Monday, 19 May 2025
จีน

‘จีน’ ผนึกกำลัง ‘รัสเซีย’ สร้างบ้านหลังแรกของมนุษย์บนดวงจันทร์ ตั้งเป้าฐานถาวรพร้อมแหล่งพลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 2035

(25 เม.ย. 68) จีนและรัสเซียเดินหน้าขยายความร่วมมือด้านอวกาศอย่างต่อเนื่อง โดยลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อพัฒนาสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (ILRS) ร่วมกันตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 และกำหนดเริ่มภารกิจสำรวจดวงจันทร์ภายในปี 2026 ทั้งสองประเทศยืนยันเป้าหมายจะสร้างฐานทัพที่มนุษย์สามารถอาศัยอยู่ได้อย่างถาวรภายในทศวรรษหน้า

หนึ่งในเป้าหมายหลักคือการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์บนดวงจันทร์ เพื่อรองรับการใช้พลังงานในช่วงกลางคืนอันยาวนานของดวงจันทร์ที่ไร้แสงอาทิตย์ โดย เป่ย เจ้าอวี่ (Pei Zhaoyu) หัวหน้าวิศวกรของภารกิจฉางเอ๋อ-8 (Chang’e-8) เผยว่าโรงไฟฟ้าจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของ ILRS ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 24 เมษายน ซึ่งเป็นวันอวกาศของจีน ตัวแทนของจีนและรัสเซียได้พบปะเพื่อย้ำจุดยืนร่วมด้านความร่วมมืออวกาศ โดยรัสเซียได้นำเสนอแผนการสำรวจทรัพยากรแร่ธาตุและน้ำบนดวงจันทร์ พร้อมทั้งแนวคิดใช้วัสดุจากดวงจันทร์เป็นเชื้อเพลิงในอนาคต ขณะที่จีนตั้งเป้าส่งมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ภายในปี 2030

ระหว่างปี 2033-2035 จีนและรัสเซียมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ร่วมบนดวงจันทร์ ขณะนี้มี 17 ประเทศเข้าร่วมโครงการ ILRS และจีนตั้งเป้าขยายพันธมิตรเพิ่มเป็น 50 ประเทศ โดยเน้นกลุ่ม BRICS และประเทศกำลังพัฒนา

โครงการ ILRS ได้รับการแบ่งเป็น 3 ระยะ เริ่มจากการสำรวจและระบุตำแหน่งฐาน ทดสอบเทคโนโลยี ต่อด้วยการสร้างระบบสื่อสารและการขนส่ง ก่อนเข้าสู่ระยะสุดท้ายคือการขยายสถานีวิจัยและส่งมนุษย์ขึ้นสำรวจดวงจันทร์ โดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ระบุว่า โครงการนี้ “น่าสนใจและมีแนวโน้มดีมาก” ในระหว่างการเยือนจีนปี 2024

‘ทรัมป์’ เผยเริ่มเจรจากับจีนแล้ว แต่ฝั่งปักกิ่งบอกไปคุยตอนไหน สหรัฐฯ ‘คุยกับใครเหรอ ไม่เห็นรู้เรื่อง!’ ยันยังไม่เจอตัวแทนวอชิงตัน

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ยืนยันว่า ได้มีการเจรจากับทางการจีนเกี่ยวกับมาตรการภาษีศุลกากร แม้ว่ารัฐบาลปักกิ่งจะออกมาปฏิเสธการเจรจาดังกล่าว โดยระบุว่า “ยังไม่มีการพูดคุยทางการค้าใดๆ” ระหว่างสองฝ่ายในขณะนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดทางเศรษฐกิจที่ดำเนินมายาวนาน

ทรัมป์กล่าวระหว่างการประชุมกับนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ที่ทำเนียบขาวว่า “พวกเขาประชุมกันเมื่อเช้านี้” และเสริมว่า “เราได้ประชุมกับจีนแล้ว” อย่างไรก็ตาม เขาปฏิเสธที่จะเปิดเผยตัวแทนของฝ่ายจีน โดยระบุเพียงว่าอาจมีการเปิดเผยในภายหลัง แต่ยืนยันว่าการเจรจาเกิดขึ้นแล้ว

