Sunday, 19 May 2024
ญี่ปุ่น

‘ญี่ปุ่น’ ซื้อกล้วยหอมทองเมืองย่าโม 5 พันตัน กว่า 100 ลบ. หลังได้ชิมแล้วติดใจ เพราะ ‘ผลใหญ่ หวาน หอม อร่อย’

เมื่อวันที่ 28 พ.ย.66 ที่ผ่านมาที่ห้องประชุมลำตะคอง โรงแรมแคนทารี่ จังหวัดนครราชสีมา นางสาวณัฐิยา สุจินดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พร้อมด้วย นายสยาม สิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายฉันทพันธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว, MRS.PIMJAI MATSUMOTO กรรมการผู้จัดการ บ.พีแอนด์เอฟ เทดโน จำกัด ผู้นำเข้าญี่ปุ่น และนายสมศักดิ์ แสงรัมย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมตำบลสุขไพบูลย์ หัวหน้าส่วนราชการ พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา-จ.ขอนแก่น หอการค้าฯ ภาครัฐ ภาคเอกชน พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทอง อ.เสิงสางฯ ร่วมพิธี

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ได้ทำพิธีเซ็นสัญญาซื้อกล้วยหอมทองระหว่างคณะตัวแทนผู้ซื้อจากประเทศญี่ปุ่นกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอม ต.สุขไพบูลย์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา โดยมีการเซ็นสัญญาซื้อปริมาณ 5,000 ตัน มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท เป็นการช่วยขยายช่องทางในการจำหน่ายกล้วยหอมทองให้กับเกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมตำบลสุขไพบูลย์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จะได้นำผลผลิตกล้วยหอมในพื้นที่ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ

นางสาวณัฐิยา สุจินดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า พิธีเซ็นสัญญาในครั้งนี้ เกิดขึ้นตามการผลักดันภายใต้นโยบายกระทรวงพาณิชย์ โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาสให้กับกลุ่มเกษตรกร โดยใช้การทำงานเชิงรุก และบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ รวมทั้งให้เร่งใช้ประโยขน์จากผลของการเจรจา FTA ที่มีอยู่ มาใช้ในการผลักดันให้มีปริมาณการส่งออกของสินค้าไทยสู่ตลาดโลกได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

โดยประเทศไทยเองก็ได้รับสิทธิประโยชน์จาก กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น JTEPA ซึ่งยกเว้นภาษีให้กล้วยจากประเทศไทยถึง 8,000 ตันอยู่แล้ว และที่ผ่านมาเราเองก็ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่ถึงครึ่งของโควต้า จึงเป็นโอกาสอันดีในการเร่งผลักดันเชิงรุกผ่านช่องทางดังกล่าวนี้ จนสามารถสร้างผลลัพธ์เร่งด่วน Quick win ภายใน 100 วัน ด้วยยอดขายได้ถึง 100 ล้านบาทได้สำเร็จ

สำหรับที่มาของการเซ็นสัญญาสั่งซื้อกล้วย จำนวน 5,000 ตัน ของผู้ซื้อชาวญี่ปุ่นในครั้งนี้ นายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว กล่าวว่า หลังจากที่ได้จับมือทำงานบูรณาการร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาเพื่อมุ่งขยายตลาดกล้วยไทยในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ตนก็ได้นำผู้เชี่ยวชาญด้านกล้วยชาวญี่ปุ่นลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อพัฒนาเทคนิคการปลูกให้กล้วยในพื้นที่มีคุณภาพ และปริมาณตามความต้องการของตลาดญี่ปุ่นโดยทันที

นอกจากนี้กล้วยหอมของไทยนั้น เป็นพันธุ์กล้วยหอมทอง ซึ่งนอกจากรสชาติอร่อยแล้ว ในปัจจุบันไทยยังเป็นแหล่งผลิตที่ยังคงเหลืออยู่แห่งเดียวในโลก ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในจุดขายในการทำการตลาดได้เป็นอย่างดี และเมื่อได้พาคณะผู้ซื้อชาวญี่ปุ่นไปเยี่ยมชม และลองชิมผลผลิตกล้วยหอมทองนั้น ต่างก็ได้รับความพอใจอย่างมาก จนตกลงทำสัญญาซื้อขายในทันที

