Monday, 19 May 2025
จีน

จีนเปิดตัว ‘CIPS 2.0’ ระบบชำระเงินข้ามพรมแดนด้วยหยวนดิจิทัล ‘เร็วกว่า-ถูกกว่า’ ระบบ SWIFT ของสหรัฐฯ เริ่มเปิดใช้งานแล้ว 16 ประเทศ

(29 เม.ย. 68) จีนเดินหน้าเปิดตัว “CIPS 2.0” ระบบชำระเงินระหว่างธนาคารข้ามพรมแดนที่ขับเคลื่อนด้วยเงินหยวนดิจิทัล ซึ่งเริ่มใช้งานจริงแล้วใน 16 ประเทศทั่วเอเชียและตะวันออกกลาง โดยมีเป้าหมายลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ และท้าทายสถานะของระบบ SWIFT (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) ของสหรัฐฯ ด้วยความเร็วที่เหนือกว่า ค่าธรรมเนียมเกือบเป็นศูนย์ และการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย

ธุรกรรมแรกของ CIPS 2.0 คือการโอนเงิน 120 ล้านหยวนจากเซินเจิ้นไปยังกัวลาลัมเปอร์ ใช้เวลาเพียง 7.2 วินาทีในการประมวลผล ซึ่งเร็วกว่าระบบ SWIFT เดิมที่อาจใช้เวลาถึง 3 วัน ระบบใหม่นี้ยังสามารถรองรับการทำธุรกรรมแบบออฟไลน์ และใช้สมาร์ตคอนแทรกเพื่อตัดจ่ายอัตโนมัติเมื่อเงื่อนไขสำเร็จ

จุดเด่นอีกประการของ CIPS 2.0 คือค่าธรรมเนียมต่ำ เช่น การโอนเงิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐจะมีค่าธรรมเนียมเพียง 0.12 ดอลลาร์ เทียบกับกว่า 4,900 ดอลลาร์ในระบบ SWIFT ดั้งเดิม นอกจากนี้ ระบบยังใช้ AI ตรวจจับธุรกรรมผิดปกติได้รวดเร็ว เช่น กรณีใน UAE ที่สามารถระบุบัญชีต้องสงสัย 16 บัญชีภายใน 0.3 วินาที

อาเซียนเตรียมแผนใช้หยวนดิจิทัลใน 90% ของการค้าภายในกลุ่มภายในปี 2568 ขณะที่อินโดนีเซียและซาอุดีอาระเบียเริ่มนำไปใช้ในระบบเงินสำรองและสัญญาพลังงาน ด้านโลกตะวันตก โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร แม้จะเร่งพัฒนา “ปอนด์ดิจิทัล” แต่ยังตามหลังจีนเกือบ 2 ปี

ด้าน นักวิเคราะห์มองว่า CIPS 2.0 ไม่ใช่แค่ความท้าทายทางการเงิน แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจโลก ที่อาจเปลี่ยนจากการผูกขาดของเงินดอลลาร์ สู่ยุคใหม่ที่การชำระเงินเป็นแบบไร้พรมแดน โปร่งใส และรวดเร็วในระดับประชาชนทั่วไป

ญี่ปุ่นเตือนแรง มาตรการภาษี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ กำลังเขย่าพันธมิตร ชี้อาจเป็นบูมเมอแรงทำเอเชียตีตัวออกห่างสหรัฐฯ ซบอกจีนแทน

(29 เม.ย. 68) อิตสึโนริ โอโนเดระ (Onodera Itsunori) หัวหน้าฝ่ายนโยบายของพรรครัฐบาลญี่ปุ่น (LDP) แสดงความกังวลว่า มาตรการภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจทำให้หลายประเทศในเอเชียที่เคยมีท่าทีใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น หันไปสร้างสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นกับจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในภูมิภาค

คำเตือนดังกล่าวมีขึ้นระหว่างที่โอโนเดระร่วมงานที่สถาบันฮัดสัน กรุงวอชิงตัน โดยเขาระบุว่าหลายประเทศในเอเชียเริ่มไม่สบายใจกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะมาตรการภาษีของทรัมป์ที่อาจสร้างแรงจูงใจให้พันธมิตรเดิมเปลี่ยนทิศทางทางยุทธศาสตร์

โอโนเดระยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเสริมความร่วมมือด้านกลาโหมกับสหรัฐฯ ท่ามกลางภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากจีน โดยเฉพาะการขยายอิทธิพลในช่องแคบไต้หวัน การซ้อมรบเชิงรุก และการกดดันด้านจิตวิทยาในประเด็นดินแดนพิพาท

ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นเตรียมเปิดเจรจาการค้ารอบใหม่กับสหรัฐฯ โดยมีรายงานว่าทรัมป์พยายามผลักภาระค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันให้ญี่ปุ่นมากขึ้น โอโนเดระเสนอให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณาความร่วมมือในการผลิตและส่งออกอาวุธ เช่น กระสุน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายใหม่ของญี่ปุ่นที่เปิดทางสู่การส่งออกยุทโธปกรณ์มากขึ้นในอนาคต

‘หวังอี้’ พบ รมว.ต่างประเทศไทย ย้ำสัมพันธ์จีน-ไทยแน่นแฟ้น พร้อมหนุนเข้าร่วม BRICS ดันโครงการรถไฟ-วิจัย-ต้านอาชญากรรม

(30 เม.ย. 68) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน แสดงจุดยืนระหว่างพบปะกับนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ว่าจีนให้ความสำคัญระดับสูงกับความสัมพันธ์จีน-ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน และพร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ เพื่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

นอกจากนี้ จีนยังสนับสนุนไทยเข้าร่วมกลุ่มประเทศ BRICS โดยหวังอี้ระบุว่า จีนยินดีต้อนรับบทบาทของไทยในฐานะประเทศหุ้นส่วน และสนับสนุนการมีส่วนร่วมในความร่วมมือที่หลากหลาย

ด้าน รมว.มาริษของไทยเห็นว่า การพัฒนาของจีนคือโอกาสสำคัญของไทย และแสดงความตั้งใจเข้าร่วมกลุ่ม BRICS อย่างเต็มที่ เพื่อเสริมความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนา และปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศโลกใต้ พร้อมทั้งเห็นพ้องร่วมกับจีนในการผลักดันความร่วมมือ เช่น รถไฟจีน-ไทย การวิจัยแพนด้า การต่อต้านอาชญากรรมข้ามพรมแดน และการพัฒนา FTA จีน-อาเซียน รุ่น 3.0

หวังอี้ยังกล่าวถึงบทบาทของสหรัฐว่า เน้นผลประโยชน์ตนเองมากเกินไป ใช้ภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือกดดันประเทศอื่น พร้อมเตือนว่าการประนีประนอมกับพฤติกรรมล้ำเส้นจะยิ่งเปิดทางให้ 'คนพาล' กลั่นแกล้งมากขึ้น จึงเรียกร้องให้กลุ่ม BRICS ร่วมต้านการกีดกันทางการค้า และสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึด WTO เป็นศูนย์กลางอย่างเข้มแข็ง

ส่องโซเชียลจีน หาคำตอบว่าทำไมถึงไม่มาเที่ยวไทย ชี้ ส่วนใหญ่หวั่นความปลอดภัย - ที่พักแพง - ไร้แหล่งท่องเที่ยวใหม่

เพจเฟซบุ๊ก ‘เขียนไว้ให้เธอ’ ของ ‘ธนา เธียรอัจฉริยะ’ ประธานกรรมการ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และอดีตผู้บริหาร ดีแทค ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีนักท่องเที่ยวจีนที่มาเดินทางมาเที่ยวไทยลดลงอย่างต่อเนื่องว่า ...

ไปส่องโซเชียลจีนว่าทำไมถึงไม่มาไทย

ผมมีร้านชาบูที่หุ้นกับน้อง ๆ อยู่แถวราชประสงค์ ตั้งแต่วาเลนไทน์มา นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นเกือบครึ่งของลูกค้าร้านโดยปกตินั้น หายไปอย่างน่าใจหาย สวนทางกับตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่ไปญี่ปุ่นมากขึ้นมาก เหมือนกับว่าเขาเลิกเห่อไทยไปแล้ว สงกรานต์ก็ยังไม่กลับมา แน่นอนว่าหลายคนก็บอกว่าเราไม่ง้อก็ได้ ไม่อยากมาก็ไม่ต้องมา แต่ร้านผมเดือดร้อน ก็เลยสงสัยว่าทำไมเขาไม่มาไทย  

ผมเลยวานน้องเฟิร์น น้องสาวคนเก่งที่ทำธุรกิจที่จีน ช่วยธุรกิจไทยไปจีน และวางแผนเรื่องการตลาดนักท่องเที่ยวจีนไปส่องดูตามโซเชียลหน่อยว่าที่จีนเขาพูดถึงการมาเที่ยวไทยว่าอย่างไรบ้าง ถ้าดูแล้วหมดหวังก็จะได้ทำใจ หาทางแก้ปัญหาร้านในทางอื่นไป

