เพื่อส่งเสริมการสร้างบุคลากรด้านธรณีศาสตร์ให้กับประเทศและส่งเสริมอุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

สำหรับการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลนั้น ปตท.สผ. ได้พัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเล หรือ PTTEP Ocean Data Platform ขึ้น โดยร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เพื่อรวบรวมข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเล ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการใช้แท่นผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่งเป็นสถานีเก็บข้อมูล เช่น ข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาและสมุทรศาสตร์ รวมทั้ง แสดงผลการศึกษาปริมาณไมโครพลาสติกในทะเล การตรวจติดตามและระบุชนิดสัตว์ทะเลใต้ขาแท่นผลิตปิโตรเลียม เพื่อใช้ในการจัดทำแผนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ 

ส่วนการดำเนินงานเพื่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) นั้น ณ สิ้นไตรมาส 2 นี้ ปตท.สผ. ได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมได้ประมาณ 3.22 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เมื่อเทียบกับความเข้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปีฐาน 2563 โดยการบริหารจัดการการลงทุนในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีคาร์บอนต่ำ การจัดการหลุมผลิตที่เหมาะสม รวมถึง การจัดทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ เช่น การนำก๊าซส่วนเกินจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมกลับมาใช้ใหม่ การปรับปรุงกระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น

สำหรับผลประกอบการในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2567 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 166,887 ล้านบาท (เทียบเท่า 4,608 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.)) มีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 489,879 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มอัตราการผลิตปิโตรเลียมของโครงการ G1/61 สู่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนราคาขายผลิตภัณฑ์ปรับตัวลงเล็กน้อยจากราคาขายก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลง โดยในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทมีกำไรสุทธิ 42,660 ล้านบาท (เทียบเท่า 1,177 ล้านดอลลาร์ สรอ.) และมีต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) อยู่ที่ 28.6 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาที่ร้อยละ 76

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินการดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก ปี 2567 ที่ 4.50 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 14 สิงหาคม 2567 และจะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 28 สิงหาคม 2567

นอกจากนี้ ในรอบครึ่งปีแรกของปี 2567 ปตท.สผ. ยังได้นำส่งรายได้ให้กับรัฐในรูปของภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ  จำนวนกว่า 30,170 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น นอกจากนี้ ส่วนแบ่งของผลผลิตปิโตรเลียมจากโครงการ G1/61 และ G2/61 ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ยังเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่งที่รัฐได้รับโดยตรงจากการผลิตปิโตรเลียม เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศอีกด้วย

‘OR’ ผนึกกำลัง ‘บาชุนดารา กรุ๊ป’ ขยายธุรกิจ ‘Café Amazon’ ในบังกลาเทศ ตั้งเป้าเปิดสาขาแรกไตรมาส 4 ปีนี้ พร้อมวางแผนต้องมีอย่างน้อย 100 สาขา

(31 ก.ค.67) นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และนายอาห์เมด อัคบาร์ โซบาน (Ahmed Akbar Sobhan) ประธานกรรมการ บาชุนดารา กรุ๊ป (Chairman of Bashundhara Group) ร่วมลงนามสัญญาการมอบสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ (Master Franchise) คาเฟ่ อเมซอน ในประเทศบังกลาเทศอย่างเป็นทางการ โดยมี นายพสุศิษฏ์ วงศ์สุรวัฒน์ อัครราชทูต ณ กรุงไคโร ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ณ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ และ นายโมฮัมหมัด มาซูมูร์ ราฮามาน (Mr. Md. Masumur Rahaman) อัครราชทูตที่ปรึกษา (Counsellor and Head of Chancery) สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ ห้องกรุงเทพ 1 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร โดยวางแผนจะเปิดคาเฟ่ อเมซอน สาขาแรกภายในไตรมาส 4 ของปี 2567 และมีเป้าหมายเปิดร้านอย่างน้อย 100 สาขาต่อไป

โดยนายดิษทัต เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการขยายธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน สู่ตลาดบังกลาเทศ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ตลาดผู้บริโภคที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และวัฒนธรรมการบริโภคกาแฟที่กำลังเติบโตอย่างมาก นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวบังกลาเทศยังมีความชื่นชอบในสินค้าและแบรนด์จากประเทศไทย เนื่องจากไว้วางใจในคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ รวมถึงมีความเชื่อมั่นในแบรนด์ที่มาจากประเทศไทย และยังเป็นการเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ของ OR แข็งแกร่งยิ่งขึ้น สอดคล้องกับหนึ่งในพันธกิจของ OR ที่มุ่งสร้างทางเลือกเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคทุกไลฟ์สไตล์อย่างครบวงจร

