Sunday, 20 April 2025
บิ๊กป้อม

อยากไปก็ไป!! ‘บิ๊กป้อม’ ฉุน!! โดนจี้ถามปม ‘สมศักดิ์’ ย้ายซบ พท. เผย ยังไม่ได้คุยกันส่วนตัว แต่ถ้าจะไปก็ไป

(7 มี.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และรองหัวหน้าพรรค พปชร.และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และกรรมการบริหารพรรค พปชร. มีข่าวจะย้ายไปอยู่กับพรรคเพื่อไทย ว่า “ไปถามเขาดู”

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า มีข่าวว่าจะไปพรรคเพื่อไทย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ถ้าจะไปก็ไป”

เมื่อถามว่า ได้คุยกับนายสมศักดิ์ เรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ไม่มี ๆ ไม่ตกลง”

เมื่อถามว่า หากนายสมศักดิ์ไม่อยู่ จะกระทบต่อ พปชร.หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า “ไม่รู้ ไม่ได้เจอกับตน มาถามอะไร ตอบไปตั้งหลายทีแล้ว” 

เมื่อถามถึงกรณีมีภาพพูดคุยกับ หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล เป็นอย่างไรบ้าง พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ก็ตามนั้นแหละ”

เร่งแก้ปัญหา!! ‘บิ๊กป้อม’ ไฟเขียว โครงการฯ ฟื้นฟู ‘คลองแสนแสบ’ พร้อมผลักดัน ช่วยน้ำท่วม กทม. ฝั่งตะวันออก

(8 มี.ค. 66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2566 

โดยที่ประชุมเห็นชอบปรับปรุงเป้าหมายโครงการสำคัญด้านทรัพยากรน้ำ ปี 66-70 เพื่อแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนงานโครงการตามนิยามและประเภทโครงการสำคัญที่กำหนดเพื่อเสนอเป็นโครงการสำคัญ ผ่านระบบ Thai Water Plan นอกจากนั้นอนุมัติหลักการ โครงการปรับปรุงคลองบางขนาก จ.ฉะเชิงเทรา ภายใต้แผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อม คลองแสนแสบ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ กทม.ฝั่งตะวันออก ช่วยระบายน้ำเสีย รักษาคุณภาพน้ำ และให้คลองแสนแสบกลับมามีระบบนิเวศ อยู่ในเกณฑ์ดี อีกครั้งหนึ่ง

‘บิ๊กป้อม’ แจ้งชาวนา “ปีนี้ทำนาได้ น้ำไม่ท่วม” ด้านชาวบ้านเฮสนั่น!! ตะโกนเชียร์นั่งนายกฯ

(8 มี.ค.66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะประกอบด้วย พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามความคืบหน้า แผนบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ้มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างและแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่วัดสะตือพุทธไสยาสน์ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ โดยว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พระนครศรีอยุธยาของ พปชร.ทั้ง 3 เขต นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.สิงห์บุรี พปชร. รวมถึงนางสมทรง เจริญพันธุ์วรกุล นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา มาคอยให้การต้อนรับ

โดย พล.อ.ประวิตร ได้เข้ารับฟังบรรยายสรุปแผนบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง และแผนการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ จากนั้น ได้นั่งรถกอล์ฟเพื่อจะไปไหว้พร้อมกับปิดทองพระพุทธไสยาสน์ แต่ปรากฎว่าระหว่างรถกอล์ฟไฟฟ้าออกตัว ได้ออกตัวแรงทำให้คนที่อยู่ตรงนั้นถึงกับตกใจ ซึ่งนายวิรัช รัตนเศรษฐ ที่นั่งอยู่ด้านหลังว่า รถไม่เสถียร แต่คนเสถียร ภายหลังไหว้พระเสร็จแล้ว พล.อ.ประวิตร ได้เข้าไปกราบนมัสการ และถวายดอกไม้และปัจจัยต่อเจ้าอาวาสวัดสะตือ ขณะที่เจ้าอาวาสได้มอบรูปหล่อพระพุทธไสยาสน์ ผ้ายันต์คาถาชินบัญชร ของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ให้แก่ พล.อ.ประวิตร

ขณะที่ภายในงานมีประชาชนที่มารอต้อนรับต่างตะโกนเชียร์ให้ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป พร้อมกับตะโกน “รักลุงป้อม” โดย พล.อ.ประวิตร มีสีหน้าอารมณ์ดี และยิ้มหลายครั้ง

ต่อมา พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตนมาติดตามเรื่องน้ำที่ จ.พระนครศรีอยุธยาหลายครั้ง ขอบคุณที่มาต้อนรับตน จะสังเกตเห็นว่า รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งอุทกภัย วาตภัย น้ำหลาก น้ำลด รัฐบาลจะเยียวยาให้ประชาชนจนได้รับค่าชดเชยกันตลอด ไม่เคยว่างเว้น เพราะเราเห็นใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ค้ามนุษย์หมดไป!! ‘บิ๊กป้อม’ สั่งยกระดับกวาดล้าง ‘ค้ามนุษย์’ ทุกรูปแบบ ขยายครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมตั้งเป้าดันไทยขึ้นเทียร์ 1

( 9 มี.ค. 66 ) ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์(ปคม.) และคณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์(ปกค.) 

โดยที่ประชุมเห็นชอบ ร่างรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงาน ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย (Progress Report) และกรอบเวลาการจัดทำรายงานฯ เพื่อจัดส่งให้สหรัฐฯเพิ่มเติม เพื่อใช้ประเมินและจัดอันดับในทิปรีพอร์ต ในปีถัดไป และเห็นชอบการติดตาม ผลการขับเคลื่อนการดำเนินงาน NRM ในจังหวัดนำร่อง ซึ่งคณะทำงานฯ ได้กำหนดไว้ 10 จังหวัด ได้แก่กาญจนบุรี,สระแก้ว,ตราด,สงขลา,สตูล,เชียงราย,ระนอง,ขอนแก่น,หนองคาย และอุบลราชธานี โดยมีการติดตามการดำเนินงาน ในช่วงเดือนพ.ย.65 - มี.ค.66 โดยพล.อ.ประวิตร มอบให้กระทรวงมหาดไทย พิจารณางบประมาณของจังหวัดดำเนินการฯ และให้สำนักงบฯ จัดสรรงบประมาณเพื่อการขับเคลื่อนฯ ให้เป็นรูปธรรม และยั่งยืน โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมทุกจังหวัด เพื่อให้ประเทศไทยปลอดจากการค้ามนุษย์โดยเร็วที่สุด และมีโอกาสยกระดับขึ้นเป็นเทียร์ 1 ได้ ในปีถัดไป

ทั้งนี้ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหาย(ดอนเมือง) เพื่อเตรียมรองรับการดำเนินงานตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM)ของทุกหน่วยงานต่อไป และรับทราบรายงานการพัฒนาระบบฐานข้อมูลของประเทศไทย ด้านการดำเนินคดี และการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (E-AHT) รวมทั้ง รับทราบการจัดทำแผนขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวปลอดภัยและเป็นมิตรกับเด็ก(Child Safe Friendly Tourism Project) และการจัดทำแผนปฏิบัติการ ด้านการป้องกันและแก้ไขการค้ามนุษย์ ปี 66-70 ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจาก พม.แล้ว ขณะนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการกลั่นกรองของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนเสนอ ครม. ต่อไป

ทำเพื่อชาวใต้ ‘ลุงป้อม’ บุกสุราษฎร์ฯ ติดตามแผนบริหารจัดการน้ำ ย้ำ!! ทุกส่วนราชการ เร่งดูแลปัญหาน้ำท่วม-แล้งในทุกมิติ

