Monday, 19 May 2025
น้ำท่วม

‘นายกฯ’ เกาะติด ‘น้ำท่วมชายแดนใต้’ กำชับทุกหน่วยช่วย ปชช.ให้ทั่วถึง ยัน!! รัฐบาลพร้อมฟื้นฟู-เยียวยาทันที ขอบคุณ จนท.ที่ทำงานเต็มกำลัง

(29 ธ.ค. 66) น.ส.นัทรียา ทวีวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ติดตามและรับรายงานสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ขณะนี้ มวลน้ำไหลไปที่จังหวัดปัตตานีแล้ว ทำให้จังหวัดมีน้ำท่วมสูง โดยนายกฯ ยังเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย โดยสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานความมั่นคง ร่วมกันช่วยเหลือประชาชนในเรื่องอาหาร น้ำ ของใช้จำเป็น และยา กำชับให้ช่วยเหลืออย่างทั่วถึง และในพื้นที่ห่างไกลที่ประชาชนออกมาไม่ได้ อย่าให้ประชาชนเดือดร้อน

“นายกฯ ย้ำเรื่องการเตือนภัยและอพยพประชาชน หากจำเป็นก็ต้องทำ ส่วนเรื่องการเยียวยา ให้ความมั่นใจ ประชาชนทุกคนที่ประสบภัยจะได้รับการเยียวยา ฟื้นฟูทันทีเช่นกัน ทั้งนี้ นายกฯขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และทุกหน่วยงานที่ทุ่มเท เสียสละเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนที่ประสบภัย”

น้ำท่วมหนัก 'นครดูไบ' กระทบ 'ไฟฟ้า-น้ำประปา' ใช้งานไม่ได้ ด้านผู้ประสบภัยเซ็ง ยังไม่มีหน่วยงานราชการใดเข้ามาช่วยเหลือ

(19 เม.ย.67) น้ำท่วมหนักนครดูไบยังคงวิกฤติ ไฟฟ้าและน้ำประปายังใช้งานไม่ได้ ด้านผู้ประสบภัยบอกว่า ยังไม่มีหน่วยงานราชการใดเข้ามาช่วยเหลือ

สถานการณ์น้ำท่วมหนักในนครดูไบยังคงวิกฤติ อาสาสมัครนำเรือยางออกไปช่วยรับส่งประชาชนตามอาคารต่าง ๆ ซึ่งต้องเดินทางสัญจรไปบนท้องถนนที่จมอยู่ใต้น้ำ ในขณะที่ไฟฟ้าและน้ำประปายังใช้งานไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาขาดแคลนอาหาร เนื่องจากปัญหาการขนส่ง ด้านผู้ประสบภัยบอกว่า ยังไม่มีหน่วยงานราชการใดเข้ามาช่วยเหลือ ขณะที่สื่อของทางการรายงานว่า ประธานาธิบดีชีค โมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด อัล นาห์ยัน สั่งให้ทางการประเมินความเสียหาย และเร่งให้การช่วยเหลือครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 

‘อินโดนีเซีย’ อ่วม!! ฝนถล่มหนักติดต่อหลายชั่วโมง ส่งผล ‘น้ำท่วมฉับพลัน-ลาวาเย็นทะลัก’ ดับ 12 ราย

(13 พ.ค.67) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานข้อมูลจากหน่วยกู้ภัยอินโดนีเซีย ‘บาซาร์นาส’ เมื่อราว 22.30 น. วันเสาร์ (11 พ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น เกิดภัยพิบัติในท้องที่อากัมและตานาห์ ดาตาร์ จ.สุมาตราตะวันตก หลังฝนตกหนักนานหลายชั่วโมงเป็นเหตุให้น้ำท่วมฉับพลันและลาวาเย็นไหลทะลักจากภูเขาไฟมาราปี

