Monday, 19 May 2025
จีน

โจมตีจีนคือธุรกิจ แต่ใส่ของจีน!! ชาวเน็ตเหน็บแรงโฆษกสหรัฐฯ ใส่เดรสราคาแพง 'Made in China'

(22 เม.ย. 68) ชาวเน็ตจีนบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่าง Sina Weibo และ Xiaohongshu ได้วิพากษ์วิจารณ์หลังมีการเปิดเผยภาพของโฆษกทำเนียบขาว แคโรไลน์ ลีวิตต์ (Karoline Leavitt) ขณะกำลังแถลงข่าวโดยเธอสวมชุดเดรสสีแดงขอบลูกไม้สีดำ ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า “ผลิตในประเทศจีน?”

ประเด็นนี้เริ่มเป็นที่สนใจเมื่อจาง จื้อเซิง กงสุลใหญ่ของจีนประจำเมืองเดนปาซาร์ ประเทศอินโดนีเซีย ทวีตข้อความตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับชุดดังกล่าว โดยระบุว่า “แม้จะกล่าวหาจีนว่าไม่ยุติธรรมด้านการค้า แต่คนในรัฐบาลกลับยังสวมใส่ผลิตภัณฑ์จากจีนเอง” ซึ่งข้อความนี้จุดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์จีน

ขณะที่ ผู้ใช้โซเชียลจำนวนมากแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยชี้ว่า “เป็นเรื่องตลกร้าย” และสะท้อนถึง “ความหน้าไหว้หลังหลอก” ของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีนมาโดยตลอดในประเด็นสงครามการค้า

ทั้งนี้ ชุดดังกล่าวจะมาจากแบรนด์ Self-Portrait ของอังกฤษ แต่ก็มีรายงานว่าผู้ออกแบบคือ ฮั่น จง (Han Chong) ดีไซเนอร์เชื้อสายจีนจากมาเลเซีย และที่สำคัญคือมีการผลิตในจีน ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ชาวเน็ตจีนมองว่าเป็น “ความย้อนแย้ง” ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มักวิจารณ์จีนเรื่องการค้า ขณะเดียวกันก็ยังใช้สินค้าจากจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

BYD เตรียมส่งรถไฟฟ้ารุ่นใหม่สู้ศึกรถยนต์ขนาดเล็กในญี่ปุ่น ตั้งเป้าเปิดตัวภายในปี 2026 ราคาเริ่มต้น 2.5 ล้านเยน

(22 เม.ย. 68) BYD ยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์ไฟฟ้าของจีน เตรียมเดินหน้ารุกตลาดรถยนต์ขนาดเล็กในญี่ปุ่นภายในปี 2026 ด้วยรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะสำหรับตลาดท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทจีนในการแข่งขันในตลาดที่มีข้อกำหนดเฉพาะทางสูง และถูกครอบครองโดยผู้ผลิตญี่ปุ่นมายาวนาน

รถยนต์ขนาดเล็กที่เรียกว่า 'เคคาร์' (Kei Car) หรือในภาษาญี่ปุ่นว่า 'Kei-jidosha' เป็นยานยนต์ประเภทที่เล็กที่สุดตามกฎหมายของญี่ปุ่น โดยมีข้อจำกัดด้านขนาด เช่น ความยาวไม่เกิน 3.4 เมตร และความกว้างไม่เกิน 1.48 เมตร 

ทั้งยังต้องเสียภาษีและค่าธรรมเนียมที่ต่ำ โดยรถกลุ่มนี้ครองส่วนแบ่งตลาดราว 40% ของอุตสาหกรรมรถยนต์ในญี่ปุ่น จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของผู้ผลิตที่ต้องการเจาะเข้าสู่ตลาดแดนอาทิตย์อุทัย

แหล่งข่าวระบุว่า BYD ได้ออกแบบรถยนต์ Kei Car ไฟฟ้ารุ่นใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว และมีแผนเปิดตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2026 โดยตั้งราคาขายไว้ราว 2.5 ล้านเยน (ราว 560,000 บาท) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มราคาต่ำของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในญี่ปุ่น

นี่จะเป็นครั้งแรกที่ BYD พัฒนารถยนต์สำหรับตลาดประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ ต่างจากก่อนหน้านี้ที่บริษัทเลือกนำรุ่นรถจากตลาดจีนมาจำหน่ายในต่างประเทศโดยตรง ความเคลื่อนไหวครั้งนี้จึงสะท้อนถึงความตั้งใจในการเจาะตลาดญี่ปุ่นอย่างจริงจัง

