Sunday, 18 May 2025
จีน

จีนสั่งห้ามส่งออก ‘สินค้าสองทาง’ ให้สหรัฐฯ หวั่นกระทบความมั่นคง พร้อมขึ้นบัญชีดำ 16 หน่วยงานมะกัน

(6 เม.ย. 68) กระทรวงพาณิชย์ของจีนออกแถลงการณ์ประกาศมาตรการควบคุมการส่งออกครั้งใหม่ โดยมีมติ ห้ามการส่งออกสินค้าที่ใช้ได้ทั้งในทางพลเรือนและทางทหาร (สินค้าสองทาง) ไปยัง หน่วยงานของสหรัฐอเมริกา 16 แห่ง พร้อมทั้งระบุว่า ได้เพิ่มชื่อหน่วยงานเหล่านี้ลงในบัญชีควบคุมการส่งออกของจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

มาตรการดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางบรรยากาศความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองมหาอำนาจโลก โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ การควบคุมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และการถ่ายโอนเทคโนโลยีที่มีความอ่อนไหว

แถลงการณ์ของกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า การดำเนินมาตรการนี้มีเป้าหมายเพื่อ “ปกป้องผลประโยชน์ความมั่นคงแห่งชาติของจีน และรักษาความเป็นธรรมทางการค้า” โดยสินค้าสองทาง (Dual-use Goods) ที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดนี้ ครอบคลุมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ซอฟต์แวร์ควบคุมอัตโนมัติ เทคโนโลยีการสื่อสาร และอุปกรณ์ที่สามารถประยุกต์ใช้ในด้านการทหาร

อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ไม่ได้เปิดเผยรายชื่อของหน่วยงานทั้ง 16 แห่งอย่างละเอียด แต่คาดว่ารวมถึงหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ การวิจัยด้านความมั่นคง และอุตสาหกรรมอาวุธ

นักวิเคราะห์ระบุว่า การดำเนินการครั้งนี้อาจเป็นการตอบโต้โดยตรงต่อมาตรการจำกัดการส่งออกชิป และเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และอาจนำไปสู่ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศที่ยืดเยื้อยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จีนย้ำว่า ยังคงยึดมั่นในหลักการการค้าที่ยุติธรรมและเปิดกว้าง แต่ก็จะไม่ยอมให้มีการใช้นโยบายทางเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการกดดันหรือแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ

ทีมกู้ภัยยูนนาน เดินทางกลับจีน หลังเสร็จสิ้น!! ภารกิจ ในเมียนมา

(7 เม.ย. 68) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยและบุคลากรการแพทย์จากมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน จำนวน 37 คน ได้เดินทางกลับจากเมียนมาเมื่อช่วงบ่ายวันอาทิตย์ (6 เม.ย.) หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว

เมียนมาประสบเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง ขนาด 7.9 ตามมาตราแมกนิจูด เมื่อวันที่ 28 มี.ค. และทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยและบุคลากรการแพทย์จากมณฑลอวิ๋นหนาน ซึ่งมีพรมแดนติดกับเมียนมา ได้เดินทางจากเมืองคุนหมิงสู่พื้นที่ประสบภัยในวันที่ 29 มี.ค. พร้อมอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณชีพ ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว โทรศัพท์ดาวเทียมแบบพกพา และโดรน

ทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยและบุคลากรการแพทย์จากมณฑลอวิ๋นหนานในฐานะทีมกู้ภัยจากจีนชุดแรกที่เดินทางถึงเมียนมาได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและหน่วยกู้ภัยท้องถิ่นทันที เพื่อดำเนินการช่วยเหลือและรักษาพยาบาลนานกว่า 150 ชั่วโมงในกรุงเนปิดอว์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง

ทั้งนี้ ทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยและบุคลากรการแพทย์จากมณฑลอวิ๋นหนานร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุรายหนึ่งที่ติดค้างอยู่ข้างใต้ซากปรักหักพังจากแผ่นดินไหวนานเกือบ 40 ชั่วโมงสำเร็จ ตอน 05.00 น. ของวันที่ 30 มี.ค. ตามเวลาท้องถิ่น

เมื่อวันพุธ (2 เม.ย.) ไชน่า มีเดีย กรุ๊ป (CMG) รายงานว่ามีเจ้าหน้าที่กู้ภัยจากจีนมากกว่า 500 คน ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเมียนมา และสามารถช่วยเหลือผู้รอดชีวิตได้ 9 ราย เมื่อนับถึงวันพฤหัสบดี (3 เม.ย.) ที่ผ่านมา

