‘ญี่ปุ่น’ ทุบสถิติ!! เผชิญอากาศร้อนที่สุดในรอบ 125 ปี คาด เป็นผลพ่วงจากสภาพอากาศที่แปรปรวนฉับพลัน

(3 ต.ค. 66) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ญี่ปุ่นเผชิญอากาศร้อนที่สุดของเดือน ก.ย. นับตั้งแต่เริ่มบันทึกสถิติเมื่อ 125 ปีที่แล้ว ทั้งยังเกิดขึ้นในปีที่คาดว่าจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เนื่องจากเกิดการเร่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นเผยว่า อุณหภูมิเฉลี่ยในเดือน ก.ย.ของปีนี้สูงกว่าปกติ 2.66 องศาเซลเซียส นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติในปี ค.ศ. 1898 หรือปี พ.ศ. 2441 ซึ่งวัดอุณหภูมิจากสถานที่ 385 แห่งจาก 914 แห่งทั่วประเทศมีอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า

และอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1.6 องศาเซลเซียส นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติในปี ค.ศ. 1982 หรือ ปี พ.ศ. 2525

“เรารู้สึกเหลือเชื่อที่อุณหภูมิสูงถึงขนาดนี้” เจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นกล่าวและว่า กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทำลายสถิติ หลังจากหลายปัจจัยทับซ้อนกันนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

นอกจากนี้ หลายประเทศต่างเผชิญอากาศร้อนที่สุดของเดือน ก.ย. รวมถึงออสเตรีย ฝรั่งเศส เยอรมนี โปแลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์

ในฝรั่งเศส อุณหภูมิเฉลี่ยในเดือน ก.ย. 2566 อยู่ที่ราว 21.5 องศาเซลเซียส สูงกว่า 3.5-3.6 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงที่ใช้ในการอ้างอิงปีค.ศ.1991-2020 และในสหราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน เจออากาศร้อนที่สุดของเดือนก.ย.นับตั้งแต่บันทึกสถิติในปีค.ศ.1884

ด้าน Copernicus Climate Change Service หรือ ‘C3S’ ซึ่งเป็นหน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป หรือ ‘อียู’ รายงานว่า อุณหภูมิโลกเฉลี่ยในเดือน มิ.ย., ก.ค.และ ส.ค. คือ 16.77 องศาเซลเซียส ซึ่งเกินสถิติในปี ค.ศ. 2019

ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติหรือ ‘ยูเอ็น’ กล่าวกับผู้นำโลกในห้วงการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศได้เปิดประตูสู่นรก

และในการกล่าวเปิดการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ นายกูแตร์เรส กล่าวปลุกใจถึงความร้อนที่น่ากลัวในปีนี้ แต่เน้นย้ำว่า “เรายังคงสามารถจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส” เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติทางสภาพอากาศในระยะยาว