'พิธา' เสนอนโยบาย '5 ต.' ดันหวยใบเสร็จ-ลดภาษี SMEs โวย!! ศก.ยังไม่ฟื้น เพราะช่วยเหลือคนตัวเล็กไม่เท่าทุนใหญ่

‘พิธา’ ร่วมวงนโยบายเอสเอ็มอี ชี้แม้โควิดผ่านไปแล้วแต่ยังไม่ฟื้น ได้ความช่วยเหลือไม่เท่าทุนใหญ่ รัฐบาลก้าวไกล พร้อมกิโยตินกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เสนอนโยบาย '5ต.' ดันหวยใบเสร็จ-ลดภาษีเอสเอ็มอี

เมื่อวันที่ 4 เม.ย.66 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล บรรยายในงาน Move Forward SME Conference ที่พรรคก้าวไกลจัดขึ้น โดยมีการเชิญตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ด้านต่างๆ มาร่วมพูดคุยกับทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล

พิธา บรรยายปิดท้ายวงพูดคุย ระบุว่าคำถามสำคัญเร่งด่วนสำหรับ SMEs ในขณะนี้ คือสถานการณ์โควิดผ่านไปแล้ว SMEs ไทยฟื้นตัวหรือยัง? วันนี้ทุกคนรู้ดีว่าการเติบโตของ GDP ไทยที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ค่าเฉลี่ยการเติบโตติดลบไป 6.2% แต่เมื่อมองไปในภาพลึก จะพบว่าสำหรับ SMEs การติดลบสูงถึงกว่า 10% สัดส่วนของ SMEs ที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ 35% หายไป 1% เต็มๆ คิดเป็นมูลค่ากว่าหลายแสนล้านบาท ที่ผ่านมา SMEs จึงเป็นผู้ที่เจ็บลึกและเจ็บยาว

พิธากล่าวต่อว่า สำหรับ SMEs แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่กำไร แต่คือสภาพคล่อง ที่เป็นดั่งชีพจรสุดท้าย แต่ระหว่างวิกฤติโควิดที่ผ่านมา ปรากฏว่า SMEs กลับเข้าไม่ถึงสภาพคล่อง ไม่สามารถกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องในช่วงวิกฤติได้ แม้จะมี พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ออกมา แต่ก็มาพร้อมเงื่อนไขว่าต้องเป็นลูกค้าธนาคารพาณิชย์มาก่อน สิ่งที่ตามมาก็คือในปี 2565 ไตรมาส 2 ธนาคารมีการปล่อยกู้ให้กลุ่มทุนใหญ่ เป็นสัดส่วนกว่า 10% ขณะที่การปล่อยกู้ให้ SMEs มีสัดส่วนน้อยมาก ดังนั้น สิ่งที่ SMEs ต้องการในตอนนี้ คือการอัดฉีดสภาพคล่องโดยเร็วที่สุด ไม่อาจปล่อยให้ล้มหายได้

พิธากล่าวต่อไป ว่าพรรคก้าวไกลเห็นความสำคัญของ SMEs เสมอมา โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด พรรคลงไปทำงานผ่านกลไกกรรมาธิการการเศรษฐกิจ นำงบประมาณที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา อภิปรายให้เห็นจุดบกพร่องของ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ที่ไม่ทำให้ SMEs เข้าถึงได้จริงๆ รวมทั้งการผลักดันนโยบายทลายทุนผูกขาด เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันระหว่างทุนใหญ่และธุรกิจ SMEs ผ่านกฎหมายสุราก้าวหน้า เป็นต้น

ส่วนในระยะต่อไป พรรคก้าวไกลเห็นว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคอย่างมากสำหรับ SMEs คือกฎหมายและระเบียบที่ล้าหลังหลายพันฉบับ บางฉบับมีมาตั้งแต่ปี 2490 พรรคก้าวไกลยืนยันว่าสามารถกิโยตินทิ้งได้ถึง 50%

ส่วนนโยบาย SMEs ของพรรคก้าวไกล พิธากล่าวว่ามองเป้าหมายทั้งการแก้ปัญหาระยะสั้นที่ต้องทำโดยเร่งด่วน และสิ่งที่เป็นนโยบายในระยะยาว ซึ่งมีทั้งหมด '5 ต.' ประกอบด้วย...

1) แต้มต่อ โดยนำนโยบายแบบที่ไต้หวันทำตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว หรือ หวยใบเสร็จ SMEs มาส่งเสริมให้ประชาชนเลือกจับจ่ายร้านค้า SMEs เมื่อจับจ่ายครบ 500 บาท สามารถแลกซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ทันที ที่สำคัญไปกว่านั้น นโยบายนี้จะทำให้รัฐบาลได้ข้อมูลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับ SMEs มาใช้เพื่อการปล่อยเงินกู้เชิงรุกให้กับผู้ประกอบการ SMEs ได้

2) เติมทุน ด้วยนโยบายทุนสร้างตัว 1 แสนบาท ทุนตั้งตัว 1 ล้านบาท 

3) ตัดต้นทุน ด้วยการลดภาษีให้ SMEs จากเดิมที่ทุกวันนี้ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นทุนใหญ่หรือ SMEs ต่างจ่ายโดยเฉลี่ยเท่ากันที่ 20% จะลดลงเหลือ 15% และจาก 15 เป็น 10% ส่วนทุนใหญ่นั้นจะขึ้นจาก 20 มาเป็น 23% 

4) เติมตลาด ด้วยนโยบายกำหนดโควตาชั้นวางในห้างร้านให้ต้องมีสินค้าของ SMEs และนโยบายคืนภาษีให้ SMEs ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ 

และ 5) ตั้งสภา SMEs ให้สภา SMEs ที่มีอยู่แล้ว เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) เพื่อสะท้อนปัญหาถึงรัฐบาลได้ด้วย ไม่ใช่มีแต่เพียงสภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้าไทยเท่านั้น

“การเลือกตั้งที่จะมาถึงในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ การเลือกพรรคก้าวไกล จะทำให้ได้ชุดนโยบายที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของ SMEs ได้นายกรัฐมนตรีที่เคยอยู่ทั้งในภาคธุรกิจ อยู่ในสภาฯ และอยู่ในระบบราชการมาก่อน มีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการเผชิญอยู่ พร้อมพาเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อท่ามกลางความท้าทายใหม่ๆ” พิธากล่าว