นายสมศักดิ์ แสงรัมย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมตำบลสุขไพบูลย์ กล่าวว่า ตนในฐานะประธานกลุ่มฯ รู้สึกดีใจและภูมิใจที่กล้วยหอมทองจากอำเภอเสิงสาง ได้ส่งไปขายยังต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่กล้วยหอมในพื้นที่ถูกนำไปขายยังต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ผลผลิตกล้วยหอมของกลุ่มฯ นั้น จำหน่ายเฉพาะภายในประเทศ โดยตนเชื่อมั่นว่ากล้วยหอมจากอำเภอเสิงสางนั้นจะถูกใจคนญี่ปุ่นอย่างแน่นอน เนื่องจากผลผลิตลูกใหญ่ หวาน หอม อร่อย ซึ่งจากการเซ็นสัญญาซื้อกล้วยหอมจากตัวแทนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

ด้านนายสยาม สิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมานั้นเป็นแหล่งผลิตกล้วยหอมทองใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา โดยมีพื้นที่เพาะปลูกกล้วยหอมทองมากถึง 1,350 ไร่ ให้ปริมาณผลผลิตถึง 8,100 ตันต่อปีและทางจังหวัดนครราชสีมาก็เตรียมส่งเสริมในด้านการขยายพื้นที่การผลิตกล้วยหอมทองในพื้นที่ แต่ขณะนี้ยังคงต้องมุ่งเน้นไปที่คุณภาพของกล้วยหอมทองให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ผู้ซื้อจากประเทศญี่ปุ่นต้องการ

‘ญี่ปุ่น’ เริ่มทดลองขาย ‘ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน’ ที่ร้านขายยาแล้ว ชี้!! ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศ ที่อนุญาตใช้โดยไร้ใบสั่งแพทย์

เมื่อวานนี้ (28 พ.ย.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ญี่ปุ่นได้เริ่มทดลองจำหน่าย ‘ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน’ (morning-after pills) ที่ร้านขายยาแล้ว ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับการอนุญาตใช้ยาคุมฉุกเฉินได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์

กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นรายงานว่า ขณะนี้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินซึ่งสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้ในระดับหนึ่ง หากรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน มีจำหน่ายที่ร้านขายยา 145 แห่งทั่วญี่ปุ่น ราคาประมาณ 7,000-9,000 เยน (ประมาณ 1,640-2,110 บาท)

รายงานระบุว่าผู้หญิงอายุ 16 ปีขึ้นไปที่ยินดีให้ความร่วมมือในการทดลองนี้สามารถซื้อยาดังกล่าวได้ โดยผู้หญิงอายุ 16-17 ปี ต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองก่อน

ร้านขายยาที่ได้รับเลือกให้จำหน่ายยาเพื่อการศึกษาข้างต้น ต้องผ่านเกณฑ์เงื่อนไขบางประการ อาทิ มีเภสัชกรที่ผ่านการอบรมและสามารถจ่ายยาตอนกลางคืน วันหยุดสุดสัปดาห์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ รวมถึงมีห้องให้คำปรึกษาส่วนตัว

ทั้งนี้ ผู้ซื้อยาจะได้รับการร้องขอให้ตอบแบบสอบถามที่จะถูกนำมาใช้ในการศึกษา

ก่อนการทดลองดังกล่าว ผู้หญิงในญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงเหยื่อจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ต้องไปคลินิกหรือโรงพยาบาลเพื่อรับใบสั่งยาก่อนรับยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน

8 ธันวาคม พ.ศ. 2484  ญี่ปุ่น ยกพลขึ้นบก เหยียบแผ่นดินไทย  ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านไปตีพม่าและมลายู

การยกพลขึ้นบกของกองทัพญี่ปุ่น เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ.1941) ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.00 น. เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ปัตตานี และบางปู สมุทรปราการ และบุกเข้าประเทศไทยทางบกที่อรัญประเทศ กองทัพญี่ปุ่นสามารถขึ้นบกได้โดยไม่ได้รับการต่อต้านที่บางปู ส่วนทางภาคใต้และทางอรัญประเทศมีการต่อสู้ต้านทานอย่างหนักของทหารไทย ประชาชนทั่วไปและอาสาสมัครที่เป็นเยาวชน ที่เรียกว่า ยุวชนทหาร ในบางจังหวัด เช่น การรบที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร

โดยกลุ่มยุวชนทหารและกองกำลังผสมทหารตำรวจซึ่งกำลังจะต่อสู้ปะทะกันอยู่ที่สะพานท่านางสังข์ โดยที่กลุ่มยุวชนทหารนั้นมีผู้บังคับการคือร้อยเอกถวิล นิยมเสน ในระหว่างการสู้รบร้อยเอกถวิลนำกำลังยุวชนทหารออกมาปะทะกองทหารญี่ปุ่น แม้ร้อยเอกถวิลจะถูกทหารญี่ปุ่นยิงเสียชีวิต แต่ยุวชนทหารยังคงสู้ต่อไปจนกระทั่งรัฐบาลสั่งหยุดยิง เมื่อเวลา 11.00 น. โดยประมาณ

และในที่สุดรัฐบาลไทยโดยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ได้ประกาศอนุญาตให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยได้

และในวันที่ 8 ธันวาคม ของทุกปี ยังถือเป็น ‘วันนักศึกษาวิชาทหารอีกด้วย’

‘ญี่ปุ่น’ ซึ้ง!! ขอบคุณ ‘ไทย’ ช่วยกอบกู้ ‘ธุรกิจใกล้ตาย’ ให้พ้นจากวิกฤติ หลังยอดสั่งสินค้าจากไทยพุ่ง ด้านคนญี่ปุ่นแห่คอมเมนต์ขอบคุณเพียบ!!

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวเอเอ็นเอ็นของญี่ปุ่น ได้มีการเผยแพร่สกู๊ปข่าวเกี่ยวกับ ‘ประเทศไทย’ ที่ได้มีส่วนช่วยกอบกู้ธุรกิจเก่าแก่ที่กำลังใกล้ตายในประเทศญี่ปุ่น ให้พลิกฟื้นจากสภาวะวิกฤติ จนสามารถกลับมารุ่งเรืองขึ้นได้อีกครั้ง โดยทางสำนักข่าวเอเอ็นเอ็น ระบุว่า…

กระแสญี่ปุ่นฟีเวอร์ในไทย ซึ่งมีมานานแล้ว และยังคงบูมอยู่จนถึงทุกวันนี้ กำลังมีส่วนช่วยเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างที่เราไม่เคยคาดคิด นักข่าวของเอเอ็นเอ็นถึงกับบินมาถ่ายทำสกู๊ปนี้ที่เจปาร์ค ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และที่ฮาราจุกุไทยแลนด์ในกรุงเทพฯ ซึ่งตกแต่งสถานที่เหมือนกับอยู่ญี่ปุ่นไม่มีผิด และที่สำคัญคือ มีการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ที่ก้าวกระโดดขึ้นมา เพราะวิกฤติโควิด-19 ทำให้คนไทยไปเที่ยวที่ญี่ปุ่นไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ‘มันหวานญี่ปุ่น’ ที่เมื่อปี 2022 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปี 2020 เกือบ 2 เท่า จาก 1,000 ตัน เพิ่มเป็นเกือบ 2,000 ตัน หลังจากที่ก่อนหน้าช่วงโควิด-19 เพิ่มขึ้นแค่หลัก 10 ต่อปี

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ ตัวเลขนำสินค้าประเภท ‘ชาเขียว’ รวมถึง ‘มัทฉะ’ ที่คนไทยนิยมดื่มกัน ซึ่งเมื่อปี 2022 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 37.6% จาก 436 ล้านเยน เป็น 638 ล้านเยน

และสินค้าตัวสุดท้าย ที่เจ้าของธุรกิจถึงกับบอกว่า “คนไทยช่วยพวกเขาจาก ‘ภาวะใกล้ตาย’ จริงๆ” คือ สินค้าจำพวก ‘เครื่องเคลือบ’ เจ้าของธุรกิจเครื่องเคลือบในญี่ปุ่นบอกว่า ที่ญี่ปุ่น ธุรกิจเครื่องเคลือบ มีการแข่งขันตัดราคากันหนักมาก จนโรงงานที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กๆ ทำแบบเน้นคุณภาพ แทบจะอยู่กันไม่ได้แล้ว แต่ยอดออเดอร์จากไทยเมื่อไม่กี่ปีมานี้ จากบรรดาร้านอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียม หรือร้านซูชิโอมากาเสะ ทำให้ภาชนะระดับพรีเมียมของพวกเขา ยังสามารถขายออกได้ (อ้างอิงจากเพจ WA Japan) โดยแค่ยอดขายจากไทยประเทศเดียว ก็ขายได้มากถึง 70 ล้านเยน หรือเกือบ 18 ล้านบาทแล้ว ทำให้จากที่เคยจะต้องปลดพนักงานเหลือแค่ 1 ใน 4 แต่ตอนนี้มีออเดอร์เข้ามาจากประเทศไทยมากจนแทบจะทำกันไม่ทันแล้ว แถมคนไทยยังสนใจพวกเครื่องเคลือบลายพิเศษ ลายใหม่ๆ ลายแบบลิมิเต็ด ทำให้พวกเขากลับมามีไฟในการสร้างสรรค์ผลงานอีกครั้ง

เมื่อมาลองส่องคอมเมนต์ของคลิปสกู๊ปข่าวของสำนักข่าวเอเอ็นเอ็นในยูทูบ ก็ยิ่งทำให้ใจฟูมากขึ้นไปอีก เพราะมีคนญี่ปุ่นมาคอมเมนต์ขอบคุณคนไทยกันเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างท็อปคอมเมนต์ของชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งที่บอกว่า “ฉันดีใจมากที่มีประเทศที่รักญี่ปุ่นมากขนาดนี้”

ส่วนคอมเมนต์ที่ 2 บอกว่า “ฉันรู้สึกประทับใจที่สถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ ไม่ใช่ฝีมือคนญี่ปุ่น แต่เป็นคนไทยทำขึ้นเอง”

อีกคอมเมนต์หนึ่งบอกว่า “มันเจ๋งมากที่คนไทยทำธุรกิจเหล่านี้ ด้วยความเคารพต่อวัฒนธรรมและประเพณีของเราจริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ”

ส่วนคอมเมนต์สุดท้ายบอกว่า “ฉันขอไปเที่ยวประเทศที่รักเราแบบนี้ดีกว่าไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้าน แล้วเจอกันนะคนไทย”

นับว่าเป็นข่าวที่น่าชื่นใจจริงๆ ที่ได้รู้ว่านอกจากประเทศไทยของเรานั้น จะได้ประโยชน์จากการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นแล้ว ฝ่ายไทยเองก็มีส่วนช่วยธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นเหมือนกัน และที่สำคัญคือ มีสื่อที่มองเห็นแง่มุมนี้ และเผยแพร่ออกไปให้คนญี่ปุ่นได้รับรู้ จนทำให้พวกเขารู้สึกขอบคุณ และมองเห็นคุณค่าในประเทศไทยของเรา

‘เขตชิบูย่า’ กรุงโตเกียว สั่งห้าม 'เคานต์ดาวน์-ดื่มแอลกอฮอล์' เหตุกังวลคนแห่ฉลองส่งท้ายปีมากเกินไป จนเกิดอันตราย

(11 ธ.ค.66) เขต 'ชิบูย่า' ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในช่วงที่มีงานเทศกาลเฉลิมฉลอง ซึ่งจะมีคนมารวมกันที่นี่จนแน่นขนัด แต่ช่วงหลังๆ เจ้าหน้าที่เริ่มมีความกังวลด้านความปลอดภัยจากการที่มีคนมารวมตัวกันจำนวนมากในช่วงงานเทศกาล จึงมีคำสั่งห้ามไม่ให้ประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวมารวมตัวฉลองกันที่นี่ ล่าสุด เจ้าหน้าที่ได้ประกาศ ไม่ให้มีการรวมตัวกันในเขตชิบูย่า เพื่อฉลองการ 'เคานต์ดาวน์' นับถอยหลังเข้าสู่วันปีใหม่ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

ในวันส่งท้ายปีเก่า วันที่ 31 ธ.ค.เขตชิบูย่า ห้ามไม่ให้มีการดื่มเครื่องดื่ม 'แอลกอฮอล์' ในพื้นที่ ตั้งแต่เวลา 18:00 น. ไปจนถึงเวลา 05:00 น. ของวันที่ 1 ม.ค.2567 โดยเจ้าหน้าที่จะขอความร่วมมือจากร้านค้าในเขตชิบูย่า ไม่ให้ขายเครื่องดื่ม 'แอลกอฮอล์' ในช่วงเวลานั้น และจะเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการเดินตรวจรักษาความเรียบร้อย

นอกจากนี้ ทางการยังตัดสินใจยกเลิกกิจกรรมเคานต์ดาวน์ ซึ่งปกติแล้วจะจัดที่ด้านหน้าสถานีรถไฟชิบูย่า โดยให้เหตุผลเรื่องความกังวลด้านความปลอดภัย และยอมรับว่า หากมีประชาชนเดินทางมาเฉลิมฉลองจำนวนมาก ทางการมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอที่จะดูแลความปลอดภัยได้ และหากใครคิดจะไปชิบูย่า เพื่อต้องการถ่ายภาพแสงสีสวยๆ ตรงห้าแยกชิบูย่า ในช่วงคืนส่งท้ายปีเก่า ก็อาจจะต้องรีบไปกันหน่อย เพราะทางเจ้าหน้าที่ได้ขอให้ร้านค้าตรงห้าแยกชิบูย่า ปิดไฟทั้งหมดตอน 23:00 น. เพื่อป้องกันไม่ให้มีการรวมตัวกันในเขตชิบูย่า ในช่วงเคานต์ดาวน์ใกล้วันปีใหม่

‘ญี่ปุ่น’ เครียด!! ปลาตายเกลื่อนหาดหลายพันตัน หลังปล่อยน้ำจากฟุกุชิมะ ด้าน ‘นักวิจัย’ คาด ปลาอาจเกิดภาวะช็อกน้ำ ระหว่างการอพยพถิ่นฐาน

(12 ธ.ค. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรลจำนวนมากถูกคลื่นซัดมาเกยชายหาดที่เกาะฮอกไกโด ทางภาคเหนือสุดของญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่วันก่อน จนสร้างความตื่นตะลึงว่ากำลังก่อให้เกิดความสงสัยและความกังวลใจตามมา เนื่องจากปรากฏการณ์ปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรลตายเกลื่อนชายหาดมากมายมหาศาลขนาดนี้ และยังไม่ทราบสาเหตุ เกิดขึ้นเพียงแค่ราว 3 เดือน หลังจากทางการญี่ปุ่นตัดสินใจให้ปล่อยน้ำบำบัดกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ ลงสู่ทางทะเลและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน กรณีดังกล่าวสร้างความตื่นตะลึง ก่อให้เกิดความสงสัยและความกังวลใจของประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะมีซากปลาคาดว่ามีน้ำหนักรวมหลายพันตัน ถูกคลื่นซัดเข้าฝั่งจนลอยเป็นแพสีเงินเหนือผิวน้ำทะเลริมชายหาด เป็นระยะทางยาวถึงเกือบ 2 กม.

อย่างไรก็ตาม ทางนักวิจัยที่สถาบันประมงเมืองฮาโกะดาเตะ ได้แสดงความเห็นถึงกรณีนี้ว่า อาจเกิดขึ้นเนื่องจากปลาเหล่านี้หมดแรงเพราะขาดออกซิเจน ขณะฝูงปลาจำนวนมากกำลังว่ายอยู่ในบริเวณน้ำตื้น หรือปลาอาจจะว่ายมายังเขตน้ำเย็นอย่างกะทันหันระหว่างการอพยพ และเกิดอาการช็อก

นอกจากนี้ ทางเทศบาลเมืองกำลังเร่งหาสาเหตุของปรากฏการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้น โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับฤดูกาลที่ปลาซาร์ดีนจะอพยพจากฮอกไกโดลงไปทางใต้พอดี

‘เศรษฐา’ นำ 2 ค่ายยักษ์ยานยนต์บิน ‘ญี่ปุ่น’ ช่วยเจรจาการค้า เชื่อ ฟรีวีซ่าเพิ่มความสะดวก ช่วยเศรษฐกิจไทยส่องแสงสว่าง

(14 ธ.ค. 88) ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความคาดหวังในการปฏิบัติภารกิจที่ญี่ปุ่นในครั้งนี้ ว่า เป็นการเยือนญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก มีเรื่องที่ต้องพูดคุยกันเยอะ และจะมีการพบปะกับ ‘ฮุน มาเนต’ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และ ‘เจ้าชายอับดุล มาทีน’ มกุฏราชกุมารลำดับที่ 4 ของราชวงศ์บรูไนที่จะอภิเษกสมรสในเดือนหน้านี้ การเดินทางเป็นการไปล่วงหน้าก่อน 2 วัน ไปเจรจาเรื่องการค้าญี่ปุ่น ส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับยานยนต์ที่จะมีการพูดคุยกัน จะเจอรายใหญ่หลายราย เช่น พานาโซนิค และมีอีกหลายนัด และพยายามให้บริษัทยานยนต์ของญี่ปุ่นมาพบมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้นายกฯ ระบุว่า การเดินทางไปต่างประเทศจะชักชวนนักธุรกิจไทยไปด้วย เพื่อพูดคุยถึงการลงทุนที่จะดึงต่างประเทศเข้ามาในไทย รอบนี้มีนักธุรกิจกลุ่มไหนบ้างที่ไปด้วย นายเศรษฐา กล่าวว่า คราวนี้มี แต่เขาเดินทางไปเอง คือ นายพรวุฒิ สารสิน ประธานบริษัทฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจะไปช่วยเจรจาให้ และนายกลินท์ สารสิน ประธานบริษัทโตโยต้า ที่จะเดินทางไปด้วย และยังมีอีกหลายท่านที่จะไปช่วยเจรจาเพื่อนำผลประโยชน์กลับมาสู่ประเทศ

