‘ธนาธร’ ชี้ ‘กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น’ มีผลดีมหาศาล ช่วยขับเคลื่อน ศก.-เกิดการจ้างงาน-ลดความเหลื่อมล้ำ
(3 เม.ย. 66) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมด้วย ชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า และวสันต์ เหลืองประภัสร์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมวงเสวนาวิชาการ ‘30 ปี ข้อถกเถียงเรื่องการกระจายอำนาจ กับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดของไทย’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแถลงข่าว โดย สันติสุข กาญจนประกร บรรณาธิการ The Voters ที่กำลังเปิดการรณรงค์ล่ารายชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งประเทศ
ธนาธร ระบุว่าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในประเทศไทยนั้นยังเป็นโจทย์ที่ต้องมาพูดคุยกันในรายละเอียดอีกมาก แต่หลักการสำคัญที่สุดที่ไม่อาจขาดได้ คือการทำให้หน่วยการปกครองที่มีอำนาจสูงสุดทั้งในระดับจังหวัดและในระดับท้องถิ่นพื้นฐานอย่างเทศบาล และ อบต. ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งไม่ใช่รูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของการปกครองท้องถิ่น ภายใต้กลไกราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคแน่ ๆ
การจัดความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของอำนาจและงบประมาณ ที่เต็มไปด้วย ‘งบฝาก’ ให้ท้องถิ่นทำภารกิจที่ไม่ใช่เรื่องของท้องถิ่น แต่แทบไม่มีงบประมาณให้ท้องถิ่นได้ทำเรื่องของตัวเองจริงๆ กลายเป็นอุปสรรคที่บดบังเจตนารมณ์ของประชาชนที่จะสร้างบ้านสร้างเมืองของตัวเอง ทำให้ประชาธิปไตยไม่มีความหมาย ทำให้การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ไม่มีครั้งไหนที่ทำให้ชีวิตดีได้อย่างมีนัยสำคัญ
ธนาธรกล่าวต่อไปว่า ในด้านหนึ่งการรวมศูนย์เช่นนี้คือต้นเหตุหนึ่งของความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากในประเทศไทย ที่สะท้อนออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดในต่างจังหวัด งานและรายได้ที่กระจุกตัวอยู่แต่เฉพาะตามเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ระบบราชการรวมศูนย์ยังเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งด้วย นั่นเป็นเพราะภายใต้โครงสร้างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การอนุมัติโครงการใด ๆ แม้กระทั่งการสร้างสะพานลอยสักเส้นหนึ่งในตำบลหนึ่ง ล้วนแต่เป็นเรื่องของส่วนกลาง ต้องรอให้ถูกหยิบยกมาพิจารณาแล้วรอการอนุมัติ ทำให้ทุกการแก้ปัญหาเป็นเรื่องล่าช้า
เรื่องของอำนาจท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องที่ส่งผลโดยตรงในทุกมิติของชีวิตประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง และได้เกิดข้อพิสูจน์มาแล้วว่าการกระจายอำนาจสามารถระเบิดพลังทางเศรษฐกิจได้จริง อย่างเช่นที่ญี่ปุ่น ที่ในปลายทศวรรษที่ 1980 เมื่อเผชิญกับวิกฤติฟองสบู่แตก ต้องหา new s-curve (อุตสาหกรรมใหม่) ที่จะพาประเทศไปข้างหน้าได้ สิ่งที่ญี่ปุ่นทำคือการกระจายอำนาจอย่างเต็มรูปแบบ เกิดการยกเลิกกฎหมายกว่า 100 ฉบับที่เดิมเคยให้ส่วนกลางเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในทุกเรื่องของท้องถิ่น เปลี่ยนมาเป็นการให้ท้องถิ่นมีอำนาจเต็ม จนแต่ละเมืองเริ่มมีการผลักดันสถานที่ท่องเที่ยว สินค้าและผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นขึ้นมาเป็นจุดขายใหม่ ออกแบบระบบขนส่งสาธารณะ และบริการสาธารณะต่าง ๆ ของตัวเองขึ้นมา
ธนาธรกล่าวต่อไป ว่า new s-curve คือสิ่งที่ประเทศไทยก็กำลังพยายามแสวงหาอยู่เช่นกัน เพราะอุตสาหกรรมที่เป็นเสาหลักของประเทศไทยมาโดยตลอดอย่างยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ มาถึงจุดอิ่มตัวของมันเองแล้ว แม้จะเพิ่มการลงทุนในรูปแบบเม็ดเงินใหม่ได้ แต่ไม่อาจเพิ่มกำลังการผลิต ไม่สามารถนำไปสู่การจ้างงานใหม่ ๆ ได้อีกต่อไป เรียกได้ว่าอุตสาหกรรมทั้งยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ จบที่ยุคนี้แล้ว