นายอับดุล มาลิก หัวหน้าหน่วยกู้ภัย แถลง (12 พ.ค.) ว่า “ประชาชนเสียชีวิต 12 คน ร่างถูกนำไปโรงพยาบาลและระบุตัวตนได้แล้ว 9 คน ในจำนวนนี้มีเด็ก 3 ขวบหนึ่งคนและ 8 ขวบหนึ่งคน สูญหายอีกสี่คนในอำเภออากัม วันนี้เจ้าหน้าที่ยังปฏิบัติการค้นหาอย่างต่อเนื่องในทั้งสองอำเภอ”

ทางการท้องถิ่นส่งทีมกู้ภัยและเรือยางค้นหาผู้ที่สูญหาย และขนย้ายประชาชนไปยังที่หลบภัย ทางการท้องถิ่นตั้งศูนย์อพยพและกู้ภัยฉุกเฉินหลายจุด

ทั้งนี้ ลาวาเย็น หรือที่เรียกกันว่าลาฮาร์ เป็นวัตถุจากภูเขาไฟ เช่น เถ้าถ่าน ทราย และหินกรวดที่ฝนชะลงมาตามลาดเขา

อินโดนีเซียนั้นเสี่ยงเกิดน้ำท่วมและดินถล่มในช่วงฤดูฝน เมื่อเดือนมี.ค. เคยมีผู้เสียชีวิตจากเหตุนี้มาแล้วอย่างน้อย 26 คน ส่วนภูเขาไฟมาราปี เป็นภูเขาไฟที่คุกรุ่นมากที่สุดในสุมาตรา และเป็นหนึ่งในเกือบ 130 ลูกที่คุกรุ่นมากที่สุดในประเทศ

ในเดือน ธ.ค. ภูเขาไฟมาราปี ปะทุพ่นเถ้าถ่านสูง 3,000 เมตรขึ้นสู่ท้องฟ้า สูงยิ่งกว่าตัวภูเขาไฟเองเป็นเหตุให้นักปีนเขาอย่างน้อย 24 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเสียชีวิต

‘เทศบาลเมืองน่าน’ ประกาศเตือนภัยน้ำท่วม ย้ำ!! ชุมชนไหนเคยท่วมหนักปี 54 เก็บของขึ้นที่สูง

(22 ส.ค.67) ความคืบหน้าสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ จ.น่าน ติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ทำให้เกิดมวลน้ำสะสมเป็นจำนวนมาก น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชนหลายแห่งได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ เทศบาลเมืองน่าน ได้เผยแพร่ประกาศเตือนภัยจากเทศบาลเมืองน่าน วันที่ 21 สิงหาคม 2567 เวลา 18.10 น. ระบุว่า เนื่องด้วยมีฝนตกสะสม ปริมาณน้ำในแม่น้ำน่าน ลำน้ำสาขา ลำน้ำห้วยลี่ เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เครื่องสูบน้ำ ณ คลองเจ้าฟ้า อาจจะระบายน้ำปริมาณมากในตัวเมืองไม่ทัน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำท่วมในที่ลุ่มต่ำ

ขอให้ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองน่านที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะชุมชนที่เคยประสบภัยน้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2554 เก็บข้าวของเครื่องใช้ขึ้นบนที่สูง และเตรียมอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค ให้พร้อม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วน โทร.199, 0-5471-0508/0-5471-1014 Facebook เทศบาลเมืองน่าน

'ชาวนนทบุรี' อึ้ง!! มวลน้ำจากเหนือกำลังมา แต่ประตูระบายน้ำ ถูกขโมยสายไฟหายเป็นปี

(22 ส.ค.67) นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายภณณัฏฐ์ ศรีอินทร์สุทธิ์ อดีต สส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย, นายภูมิวิทย์ นารถสกุล ผู้อำนวยการชลประทานนครปฐม, นายสุพจน์ สุวรรณจิตร ผู้อำนวยการชลประทานนนทบุรี นายผดุงศักดิ์ ผ้าเจริญ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

ลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมของ ประตูระบายน้ำคลองพระพิมล อ.บางเลน จ.นครปฐม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูน้ำหลากที่กำลังจะมาถึง โดยคลองพระพิมลราชามีความยาว 31 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำท่าจีน จ.นครปฐม กับแม่น้ำเจ้าพระยา จ.นนทบุรี ซึ่งจะมีประตูควบคุมน้ำทั้งสองด้าน