ปัจจุบัน BYD เข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2023 และมียอดขายสะสมเพียง 4,530 คัน (ณ เดือนมีนาคม 2025) จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างการยอมรับในตลาดที่มีการแข่งขันสูง และมีความต้องการเฉพาะทางอย่างมาก

ในตลาด Kei Car ไฟฟ้าของญี่ปุ่นปัจจุบัน มีคู่แข่งสำคัญอย่าง Nissan Sakura และ Mitsubishi ek X EV ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ได้รับความนิยมจากชาวญี่ปุ่นด้วยความคุ้นเคยกับแบรนด์และระบบบริการหลังการขายในประเทศ

ทั้งนี้ การเปิดตัวรถรุ่นใหม่โดย BYD จึงอาจเป็นบททดสอบสำคัญของบริษัทจีนในสนามที่เต็มไปด้วยอุปสรรค ทั้งด้านมาตรฐานรถยนต์ที่เข้มงวดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ภักดีต่อแบรนด์ท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวนี้ยังแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายระยะยาวของ BYD ในการขยายฐานการผลิตและยอดขายอย่างต่อเนื่องในระดับโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

'โตโยต้า' ทุ่ม 6.6 หมื่นล้าน ผุดโรงงาน EV ในเซี่ยงไฮ้

เซี่ยงไฮ้, 22 เม.ย. (ซินหัว) — วันอังคาร (22 เม.ย.) โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป (Toyota Motor Corp.) ผู้ผลิตยานยนต์ของญี่ปุ่น ได้ลงนามข้อตกลงก่อตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่โตโยต้าเป็นเจ้าของทั้งหมดในเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน

ข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับรัฐบาลเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ระบุว่าโตโยต้าจะลงทุนโครงการยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ในเขตจินซาน มูลค่ารวม 1.46 หมื่นล้านหยวน (ราว 6.64 หมื่นล้านบาท) ซึ่งมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา การผลิต และการจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าเลกซัส (Lexus) และแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ นี่เป็นโครงการยานยนต์พลังงานใหม่ที่มีอิทธิพลระดับโลกอีกหนึ่งโครงการในนครเซี่ยงไฮ้ ต่อจากโรงงานเซี่ยงไฮ้ กิกะแฟคทอรี ของเทสลา ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นของเซี่ยงไฮ้ในการขยายการเปิดกว้างระดับสูงและเร่งสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ระดับโลก

‘ทรัมป์’ เปลี่ยนท่าที เตรียมลดภาษีนำเข้าจีน ยอมรับไม่อยากให้สงครามการค้ายืดเยื้อ

(23 เม.ย.) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เผยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ว่า สหรัฐฯ เตรียมลดเพดานภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจากระดับสูงสุด 145% พร้อมยอมรับว่าไม่ต้องการให้สงครามการค้าระหว่างสองชาติเศรษฐกิจยืดเยื้อ โดยระบุว่า “จะไม่เล่นไม้แข็ง” และต้องการให้เกิดข้อตกลงที่เป็นธรรม

ด้าน รัฐมนตรีคลัง สกอตต์ เบสเซนต์ ระบุว่าการเจรจากับจีนจะเป็นเรื่องท้าทาย แต่คาดว่าความตึงเครียดจะผ่อนคลาย ขณะที่ทรัมป์ยืนยันจะลดภาษีลง “อย่างมาก” แม้ไม่ถึงขั้นเป็นศูนย์ แต่จะอยู่ในระดับที่จีนสามารถยอมรับได้ โดยเขาและทีมจะร่วมกันพิจารณารายละเอียดด้วยตนเอง

ขณะเดียวกัน รศ.ดร. อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก 'Aksornsri Phanishsarn' เมื่อ 23 เม.ย. ชี้ว่า ทรัมป์เริ่มถูกเมินหนักจากจีน จึงเริ่ม 'อ่อย' ด้วยท่าทีอ่อนลง พร้อมระบุว่า “ทรัมป์บอกจะ Very Nice กับจีนจ้า”

ทั้งนี้ ทรัมป์ยังเปลี่ยนท่าทีต่อเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด โดยยืนยันว่า “ไม่เคยคิดจะปลด” แม้เพิ่งวิจารณ์เรื่องการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยล่าช้า