จีนเข้มงวดควบคุมธาตุหายาก 7 ชนิด อาจสั่นคลอนห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก CEO บ.ดังมะกันชี้ เป็นการโจมตีที่แม่นยำต่อการเข้าถึงของสหรัฐฯ

เมื่อวันศุกร์ที่ (4 เม.ย. 68) จีนได้ประกาศมาตรการควบคุมการส่งออก ธาตุหายาก 7 ชนิด ที่สำคัญ โดยระบุว่าจะใช้ข้อจำกัดที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนไหวที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

ตามรายงานจากสำนักข่าว Reuters ธาตุหายากที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการใหม่ ได้แก่ ซาแมเรียม, แกโดลิเนียม, เทอร์เบียม, ดิสโพรเซียม, ลูทีเทียม, สแกนเดียม, และอิตเทรียม ซึ่งทั้งหมดมีความสำคัญในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงและระบบทางการทหารต่าง ๆ ตั้งแต่ ยานยนต์ไฟฟ้า, สมาร์ทโฟน, ไปจนถึง เครื่องบินขับไล่, ขีปนาวุธ, และ ดาวเทียม

จีนเป็นผู้ผลิตแร่ธาตุหายากมากถึง ร้อยละ 90 ของการผลิตทั่วโลก และเป็นผู้นำด้านอุปทานธาตุหายากที่สำคัญมาอย่างยาวนาน การประกาศควบคุมการส่งออกนี้มีศักยภาพในการทำให้ห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศที่กำลังเผชิญกับความเปราะบางจากปัจจัยภายนอกอยู่แล้ว กลายเป็นไม่มั่นคงยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาธาตุหายากเหล่านี้ในการผลิต

มาตรการควบคุมการส่งออกใหม่ของจีนอาจกระทบต่อหลายประเทศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า และ เทคโนโลยีการทหาร ที่ต้องใช้ธาตุหายากเหล่านี้ในการผลิต โดยเฉพาะในช่วงที่ความตึงเครียดทางการค้าและการเมืองระหว่างประเทศกำลังทวีความรุนแรงขึ้น

มาร์ก เอ. สมิธ ซีอีโอของ NioCorp Developments (NASDAQ:NB) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการเพื่อสร้างแหล่งจัดหาแร่ธาตุที่สำคัญภายในประเทศของสหรัฐฯ เรียกการกระทำของจีนว่าเป็น “การโจมตีที่แม่นยำ” ต่อห่วงโซ่อุปทานของกระทรวงกลาโหม

“นี่คือการโจมตีอย่างแม่นยำของจีนต่อห่วงโซ่อุปทานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ” สมิธกล่าวเมื่อวันศุกร์ “สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่โลหะเท่านั้น และหากไม่มีโลหะ ฮาร์ดแวร์ขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ก็เสี่ยงที่จะหลุดจากความเหนือกว่าไปสู่ความล้าสมัย”

เมื่อปีที่แล้ว NioCorp เริ่มสำรวจความเป็นไปได้ในการรีไซเคิลแร่ธาตุหายาก ควบคู่ไปกับความเป็นไปได้ในการรีไซเคิลแม่เหล็กแร่ธาตุหายากหลังการบริโภค เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากจีน

ขณะที่กองทัพสหรัฐฯ ยังคงปรับปรุงเทคโนโลยีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงอาวุธความเร็วเหนือเสียงและระบบดาวเทียมขั้นสูง ซึ่งการขาดการเข้าถึงองค์ประกอบเหล่านี้อาจมีผลกระทบต่อการจัดหาในระยะยาว

ทั้งนี้ ความตึงเครียดด้านการค้ารอบล่าสุดนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯใช้มาตรการภาษีศุลกากรที่เข้มงวดยิ่งขึ้นและเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนถึง 54 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนมีนาคมทรัมป์ ใช้อำนาจในช่วงสงครามภายใต้พระราชบัญญัติการผลิตเพื่อการป้องกันประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการพึ่งพาแร่ธาตุสำคัญจากต่างประเทศของประเทศ