ทั้งนี้ การขยายธุรกิจครั้งนี้ OR หวังว่าด้วยความชำนาญในธุรกิจกาแฟของ OR ที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพในการเติบโตของคาเฟ่ อเมซอน ผนวกกับความเชี่ยวชาญในการบริหารธุรกิจหลากหลาย ซึ่งครอบคลุมธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของบาชุนดารา กรุ๊ป จะทำให้ คาเฟ่ อเมซอน ได้รับการต้อนรับจากผู้บริโภคในบังกลาเทศเป็นอย่างดี และสามารถร่วมกันสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป โดย OR จะเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่ง และจะยังคงพัฒนาธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอเครื่องดื่มและบริการที่ดีที่สุดแก่ผู้บริโภคชาวบังกลาเทศต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของ OR ในการขยายฐานการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันกับสังคม ชุมชน และเศรษฐกิจในพื้นที่ ตลอดจนสร้างความสำเร็จและการยอมรับในตลาดโลก นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของ OR คือ ‘Empowering All toward Inclusive Growth’ หรือ เติมเต็มโอกาสเพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน 

'ดร.คงกระพัน' เปิดแผน!! เขย่า ปตท.ครั้งใหญ่ พลังงานรูปแบบใหม่ รายได้ใหม่ โอกาสระยะยาว

แม้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ทาง ปตท.จะแถลงผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี โดยมีกำไรสุทธิรวมของ ปตท. และบริษัทย่อยจำนวน 64,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,475 ล้านบาท หรือ 34.4% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2566 พร้อมๆ กับการเปิดเผยภาษีนำส่งรัฐรวม 35,684 ล้านบาท และส่วนร่วมบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตด้านราคาพลังงาน ตั้งแต่ปี 2563 ในวงเงินกว่า 24,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน

แต่สิ่งที่ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บอสใหญ่คนใหม่ ดูจะย้ำในงานแถลงครั้งนี้บ่อยครั้ง กลับไม่ใช่การเน้นในเรื่องของความสำเร็จจากผลการดำเนินงานจากกลุ่ม ปตท.เท่าไรนัก 

เหตุผลหนึ่ง เพราะ ดร.คงกระพัน รู้ดีว่ากลุ่มธุรกิจเดิมของ ปตท.ที่มีอยู่ เริ่มส่งสัญญาบางอย่าง เช่น การเติบโตขึ้นบ้าง ทรงๆ บ้าง และบางกลุ่มอาจจะเหนื่อยในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของพลังงานรูปแบบเดิม ซึ่งในอนาคต เชื่อว่าจะต้องปรับเปลี่ยนไปจากอิทธิพลของ 'สภาพภูมิอากาศ' ในโลกที่บีบให้มนุษย์ต้องหันมาใช้พลังงานที่สะอาดมากขึ้น 

ขณะเดียวกันแนวโน้มพลังงานฟอสซิลพลังงานเดิมที่ใช้อยู่ ก็จะค่อยๆ ลดลงในอนาคต ภายใต้การคาดการณ์ว่า ถ่านหินจะลดลงเร็วกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ถัดมาคือน้ำมันก็จะลดลงต่อไป ส่วนก๊าซธรรมชาติจะลดลงช้า ปตท.ยังมุ่งเน้นในการขยายธุรกิจก๊าซธรรมชาติ คือ LNG และมุ่งมองหาพลังงานหมุนเวียนอื่นมาพลังงานทดแทน ซึ่งหลัก ๆ จะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์และลม รวมไปถึงไฮโดรเจน

ดังนั้น สิ่งที่ ดร.คงกระพัน ได้ประกาศในเชิงของเป้าหมายจากนี้ จึงชัดเจนไปที่ การมุ่งสร้างธุรกิจเพื่อความมั่นคงทางพลังงานให้เมืองไทย ที่อยู่บนพื้นฐานความถนัดของ ปตท. และต้องทำกำไรได้ในระยะยาว ซึ่งก็คงไม่พ้นการปรับทิศหันหาพลังงานสะอาดที่เด่นชัดขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานแห่งอนาคต ที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero 

"การทำให้ ปตท.เติบโตยั่งยืนอย่างสมดุลจากนี้ จะอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ ที่จะสร้างความ "แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน' หรือ TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD...

"ขณะนี้เรากำลังทบทวนตัวเอง (Revisit) เพื่อเดินหน้าแผนกลยุทธ์ใหม่ในการทำธุรกิจ จากเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ที่ ปตท. ก็ไม่ต่างจากผู้ผลิตในกลุ่ม Oil Major ต่าง ๆ ในโลก ซึ่งมองเห็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) และแนวโน้มการใช้น้ำมันจะลดน้อยลง ส่งผลให้ทุกรายกระโดดเข้าไปทำธุรกิจอื่นนอกเหนือจากเรื่องน้ำมัน ซึ่งอาจจะมีทั้งธุรกิจที่ถนัดบ้างไม่ถนัดบ้าง มีการลองผิดลองถูก แต่ในส่วนของเราจากนี้ คงต้องเลือกทำแบบโฟกัส เพราะเงินเราไม่ได้มีอย่างไม่จำกัด"

ดร.คงกระพัน เผยต่อว่า ปัจจุบันธุรกิจของ ปตท.แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ธุรกิจ Hydrocarbon & Power ที่ครอบคลุม การสำรวจและผลิต ก๊าซ น้ำมัน ปิโตรเคมีและการกลั่น ค้าปลีกน้ำมัน และธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจที่เรามีความถนัด ซึ่งตอนนี้มีสัดส่วนกำไร 99% ของกำไรรวมของ ปตท. แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ธุรกิจกลุ่มนี้ก็ต้องปรับตัว ทำให้ดีขึ้น ต้นทุนต่ำลง รวมถึงการหาโอกาสในการเติบโตใหม่ ๆ เช่น การหาพันธมิตรที่เหมาะสม เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับธุรกิจ แต่สิ่งสำคัญคือจะทำแบบเดิมไม่ได้ ต้องทำควบคู่กับการลดคาร์บอน

อีกกลุ่มคือ ธุรกิจ Non-Hydrocarbon เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับเมกะเทรนด์ (Mega Trend) อย่างเช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ปตท. ได้ทบทวนธุรกิจกลุ่มนี้ใหม่ทั้งหมดทั้ง value chain และพบว่าธุรกิจ EV Charging หรือการอัดประจุกระแสไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ น่าจะเป็นธุรกิจที่เหมาะสมกับกลุ่ม ปตท. โดยสามารถใช้จุดแข็งของบริษัท ปตท.นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่มี Ecosystem ที่ดี ใกล้ชิดกับลูกค้า โดย OR จะมีบทบาทเป็น Mobility Partner ให้กับคนไทย

อย่างไรกับก็ตาม การจะ Revisit ตัวเองนั้น ดร.คงกระพัน มองว่าจะต้องวิเคราะห์ 2 มุมมองให้ออก คือ...

1) ธุรกิจที่ทำใน Value Chain นั้นยังเป็นธุรกิจที่ดีอยู่หรือไม่ เพราะ 3-4 ปีที่แล้วกับวันนี้คนละเรื่องกัน

และ 2) ปตท. มี Right to play หรือจุดแข็งในการจะเข้าไปทำธุรกิจกลุ่มนี้หรือไม่

"ถ้ามีทั้ง 2 อย่าง แปลว่าธุรกิจยังน่าสนใจอยู่ เราสู้ ทำต่อ หรือบางธุรกิจอาจจะต้องเร่งเครื่องด้วย บางธุรกิจอาจจะต้องออก เช่น กรณีที่ธุรกิจที่ลงทุนไปแล้วไม่ตอบโจทย์ ปตท. ก็มีทางออกหลายวิธี เช่น อาจจะต้องหาพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจที่จะต้องดูความสามารถในการแข่งขันว่าเหมาะสมกับเราไหม สามารถเข้าหรือออกได้ ไม่อย่างนั้นจะเป็นการกอดสินทรัพย์ (Asset) ไว้เยอะเกินไป เราจึงควรต้องทำให้ตัวเบา" ดร.คงกระพัน กล่าว

ทั้งนี้ ภายใต้แผนการทบทวนตัวเองของ ปตท. ก็มีการพูดถึง 'CCS – ไฮโดรเจน' เข้ามาเป็นสมการสำคัญอยู่อย่างชัดเจนขึ้นด้วย