นักเรียนจีนแห่เปลี่ยนเส้นทาง เริ่มเบนเป้าออกจากสหรัฐฯ หลังทรัมป์คุมเข้มนโยบายการศึกษาและวีซ่า

(24 เม.ย. 68) นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง กำลังสั่นคลอนความนิยมของสหรัฐฯ ในหมู่นักเรียนจีนอย่างหนัก ทั้งการตัดงบมหาวิทยาลัย เข้มงวดเรื่องวีซ่า และตั้งข้อกล่าวหาด้านความมั่นคง ส่งผลให้จำนวนผู้สมัครเรียนต่อในอเมริกาลดลงต่อเนื่อง กระทบภาพฝัน “American Dream” ที่เคยเป็นเป้าหมายสูงสุดของนักศึกษาจีนมายาวนานกว่า 15 ปี

นักเรียนจำนวนมากเริ่มหันไปมองทางเลือกใหม่ เช่น สหราชอาณาจักร อิตาลี หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยชั้นนำในจีนเองที่กำลังไต่อันดับโลกอย่างรวดเร็ว ด้วยคุณภาพงานวิจัยและโอกาสทำงานหลังเรียนจบที่ดึงดูดใจมากขึ้น ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนของสหรัฐฯ ทำให้หลายครอบครัวเริ่มลังเลต่อการลงทุนด้านการศึกษาข้ามทวีป

ข้อมูลจาก Open Doors ระบุว่า จำนวนนักเรียนจีนในสหรัฐฯ ลดลงเหลือ 277,398 คนในปีการศึกษา 2023/24 ลดลง 4.2% จากปีก่อนหน้า และลดลงถึง 25.5% จากจุดสูงสุดในปี 2019/20 โดยนักเรียนจีนสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กว่า 14,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2023 ทว่าแนวโน้มปัจจุบันอาจทำให้เม็ดเงินจำนวนนี้ไหลออกไปยังประเทศอื่นแทน ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในเวทีการศึกษาระดับโลก

นักศึกษาจำนวนหนึ่งยังเลือกกลับมาเรียนและทำงานในฮ่องกงหรือจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะในสาขาที่มีโอกาสทำงานหลังเรียนจบและได้รับทุนวิจัยมากขึ้น รายงานจาก China Daily ระบุว่า ในปี 2023 มีนักเรียนจีนระดับปริญญาเอกกลับประเทศถึง 21,574 คน เพิ่มขึ้น 51% จากปี 2020 โดยมากกว่าครึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในเอเชีย

แม้สหรัฐฯ จะยังคงเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับนักเรียนต่างชาติ แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายที่เข้มงวดขึ้น อาจทำให้ประเทศสูญเสียบทบาทผู้นำด้านการศึกษาและนวัตกรรมในระยะยาว ขณะที่ประเทศอื่นๆ กำลังเปิดรับและช่วงชิงโอกาสนี้อย่างเต็มที่

หุ่นยนต์จีนบุกตลาดโลก หลังนโยบายรัฐดันบริษัท AI แห่งอนาคต ผุดกว่า 4,500 แห่งในประเทศ เปิดศึกบุกยึดฐานเทคโนโลยีระดับโลก

(24 เม.ย. 68) จีนกำลังกลายเป็นมหาอำนาจด้านหุ่นยนต์ AI อย่างรวดเร็ว โดยมีบริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์มากกว่า 4,500 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 15% ของจำนวนบริษัท AI ทั่วโลก การเติบโตนี้ได้รับการสนับสนุนจากนโยบาย 'AI Plus' ของรัฐบาลจีนที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

ในปี 2023 อุตสาหกรรม AI ของจีนมีมูลค่ารวมกว่า 578 พันล้านหยวน (ประมาณ 81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยบริษัทจีนได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ AI หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่หุ่นยนต์รูปแบบมนุษย์ที่สามารถทำงานในโรงงาน ไปจนถึงหุ่นยนต์บริการในภาคการแพทย์และการขนส่ง ตัวอย่างเช่น บริษัท UBTECH Robotics ได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ในสายการผลิตรถยนต์ และกำลังเตรียมการผลิตในระดับอุตสาหกรรม

การขยายตัวของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ AI ในจีนยังได้รับแรงหนุนจากการลงทุนของรัฐบาลและภาคเอกชน โดยเฉพาะในเมืองเซินเจิ้น ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ของประเทศ นอกจากนี้ บริษัทจีนยังได้แสดงศักยภาพในงาน CES 2025 ที่ลาสเวกัส โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ AI ที่ล้ำสมัย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานทั่วโลก

ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐและเอกชน จีนกำลังกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ AI และมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทสำคัญในตลาดโลกในอนาคตอันใกล้

ไทย–จีน ความสัมพันธ์บนเส้นทางไมตรี กับตำนานใช้ลูกผูกใจของ ‘สังข์ พัธโนทัย’

(24 เม.ย. 68) ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกทั้งใบกำลังอยู่ในห้วงแห่งการสั่นสะเทือน ประเทศมหาอำนาจล้วนแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจนระหว่างโลกเสรีและกลุ่มคอมมิวนิสต์ เวลานั้นประเทศไทยภายใต้การนำของจอมพลปพิบูลสงครามได้เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะทำสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยในเวลานั้นมีความสัมพันธ์กับจีนที่เบาบางมากเนื่องจากไม่ลงรอยกัน

จนกระทั่งในที่สุดวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ญี่ปุ่นลงนามยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ถือเป็นการสิ้นสุดของสงครามโลกอย่างเป็นทางการ สำหรับประเทศไทย แม้จะเคยประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) แต่ภายหลังได้ประกาศว่าการประกาศสงครามนั้นเป็นโมฆะ เนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญและไม่ใช่เจตจำนงของประชาชนชาวไทย

ก่อนหน้านั้น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 ขณะมีพระชนมพรรษาเพียง 9 พรรษา โดยประทับอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน

พระองค์เสด็จนิวัติพระนครครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ก่อนจะเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ ดังนั้นการตัดสินใจเข้าร่วมสงครามในปี 2485 ภายใต้การนำของจอมพลป.ถึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 8 นั่นเอง

รัชกาลที่ 8 นั้นเสด็จนิวัติอีกครั้งเป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 การเสด็จกลับครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการกลับมาขององค์พระประมุขผู้ทรงบรรลุนิติภาวะ หากแต่ยังเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการฟื้นฟูศักดิ์ศรีของชาติไทยในสายตาประชาคมโลก หลังการยุติสงครามและการถูกครอบงำโดยญี่ปุ่น

แม้จะยังทรงพระเยาว์ แต่รัชกาลที่ 8 ทรงสามารถเอาชนะใจประชาชนได้อย่างรวดเร็ว พระราชกรณียกิจที่เป็นที่กล่าวถึงมากคือ การเสด็จเยือนย่านสำเพ็งเพื่อสมานรอยร้าวระหว่างชาวไทยกับชาวจีนหลังสงคราม นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงรับเสด็จ ลอร์ด หลุยส์ เมานต์แบตเทน ผู้บัญชาการทหารฝ่ายสัมพันธมิตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการตรวจพลสวนสนามที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2489 โดยทรงฉลองพระองค์จอมทัพไทยอย่างสง่างาม เป็นการแสดงออกว่าประเทศไทยไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นหรืออยู่ในสถานะพ่ายแพ้สงคราม

เหตุการณ์นี้ได้เปลี่ยนทัศนคติของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสงครามและต่อสถานะของชาติอย่างมาก นับเป็นช่วงเวลาที่รัชกาลที่ 8 ทรงมีบทบาทในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองและการทูตระหว่างประเทศอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงสงคราม ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ในข้อหาเป็นอาชญากรสงคราม เนื่องจากบทบาทของเขาในการนำประเทศไทยเข้าสู่สงครามเคียงข้างญี่ปุ่น เขาถูกควบคุมตัว ณ เรือนจำศาลาแดง ร่วมกับผู้ใกล้ชิดทางการเมืองคนสำคัญ — สังข์ พัธโนทัย ที่ปรึกษาและนักโฆษณาชวนเชื่อผู้ทรงอิทธิพล

ทั้งสองอยู่ในห้องขังด้วยกันราว 6 เดือน ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งปล่อยตัวในช่วงต้นปี พ.ศ. 2489 โดยเห็นว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอ และคำประกาศสงครามของไทยในยุคสงครามนั้นเป็นโมฆะตามรัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ตามมาหลังสงคราม และการเสด็จกลับของรัชกาลที่ 8 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บรรยากาศของความขัดแย้งในประเทศผ่อนคลายลง

หลังจากนั้น สังข์ พัธโนทัย กลับมาทำงานด้านสื่อและกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมสัมพันธ์กับจีน เขาไม่ได้มีตำแหน่งทางการทูต แต่กลายเป็นผู้นำเสนอแนวทาง "การทูตสองหน้า" เพื่อเปิดประตูไปยังจีนโดยไม่ขัดกับท่าทีที่ไทยใกล้ชิดกับสหรัฐ

