Saturday, 19 April 2025
บิ๊กป้อม

'บิ๊กป้อม' กำชับ 'กกท.' บริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ หนุนงบฯ ปี 67 ยกระดับนักกีฬาไทย สู่ความเป็นเลิศในสากล

(22 ก.พ. 66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษกรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2566 ณ ห้องประชุม มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

ที่ประชุมได้มีการหารือและรับทราบ รายงานผลการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ประจำปี 66 ซึ่งได้มีการปฎิบัติตามแผนงาน ภายใต้กฎระเบียบอย่างเคร่งครัด และรับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบ กกท. ประจำปี 66 ไตรมาส 1 พร้อมข้อเสนอแนะ เพื่อการบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในไตรมาส 2 อาทิ การนำกระบวนการบริหารความเสี่ยง ไปใช้ในการพัฒนาตามเกณฑ์การประเมินสมาคมกีฬา ให้มีประสิทธิภาพและการทบทวนแนวทางการพัฒนากีฬาอาชีพ และกีฬาเป้าหมายให้มีความเหมาะสม เป็นต้น

‘บิ๊กป้อม’ โชว์ฟิต ลงพื้นที่ 3 จว. ก่อนยุบสภาฯ ลุยตรวจน้ำ ‘อุดรฯ-หนองคาย-เลย’ 24 ก.พ.นี้

(22 ก.พ. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มีกำหนดการลงพื้นที่จ.อุดรธานี จ.หนองคาย และจ.เลย ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดยจะเดินทางไปตรวจติดตามอ่างเก็บน้ำลำห้วยเชียงตอนบน ต.ขอนยูง อ.กุดจับ จ.อุดรธานี ในเวลา 10.30 น. จากนั้นเดินทางไปตรวจติดตามการบริหารการจัดการน้ำ จ.อุดรธานี พร้อมทั้งมอบนโยบายและพบปะประชาชน ที่โรงเรียนภูพานวิทยา ต.ของยูง อ.กุดจับ

จากนั้นเวลา 13.50 น. พล.อ.ประวิตร เดินทางสู่ จ.หนองคายเพื่อตรวจติดตามโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง กรมชลประทาน อ.ท่าบ่อ จากนั้นเดินทางไปตรวจติดตามการบริหารการจัดการน้ำ จ.หนองคาย พร้อมมอบนโยบาย พบปะประชาชนในพื้นที่และผู้นำท้องถิ่น และรับเรื่องแก้ปัญหาน้ำประปาเพื่อการอุปโภค-บริโภคของ อ.โพธิ์ตาก ที่ลานวัฒนธรรม เทศบาลเมืองท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ และเดินทางไปตรวจติดตามโครงการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพ ระบบประปาเทศบาลเมืองท่าบ่อ

'พปชร.' เปิดตัวผู้สมัคร ส.ส. อีสาน-เหนือ-กลาง-ใต้ เสริมฐาน 4 ภาค หวังเชื่อมพรรคกับประชาชน

(22 ก.พ. 66) ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะเลขาธิการพรรค, นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรค นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค แถลงเปิดตัว ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรค พปชร ภาคอีสาน, ภาคเหนือ, ภาคกลาง และภาคใต้ 10 จังหวัด 15 คน

ภาคอีสาน
จังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ 1.) นายเข็มทอง แก้วเนตร เขต 5 2.) นายนิวัฒน์ จำปาทอง เขต 9 3.) นายศุภโชค ฐานเจริญ เขต 10 4.) นายยิ่ง ภูผา เขต 11
จังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ 5.) นายมานพ แสงดำ เขต 2 
จังหวัดหนองบัวลำภู ได้แก่ 6.) นางศรัณยา สุวรรณพรหม เขต 1

ภาคเหนือ
จังหวัดเชียงราย ได้แก่ 7.) นายพิษณุ เขื่อนเพชร เขต 1 8.) นายวัชรพงศ์ ปิโย เขต 2
จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ 9.) นายบดินทร์ กินาวงศ์ เขต 8
จังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ 10.) นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ เขต 1
จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้แก่ 11.) นายวรโชติ สุคนธ์ขจร เขต 4

‘บิ๊กป้อม’ ลงพื้นที่ ‘อุดรฯ-หนองคาย-เลย’ เร่งรัดแผนจัดการน้ำ ตั้งเป้าอีสานมีน้ำใช้ตลอดปี

