‘บิ๊กป้อม’ นั่งหัวโต๊ะ ร่วมประชุมด้านสิ่งแวดล้อม 10 โครงการ จี้!! ทุกหน่วย เร่งแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปกป้องสุขภาพ ปชช.

(15 มี.ค. 66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

คณะกรรมการฯ ได้รับทราบ รายงานผลการประชุม สมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วย พื้นที่ชุมน้ำสมัยที่ 14 จัดขึ้นภายใต้ หัวข้อ ‘Wetlands Action for People and Nature’ โดยมีพิธีมอบรางวัล Wetland City Accreditation ซึ่งประเทศไทยได้รับมอบรางวัล การรับรอง อำเภอศรีสงคราม จีงหวัดนครพนม ให้เป็นเมืองแห่งพื้นที่ชุมน้ำภายใต้อนุสัญญาว่าด้วย พื้นที่ชุมน้ำ

จากนั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 10 โครงการสำคัญ เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ทั่วประเทศ ได้แก่
1.) โครงการประตูระบายน้ำกรงปินัง จ.ยะลา ของกรมชลประทาน
2.) โครงการบ้านเคหะกตัญญู คลองหลวง 2 จ.ปทุมธานี ของการเคหะแห่งชาติ
3.) โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองน่าน ของกรมทางหลวง

4.) โครงการทางเลี่ยงเมืองสกลนคร (ด้านทิศตะวันออก) ของกรมทางหลวง
5.) โครงการทางหลวงหมายเลข 103 อ.ร้องกวาง-อ.งาว ของกรมทางหลวง.
6.) โครงการทางขนานสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ของกรมทางหลวง
7.) แผนงานขยายเขตไฟฟ้าให้หมู่บ้านในโครงการหมู่บ้านพัฒนาเพื่อความมั่นคง พื้นที่ชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ปาย และอ.บางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน (กลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

8.) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วง ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และโครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
9.) มีมติเห็นชอบกรอบการเจรจาและท่าทีของไทยในการประชุม รัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ สมัยที่ 16 รอตเตอร์ดัมสมัยที่ 11 และสตอกโฮล์มสมัยที่ 11
10.) ชอบการปรับปรุงประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม : กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเล เพื่อควบคุมการก่อสร้างที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติของชายฝั่งทะเล

นอกจากนั้น ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญเร่งด่วน ต่อภาวะสภาพอากาศปัจจุบันที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กในหลายพื้นที่ โดยเห็นชอบมาตรการยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง ช่วงสถานการณ์วิกฤต ใน 17 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะกระทบต่อสุขภาพของประชาชน พร้อมด้วยแผนการดำเนินงานมาตรการระยะยาว ปี 67-70 ครอบคลุมทั้งพื้นที่ ป่า เมือง เกษตร และปกป้องประชาชน

พล.อ.ประวิตร ยังได้ขอบคุณและชื่นชมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการขับเคลื่อนงานที่ผ่านมา และมีผลงานเชิงประจักษ์ระดับสากล พร้อมกำชับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง (PM 2.5) โดยด่วน พร้อมเน้นย้ำหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการต่าง ๆ ที่ผ่านความเห็นชอบตามรายงาน EIA แล้ว จะต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นรูปธรรม รองรับการพัฒนาพื้นที่และประเทศชาติ เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีความสุขต่อไป