ในปี พ.ศ. 2499 (ค.ศ. 1956) สังข์ทำสิ่งที่โลกในเวลานั้นแทบไม่เข้าใจ — เขาส่ง ลูกชายและลูกสาว ไปอยู่ภายใต้การอุปการะของ โจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของ “มิตรภาพที่ฝากทั้งชีวิตไว้ได้”

สิรินทร์ พัธโนทัย วัย 8 ขวบในขณะนั้น เป็นหนึ่งในเด็กสองคนนั้น เธอเติบโตอยู่ในประเทศจีน 14 ปี และได้รับความรักเฉกเช่นสมาชิกในครอบครัวของโจว เธอให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า “ได้รับความรักและความเมตตาอย่างแท้จริงจากโจวเอินไหล” ปัจจุบันเธอยังพูดภาษาจีนได้คล่อง และถ่ายทอดภาษานั้นไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน

สายสัมพันธ์นี้เป็นมากกว่าการทูต — มันคือความไว้วางใจที่ลงลึกในระดับครอบครัว

ในเวลาเดียวกัน สังข์พยายามอย่างเงียบ ๆ ที่จะฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างอดีตคณะราษฎรสองสาย — จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ ปรีดี พนมยงค์ ให้กลับมาจับมือกันอีกครั้ง โดยหวังว่าความร่วมมือของทั้งสองอาจเปลี่ยนอนาคตของประเทศได้

ทั้งสองเริ่มติดต่อกันผ่านรหัสลับ พูดถึงการกลับมาดื่มไวน์ด้วยกันที่กรุงเทพฯ เหมือนเมื่อครั้งยังเรียนอยู่ที่ปารีส

แต่...วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964) จอมพล ป. เสียชีวิตกะทันหันด้วยโรคหัวใจ สะพานที่สังข์ปูไว้จึงจบลงก่อนที่ใครจะทันข้าม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) ความพยายามเหล่านั้นได้ออกดอกผล เมื่อ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทย ลงนามสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนอย่างเป็นทางการ และจีน...คือฝ่ายที่จำได้ดีว่า คนไทยคนแรกที่กล้าไว้ใจเขาคือใคร

สังข์ พัธโนทัย ไม่ได้มีชื่ออยู่ในรายนามเอกอัครราชทูต หรือรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่ชื่อของเขา คือไม้แผ่นแรกของสะพานที่ทุกคนเดินตามในภายหลัง

จีนปฏิเสธการเชื่อมโยงกับความขัดแย้ง ‘คลองปานามา’ พร้อมย้ำความสัมพันธ์อันดีกับลาตินอเมริกา บนหลักการเคารพซึ่งกันและกัน

กระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์ตอบโต้สหรัฐฯ กรณีเชื่อมโยงจีนกับข้อขัดแย้งเกี่ยวกับคลองปานามา โดยระบุว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่สามารถบดบังเป้าหมายที่แท้จริงของสหรัฐฯ ในการขยายอิทธิพลในภูมิภาคลาตินอเมริกาได้

แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังสื่อปานามาวิพากษ์บทบาทของสหรัฐฯ ในอเมริกากลาง โดยเฉพาะแผนการตั้งฐานทัพถาวรและข้อกล่าวหาเรื่องการใช้ 'ภัยคุกคามจากจีน' เพื่อสนับสนุนนโยบายความมั่นคงของตน

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนย้ำว่า การบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับจีนและคลองปานามาไม่สามารถปกปิดความต้องการของสหรัฐฯ ในการแทรกแซงภูมิภาคนี้ได้ พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยุติการขัดขวางความร่วมมือระหว่างจีนและประเทศในลาตินอเมริกา โดยจีนยึดมั่นในหลักความเสมอภาค ผลประโยชน์ร่วม และไม่แทรกแซงกิจการภายใน

ประธานาธิบดีปานามาได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการแทรกแซงจากจีน โดยยืนยันว่าไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่บ่งชี้ถึงการกระทำดังกล่าว ขณะที่จีนสรุปว่า ความร่วมมือในภูมิภาคควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการส่งเสริมเสถียรภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านความเข้าใจซึ่งกันและกัน