(24 ก.พ. 66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.กอนช. พร้อมด้วย รมช.คลัง และคณะ ได้เดินทางไปตรวจราชการในพื้นที่ จ.อุดรราชธานี, จ.หนองคาย และจ.เลย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด

โดยในช่วงเช้า เดินทางไปยัง โรงเรียนภูพานวิทยา ต.ขอนยูง อ.กุดจับ จ.อุดรฯ มีนาย วันชัย คงเกษม ผวจ. ให้การต้อนรับและรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ จ.อุดรฯ จากเลขาฯ สทนช. ซึ่ง จ.อุดรฯ มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ และลุ่มน้ำชี รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการปี 61-65 ประชาชนได้รับประโยชน์ 55,586 ครัวเรือน จากงบกลางปี 65 ได้รับประโยชน์ 1,045 ครัวเรือน งบบูรณาการฯ ปี 66 จะได้รับประโยชน์ 6,955 ครัวเรือน งบตามแผนปฏิบัติการปี 67 ประชาชนจะได้รับประโยชน์ 53,175 ครัวเรือน และโครงการสำคัญอีก 6 แห่ง ประชาชนจะได้รับประโยชน์ 43,500 ครัวเรือน

'บิ๊กป้อม' เปิดใจ เหตุผล ที่ยังไม่หยุดเล่นการเมือง และทำไมต้อง ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’

(27 ก.พ. 66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) เผยแพร่ผ่านเพจ ‘พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ เรื่อง ทำไมต้อง ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ เนื้อหาระบุ เพราะแม้จะมีเหตุผลมากมายที่หลายคนเห็นว่าผมควรจะหยุด และกลับไปใช้ชีวิตสบาย ๆ ซี่งจะทำให้ผมมีความสุขมากกว่า เนื่องจากชีวิตไม่ได้รู้สึกขาดแคลนอะไรแล้ว

และนั่นทำให้ผมคิดแล้ว คิดอีกอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ในที่สุดแล้ว ผมตัดสินใจที่จะทำงานต่อ แน่นอนว่าเหตุผลหนึ่งคือ ผมผูกพันกับคนที่ร่วมสร้าง ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ขึ้นมาจนประสบความสำเร็จ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศมาเกือบครบ 4 ปีเต็ม ๆ

ทุกคนล้วนมีความหวัง ความฝันที่จะทำงานการเมืองต่อไป ทุกคนต่างร่วมทำงานหนักกันมา เมื่อถึงวันที่จะต้องลงเลือกตั้งกันใหม่ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันที่เข้มข้น การต่อสู้รุนแรงมาก ใครไม่พร้อมก็ยากที่จะเดินต่อไปได้ ผมจะคิดแค่เอาตัวรอด ทิ้งเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ร่วมสร้าง ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ที่ยังมีความฝันอยู่เต็มเปี่ยมได้อย่างไร

นั่นเป็นเหตุผลแรก

แต่ลึกไปในใจ ในความรู้สึกนึกคิด ผมมีเหตุผลส่วนตัวที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเหตุผลที่เกิดจากการทบทวนครั้งแล้ว ครั้งเล่า ถึงทางออกของชาติบ้านเมือง ว่าควรจะทำอย่างไรกันดี เป็นการทบทวนที่มองผ่านเข้าไปในประสบการณ์ชีวิตของผมทั้งหมด แล้วหาข้อสรุปว่าเกิดอะไรกับประเทศ

ผมจะค่อย ๆ เล่าให้ฟังว่า อะไรที่ผมพบเจอ รับรู้ และเกิดความคิดอย่างไรในแต่ละช่วงชีวิต จนสุดท้ายตัดสินใจทำงานการเมืองต่อ ด้วยความคิดว่าตัวเองจะทำประโยชน์ด้วยการคลี่คลายปัญหาให้ประเทศเดินหน้าไปสู่ความสดใส ผมจะเริ่มจากการเล่าให้เห็นประสบการณ์รับราชการทหารตั้งแต่ ‘นายทหารผู้น้อย’ ค่อย ๆ เติบโตมาถึง ‘ผู้บัญชาการกองทัพ’ ได้รับการหล่อหลอมให้ ‘จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์’ มาทั้งชีวิต

จนผลึกความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา เป็น ‘จิตวิญญาณที่เปี่ยมด้วยความจงรักภักดีของผม’ อย่างมั่นคง ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ในห้วงเวลาเกือบทั้งชีวิตในราชการทหาร ด้วยจิตสำนึกดังกล่าว ผมได้รับรู้ความห่วงใยของคนในวงการต่าง ๆ ที่มีต่อความเป็นไปทางการเมืองของประเทศ อาจจะเป็นเพราะผมเป็น ‘ผู้บังคับบัญชากองทัพ’ เสียงความห่วงใยส่วนใหญ่จึงมีเป้าหมายไปที่ ‘นักการเมือง’

คนกลุ่มหนึ่ง ซี่งมีบทบาทสูงต่อความเป็นไปของประเทศ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายว่า ‘กลุ่มอิลิท’ ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการกำหนดความเป็นไปของประเทศ มอง ‘ความเป็นมาและพฤติกรรมของนักการเมือง ด้วยความไม่เชื่อถือ’ และความไม่เชื่อมั่นลามไปสู่ความข้องใจใน ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘ความรู้ความสามารถของประชาชน ในการเลือกนักการเมืองเข้ามาครอบครองอำนาจบริหารประเทศ’ ความไม่เชื่อมั่นต่อนักการเมือง และการเลือกของประชาชนนั้น ทำให้ผู้มีบทบาทกำหนดความเป็นไปของประเทศเหล่านี้ เห็นดีเห็นงามกับการ ‘หยุดประชาธิปไตย’ เพื่อ ‘ปฏิรูป’ หรือ ‘ปฏิวัติ’ กันใหม่ หวังแก้ไขให้ดีขึ้น

คนในกลุ่มนี้ล้วนแล้วแต่หวังดี อยากเห็นประเทศพัฒนาไปสู่ความรุ่งเรือง เป็นผู้มีประสบการณ์ที่พิสูจน์แล้วว่ามีความรู้ความสามารถ หากสามารถชักชวนเข้ามาทำงานให้กับประเทศได้จะเป็นประโยชน์  แต่เป็นที่น่าเสียดายยิ่งว่า คนที่ประสบความสำเร็จในการใช้ความรู้ ความสามารถเหล่านี้ ไม่มีโอกาสเข้ามาช่วยประเทศชาติในช่วงที่ ‘ระบบการเมือง’ จัดสรรผู้เข้ามามีอำนาจบริหารตามโควต้าจำนวน ส.ส. ที่ประชาชนเลือกเข้ามา โอกาสที่จะเข้ามาช่วยประเทศชาติ มีเพียงช่วงที่ ‘รัฐบาลมาจากอำนาจพิเศษ’ หรือการปฏิวัติ รัฐประหารเท่านั้น การรับราชการทหารมาเกือบทั้งชีวิต ทำให้ผมรู้จัก เข้าใจ และแทบจะมีความคิดในทางเดียวกับคนที่หวังดีต่อประเทศชาติเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นความคิดในช่วงแรก แม้จะครอบคลุมเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต แต่หลังจากเข้ามาทำงานร่วมกับนักการเมือง และตั้งพรรคการเมือง ทั้งในช่วงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็น ‘ผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ’ จนมาเป็น ‘หัวหน้าพรรค’ ผมได้รับประสบการณ์อีกด้าน อันทำให้เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องนำพาประเทศไปด้วย ‘ระบอบประชาธิปไตย’

เพราะในความเป็นจริงทางการเมือง ไม่ว่านักการเมืองส่วนใหญ่จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ที่สุดแล้วอำนาจการบริหารประเทศต้องกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผู้ที่อำนาจตัดสินว่าจะให้ใครเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ก็คือ ‘ประชาชน’ มีความจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ แม้ในการเลือกตั้งทุกครั้ง ‘ผู้ยึดครองอำนาจด้วยวิธีพิเศษ’ จะตั้ง ‘พรรคการเมือง’ ขึ้นมาสู้ ซึ่งแม้จะหาทางได้เปรียบในกลไกการเลือกตั้ง แต่ผลที่ออกมา ‘ฝ่ายอำนาจนิยม’ จะพ่ายแพ้ต่อ ‘ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม’ ทุกคราว