เฟิร์นก็ใจดี ช่วยให้ลูกทีมจีนไปส่องแบบคร่าว ๆ อาจจะพอได้ feeling บ้าง แต่หน่วยงานที่สนใจอาจจะต้องทำการบ้านหนักกว่านี้ถ้าจะได้ข้อมูลเชิงลึก เท่าที่เขาสรุปมาให้หลัก ๆ ที่นักท่องเที่ยวจีนน้อยลงก็มีอยู่หลายประเด็น  หลายเรื่องก็เป็นเรื่องจริง หลายเรื่องก็เข้าใจผิด  

ต้องเริ่มก่อนว่า เราคุยกันถึงนักท่องเที่ยวจีนทั่วไปที่มีกำลังซื้อ มาราชประสงค์ มากินชาบูนะครับ  จีนใหญ่มาก เราไม่พูดถึงทัวร์ศูนย์เหรียญหรือจีนเทา ซึ่งก็คงไม่ได้มาเมนต์อะไรแบบนี้  ..
…….
ประเด็นแรกที่เขาไม่อยากมาคือความไม่ปลอดภัย มีข่าวลือเรื่องการถูกลักพาตัว ขโมยอวัยวะ และมีข่าวฆาตกรรม มีคนจีนที่ไม่ดี (สีเทา) อยู่จีนไม่ได้เลยเลือกมาตั้งรกรากที่ไทยจำนวนมาก มีปัญหาอะไรขึ้นมา ตำรวจไทยแทบจะช่วยอะไรไม่ได้ ระบบ city security ล้าหลัง กล้อง CCTV น้อยมากซึ่งทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย (เมืองจีน cctv เต็มเมือง เขาชินกับความอุ่นใจแบบนั้น) 

ประการที่สอง เมืองไทยมีภาพว่าถ้ามาอยู่ยาว ๆ มาอาศัยเลยนั้น 'ถูก' แต่ถ้ามาเที่ยวคือ 'แพง' บ้านถูกที่ไทยแต่โรงแรมแพง อาหารในห้างไทยเทียบกับอาหารในห้างญี่ปุ่นราคาเท่ากัน ญี่ปุ่นเลยน่าไปกว่า

ประการที่สาม ไทยไม่ได้มีอะไรใหม่ ไม่มีอะไรพัฒนามา 10 ปีแล้ว 10 ปีก่อนเป็นแบบไหนก็ยังเป็นแบบเดิม ที่เที่ยวเดิม ๆ ไม่ดึงดูด การเดินทางถ้าอยู่นอกเส้นรถไฟฟ้าไปมาลำบากมาก

ประการที่สี่ คือตัวอย่างข่าวร้าย ๆ ที่ไทย ไม่มีข่าวดีเลย ทำให้มีภาพว่าระบบจัดการไทยไม่ดี ไม่ปลอดภัย ผมยกข่าวที่เขาไปเจอมาดื้อ ๆ เลยละกัน  

1.รถบรรทุกชนรถที่จอดอยู่ในเลนส์ฉุกเฉินบนทางด่วน
Link 泰国高速路应急车道换尿布引发惨剧:10 人乘车 8 人遇难
2. ถนนในประเทศไทยเกิดหลุมยุบลึก 3 เมตรกะทันหัน คู่รักที่กำลังเดินเล่นพลัดตกลงไปโดยไม่ทันตั้งตัว ซึ่งถนนเส้นนี้เพิ่งได้รับการปรับปรุงใหม่เมื่อเดือนก่อนเท่านั้น
Link 泰国街道突现3米天坑,情侣散步意外坠落,道路一个月前才翻新
3. นักท่องเที่ยวจีนถูกต้นไม้ทับขณะกำลังจะเดินไปเล่นเครื่องเล่น
Link 泰国特色旅游项目突发意外致中国游客一死一伤!警惕,该项目已多次发生事故
4. นักท่องเที่ยวจีนก่อเหตุ kill สาวประเภทสองในประเทศไทย
Link 中国游客泰国杀害变性人,残忍分尸啖脏
5. โรงงานสารเคมีระเบิดใกล้กับอาคารผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิ
Link 泰国一化工厂发生爆炸,已致20多人受伤,附近机场候机楼震感明显
6. เด็กอายุ 14 ยิงกราดที่พารากอน หนึ่งในผู้เสียชีวิตมีคนจีน 1 คน
Link 曼谷购物中心枪击案造成中国公民1死1伤 泰总理发文哀悼,国际,国际社会,好看视频
7. คนชาวจีนถูกตำรวจไทยและอดีตตำรวจ ร่วมกันก่อเหตุลักพาตัวและเรียกค่าไถ่
Link 泰国警方:5名在泰中国公民遭绑架勒索,多名泰国警察涉案
8. นั่งท่องเที่ยวชาวจีนพลัดตกจากชั้น 4 ของโรงแรมดังที่พัทยา
Link 芭提雅某酒店内一中国女游客意外坠楼 - 泰国头条新闻
9.ตึกถล่มที่ประเทศไทยหลังจากเกิดแผ่นดินไหว เหตุเกิดจากโครงสร้างบางส่วนไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
Link 泰工业部:国家审计署大楼坍塌 部分钢材样品不达标 | 联合早报
10. หญิงชาวจีนถูกลักพาตัวในประเทศไทย 
Link 女子遭绑架遇车祸跳车自救,与嫌犯认识约10天,最新消息→

