Monday, 19 May 2025
น้ำท่วม

'นนทบุรี' เตือน!! 30 ชุมชนนอกแนวป้องกันเสี่ยงน้ำท่วม อิทธิพล 'ฝนหนัก-น้ำเหนือ' แนะ!! เร่งยกของขึ้นที่สูง

เมื่อวานนี้ (3 ก.ย. 67) นายอภิชัย อร่ามศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ในราชการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนนทบุรี ถึงหัวหน้าส่วนราชการหลายหน่วยและนายกเทศมนตรีหลายแห่ง และแจ้งให้พร้อมรับมือน้ำฝนและรับน้ำเหนือ และ 30 ชุมชนเสี่ยงถูกน้ำท่วม

โดยอ้างประกาศฉบับที่ 2 ของกรมอุตุนิยมวิทยา ลงวันที่ 2 กันยายน แจ้งว่า ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมาก บางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงระหว่างวันที่ 3-9 กันยายน 2567

และกรมชลประทานได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 2 กันยายน 2567 แจ้งว่า จะมีการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 1,400-1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน อีกประมาณ 0.25-1.40 เมตร และอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2567 เป็นต้นไป ประกอบกับจากการคาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุนสูง จากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ น้ำทะเลหนุนสูงถึงวันที่ 5 กันยายน 2567 และระหว่างวันที่ 14-20 กันยายน 2567

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ และลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนนทบุรีจึงขอให้ถือปฏิบัติตามแนวทาง ดังนี้

1.แจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการ ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกรควรป้องกันผลิตผลทางการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหาย และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำให้ขนย้ายสิ่งของเพื่อลดความเสียหายจากกรณีเพิ่มการระบายน้ำ และน้ำทะเลหนุนสูง จากระดับน้ำปัจจุบันประมาณ 0.25-1.40 เมตร

2.หากมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์ฝนฟ้าคะนองรุนแรงในพื้นที่ ให้เตรียมพร้อมทรัพยากร และแผนเผชิญเหตุ รวมถึงกำลังเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อมบรรเทาภัย อำนวยความสะดวก ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง โดยประสานและบูรณาการหน่วยงานพลเรือน เครือข่ายอาสาสมัคร จิตอาสา ภาคเอกชนทุกภาคส่วนเข้าร่วมปฏิบัติงาน

3.หากเกิดสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่ให้รายงานสถานการณ์ และการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนนทบุรีทราบทันที ทางหมายเลขโทรศัพท์ 0-2591-2471 สายด่วน 1784 หรือแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่น Line ปภ.โดยดำเนินการเพิ่มเพื่อน Line ID : @๑๗๘๔DDPM ตลอด 24 ชั่วโมง

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนนทบุรี จึงขอให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการในแม่น้ำ เช่น งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำต่ำ 30 จุด ให้เฝ้าระวังและยกของขึ้นที่สูงและเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหากมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์สาธารณภัยในพื้นที่ ให้แจ้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา หรือกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนนทบุรี ร่วมปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือประชาชนต่อไป

สำหรับชุมชนทั้ง 30 แห่ง ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ นอกแนวป้องกันน้ำท่วม เสี่ยงได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย

1.ชุมชนบริเวณวัดค้างคาว ม.4
2.ชุมชนริมน้ำท่าอิฐ ม.8
3.ชุมชนบริเวณมัสยิดท่าอิฐ ม.10
4.ชุมชนคลองบางภูมิ ม.5 ฝั่ง ต.คลองพระอุดม
5.ชุมชนบริเวณวัดไทรม้าเหนือ
6.ชุมชนบริเวณวัดไทรม้าใต้
7.ชุมชนวัดเฉลิมพระเกรียรติ
8.ชุมชนวัดอมฤต
9.ชุมชนบริเวณเกาะเกร็ด
10.ชุมชนบริเวณวัดแคนอก

11.ชุมชนวัดศาลารี
12.ชุมชนวัดค้างคาว ม.4
13.ชุมชนบริเวณวัดโพธิ์ทองบน
14.ชุมชนบริเวณวัดสลักเหนือ
15.ชุมชนวัดแจ้งศิริสัมพันธ์
16.ชุมชนบริเวณ หลัง รพ.พระนั่งเกล้า
17.ชุมชนบริเวณท่าน้ำนนทบุรี
18.ชุมชนบริเวณหมู่บ้านเทพประทาน
19.ชุมชนบริเวณวัดกู้
20.ชุมชนบริเวณวัดบ่อ

21.ชุมชนบริเวณวัดสนามเหนือ
22.ชุมชนวัดกลางเกร็ด
23.ชุมชนวัดแสงสิริธรรม
24.ชุมชนริมน้ำท่าอิฐ ม.4, ม.5, ม.6 และ ม.7
25.ชุมชนวัดตำหนักใต้
26.ชุมชนบริเวณวัดท่าบางสีทอง
27.ชุมชนบริเวณวัดชลอ
28.ชุมชนบริเวณวัดเกตุประยงค์เล็ก
29.ชุมชนบริเวณวัดพิกุลทอง
30.ชุมชนวัดใหญ่สว่างอารมณ์