ปักกิ่งโต้เดือด ‘ไม่ยอมอยู่ใต้การแบล็กเมล์’ หลังสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าจีน 104% ทำเนียบขาวเตือนอย่าตอบโต้ทรัมป์ ชี้ผู้นำสหรัฐฯ จะไม่ยอมอ่อนข้อแม้แต่น้อย

(9 เม.ย. 68) ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนพุ่งขึ้นอีกระลอก หลังจากที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 50% เพื่อโต้ตอบการตอบโต้จากปักกิ่ง ส่งผลให้ภาษีนำเข้าสินค้าจีนรวมจากฝั่งสหรัฐฯ พุ่งแตะ 104% อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ทรัมป์ให้เหตุผลว่า จีนยังคงใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม และการตอบโต้ที่ผ่านมาจากปักกิ่งเป็น “การท้าทายอย่างชัดเจน” ต่ออำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยแถลงว่า “จีนเล่นเกมนี้มานานเกินไปแล้ว ถึงเวลาที่สหรัฐฯ ต้องยืนหยัดและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ”

แม้จะถูกกดดันอย่างหนักจากฝั่งวอชิงตัน แต่ปักกิ่งยืนยันว่าจะไม่ยอมอ่อนข้อต่อสิ่งที่ระบุว่าเป็น 'การแบล็กเมล์ทางเศรษฐกิจ' และมองว่าการกระทำของสหรัฐฯ เป็นการใช้อำนาจฝ่ายเดียวและกีดกันทางการค้า

ในการสนทนาทางโทรศัพท์กับ อูร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีนระบุว่า “จีนมีเครื่องมือทางนโยบายที่เพียงพอในการรับมือกับแรงกระแทกจากภายนอก และยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”

นอกจากนี้ หลี่เฉียงยังเน้นย้ำว่า การตอบโต้ของจีน ไม่ใช่เพียงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น แต่รวมถึงการปกป้องกฎกติกาการค้าในระดับสากล ที่ทุกประเทศควรยึดถือร่วมกัน

ขณะที่ แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว ออกมาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะไม่ยอมอ่อนข้อ และระบุว่าจีนกำลัง 'ทำพลาดอย่างหนัก' ด้วยการตอบโต้สหรัฐฯ

“ประเทศต่างๆ เช่น จีน ซึ่งเลือกที่จะตอบโต้และพยายามเพิ่มโทษต่อการปฏิบัติต่อคนงานชาวอเมริกันอย่างไม่เป็นธรรม และกำลังทำผิดพลาด”

ลีวิตต์ กล่าวอีกว่า ประธานาธิบดีทรัมป์มีความแข็งแกร่ง และจะไม่มีวันแตกหัก พร้อมยืนยันว่า การตัดสินใจทางการค้าของผู้นำสหรัฐฯ มุ่งเน้นไปที่การปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานและเศรษฐกิจอเมริกัน ซึ่งจีนต้องการทำข้อตกลง กับสหรัฐฯ แต่ “ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร" และปฏิเสธที่จะเปิดเผยเงื่อนไขใด ๆ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์อาจพิจารณา เพื่อผ่อนคลายมาตรการภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ มาตรการภาษีล่าสุดของทรัมป์มีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งในฝั่งผู้ผลิตจีน และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก โดยเฉพาะบริษัทสหรัฐฯ ที่พึ่งพาสินค้าและชิ้นส่วนจากจีน อาจต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นักวิเคราะห์ชี้ว่า การเดินหน้าเพิ่มกำแพงภาษีต่อจีนเป็นสัญญาณว่า สหรัฐฯ พร้อมเปิดศึกการค้าเต็มรูปแบบ และคาดว่าปักกิ่งจะตอบโต้กลับอีกระลอกในไม่ช้า

‘จิตรเทพ เนื่องจำนงค์’ มองกรณี ทรัมป์ระงับขึ้นภาษีคู่ค้าเว้น ‘จีน’ ชี้ เกมนี้ไม่ใช่แค่การค้า แต่วางหมากหวังกุมอำนาจการเจรจาทั่วโลก

(10 เม.ย.68) นายจิตรเทพ เนื่องจำนงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และอดีตที่ปรึกษาเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โพสต์เฟซบุ๊กว่า...