ความรู้ ความสามารถของ ‘กลุ่มอิลิท’ ทำให้ประชาชนศรัทธาได้ไม่เท่ากับนักการเมือง ที่คลุกคลีกับชาวบ้านจนได้รับความรัก ความเชื่อถือมากกว่า นี่คือต้นตอของปัญหาที่สร้างความขัดแย้ง ขยายเป็นความแตกแยก ระหว่าง ‘ฝ่ายอำนาจนิยม’ กับ ‘ฝ่ายเสรีนิยม’ ที่หาจุดลงตัวร่วมกันไม่ได้ เพราะพยายามหาทางให้ฝ่ายตัวเอง ‘ชนะอย่างเด็ดขาด-ทำลายอีกฝ่ายให้สิ้นสูญ’ กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ กระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ

‘จตุพร’ ท้าเพื่อไทย ตอบปมดีล ‘บิ๊กป้อม’ ชี้!! ควรพูดความจริง อย่าปลิ้นปล้อน ตลบตะแลง

‘อย่าปลิ้นปล้อน ตลบตะแลง ดิ้นหนี’ จตุพร ท้าใจเพื่อไทย กล้าๆ หน่อย ใช้ความจริงตอบคำถามวัดกันไปเลย ย้ำจับมือ พปชร.หรือไม่ อ่านไต๋พูดแต่โวหาร ตอบไม่ตรงคำถาม ซัดออกลีลาดิ้นหนี โชว์ปลิ้นปล้อน งัด ปวศ.ตลบตะแลง ยันได้เสียงมากสุดกลับเสนอแคนดิเดตนายกฯ พรรคอื่นถึงสองคราว ยันอย่างนี้จะให้เชื่อไม่จับ ‘ประวิตร’ ตามดีลนายกฯ เอื้อประโยชน์ตัวเองได้อย่างไร

(27 ก.พ.66) นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน ‘วัดกันไปเลย’ โดยระบุให้แกนนำเพื่อไทยใช้ใจกล้ามาตอบคำถามด้วยความจริง จะจับมือ พปชร.หรือไม่ พร้อมติงที่ตอบมานั้นแค่โวหาร พูดกั๊ก ๆ แสดงลีลา ดิ้นหนีความจริง กลัวเสียงหาย หรือถูก พปชร.รุมย่ำความปลิ้นปล้อน

นายจตุพร กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยังไม่ตอบคำถามว่า จะจับมือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ-พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือไม่ แต่สิ่งที่ผู้นำของพรรคพูดมานั้นเป็นเพียงโวหาร อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาประวัติศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยแล้ว แม้ที่ผ่านมาเป็นพรรคมีเสียงอันดับหนึ่งในสภา แต่เคยเลือกบุคคลจากพรรคอื่นเป็นนายกฯ มาแล้วถึงสองครั้ง โดยครั้งแรก ธันวาคม 2551 เลือก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก (หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน) ชิงนายกฯ กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แต่ก็แพ้ไป

ส่วนครั้งที่สอง หลังเลือกตั้งปี 2562 เลือกนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) เป็นนายกฯ ก็แพ้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มี ส.ว.เทเสียงหนุนอย่างเป็นเอกภาพถึง 249 เสียงจากทั้งหมด 250 คน ดังนั้น ประวัติศาสตร์จึงเป็นที่ประจักษ์ว่า พรรคเพื่อไทยทั้งที่ได้เสียงเลือกตั้งมากที่สุด ยังไม่เคยได้เลือกแคนดิเดตนายกฯ ของตัวเองมาเลย กลับไปลงมติเลือกแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคอื่นแทน

ดังนั้น เมื่อมาถึงการเลือกตั้งปี 2566 กรณีแกนนำเพื่อไทยบอกต้องโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคตัวเอง ถ้าเลือกคนจากพรรคอื่นจะตอบประชาชนได้อย่างไรนั้น นายจตุพร กล่าวว่า ตอบตามที่เคยตอบและก็อยู่มาได้ตามที่เคยอยู่แล้วไง แต่ปัญหาทางการเมืองนั้น ถ้าไม่จับมือกัน ไม่ดีลกันก็ต้องต้องตอบให้เด็ดขาด เหมือนพรรคก้าวไกลกับไทยสร้างไทยประกาศชัดเจนไม่จับมือกับ พปชร. และรวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อีกทั้งพรรคภูมิใจไทยจะไม่จับมือกับก้าวไกล

นายจตุพร ย้ำว่า คำถามที่ตนถาม และชูวิทย์ (กมลวิศิษฎ์) นำไปถามต่อว่า จะจับมือกับ พล.อ.ประวิตร และ พปชร.หรือไม่ ซึ่งไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร ถ้าคนทั้งสามคนของเพื่อไทยมีความเป็นจริงในใจแล้ว ควรตอบมาง่ายๆ ว่า ไม่มีวันจับมือกับ พปชร. ก็เป็นที่ยุติแล้ว