ข่าวปลอม!! มวลน้ำจากสุโขทัยใกล้ ถึง กทม. สทนช. ยัน!! มวลน้ำยังสามารถควบคุมได้

(4 ก.ย.67) 'Anti-Fake News Center Thailand' ได้แจ้งข่าวว่า ตามที่มีการประกาศเตือนเกี่ยวกับเรื่อง มวลน้ำจากสุโขทัยใกล้ถึง กทม. แล้ว ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีการโพสต์ระบุข้อความว่า เตรียมรับมือมวลน้ำจากสุโขทัย ถึง กทม. ในวันที่ 2 ก.ย. 67 ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง มวลน้ำจากจังหวัดสุโขทัย ได้ไหลผ่านจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีการผันน้ำเข้าสู่ทุ่งบางระกำ ในส่วนของปริมาณน้ำที่เหลือซึ่งไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในขณะนี้ ยังอยู่ในปริมาณที่สามารถควบคุมได้

ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.onwr.go.th หรือ โทร. 02-554-1800

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : มวลน้ำจากจังหวัดสุโขทัย จะไหลผ่านจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีการผันน้ำเข้าสู่ทุ่งบางระกำ ในส่วนของปริมาณน้ำที่เหลือจะไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งยังอยู่ในปริมาณที่สามารถควบคุมได้

'มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์' จับมือ 'มูลนิธิยังมีเรา' สถานีท็อปนิวส์ และ 'ไทยสมายล์กรุ๊ป' ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพช่วยผู้ประสบอุทกภัย จ.พิจิตร

(6 ก.ย.67) นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ พร้อมด้วย นายประวิทย์ สุขนิมิต ผู้จัดการมูลนิธิยังมีเรา สถานีข่าวท็อป นิวส์ กลุ่มไทยสมายล์กรุ๊ป และพลังภาคีเครือข่ายลงพื้นที่มอบถุงยังชีพ จำนวน 211 ชุด เพื่อช่วยเหลือและเยี่ยมขวัญกำลังใจแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพิจิตร โดยมี ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ ณ วัดรังนก ตำบลรังนก อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร

นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ มูลนิธิยังมีเรา สถานีข่าวท็อป นิวส์ กลุ่มไทยสมายล์กรุ๊ป และพลังภาคีเครือข่าย มีความห่วงใยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัย 

ในวันนี้หน่วยงานดังกล่าวจึงได้พร้อมใจกันนำถุงยังชีพซึ่งเป็นสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่ม ข้าวสาร อาหารแห้ง มามอบให้แก่ชาวบ้านผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านรังนก หมู่ที่ 4 บ้านเกาะสาลิกา หมู่ที่ 11 บ้านปากคลอง และหมู่ที่ 12 บ้านย่านยาว อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ซึ่งสิ่งของที่มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ได้รับบริจาคมาจากบริษัท ไบ่ ลี่ เอ็นเตอร์ไพร์ส จํากัด กลุ่มไทยสมายล์กรุ๊ป และเครือข่ายภาคเอกชน รวมทั้งมูลนิธิยังได้มอบเรือไฟเบอร์กลาส จำนวน 2 ลำ ที่ได้รับบริจาคมาจากกลุ่มไทยสมายล์กรุ๊ป เพื่อมอบให้กับทางจังหวัดพิจิตรไว้ใช้ประโยชน์ในการนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 

นางเธียรรัตน์ กล่าวต่อว่า การที่มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ได้ร่วมกับมูลนิธิยังมีเรา สถานีข่าวท็อป นิวส์ กลุ่มไทยสมายล์กรุ๊ป ผู้ให้บริการรถและเรือโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้นำถุงยังชีพมามอบให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยและนำเรือไฟเบอร์กลาสมามอบให้จังหวัดพิจิตรในครั้งนี้ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน เติมกำลังใจ ให้แก่พี่น้องประชาชนผู้ประสบอุทกภัย 

ที่สำคัญมูลนิธิหัวใจบริสุทธ์เรามีความห่วงใยและให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มเปราะบางในแต่ละพื้นที่ เช่นเดียวกับการลงพื้นที่มายังจังหวัดพิจิตรในครั้งนี้ เพื่อให้ได้เข้าถึงการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ อย่างทั่วถึง และสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมหลักที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิในด้านการสร้างสาธารณประโยชน์ ต่อชุมชน สังคม ทั้งนี้ มูลนิธิฯ ยังคงเดินหน้าส่งต่อธารน้ำใจร่วมกับพลังเครือข่ายภาคเอกชนถึงผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือต่อไป

‘ยางิ’ แผลงฤทธิ์!! ทำยอดเสียชีวิตพุ่ง 14 ราย บาดเจ็บ 219 ราย อุตุฯ ชี้!! แม้อ่อนกำลังลง แต่ยังเสี่ยง 'น้ำท่วมฉับพลัน-ดินถล่ม'

(9 ก.ย. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าจากกรณีที่ ‘ซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ’ (typhoon Yagi) พายุที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในทวีปเอเชียประจำปีนี้ หลังจากพัดกระหน่ำมณฑลไห่หนานจนราบเป็นหน้ากลอง