ประการที่ห้าที่ช่วงสงกรานต์คนจีนน้อยลงก็เพราะมณฑลทางตอนใต้ของจีนจัดเทศกาลสาดน้ำกันเอง เป็นเทศกาลประจำปี ปลอดภัยกว่าและไม่ต้องบินออกนอกประเทศด้วย   แต่มีกลุ่มหนึ่งที่อยากมาเมืองไทยเพิ่มขึ้นก็คือ LGBTQ (ซึ่งน่าจะต้องชม S2O ของวู้ดดี้ที่เป็น destination ใหม่ของไทยในปีที่ผ่านมา)  

ประเทศแต่ละประเทศก็มียุครุ่งเรือง มียุคตกต่ำ เหมือนห้างสรรพสินค้า สวนสนุก หรือแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เหมือนแต่ก่อน CBD ไทยก็คือวังบูรพา แล้วค่อยๆย้ายมาเป็นปทุมวัน ในแต่ละปีก็จะมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ มีสถานที่ที่ดึงดูดใจมากขึ้น ใครปรับปรุงให้ทันยุคทันสมัยก็จะพออยู่รอดได้ แต่ถ้าปรับไม่ทันก็จะเจอสภาพเหมือนไทยเจออยู่ตอนนี้   

และในความย้อนแย้งก็คือ เมืองจีนตอนนี้น่าเที่ยวมาก ราคาถูก โรงแรมดี สถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม ทันสมัย ไฮเทค เริ่มมี tax refund มีหลากหลายที่ให้สำรวจ ค้นหา วีซ่าก็ฟรี  คนไทยก็ทะลักไปจีนกันอยู่ตอนนี้ น้องที่ทำทัวร์เพิ่งเล่าให้ฟัง…

ความเห็นต่างๆพวกนี้ไปค้นไม่ยากเลยด้วยโซเชียล แต่ค้นมาแล้ว เข้าใจแล้วว่าเขาเข้าใจผิดอะไร หรือเราต้องปรับปรุงอะไร เราจะทำอะไรต่อดีนั้นน่าตั้งคำถามมากกว่า หรือช่างจีนเขา เราไปหาคนรวยประเทศอื่นก็ได้ ถึงกระนั้นก็ต้องมีกลยุทธ์ใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่ปล่อยตามยถากรรมแบบเดิมอยู่ดีเพราะคู่แข่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาเยอะมาก  

ญี่ปุ่นทั้งสวยและถูกเพราะค่าเงิน จีนก็พัฒนาไปไกล ไปง่ายสวยถูก ใกล้ ๆ เวียดนาม กัมพูชาก็ปรับตัวมาเยอะ สิงคโปร์ก็ทำ man made destination จนติดตลาด .. เมืองไทยจะสร้างอะไรใหม่ จะมีอะไรต่อ ก็ต้องไปลุ้นกัน

ส่วนผมตัวเล็กๆที่เป็นเจ้าของร้านชาบูที่พึ่งนักท่องเที่ยวจีนเกือบ 50% ก็ต้องคิดใหม่ทำใหม่  เหมือนแม่น้ำที่เปลี่ยนทิศไปแล้ว ไม่ใช่แม่น้ำที่เคยขึ้นและลง พอลงอดทนสักพักเดี๋ยวก็ขึ้น แต่พอเปลี่ยนทิศไป  

ถ้ายืนอยู่กับที่ก็คงไม่มีปลาเหมือนเดิม ถ้าไม่ย้ายตามแม่น้ำใหม่ ก็คงต้องเปลี่ยนวิธีทำมาหากินกันต่อไปนั่นเอง…

ผลสำรวจชี้ ‘ชาวญี่ปุ่น’ เชื่อสงครามในเอเชียมีแนวโน้มเกิดขึ้นจริง ท่ามกลางความไม่มั่นใจต่อจีนและพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ

(2 พ.ค. 68) ผลสำรวจล่าสุดของ Asahi Shimbun เผยว่าชาวญี่ปุ่นกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับโอกาสที่ประเทศจะเข้าไปพัวพันกับสงครามครั้งใหญ่ในเอเชีย โดยร้อยละ 62 ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้ง เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50 ในการสำรวจเมื่อ 10 ปีก่อน