ทรัมป์ระงับการขึ้นภาษีศุลกากรเกือบทุกประเทศ แต่เพิ่มภาษีกับจีนเป็น 125%  โดยประกาศระงับการขึ้นภาษีตอบโต้ที่สูงขึ้นกับคู่ค้าหลายสิบรายเป็นเวลา 90 วัน 

เกมนี้ คือ แยกมิตรและศัตรู ให้ทุกคนกางหน้าไผ่ในมืออย่างชัดเจน 

โดยการหยุดภาษีประเทศพันธมิตร 90 วันเพื่อเปิดโต๊ะเจรจา แต่เล่นอัดพี่จีนเต็มสตีมทันที

ตลาดหุ้นสหรัฐตอบรับแรงมาก S&P500 +8% Nasdaq ปู่ SET บ้านเราก็น่าจะบวกแรงด้วยเช่นกัน

นี่ไม่ใช่แค่การค้า แต่นี่คือ เกมส์การวางหมากเพื่อควบคุมอำนาจการเจรจาทั่วโลก และตอนนี้ Deal ใหญ่ ๆ กับหลายประเทศเริ่มเข้ารูปแล้ว

ทรัมป์เป็น Deal Maker วิธีการทำนโยบายของทรัมป์ คือ จะประกาศไปก่อนเพื่อเจรจา จะทุบโต๊ะเพื่อขอราคาหรือข้อเสนอที่ดีมากที่สุด 

มุมมองนักลงทุน : หุ้นจีน ตอนนี้ยังเสี่ยง  หุ้นสหรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ที่ลงมาเยอะ มีโอกาส 

หุ้นไทย พื้นฐานดีหลายๆ ตัวน่าสนใจ แต่อาจจะต้องประเมินสถานการณ์ ค่อยๆ แบ่งทยอยซื้อ
This isn’t chaos — it’s strategy.

ไม่ต้องรีบมากครับ  ฝุ่นยังไม่หายตลบ ค่อย ๆ ประเมินตามความเสี่ยงที่รับได้  เพราะไม่รู้พรุ่งนี้พี่ทรัมป์จะงัดกลยุทธ์ไหนมาเล่นอีก  ค่อยประเมินกันไปครับ พี่แกคาดเดายากจริง ๆ 

แต่เชื่อว่า อีกสักพัก คงค่อยๆ ผ่อนคลายสถานการณ์คลี่คลายในทางที่ดีขึ้นครับ
#สวัสดีSET 1000 จุด 

จีนยื่นร้องเรียน WTO กรณีสหรัฐฯ ขึ้นภาษี 125% ชี้ละเมิดกฎการค้า พร้อมประณามมะกันมีพฤติกรรม ‘กลั่นแกล้ง-รังแก’

(10 เม.ย. 68) รัฐบาลจีนยื่นเรื่องร้องเรียนฉบับใหม่ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) หลังสหรัฐฯ ประกาศจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมอีก 50% กับสินค้านำเข้าจากจีน โดยถือเป็นการยกระดับมาตรการ 'ภาษีตอบโต้' ที่เคยประกาศใช้มาก่อนหน้านี้

โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนระบุว่า มาตรการภาษีล่าสุดของสหรัฐฯ นั้น “ละเมิดกฎเกณฑ์ของ WTO อย่างร้ายแรง” และถือเป็น “ความผิดพลาดมหันต์ที่ต่อยอดจากความผิดพลาดเดิม” พร้อมทั้งประณามว่าสหรัฐฯ มีพฤติกรรมที่ 'กลั่นแกล้งและรังแก' โดยดำเนินการอย่างลำพังฝ่ายเดียวโดยไม่คำนึงถึงกติกาสากล

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ได้ประกาศ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจำนวนหลายสิบประเทศเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งรวมไปถึงการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงถึงร้อยละ 125 ส่งผลให้สงครามการค้าโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น

ทรัมป์กล่าวว่าภาษีศุลกากรมีความจำเป็นเพื่อยุติการขาดดุลการค้าครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ กับหุ้นส่วนทางการค้าหลายราย โดยจีนเป็นประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ มากที่สุด

จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็น 84 เปอร์เซ็นต์ จาก 34 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่สหภาพยุโรปจะเปิดตัวมาตรการตอบโต้ครั้งแรก โดยส่วนใหญ่จะมีอัตราภาษี 25 เปอร์เซ็นต์ ในสัปดาห์หน้า

“แม้ว่าจีนจะคัดค้านสงครามการค้า แต่จีนจะปกป้องผลประโยชน์อันชอบธรรมของตนอย่างมั่นคง” จีนกล่าวในแถลงการณ์ต่อสมาชิก WTO ระหว่างการประชุมว่าด้วยการค้าสินค้า

บรรดาสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) จำนวน 20 ประเทศ รวมถึงสวิตเซอร์แลนด์ สหภาพยุโรป และแคนาดา ต่างออกแถลงการณ์ร่วมในที่ประชุม WTO ซึ่งจัดขึ้นที่นครเจนีวาในวันพุธ แสดงความวิตกกังวลต่อผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลัง

สมาชิกองค์การการค้าโลกหลายประเทศแสดงจุดยืนต่อที่ประชุมในเจนีวา โดยมีบางรายระบุว่ามาตรการภาษีตอบโต้ซึ่งกันและกันของสหรัฐฯ ขัดต่อหลักการพื้นฐานของ WTO และอาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เจ้าหน้าที่การค้าประจำเจนีวาเผยว่า สมาชิกบางประเทศชี้ว่า การขึ้นภาษีดังกล่าวจะผลักดันต้นทุนให้เพิ่มขึ้นในหลายอุตสาหกรรม บั่นทอนห่วงโซ่อุปทาน และสร้างผลกระทบต่อทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ขององค์การการค้าโลกเปิดเผยต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า คำร้องเรียนล่าสุดของจีนต่อสหรัฐฯ ซึ่งยื่นเมื่อวันพุธ เป็นการดำเนินการแยกต่างหากจากคำขอปรึกษาหารือทวิภาคีที่จีนได้ยื่นไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา

สำหรับการยื่นคำขอปรึกษาหารือถือเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการยุติข้อพิพาทภายใต้กรอบของ WTO โดยเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาเพื่อหาทางออกอย่างเป็นมิตรภายในระยะเวลา 60 วัน หากการเจรจาไม่บรรลุผล จีนสามารถยกระดับข้อพิพาทโดยยื่นคำร้องต่อหน่วยงานระงับข้อพิพาทของ WTO เพื่อให้มีการตั้งคณะผู้พิจารณาคดีอย่างเป็นทางการ

โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชะลอเก็บภาษี 90 วัน ยกเว้นจีน ทำตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดีดแรงที่สุดในรอบปี

(10 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับประเทศคู่ค้าต่างๆ เป็นเวลา 90 วัน โดยมีผลบังคับใช้ในทันที ยกเว้น สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งยังคงเผชิญกับอัตราภาษีนำเข้าสูงถึง 125% ตามมาตรการที่สหรัฐฯ เพิ่งประกาศไปเมื่อไม่นานนี้

“จากการขาดความเคารพที่จีนมีต่อตลาดโลก ผมจึงขอปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็น 125% โดยจะมีผลทันที” ทรัมป์โพสต์บนโซเชียลมีเดีย “ในอนาคตอันใกล้นี้ จีนจะตระหนักว่าการเอาเปรียบสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ นั้นไม่ยั่งยืนหรือเป็นที่ยอมรับได้อีกต่อไป”

การตัดสินใจครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางแรงกดดันจากภาคธุรกิจและพันธมิตรทางการค้า ที่กังวลว่าการตอบโต้ทางภาษีอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกและห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ โดยสหรัฐฯ ระบุว่าการระงับชั่วคราวครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเปิดทางให้เกิด “กระบวนการเจรจาอย่างสร้างสรรค์” กับพันธมิตรที่ได้รับผลกระทบ

“เราต้องการโอกาสให้ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับเราสามารถหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขความไม่สมดุล โดยไม่ต้องมีแรงกดดันจากมาตรการภาษีในทันที” ทรัมป์กล่าวในการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาว

อย่างไรก็ตาม จีนยังคงถูกแยกออกจากการผ่อนปรนดังกล่าว โดยทำเนียบขาวระบุว่า จีนยังไม่แสดงความตั้งใจในการแก้ไขพฤติกรรมทางการค้าที่สหรัฐฯ มองว่า “ไม่เป็นธรรม” ซึ่งรวมถึงการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ จาก 34% เป็น 84% ในการตอบโต้ล่าสุด

ทรัมป์ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวหลังการประกาศดังกล่าวว่า “ยังไม่มีอะไรจบลง แต่เรามีความศรัทธาอย่างล้นหลามจากประเทศอื่นๆ รวมถึงจีนด้วย จีนต้องการทำข้อตกลง แต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร”