เมื่อถามว่า จะทำให้เกิดความมั่นใจทางด้านเศรษฐกิจ และมีแสงสว่างมากขึ้นใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า อย่างไรแสงสว่างก็มีอยู่แล้ว แต่เรื่องความหนักใจ การแบกความหวังเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชน 68 ล้านคน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำต่อไป คงจะไม่เพียงพอ ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ

เมื่อถามว่า การเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ ซึ่งจะมีเรื่องการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นด้วย ในส่วนของไทยมีการเตรียมความพร้อมอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าญี่ปุ่นมาลงทุนสูงสุดในประเทศไทยตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ฉะนั้น เราพยายามทำให้ความสัมพันธ์นี้เข้มแข็งมากขึ้นในเรื่องการลงทุนของทั้งสองฝ่าย และเราได้มีการประกาศจะให้วีซ่าฟรีกับธุรกิจญี่ปุ่นด้วยที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งจะทำให้การเดินทางเข้าออกทั้งสองทางสะดวกสบายยิ่งขึ้น เป็นการอำนวยความสะดวกซึ่งกันและกัน

‘นายกฯ’ หารือ ‘รมว. METI ญี่ปุ่น’ ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุนในอุตฯ ยานยนต์ EV และพลังงานสะอาด

(15 ธ.ค. 66) ที่โรงแรม Imperial Hotel Tokyo กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 14 - 18 ธันวาคมว่า เช้าวันเดียวกันนี้นายกรัฐมนตรี พบหารือกับนายไซโต เค็น (H.E. Mr. Saito Ken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Ministry of Economic, Trade and Industry: METI) ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น

โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง METI ต่างยินดีต่อความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยภาคเอกชนญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมายาวนาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางการค้าและลงทุนกับญี่ปุ่น จึงได้จัดสัมมนา Investment Forum เพื่อนำเสนอนโยบายส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการลงทุนในไทยให้ญี่ปุ่นได้รับทราบ

นายกรัฐมนตรี ใช้โอกาสนี้ กล่าวเชิญชวนมาร่วมมือในโครงการ Landbridge เพื่อเพิ่มทางเลือกในการขนส่งให้แก่ภูมิภาค ช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค รวมถึงเชิญชวนภาคเอกชนญี่ปุ่นให้มาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย 

จากนั้นทั้งสองฝ่าย ได้หารือถึงความร่วมมือด้านยานยนต์ โดยนายกรัฐมนตรีจะพบปะกับผู้ประกอบการยานยนต์ของญี่ปุ่น 7 ราย เพื่อให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลพร้อมดูแลอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปของญี่ปุ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนา EV และยานยนต์สมัยใหม่ รวมทั้งไทยออกมาตรการใหม่เพื่อส่งเสริมการลงทุนในสาขายานยนต์ หวังว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ICE ของญี่ปุ่นในไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระยะเปลี่ยนผ่าน

ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง METI ชื่นชมในนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของไทย และขอบคุณที่ไทยดูแลเอกชนญี่ปุ่นที่มาลงทุนในไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยพร้อมสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น และยินดีร่วมมือกันในกรอบ Asia Zero-Emission Community (AZEC) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน รวมถึงยังได้เสนอข้อริเริ่มในการจัดตั้งกลไก energy and industrial dialogue เพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งพลังงานสีเขียวกับไทย

'รมว.ศก.ญี่ปุ่น' ยาหอมไทย!! พร้อมหนุน 'ความสัมพันธ์-การลงทุน' ทุกด้าน หลัง 'นายกฯ เศรษฐา' โชว์วิชัน-ชวนลงทุนไทย ต่อหน้า 500 นักธุรกิจญี่ปุ่น