ด้านกระทรวงพาณิชย์ของจีนออกมาปฏิเสธรายงานดังกล่าว โดยโฆษกเหอ หยาตง (He Yadong) ย้ำว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเจรจาการค้าระหว่างสองประเทศ และข่าวใด ๆ ที่ระบุว่ามีความคืบหน้าเป็นเพียงการคาดเดา โดยไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ พร้อมระบุว่าจีนยังยึดมั่นในแนวทางการเจรจาบนพื้นฐานของความเสมอภาค

แม้ยังไม่มีความชัดเจนในข้อเท็จจริง แต่นักลงทุนมองว่าการแสดงท่าทีเชิงบวกของสหรัฐฯ อาจช่วยผ่อนคลายความกังวล ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวจากภาวะขาดทุนในเดือนเมษายน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมีรายงานว่ารัฐบาลทรัมป์กำลังพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนลงมาอยู่ในช่วง 50% ถึง 65%

ทรัมป์ยังใช้แพลตฟอร์ม Truth Social กล่าวโจมตีจีนเพิ่มเติม ทั้งในประเด็นการชะลอรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง และการปล่อยให้เฟนทานิลไหลเข้าสหรัฐฯ ผ่านเม็กซิโกและแคนาดา พร้อมเรียกร้องให้โบอิ้งเป็นฝ่ายเรียกร้องจีนที่ผิดนัดชำระหนี้ ไม่ยอมรับมอบ พร้อมกำหนดอัตราภาษีนำเข้าต่อจีน แคนาดา และเม็กซิโก เพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการค้าและควบคุมปัญหายาเสพติด

วัยรุ่นรัสเซีย สนใจเรียนรู้!! ‘ภาษา - วัฒนธรรม’ ของประเทศจีน เป็นอย่างมาก ‘โฆษก ก.ต่างประเทศรัสเซีย’ เผย!! พร้อมสนับสนุน เพื่อเสริมสร้างมิตรภาพ

(26 เม.ย. 68) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวเนื่องในวันภาษาจีนแห่งสหประชาชาติ (UN) ว่าชาวรัสเซียยังคงสนใจเรียนรู้วัฒนธรรมจีน วรรณคดีจีน และภาษาจีนกันอย่างมาก ขณะเดียวกันคนหนุ่มสาวในจีนสนใจเรียนภาษารัสเซียเพิ่มขึ้นด้วย

ซาคาโรวากล่าวว่าการเรียนภาษาเป็นหัวข้อพิเศษในความร่วมมือทางมนุษยศาสตร์รัสเซีย-จีน ขณะความต้องการผู้ใช้ทั้งภาษารัสเซียและภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่วเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการพัฒนาที่รวดเร็วของด้านต่างๆ ในความสัมพันธ์รัสเซีย-จีน โดยทั้งสองประเทศสนับสนุนความร่วมมือด้านการศึกษาภาษาอย่างแข็งขัน โดยความร่วมมือดังกล่าวเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสัมพันธ์ทวิภาคี และมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในการเสริมสร้างความไว้วางใจและมิตรภาพ

ทั้งนี้ ซาคาโรวายังเน้นย้ำความพยายามของรัสเซียและจีนในการสร้างสภาพแวดล้อมอันเกื้อหนุนการขยับขยายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย การเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ การบ่มเพาะผู้มีความรู้ความสามารถ และการแบ่งปันประสบการณ์

เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ยกนิสัยคนจีนรักการเรียนรู้ จุดแข็งขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับ ครูพี่ป๊อป ดร. ณัฐพงศ์ นำศิริกุล ในการบรรยายพิเศษ ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

บทบาท ‘ทรัพยากรเชิงชาติพันธุ์’ ของชาวไทยเชื้อสายจีน เบื้องหลัง!! ความสัมพันธ์เศรษฐกิจ ‘จีน – ไทย’