(13 มี.ค.66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และคณะ ลงพื้นที่ภาคใต้ 3 จ. เพื่อติดตามความคืบหน้าบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาพื้นที่และรับฟังความเดือดร้อนประชาชน โดยจุดแรกเดินทางไปศาลาอเนกประสงค์พรุเฉวง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มีผู้ว่าราชการจังหวัด เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) หัวหน้าส่วนราชการต่างต้อนรับ โดยรับฟังสถานการณ์ภาพรวมแผนงานและโครงการน้ำในพื้นที่ ปี 61- 65 คืบหน้า 870 โครงการ วงเงิน 4,469.40 ล้านบาท มีประชาชนได้รับประโยชน์ 45,687 ครัวเรือน และป้องกันความเสียหายได้ 15,975 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ 6 โครงการ คือ อ่างเก็บน้ำคลองสีสุก คลองลิปะใหญ่ ระบบป้องกันน้ำท่วม ตลาดไชยา ชุมชนเชิงมนต์ ชุมชนเฉวงและชุมชนวัดประดู่ 

จากนั้นลงพื้นที่ติดตามโครงการก่อสร้าง ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนบางรัก และโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมพรุเฉวง

ประชันนโยบาย 'สนธิรัตน์' ย้ำจุดยืน 'พปชร.' ก้าวข้ามความขัดแย้ง โว!! ‘ลุงป้อม’ นั่งนายกฯ ค่าครองชีพลด ศก.ฐานรากฟื้น

(13 มี.ค.66) ที่โรงแรมพลูแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ร่วมแสดงนโยบายในงาน มติชน: เลือกตั้ง’66 บทใหม่ประเทศไทย ประชันนโยบาย ‘ย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง’ ที่จัดขึ้นโดยบริษัทในเครือมติชน

โดย นายสนธิรัตน์ ได้กล่าวถึงจุดยืนของพรรคพลังประชารัฐต่อคำถามเรื่องหากได้เป็นรัฐบาลจะแก้ไขร่างใหม่ หรือดำเนินการอย่างไรกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่เป็นข้อถกเถียงในปัจจุบัน ว่า รัฐธรรมนูญต้องแก้ไขได้ เมื่อบังคับใช้ไประยะเวลาหนึ่งแล้วจะเห็นจุดอ่อนจุดแข็ง หากเรื่องใดไม่สามารถขับเคลื่อนตามเจตนารมย์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ หรือเกิดข้อถกเถียงในเรื่องมุมมองความคิดก็สามารถแก้ไขได้ และหัวใจสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือประโยชน์ของประชาชน

"ขอย้ำว่าจุดยืนของพรรคคือเราไม่ใช่พรรคของการสืบทอดอำนาจอย่างที่หลายคนกล่าวถึง พรรคพลังประชารัฐดำเนินการภายใต้กติกา และกฎเกณฑ์เดียวกันทุกอย่าง สิ่งที่พรรคยึดมั่นได้แสดงออกผ่านจดหมายน้อยของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ว่าเคารพในหลักการของประชาธิปไตย และเคารพเรื่องของประเทศต้องมีการเปลี่ยนผ่าน เราเชื่อมั่นว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องนำไปสู่รัฐบาลที่ดี และสร้างรัฐบาลที่ไม่ก่อเกิดความขัดแย้ง" นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่พรรคเป็นห่วงมากที่สุดคือไม่อยากเห็นการเลือกตั้งครั้งนี้ มีการหยิบจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ และพรรคการเมืองมาสร้างความแตกแยก ทำให้บรรยากาศการเลือกตั้งไปสู่ความขัดแย้ง พรรคจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง

นอกจากนี้ นายสนธิรัตน์ ยังได้ตอบคำถามในเรื่องการกระจายอำนาจ ว่าคิดอย่างไรที่ประเทศไทยมีทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดจากการแต่งตั้ง นอกจากนี้ยังมีอบต. เทศบาล และอบจ. และจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้ง ว่า หนึ่งในหัวใจที่นำไปสู่ความมั่นคงของประเทศคือการกระจายอำนาจ แต่ทำได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากส่วนกลางทั้งกระทรวง ทบวง กรมมีข้อจำกัดในการบริหารจัดการ ต้องยอมรับว่าคนที่อยู่ใกล้พี่น้องประชาชน และเข้าใจปัญหาพื้นที่ได้ดีที่สุดคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขอเรียนว่าพรรคพลังประชารัฐเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ เพราะทำให้ท้องถิ่นแข็งแรงขึ้น แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่การกระจายอำนาจ การรวมศูนย์ต้องลดบทบาทลง พร้อมกับเพิ่มศักยภาพให้ท้องถิ่น ทั้งในด้านงบประมาณ กฎหมายและอัตรากำลัง ขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น เป็นโมเดลสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศ บางจังหวัดที่มีสภาพเศรษฐกิจที่โต และมีรูปแบบพร้อมต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ ก็เช่น จ.ภูเก็ต ซึ่งจะทำให้พี่น้องประชาชนได้มีบทบาทในการดูแลจังหวัดของเขามากยิ่งขึ้น

จากนั้น นายสนธิรัตน์ ได้ร่วมดีเบตกับพรรคประชาธิปัตย์ ในหัวข้อนโยบายเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และซอฟต์พาวเวอร์ ว่า ประเทศไทยมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงมาก นักท่องเที่ยวมาไทย เพราะเรามีทุนทางวัฒนธรรม และนิสัยใจคอของคนไทย ซึ่งทุนทางวัฒนธรรม สามารถทำให้กลายเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจที่สำคัญได้ โดยการขับเคลื่อนมีหลายมิติ 5 ด้าน ได้แก่ 1.อาหาร ต้องมีการผลักดันอาหารไทย 2.เฟสติวัล เรามีเสน่ห์ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม 3.แฟชั่น ประเทศไทยต้องเป็นศูนย์กลางแฟชั่น 4.ฟิล์ม และ 5.มวยไทย

โดยการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ 1.นโยบายต้องชัดเจน ไม่เป็นนโยบายที่เป็นวาทกรรม 2.งบประมาณ ต้องมีเพียงพอในการขับเคลื่อน และ 3.กลไกรัฐ องค์กรที่เกี่ยวข้อง กระทรวงต่างๆ ที่ต้องบูรณาการ และปรับแผนงาน สามสิ่งนี้คือหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย

ทั้งนี้ ในช่วงสุดท้ายเป็นการเปิดโอกาสให้แสดงวิสัยทัศน์ นายสนธิรัตน์ กล่าวในตอนหนึ่งว่า หากเลือกพรรคพลังประชารัฐ ได้ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ และจะมีหลายสิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย ได้แก่…

1.ไม่มีความขัดแย้ง นี่คือจุดยืนสำคัญของพรรค จะสร้างสมดุลทางการเมือง ไม่เข้าสู่กลไกความขัดแย้ง เพราะ พล.อ.ประวิตร เปิดใจแล้วว่าอยากนำพาคนไทย และการเมืองไทยก้าวข้ามความขัดแย้ง 

2.ค่าครองชีพลดทันที จะปฏิรูปราคาน้ำมัน สร้างรายได้ให้ประชาชน โดยโซล่าเซลล์ และ Net metering 

3.ปรับโครงสร้างราคาแก๊ส โดยดูโครงสร้างแก๊สในอ่าวไทย 

4.ประชาชนจะมีรายได้เพิ่มจากบัตรสวัสดิการ 700 บาท และต่อยอดสิ่งเหล่านี้ด้วยกลไกสร้างอาชีพ ให้โอกาส และเพิ่มทักษะ 

5.คนไทยทุกช่วงวัยได้รับการดูแล เบี้ยยังชีพ 3,000 - 5,000 บาท ตามช่วงอายุ 60 - 80 ปี 

6.เศรษฐกิจฐานรากต้องฟื้น จะนำพาทุกคนสร้างงาน เราประกาศนโยบายมีที่ทำกิน ไม่มีแล้ง รวมถึงโรงไฟฟ้าชุมชนกระจายสู่ฐานราก

ใจถึงพึ่งได้ ‘บิ๊กป้อม’ ลุย ‘ชุมพร-ระนอง’ แก้ปัญหาน้ำท้วม-แล้ง ชาวบ้านแห่ต้อนรับ เชียร์นั่งนายกฯ คนที่ 30

(13 มี.ค.66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รมช.คลัง และคณะ ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการพื้นที่ภาคใต้ ต่อเนื่องจากช่วงเช้า (จ.สุราษฎร์ธานี) โดยในช่วงบ่ายได้ลงพื้นที่ จ.ชุมพร และ จ.ระนอง 

โดยเมื่อเวลา 14.00 น. พล.อ.ประวิตร และคณะ ได้เดินทางถึงโครงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนฯ บ้านวังช้าง ต.ชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร มีนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผวจ. ให้การต้อนรับ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ จ.ชุมพร ยังคงมีปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นภูเขา เมื่อมีฝนตกหนักปริมาณน้ำมากเกินความจุลำคลอง ทำให้เกิดน้ำหลากในหลายอำเภอ 

สำหรับภัยแล้ง ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ลดลง ความต้องการใช้น้ำมากขึ้นโดยเฉพาะฤดูแล้งและยังไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ อย่างเพียงพอ จึงได้มีโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำ ของชุมชนที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยสร้างความรู้ ความเข้าใจการวางแผนการใช้น้ำ ที่มีอยู่ รวมทั้งการพัฒนา/เพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำชุมชน

จากนั้น พล.อ.ประวิตร ได้มอบนโยบายแก่ จังหวัด, สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลมีความห่วงใยต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากทุกปัญหา และพยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ไม่ทอดทิ้งใครอย่างเด็ดขาด รวมถึงจะพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ให้ครอบคลุมทุกมิติ 

จากนั้นได้พบปะพี่น้องประชาชน ที่มาให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง จากหลายอำเภอ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและความต้องการต่าง ๆ ซึ่งมีประชาชนจำนวนมาก แสดงความรู้สึกดีใจที่ได้ใกล้ชิด และได้สัมผัสถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานและความห่วงใยประชาชน อย่างแท้จริง พร้อมชื่นชมว่า ท่านใจดี ใจถึงพึ่งได้จริง มีลักษณะผู้นำที่จะสามารถนำพาประเทศก้าวข้ามความขัดแย้ง สู่การพัฒนาประเทศได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เหมาะที่จะเป็นนายกคนที่ 30 มากที่สุด

‘เพื่อไทย’ จวก ‘บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม’ ใช้งบ 6 แสนล้าน ยังแก้ภัยแล้งไม่ได้ เชื่อปีนี้แล้งหนัก จี้ เร่งแก้ปัญหา ก่อนกระทบไร่-นาชาวบ้านนับหมื่น

(14 มี.ค. 66) นายนพพล เหลืองทองนารา ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย (พท.) จากภาพรวมของสถานการณ์น้ำในพิษณุโลกน่าเป็นห่วง กังวลใจว่าปีนี้ภัยแล้งจะมาเร็วและมาแรงกว่าปีที่ผ่านมา พบว่าในหลายจังหวัดใกล้เคียง เกษตรกรเริ่มประสบปัญหาภัยแล้งแล้ว ดังนั้น ในพื้นที่พิษณุโลก หากรัฐบาลยังไม่เร่งแก้ปัญหา จะกระทบพื้นที่นาข้าวนับหมื่นไร่และเกษตรกรหลายหมื่นครัวเรือนอย่างแน่นอน