"อย่างที่บอกไปว่า ตอนนี้เราทำ Strategy Plan เสร็จแล้ว ซึ่งก็จะเริ่มบอกได้ชัดเจนว่า ธุรกิจไหนจะเร่งเครื่อง? ธุรกิจไหนจะถอย? อย่างไฮโดรคาร์บอนจะทำไฮโดรเจน คู่กันกับ CCS ช่วงปลายปีก็จะรู้ว่าต้องใช้เงินลงทุนเท่าไร ต้องกู้เท่าไร ต้องปันผลอย่างไร จะมีความสามารถที่จะลงทุนแค่ไหน ก็เอามาเทียบกับโครงการที่จะเกิดขึ้น แต่แน่นอนว่าอยู่ในแผนการ...

"นั่นก็เพราะ 'ไฮโดรเจน' (Hydrogen) จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยลดคาร์บอน สำหรับภาคอุตสาหกรรม เพราะอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า โรงกลั่น โรงปิโตรเคมี หากปรับเปลี่ยนมาใช้ไฮโดรเจนเป็นส่วนผสมของเชื้อเพลิง จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ หากเราสามารถใช้ไฮโดรเจนทดแทนไฮโดรคาร์บอนได้ 5% ก็จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 5% เช่นกัน"

(***แนวโน้มราคาต้นทุนผลิตไฮโดรเจนจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ทำให้ ปตท.อาจจะดำเนินการได้เร็วกว่าแผน)

ดร.คงกระพัน เสริมอีกว่า "ก่อนหน้านี้ทางท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ได้ไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งท่านก็คุยเรื่องไฮโดรเจนเหมือนกัน ทาง ปตท. ก็ได้มีคุยกับท่านแล้ว ทางซาอุดีอาระเบียก็อยากจะมาลงทุนที่เมืองไทย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะตลาดนี้มีศักยภาพใหญ่กว่า Mobility เป็นร้อยเท่าเลยทีเดียว"

"ส่วนการลงทุนเรื่อง CCS (การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage) จะอยู่ในแผนการลงทุน 5 ปีแน่นอน และไม่ใช่สิ่งเดียวกับที่ ปตท.สผ. ทำก่อนหน้านี้ ซึ่งโครงการของ ปตท.สผ. นั้นเป็นแซนด์บ็อกซ์ เป็นการทดลองเบื้องต้น แต่โครงการนี้กลุ่ม ปตท. เราวางแผนกลยุทธ์การกักเก็บคาร์บอนร่วมกัน หรือก็คือใครปล่อยก็เก็บ เช่น IRPC, GC, GPSC, TOP จะต้องดักจับคาร์บอนมาจากโรงงานตัวเอง การเก็บไม่ได้แปลว่า ต้องปล่อยแล้วก็เก็บ บางทีอาจจะเก็บตั้งแต่ยังไม่ปล่อยเลยก็ได้ โดยมี ปตท. เป็นคนลงทุนเรื่อง Infrastructure และทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อปลดล็อกกฎระเบียบ และให้ ปตท.สผ. ช่วยดูแลปลายทาง ในเรื่องการเก็บลงหลุมเช่น ใต้ทะเล"

อย่างไรก็ตาม ดร.คงกระพัน มองว่า ในส่วนของเทคโนโลยี CCS นั้น ในต่างประเทศไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ มีการลงทุนทำกันมาเยอะในหลายประเทศ อย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรปก็มีเทคโนโลยีอยู่แล้ว ซึ่งหากปตท.จะลงทุน ก็อาจจะลงทุนพัฒนาร่วมกับพันธมิตร หรืออาจจะไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อเอาเทคโนโลยีมาปรับประยุกต์ ก็เป็นไปได้หมด

สุดท้าย ซีอีโอ ปตท. ให้บทสรุปว่า ไม่ว่าจะมีความท้าทายในด้านพลังงานอย่างไร ปตท.ต้องมีทิศทางชัดเจน ดังวิสัยทัศน์ 'ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน' ซึ่งต้องสร้างความแข็งแรงร่วมกับสังคมไทย ภายใต้การเติบโตทางธุรกิจที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืนอย่างสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการมีธรรมาภิบาลที่ดี รวมถึงยึดความมั่นคงทางพลังงานของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ

เงื่อนปมที่ถูกคลาย!! 'ผลงานประเทศไทย' ที่เริ่มเป็นรูปธรรมจากคนทำงาน ความจริงเหนือเปลือก ‘ประชาธิปไตย-เสรีภาพ’ ที่เป็นได้แค่ ‘ทุพพลภาพ’