ประชาชนราวร้อยละ 12 เชื่อว่าสงคราม “มีความเป็นไปได้สูงมาก” ขณะที่ร้อยละ 50 ระบุว่า “มีแนวโน้ม” ที่จะเกิดขึ้น ในทางตรงข้าม มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มองว่า “ไม่มีโอกาส” ที่จะเกิดความขัดแย้งดังกล่าว ซึ่งสะท้อนถึงความวิตกที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากชี้ว่า ความตึงเครียดด้านความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะกับจีน มีส่วนสำคัญต่อความรู้สึกนี้ โดยในกลุ่มที่มองว่าจีนเป็นภัยคุกคาม (ประมาณสามในสี่ของผู้ตอบทั้งหมด) มีถึงร้อยละ 22 ที่เชื่อว่าญี่ปุ่นอาจทำสงครามกับจีน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมเกือบสองเท่า

ขณะเดียวกัน ความไม่มั่นใจต่อพันธมิตรกับสหรัฐฯ ยิ่งซ้ำเติมความกังวล โดยมีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่เชื่อว่าสหรัฐฯ จะ “ปกป้อง” ญี่ปุ่นอย่างแน่นอน หากเกิดวิกฤต ในกลุ่มที่ไม่มั่นใจในพันธมิตรนี้ มีถึงร้อยละ 67 ที่เชื่อว่าญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะทำสงคราม

นอกจากนี้ สงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อเข้าสู่ปีที่ 4 ยังส่งอิทธิพลต่อมุมมองของสาธารณชนญี่ปุ่น โดยผู้ที่ติดตามความขัดแย้งระดับโลกอย่างใกล้ชิด (ประมาณหนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่าง) ถึงร้อยละ 72 เชื่อว่าสงครามครั้งใหญ่ในเอเชียอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้

รศ.ดร.อักษรศรี แนะ!! จีนเปิดตลาดให้กว้างขึ้น เป็นเพื่อนบ้านที่พึ่งพาได้ ของอาเซียน

(3 พ.ค. 68)  รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn เกี่ยวกับ ‘จีน’ โดยมีใจความว่า ...

‘จีน’ เป็นทั้งความกังวลและความหวังของอาเซียน … ทำอย่างไรจีนจะเป็น #เพื่อนบ้านที่พึ่งพาได้ ของอาเซียน #China 🇨🇳 #ASEAN 

ถ้าจะแค่พูดว่า จีน-อาเซียนมี FTA กันแล้ว เช่น RCEP และ ACFTA แต่ยังทำเหมือนเดิมหรือทำแบบเดิม มันจะไม่เห็น #ผลประโยชน์เป็นรูปธรรมที่ฝ่ายอาเซียนจะได้รับ .. ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์กีดกันการค้าในยุคทรัมป์ป่วนโลก หากจีนต้องการสร้าง Trust - Building Diplomacy กับอาเซียน จีนก็ควรจะต้องเป็นผู้ให้มากกว่า  #จีนควรเปิดตลาดกว้างขึ้นและง่ายขึ้น เพื่อผ่อนคลายมาตรการการค้าให้กับสินค้าจากอาเซียน

นอกจากนี้ จีน - อาเซียนต่างก็ยึดมั่นในระบบ Multilateralism และกลไกระงับข้อพิพาทการค้าภายใต้ WTO ก็อาจจะยื่น joint trade dispute ร่วมกัน เพื่อฟ้องร้องพฤติกรรมกีดกันการค้าตามอำเภอใจ Unilateralism ของสหรัฐในยุคทรัมป์ 

หมายเหตุ : รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ตอบคำถามนี้ในระหว่างประชุมหารือกับผู้บริหารและนักวิจัยของมหาวิทยาลัย China Foreign Affairs University #CFAU ซึ่งเป็นสถาบันฯชั้นนำของจีนในการผลิตนักการทูตจีน และผู้เชี่ยวชาญความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

‘จีน’ ปล่อยหมัดเด็ด!! ‘ซื้อปุ๊บ คืนปั๊บ’ นักท่องเที่ยวเพิ่ม 40% ยอดซื้อทะลุ!! 7 พันล้านหยวน ตามมาตรการคืนภาษีใหม่ 

(4 พ.ค. 68) นักท่องเที่ยวต่างชาติแห่ชอปปิงในจีนช่วงวันหยุด แพลตฟอร์มเผยยอดจองพุ่ง 173% เหตุ มาตรการคืนภาษีแบบ “ซื้อปุ๊บ คืนภาษีปั๊บ” สะดวก-คุ้มกว่าเดิม คืนสูงสุดถึง 11% ช่วยกระตุ้นยอดขายในเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้โต 85% นักชอปสายแฟ-เทคโนฯ แห่เพียบ คนไทยเที่ยวจีนก็ได้สิทธิ์นี้เหมือนกัน รู้ไว้ก่อนแพลนทริป