นายประยูร กล่าวว่า หลังได้รับแจ้งเกี่ยวกับมวลน้ำจำนวนมาก ที่กำลังไหลลงมาจากทางภาคเหนือ จึงได้แจ้งไปยังกระทรวงว่าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล ยังไม่มีความพร้อมในเรื่องของการระบายน้ำ ทั้งที่โครงการคลองพระพิมลเป็นหัวใจสำคัญในการที่จะดูแลเกษตรกร ประชาชน อ.ไทรน้อย และ อ.บางบัวทอง แล้วยังเป็นแหล่งที่จะต้องรับน้ำที่ระบายมาจากโครงการเจ้าเจ็ด และโครงการพระยาบรรลือ

อย่างไรก็ตามเมื่อได้มาตรวจสอบ พบว่าสายไฟที่ต้องใช้ในการเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ ถูกโจรกรรมหายไปหมดตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้ง ๆ ที่เดือน ส.ค. และ ก.ย. จะเข้าสู่ช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนในพื้นที่รวมทั้งน้ำหลากที่มาจากทั้งสองโครงการแล้ว

ถ้าโครงการนี้ยังไม่ได้เตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับมวลน้ำไว้ จะทำให้พี่น้องประชาชนเกษตรกรใน อ.ไทรน้อย และ อ.บางบัวทอง รวมไปถึง อ.บางเลน จ.นครปฐม ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงตามมาอย่างแน่นอน

'นักเขียนชื่อดัง' ชี้!! หากปีไหนน้ำไม่ท่วมเท่าปี 54 อย่าสรุปเองว่าน้ำไม่ท่วม ยกเคส 'เชียงราย' ของจริง!! ต้องเร่งกระจายอำนาจ อย่ารอแต่ส่วนกลาง

(22 ส.ค.67) จากเหตุการณ์ฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมาหลายวันได้ทำให้น้ำป่าบนเทือกเขาชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน อ.เทิง-อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ไหลทะลักลงสู่ลำน้ำหงาว ที่เอ่อล้นอยู่แล้วจนทะลักเข้าท่วมหนักในหมู่บ้านหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงราย

อย่างไรก็ตามวันนี้ ‘ภาณุ ตรัยเวช’ นักเขียนชื่อดัง และอดีตตัวแทนนักเรียนไทยที่ไปแข่งขันวิชาฟิสิกส์โอลิมปิกถึง 3 สมัยได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ใน จ.เชียงราย ครั้งนี้ โดยได้ระบุข้อความว่า

“ตอนแรกจะรอให้น้ำลดก่อนแล้วค่อยเขียน แต่เขียนเลยละกัน สังคมไทยต้องหยุดเอาน้ำท่วมปี 54 เป็นมาตรฐานของ ‘น้ำท่วม’ แล้วเอาเหตุการณ์น้ำท่วมเชียงรายแบบนี้ต่างหากเป็นมาตรฐาน

น้ำท่วมส่วนใหญ่เกิดจากฝนตกใหญ่ ‘ความเร็ว’ น้ำที่ไหลลงมาเกินกว่าขีดจำกัด ‘ความเร็ว’ การระบายน้ำออก น้ำเลยขังอยู่ในที่ที่เราไม่อยากให้มันขัง จุดสำคัญคือ ‘ขีดจำกัดของการระบายน้ำออก’ นี่แหละ มันไม่ใช่ปัจจัยธรรมชาติ เป็นเรื่องการจัดการของคน ของหน่วยงานท้องถิ่นด้วย

ทุกปีจะมีเหตุการณ์น้ำท่วม xxx ครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปี โดย xxx เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ โดยไม่จำเป็นเลยว่าน้ำจะต้องมาจ่อท่วมกรุงเทพฯ เหมือนปี 54