“เพราะความตลบตะแลตั้งแต่เรื่องสุดซอย (กม.นิรโทษกรรมที่เพื่อไทยปรับเปลี่ยนไปคลุมถึงคดีทุจริต) มติพรรคเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา 3 รอบ ดังนั้น ความไม่อยู่กับร่องกับรอยในทุกเรื่อง พร้อมประวัติศาสตร์ได้อธิบายอยู่ทุกวัน โดยความเป็นจริงคุณตอบคำถามเรื่องนี้ได้ง่ายที่สุด ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน แล้วทำไมต้องตอบไม่ตรงกับคำถามด้วย”

อีกทั้งย้ำว่า ถ้าเพื่อไทยตอบตรงคำถามง่าย ๆ ว่า ไม่มีวันจับมือกับ พปชร.เด็ดขาดไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไรก็ตามก็เท่านั้น แต่ไม่ตอบจึงทำให้นึกย้อนถึงร่องรอยสายสัมพันธ์ตั้งแต่การแต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร เป็น ผบ.ทบ. รวมถึงความสัมพันธ์ช่วงก่อน และหลังวันยึดอำนาจปี 2557 ซึ่งปิดบังตนไม่มิด เพียงแต่ยังไม่ได้อธิบายในรายละเอียดว่า ใครประสานกับใคร อย่างไร และวางคนของตัวเองไว้ตรงไหนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการดีลหลังวันยึดอำนาจด้วยการเจรจาเป็นตอนๆ ไป ทั้งในเรื่องกลับบ้าน หรือคดีอื่น ๆ พอไม่สำเร็จก็ดีลให้เดินทางออกนอกประเทศ

“ดีลยึดอำนาจยังดีลเลย นับประสาอะไรกับการดีล (จับมือประวิตร หนุนให้เป็นนายกฯ) ที่ตอบไม่เต็มปากเต็มคำ เพราะการจับมือกับประวิตรยังมีฤทธิ์เดชอยู่ แม้ไม่มีการปฏิเสธกัน แต่มีความพยายามจะเอานายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย มากลบข่มประวิตร แต่สุรเกียรติ์ก็ไม่มา”

จุตพร กล่าวว่า เพื่อไทยยังมีสิทธิ์ตอบคำถามง่ายๆ นี้ แต่กลับเล่นลีลาลากไปลากมา ออกอาการพูดปลี้นปล้อน โยนหลักการมาอธิบาย แต่ไม่ยอมใช้ภาษาง่ายๆแบบไพร่พูดให้ชัดเจนตรงไปตรงมา ไม่ต้องตีความความ หรือพูดเปิดช่องดิ้นหนีคำถาม ถึงที่สุดก็ยังไม่ได้คำตอบที่ตรงกับคำถามจนบัดนี้ ดังนั้น จึงคิดเป็นอื่นไม่ได้ เพราะต้องพึ่งพา พล.อ.ประวติร กับ องค์กรอิสระทั้ง 5 และ ส.ว. ยิ่งถ้าประกาศจับมือ พล.อ.ประวิตร เสียงก็จะหายไปทันที หรือหากประกาศเด็ดขาดไม่จับมือ พปชร. ก็จะเจอสงครามและเจอปฏิบัติการกันอีกหลากหลาย จึงจำเป็นต้องอ้ำอึ้ง แล้วพูดกั๊กกันไว้เช่นทุกวันนี้ เพราะเป็นแค่ลีลา ซึ่งไม่ใช่ความจริง

‘บิ๊กป้อม’ ล่องใต้ นั่งหัวโต๊ะประชุม กพต. หนุนเด็ก-สตรีมีส่วนร่วมพัฒนา ยกระดับชีวิตชาวใต้

(27 ก.พ. 66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะ เดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดสตูล และจังหวัดตรัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนา จชต. (กพต.) ครั้งที่ 1/66  ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาวิทยาเขตสตูล อำเภอระงู จังหวัดสตูล โดยมี เลขา ศอ.บต. และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ให้การต้อนรับ