(26 เม.ย. 68) แม้ว่าประเทศไทยและจีนจะมีความสัมพันธ์อันดีในหลายมิติ แต่เมื่อพูดถึงคำว่า 'พี่น้องไทย - จีน' แล้ว ที่มาและความหมายที่แท้จริงของคำนี้คือความเป็นพี่น้องทางสายเลือดจริง ๆ ซึ่งถ้าใครอยู่ในวงการความสัมพันธ์ไทย-จีนนั้น ก็น่าจะเคยได้ยินฝ่ายจีนใช้คำว่า '血脉相连 - เสว่ ม่าย เซียง เหลียน' ซึ่งแปลว่า 'เชื่อมต่อกันทางสายเลือด' โดยหมายถึงชาวไทยเชื้อสายจีน หรือชาวจีนที่เกิดในประเทศไทยและเป็นเชื้อสายของผู้อพยพชาวจีน หรือชาวจีนโพ้นทะเล ที่มีอยู่ประมาณ 10 ล้านคนในประเทศไทย คิดเป็น 11–14% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ ที่จำนวนมากเติบโตและประสบความสำเร็จด้านการค้าขาย เป็นผู้นำองค์กร เป็นผู้ถือครองทรัพย์สินจำนวนมาก บ้างก็มีตำแหน่งสำคัญในราชการ 

นายกรัฐมนตรีไทยจำนวน 19 จาก 31 คน ล้วนมีเชื้อสายจีนทั้งสิ้น

แม้ว่าคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากจะถูกกลืนกินทางวัฒนธรรมจนกลายเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ก็ยังมีเครือข่ายสายสัมพันธ์กับคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ ซึ่งได้กลายมาเป็น 'ทรัพยากรเชิงชาติพันธุ์' และกลายเป็น 'สะพาน' ในการเชื่อมสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-จีน อย่างมีนัยยะสำคัญมาโดยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

ในยุคที่จีนดำเนินนโยบายตามกรอบแนวคิดริเริ่ม 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง' (Belt and Road Initiative - BRI - 一带一路) และยุทธศาสตร์ 'เดินออกไปข้างนอก' (Going Out Strategy - 走出去战略) ของรัฐบาลจีน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2000 มีเป้าหมายในการผลักดันบริษัทจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศ ขยายเครือข่ายธุรกิจ และสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระดับโลก

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนจีนไม่ได้พิจารณาเพียงปัจจัยทางเศรษฐกิจหรือสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเท่านั้น หากยังได้รับอิทธิพลจากเครือข่ายทางสังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะชุมชนชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างจีนและประเทศเป้าหมายในระดับพื้นที่ ซึ่งกลายเป็น 'ทรัพยากรเชิงชาติพันธุ์' ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญตามทฤษฎีเศรษฐกิจเชิงชาติพันธุ์ (Ethnic Economy)

ประเด็นนี้เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ที่การเข้ามาของ FDI นั้น มักต้องอาศัยพันธมิตรในท้องถิ่น ความรู้เชิงบริบท และการเข้าถึงระบบราชการ ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติต้องพึ่งพา 'กลุ่มตัวกลาง' ในท้องถิ่น ในการอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ตามทฤษฎีการตัดสินใจของ FDI ในตลาดเกิดใหม่ (FDI Decision-making in Emerging Markets) รวมถึงทฤษฎีเครือข่ายทางสังคม (Social Network Theory) ที่มองว่าความสัมพันธ์ทางสังคมมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในบริบทที่มีความไม่แน่นอนสูง เช่น การลงทุนข้ามชาติในประเทศเกิดใหม่ ประเทศที่การเมืองไม่มั่นคง หรือประเทศที่มีอัตราการคอร์รัปชันสูงในระดับท้องถิ่น

ทั้งนี้ บทบาทของชาวไทยเชื้อสายจีนตามกรอบแนวคิดและทฤษฎีข้างต้นนี้ โดยหลักแล้วถือว่าเป็น 'ตัวกลางทางเครือข่าย' รวมถึงเป็น 'กลุ่มผลประโยชน์' และ 'พันธมิตรสนับสนุน' (advocacy coalition) ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะบทบาทการเชื่อมโยงนักลงทุนและรัฐบาลท้องถิ่น ทั้งการสนับสนุนด้านข้อมูลทางกฎหมาย นโยบาย การทลายกำแพงด้านภาษาและวัฒนธรรม รวมถึงการสร้างอำนาจต่อรอง บริหารและจัดสรรผลประโยชน์ของทุกฝ่ายบนหน้าฉากก็ดี... หลังฉากก็ดี... (กรณีนี้คือว่ากันตามหลักการ ในความเป็นจริงอาจมีประเด็นผลประโยชน์ส่วนตัวและการคอร์รัปชัน ที่เป็นต้นตอของปัญหาเรื่องทุนต่างชาติสีเทาในปัจจุบัน)