น้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 54 เป็นกรณียกเว้นของยกเว้น เกิดเพราะ ‘ปริมาณ’ น้ำสะสมล้นเกิน น้ำไม่มีที่ไป ต่อให้ระบายได้เร็วก็ไม่รู้จะไประบายที่ไหน เพราะเขื่อน เพราะแม่น้ำใหญ่ล้นหมดแล้ว (ซึ่งไม่ใช่สถานการณ์ในปีนี้เลยนะ เราเช็กข้อมูลน้ำในเขื่อนสะสม ก็ค่อนข้างเป็นไปตามมาตรฐาน)

น้ำท่วมเชียงรายแบบตอนนี้ต่างหากคือโมเดลของปัญหาน้ำท่วมจริง ๆ เราไม่อยากท่องคาถา ‘กระจายอำนาจ’ แต่มันมีส่วนสำคัญเลยล่ะ เพราะท้องถิ่นต่าง ๆ ต้องสามารถระบายน้ำให้ทันกับน้ำที่ตกลงมา หรือมี infrastructure ที่พร้อมรับมือกับเรื่องราวไม่คาดฝันได้ในทุกปี (ซึ่งอะไรแบบนี้ ‘ส่วนกลาง’ อย่างเดียวทำไม่ได้หรอก)

เราไม่อยากให้คนคิดว่า ‘น้ำท่วมใหญ่’ คือ ‘น้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 54’ เพราะสุดท้ายพอมันไม่เป็นถึงขนาดนั้น เราก็สรุปกันว่า ‘ปีนี้น้ำไม่ท่วม’ ซึ่งไม่ใช่เลย น้ำท่วมทุกจังหวัด ทุกปี ในรูปแบบที่แตกต่างออกไปเท่านั้นเอง”

‘สมเด็จพระสังฆราช’ มอบกัปปิยภัณฑ์ 100,000 บาท สนับสนุนทำโรงทาน ช่วยเหลือน้ำท่วมในเชียงราย

เมื่อวานนี้ (22 ส.ค.67) จากเพจเฟซบุ๊ก ‘สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ’ โพสต์ข้อความระบุว่า… 

โดยพระดำริ เจ้าประคุณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม มอบกัปปิยภัณฑ์ 100,000 บาท สนับสนุนการทำโรงทาน เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย อ.เทิง วัดพระนาคแก้ว ตำบลเวียง อ.เวียงแก่น วัดปอกลาง ตำบลปอ อ.ขุนตาล วัดป่าตาลใต้ ตำบลป่าตาล อ.พญาเม็งราย วัดบุญวาลย์ ตำบลแม่เปา และในพื้นที่ใกล้เคียง
 

'สุริยะ' สั่งเปิดศูนย์ภัยพิบัติคมนาคม ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคเหนือ

(23 ส.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัย (น้ำท่วมฉับพลัน) น้ำป่าไหลหลาก และดินสไลด์ในภาคเหนือที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้นั้น กระทรวงคมนาคมมีความห่วงใยต่อความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ได้มอบหมายและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผล กระทบจากอุทกภัยในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสั่งเปิด ‘ศูนย์ Command Center ภัยพิบัติกระทรวงคมนาคม’ ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการ สั่งการ รับแจ้งเหตุ ประสานข้อมูลการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายใน และภายนอกกระทรวงฯ เพื่อบูรณาการการรายงานผลในการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที

ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานจัดเตรียมถุงยังชีพ และของใช้จำเป็น เพื่อแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในครั้งนี้ พร้อมทั้งให้จัดเจ้าหน้าที่คอยดูแล และอำนวยความสะดวกการสัญจรบนเส้นทางการจราจรต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตั้งป้ายเตือน และจัดเจ้าหน้าที่ดูแลสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง (ชม.) จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย นอกจากนี้ ยังได้ให้ทุกหน่วยงานรายงานความคืบหน้าและความเคลื่อนไหวต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทันที เพื่อเตรียมแผนรับมือและช่วยเหลือพี่น้องประชาชน 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กรมทางหลวง (ทล.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วม และดินสไลด์ในโครงข่ายทางหลวง (ณ วันที่ 22 ส.ค.67) ได้รับผลกระทบใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย น่าน พะเยา เชียงราย และแพร่ รวม 13 แห่ง 8 สายทาง การจราจรสามารถผ่านได้ 3 แห่ง และผ่านไม่ได้อีก 10 แห่ง ทั้งนี้ ในทุกจุดที่เกิดเหตุนั้น มีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกด้านการจราจรอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สถานการณ์การสัญจรกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และให้ประชาชนที่ใช้เส้นทางมีความปลอดภัยระดับสูงสุด ขณะเดียวกัน ทล. ได้เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ และเครื่องจักร เพื่อลงพื้นที่เฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาตลอด 24 ชม. ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือให้แจ้งมาที่สายด่วน ทล. โทร. 1586 ฟรีตลอด 24 ชม.