ซึ่งล่าสุด 'ซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ' ได้พัดขึ้นฝั่งเวียดนามด้วยความเร็วลม 149 กม./ชม. ทำให้เกิดคลื่นสูง 4 เมตร ในหลายจังหวัดริมชายฝั่ง บ้านเรือนได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมและลมแรงกว่า 3,200 หลัง ต้นไม้และเสาไฟฟ้าหักโค่น ทำให้เกิดไฟดับและสัญญาณโทรคมนาคมถูกตัดขาด ซึ่งสร้างความยากลำบากในการประเมินความเสียหายจากพายุ 

โดย 'ซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ' อ่อนกำลังจากไต้ฝุ่นเป็นดีเปรสชันแล้ว สร้างความเสียหายอย่างหนักในภาคเหนือของเวียดนาม ทำให้เกิดฝนตกหนัก ลมแรง ดินถล่ม และมีเรือหลายลำจมหาย คร่าชีวิตประชาชนอย่างน้อย 14 ราย และมีผู้บาดเจ็บกว่า 219 ราย หลังจากพายุพัดขึ้นฝั่งด้วยความรุนแรงระดับพายุไต้ฝุ่นที่เมืองไฮฟองและจังหวัด ‘กว๋างนิญ’ ทางภาคเหนือของเวียดนาม

นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและพัฒนาชน รายงานอีกว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด มี 4 ราย อยู่ในจังหวัดกว๋างนิญ, อีก 3 ราย อยู่ใน ‘กรุงฮานอย’ และอีก 4 ราย เสียชีวิตจากดินถล่มในจังหวัด ‘ฮวาบิ่ญ’ และผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัด ’กว๋างนิญ’

ขณะเดียวกันมีรายงานเรือล่ม 25 ลำในจุดที่ทอดสมอในจังหวัดกว๋างนิญ ชาวประมงสูญหาย 13 คน และเมืองไฮฟอง ที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายที่สุด มีน้ำท่วมเกือบ 50 เซนติเมตรในบางพื้นที่ และเกิดไฟดับในวงกว้าง

ด้านสำนักงานอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่า พายุอ่อนกำลังเป็นดีเปรสชันแล้วแต่ยังเตือนมีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม ขณะพายุมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก

ส่วนสถานการณ์ในกรุงฮานอย เจ้าหน้าที่เริ่มเก็บกวาดถนน ที่มีต้นไม้หักโค่นกีดขวางทั่วเมือง ‘สนามบินโหน่ยบ่าย’ ในกรุงฮานอยเริ่มกลับมาให้บริการแล้ว หลังจากปิดบริการเช่นเดียวกับสนามบินอีก 3 แห่งในเมืองท่าตามแนวชายฝั่ง เมือง ‘ไฮฟอง’ จังหวัดกว๋างนิญ และจังหวัด ’ทัญฮว้า’

'รัฐบาล' เล็ง!! สร้าง 9 เกาะปากอ่าวไทยรับมือน้ำท่วม-เสริมสร้างเศรษฐกิจใหม่ ใช้แนวทางถมทะเล ก่อสร้างประตูกั้นน้ำขึ้น-ลง แบบ ‘เนเธอร์แลนด์โมเดล’

(9 ก.ย. 67) นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม ‘พรรคเพื่อไทย’ ขยายความถึงแนวคิดสำคัญเกี่ยวกับโครงการถมทะเล บางขุนเทียน เพื่อสร้างเมืองใหม่ และแก้ปัญหาน้ำท่วมว่า แนวคิดดังกล่าวมีเหตุผลยืนยันถึงความจำเป็นต้องผลักดันออกมาให้เร็ว เพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยได้มีการวางแผนและศึกษาไว้นานแล้ว

โดยเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นจนทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายสูงมาก เป็นเรื่องที่พูดคุยกันใน ’องค์การสหประชาชาติ’ (UN) มาหลายปีแล้ว โดยมีการประเมินถึงเรื่องที่น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีพื้นที่จำนวนมากที่จมน้ำ เช่นเดียวกับอ่าวไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

ทั้งนี้มีโมเดลเบื้องต้นประเมินว่า จากภาวะโลกร้อนสูงสุด จะทำให้น้ำแข็งละลายสูงสุด ส่งผลถึงน้ำทะเลในอ่าวไทยจะสูงขึ้นมากถึง 5 – 6 เมตร ทำให้น้ำท่วมเข้ามาในพื้นที่ลุ่มภาคกลางของไทยถึง 16,000 ตารางกิโลเมตร นั่นหมายความว่าอ่าวไทยจะอยู่ที่จังหวัดลพบุรี, สระบุรีทางตอนเหนือ, อุทัยธานี ส่วนกรุงเทพฯ นนทบุรี, ปทุมธานี, สิงห์บุรี, อ่างทอง,  พระนครศรีอยุธยา, ปราจีนบุรี, ชลบุรีบางส่วน, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, และเพชรบุรีบางส่วน จะหายไป 

สำหรับทางเลือกในการป้องกันปัญหาน้ำท่วม จากน้ำทะเลขึ้นสูง 5 – 6 เมตร จนท่วมพื้นที่ลุ่มภาคกลาง 16,000 ตารางกิโลเมตร อดีตรองนายกฯ มองถึงแนวทางต่าง ๆ ดังนี้...