ในรูปธรรมของการก่อตัวเป็นกลุ่มผลประโยชน์ของคนไทยเชื้อสายจีนนั้น สามารถเห็นได้จากการตั้งองค์กรในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ สมาคมการค้า หอการค้า สภาธุรกิจ หรือมูลนิธิอาสา ซึ่งกลายเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น จัดงานเลี้ยง งานประชุม งานอาสาต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการสร้างชุมชน China town ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชาวจีนโพ้นทะเลในท้องถิ่นต่าง ๆ เพิ่มโอกาสในการพบปะทางสังคม และมีบทบาทในการสร้างเครือข่ายผลประโยชน์ ส่งต่อกันแบบรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะในระดับประเทศ หรือระดับท้องถิ่น เป็นพื้นที่ที่นักลงทุนทั้งสองฝ่ายรู้สึก 'ปลอดภัย' และ 'เข้าถึงง่าย' ช่วยให้สามารถเข้าถึงตลาด ทำให้นักธุรกิจจีนเกิดความรู้สึก 'เหมือนอยู่บ้าน'

ในทางกลับกัน ฝ่ายรัฐบาลท้องถิ่นที่ต้องการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากภายนอกนั้น ก็สามารถดำเนินการประสานด้านข้อมูลและใช้เครือข่ายขององค์กรสมาคมการค้าและมูลนิธิต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจีนเช่นกัน

องค์กรรูปแบบนี้สามารถพบเห็นได้ในแทบจะทุกจังหวัดของประเทศไทย จะมีมากและเข้มแข็งเป็นพิเศษในเมืองยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ หาดใหญ่, เชียงใหม่, ภูเก็ต, กลุ่มจังหวัดโซน EEC และหลายจังหวัดในภาคอีสาน (ที่อาจเป็นทางผ่านของรถไฟความเร็วสูง)

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า นัยยะสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับจีนไม่ได้ขึ้นอยู่แค่กับข้อตกลงหรือเอกสารทางการต่าง ๆ เท่านั้น แต่มาจากความสัมพันธ์ของผู้คน ความเชื่อใจ ความใกล้ชิด และเครือข่ายที่ยึดโยงกันข้ามรุ่น จากบทบาทของคนไทยเชื้อสายจีนในฐานะ 'ตัวกลาง' ที่เข้าใจทั้งสองฝั่งอย่างลึกซึ้ง

ไม่เพียงแค่ไทยเท่านั้น ชาวจีนโพ้นทะเลจำนวนมากที่กระจายอยู่ทั่วโลกก็กำลังมีบทบาทเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในกลุ่ม ASEAN ที่มีชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลที่ค่อนข้างเข้มแข็งและมีบทบาทต่อเศรษฐกิจ

ด้วยเหตุเช่นนี้ การ 'เดินออกไปข้างนอก' ตามยุทธศาสตร์ Going Out Strategy นั้น จึงเป็นการ 'เดินออกไปข้างนอกแต่ก็ยังเจอเพื่อน' ที่จะช่วยแนะนำที่ทางในการค้าขาย และเป็น 'กันชนทางวัฒนธรรม' ที่ทำหน้าที่ลด culture shock และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง 'เจ้าบ้าน' และ 'แขกหน้าใหม่' พร้อมสร้างความร่วมมือที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นวัฒนธรรมและระบบ เกิดความยั่งยืนจากการส่งต่อแบบรุ่นสู่รุ่น

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ ‘Apple’ จะย้ายโรงงานผลิต จากจีนไปอินเดีย ต้องผ่านมาตรการศุลกากร ข้อบังคับทางการค้า ด้านการส่งออก

(26 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Ethan Hunts’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

