Monday, 6 May 2024
ญี่ปุ่น

'จีน' จ่อขึ้นแท่นผู้ส่งออกรถยนต์เบอร์ 1 แซงหน้า 'ญี่ปุ่น' หลัง 8 เดือนแรก ส่งออกแล้ว 2.9 ล้านคัน เติบโต 61%

ใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดของการครอบงำอุตสาหกรรมรถยนต์โดยญี่ปุ่นและพันธมิตรตะวันตกแล้วหรือไม่?

(13 ก.ย.66) สำนักข่าวซินหัว เผย จีนเตรียมขึ้นแท่นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลก แทนที่ญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดของการครอบงำอุตสาหกรรมรถยนต์โดยยุโรป, อเมริกา, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศจีน ได้รายงานยอดส่งออกยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ของจีน ช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม รวมอยู่ที่ 727,000 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 110 เมื่อเทียบปีต่อปี

รายงานระบุอีกว่ายอดส่งออกยานยนต์พลังงานใหม่ข้างต้นแบ่งเป็นยานยนต์ไฟฟ้าล้วน 665,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 120 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดแบบปลั๊กอิน 62,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 73.5

โดยสรุป ยอดส่งออกยานยนต์ของจีน ช่วง 8 เดือนแรก รวมอยู่ที่ 2.94 ล้านคัน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.9 เมื่อเทียบปีต่อปี โดยยอดส่งออกรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.8 และร้อยละ 31.1 จากปีก่อน

ทั้งนี้ หากอ้างอิงข้อมูลตาม มูดี้ส์ (Moody’s) พบว่า ยอดการส่งออกรถยนต์ประจำปีของจีนแซงหน้ายอดการส่งออกของเกาหลีใต้ในปี 2564 และเยอรมนีในปี 2565 และปัจจุบันจีนอยู่ในแนวทางที่จะเอาชนะญี่ปุ่นได้ในปี 2566 หลังจาก MarkLines ผู้ให้บริการข้อมูลอุตสาหกรรมยานยนต์ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 เผยผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นได้ส่งออกรถยนต์จำนวน 3.2 ล้านคัน ซึ่งไม่ต่างจากปีก่อนหน้าเท่าไรนัก

สำหรับจีนในช่วงปี 2562 - 2564 ปริมาณการขายรถยนต์ในจีนพุ่งทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตที่ชะลอตัวของชนชั้นกลางและความอ่อนแอทางเศรษฐกิจในวงกว้างก่อนที่จะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างปี 2564 - 2565

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์ส จะพบว่า จีนยังเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้างอย่างมากอุตสาหกรรมยานยนต์

โดย ความท้าทายดังกล่าวเกิดขึ้นจากความไม่สอดคล้องกันระหว่าง 'ยอดการผลิตในโรงงานของจีน' และ 'อุปสงค์รถยนต์ภายในประเทศ'

ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้บริหารในอุตสาหกรรมคาดการณ์แนวโน้มสำคัญ 3 ประการอย่างไม่ถูกต้อง ได้แก่...

▪ การลดลงอย่างรวดเร็วของยอดขายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน
▪ ความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
▪ ความต้องการรถยนต์ส่วนบุคคลที่ลดลงอย่างรวดเร็ว

‘ญี่ปุ่น’ สั่งปิดเส้นทางขึ้น ‘ภูเขาไฟฟูจิ’ ชั่วคราว หลังพบปัญหา ‘นักท่องเที่ยวล้น - ขยะเกลื่อน’

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 66 ทางการท้องถิ่นจังหวัดยามานาชิของญี่ปุ่น ประกาศปิดเส้นทางขึ้นสู่ ภูเขาไฟฟูจิ เป็นการชั่วคราวไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อหวังควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวที่แห่เดินทางที่นี่แน่นขนัด จนกลายเป็นปัญหาสภาพแวดล้อม จุดที่เป็นปัญหามากที่สุดจนต้องถูกสั่งปิด คือสถานีที่ 5 ของเส้นทางสายฟูจิซูบารุ ที่แล่นตรงจากโตเกียวสู่ภูเขาฟูจิ มีชื่อเล่นว่า ‘โกโกเมะ’ อยู่กึ่งกลางของเส้นทางจากพื้นเบื้องล่างสู่จุดสูงสุดของภูเขาฟูจิ สถานีที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลราว 2,300 เมตร เป็นจุดที่ต้องรับนักท่องเที่ยวมากที่สุด ราวร้อยละ 90% ของนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมภูเขาแห่งนี้

ผู้ว่าราชการจังหวัดยามานาชิบอกว่า ปัญหาที่ส่งผลกระทบมากที่สุด คือการทำความสะอาดห้องสุขาและการเก็บขยะที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาด จากการมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาจำนวนมากจนเจ้าหน้าที่รับมือไม่ไหว ทำให้การรักษาสภาพแวดล้อมและให้ความสะดวกนักท่องเที่ยวพร้อม ๆ กัน เป็นไปด้วยความยากลำบาก

นอกจากสั่งปิดเส้นทางขึ้นภูเขาไฟฟูจิส่วนนี้เป็นการชั่วคราวแล้ว ทางการจังหวัดยามานาชิยังเสนอมาตรการอื่นๆ รวมทั้งการสั่งห้ามรถบัสและรถยนต์ที่มีผู้โดยสารขึ้นเขา โดยให้เปลี่ยนไปใช้บริการรถไฟรางเบาเพื่อขึ้นเขาแทน อีกทั้งเก็บค่าโดยสารแบบไป-กลับในราคา 10,000 เยน (ราว 2,422 บาท) เพื่อคัดกรองให้มีแต่นักท่องเที่ยวระดับคุณภาพ

พร้อมกับระบุว่า ปัญหานักท่องเที่ยวและขยะล้น รวมถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากยวดยานจำนวนมาก สร้างความกังวลแก่ทางการท้องถิ่นว่า สิ่งเหล่านี้จะทำลายเสน่ห์ของภูเขาฟูจิ ให้กลายเป็นสถานที่ที่ไม่น่ามาเที่ยวอีกต่อไป

‘ญี่ปุ่น’ กลุ้มใจ!! ประชากร 1 ใน 10 อายุเกิน 80 ปี  อัตราการเกิดต่ำ ส่งผลขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาว

(19 ก.ย. 66) รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยรายงานประจำปีเนื่องในวันผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 18 ก.ย.66 ว่า จำนวนประชากรที่มีอายุเกิน 80 ปีคิดเป็นสัดส่วนกว่า 10% ของประชากรทั้งหมดในประเทศเป็นครั้งแรก โดยอัตราการเกิดต่ำเรื้อรังและการที่ประชากรมีอายุยืนยาว ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนประชากรที่อายุเกิน 65 ปี ซึ่งปีนี้แตะ 29.1% ของสัดส่วนประชากรทั้งหมดในประเทศ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การใช้จ่ายประกันสังคมที่เพิ่มสูงขึ้นได้ซ้ำเติมญี่ปุ่นที่มีหนี้สินมหาศาลอยู่แล้วและการขาดแคลนคนหนุ่มสาวส่งผลให้อุตสาหกรรมจำนวนมากขาดแคลนแรงงาน รวมถึงผู้ดูแลคนสูงอายุ โดยนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่นระบุว่า ญี่ปุ่นเสี่ยงที่จะสูญเสียศักยภาพในการทำงาน หากไม่ใช้มาตรการที่เข้มงวด เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้

รายงานระบุว่า ญี่ปุ่นได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นอัตราการเกิด แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันทางการญี่ปุ่นก็มีความลังเลที่จะเปิดรับแรงงงานต่างชาติในปริมาณมาก เพื่อชดเชยภาวะขาดแคลนแรงงาน โดยญี่ปุ่นมีเด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 800,000 คนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลในศตวรรษที่ 19 ในปีที่แล้ว

นอกจากนี้ รายงานระบุว่า ประชากรโดยรวมของญี่ปุ่นลดลงประมาณ 5 แสนราย สู่ 124.4 ล้านราย และคาดการณ์ว่าประชากรจะเหลือไม่ถึง 109 ล้านรายภายในปี 2588

ปัจจุบัน หลายประเทศในทวีปเอเชียกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุและประชากรหดตัว โดยเกาหลีใต้มีแนวโน้มที่จะแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลกในช่วงไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ส่วนประชากรจีนเริ่มหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปีในปี 2565

‘ญี่ปุ่น’ เผย ยอดนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่น ใน ‘จีน’ ลดฮวบ 67% ผลกระทบการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะสู่ทะเล

(20 ก.ย. 66) สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า นับตั้งแต่ญี่ปุ่นเริ่มทยอยปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จนเกิดกระแสไม่พอใจและเกิดการต่อต้านการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น เนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัยนั้น มีรายงานว่า การนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นของจีนในช่วงเดือนเดียวกันนั้น ลดฮวบลงไปถึง 67.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว จากการเปิดเผยของศุลกากรจีน

จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและประมงของญี่ปุ่นระบุว่า จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นรายใหญ่ที่สุด โดยในปีที่แล้วจีนได้นำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น มีมูลค่า 84,400 ล้านเยน (ราว 20,556 ล้านบาท)

ทั้งนี้ เริ่มเห็นจีนนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่นลดลงมาตั้งแต่ที่ญี่ปุ่นเตรียมการจะปล่อยน้ำบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ จนกระทั่งมีการปล่อยน้ำจริงๆ ในวันที่ 24 สิงหาคม ส่งผลให้ทางการจีนประกาศแบนนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมด ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นยืนยันว่าแผนการปล่อยน้ำดังกล่าวมีความปลอดภัย และยังได้รับการรับรองจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แล้วก็ตาม

จีนยังประท้วงคัดค้านการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะอย่างแข็งกร้าว ขณะที่มีการบิดเบือนข้อมูลเกิดขึ้น ที่นำไปสู่การก่อเหตุโจมตีโรงเรียนญี่ปุ่นในประเทศจีน และการโทรศัพท์ป่วนภาคธุรกิจในจังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก จนทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกประกาศเตือนพลเมืองของตนเองที่เดินทางไปจีน ให้ระมัดระวังตัว และเลี่ยงการพูดภาษาญี่ปุ่นเสียงดังในที่สาธารณะ เพื่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของตนเอง

26 กันยายน พ.ศ. 2430 ไทย-ญี่ปุ่น ลงนามปฏิญญาทางพระราชไมตรี ปฐมบทสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430 หรือ เมื่อ136 ปีที่แล้ว ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นได้ลงนามในปฏิญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ระหว่างญี่ปุ่นและไทย เริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย มีประวัติยาวนานหลายร้อยปี แต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการโดยการลงนามในปฏิญญาทางไมตรี และการพาณิชย์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430

ที่ผ่านมาไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและราบรื่น ความร่วมมือของทั้งสองประเทศครอบคลุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ ไทยได้มุ่งกระชับความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับญี่ปุ่นให้พัฒนาไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ (strategic and economic partnership)

การเยือนสำคัญในระดับพระราชวงศ์ ที่สำคัญ คือในช่วงต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เพื่อทรงเจริญสัมพันธไมตรี พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และหนึ่งในประเทศที่พระองค์เลือกเสด็จพระราชดำเนินเยือน คือ ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2506

ในครั้งนั้น พระองค์ทรงเสด็จเยือนกรุงโตเกียว เมืองนาโงยา จังหวัดเกียวโต และนารา และฝ่ายญี่ปุ่นได้ถวายการต้อนรับ ด้วยการนำเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงงานผลิตกล้องถ่ายรูป และวิทยุ เพื่อทอดพระเนตรเทคโนโลยีการผลิตของญี่ปุ่น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าฝ่ายญี่ปุ่นทราบถึงความสนพระราชหฤทัยของพระองค์เป็นอย่างดี

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่นในครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพระราชไมตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ

เพื่อทรงตอบแทนพระราชไมตรี มกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ พร้อมด้วยเจ้าหญิงมิชิโกะ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2507 ในครั้งนั้นมีเหตุการณ์อันเป็นที่ระลึกแห่งพระราชไมตรี และพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และนับเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ขณะที่ความสัมพันธ์ระดับประชาชนของทั้งสองประเทศก็มีความใกล้ชิดแนบแน่น ปัจจุบัน มีชาวไทยที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่น ประมาณ 50,000 คน ในขณะที่มีชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในประเทศไทยประมาณ 40,000 คน

‘รัสเซีย’ เล็งแบนนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่น ปมปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีสู่ทะเล

สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซีย (Rosselkhoznadzor) ระบุในวันอังคาร (26 ก.ย.) ว่า รัสเซียกำลังพิจารณาที่จะดำเนินการตามจีนในการสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเล หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในวันพฤหัสบดีที่ 24 ส.ค. และวางแผนที่จะหารือเรื่องดังกล่าวกับญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากจีน หลังปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่ทะเลในเดือนที่ผ่านมา โดยจีนได้ตอบโต้การดำเนินการดังกล่าวด้วยการสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดจากญี่ปุ่น

สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซียระบุว่า รัสเซียได้หารือเรื่องการส่งออกอาหารญี่ปุ่นกับจีน โดยรัสเซียเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์อาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของจีน และกำลังพยายามเพิ่มส่วนแบ่งตลาด

“เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงเรื่องการปนเปื้อนกัมมันตรังสีในอาหารแล้ว สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซียจึงพิจารณาที่จะจำกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากปลาของญี่ปุ่นเช่นเดียวกับจีน” สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซียระบุในแถลงการณ์ พร้อมกล่าวเสริมว่า “รัสเซียจะสรุปการตัดสินใจหลังเจรจากับทางญี่ปุ่นแล้ว”

สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซียระบุว่า ได้ส่งจดหมายถึงญี่ปุ่นแล้ว เพื่อขอนัดหมายการประชุม พร้อมขอให้ญี่ปุ่นส่งข้อมูลการทดสอบรังสีในผลิตภัณฑ์ปลาส่งออกของญี่ปุ่นภายในวันที่ 16 ต.ค ซึ่งรวมถึงสารทริเทียม

สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซียระบุว่า รัสเซียนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งสิ้น 118 ตันในปีนี้

ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นระบุว่า น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีนั้นปลอดภัยดี เนื่องจากได้รับการบำบัดเพื่อขจัดสารรังสีออกไปเกือบทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงแค่สารทริเทียมเท่านั้น เนื่องจากเป็นสารที่ยากที่จะแยกออกจากน้ำได้ และการปล่อยน้ำปนเปื้อนดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ญี่ปุ่นระบุว่า ข้อครหาจากรัสเซียและจีนนั้นไม่เป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

‘ญี่ปุ่น’ เตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีอีกครั้ง 5 ต.ค.นี้ ท่ามกลางเสียงค้านจากนานาประเทศที่ยังคงกึกก้อง

(29 ก.ย. 66) สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานว่า ‘บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค’ (เทปโก้) ผู้บริหารโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ เปิดเผยว่า ทางบริษัทจะทำการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีครั้งใหม่ ในวันที่ 5 ต.ค.นี้

‘เทปโก้’ เปิดเผยว่า การปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีที่ผ่านการบำบัดในรอบนี้จะใช้เวลา 17 วัน โดยจะมีการปล่อยน้ำจำนวน 7,800 ตัน ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับการปล่อยน้ำในรอบแรก ซึ่งเริ่มขึ้นในวันที่ 24 ส.ค. และเสร็จสิ้นในวันที่ 11 ก.ย.