แนวทางแรกคือ ‘การสร้างพนังกั้นน้ำ’ ซึ่งแนวทางนี้ถือเป็นการป้องกันในระยะสั้น 2 – 5 ปี คือการเสริมพนังกั้นน้ำ หรือเขื่อนกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำท่าจีน, แม่น้ำแม่กลอง ต้องเร่งทำพร้อมกัน ด้วยการไปอุดรอยรั่วให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ และต้องอยู่ในระดับเดียวกัน

แนวทางต่อมา คือ ‘การยกถนน’ เพราะพื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร จะถูกน้ำท่วมทั้งหมด เช่น ถนนเพชรเกษม, ถนนสุขุมวิท พร้อมทั้งทำประตูน้ำในคลองสำคัญที่มีทางออกสู่ทะเล และต้องสร้างประตูน้ำขนาดใหญ่บริเวณ 4 แม่น้ำสำคัญ คือ แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำท่าจีน, แม่น้ำแม่กลอง, และแม่น้ำบางปะกง ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณมหาศาล

ทั้งนี้ ยังคงมองว่าการยกถนนคงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เพราะที่ผ่านมาถนนพระราม 2 สร้างมาเป็นสิบๆ ปีก็ยังไม่เสร็จ ถ้าเราจะยกถนนสองเส้นหลัก ตั้งแต่เพชรบุรียาวไปชลบุรี เพื่อหนีน้ำท่วมยิ่งโกลาหลมากๆ ไปอีก ส่วนพื้นที่ชายน้ำจากแนวถนนไปหาทะเลก็ต้องสูญเสียอยู่ดี

แนวทางสุดท้ายก็คือ ‘การทำเขื่อนในทะเล’ ซึ่งทางเทคนิคถือว่าทำได้ แต่คงใช้งบจำนวนมหาศาล ดังนั้นจึงมีแนวความคิดหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือ การสร้างเกาะขึ้นมาในพื้นที่ปากอ่าวในปัจจุบัน ด้วยการ ‘ถมทะเล’

ในส่วนของแนวคิดการถมทะเลนั้น นายปลอดประสพ เผยว่า จะเป็นการสร้างเกาะขึ้นมา 9 เกาะ โดยมีระยะครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ทะเลช่วง ‘จังหวัดสมุทรสงคราม’ ไปถึง ‘จังหวัดชลบุรี’ เป็นระยะทางประมาณ 100-150 กิโลเมตร โดยตั้งชื่อไว้เบื้องต้นว่า ‘สร้อยไข่มุกอ่าวไทย’ เพราะเกาะแต่ละเกาะจะมีลักษณะเหมือนไข่มุกร้อยกันเป็นเส้น ซึ่งการเชื่อมต่อระหว่างเกาะแต่ละเกาะ และจะก่อสร้างประตูน้ำเพื่อคอยกั้นน้ำขึ้น-ลง ซึ่งแนวคิดนี้ในปัจจุบันถูกใช้ในหลายประเทศ เช่น ‘เนเธอร์แลนด์’ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในแต่ละเกาะจะถูกเชื่อมต่อด้วยถนนและรถไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการเดินทางเชื่อมต่อกันไปได้ตั้งแต่ ‘จังหวัดสมุทรสงคราม’ ถึง ‘จังหวัดชลบุรี’ หรือสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย โดยเกาะแรกอาจจะสร้างบริเวณ ‘บางขุนเทียน’ ก่อน เบื้องต้นจะมีพื้นที่ประมาณ 5x10 ตารางกิโลเมตร หรือ มีขนาดของเกา 50 ตารางกิโลเมตร ความยาวตามชายฝั่ง 10 กิโลเมตร 

เมื่อถมทะเลสร้างเกาะขึ้นมาได้แล้ว แต่ละเกาะนั้นจะต้องวางแผนการใช้พื้นที่ล่วงหน้าว่าจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านอะไร โดยจะมีฟังก์ชันต่างกัน ตัวอย่างเช่น บางเกาะอาจจะใช้เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าเพื่อแทนท่าเรือเดิมที่มีอยู่ ทั้งกรุงเทพฯ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม หรืออาจจะให้โรงงานอุตสาหกรรมประมงไปตั้งบริเวณเกาะ หรือพัฒนาเป็นท่าเทียบเรือยอร์ช ก็ได้ หรืออาจจะใช้เกาะใดเกาะหนึ่งที่อยู่ใกล้กับชลบุรี สร้างสนามบินแห่งใหม่ ก็ได้เช่นกัน

‘นายปลอดประสพ’ กล่าวว่า ในขั้นตอนต่อไป หากแนวคิดนี้รัฐบาลหยิบยกไปใช้ ก็อาจเริ่มต้นที่การศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อเตรียมความพร้อมเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อพิจารณาแนวคิดที่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิชาการ ใช้องค์ความรู้ต่างๆ ทั้งทางวิศวกรรมศาสตร์ วิศวกรรมทางทะเล วิศวกรรมสมุทร มาพัฒนา เพราะโครงการนี้ต้องใช้เวลานานหลายสิบปี เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความมั่นคงของชาติ