อินฟลูเปรียบเทียบประโยคที่ เมื่อครั้งนายเจียง เจ๋อหมิน อดีตประธานาธิบดีจีน และอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ สอนนักข่าวฮ่องกง ถามเรื่องการลงสมัครเป็นผู้ว่าการเกาะฮ่องกงของนายถัง ซึ่งเป็นผู้ว่าการฯในขณะนั้น โดยใช้มุกสัมภาษณ์ควาย ๆ ยิงคำถามเดิมซ้ำ ๆ และคาดเดานัยของคำตอบซึ่งไม่ถูกใจ ด้วยการถามใหม่ปรับเปลี่ยนบางคำในประโยคคำถามนั้น คล้ายว่าหากตอบไม่ตรงกับความตั้งใจที่แฝงมากับคำถาม ก็จะทู่ซี้ถามอีก นายเจียง ตัดบทหลายครั้งหลังตอบคำถามเมื่อถูกถามว่าตนสนับสนุนนายถังหรือไม่? และตอบไปแล้วว่าโดยส่วนตัวเขาสนับสนุน แต่นักข่าวต้องการคำตอบว่าจีนกดดันฮ่องกงให้เลือกนายถังหรือเปล่า? นายเจียงถามนักข่าวว่าไปเอาความคิดนี้มาจากไหน? นักข่าวชี้ว่ามาจากสื่อตะวันตก นายเจียงจึงสอนนักข่าวว่า “ในฐานะสื่อฯ คุณไม่ควรคาดเดาเอาเอง หรือมโนฯเพียงสัมผัสลม ก็ฟันธงว่ามีฝน พวกคุณต้องพิจารณาว่าแหล่งข่าวน่าเชื่อถือหรือไม่ แล้วตัดสินใจก่อนจะนำมา ต่อเรื่องเป็นตุเป็นตะ พวกคุณยังอ่อนวัยเกิน, คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันง่าย ๆ จนทำตัวเองให้ดูเหมือนพวกอ่อนต่อโลก (เอเคเอ ปัญญาอ่อน)” 

แอปเปิ้ลก็มีข่าวว่า วางแผนจะย้ายฐานการผลิตจากจีนไปอินเดีย จากนโยบายสุดระห่ำของไอ้บ้า 'คนขายส้ม' เอเคเอ ดิ ออเรนจ์แมน (ฉายาที่สื่อฯอเมริกันใช้นิยามทรัมป์) ซึ่งคาดว่าการย้ายฐานการผลิตจะเกิดขึ้นภายในปี 2026 แต่ที่ทิม คุ๊ก ซีอีโอแอปเปิ้ล อาจแสร้ง หรือคาดไม่ถึงคือ จีนเห็นการย้ายฐานการผลิตของแอปเปิ้ลเป็นเรื่องที่ “คิดได้ ถึงกล้าทำแต่มันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ” แอปเปิ้ลอาจคิดว่าจีน เป็นแค่โรงงานรับจ้างผลิต ทั้งยังเป็นตลาดขนาดใหญ่รองรับสินค้านับหลายร้อยล้านเครื่องต่อปี จึงคิดว่าแค่ย้ายโรงงานไม่ใช่เรื่องใหญ่ หรือดำเนินการยากแต่อย่างใด

แต่เอาเข้าจริง การส่งออกวัตถุดิบตลอดจนเครื่องจักรจากจีน เพื่อที่จะย้ายไปอินเดียนั้น แบบไม่ต้องประกาศอย่างโจ๋งครึ่มแต่อย่างใด ทางการจีนสามารถใช้มาตรการทางศุลกากร และข้อบังคับทางการค้า ด้านการส่งออก เป็นเครื่องมือในการปิดประตูหน้า, ขวางประตูข้าง และทิ้งช่องประตูด้านหลังโรงงานเล็ก ๆ ไว้ให้ กว่าแอปเปิ้ลจะดำเนินการจนแล้วเสร็จคาดว่า อาจหมดสมัยทรัมป์ไปแล้ว หรือแย่กว่านั้น ระหว่างตั้งโรงงาน สหรัฐดันคุยกับจีนแล้วตกลงกันได้ ทิม คุ๊ก ก็อาจมีสภาพต้องกินอาหารเม็ดไปเลยก็เป็นได้