เทปโก้จะเริ่มเตรียมการในวันที่ 3 ต.ค.เพื่อยืนยันระดับสารทริเทียม ก่อนที่จะมีการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีครั้งใหม่

‘ญี่ปุ่น’ ออกกฎหมายห้ามทำ ‘การตลาดแบบล่องหน’ บังคับแสดงข้อความ “ส่งเสริมการขาย” ทุกครั้งที่โฆษณา

เมื่อวานนี้ (1 ต.ค.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มต้นห้ามการทำการตลาดล่องหน (stealth marketing) อันเป็นแนวปฏิบัติที่หลายบริษัทใช้ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์หรือการบริการของตนเองโดยปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่าเป็นการโฆษณา ซึ่งข้อบังคับใหม่นี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันอาทิตย์ (1 ต.ค.) เป็นต้นไป

รายงานระบุว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์เกิดกรณีการทำการตลาดล่องหนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทต่าง ๆ ขอให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์หรือผู้มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจบนสื่อสังคมออนไลน์แนะนำผลิตภัณฑ์โดยที่ไม่ประชาสัมพันธ์อย่างเปิดเผย และแสร้งทำเป็นไม่มีสายสัมพันธ์ข้องเกี่ยวกับบริษัท

ทั้งนี้ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคของญี่ปุ่นได้สั่งห้ามแนวปฏิบัติดังกล่าวภายใต้กฎหมายต่อต้านการให้รางวัลและการแสดงสรรพคุณอันไม่เป็นธรรม ซึ่งเริ่มต้นมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.

การบังคับใช้กฎหมายใหม่นี้ครอบคลุมถึงสื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และอินเทอร์เน็ต โดยการโฆษณาต้องแสดงข้อความอย่าง ‘การโฆษณา’ ‘การส่งเสริมการขาย’ และ ‘การประชาสัมพันธ์’ ที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้เป็นการทำการตลาดล่องหน ส่วนผู้ละเมิดอาจถูกห้ามทำการโฆษณาหรือต้องสัญญาจะมิทำผิดซ้ำ

สมาคมการตลาดแบบบอกต่อแห่งญี่ปุ่น (Word of Mouth Japan Marketing Association) ซึ่งมีสมาชิกเป็นเอเจนซีโฆษณาและบริษัทอื่น ๆ ที่ทำการตลาดแบบบอกต่อทางออนไลน์มากกว่า 60 แห่ง ได้แก้ไขแนวปฏิบัติการโฆษณาให้สอดคล้องกับการบังคับใช้ข้อบังคับใหม่แล้ว

ด้านสื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่าบริษัทโฆษณาและอินฟลูเอนเซอร์จำนวนมากบนเครือข่ายสังคมออนไลน์กำลังศึกษาเรียนรู้รายละเอียดของข้อบังคับใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำการตลาดล่องหนโดยมิเจตนา

‘ญี่ปุ่น’ พบปัญหา นทท.ล้นโตเกียว ทำค่าที่พักพุ่ง เหตุขาดแคลนแรงงาน เตรียมหามาตรการกระจายตัวไปยังเมืองอืน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในท้องถิ่น

(2 ต.ค.66) ญี่ปุ่นได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้าไปอย่างรวดเร็วทันทีที่เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อปลายเดือนเมษายน 2023 โดยใน 8 เดือนแรกของปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าญี่ปุ่นแล้วราว 15 ล้านคน แต่ปัญหาที่ญี่ปุ่นเจอ คือ นักท่องเที่ยวไม่ไปเมืองอื่น นอกจากเมืองหลวง โตเกียว  

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2023 อ้างอิงข้อมูลจาก องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan National Tourism Organization: JNTO) ว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าญี่ปุ่น 2.16 ล้านคนในเดือนสิงหาคมเพียงเดือนเดียว คิดเป็นประมาณ 86% ของปี 2019 หรือระดับก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 

อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวต่างชาติยังกระจุกตัวเที่ยวในกรุงโตเกียว โดยยอดเข้าพักในโตเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 56.2% จากเดือนเดียวของปี 2019 

โนริโกะ ยากาซากิ (Noriko Yagasaki) ศาสตราจารย์ด้านนโยบายการท่องเที่ยวที่ โตเกียว วูแมน คริสเตียน ยูนิเวอร์ซิตี้ (Tokyo Woman’s Christian University) บอกว่า ผู้คนจำนวนมากที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นในปีนี้เป็นคนที่เที่ยวญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นธรรมดาที่การเที่ยวครั้งแรกจะเที่ยวในเมืองหลวงก่อน

“ผู้ที่เลื่อนการมาเยือนเนื่องจากโรคระบาดกำลังแห่กันมาที่ญี่ปุ่น และส่วนใหญ่ก็มาที่โตเกียวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” 

อาจารย์ยากาซากิบอกอีกว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่นักท่องเที่ยวเน้นเดินทางเที่ยวโตเกียว คือ เที่ยวบินตรงระหว่างประเทศไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ ในภูมิภาคต่างๆ ยังไม่ฟื้นกลับมาเท่าไรนัก 

“แม้ว่าดีมานด์ขาเข้าจะสูง แต่ดีมานด์ขาออกจากสนามบินในภูมิภาคยังคงต่ำ เนื่องจากคนญี่ปุ่นยังไม่กล้าเดินทางไปต่างประเทศ หากดีมานด์ไม่เท่าเทียมกันทั้งสองด้าน การกลับมาเปิดเส้นทางบินเหล่านั้นก็จะถูกจัดอยู่ในลำดับความสำคัญท้ายๆ ของสายการบินต่างประเทศ”  

ขณะที่ความนิยมเที่ยวโตเกียวช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในโตเกียวได้เงินมากขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่งมันก็เป็นข้อเสียสำหรับนักท่องเที่ยว เพราะค่าที่พักเพิ่มขึ้นมาก โดยข้อมูลจาก โคสตาร์ (CoStar) บริษัทในสหรัฐที่ให้บริการข้อมูลและการวิเคราะห์ด้านอสังหาริมทรัพย์ระบุว่า ค่าโรงแรมในโตเกียวเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 23,077 เยน (ประมาณ 5,688 บาท) เพิ่มขึ้น 28% จากเดือนเดียวกันในปี 2019

“ค่าโรงแรมในโตเกียวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากกว่าในเมืองอื่นๆ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของนักท่องเที่ยวท่ามกลางปัจจัยต่างๆ มากมายทำให้ราคาขึ้น” ตัวแทนของสมาคมโรงแรมออลนิปปอน (All Nippon Hotel Association) กล่าว และบอกอีกว่า “การขาดแคลนแรงงานในธุรกิจโรงแรมไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลย” ซึ่งนั่นเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ค่าที่พักเพิ่มสูงขึ้น 

ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังคงกระจุกตัวอยู่ในโตเกียว รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐของญี่ปุ่นมีเป้าหมายที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในท้องถิ่น โดยแผนการพื้นฐานที่รัฐบาลจัดทำขึ้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนวันเฉลี่ยที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าพักในพื้นที่ชนบทให้เพิ่มจาก 1.4 คืนในปี 2019 เป็น 2 คืนในปี 2025 

Japan Tourism Agency (JTA) หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องการท่องเที่ยวญี่ปุ่นได้เลือกสถานที่ต้นแบบ 11 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น เพื่อรับการสนับสนุนอย่างเข้มข้น รวมถึงการให้เงินทุนเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในท้องถิ่นที่เพื่อที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากขึ้น 