ที่ประชุมเห็นชอบเรื่องสำคัญ ๆ หลายเรื่อง ประกอบด้วย

1.) โครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสตูล ปี 66-72

2.) กรอบแนวทางยกระดับและพัฒนาการท่องเที่ยว จ.สตูล ให้เป็นการท่องเที่ยวระดับโลก ภายใต้แนวคิด ‘ริเวียร่าสตูล’ โดยเฉพาะการยกระดับเกาะอาดัง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกเชิงสุขภาพฮาลาลสากล โดยมีเกาะลังกาวี เป็นเกาะคูพัฒนา

3.) การก่อสร้างถนน เชื่อมต่อ ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ กับด่านบูกิตกายูฮิตัม ของมาเลเซีย รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา

4.) กำหนดให้วันสารท เดือนสิบ เป็นวันหยุดราชการประจำปี เฉพาะพื้นที่ จชต.

5.) ร่างระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ด้านการพัฒนา จชต. ว่าด้วยการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่

6.) ร่างแผนส่งเสริมและพัฒนาเด็ก เยาวชน สตรีและกลุ่มเปราะบาง ในพื้นที่ จชต. ปี 66-70

7.) กรอบแนวทางการยกระดับการจัดการศึกษาในสถาบันการศึกษาปอเนาะและ รร.เอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ จชต. ที่ให้ความสำคัญ ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาที่หลากหลาย การเรียนรู้ทางศาสนาและการศึกษาสมัยใหม่

8.) หลักการขอรับเงินสวัสดิการ สำหรับการปฏิบัติงานประจำสำนักงานในพื้นที่พิเศษ ให้กับผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมเป็นธรรมแก่ผู้ปฏิบัติงาน

9.) โครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่แบบครบวงจร ภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้ย้ำการทำงานร่วมกัน โดยให้ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก นำไปสู่การเกิดสันติสุขในใจของประชาชน และได้สั่งการ ให้ทุกฝ่ายเร่งจัดตั้ง ม.สตูลให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาศักยภาพประชาชน เชื่อมโยงไปยังพื้นที่ จ.ภูเก็ต กระบี่ พังงา รวมทั้งพื้นที่ จชต. โดยเน้นการเรียนการสอนที่ตอบสนองการพัฒนาเชิงพื้นที่และการจัดการศึกษาสมัยใหม่ ตรงความต้องการประชาชนและแผนพัฒนาพื้นที่

ทั้งนี้ ขอให้ทุกส่วนราชการเร่งเดินหน้าการทำงานที่ กพต.ให้ความเห็นชอบร่วมกันให้เป็นรูปธรรม โดยขอให้ทำงานร่วมกับมาเลเซียอย่างใกล้ชิด สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ขอให้ ศอ.บต.ประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจัดโครงสร้างการทำงานให้เป็นอิสระ เพื่อความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพการทำงาน

‘พปชร.’ ไม่ติดใจ ‘บิ๊กตู่’ ตีกินนโยบาย ชี้!! ย้อนดู 8 ปีก็รู้...ว่าผลงานใคร

(27 ก.พ. 66) นายอุตตม สาวนายน แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงนโยบายต่าง ๆ ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ประกาศบนเวทีปราศรัยที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 25 ก.พ.66 ซึ่งพบว่า มีหลายนโยบายทับซ้อนกับของพรรคพลังประชารัฐ ว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ได้ซีเรียสในเรื่องนี้ โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคฯ ซึ่งได้ประกาศชัดเจนก่อนหน้านี้ว่า อะไรที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ พรรคพลังประชารัฐยินดีให้การสนับสนุน ไม่ต้องการเอาชนะคะคานกันในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชน ต่างก็รับทราบดีว่า นโยบายต่าง ๆ มีขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด ใครเป็นคนคิดริเริ่มและผลักดันจนเป็นรูปธรรม เพียงแต่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ทุกเรื่องจะต้องผ่านความเห็นชอบของ ครม. ซึ่งมีนายกฯ เป็นหัวหน้า ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะหิ้วเอานโยบายเหล่านั้น ติดตัวไปอยู่พรรคอื่นด้วย

นายอุตตม กล่าวต่อว่า อย่างนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็แค่ย้อนกลับไปดูว่า โครงการนี้เปิดให้ผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนครั้งแรกในปี 2559 ซึ่งขณะนั้น คนที่เข้ามาคุมนโยบายเศรษฐกิจให้รัฐบาล คสช. คือ ท่านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ตั้งแต่กลางปี 2558 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้ท่านสมคิด กำกับดูแลหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและที่เกี่ยวข้อง 9 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงเกษตรฯ, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ, กระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ขณะที่ผม และท่านสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ก็เข้าร่วม ครม.ไปเป็นรัฐมนตรีคุมกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของนายสมคิด ซึ่งได้มีนโยบายต่าง ๆ ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะแค่โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