ACFTA 3.0 นำพาอาเซียนและจีนเข้าสู่ยุคใหม่ของการค้าเสรี สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ขยายตลาดขนาดใหญ่รับมือวิกฤตการค้าทั่วโลก

(28 เม.ย. 68) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่ไม่แน่นอน ผู้เชี่ยวชาญจากมาเลเซียและจีนได้ย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับจีน โดยเฉพาะในการใช้ประโยชน์จากตลาดขนาดใหญ่ร่วมกันเพื่อบูรณาการภูมิภาคและต่อต้านกระแสการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ในเวทีสัมมนาอาเซียน-จีนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วนได้เห็นพ้องกันถึงศักยภาพของการร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย

โลว์ เคียน ชวน ประธานสภาธุรกิจมาเลเซีย–จีน กล่าวว่าการที่มาเลเซียดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันความร่วมมือระหว่างสองภูมิภาค และการลงนามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ฉบับ 3.0 จะเป็นจุดสำคัญในการเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ โดยช่วยขยายความร่วมมือในหลายมิติ

นับตั้งแต่การเปิดตัวเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนในปี 2010 ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่ายเติบโตอย่างรวดเร็ว แม้จะเผชิญกับแรงกดดันจากการค้าโลก แต่ในไตรมาสแรกของปี 2025 มูลค่าการค้าระหว่างจีนและอาเซียนยังเติบโตขึ้นถึง 7.1% ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ในอนาคต ความร่วมมือระหว่างอาเซียนและจีนจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการปรับโครงสร้างห่วงโซ่มูลค่าโลก โดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างจริงจังจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในภูมิภาคนี้

เซี่ยงไฮ้ครองใจนักท่องเที่ยวไทย ไตรมาสแรกปี 68 ทะลุ 1 แสนคน โตพรวด 242.8% ดันขึ้นอันดับ 3 นักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุด

(28 เม.ย. 68) สำนักวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเมืองเซี่ยงไฮ้เผยว่า ในไตรมาสแรกของปี 2568 มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปยังเซี่ยงไฮ้ถึง 109,000 คน เพิ่มขึ้นถึง 242.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เติบโตเร็วที่สุด และติดอันดับ 3 รองจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่น สะท้อนเสน่ห์ของเซี่ยงไฮ้ที่ยังคงดึงดูดใจชาวไทยได้อย่างต่อเนื่อง

โดยรวมแล้ว เซี่ยงไฮ้มีนักท่องเที่ยวขาเข้ารวมกว่า 1.74 ล้านคนในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้น 37.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน และในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติเกือบ 1.26 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 61.9% ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นการเติบโต ได้แก่ นโยบายฟรีวีซ่า ระบบชำระเงินที่สะดวก การสื่อสารภาษาต่างประเทศที่ง่ายขึ้น และการคมนาคมที่เป็นมิตร

สำหรับ 3 อันดับประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเยือนเซี่ยงไฮ้มากที่สุดในช่วงต้นปี ได้แก่ เกาหลีใต้กว่า 200,000 คน (เพิ่มขึ้น 142.4%) ญี่ปุ่น 142,000 คน (เพิ่มขึ้น 60%) และไทย 109,000 คน (เพิ่มขึ้น 242.8%) ขณะที่มาเลเซียตามมาในอันดับ 4 ด้วย 85,000 คน นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ รัสเซีย และออสเตรเลียก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

ความสำเร็จนี้ตอกย้ำบทบาทของเซี่ยงไฮ้ในฐานะเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ซึ่งยังคงเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าขยายตลาดในภูมิภาคและเสริมสร้างความเชื่อมโยงกับนักเดินทางทั่วโลก

ยอดผู้โดยสารทางอากาศจีนพุ่งแตะ 190 ล้านครั้ง ไตรมาสแรก 2568 เพิ่มขึ้นสูง 4.9% เมื่อเทียบปีต่อปี