ขณะที่ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้รายงานว่าขณะนี้ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าลงพื้นที่โดยทันที เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเตรียมเครื่องมือ เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ ป้ายเตือน หลักนำทาง สะพานเบลีย์ และยานพาหนะให้มีความพร้อมรองรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สำหรับเส้นทางการสัญจรภายใต้การดูแลนั้น การจราจรสามารถสัญจรได้ตามปกติแล้ว หลังจากที่มีน้ำท่วมและเกิดเหตุดินสไลด์ 6 สายทาง และยังไม่สามารถใช้สัญจรได้ 13 เส้นทาง ซึ่งทุกจุดนั้นมีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดเส้นทางเช่นกัน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้รายงานว่า จากเหตุน้ำท่วมและดินถล่มนั้น ท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท. ยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ได้จัดเตรียมแผนการรองรับไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือและบริหารจัดการน้ำภายใน ทชร. โดยการขุดลอกระบบระบายน้ำแบบเปิด ซึ่งเป็นคูระบายน้ำโดยรอบพื้นที่ท่าอากาศยาน และจัดเตรียม เครื่องสูบน้ำด้านทิศเหนือที่ใช้บริหารจัดการน้ำภายใน ทชร. ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา และมีการตรวจสอบประตูน้ำว่าสามารถใช้งานได้ปกติ 

นอกจากนี้ ได้จัดเจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบกายภาพ และติดตามสถานการณ์น้ำท่วมโดยรอบพร้อมประเมินสถานการณ์และรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อีกทั้งได้จัดเตรียมเครื่องอุปโภค บริโภค รวมถึงยารักษาโรคใน ‘ถุงยังชีพ’ ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อช่วยเหลือ บรรเทาภัยผู้ประสบภัยน้ำท่วมภายในพื้นที่ ขณะเดียวกันท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นำอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งของจำเป็นในการยังชีพ แจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือในการยังชีพในเบื้องต้น และหลังจากนั้นจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อจะอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป

ในส่วนของกรมเจ้าท่า (จท.) นั้น ได้ส่งบุคลากรเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งจัดเตรียมเรือตรวจการณ์ รถยนต์ และสิ่งของต่าง ๆ ไปมอบให้ผู้ประสบภัย และเข้าร่วมศูนย์ช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยของ ปภ. อำเภอเมือง และอำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนที่ประสบภัยในครั้งนี้ผ่านวิกฤตไปได้ด้วยดี 

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลการเดินทางเพิ่มเติมหรือแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายระหว่างเดินทาง หรือต้องการความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน ทล. โทร. 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชม.) สายด่วนมอเตอร์เวย์ โทร. 1586 กด 7 และตำรวจทางหลวง โทร. 1193 ขณะที่สายด่วน ทช. โทร. 1146

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดนั้น มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหลายแห่ง ซึ่งต้องเฝ้าระวังบริเวณพื้นที่เสี่ยง ดังนี้ ภาคเหนือ 12 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ประกอบด้วย เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ภาคตะวันตก 4 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ประกอบด้วย นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด และภาคใต้ 8 จังหวัด ประกอบด้วย ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล

‘เจ้าของคาเฟ่’ จ.น่าน เปิดใจหลังร้านโดนน้ำท่วม เกือบมิดหลังคา ชี้!! ข้าวของเสียหาย ทุกอย่างที่รัก ตอนนี้พังหมดภายใน 1 คืน

(23 ส.ค.67) จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Suthida Wongrattana โพสต์เหตุการณ์ ร้านคาเฟ่ที่ จ.น่าน โดนน้ำท่วม จนข้าวของทุกอย่างเสียหายหมด พร้อมระบุว่า “ในชีวิตนี้ไม่เคยเจออะไรหนักเท่านี้เลย ร้านที่เราฝัน ที่เรารัก เราทำมันสำเร็จ แต่ตอนนี้มันพังหมดภายใน 1 คืน จุกไปหมด”

ล่าสุดวันนี้ คุณก้อย เจ้าของร้านคาเฟ่ที่ จ.น่าน เปิดใจกับข่าวสดออนไลน์ ระบุว่า ร้านของตนเคยน้ำท่วมมาแล้วรอบหนึ่งเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา น้ำท่วมถึงแค่สนามหญ้าและน้ำก็ลดเร็ว แต่น้ำตรงแม่น้ำน่านยังไม่ค่อยลดเท่าไหร่ เวลามีฝนตก ตนก็กังวลว่ามันจะท่วมอีกรอบหรือเปล่า

ต่อมาวันที่ 20 ส.ค. มีฝนตกเกือบทั้งวันและหยุดตกตอนเวลาหลัง 18.00 น. จนเมื่อเวลาประมาณ เที่ยงคืน วันที่ 21 ส.ค. ฝนตกหนักอีกครั้งตลอดทั้งคืนยันเช้า ซึ่งร้านก็ยังเปิดตามปกติ เพราะไม่คิดว่าน้ำจะขึ้นเร็วขนาดนี้ แต่พอช่วงเวลา 14.00 น. ถึง 15.00 น. เห็นน้ำเริ่มขึ้นก็ทยอยเก็บของ ยกขึ้นที่สูงกว่าที่น้ำเคยท่วมรอบก่อน พวกเฟอร์นิเจอร์ก็แขวนไว้ที่หลังคา

หลังจากฝนเริ่มเบาลง ตอนนั้นตนยังชะล่าใจ คิดว่าน้ำไม่น่าท่วมสูงเกินที่คาดไว้ จึงไม่ได้ขนของอะไรออกมา จากนั้นก็รีบออกมาจากพื้นที่ หลังจากนั้นเวลาประมาณ 18.00 น. แม้ฝนจะหยุดแล้วแต่น้ำก็ยังคงขึ้นอย่างรวดเร็วจนเข้าไปเอาของไม่ได้

คุณก้อย กล่าวว่า น้ำหนุนขึ้นมาเยอะมากจากทางน่านตอนเหนือที่ฝนตกหนักมาก่อน เริ่มท่วมจากทางทุ่งช้าง เชียงกลาง ปัว ท่าวังผา แล้วเข้าเมือง การที่น้ำท่วมสูงอย่างรวดเร็วแสดงว่าน้ำจากทางเหนือมันเยอะมากแล้วไล่ระดับลงมา

ตอนที่คนในพื้นที่เริ่มบอกกันว่าน้ำมันจะท่วมสูงประมาณตอนปี พ.ศ. 2554 นะ ตนก็เข้าไปเอาของออกไม่ทันแล้ว น้ำท่วมสูงจนทำให้ตนไม่สามารถเข้าไปเอาของออกมาได้ทัน รถก็เข้าไปไม่ได้แล้ว พายเรือไปก็ไม่ได้เพราะน้ำเริ่มเชี่ยว

โดยตอนเวลาประมาณ 22.00 น. ไฟยังไม่ตัด ตนดูกล้องวงจรปิดเห็นว่าน้ำเริ่มเข้าร้าน พบว่าน้ำท่วมครั้งนี้สูงกว่าที่เคยเจอมาจากปีอื่น ๆ ที่เคยเจอ และไฟก็เริ่มตัดไป น้ำยังคงท่วมสูงขึ้นเรื่อย ๆ ยันเช้าของวันที่ 22 ส.ค. ตนตื่นออกมาดูน้ำในพื้นที่ก็พบว่าน้ำท่วมเกือบมิดหลังคาร้าน