ส่วนที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติหรือ กนช. อ้างว่าตั้งแต่เป็นรัฐบาลไม่เคยมีเกษตรกรที่ไหนมาร้องเรียนเรื่องภัยแล้ง หากเป็นเช่นนั้นจริง พล.อ.ประวิตร คงหูดับหรือก้มหน้าก้มตาอ่านแต่รายงานที่ลูกน้องรายงานมา ในความเป็นจริงความแห้งแล้งเกิดขึ้นหลายจังหวัด เกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง เกษตรกรหลายหมื่นครัวเรือนต้องยืนดูต้นข้าวแห้งตาย เพราะไม่มีน้ำมาหล่อเลี้ยงนาข้าวที่เกษตรกรลงแรงปักดำหวังรายได้จากนาข้าวของตนเอง ส่งผลให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ต้องลงขันระดมทุนจ้างบริษัทเอกชนมาขุดบ่อสูบน้ำบาดาลทำนากันแล้ว

นายนพพล กล่าวต่อว่า ปัจจุบันน้ำต้นทุนในเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ดูแลน้ำเพื่อการเกษตรให้กับเกษตรกรใน 4 จังหวัด คืออุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตรและนครสวรรค์จะมีปัญหา เพราะมีน้ำต้นทุนเพียง 4,000 ล้านลบ.ม. แต่ใช้ได้เพียงเหลือเพียง 2,700 ล้านลบ.ม.เท่านั้น กังวลว่าปริมาณน้ำจะไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร พล.อ.ประวิตรต้องเร่งบริหารจัดการน้ำ หรือหาแหล่งน้ำรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น อย่ามาอ้างว่าเป็นช่วงปลายรัฐบาลทำอะไรไม่ได้ เพราะท่านยังมีอำนาจบริหารจัดการจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ พล.อ.ประวิตร อย่ามัวแต่เอาเวลาไปเดินสายหาเสียงจนไม่รับรู้ความเดือดร้อนของประชาชน รัฐบาลต้องทำงานให้ประชาชน อย่าเอาเรื่องการเมืองนำหน้าการแก้ปัญหาให้ประชาชน

'บิ๊กป้อม' ยันการเมืองไม่ต้องมีผู้ชนะเด็ดขาด-ไม่มีฝ่ายต้องแพ้ราบคาบ  ลั่น!! พร้อมแปรรูปนโยบายทุกพรรคที่ดีมาสานต่อหากได้เป็นรัฐบาล

(15 มี.ค.66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ในหัวข้อ ‘บทสรุปสู่ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ ระบุว่า ทีมงานได้วิเคราะห์ให้ผมฟังว่าจดหมายทั้ง 5 ฉบับ ไม่มีใครโต้แย้งในสาระสำคัญในเรื่องของเนื้อหา จากสื่อและสังคม แต่ก็มีสื่อบางท่านตั้งคำถามว่า จะทำได้หรือไม่ ซึ่งนั่นก็แปลว่าหากทำได้ก็จะเป็นผลดีต่อประเทศ สื่อบางท่านบ่นว่า ยาวไปหน่อย ก็ต้องตอบว่าสังคมโดยทั่วไป มีทั้งผู้เข้าใจและไม่เข้าใจ รวมทั้งสื่อเองก็อาจจะมีความเข้าใจแตกต่างกัน ระหว่างสื่อที่ทำข่าวการเมือง กับสื่อเศรษฐกิจหรือสื่อกีฬา ทีมงานจึงต้องระมัดระวังเป็นที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมโดยทั่วไป

ด้วยเหตุนี้ทีมงานจึงขอให้ผมใช้วิธีการสื่อสารด้วย Facebook จะอธิบายได้ดีกว่า ชัดเจนกว่า เพราะหากผมทำในสิ่งที่ผมไม่ถนัด คือการให้สัมภาษณ์ ซึ่งผมเป็นคนพูดไม่เก่งอยู่แล้ว อาจจะถูกตีความหมายผิดไปจากที่ผมต้องการสื่อสาร และจะต้องมาตามแก้ไขในภายหลัง ซึ่งไม่เป็นผลดีแต่อย่างใดสำหรับการเมือง และสำหรับความคิดของผมที่ต้องการให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า