นายอุตตม กล่าวอีกว่า เมื่อผมทำหน้าที่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ผ่านการเลือกตั้งปี 2562 แล้ว ส.ส.ทุกคนของพรรคพร้อมใจกันเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกฯ ท่านสมคิด และพวกผมก็ยังร่วม ครม.คุมกระทรวงด้านเศรษฐกิจ เดินหน้าผลักดันนโยบายที่ริเริ่มเอาไว้อย่างต่อเนื่อง กระทั่งพวกผมลาออกจาก ครม.ในปี 2563 

“ย้อนดูไทม์ไลน์ช่วง 8 ปี ก็จะรู้ว่า ใครเป็นผู้ริเริ่มและผลักดันนโยบายเหล่านี้ แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ถ้าพรรคไหนเห็นว่านโยบายของเราดี จะนำไปสานต่อ พรรคพลังประชารัฐและ พล.อ.ประวิตร ก็ยินดี ไม่ขัดข้องอะไร” นายอุตตม กล่าว

ขณะที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรมว.พลังงาน แกนนำพรรค ให้ความเห็นว่า นโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นการริเริ่มของท่านสมคิด อดีตรองนายกรัฐมนตรี และพวกตน ตั้งแต่ช่วงรัฐบาล คสช.ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง จึงถือได้ว่าเป็นผลผลิตของพรรคพลังประชารัฐ ทั้งโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รวมถึง EEC

‘บิ๊กป้อม’ หนุนโครงการน้ำบาดาล จ.ตรัง สร้างความมั่นคงระดับชุมชน มีน้ำสะอาดใช้-ดื่มฟรี

(27 ก.พ. 66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รมว.ศธ., รมช.กห. และคณะ ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการต่อเนื่องจากช่วงเช้า-บ่าย ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้เป็นประธานการประชุม กพต. และพบปะผู้นำศาสนา-ชุมชนในพื้นที่ จ.สตูล 

ต่อจากนั้นในช่วงเย็น พล.อ.ประวิตร และคณะได้เดินทางต่อไปยัง จ.ตรัง เพื่อติดตามโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน ณ บ้านพรุท่อม ต.นาโต๊ะหมิง อ.เมือง จ.ตรัง โดยมีนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผวจ.ตรัง ให้การต้อนรับ พร้อมรายงานภาพรวมในพื้นที่ของจังหวัด ต่อด้วย รองเลขาฯ สทนช. นำเสนอแผนงานด้านทรัพยากรน้ำและการคาดการณ์สถานการน์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ และรองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้รายงานสรุปโครงการพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อความมั่นคงระดับชุมชน ซึ่งเป็นโครงการน้ำบาดาลเพื่ออุปโภค-บริโภค งป.ปี 65 ความลึกเจาะ 90 ม. ได้ปริมาณน้ำ กว่า 20 ลบ.ม./ชม. ช่วยประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายจากที่เคยซื้อน้ำดื่มได้ปีละ 1.8 ล้านบาท 500 ครัวเรือน

‘บิ๊กป้อม’ ไฟเขียว ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใต้ 3 เดือน เอื้อ จนท. ดูแล ปชช. - ระงับเหตุในพื้นที่ได้ทันที

(1 มี.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ครั้งที่ 1/2566 มีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และพล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้าร่วม

โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับลดพื้นที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี ออกจากพื้นที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เนื่องจากผ่านเกณฑ์การประเมินผล และให้นำ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ มาบังคับใช้แทน และเห็นชอบ ขยายเวลาการประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงใน 3 จชต. ยกเว้น อ.ศรีสาคร, อ.สุไหงโก-ลก, อ.แว้ง และ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ยกเว้น อ.ยะหริ่ง, อ.มายอ, อ.ไม้แก่น และอ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา ยกเว้น อ.เบตง, อ.กาบัง ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่ 20 มี.ค.-19 มิ.ย.66 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ป้องกันและระงับยับยั้งสถานการณ์ให้ได้ อย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลรักษาความสงบ ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top