ร้านคาเฟ่ของตนเป็นร้านเบเกอรี่ที่เปิดเป็นร้านกาแฟด้วย อุปกรณ์ของทำเบเกอรี่ วัตถุดิบ เครื่องทำกาแฟ เครื่องสกัดกาแฟ เครื่องบดต่าง ๆ ถูกล็อกแช่อยู่ในร้านทั้งหมด รวมไปถึงของตกแต่งร้านและเฟอร์นิเจอร์ที่ยกสูงแล้วก็ยังหนีน้ำไม่พ้น

ตอนเช้าที่ตื่นมาเจอน้ำท่วมเกือบมิดหลังคาร้าน ตนรู้สึกทั้งช็อกและจุก เพราะของตนอยู่ในนั้นทั้งหมดเลย ไม่คิดว่าน้ำมันจะท่วมสูงขนาดนี้ มันคือการเริ่มใหม่ทั้งหมด คาเฟ่ของตนมีแมชชีนและของครบทุกอย่าง

แม้กระทั่งการแต่งสวนหน้าร้าน หรือเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ก็โดนน้ำท่วมไปหมด และยิ่งจิตตกตอนย้อนกลับไปดูรูปภาพตอนร้านยังสวย แล้วกลับมาดูสภาพปัจจุบัน ทำให้ตอนนี้สภาพจิตใจไม่ค่อยโอเค ซึ่งตนไม่ใช่คนน่าน ย้ายมาอยู่กับพ่อแม่ของแฟน เขาก็บอกว่าน้ำไม่เคยท่วมสูงขนาดนี้

ตนรู้สึกว่าทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ก็จะมีแต่ชาวบ้านด้วยกันเองที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือดูแลกันเอง หรือได้รับความช่วยเหลือแค่ในระดับ อบต. ที่คอยหาเรือ ข้าว อาหาร มาช่วยคนที่ออกจากพื้นที่ไม่ได้ หรือเพจน่าน ที่คอยช่วยประชาสัมพันธ์แจ้งคนหายต่าง ๆ

แต่เท่าที่ตนเห็น ยังไม่มีหน่วยงานระดับสูง ๆ ลงพื้นที่เข้ามาช่วยเหลือดูแลเลย อาศัยการพึ่งพากันเองมากกว่า ตนก็ต้องเข้าไปอยู่ในกลุ่มของคนท่าวังผา กลุ่มของคนในพื้นที่ หรือฟังประกาศจากผู้ใหญ่บ้าน ประกาศอย่างเป็นทางการ เท่าที่ตนทราบยังไม่มี

แต่ทั้งนี้ตนไม่โทษใครอยู่แล้วเพราะเป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติ แค่อยากเตือนทุกคนจากประสบการณ์ตัวเองว่า ถ้าน้ำมาอย่าชะล่าใจ ขนอะไรได้ก็ขนให้หมด อยู่ในพื้นที่สูง ๆ หรือออกมาจากพื้นที่ตรงนั้นให้เร็วที่สุดจะดีกว่า

'สส.เพื่อไทย' แฉ 'สส.บางพรรค' ต้นเหตุทำน้ำท่วมภาคเหนือ

(23 ส.ค.6) นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล สส.พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X ระบุว่า...

"ความสะใจของพวกคุณในวันนั้น คือความเดือดร้อนของประชาชนในวันนี้...

"ไม่ต้องถามว่านายกฯ จะลงพื้นที่น้ำท่วมเมื่อไร? เพราะหากบางพรรคไม่ได้ตัดงบฯ ฝายแกนซีเมนต์ของเพื่อไทยทิ้งทั้งหมดจาก พรบ.งบฯ '67 ก็คงสามารถป้องกันให้น้ำไม่ท่วมจนไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่...ใช่ไหมครับ? #น้ำท่วมภาคเหนือ"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top