‘แม่สาย’ อ่วม!! น้ำป่าไหลทะลักเขตชุมชนตลอดทั้งคืน ‘น้ำ-ไฟฟ้า-อินเทอร์เน็ต’ ถูกตัดขาด เข้าช่วยเหลือยากลำบาก

(11 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วม อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยเฉพาะบริเวณด่านพรมแดน เทศบาล ต.แม่สาย พบว่าระดับน้ำที่ไหลมาจากลำน้ำสายที่ขุ่นคลั่ก ยังคงเพิ่มสูงขึ้นและเชี่ยวกราก ส่งผลทำให้บ้านเรือน ห้างร้าน อาคารพาณิชย์ ฯลฯ ถูกน้ำท่วมและปิดล้อมออกไปไหนไม่ได้หลายพันหลังคาเรือน

จุดวิกฤตตั้งแต่ชุมชนสายลมจอย ชุมชนหัวฝาย ชุมชนผามควาย ชุมชนไม้ลุงขน ชุมชนเกาะทราย ชุมชนเหมืองแดง ชุมชนเหมืองแดงใต้ ระดับน้ำสูงประมาณ 1-2 เมตรขึ้นไปและไหลเชี่ยว ทำให้การหนีน้ำออกจากอาคาร หรือการเข้าไปช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำได้ กระแสไฟฟ้า-น้ำประปาถูกตัดติดต่อกันเป็นวันที่สอง และสัญญาณโทรศัพท์-อินเทอร์เน็ตใช้ไม่ได้เป็นบางช่วง

วิกฤตน้ำสายล้นทะลักท่วมชายแดนไทย-เมียนมารอบนี้สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนภายในเขตชุมชนหนาแน่นของเขตเทศบาล ต.แม่สายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงคืนที่ผ่านมา (10-11 ก.ย.) ระดับน้ำไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มสูงขึ้น เสียงน้ำไหลเชี่ยวกระทบบ้านเรือน อาคารและสิ่งของต่าง ๆ ดังก้องตลอดทั้งคืน

ล่าสุดเช้านี้ระดับน้ำท่วมตามชุมชนต่าง ๆ หลายแห่งลึก 2-3 เมตร ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ลุ่มต้องอพยพออกมายังที่สูง ส่วนผู้ที่ติดอยู่ตามอาคารสูงต่าง ๆ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามนำอาหารและน้ำดื่มไปแจกจ่ายแต่ก็ทำได้เพียงบางส่วนเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงหลายชุมชนที่ประกาศเป็นพื้นที่สีแดงได้ คือ ชุมชนสายลมจอย ชุมชนหัวฝาย ชุมชนผามควาย ชุมชนไม้ลุงขน ชุมชนเกาะทราย ชุมชนเหมืองแดง ชุมชนเหมืองแดงใต้ ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้

ด้านนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ช่วงกลางคืนที่ผ่านมา โดยมีการระดมกำลังทหารจากมณฑลทหารบกที่ 37 ค่ายเม็งรายมหาราช และ ฉก.ทัพเจ้าตาก กองกำลังผาเมือง ประมาณ 200 นาย เข้าไปสนับสนุนเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หน่วยกู้ภัย ฯลฯ และเปิดสถานที่ให้ประชาชนได้ไปอาศัยอยู่ชั่วคราวหลายจุดและตั้งโรงครัวบริเวณที่ว่าการ อ.แม่สาย

รวมทั้งระดมเรือท้องแบน เรือยนต์ ฯลฯ เพื่อนำอาหารและน้ำดื่ม รวมทั้งเข้าไปช่วยเหลือผู้อยู่ตามจุดต่าง ๆ หลายจุด อาทิ หลังคาบ้าน ซึ่งปฏิบัติการเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากน้ำที่เข้าท่วมมีลักษณะเป็นน้ำป่าไหลหลากที่ไหลเชี่ยวทำให้รถยกสูงของทหารหรือแม้แต่เรือท้องแบนไม่มีเครื่องยนต์ ก็ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้

'สส.พรรคส้ม-แม่สาย' โพสต์สร้างความเกลียดชังเจ้าหน้าที่ ทั้งที่รู้ความยากจากกระแสน้ำแรง จนท.ต้องเตรียมการให้พร้อม

(11 ก.ย. 67) จากกรณี 'หญิง-จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม' สส.เชียงราย พรรคประชาชน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า "น้ำท่วมแม่สายอ่วม พี่น้องติดอยู่ในอาคาร เจ้าหน้าที่พร้อมช่วย แต่รอคำสั่งจากผู้บัญชาการ จะสั่งการกี่โมง?"

ทั้ง ๆ ที่ต่อมา สส.คนดังกล่าว ก็ยังกล่าวเองว่า "การทำงานครั้งนี้ค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากกระแสน้ำแรง การเข้าถึงจุดต่าง ๆ ต้องถูกประเมินจากทางเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญอย่างเข้มงวด มีระบบเชือกอย่างเดียวที่สามารถทำงานได้ หลายหน่วยงานกำลังระดมกำลังและยุทโธปกรณ์เข้าพื้นที่กันอยู่"

จากโพสต์ดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ในโลกโซเชียล โดยส่วนใหญ่มองว่า ทำไม สส.ไม่ลงพื้นที่เข้าไปช่วยเองเสียเลย ถ้าเจ้าหน้าที่เขารอคำสั่งไม่รู้เมื่อไหร่ สส.ของประชาชนก็ลงไปช่วยเองเลย ไม่ใช่ลงไปมองตาตอนน้ำลดแล้วบอกไปร่วมทุกข์ร่วมสุข

ด้านเพจ 'วันนี้พรรคส้มโกหกอะไร' ก็ได้โพสต์วิจารณ์เช่นกัน โดยระบุว่า...