JTB บริษัทเอเจนซี่ท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นกำลังส่งเสริมเส้นทางการเดินทางใหม่จากโตเกียวผ่านภูมิภาคโฮคุริคุ ที่อยู่ตอนกลางฝั่งตะวันตกของเกาะฮอนชู (เกาะใหญ่สุดของญี่ปุ่น) ไปยังเมืองโอซาก้า นอกจานั้น ในปีนี้บริษัทได้เริ่มนำเสนอแพ็กเกจทัวร์บนเกาะคิวชูและชิโกกุเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีกด้วย 

“การกระจายตัวของนักท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ต่างๆ จะช่วยแก้ปัญหา ‘การท่องเที่ยวล้นเกิน’ ความแออัด และปัญหาอื่นๆ จากนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป” ชิน ฟูจิโมโตะ (Shin Fujimoto) หัวหน้าฝ่ายธุรกิจท่องเที่ยวขาเข้าของ JTB กล่าว

นอกจากนั้น เขากล่าวว่า การกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในโตเกียวมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปตลอดทั้งปีนี้ แต่จะเริ่มมีนักท่องเที่ยวไปเยือนจุดหมายปลายทางอื่นๆ ในภูมิภาคมากขึ้นในปีหน้าหรือราวๆ นั้น เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับไปเที่ยวซ้ำเพิ่มขึ้น 

‘ญี่ปุ่น’ ทุบสถิติ!! เผชิญอากาศร้อนที่สุดในรอบ 125 ปี คาด เป็นผลพ่วงจากสภาพอากาศที่แปรปรวนฉับพลัน

(3 ต.ค. 66) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ญี่ปุ่นเผชิญอากาศร้อนที่สุดของเดือน ก.ย. นับตั้งแต่เริ่มบันทึกสถิติเมื่อ 125 ปีที่แล้ว ทั้งยังเกิดขึ้นในปีที่คาดว่าจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เนื่องจากเกิดการเร่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นเผยว่า อุณหภูมิเฉลี่ยในเดือน ก.ย.ของปีนี้สูงกว่าปกติ 2.66 องศาเซลเซียส นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติในปี ค.ศ. 1898 หรือปี พ.ศ. 2441 ซึ่งวัดอุณหภูมิจากสถานที่ 385 แห่งจาก 914 แห่งทั่วประเทศมีอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า

และอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1.6 องศาเซลเซียส นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติในปี ค.ศ. 1982 หรือ ปี พ.ศ. 2525

“เรารู้สึกเหลือเชื่อที่อุณหภูมิสูงถึงขนาดนี้” เจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นกล่าวและว่า กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทำลายสถิติ หลังจากหลายปัจจัยทับซ้อนกันนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

นอกจากนี้ หลายประเทศต่างเผชิญอากาศร้อนที่สุดของเดือน ก.ย. รวมถึงออสเตรีย ฝรั่งเศส เยอรมนี โปแลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์

ในฝรั่งเศส อุณหภูมิเฉลี่ยในเดือน ก.ย. 2566 อยู่ที่ราว 21.5 องศาเซลเซียส สูงกว่า 3.5-3.6 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงที่ใช้ในการอ้างอิงปีค.ศ.1991-2020 และในสหราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน เจออากาศร้อนที่สุดของเดือนก.ย.นับตั้งแต่บันทึกสถิติในปีค.ศ.1884

ด้าน Copernicus Climate Change Service หรือ ‘C3S’ ซึ่งเป็นหน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป หรือ ‘อียู’ รายงานว่า อุณหภูมิโลกเฉลี่ยในเดือน มิ.ย., ก.ค.และ ส.ค. คือ 16.77 องศาเซลเซียส ซึ่งเกินสถิติในปี ค.ศ. 2019

ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติหรือ ‘ยูเอ็น’ กล่าวกับผู้นำโลกในห้วงการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศได้เปิดประตูสู่นรก

และในการกล่าวเปิดการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ นายกูแตร์เรส กล่าวปลุกใจถึงความร้อนที่น่ากลัวในปีนี้ แต่เน้นย้ำว่า “เรายังคงสามารถจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส” เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติทางสภาพอากาศในระยะยาว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top