ช่วงวันหยุดยาววันแรงงานนี้ แพลตฟอร์มท่องเที่ยวหลายแห่งเผยว่า ยอดจองทัวร์เข้าจีนเพิ่มขึ้นถึง 173% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยถือกระเป๋าเดินทางใบใหญ่เข้ามา "ชอปกระหน่ำ" ในจีน หนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้พวกเขายอมเดินทางไกลคือ “ความสะดวกในการชอป” ที่พัฒนาขึ้นมาก

 มาตรการคืนภาษีใหม่ เพิ่มแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ

เมื่อไม่นานนี้ รัฐบาลจีนออกมาตรการชุดใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติในการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะการขยายบริการ “ซื้อปุ๊บ คืนปั๊บ” ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถขอคืนภาษีได้ทันที ณ จุดขาย โดยหลักๆ มี 8 มาตรการใน 3 ด้าน เช่น
ลดเพดานยอดซื้อขั้นต่ำเพื่อขอคืนภาษีจาก 500 หยวน (ราว 2,300 บาท) เหลือ 200 หยวน (ราว 920 บาท)
เพิ่มวงเงินคืนภาษีเงินสดจาก 10,000 หยวน (ราว 46,000 บาท) เป็น 20,000 หยวน (ราว 92,000 บาท)
เพิ่มจำนวนร้านค้าที่สามารถขอคืนภาษี และขยายบริการ “ซื้อปุ๊บ คืนปั๊บ” ทั่วประเทศ

อัตราคืนภาษีอยู่ที่ 11% ของราคาสินค้าที่รวมภาษี เช่น หากซื้อสินค้าราคา 10,000 หยวน (ราว 46,000 บาท) จะได้รับเงินคืนประมาณ 900 หยวน (ราว 4,140 บาท) หลังหักค่าธรรมเนียม

ผลตอบรับจากนักท่องเที่ยวดีเกินคาด

ข้อมูลจาก 10 เมืองนำร่อง รวมถึงเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง พบว่ายอดคืนภาษีจากระบบ “ซื้อปุ๊บ คืนปั๊บ” เติบโตมากถึง 22 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตัวเลขนี้สูงกว่าการเติบโตของการคืนภาษีทั่วไปถึง 18 เท่า

นักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ เยอรมนี สเปน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ระบบนี้ทำให้พวกเขารู้สึก “คุ้มค่า” และเต็มใจจะใช้จ่ายในจีนมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภทแฟชั่น รองเท้า เครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์ดูแลผิว

ในเซี่ยงไฮ้เพียงเมืองเดียว ตอนนี้มีร้านค้าที่รองรับบริการคืนภาษีกว่า 587 แห่ง โดยครึ่งหนึ่งสามารถให้บริการ “ซื้อปุ๊บ คืนปั๊บ” ได้แล้ว ยอดขายสินค้าคืนภาษีแตะ 760 ล้านหยวน (3.49 พันล้านบาท) เพิ่มขึ้น 85% ในไตรมาสแรกของปีนี้

รายการชอปปิงเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่ของฝากแบบเดิมๆ

แนวโน้มของนักท่องเที่ยวต่างชาติเปลี่ยนจากการ “ชมวิว” มาเป็น “ชอปจริงจัง” มากขึ้น จากเดิมที่นิยมซื้อของฝากอย่างตุ๊กตาแพนด้าหรือชา ปัจจุบันพวกเขามองหาสินค้าที่ผสมผสานความเป็นจีนแบบร่วมสมัย เช่น ชุดจีนตัดเย็บพิเศษ ของขวัญแบบสไตล์จีนโบราณ หรือแม้แต่ของเล่นอย่างชุดโมเดลสถาปัตยกรรมจีนแบบดั้งเดิม

ยิ่งไปกว่านั้น หลายคนยังแสดงความสนใจต่อการท่องเที่ยวเชิงลึก เช่น เยือนหมู่บ้านโบราณในเจ้อเจียง ลิ้มรสกาแฟริมธารน้ำ หรือสัมผัสนวัตกรรมของจีนผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างโดรนและ VR ในเซินเจิ้น

เศรษฐกิจจีนเปิดกว้าง กระตุ้น “การบริโภคจากภายนอก”

ไตรมาสแรกของปี 2025 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าจีนเพิ่มขึ้นถึง 40.2% ขณะที่ยอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวขาเข้าในปี 2024 อยู่ที่ 9.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 77.8%

รัฐบาลจีนระบุในรายงานการทำงานประจำปีว่า "การขยายการบริโภคจากต่างประเทศ" คือหนึ่งในเป้าหมายทางเศรษฐกิจสำคัญ และในแผนปฏิบัติการกระตุ้นการบริโภคล่าสุดก็ยืนยันชัดเจนว่า จะผลักดันการบริโภคจากนักท่องเที่ยวขาเข้าอย่างจริงจัง

จีนกำลังเร่งปรับปรุงบริการให้ทันสมัยและเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น เพราะไม่เพียงแค่รายได้ทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของจีนในเวทีโลกอีกด้วย

Temu ปรับตัว!! เพื่อสู้ กำแพงภาษีของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ หลังมีประกาศ!! ระงับการขายสินค้าที่ส่งมาจาก ‘จีน’

(4 พ.ค. 68) หนึ่งในเป้าหมายของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการปรับเปลี่ยนนโยบายภาษีศุลกากร ก็เพื่อต้องการกำจัด แพลทฟอร์มออนไลน์ค้าปลีกของจีน อย่าง Temu และ Shein ที่ใช้ช่องโหว่ทางภาษีสหรัฐ ที่ยกเว้นการเก็บภาษีสำหรับพัสดุชิ้นเล็ก ที่เรียกว่า "de minimis" ที่มีมูลค่าน้อยกว่า 800 ดอลลาร์

ซึ่งเข้าทางพ่อค้าจีน ที่เก่งเรื่องการบี้ราคาต้นทุน ให้สามารถขายสินค้าได้ในราคาถูกเหลือเชื่อ จึงมีพัสดุสินค้าจิ๋วนำเข้ามายังสหรัฐอเมริกาได้เป็นล้านชิ้นในแต่ละเดือน โดยที่ไม่ต้องเสียภาษีเลยแม้แต่เหรียญเดียว 

แต่หลังจากสิ้นสุดเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป ไม่สามารถทำได้แล้ว ด้วยคำสั่งประธานาธิบดีของทรัมพ์ ที่ตั้งกำแพงภาษีสินค้าที่ส่งจากจีนสูงถึง 130-150% และเพิ่มมาตรการตรวจสอบพัสดุสินค้าจากต่างประเทศ ลดเพดานมูลค่าสินค้าจาก 2,500 เหรียญ เหลือ 800 เหรียญ ต้องเสียภาษีแล้ว
เมื่อทรัมป์ยอมเผาทั้งโลกเพื่อฆ่าเธอคนเดียว Temu ที่เป็นเป้าหมายตรง ก็ต้องรีบปรับตัวให้ทัน และประกาศระงับการขายสินค้าที่ต้องส่งมาจากจีนบนแพลทฟอร์มทั้งหมดแล้ว

โดยสินค้าที่ขึ้นขายอยู่ในขณะนี้มีเพียงสินค้าที่ผลิต และอยู่ในโกดังที่สหรัฐเท่านั้น ส่วนสินค้าที่ต้องส่งจากจีนทุกรายการถูกเปลี่ยนสถานะเป็น "Out of stock" หรือ สินค้าหมด

การระงับการขายสินค้าที่ต้อง ship มาจากจีน เกิดขึ้นทันทีที่คำสั่งประธานาธิบดีของทรัมป์ เรื่องข้อบังคับภาษีศุลกากรในพัสดุสินค้าขนาดเล็ก มีผลบังคับใช้เมื่อวันศุกร์ (2 พฤษภาคม 2025) ที่ผ่านมาที่จะทำให้สินค้าที่จัดส่งจากจีนของ Temu และ Shein โดนภาษีเต็มๆ 120% หรืออัตราภาษีคงที่ 100 เหรียญต่อชิ้น ซึ่งจะขึ้นอีกเป็น 200 เหรียญต่อชิ้นในเดือนมิถุนายนนี้

ด้วยราคาภาษีโหดขนาดนี้ คงยากที่ Temu และ Shein จะขายสินค้าจีนในอเมริกาได้เหมือนเดิม จึงเป็นเหตุผลที่ Temu ต้องเปลี่ยนกลยุทธจากการขายสินค้าจีน เป็นขายสินค้าจากผู้ผลิตที่อยู่ในสหรัฐ

จึงเกิดคำถามว่า แล้วแพลทฟอร์มของจีนจะยังขายสินค้าในราคาถูกตาแตกได้เหมือนเดิมหรือไม่ ซึ่ง Temu ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อราคาสินค้า ทุกอย่างที่เห็นในตอนนี้ยังขายในราคาเดิม

แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่กล่าวไม่หมด เพราะทั้ง Temu และ Shein ขึ้นราคาสินค้าของตนไปก่อนหน้านี้นานแล้ว สินค้าบางชิ้นมีราคาสูงขึ้นถึง 377% เลยทีเดียว และมีการระบุเงื่อนไขเพิ่มว่ามี "ค่าธรรมเนียมภาษีขาเข้า"

คำกล่าวที่ Temu ประกาศว่า "ไม่มีผลกระทบต่อนโยบายราคา ทุกอย่างยังเหมือนเดิม" จึงเป็นเพียงคำพูดปลอบใจตนเอง เพราะต่อจากนี้ไป จะไม่มีอะไรเหมือนเดิม 

แต่ธุรกิจต้องไปต่อ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็ไม่มีทางเลือกที่จะต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด มีเพียงคำถามเดียวในใจ คือ ต้องปรับตัวอย่างไรให้รอดเท่านั้นเอง

ความจริงอันชัดเจนนี้ ทำให้ขบวนการต่อต้านจักรวรรดินิยมใน ‘จีน’ ถึงจุดสูงสุด!! ในช่วงขบวนการ 4 พฤษภาคม ซึ่งครบรอบ 106 ปี ในวันนี้

(4 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

วันนี้เป็นวันครบรอบ 106 ปีของขบวนการ 4 พฤษภาคม 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 คนงานชาวจีน 140,000 คนถูกส่งไปยุโรปเพื่อทำภารกิจอันยากลำบากที่เกี่ยวข้องกับสงคราม มีผู้เสียชีวิตเกือบ 10,000 คน และสูญหายมากกว่า 20,000 คน ชาวจีนต้องเสียสละอย่างมากเพื่อแลกกับสถานะผู้ชนะในสงคราม

อย่างไรก็ตาม พวกจักรวรรดินิยมไม่มีความเมตตา มีแต่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น

ในการประชุมสันติภาพปารีส พันธมิตรตะวันตกมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินการและแทบไม่สนใจข้อเรียกร้องของจีน 

สนธิสัญญาแวร์ซายได้ให้ญี่ปุ่นยึดครองดินแดนในซานตงที่ถูกเยอรมนียึดครองในปี 1914 นับเป็นความอัปยศอดสูครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของจีน
หลักการที่ว่า “ประเทศที่อ่อนแอไม่มีการเจรจา” ยังคงเป็นจริงอยู่จนถึงทุกวันนี้ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือประเทศจีนไม่ใช่ประเทศที่อ่อนแอเหมือนเมื่อ 106 ปีที่แล้วอีกต่อไป!!

‘สี จิ้นผิง’ ประกาศยุทธศาสตร์ ‘เอเชียบริหารเอเชีย’ หวังลดบทบาทสหรัฐฯ ในภูมิภาค พร้อมประกาศแผนสร้างเสถียรภาพใหม่

(6 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้เปิดตัวยุทธศาสตร์ความมั่นคงใหม่ที่มุ่งเน้นการลดบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย พร้อมประกาศ “เอเชียบริหารเอเชีย” โดยระบุว่า “เรื่องของเอเชีย คนเอเชียต้องจัดการเอง” ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ว่าอาจถึงเวลาที่จะลดอิทธิพลในภูมิภาคนี้และเปิดทางให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเสถียรภาพ

ยุทธศาสตร์นี้ได้รับการขยายผลทันทีในการเยือนเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา โดยสี จิ้นผิงใช้โอกาสนี้เน้นย้ำการเป็น “เพื่อน” ของจีนในภูมิภาคและเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือกันต่อต้านแรงกดดันจากภายนอก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการตอบโต้การกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจในเอเชีย

การผลักดันแนวคิด “เอเชียบริหารเอเชีย” นั้นมีรากฐานมาจาก “Asian Security Concept” ที่จีนเคยประกาศไว้ในปี 2014 ซึ่งเสนอทางเลือกใหม่ให้กับประเทศในเอเชียในการรักษาความมั่นคงโดยไม่พึ่งพาการแทรกแซงจากสหรัฐฯ หรือประเทศตะวันตก โดยสีจิ้นผิงเชื่อว่าภูมิภาคเอเชียสามารถจัดการปัญหาภายในได้ด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำหรับจีนยังคงมีอยู่ เนื่องจากความขัดแย้งในทะเลจีนใต้และความไม่ไว้วางใจจากบางประเทศในภูมิภาคที่ยังตั้งคำถามเกี่ยวกับเจตนาของจีนในระยะยาว แม้จะมีการเสนอแนวทางการร่วมมือ แต่หลายฝ่ายยังคงจับตาดูว่าใครจะเป็นผู้ที่มีอำนาจในการบริหารเอเชียในที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top