#ทุกคนคะ สส.พรรคส้ม โพสต์ทำร้ายน้ำใจคนทำงานมาก ทุกหน่วยงานมีผู้บัญชาเหตุการณ์ในพื้นที่ที่ทำงานได้ทันที ไม่ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง เพราะเป็นเหตุฉุกเฉิน 

เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือเขาถูกฝึกมา ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ต้องประเมินสถานการณ์ กระแสน้ำ การลำเลียงคน ไม่ใช่เข้าพื้นที่มั่ว

สส. พรรคส้ม แต่ละคน ยิ่งกว่าลุ้นกล่องสุ่มอีก เฮ้อ 

#น้ำท่วม #น้ำท่วมเชียงราย

‘อนุทิน’ สั่ง!! 'มท.' ทุกหน่วยฯ หนุนช่วยเหตุน้ำท่วมแม่สาย ย้ำ!! ภารกิจสูงสุด เน้นช่วยเหลือชีวิตประชาชนก่อน

(11 ก.ย.67) ‘นายอนุทิน ชาญวีรกูล’ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ได้มีข้อกำชับไปยังผู้บริหารทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องของกระทรวงมหาดไทย ให้พร้อมเข้าสนับสนุนให้ความช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบความเดือดร้อนจากน้ำท่วมหนักในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย และ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ให้ความสำคัญสูงสุดกับการเข้าช่วยเหลือชีวิตประชาชน

ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งเชียงใหม่ และเชียงราย ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมดำเนินการตามแผนป้องกันสาธารณภัย ลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้ได้มากที่สุด หลังจากที่ได้รับรายงานจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ว่าขณะนี้มีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัด โดยเฉพาะใน อ.แม่อาย, จ.เชียงใหม่, อ.แม่สาย, อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย และทราบว่าในส่วนของ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่นั้น ได้เกิดเหตุดินสไลด์ และมีรายงานว่ามีประชาชนเสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว 1 ราย และยังสูญหายอีก 4 ราย

"ทราบว่าขณะนี้ในพื้นที่ อ.แม่สาย มีสถานการณ์น้ำที่ค่อนข้างรุนแรง มีกรณีประชาชนติดบนหลังคาเจ้าหน้าที่ใช้เรือเข้าช่วยเหลือลำบาก ผมขอให้ส่วนงานของมหาดไทย เช่น ปภ.ที่มีอุปกรณ์เครื่องจักรที่เอื้ออำนวยพิจารณาเข้าช่วยเหลือ ประชาชนอย่างเต็มที่ จากที่ได้รับรายงาน ปภ. พร้อมเข้าช่วยเหลือแต่ต้องพิจารณาความปลอดภัยของผู้เข้าช่วยเหลือด้วย และขอกำชับให้ท่านผู้ว่าเชียงใหม่ และเชียงราย ให้ติดตามข้อมูลน้ำอย่างใกล้ชิด ในสถานการณ์ที่มีภัยพิบัติขอให้ท่านอยู่ในพื้นที่ พร้อมเป็นตัวกลางในการประสานงานกับทุกภาคส่วนเพื่อจัดการปัญหากรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ทางด้านเหตุดินสไลด์ใน อ.แม่อาย เชียงใหม่ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียจากภัยพิบัติในครั้งนี้ ขอย้ำให้พื้นที่ช่วยกันดูแลเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารแจ้งเตือนระวังอันตรายอย่าให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก" นายอนุทิน กล่าว 

สำหรับรายงานผลกระทบจากน้ำท่วมล่าสุด ปภ. รายงานว่าได้เกิด สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา มีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 14,328 ครัวเรือน

'แม่สาย' เผชิญน้ำท่วมบ่อย แต่ทำไมไม่มีมีระบบเตือนภัย จากนี้ควรปรับแนว ส่งข้อมูลให้ประชาชนโดยตรง

(11 ก.ย. 67) อิทธิพลจากพายุ ‘ยางิ’ ทำให้พื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเกิดฝนตกหนัก โดยเฉพาะที่ จ.เชียงราย ซึ่งทำให้ภาวะน้ำป่าไหลหลากลงมาท่วมอย่างหนักที่ตลาดสายลมจอย อ.แม่สาย อีกรอบ ทั้งที่ จ.เชียงรายเพิ่งถูกน้ำท่วมหนักไปช่วงในปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี่เอง (2567)

ชาวแม่สายจำนวนมากยังติดอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำท่วมสูงถึงหลังคา บางคนต้องย้ายมาใช้ชีวิตอยู่บนหลังคาบ้าน ซึ่งเป็นส่วนเดียวที่ยังไม่ถูกน้ำท่วม การเข้าให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบากตลอดทั้งกลางวันต่อเนื่องไปถึงกลางคืน เพราะน้ำสูง แรง ไหลเชี่ยว ในระหว่างที่ฝนยังคงตกลงมาเพิ่ม