จดหมายฉบับนี้ จั่วหัวว่า เป็นบทสรุป สู่ ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ ซึ่งผมได้อธิบายไปแล้ว ในหลายฉบับที่ผ่านมาว่าปัญหาความไม่เข้าใจในเรื่องของแนวคิด ของฝ่าย ‘อนุรักษ์นิยม’ กับ ‘ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม’ มีมาอย่างยาวนาน แล้วก็ยังวนเวียนอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องความไม่เข้าใจในเรื่องที่มาของปัญหา ว่าเกิดมาจากอะไร ทีมงานจึงถือโอกาสนี้อธิบายให้เข้าใจ ว่าประเทศไทยของเรานั้นเลือกที่จะปกครองในระบอบประชาธิปไตย นั่นก็คือการปกครองด้วยเสียงข้างมาก กล่าวคือผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชน ก็จะถือว่า เป็นมติของประชาชน อันจะส่งผลให้ผู้สมัครท่านนั้นได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และหากพรรคใดรวมเสียงข้างมากได้ก็จัดตั้งรัฐบาลในสภา ซึ่งเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ในหลักการแล้ว นับได้ว่า สภานี้เป็น ‘สภาของประชาชน’ ไม่ใช่เป็น ‘สภาของนักการเมือง’

เมื่อสภาเป็นของประชาชน การใช้เสียงข้างมากเพื่อหาข้อยุติในความเห็นต่าง บนผลประโยชน์ของส่วนรวมนั้นจึงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งไม่นับว่าเป็นความขัดแย้ง ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ มีการใช้มติของเสียงข้างมากในสภาบนผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องแล้วก็ไปอ้างว่าเป็นมติพรรค จึงไปฝืนความรู้สึกของ มติประชาชนที่เห็นต่าง และมีการทักท้วงจากสื่อและสังคมในกรณี ที่ขัดแย้งกันซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่สภาก็ไม่ฟังทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่า สภาไม่ใช่เป็นของประชาชนอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นสภาของนักการเมือง จะเอาเป็นที่พึ่งต่อไปไม่ได้แล้ว และประชาชนก็ตัดสินใจออกมาต่อต้าน มติของสภาและขับไล่รัฐบาล โดยไม่คิดแก้ไขตามกลไกของประชาธิปไตยคือ รอให้มีการเลือกตั้ง จึงทำให้เหตุการณ์ลุกลามกลายเป็นวิกฤติที่ทำให้ฝ่ายทหารต้องนำกำลังออกมาเพื่อยุติปัญหา ซึ่งเท่ากับว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลับเข้ามาควบคุมอำนาจอีกครั้งหนึ่ง

นี่คือสิ่งที่ทีมงานพยายามอธิบาย ครั้งแล้วครั้งเล่าให้ผมฟังเพื่อให้เข้าใจว่า ที่มาของปัญหาเกิดจากภายในสภาแต่มาจบกันนอกสภา หลังจาก ‘ฝ่ายอนุรักษ์นิยม’ ควบคุมอำนาจได้แต่ก็พ่ายแพ้ทุกครั้ง เมื่อการได้อำนาจต้องผ่านการเลือกตั้งในทางตรงข้าม ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ แม้จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่เสมอ แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่มีพลังพอที่จะต้านทานการเข้ามาควบคุมจากกลไกที่มีอำนาจอย่างแท้จริง ต่อโครงสร้างอำนาจของประชาชน เมื่อประเทศต้องอยู่ในสถานะที่ ‘ผู้ล้มเหลวทั้งสองฝ่าย’ ต่างก็ผลัดเข้ามาควบคุมอำนาจอาการหมดสภาพที่จะก้าวต่อไปสู่ความเจริญจึงเกิดขึ้นกับประเทศของเรา

นโยบายของแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกัน ผู้นำทั่วโลกของแต่ละยุคแต่ละสมัยต่างก็ปรับเปลี่ยนนโยบาย ขึ้นอยู่กับสถานะการณ์ ในช่วงเวลานั้นๆ การเมืองไทยก็เช่นกัน นโยบายในการบริหารประเทศของแต่ละพรรค การเมืองที่ต่างก็กำลังเสนอออกมาในขณะนี้ นับได้ว่าเป็นนโยบายที่ดีเพราะกลั่นกรอง มาจากบุคลากรชั้นนำของแต่ละพรรค แต่เป็นที่น่าเสียดายหากนโยบายเหล่านั้นจะไม่ได้รับการนำไปใช้เพราะ ต้องไปเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล

ผมตั้งใจว่าเมื่อ พรรคผมเป็นรัฐบาล ผมจะตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก นำนโยบายดีๆ ของทุกพรรค ที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียง เอามาทำและปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง โดยไม่ได้มีความรังเกียจหรือแบ่งแยก หากนโยบายเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ นี่คือการเมืองที่อยู่ในใจผม การเมืองที่ไม่ต้องมี ‘ผู้ชนะเด็ดขาด’ ‘ไม่มีฝ่ายใดต้องแพ้ราบคาบ’ ทุกคนทุกฝ่ายต้องตระหนัก ถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องช่วยกัน ร่วมมือกันฟื้นฟู และพัฒนาประเทศให้เดินไปข้างหน้าอย่างเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก

ผมขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ‘ผมพูดไม่เก่ง’ แต่ ‘ผมมีหัวใจ’ หัวใจที่ใหญ่พอจะยอมรับความแตกต่างทางความคิด เพื่อนำพาให้ ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ วิธีที่ผมคิดไว้คือให้ความเคารพอย่างแท้จริงต่อ ‘ประชาชนเสียงส่วนใหญ่’ ด้วยความเชื่อมั่นว่า ‘ประเทศจะเดินหน้าไปได้ด้วยการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย’ เท่านั้น

เพียงแต่ว่าเป็น ‘ประชาธิปไตยที่เปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มเข้ามาร่วมมีบทบาท’ เคารพใน ‘เสียงส่วนใหญ่’ แต่ ‘เปิดใจรับฟังเสียงส่วนน้อยที่มีความรู้ ความสามารถด้วยเจตนาดีต่อความเป็นไปของประเทศ’

‘บิ๊กป้อม’ นั่งหัวโต๊ะ ร่วมประชุมด้านสิ่งแวดล้อม 10 โครงการ จี้!! ทุกหน่วย เร่งแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปกป้องสุขภาพ ปชช.

(15 มี.ค. 66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

คณะกรรมการฯ ได้รับทราบ รายงานผลการประชุม สมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วย พื้นที่ชุมน้ำสมัยที่ 14 จัดขึ้นภายใต้ หัวข้อ ‘Wetlands Action for People and Nature’ โดยมีพิธีมอบรางวัล Wetland City Accreditation ซึ่งประเทศไทยได้รับมอบรางวัล การรับรอง อำเภอศรีสงคราม จีงหวัดนครพนม ให้เป็นเมืองแห่งพื้นที่ชุมน้ำภายใต้อนุสัญญาว่าด้วย พื้นที่ชุมน้ำ

จากนั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 10 โครงการสำคัญ เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ทั่วประเทศ ได้แก่
1.) โครงการประตูระบายน้ำกรงปินัง จ.ยะลา ของกรมชลประทาน
2.) โครงการบ้านเคหะกตัญญู คลองหลวง 2 จ.ปทุมธานี ของการเคหะแห่งชาติ
3.) โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองน่าน ของกรมทางหลวง

4.) โครงการทางเลี่ยงเมืองสกลนคร (ด้านทิศตะวันออก) ของกรมทางหลวง
5.) โครงการทางหลวงหมายเลข 103 อ.ร้องกวาง-อ.งาว ของกรมทางหลวง.
6.) โครงการทางขนานสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ของกรมทางหลวง
7.) แผนงานขยายเขตไฟฟ้าให้หมู่บ้านในโครงการหมู่บ้านพัฒนาเพื่อความมั่นคง พื้นที่ชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ปาย และอ.บางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน (กลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top