(15 ธ.ค. 66) ที่โรงแรมอินพีเรียลโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายไซโต เค็น (H.E. Mr. Saito Ken) รมว.เศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อช่วงเย็นวันที่ 14 ธ.ค. เข้าเยี่ยมคารวะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง 

จากนั้น นายเศรษฐา กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา 'Thailand-Japan Investment Forum' ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.การต่างประเทศ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคมเข้าร่วมงานด้วย โดยมีนายไซโต รวมถึงนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้าร่วมงานกว่า 500 คน ซึ่งเป็นการสัมนาใหญ่ระหว่างสองประเทศด้านเศรษฐกิจครั้งแรกหลังสถานการโควิด-19 คลี่คลาย

โดยนายกฯ เศรษฐา กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ขอบคุณและถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้กล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนาที่รัฐบาลไทยเร่งดําเนินการเพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก โดยไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางการทูตอันดีและยาวนานกว่า 136 ปี ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ, การค้า, การลงทุน และสังคม ได้แก่...

1.คือความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่มีกว่า 136 ปี เป็นมิตรแท้ที่มีความสัมพันธ์กันในทุกระดับ ทั้งราชวงศ์, รัฐบาลและภาคธุรกิจไปถึงภาคประชาชน มีบริษัทญี่ปุ่นลงทุนในไทยกว่า 6,000 บริษัท มีชาวญี่ปุ่นในไทย 80,000 คน

2. รัฐบาลมีแนวทางในการผลักดันเศรษฐกิจไทย วันนี้รัฐบาลมีแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งเศรษฐกิจใหม่, เศรษฐกิจดิจิทัล, เศรษฐกิจสีเขียว, อุตสาหกรรมเอไอ, การวิจัย และพัฒนาสตารท์อัปให้เติบโตในเวทีโลก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายญี่ปุ่นที่เน้นเทคโนโลยีคุณภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่บริษัทใหญ่ไปจนถึงบริษัทท้องถิ่น หวังว่าไทยจะเป็นจุดมุ่งหมายของพวกท่าน แม้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว แต่รัฐบาลก็มีมาตรการกระตุ้น อัดเงินเข้าระบบ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน 

ขณะที่ด้านการค้าญี่ปุ่นซึ่งเป็นคู่ค้าลำดับต้นๆ เชื่อว่าจะขยายได้อีกซึ่งครอบคลุมสินค้าได้หลากหลาย ส่วนด้านการลงทุนมีโครงการบีโอไอก็มีการส่งเสริมกว่า 4,000 โครงการ โดยการลงทุนญี่ปุ่นมีส่วนผลักดันให้เศรษกิจไทยโตอย่างต่อเนื่อง ขอขอบคุณนักลงทุนญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับประเทศไทย เป็นเวลา 50 ปีที่อุตสาหกรรมญี่ปุ่นขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 

เราไม่ลืมและสนับสนุนให้แข่งขันเติบโตได้เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่ พร้อมๆ ไปกับการส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์สู่ระดับสากล ด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม พัฒนา 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ต่อยอดภูมิปัญหา เป็นโอกาสต่อยอดของญี่ปุ่นในการพัฒนา เกมส์ ภาพยนต์ หรืออนิเมชัน ซึ่งเชื่อมั่นว่าความพร้อมด้าน Creative Industry ของไทยไม่เป็นรองใคร พิสูจน์ได้โดยรางวัลต่างๆ ทั่วโลกที่สร้างด้วยฝีมือคนไทย

ด้านอุตสาหกรรมพลังงาน ไทยมีเป้าหมายในการเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ขอเชิญชวนญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ไปด้วยกัน โดยประเทศไทยมีความพร้อมด้านพลังงานสะอาด (Clean Energy) และกำลังต่อยอดอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น Green Hydrogen ที่จะกลายเป็นแหล่งพลังงานแห่งอนาคต