อ.แม่สาย เป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมมาถึง 8 ครั้งแล้ว ถ้านับเฉพาะในปี 2567 นี้ จึงมาพร้อมคำถามใหญ่ว่า อ.แม่สาย หรือ จ.เชียงราย มีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่นี้หรือไม่ ในเมื่อเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยจากน้ำป่า เกิดน้ำท่วมซ้ำซากบ่อยๆ ทำไมประชาชนจึงยังคงได้รับความสูญเสียอย่างหนัก ทั้งที่มีการแจ้งเตือนพายุล่วงหน้าหลายวัน

“กรมอุตุฯ บอกว่า เราสามารถพยากรณ์ฝนล่วงหน้า 7 วัน ได้แม่นยำถึงประมาณ 90% แล้ว แต่ถ้าเป็นการพยากรณ์ล่วงหน้า 3 วัน เราจะมีความแม่นยำถึงเกือบ 100% เต็ม ... ส่วนข้อมูลการไหลของน้ำ ความแรง เส้นทาง เราก็มีหน่วยงานที่จัดทำข้อมูลอย่างละเอียด คือ ‘สทนช.’ (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) ดังนั้น เรามีทั้งข้อมูลฝนที่จะตกหนักแน่ เรารู้เส้นทางน้ำ รู้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ แต่กลับไม่มีใครบอกให้คนแม่สายทำอะไร ... คำถามคือ การเตือนภัย เป็นหน้าที่ของใครกันแน่?”

‘ไมตรี จงไกรจักร์’ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท และอดีตผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ ตั้งคำถามดังๆ ไปถึง ‘ระบบเตือนภัย’ ของประเทศไทย ซึ่งดูเหมือนเป็น ‘หน้าที่’ ที่ยังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบอย่างชัดเจนเต็มตัว จนทำให้เกิดความสูญเสียมากกว่าที่ควรทุกครั้งเมื่อเกิดภัยพิบัติ

“ในมุมผม ควรเป็นหน้าที่ของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันกลายไปเป็นหน่วยงานหนึ่งในกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไปอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย”

“ผมคิดว่า การเตือนภัยควรมี 2 ระบบ ระบบแรก คือ การเตือนล่วงหน้า 3 วัน ซึ่งศูนย์เตือนภัยฯ สามารถใช้ข้อมูลฝน ข้อมูลน้ำ ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ หรือขอข้อมูลจาก สทนช. มาทำการเตือนภัยได้เอง ... ระบบที่ 2 ในกรณีเร่งด่วนต้องเตือนภัยภายใน 24 ชั่วโมง ศูนย์เตือนภัยฯ ควรมีอำนาจไปขอให้ กสทช.ใช้วิธีบูรณาการความร่วมมือกับสื่อสารมวลชน และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ออกประกาศแจ้งเตือนไปยังสื่อต่างๆ ทุกแพลตฟอร์ม รวมถึงต้องส่งข้อความตรงไปถึงโทรศัพท์ของคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้เลย ... แต่ที่ทำอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นการส่งคำเตือนไปให้กับผู้บริหารส่วนราชการที่มีอำนาจตัดสินใจเท่านั้น”

“เราต้องเปลี่ยนใหม่ ต้องส่งข้อมูลให้ประชาชนโดยตรง”

ในฐานะอดีตผู้ประสบภัยสึนามิ ทำให้ไมตรี มีความสนใจต่อการแนวทางจัดการภัยพิบัติในรูปแบบที่ต้องให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงจัดการตัวเอง ก่อนหน้านี้เขาจึงได้จัดทำข้อมูลชุมชนเสี่ยงภัยพิบัติทั่วประเทศไทย และพบว่ามีมากถึง 4 หมื่นชุมชน ในขณะที่ภาครัฐจัดสรรงบประมาณมาสร้างความรู้ให้ชุมชนได้เพียงปีละ 10-20 ชุมชน ในงบประมาณแห่งละ 2 หมื่นบาทเท่านั้น

“เขามักจะอ้างว่า ที่ไม่รายงานข้อมูลภัยพิบัติตรงไปที่ประชาชน เพราะกลัวจะเกิดความตื่นตระหนก เกิดความวุ่นวายในการอพยพ แต่แท้จริงแล้วนั่นสะท้อนให้เห็นว่า เป็นเพราะรัฐเองไม่สามารถสร้างความไว้วางใจให้ประชาชนได้ เพราะการส่งข้อมูลภัยพิบัติที่แม่นยำ แม้จะหยุดภัยพิบัติไม่ได้ แต่จะช่วยลดมูลค่าความสูญเสียลงไปได้มาก ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องบอกให้ได้ด้วยว่า เมื่อประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเห็นข้อมูลแบบนี้แล้ว จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ไปหาใคร ไปที่ไหน ไม่ใช่แค่การแจ้งเตือนรวมๆ กว้างๆ ให้ไปคิดเอาเอง”