(25 ส.ค. 67) จากผู้ใช้ TikTok ชื่อบัญชี ‘เทพกบ’ หรือ ‘Kitty.3951’ ได้โพสต์คลิปเนื้อหาผลงานที่ ‘ลุงตู่’ ได้เตรียมแผนการต่างๆ ไว้เพื่อสร้างประโยชน์แก่ประเทศไทยในระยะยาว เพื่อให้หลายคนที่ไม่เข้าใจ มองไม่เห็น คิดตามไม่ทัน และยังสนใจ-ชื่นชอบ 'ใครสักคน' จากผลโพลแบบไม่ลืมหูลืมตาได้เปิดตาและเปิดใจเสียใหม่ ระบุว่า ...

>> เคยรู้ไหมครับว่า ‘ระยอง’ จะเป็น ‘Smart City’ ?
>> รู้ไหมครับว่า Smart City มันมีอะไรบ้าง ?
>> รู้ไหมครับว่าสิ่งที่ประเทศไทยกําลังจะเกิดขึ้นคือ EEC ? 
>> รู้ไหมครับว่าพลังงานสะอาด มันเป็นเทรนด์ของโลก ?
>> แล้วรู้ไหมครับว่านโยบายต่างๆ ที่เขามอบหมายให้ ปตท. ช่วงระหว่างปี 2561 – 2562 ให้ไปจับมือกับฟ็อกซ์คอน จนก่อให้เกิดการตั้งบริษัท Horizon / บริษัทอรุณพลัส และต่างๆ นานา เพื่อมาวิจัยในเรื่องของแบตฯ EV Car รวมถึงเรื่องไฮโดรเจน เพราะว่ารถ EV Car มีข้อเสียคือ ชาร์จไฟนาน วิธีการแก้ชาร์จไฟนาน ก็คือ การเติมไฮโดรเจน ?

นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลลุงตู่ พยายามแก้ไขปัญหาพลังงานในระยะยาว หลังจากที่จะเริ่มมูฟออกจากน้ำมัน โดยการที่เขาจะมูฟออกจากน้ำมัน นั่นคือ เพราะพยายามที่จะผลักดันให้คนหันไปใช้ EV Car จึงต้องวางรากฐาน EV Car ไว้ 

สังเกตจากประเทศจีนที่ใช้ EV Car กว่า 90% เพราะฉะนั้นเขาเลยไม่มีปัญหาเรื่องราคาน้ำมัน และนึ่ก็เป็นอีกสิ่งที่เขาจะพยายามทำ คือ ช่วยลดราคาน้ำมัน ผ่านการ ลดความต้องการ หรือก็คือ ให้คนเลิกใช้น้ำมัน เดี๋ยวน้ำมันก็ถูกลงเอง 

รัฐบาลลุงตู่ จึงวางรากฐาน EV Car โดยการปูนโยบายให้ ปตท. ซึ่งในปัจจุบันนั้นถือได้ว่าปตท. เป็นของรัฐเรียบร้อยแล้วในทางพฤตินัย และต่อให้ นิตินัย ผู้ถือหุ้น ก็ยังเป็นกระทรวงการคลังถึง 50%

และหากสังเกตให้ดี นโยบายของประธานกรรมการ ปตท. ก็ประกาศออกมาแล้วว่า จะเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงส่งผลให้เกิดการวิจัยต่างๆ นวัตกรรมต่างๆ เยอะแยะมากมาย และมันจะเกิดสายงานใหม่ๆ และงานใหม่ๆ 

ทีนี้ ก็อยู่ที่ เด็กรุ่นใหม่ จะมองเห็นรึเปล่า หรือมองเห็นแค่ว่า ‘ประชาธิปไตย-เสรีภาพ-ภราดรภาพ’ สุดท้ายกลายเป็น ‘ทุพพลภาพ’

>> เคยรู้เรื่องการเงินไหม ?
>> เคยรู้เรื่องงาน World Economic Forum ไหม ?
>> รู้จัก Metaverse / 3D Printing / Blockchain ดีพอหรือยัง ?
>> แล้วรู้จักบริษัท ‘BlackRock’ หรือไม่ รู้ไหมว่า BlackRock เป็นบริษัทของตระกูลใด BlackRock เป็นผู้ที่วางรากฐานพร้อมเพย์ และรู้ไหมว่า เขาเลือกประเทศไทยเป็นฐานในศูนย์กลางทางการเงินในอาเซียน 

เพราะคุณไม่รู้ คุณไม่เข้าใจ แล้วคุณก็ไปบ้าอยู่กับ ‘ผลโพล’

CATL ผนึกกำลังเครือ ปตท. เดินหน้าพัฒนาระบบนิเวศพลังงานไทย ชูเป้าหมายใหญ่ เปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด

เมื่อวานนี้ (28 ส.ค. 67) บริษัท เอ ซี เอนเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด A C Energy Solution (ACE) และ Contemporary Amperex Technology Co., Ltd. (CATL) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อศึกษาและพัฒนาระบบนิเวศพลังงานไทย ณ สำนักงานใหญ่ CATL เมืองหนิงเต๋อ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) พร้อมด้วย Mr. LiBin Tan Chief Customer Officer & Co-President of the Market System CATL, นายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ ACE และ Mr. See Tzu Cheng (ขวาล่าง) General Manager of APAC & Strategic Projects CATL ร่วมเป็นเกียรติในพิธี

🚗#กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) จากนโยบายการสนับสนุนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ทำให้ปริมาณการใช้ EV มีการเติบโตอย่างเนื่อง โดยปัจจุบัน ACE และ CATL ได้มีความร่วมมือในการจัดตั้งโรงงานประกอบ EV battery pack โดยใช้เทคโนโลยีชั้นนำจาก CATL และ EV value chain จากกลุ่ม ปตท. โดยมุ่งเน้นการผลิต ประกอบ battery pack ที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังมีแผนในการศึกษาการพัฒนา ระบบ green factory เพื่อรองรับ Net Zero ในอนาคต เพื่อลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้การพัฒนาระบบ Green factory โดยการนำ Renewable energy และ ระบบ battery มาประยุกต์ใช้ ยังสามารถต่อยอดธุรกิจไปได้หลากได้ด้าน ทั้ง PPA และ Private PPA ภายในประเทศในอนาคตอันใกล้

⚡#กลุ่มการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging) การเติบโตอย่างรวดเร็วของยานยนต์ไฟฟ้า จำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ผู้ใช้สามารถชาร์จไฟได้สะดวกและรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตามสถานีชาร์จปัจจุบัน ยังพึ่งพาระบบโดยทั้งหมดจากการไฟฟ้า ทำให้เกิดปัญหาในหลายมิติ อาทิเช่น Grid stability, Low priority power เป็นต้น โดยความร่วมมือดังกล่าวจะร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการพลังงานในสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการติดตั้งระบบ BESS ร่วมกับ Solar system เพื่อลดภาระการใช้งานพลังงานจาก Grid เพิ่มความเสถียรของระบบไฟฟ้าในสถานีชาร์จ โดยการจัดการกับความผันผวนของการใช้พลังงานและลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนพลังงาน และรองรับการชาร์จเร็ว (Super-fast charging) ได้ถึง 4C - 6C เป็นต้น

🔋#กลุ่มระบบกักเก็บพลังงานและพลังงานหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระบบพลังงานของประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ความร่วมมือนี้มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเก็บและจัดการพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และนำมาใช้ในช่วงเวลาที่มีความต้องการสูง ระบบ ESS นี้จะช่วยลดการสูญเสียพลังงานและเพิ่มความเสถียรของระบบไฟฟ้า และลดค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงานในช่วงเวลาที่มีค่าไฟฟ้าสูง (peak hours) โดยการใช้พลังงานที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่แทน นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพลังงานและลดภาระการใช้พลังงานจาก Grid นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือในการศึกษาการสร้าง ESS production line และ Battery cell production line เพื่อรองรับการเติบโตและเป็นการสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย

🚉#กลุ่มระบบการขนส่ง การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ไม่ใช่แค่รองรับรถยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับการขนส่งที่ยั่งยืน (Sustainable Transportation) เนื่องจากการขนส่งเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือดังกล่าวได้ร่วมศึกษาพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน เทคโนโลยี การวางแผนเมืองโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ให้รองรับการขนส่ง อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น ระบบบริหารจัดการพลังงาน ระบบการชาร์จ ระบบ renewable energy ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

'บีโอไอ' หนุน 'ฮานา-ปตท.' ยกระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ ผุดโรงงานผลิตชิปชนิด 'ซิลิคอนคาร์ไบด์' แห่งแรกของประเทศไทย