3. ด้านแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญของไทย รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งทางถนน, ทางน้ำ, ทางราง และทางอากาศ ยกระดับระบบคมนาคมขนส่งของ โดยมีหลายภาคส่วนที่มีความร่วมมือกับทางญี่ปุ่น ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอีอีซีแล้ว ขณะนี้รัฐบาลยังมุ่งมั่นที่จะผลักดันโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มูลค่าเงินลงทุนเบื้องต้นกว่า 4 ล้านล้านเยน เพื่อสร้างเส้นทางการค้าการขนส่งใหม่ของโลกที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ด้วยท่าเรือ, ระบบราง และระบบถนน ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของภูมิภาคและระดับโลก จึงขอเชิญชวนให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นเข้าร่วมศึกษาและลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ เสริมสร้างความเชื่อมโยงและซัพพลายเซนในภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“สุดท้ายนี้ ผมในนามรัฐบาลไทยให้ความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลมุ่งมั่นจะยกระดับเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เดินหน้าขยายการเจรจาเอฟทีเอ กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และเร่งปรับปรุงบริการภาครัฐเพื่อทำให้การประกอบธุรกิจมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งวันนี้ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับการลงทุนจากทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่รายสำคัญของไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ไทยพร้อมสนับสนุนการลงทุนจากญี่ปุ่นทั้งรายเดิมและรายใหม่ และพร้อมร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นในการยกระดับอุตสาหกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อความก้าวหน้าของทั้งสองประเทศต่อไป” นายกฯ เศรษฐา กล่าว

ด้านนายไซโต กล่าวปาฐกถา ตอนหนึ่งว่า ประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทยเป็นพันธมิตรสำคัญร่วมสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมมาโดยตลอด มีอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลักบนพื้นฐานความไว้วางใจที่สั่งสมมายาวนานของทั้งสองประเทศ ปีนี้ครบรอบ 50 ปี แห่งมิตรภาพญี่ปุ่นอาเซียน ความร่วมมือที่ผ่านมาได้สะสมความร่วมมือและสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาโดยตลอด เพื่อสร้างอนาคตร่วมกันในอีก 50 ปีข้างหน้า โดยจะมุ่งเน้นใน 3 ประเด็น คือ...

1. การสร้างอุตสาหกรรมในอนาคต เปิดสายงานที่ญี่ปุ่นถนัด เช่น พลังงานสะดาด รถยนต์ในยุคต่อไป การบินและอวกาศ รวมถึงการแพทย์ขั้นสูง 

2. ความมั่นคงด้านพลังงาน และลดคาร์บอนไปพร้อมกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะผลักดันความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมในการลดคาบอน เพราะญี่ปุ่นกำลังดำเนินการกับไทยอยู่หลายโครงการ 

และ 3. คือการพัฒนาบุคคลที่เป็นพื้นฐานความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคต มีการเริ่มโครงการแลกเปลี่ยนนักธุรกิจรุ่นเยาว์ เพื่อให้มีความสัมพันธ์ร่วมกันเหมือนที่เรามีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและความไว้วางใจซึ่งกันและกันตั้งแต่รุ่นก่อน

นายไซโต กล่าวอีกด้วยว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ ผู้ผลิตญี่ปุ่นได้เข้ามาไทยในช่วงปี 1960 ตั้งแต่นั้นมา 60 ปี มีการสร้างงานร่วมกันในอุตสาหกรรมนี้อย่างมั่นคง แต่วันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีการลงทุนของสหรัฐอเมริกาและจีนเพิ่มมากขึ้น การแข่งขันระดับโลกทวีความรุนแรง ญี่ปุ่นต้องการให้อาเซียนโดยเฉพาะไทยที่ถูกขนาดนามว่าดีทรอยต์อาเซียนที่แข็งแกร่ง เป็นที่สร้างยานยนต์ในยุคต่อไปเพื่อให้แข่งขันในโลกได้ เพราะนอกเหนือจากรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังมีรถยนต์ไฮโดรเจน และเอสทานอล ที่ต้องพัฒนาในเรื่องเหล่านี้ และต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกและพัฒนายานยนต์เชิงกลยุทธ์ และจับตาตลาดส่งออกยุโรป ที่ต้องการลดคาร์บอนในกระบวนการผลิต ซึ่งจะต้องตอบสนองในเรื่องดังกล่าว และอยากทำงานให้ครอบคลุมกับประเทศไทย โดยร่วมมือกับนายเศรษฐา และรัฐบาลไทยสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ของสองประเทศ และเร่งสร้างศูนย์การผลิตและการส่งออกรถยนต์อันดับหนึ่งของโลกในยุคต่อไป และไม่ใช่แค่รถยนต์แต่ยังจะทำงานแข็งขันเพื่อกระชับความสัมพันธ์การลงทุนของทั้งสองประเทศในด้านต่าง ๆ ด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top