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ อ.แม่สาย ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ระบุว่า เป็นลักษณะเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในปีนี้กับหลายพื้นที่ เพราะเป็นปีที่ประเทศไทยมีฝนมาก ดังนั้น รัฐบาลชุดใหม่จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรเร่งประกาศเป็นนโยบาย ซึ่งมีข้อเสนอดังนี้

(1) ข้อมูลภัยพิบัติต้องเป็นข้อมูลเปิดที่ประชาชนเข้าถึงได้ ต้องมีนโยบายบูรณาการข้อมูลของหน่วยราชการ เพื่อสร้างช่องทางสื่อสารตรงไปถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ไม่ควรส่งข้อมูลให้เฉพาะผู้มีอำนาจไม่กี่คนเท่านั้น

(2) ต้องมีนโยบายส่งเสริมให้ท้องถิ่น โดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัย มีความสามารถจัดการภัยพิบัติได้ด้วยตัวเอง เช่น สร้างที่พักในจุดปลอดภัย สำรวจข้อมูลประชากรกลุ่มเปราะบาง อบรมหน่วยกู้ภัยชุมชน ฯลฯ

(3) เมื่อเกิดภาวะวิกฤต จะต้องมีกลไกระดมกำลังเจ้าหน้าที่ของรัฐเขามาดูแลช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่จากพื้นที่ข้างเคียง ไม่ใช่ปล่อยให้กลุ่มอาสาสมัครจากภาคเอกชนกลายเป็นกำลังหลักในการกู้ภัย และยังควรแก้ไขระเบียบเพื่อให้จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักให้กับอาสาสมัครที่มาช่วยงานได้ด้วย ซึ่งการสร้างกลไกเหล่านี้ จะทำให้หน่วยงานรัฐสามารถสถาปนา ‘ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์’ (Incident Command System - ICS) ขึ้นมาได้ง่ายขึ้น และสามารถจัดกำลังเพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น
“อย่างที่บอกไปแล้ว เรามีชุมชนเสี่ยงภัย 4 หมื่นชุมชน รัฐจัดอบรมได้ปีละ 10-20 ชุมชน บางปีทำได้แค่ 6 ชุมชนด้วยซ้ำ ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 100 ปี ถึงจะอบรมได้ครบทั้งหมด ดังนั้นรัฐต้องเลิกผูกขาดการจัดการภัยพิบัติ จะต้องมีนโยบายหรือกฎหมายเพื่อกระจายอำนาจการจัดการภัยพิบัติมาให้ท้องถิ่น แนวทางที่เราเห็นว่าสามารถทำได้เลย คือ การตั้งกองทุนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติระดับตำบล โดยให้รัฐส่วนกลางสนับสนุนงบประมาณร่วมกับท้องถิ่นคนละครึ่ง สามารถนำงบประมาณไปจัดฝึกอบรม จัดทำแผนภัยพิบัติที่เหมาะกับชุมชนนั้นๆ โดยเฉพาะ หรือยังอาจใช้ตั้งโรงครัวกลางในระหว่างเกิดภัยได้ด้วย”

“ภาพที่เกิดขึ้นกับ อ.แม่สาย คือถูกน้ำท่วมซ้ำซากจนมีความเสียหายมากติดต่อกันบ่อยๆ เป็นภาพเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งปัจจุบันแม้จะยังถูกน้ำท่วมอยู่ แต่หลายชุมชนมีแผนจัดการเป็นของตัวเอง มีกองเรือที่ต่อกันเองด้วยลักษณะที่เหมาะกับสภาพลำน้ำ และสภาพพื้นที่สำหรับใช้กันเองในช่วงประสบภัย ทำให้ช่วยลดความสูญเสียลงไปได้มาก” 

ไมตรีกล่าวทิ้งท้าย

'แชมป์-กษิดิศ' ขอแรงนักเจ็ตสกีทั่วประเทศ เข้าช่วยน้ำท่วมแม่สาย ตอนนี้เริ่มมีผู้เสียชีวิตแล้ว เพราะไม่สามารถเข้าไปช่วยได้ทัน

(12 ก.ย. 67) เฟซบุ๊ก แชมป์ ลอยยย' หรือ แชมป์ กษิดิศ ธีระประทีป หนุ่มดีกรีแชมป์โลกเจ็ตสกีที่ได้ลุยกระแสน้ำเข้าไปช่วยลุงเขียงหมูหรือคุณตาเต็นท์แดงได้สำเร็จนั้น ล่าสุด แชมป์ กษิดิศ ได้โพสต์ขอความร่วมมือ ระบุว่า…

"ตอนนี้เริ่มมีผู้เสียชีวิตแล้วครับเพราะว่าผมเข้าไปช่วยไม่ทันจริง ๆ ฝากถึงนักเจตสกีทั่วประเทศใครอยากมาช่วยขอด่วน ๆ เลยครับ รวมพลังนักเจ็ตสกีที่จะมาช่วยขอให้ไปแจ้งชื่อที่คุณเขียด หรือ กรรมการตัวแทนนักกีฬาท่านใดของสมาคมก็ได้ก่อนนะครับ ตอนนี้หน้างานยุ่งมาก อาจจะรับสายไม่หมดครับ แสดงพลังชาวเจตสกีกันเยอะ ๆ นะครับ"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top