นักวิเคราะห์มองว่าการยกเว้นจีนจากมาตรการผ่อนปรนนี้สะท้อนถึงแนวทางแข็งกร้าวที่รัฐบาลทรัมป์ใช้ในการเจรจาการค้ากับปักกิ่ง และอาจส่งผลให้ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศมหาอำนาจยังคงดำเนินต่อไป

ขณะที่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดพุ่งแรงในวันพุธ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) เป็นเวลา 90 วัน ส่งผลให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศพันธมิตร

ดัชนี ดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average) ปิดที่ 40,608.45 จุด เพิ่มขึ้นถึง 2,962.86 จุด หรือ +7.87% ถือเป็นการปรับตัวขึ้นรายวันที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบหลายเดือน

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 5,456.90 จุด เพิ่มขึ้น 474.13 จุด หรือ +9.52% ขณะที่ดัชนี Nasdaq Composite ซึ่งมีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเป็นหลัก ปิดที่ 17,124.97 จุด พุ่งขึ้น 1,857.06 จุด หรือ +12.16% นับเป็นหนึ่งในวันที่ดีที่สุดของ Nasdaq ในรอบปี

นักลงทุนทั่วโลกตอบรับเชิงบวกต่อท่าทีผ่อนปรนของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะการยกเว้นประเทศคู่ค้าสำคัญจากมาตรการภาษีเป็นการชั่วคราว แม้ว่าจีนจะยังคงถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าระดับสูงถึง 125% ก็ตาม

“นี่เป็นสัญญาณว่าเส้นทางของการเผชิญหน้าทางการค้าอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ หากมีพื้นที่ให้เจรจา” นักวิเคราะห์จากบริษัทการเงินแห่งหนึ่งในนิวยอร์กกล่าว

‘นักท่องเที่ยวจีน’ แห่บินไปต่างประเทศช่วงวันหยุดยาวเช็งเม้ง นิยม ‘เที่ยวเองไม่ง้อทัวร์’ ดันยอดเดินทางออกนอกประเทศสูงสุดในรอบ 3 ปี

(10 เม.ย. 68) บรรยากาศการท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงเทศกาลเช็งเม้งปีนี้คึกคักเป็นพิเศษ หลังจากที่จีนมีวันหยุดยาว 3 วัน ประกอบกับนโยบายยกเว้นวีซ่าจากหลายประเทศทั่วโลก ตั๋วเครื่องบินราคาประหยัด และเครื่องมือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ช่วยให้การวางแผนการเดินทางสะดวกมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แพลตฟอร์มท่องเที่ยว Tuniu รายงานว่า ยอดการจองทริปเดินทางต่างประเทศของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงหยุดเช็งเม้งปีนี้ อาจสูงที่สุดในรอบ 3 ปี ขณะที่ข้อมูลจากหน่วยงานการท่องเที่ยวระบุว่า มากกว่า 80 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก ได้ยกเว้นการขอวีซ่าหรือให้ขอวีซ่าเมื่อเดินทางถึง สำหรับนักท่องเที่ยวจีนในปี 2025

หวัง ลี่หยาง ผู้บริหารจาก Fliggy แพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ชื่อดัง เผยว่าแนวโน้ม “เที่ยวเอง-วางแผนเอง” กำลังเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนหันมาใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการจองกิจกรรมที่แปลกใหม่ เช่น ดำน้ำ, ล่องเรือ, แช่น้ำพุร้อน และกิจกรรมท่องเที่ยวธรรมชาติในพื้นที่ชนบท

นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยี AI ด้านการท่องเที่ยว ในหลายประเทศยังช่วยให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถออกแบบแผนเดินทางเฉพาะตัว พร้อมแนะนำจุดท่องเที่ยวตามความสนใจ และจองตั๋วแบบเรียลไทม์ได้สะดวกขึ้น

อีกทั้ง แพลตฟอร์มจำหน่ายตั๋วออนไลน์ของจีนยังระบุว่า ตั๋วเครื่องบินราคาถูก และขั้นตอนผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองที่รวดเร็ว เป็นปัจจัยหนุนให้การเดินทางต่างประเทศกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยพบว่าเที่ยวบินตรงจาก ปักกิ่ง ไปยัง ฮานอย, กรุงเทพฯ, และจาก เซี่ยงไฮ้ ไปยัง กรุงโซล, โอซากา มีราคาต่ำกว่า 1,000 หยวน (ราว 4,800 บาท)

เว็บไซต์ข่าว Skift คาดการณ์ว่า ยอดการเดินทางขาออกของจีนจะ พุ่งแตะ 200 ล้านเที่ยวภายในปี 2028 ซึ่งถือเป็นสัญญาณเชิงบวกสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลก

ไต้ปิน ประธานสถาบันการท่องเที่ยวจีน ให้ความเห็นว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนยุคใหม่ยินดีจ่ายเงินเพื่อไลฟ์สไตล์ที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าพักในโรงแรมระดับพรีเมียม รับประทานอาหารหรู ไปจนถึงการเข้าชมการแสดงวัฒนธรรมที่มีคุณภาพระหว่างการเดินทาง

‘นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียง’ เรียกผู้เชี่ยวชาญหารือด่วน เตรียมต่อกรกับภาษีทรัมป์ ย้ำผู้ประกอบการปรับตัวตามสถานการณ์ เป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนเดินหน้าต่อไป

(10 เม.ย. 68) นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียง ของจีนได้เป็นประธานการประชุมสัมมนากับผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและผู้ประกอบการในประเทศ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน รวมถึงแผนการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือถึงความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมภายนอก และหาทางเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจจีน โดยผู้เข้าร่วมได้เสนอแนะแนวทางในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ รวมทั้งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะเผชิญกับความยากลำบากจากปัจจัยภายนอก แต่ผู้เข้าร่วมประชุมต่างเห็นว่าเศรษฐกิจจีนยังคงมีจุดแข็งหลายประการ อาทิ ความยืดหยุ่นที่แข็งแกร่งและศักยภาพมหาศาลในการฟื้นตัว

นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียงกล่าวว่า แม้ปีนี้จะมีสถานการณ์พิเศษและการท้าทายต่างๆ แต่จีนสามารถตอบสนองต่อความเสี่ยงและสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนด้วยความสงบที่มั่นคง พร้อมทั้งสามารถรักษาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีได้

นายกรัฐมนตรีจีนยังกล่าวเสริมว่า จีนจะใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการทำงานด้านเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพในไตรมาสที่สองและในอนาคต โดยจะดำเนินนโยบายมหภาคเชิงรุกมากขึ้น รวมถึงนำนโยบายใหม่ๆ มาใช้เมื่อสถานการณ์เหมาะสม

นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงการขยายอุปสงค์ภายในประเทศเป็นกลยุทธ์ระยะยาว และกระตุ้นความมีชีวิตชีวาของธุรกิจทุกรูปแบบอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียง มีความหวังว่าผู้ประกอบการจะปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง และขับเคลื่อนการเติบโต รวมถึงเสริมสร้างและยกระดับวิสาหกิจของตนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในอนาคต

BYD ชี้ไม่กระทบจากนโยบายภาษีสหรัฐฯ มองเป็นโอกาสในการขยายตลาดเอเชียแปซิฟิก

(10 เม.ย. 68) นายหลิว เสวียเลี่ยง ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสทรี จำกัด (BYD) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นภาษีทั่วโลกโดยสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเริ่มมีผลตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2568 จะไม่มีผลกระทบต่อแบรนด์และธุรกิจของบีวายดีในภาพรวมแต่อย่างใด

นายหลิวกล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทมีการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งในด้านเทคโนโลยีและชิ้นส่วนรถยนต์ รวมถึงการออกแบบ ทำให้สามารถควบคุมกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังไม่มีแผนเข้าสู่ตลาดอเมริกาในขณะนี้ ซึ่งทำให้ไม่ต้องเผชิญกับผลกระทบจากนโยบายภาษีใหม่ของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ นายหลิวยังกล่าวถึงกลยุทธ์การขยายตลาดทั่วโลกของบีวายดี โดยเน้นการลงทุนในตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นหลัก โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งถือเป็นฐานสำคัญในการขยายธุรกิจในภูมิภาคนี้ การปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ อาจทำให้บริษัทเพิ่มโอกาสในการนำทรัพยากรไปลงทุนในตลาดเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้

การขยายธุรกิจของบีวายดีในตลาดเอเชียแปซิฟิกยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมองว่าในระยะยาว ภูมิภาคนี้จะเป็นตลาดที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า และบีวายดีจะเดินหน้าสร้างโอกาสและเสริมสร้างตำแหน่งทางการตลาดในภูมิภาคนี้อย่างมั่นคง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top