‘สี จิ้นผิง’ ย้ำจีนเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกทุกชนิด ภายในปี 2578 แม้เศรษฐกิจชะลอตัว-ไร้สหรัฐฯ ร่วมหารือในเวทีเจรจาสภาพภูมิอากาศ

(24 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนให้คำมั่นต่อผู้นำโลกว่า จีนจะเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทศวรรษหน้า โดยจะประกาศเป้าหมายใหม่ภายในปี 2578 ที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจและทุกชนิดของก๊าซเรือนกระจก โดยแผนดังกล่าวเปิดเผยในการประชุมออนไลน์ของผู้นำโลก ซึ่งจัดโดยองค์การสหประชาชาติร่วมกับบราซิล เมื่อวันที่ 23 เมษายน โดยไม่มีสหรัฐอเมริกาเข้าร่วม

รายงานจากสื่อทางการจีน (CCTV) ระบุว่า จีนมีแผนจัดทำแผนลดการปล่อยก๊าซแห่งชาติฉบับใหม่เพื่อเสนอในการประชุม COP30 เดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะรวมถึงการควบคุมก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่น ๆ เช่น มีเทนและไนตรัสออกไซด์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 17% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ

แม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวและได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ แต่การที่ประธานาธิบดีสีออกมายืนยันแผนลดก๊าซในการประชุมระดับโลกครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณว่าจีนยังคงยึดมั่นในพันธสัญญาด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ข้อตกลงปารีส แม้ขาดการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ที่ถอนตัวออกจากเวทีดังกล่าว

ทั้งนี้ จีนยังคงเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก โดยในปี 2566 การปล่อยก๊าซของจีนคิดเป็นสัดส่วนถึงราว 30% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดทั่วโลก ทำให้ความเคลื่อนไหวล่าสุดของจีนเป็นที่จับตามองจากประชาคมโลกในการขับเคลื่อนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ความสัมพันธ์สามชั่วคน!! ‘โจ ฮอร์น พัธโนทัย’ ทายาท ‘สิรินทร์ พัธโนทัย’ นักธุรกิจหนุ่มผู้ผ่านวัฒนธรรมจาก 2 ทวีป 2 ฝั่งของโลก

จากตำนานเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-จีน ของตระกูล ‘พัธโนทัย’ ที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งแรกเริ่มสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ‘สังข์ พัธโนทัย’ ได้ส่งลูกชาย ‘วรรณไว พัธโนทัย’ วัย 12 ปี และ ลูกสาว ‘สิรินทร์ พัธโนทัย’ ในวัย 12 ปี ไปอยู่ภายใต้การดูแลของท่านโจว เอินไหล อดีตนายกรัฐมนตรีของจีน ในฐานะ 'บุตรบุญธรรม' พร้อมกับปฏิบัติหน้าที่เป็น 'ทูตพิเศษ' ระหว่างจีนกับไทยไปในตัว

ก่อนที่ในอีก 10 ปีต่อมา คือปี 1975 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้นได้ลงนามสร้างสัมพันธ์ทางการทูตกับโจวเอินไหล นับเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนอย่างเป็นทางการ

จากความสัมพันธ์ของคนรุ่นก่อนส่งต่อและสืบทอดให้กับทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลพัธโนทัย นั่นก็คือ ‘โจ ฮอร์น พัธโนทัย’ บุตรชายของสิรินทร์ นักธุรกิจหนุ่มมากความสามารถ ผู้ผ่านหลากหลายวัฒนธรรมจาก 2 ทวีปทั้งเอเชียและยุโรป โดยเกิดในลอนดอน กลับมาเติบโตในไทย ก่อนจะไปเรียนต่อที่ประเทศจีนตอนอายุ 10 ขวบ และเรียนต่อในโรงเรียนฝรั่งเศสจนจบระดับมัธยมศึกษา จากนั้นไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและโทจากออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์

ปัจจุบัน โจ ฮอร์น คือหนึ่งในนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในบทบาท กรรมการอำนวยการ บริษัท Strategy613 จำกัด ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาให้กับองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ และหน่วยงานของรัฐ ในการลงทุนทำธุรกิจระหว่างไทยกับจีน

นอกจากการเป็นนักธุรกิจระหว่างประเทศแล้ว โจ ฮอร์น ยังปฏิบัติภารกิจพิเศษที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นหน้าที่ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด นั่นก็คือ การเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างไทยและจีน สืบทอดต่อจาก คุณตาสังข์ และคุณแม่สิรินทร์ ให้ยั่งยืนต่อไปตราบนานเท่านาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top