(28 เม.ย. 68) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศจีนรายงานว่าในไตรมาสแรกของปี 2568 (มกราคม-มีนาคม) ยอดผู้โดยสารทางอากาศของจีนแตะ 190 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการเติบโตนี้สะท้อนถึงความฟื้นตัวของภาคการบินหลังจากการลดลงในช่วงวิกฤตโควิด-19

ในช่วงไตรมาสแรก การบินพลเรือนของจีนดำเนินการบินทั้งสิ้น 3.58 ล้านชั่วโมงบิน และมีเที่ยวบินรวม 1.36 ล้านเที่ยว เพิ่มขึ้น 4.8% และ 2.6% ตามลำดับเมื่อเทียบปีต่อปี ปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมดสูงถึง 38,500 ล้านตัน-กิโลเมตร ซึ่งเพิ่มขึ้น 10.5% เมื่อเทียบปีต่อปี

สำหรับการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศในไตรมาสแรกมีปริมาณรวม 2.24 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 11.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของการขนส่งสินค้าทางอากาศในตลาดจีน

นอกจากนี้ ภาคการบินพลเรือนของจีนยังมีอัตราความตรงต่อเวลาของเที่ยวบินในไตรมาสแรกอยู่ที่ 94.5% เพิ่มขึ้น 4.9 จุดเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และไม่มีรายงานอุบัติเหตุในภาคการบินพลเรือนในช่วงเวลาดังกล่าว

สถานทูตจีนย้ำ!! จีน-ไทย มิตรภาพยั่งยืน พร้อมหนุนสินค้าไทยบุกตลาดใหญ่จีน

(29 เม.ย. 68) เมื่อเร็ว ๆ นี้ โฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการเยือนเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชาอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งถือเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกในปีนี้ โดยเน้นแนวคิดการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน ส่งเสริมมิตรภาพและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างจีนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเยือนครั้งนี้สร้างผลลัพธ์ที่โดดเด่น จีนและเวียดนามตกลงเร่งสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันเชิงยุทธศาสตร์ พร้อมเริ่มต้นความร่วมมือทางรถไฟจีน-เวียดนาม ด้านมาเลเซียและกัมพูชายกระดับความสัมพันธ์สู่ประชาคมเชิงยุทธศาสตร์ โดยลงนามข้อตกลงสำคัญหลายฉบับ ส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึกทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง

ในบริบทของความตึงเครียดทางการค้าจากนโยบายกีดกันของสหรัฐฯ การเยือนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเน้นย้ำความร่วมมือพหุภาคี การเปิดกว้าง และการไม่แบ่งแยก พร้อมเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยจีนพร้อมเปิดตลาดขนาดใหญ่เพื่อต้อนรับสินค้าคุณภาพจากภูมิภาคนี้

ผู้นำทั้งสามประเทศ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา ต่างแสดงการสนับสนุนข้อเสนอของจีนในการปกป้องระบบการค้าเสรีและร่วมกันต่อต้านลัทธิฝ่ายเดียว พร้อมยืนยันการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับจีนเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

ด้านความร่วมมือเศรษฐกิจ จีนมุ่งกระชับการค้าทวิภาคีและการลงทุนกับทั้งสามประเทศ ส่งเสริมการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ โครงการรถไฟจีน-เวียดนามและระเบียงพัฒนาอุตสาหกรรมในกัมพูชา

โฆษกฯ ระบุว่า ความสำเร็จในการเยือนครั้งนี้มีนัยสำคัญต่อความสัมพันธ์จีน-ไทย ซึ่งมีพื้นฐานที่แน่นแฟ้นและลึกซึ้ง จีนพร้อมร่วมมือกับไทยในการปกป้องผลประโยชน์ร่วมกัน ร่วมรับมือกับความท้าทายระหว่างประเทศ และส่งเสริมการค้าเสรีที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน

จีนยืนยันความมุ่งมั่นที่จะเปิดประเทศกว้างยิ่งขึ้น แบ่งปันโอกาสการพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะไทย ซึ่งจีนพร้อมสนับสนุนการนำเข้าสินค้าไทยคุณภาพดี และสานต่อความสัมพันธ์ “จีน-ไทยพี่น้องกัน” เพื่อก้าวสู่อนาคตร่วมกันที่สดใสยิ่งขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top