'บีโอไอ'หนุนบริษัทร่วมทุน 'ฮานา - ปตท.' เดินหน้าแผนลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิปชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์แห่งแรกของไทย ภายในสิ้นปีนี้ หลังได้รับอนุมัติจากบีโอไอและออกบัตรส่งเสริมเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ลงทุนเฟสแรก 11,500 ล้านบาท เริ่มผลิตภายใน 2 ปี รองรับการเติบโตของกลุ่ม Power Electronics ทั้ง EV, Data Center และระบบกักเก็บพลังงาน ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำของไทย

(23 ก.ย. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ได้นำคณะลงพื้นที่จังหวัดลำพูน เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการลงทุนผลิตชิป (Wafer Fabrication) แห่งแรกของประเทศไทย ของบริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น จำกัด (FT1) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ และกลุ่ม ปตท. หลังจากที่บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จากนั้นบริษัทได้ดำเนินการออกบัตรส่งเสริมเมื่อเดือนสิงหาคม

ที่ผ่านมา บีโอไอได้ทำงานร่วมกับบริษัทฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อสนับสนุนการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบโรงงาน และเตรียมเริ่มก่อสร้างโรงงานในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ จังหวัดลำพูน ภายในเดือนธันวาคมของปีนี้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรประมาณ 2 ปี ก่อนจะเริ่มผลิตในช่วงไตรมาสแรกของปี 2570

บริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น จำกัด จะจัดตั้งโรงงานผลิตชิปต้นน้ำแห่งแรกในประเทศไทย เงินลงทุน เฟสแรกกว่า 11,500 ล้านบาท โดยรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตชิปชั้นนำของเกาหลีใต้ เพื่อผลิตชิป (Wafer) ชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์ (SiC) ขนาด 6 นิ้ว และ 8 นิ้ว โดยมีคุณสมบัติสำคัญที่แตกต่างจากชิปทั่วไปที่ผลิตจากซิลิคอน คือ สามารถทนกระแสไฟฟ้าและความร้อนสูงได้ จึงเหมาะสมสำหรับการใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ควบคุมการแปลงพลังงานไฟฟ้า (Power Electronics) เช่น เครื่อง Server ใน Data Center อุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า Inverter ในยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุปกรณ์แปลงพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้มีแนวโน้มเติบโตสูงในอนาคต

เหตุผลสำคัญของการเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้งของโครงการนี้ เนื่องจากข้อกำหนดหลักของลูกค้า คือ...

1) ต้องตั้งในประเทศที่มีความเป็นกลางเพื่อลดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ 
2) มีต้นทุนที่แข่งขันได้ และ...
3) มีขีดความสามารถในการขยายกำลังการผลิตในอนาคต ซึ่งประเทศไทยสามารถตอบโจทย์เหล่านี้ 

นอกจากนี้ ไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง ไฟฟ้ามีความเสถียร มีศักยภาพด้านพลังงานสะอาด บุคลากรมีคุณภาพสูง มาตรการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ อุตสาหกรรมรถยนต์ EV ระบบกักเก็บพลังงาน และ Data Center ที่กำลังเติบโตสูง อีกทั้งโรงงานของฮานาฯ ในไทย มีการประกอบกิจการที่ต่อเนื่องจากการผลิตชิปอยู่แล้ว โดยเฉพาะขั้นตอนการประกอบและทดสอบวงจรรวม (IC Assembly and Testing)    

“อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล โทรคมนาคม ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ หรืออุปกรณ์การแพทย์ ที่ผ่านมาบทบาทของไทยอยู่ในขั้นกลางน้ำ คือ การรับจ้างประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ หรือที่เรียกว่า OSAT โครงการลงทุนผลิตชิปครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญที่ส่งผลต่อการยกระดับประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ นอกจากนี้จะช่วยสร้างงานและการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรกับมหาวิทยาลัยในไทยและการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเซมิคอนดักเตอร์จากเกาหลีใต้แล้ว ยังจะส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เข้าสู่ซัพพลายเชนของเซมิคอนดักเตอร์ และนำไปสู่การพัฒนาระบบนิเวศของอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ซึ่งจะช่วยให้สามารถดึงดูดผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำรายอื่นๆ ให้เข้ามาลงทุนในไทยอีกด้วย” นายนฤตม์ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top